ธนาธร ‘The White Knight’ มองการเมืองไทยปัจจุบันผ่าน ‘Batman: The Dark Knight’

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ผ่านพ้นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ไปไม่กี่วัน ฝุ่นยังตลบอบอวล ตัวผู้เล่นในเกมการเมืองรอบนี้เริ่มชัดขึ้นว่าอำนาจอยู่ในมือใคร แต่ถ้ามองกว้างออกไปจากสนามการเมือง ปัญหาอื่นๆ ยังไม่ถูกจัดการให้เข้ารูปเข้ารอย เกิดคำถามต่อระบบยุติธรรมในหลายคดีดัง ข่าวการคอร์รัปชันแทบทุกวัน ปัญหาอาชญากรรมระดับรากหญ้าที่ถูกละเลยด้วยข่าวใหญ่ ผู้คนทางภาคเหนือกำลังเสี่ยงชีวิตด้วยมลภาวะอากาศเป็นพิษ ฯลฯ

นี่คือช่วงเวลาที่เรารอใครสักคนมาเป็นวีรบุรุษกอบกู้สถานการณ์ ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ ตามตำนานที่เชื่อกันว่าจะปรากฏตัวเมื่อประเทศมีภัย หลายยุคหลายสมัยแล้วเช่นกันที่เราควานหาคนเหล่านี้ และหลายคนก็ล้มเหลวต่อบทพิสูจน์จุดยืนของเขา พ่ายแพ้ต่ออำนาจที่ยั่วยวน ละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง กลายเป็นคนที่ตัวเองเคยเกลียด…

ไม่แปลกที่เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับสถานการณ์ข้างต้น ในเมื่อหนังซูเปอร์ฮีโร่จากฮอลลีวูดมักจะหยิบเอาประเด็นเหล่านี้มาเป็นแกนขับเคลื่อนหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งความผันผวนทางการเมือง จากยุค ประธานาธิบดีจอร์จ บุช, บารัค โอบามา สู่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หนังซูเปอร์ฮีโร่กลับทำหน้าที่พาการเมืองเข้าสู่มหาชนวงกว้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศ แต่เป็นทั่วโลก

หากจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับผู้เขียนของหนังตระกูลนี้เห็นจะเริ่มจากหนังเรื่อง The Dark Knight (2008) ที่ขยายปริมณฑลของ ‘เมืองก็อตแธม’ (Gotham) ในหนังให้กลายเป็นเมืองหนึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง อย่างมีนัยยะทางการเมืองร่วมสมัยสำคัญ

 

Gotham

ผู้เขียนติดตามหนัง Batman มาหลายภาค สิ่งที่น่าสนใจในไตรภาคของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) คือการเลือกขยายเมืองก็อตแธมให้เชื่อมต่อกับโลก จากเดิมเมืองนี้เป็นเพียงเมืองสมมุติในหนังฉบับอื่นๆ อาชญากรรมต่างๆ เกิดขึ้นและจบลงในเมืองนี้เท่านั้น แต่การที่เมืองสมมุติเชื่อมต่อกับ ‘โลก’ ตั้งแต่ภาค Batman Begins (2005) จนถึง The Dark Knight (2008) ทำให้ขอบเขตอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในหนังขยายวงกว้างกลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติด้วยเช่นกัน

เราจึงได้เห็นแบทแมนเดินทางท่องไปทั่วโลก จากทิเบตใน Batman Begins สู่ฮ่องกงใน The Dark Knight ทั้งในฐานะอัศวินรัตติกาล และในฐานะมหาเศรษฐีหนุ่ม บรูซ เวย์น (Bruce Wayne) ที่ในฉบับหนังไตรภาคชุดนี้ได้ลงรายละเอียดทางธุรกิจว่า เกี่ยวข้องทั้งธุรกิจทางการทหารและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ อันทำให้นายบรูซในฉบับนี้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางทหารระดับลับสุดยอดได้ เพื่อนำมาใช้สร้างตัวตนใหม่ภายใต้หน้ากาก ‘แบทแมน’

แต่หัวใจหลักยังคงเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองก็อตแธม การคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์ คนดีอยู่ไม่ได้ คนร้ายเกลื่อนเมือง มาเฟียมีอิทธิพลเหนือกฎหมาย ฯลฯ ทำให้การจัดการปัญหานอกระบบตามวิถีแบทแมนกลายเป็นประเด็นสำคัญในไตรภาคนี้ หนังไม่ได้เลือกชำระการกระทำของแบทแมนให้เป็น ‘ความยุติธรรม’ อย่างที่หนังฮีโร่เรื่องอื่นๆ เลือก แต่กลับทำให้คนดูเห็นผลสืบเนื่องจากการกระทำของแบทแมนเสมอ ทุกครั้งที่เขาจัดการวายร้ายด้วยวิธีนอกกฎหมาย มักเกิดวายร้ายหน้าใหม่ขึ้นมาท้าทายเขา ท้าทายขอบเขตการใช้อำนาจนอกกฎหมายที่เขากระทำ และผลักให้สถานะของเขาห่างไกลจากการเป็นผู้พิทักษ์กฎหมายมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่ผู้เขียนชอบอีกประการคือการวางระบบกลไกทางกฎหมายเอาไว้ในเมืองก็อตแธม โดยจำลองระบบกฎหมายจริงๆ ตั้งแต่ตำรวจชั้นผู้น้อย สารวัตร ไปจนถึงอัยการและศาล ซึ่งล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในเมืองด้วย คนในระบบฉ้อราษฎ์ ฝักใฝ่ในอำนาจและเงินมากกว่าความยุติธรรม สุดท้ายระบบที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความยุติธรรม ก็กลายเป็นระบบที่เอื้อให้ก่อความอยุติธรรมและอำนวยอาชญากรรมแทน

เราเห็นความดิ้นรนของตำรวจน้ำดีอย่าง จิม กอร์ดอน (Jim Gordon) ที่ต้องทำงานภายใต้ข้อบังคับและอำนาจนอกระบบแทรกแซงตลอดเวลา เราเห็นเขาต้องกล้ำกลืนอิงแอบอำนาจนอกระบบจากแบทแมน เมื่อเห็นว่าวิธีทางในที่สว่าง ในระบบที่เขาเชื่อมันเป็นไปไม่ได้

สมญานามว่า Dark Knight ‘อัศวินรัตติกาล’ ไม่ได้หมายถึงแค่การปรากฏตัวกำจัดอาชญากรในยามวิกาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเส้นทางที่เขา – ในความหมายของ บรูซ เวย์น เลือกเดิน ก็คือการเดินบนทางสายมืด นอกระบบ นอกกฎหมาย

ทว่าคุณจะสู้กับความชั่วด้วยความชั่ว สู้กับอำนาจนอกกฎหมายด้วยการทำตัวนอกกฎหมายได้จริงหรือ? นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยตั้งคำถามมาตลอด การต่อสู้ทางการเมืองทำไมต้องลงไปสู้บนท้องถนน จุดหมายปลายทางการต่อสู้นี้จะไปจบที่ไหน ทำไมไม่ใช่ในรัฐสภา?

 

The Dark Knight

ใน The Dark Knight ปัญหาศูนย์กลางของเรื่องจึงเกิดจากการที่แบทแมนสามารถ ‘กด’ อำนาจนอกกฎหมายให้หวาดกลัวกลางคืน และต้องจัดประชุมหาทางออกกันกลางวันแสกๆ (ซึ่งผิดธรรมชาติ ‘คนชั่ว’ พวกนี้มากๆ) ขณะเดียวกันก็มีความหวังใหม่เกิดขึ้นอย่าง อัยการหนุ่ม ฮาร์วีย์ เดนท์ (Harvey Dent) ผู้ที่ได้สมญาว่าเป็น ‘White Knight’ เป็นมือปราบมือสะอาด ที่ขจัดอาชญากรและการคอร์รัปชันภายในระบบราชการ ผ่านกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด

White Knight เปรียบเหมือน ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ สำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่แค่อาชญากรที่หวาดกลัวแบทแมน แต่คนในระบบกฎหมายเองก็หวาดกลัว เพราะนั่นหมายความว่าถ้าแบทแมนได้รับความชอบธรรมกระทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ กฎหมายก็คงไร้ความศักดิ์สิทธิ์ และอยู่ในสถานะที่ต้องถามตัวเองแล้วว่าจะมีกฎหมายไปเพื่ออะไร? ฮาร์วีย์ เดนท์ ยังกลายเป็นความหวังของ บรูซ เวย์น ด้วย เพราะรู้ดีว่าตัวเขาไม่สามารถจะใช้ชีวิตบนความเสี่ยงนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง และถ้าการจัดการปัญหา ‘ตามกฎหมาย’ ของเดนท์ล้างเมืองให้สะอาดได้อีกครั้งจริง ก็ไม่จำเป็นต้องมีแบทแมนหรือ Dark Knight ยามรัตติกาลอีกต่อไป

