วิสัยทัศน์ 3 นักการเมืองนอกรัฐสภา ในม่านหมอกรัฐเผด็จการ

แม้บรรยากาศประชาธิปไตยจะเหือดแห้งลงเพียงใด แต่การมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ย่อมสามารถกระทำได้ในทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับในงาน Thammasat Open House Freedom & Sustainability ปี 2562 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้จัดกิจกรรมปราศรัยในหัวข้อ ‘นโยบายเพื่อประชาชนและความยั่งยืน TU Resolution Talk’ โดยเชิญ 3 นักการเมือง ได้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองอิสระกลุ่ม New Dem และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า เป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เสรีภาพคือหัวใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากไม่มีเสรีภาพทางความคิด สติปัญญาก็ไม่เกิด และนวัตกรรมทั้งหลายที่ขับเคลื่อนสังคมและมนุษยชาติย่อมเกิดได้ด้วยการคิดและลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ทั้งสิ้น

WAY ชวนฟังวิสัยทัศน์ของ 3 นักการเมืองชื่อดังที่ได้ส่งต่อความคิดสู่คนรุ่นใหม่ ผู้ที่กำลังค้นหาความหมายของคำว่าเสรีภาพ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ปกป้องประชาธิปไตย = อยู่ไม่เป็น

เมื่อพูดถึงเรื่องเสรีภาพ ต้องเริ่มจากคำถามว่าเสรีภาพมาจากไหน เสรีภาพมาพร้อมกับสังคมสมัยใหม่ มาพร้อมกับประชาธิปไตย และมาพร้อมกับความเป็นพลเมือง

ในสังคมก่อนสมัยใหม่คือสังคมศักดินา มีไพร่ มีขุนนาง ซึ่งความเป็นไพร่และขุนนางได้กั้นขวางมนุษย์ไม่ให้สัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ

ไพร่คือคนบุญน้อย ไม่ได้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ไม่ใช่เจ้าของชีวิตของตนเอง ต้องส่งแรงงานหรือข้าวของเพื่อหล่อเลี้ยงระบบที่กดขี่ตัวเอง ชีวิตของไพร่คือความลำบาก ชีวิตของไพร่คือโศกนาฏกรรม

เมื่อความเป็นสมัยใหม่ หรือ modernity เกิดขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่ตามมาก็คือการคลี่คลายลงของระบบความเชื่อและสถาบันการเมืองดั้งเดิม ความเชื่อเรื่องธรรมชาติเหนือมนุษย์กลายเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเอาชนะธรรมชาติ ความเชื่อในภูตผีปีศาจกลายเป็นความเชื่อในหลักเหตุผล ฐานันดรกลายเป็นความเท่าเทียม ความเชื่อว่าชีวิตเป็นของเจ้านาย กลายเป็นทุกคนมีเสรีภาพ เป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง

ไพร่ คือกรรม กลายเป็น พลเมือง คือประธาน

ประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่สร้างพลเมืองขึ้น พร้อมๆ กับลดความสูงต่ำทางชาติกำเนิด พลเมืองคือเจ้าของประเทศร่วมกัน คือผู้ทรงสิทธิในระบอบประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพในการเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง มีสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการ มีสิทธิเสรีภาพในการเดินทาง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีสิทธิในการได้รับการบริการจากรัฐโดยเท่าเทียม มีสิทธิได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค

แต่สิทธิและเสรีภาพมีต้นทุน สิทธิและเสรีภาพไม่เคยได้มาอย่างง่ายดาย ไม่เคยมีชนชั้นปกครองในสังคมใดมอบสิทธิเสรีภาพและความเป็นพลเมืองให้กับคนในสังคมโดยปราศจากการเรียกร้อง ต่อสู้ และการรณรงค์อย่างแข็งขันของคนในสังคมนั้น

ในหลายครั้งเมื่อได้มาแล้ว หากประชาชนในสังคมนั้นไม่รักษาหวงแหนไว้ซึ่งเสรีภาพ ก็จะถูกชนชั้นนำทวงคืนกลับไป

เพื่อแลกมาซึ่งสิทธิเสรีภาพ พลเมืองจึงมีหน้าที่เสียภาษี มีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต่อต้านการทำรัฐประหาร พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย นั่นคือหน้าที่ นั่นคือการทำให้เสรีภาพและประชาธิปไตยยั่งยืน ถึงแม้ว่านั่น…ในห้วงเวลาปัจจุบันอาจหมายถึงการ ‘อยู่ไม่เป็น’ ก็ตาม

ขอขอบคุณและให้กำลังใจประชาชนคนไทยทุกคนที่ไม่ยอมจำนน ที่อยู่ไม่เป็น พร้อมเดินไปข้างหน้าด้วยกันเพื่อปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

 

‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ

ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมี สว.

ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และยังเจอปัญหาวิกฤติความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ส่วนตัวมีความกังวลน้อยกว่า เพราะเชื่อในศักยภาพของคนที่จะร่วมกันหาคำตอบได้

ทว่าสิ่งที่กังวลมากกว่า คือคำตอบที่ดีที่สุด คำตอบที่ได้รับการสนับสนุนจากคนในประเทศ อาจไม่สามารถถูกนำไปปฏิบัติจริงได้ นั่นเพราะประเทศไทยเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน

ถ้าถามว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันไทยอยู่ในลำดับ 106 จาก 167 ประเทศ หรือเรียกได้ว่าอยู่กลางตาราง

อะไรเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง คำตอบก็คือ ‘วุฒิสภา’

หากย้อนกลับไปในวันเลือกตั้ง เราพบว่า สส. จำนวน 500 คน มาจากการเสียงของประชาชน 38 ล้านคน ขณะที่ สว. 250 คน มาจากคณะกรรมการสรรหา สว. เพียง 10 คน เท่านั้น นั่นเท่ากับประชาชนมีสิทธิน้อยกว่าคณะกรรมการสรรหา สว. อยู่ 2 ล้านเท่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก

คำถามคือ แล้วทางออกคืออะไร

ที่ผ่านมาหลายคนพูดกันว่า สว. ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้วปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ อำนาจและที่มาของ สว. ไม่สอดคล้องกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าอำนาจ สว. มีสูง อย่างในสหรัฐอเมริกาที่สามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้ สว. ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้า สว. ทำอะไรไม่ค่อยได้เหมือนในประเทศอังกฤษ สว. ก็อาจจะมาจากการแต่งตั้งก็ได้

แต่ความบิดเบือนของระบบการเมืองไทยก็คือ สว. ในประเทศไทยมีอำนาจสูงมาก มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ที่มาของ สว. กลับไม่มีความยึดโยงกับประชาชน

เราไม่ควรมาตั้งคำถามว่า สว. ควรมาจากการแต่งตั้งหรือการเลือกตั้ง แต่ควรตั้งคำถามว่า “จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมี สว.” เพราะฉะนั้นแนวทางที่อยากจะเสนอคือ การเปลี่ยนระบบรัฐสภามาเป็นสภาเดียวที่มีแต่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนอกจากจะประหยัดงบประมาณปีละ 1,200 ล้านบาทแล้ว ยังช่วยให้การออกกฎหมายมีความคล่องตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งเดียวที่อันตรายกว่าการไม่มี สว. มาถ่วงดุลอำนาจบริหาร คือการที่มี สว. มาให้ท้ายอำนาจฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ …ประเทศไทยต้องก้าวหน้า ถึงเวลาสภาเดียว

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ต้องเป็น ‘รัฐบาลเปิด’

‘ความยั่งยืน’ ก็คือการที่คนรุ่นนี้ไม่สร้างภาระที่ไม่จำเป็นให้กับคนรุ่นต่อไป โดยมีหัวใจอยู่ที่ความโปร่งใส และความมีประสิทธิภาพของระบบราชการ ส่วนตัวจึงอยากเสนอนโยบาย ‘รัฐบาลเปิด’ หรือ open government

คุณสมบัติของรัฐบาลเปิดมีด้วยด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ 1. เปิดเผยข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลการทำงาน ข้อมูลภาษี ตลอดจนข้อมูลความมั่นคง เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องร้องขอ 2. เปิดให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง 3. เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและปรับปรุงนโยบาย

ฉะนั้น ‘รัฐบาลเปิด’ จะเกี่ยวข้องกับความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วม

แน่นอนว่า รัฐบาลจะไม่สามารถยั่งยืนได้เลย หากการก่อสร้าง 3 สนามบิน มูลค่า 2.2 แสนล้าน สัมปทาน 50 ปี โดยที่ประชาชนไม่รู้รายละเอียด ถามว่าใครจะเป็นคนใช้ ใครเป็นคนจ่ายเงิน เพราะผู้ที่อนุมัติก็คงอยู่ไม่ถึง 50 ปีแน่ๆ

ฉะนั้น หัวใจของเสรีภาพและยั่งยืน คือการมีรัฐบาลที่เปิดเผยให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูล สามารถตรวจสอบ และออกแบบชีวิตตัวเองได้

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า