มาถึงตรงนี้ หนังยืนอยู่บนการปะทะกันของขั้วความคิดสองขั้วในการจัดการปัญหา คือการจัดการปัญหาตามระบบ และการจัดการนอกระบบ อย่างแรกอาจจะช้าและมีขั้นตอนมากมายเหลือเกิน หนังจึงเผยให้เราเห็นว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ฮาร์วีย์ เดนท์ ไม่ใช่ตัวเขาคนเดียว แต่เป็นคนในระบบที่ยังหลงเหลือศรัทธาตามกฎหมายอยู่ ทั้งอธิบดีกรมตำรวจ ผู้พิพากษา เมื่อคนในกฎหมายยังเคารพกฎหมายและยึดมั่นในหลักการ บทบาทของแบทแมนในหนังภาคนี้จึงถูกตั้งคำถามหนักกว่าเดิมว่ายังจำเป็นอยู่หรือเปล่า? ‘ทางลัด’ ที่แบทแมนนำเสนอนั้นมั่นคงและแน่นอน เป็นทางเลือกที่ ‘ใช่’ สำหรับก๊อตแธมหรือแค่ยาแรงระงับอาการชั่วคราวเพื่อรอกำเริบใหม่?

คำตอบข้างต้นมาพร้อมตัวละคร โจ๊กเกอร์ อาชญากรปริศนาที่ไม่ยึดอยู่ในกฎกรอบเกณฑ์ใดๆ สิ่งที่มันสนใจคือการทำลายกระบวนการยุติธรรมในก็อตแธมทั้งระบบ เด็ดหัวผู้พิพากษา สั่งฆ่าอธิบดีกรมตำรวจ ซื้อตำรวจจนบ่อนทำลายความเชื่อมั่นที่ประชาชน (และคนดู) มี

ที่เฉียบคมและร้ายกาจสุดของหนัง คือการทำให้คนดูรักและเอาใจช่วย ฮาร์วีย์ เดนท์ ได้ในระดับเดียวกับแบทแมน ก่อนจะทำลายเขาลงอย่างย่อยยับ! เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้แต่ ‘คนดีที่สุด’ ของก็อตแธมอย่างเดนท์ ก็ยังกลายเป็นวายร้ายได้ ร้ายที่สุดคือการท้าทายเส้นที่แบทแมนขีดไว้ว่าเขาจะไม่ ‘ฆ่า’ ผู้ร้าย แต่การ ‘ไม่ฆ่า’ นี่เองกลับส่งผลร้ายเหลือเชื่อ

ก็อตแธมสิ้นศรัทธาในความดี คนดูสิ้นศรัทธาในคนดีเหมือนกัน?

เราพบว่าบทสรุปของหนังไม่ได้อยู่ที่แบทแมนจับโจ๊กเกอร์ได้หรือเปล่า การจับเขาได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญอีกต่อไป แต่เป็นการแสดงผลกระทำตัวนอกกฎหมายของแบทแมนต่างหาก ทำลายทั้งระบบกฎหมาย ทำลายทั้งความเชื่อมั่นในความดี แม้แต่คนดียังถูกทำลาย เมืองที่เขาเคยกอบกู้ในภาค Batmen Begins ถูกทำลายลง และยังทดสอบหลักการสำคัญที่ตัวเขาเองยึดถือมาตลอด คือการ ‘ไม่ฆ่า’ แม้มันอาจจะยุติทุกอย่างได้

ผมชอบการถกเถียงแบบนี้ในหนัง การตัดสินใจที่ล้ำเส้นสามารถยุติปัญหาทุกอย่างได้ และเป็นเส้นที่มีแต่คุณคนเดียวที่รู้เห็น เป็นคนขีดเส้นเอาไว้ด้วยตัวเอง ผิดถูกแล้วไง ใครแคร์?

แล้วทำไมแบทแมนไม่ทำ?

 

White Knight

ตอนนี้การเมืองไทยเดินมาถึงจุดคล้ายๆ กันกับในหนังแล้ว

จุดที่ต้องเลือกระหว่างหลักการและหลักกู ผู้คนเรียกว่า White Knight มาพร้อมทางออก

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลายเป็น White Knight ในสายตา New Voters ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกร่วม 7 ล้านเสียง

บทบาทของธนาธรในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ประกาศชัดถึงหลักการเข้มๆ ที่พูดทุกเวที ไม่เอาเผด็จการ ไม่จับมือพรรคพลังประชารัฐ ไม่สนับสนุน ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

การประกาศจุดยืนเช่นนี้ทำให้ตัวเขาเองก็ต้องเผชิญบท ‘ทดสอบ’ ที่หนักข้อถึงขั้นการสาดโคลนและกลั่นแกล้งทางการเมืองนับไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาร่วมเดือนจนถึงวันเลือกตั้ง เพื่อพยายาม ‘สร้างใบหน้าที่สอง’ ให้แก่ธนาธร

White Knight ในหนังนั้นถูกทดสอบโดยการตัดแข้งขาทางกฎหมาย คนสำคัญๆ ที่คอยช่วยเหลือเขาถูกกำจัด ระบบตรวจสอบต่างๆ พินาศ ชีวิตเขาตกอยู่ในสภาพปางตาย ทำให้ชายผู้ศรัทธาล้นเหลือในหลักยุติธรรมสวิงกลับมาสู่ด้านมืดเต็มตัว กลายเป็นวายร้ายที่มีสมญา Two Faces หมายถึงคนที่มีสองใบหน้า ดีและชั่วสุดขีดในตัวเดียวกัน เหมือนตาชั่งยุติธรรมที่พร้อมสวิงไปสู่ความอยุติธรรมได้

ถึงตอนนี้ กระบวนการสร้าง ‘ใบหน้าที่สอง’ ให้แก่ธนาธรล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ด้วยผลการเลือกตั้ง (อย่างเป็นทางการ แต่ไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์) ออกมาแล้วว่าพรรคอนาคตใหม่ทำได้เกินคาด กวาดคะแนนเสียง สส.เขตและบัญชีรายชื่อราว 80 คน เป็นพรรคที่ได้ สส. สูงสุดเป็นลำดับ 3 ได้คะแนนโหวตสูงกว่า 5 ล้านเสียง ทั้งที่เพิ่งลงสนามการเมืองครั้งแรก

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ บททดสอบนี้ไม่ใช่แค่กับตัวเขาเอง แต่ยังรวมถึงคนที่ศรัทธาเขาด้วย คนรุ่นใหม่ถูกคนรุ่นเก่าหยามเหยียด-สั่งสอนให้นึกถึง ‘อนาคต’ ของประเทศโดยยึดจากอดีตที่พวกเขาเชื่อมั่น อย่าไปเลือกตามกระแส อย่าไปเลือกตามอุดมการณ์ที่ทำไม่ได้จริง…แต่คนรุ่นใหม่เลือกอนาคตของเขาเอง

ปรากฏการณ์ #พ่อของฟ้า #อนาคตใหม่ อาจเป็นปาฏิหาริย์สำหรับคนรุ่นเก่า แต่มันเป็นความเชื่อมั่นแท้จริงของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นนี้เติบโตมากับการตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบ พรรคที่ตอบข้อสงสัยประชาชนได้จริง คนที่ตอบเขาได้ด้วยความรู้และหลักการที่สามารถอธิบายด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์และความรู้สึก

‘หลักการ’ ของธนาธร และ ฮาร์วีย์ เดนท์ ดูเริ่มต้นคล้ายกัน แต่จบลงต่างกัน

อย่างน้อยๆ ก็วันนี้ ที่เขาไม่ทำลายหลักการตัวเองด้วยการตอบรับการเป็น ‘นายกรัฐมนตรี’ และยึดหลักการที่จะให้พรรคที่ได้จำนวน สส. มากที่สุดในสภา เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลและมีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตาม ‘หลักการ’ ที่เขาย้ำเสมอ

 

Finale

อรุณรุ่งของรัตติกาลในการเมืองไทยยังมาไม่ถึง ยังอีกนาน การต่อสู้ยังอีกยาวไกล

แต่ ‘หลักการ’ ของธนาธรเป็นแสงสว่างเล็กๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่าอย่างน้อย ‘หลักการ’ ที่เขายึดมั่น ก็ทำงานกับคนรุ่นใหม่ เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวได้ เพราะเขาถือเป้าหมายสูงสุดเดียวกันกับคนหนุ่มสาวยุคนี้

นั่นคือการช่วงชิงยุคสมัยกลับคืนมาสู่มือคนหนุ่มสาวอีกครั้ง

Illustration: เท่ากัน คุณสามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพขนาดใหญ่ได้ที่ลิ้งค์นี้

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า