ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงหลายครั้ง นับตั้งแต่อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ที่พรากชีวิตประชาชนไปกว่า 800 ชีวิต และส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 1.4 ล้านล้านบาท จนมาถึงเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่ส่งผลกระทบกับประชาชนกว่า 1 ล้านครัวเรือน และคร่าชีวิตประชาชนไปอีกอย่างน้อย 14 ชีวิต ภาวะอุทกภัยปีล่าสุดนี้ยังสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและเกษตรกรรม โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 0.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) รวมทั้งทำให้ผลผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ลดลงกว่าร้อยละ 30
แม้ว่าภัยพิบัติทั้งหลายที่กล่าวมานี้จะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งก็คือสภาวะความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งส่งผลให้ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543-2562) ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 9 ของการจัดลำดับดัชนีความเสี่ยงจากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index)
ในขณะเดียวกัน ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2552-2562 ระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด และอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรหนึ่งคนก็เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรหนึ่งคนของประเทศไทย มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซต่อคนสูงกว่าประชากรใน London และ Milan เสียอีก
จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น การให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศไทย และการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาด้านสภาพอากาศ หรือการประชุม COP26 ในปีนี้ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้แสดงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาวิกฤติสภาพอากาศดังกล่าว ดังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ถึงเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลไทยเลือกที่จะปฏิบัติในระหว่างการประชุม COP26 กลับไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว ไม่สอดคล้องกับเส้นทางที่หลายประเทศเลือก และที่สำคัญไม่เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นของปัญหาในประเทศไทยเอง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง 3 ประการต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมได้หารือถึงแถลงการณ์กลาสโกว์ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ หรือ Glasgow Leaders Declaration on Forest and Land Use ซึ่งเป็นการแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศสมาชิก 128 ประเทศในการยุติการทำลายป่าไม้ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ผ่านการปรับปรุงกระบวนการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) และการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้ลดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการเกษตร ซึ่งมีประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ร่วมลงนามด้วย เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม
ทว่ารัฐบาลไทยกลับไม่ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าอัตราการบุกรุกทำลายป่าไม้ในประเทศไทยจะลดลงเป็นลำดับในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเทศไทยก็ยังคงประสบกับปัญหาการเผาทำลายป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตรอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไร่ข้าวโพด อีกทั้งกลุ่มธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ของไทยก็ยังมีส่วนในการสนับสนุนการเผาทำลายป่าเพื่อพื้นที่การเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย หากรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์การอนุรักษ์ป่าไม้แล้ว นอกจากจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยการรักษาผืนป่าของประเทศ ก็ยังเป็นการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศอีกด้วย
ประการที่สอง ในวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2564 สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปร่วมกันออกแถลงการณ์ด้านก๊าซมีเทน หรือ Global Methane Pledge ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทก๊าซมีเทนลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซดังกล่าวในปี พ.ศ. 2563 โดยก๊าซมีเทนจัดเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนมากที่สุด ดังนั้นการพยายามลดการปล่อยก๊าซมีเทนจึงถือได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการชะลอสภาวะโลกร้อนและเพิ่มเวลาในการตอบสนองต่อสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของโลก ดังที่ Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนปัจจุบันได้กล่าวไว้ว่า การลดการปล่อยก๊าซมีเทนถือเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาสภาพอากาศที่ง่ายที่สุด หรือเป็น “the lowest hanging fruit” นั่นเอง
แถลงการณ์ร่วมเรื่องก๊าซมีเทนดังกล่าว นอกจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปแล้ว ก็ยังมีประเทศสมาชิกอีกกว่า 100 ประเทศที่ร่วมลงนาม ซึ่งรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ด้วย แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลไทยกลับเลือกที่จะไม่เข้าร่วมในแถลงการณ์ดังกล่าว
อนึ่ง ต้นตอที่สำคัญของการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างหนึ่งคือกิจกรรมการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาข้าว ที่จัดว่าเป็นกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญที่สุดประเภทหนึ่งของไทย ซึ่งการทำนาข้าวแบบทั่วไปปกติต้องอาศัยน้ำจำนวนมาก แต่ก็มีการศึกษาพัฒนาวิธีการทำนาข้าวแบบใหม่ๆ ที่สามารถลดการใช้น้ำและลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ เช่น เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (Alternate Wetting and Drying: AWD) ที่เริ่มมีการนำมาใช้ในเวียดนามบ้างแล้ว
สาเหตุสำคัญที่เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยยังไม่สามารถนำแนวคิดใหม่ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นมาประยุกต์ใช้ได้ ก็เนื่องมาจากการขาดซึ่งองค์ความรู้และทรัพยากร (โดยเฉพาะทุนทรัพย์) ที่จะช่วยให้สามารถทดลองนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ ซึ่งหากภาครัฐมีเจตนารมณ์จะพัฒนาในด้านนี้จริงๆ แล้ว ก็ย่อมสามารถสนับสนุนเกษตรกรได้ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านองค์ความรู้โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การสนับสนุนด้านทุนทรัพย์หรือเงินกู้ยืมโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่การที่รัฐบาลไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วมลงนามในแถลงการณ์เรื่องก๊าซมีเทนก็นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่รัฐบาลไทยพลาดโอกาสการแสดงความจริงจังกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศของประเทศ
ประการสุดท้าย ในวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2564 รัฐบาลสหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จในการเชิญชวนรัฐบาลของสมาชิกอีก 18 ประเทศให้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์การลดการใช้พลังงานถ่านหินและการยุติการลงทุนในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และเป็นการช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วย อนึ่ง กลุ่มประเทศ 18 ประเทศดังกล่าว มีประเทศเพื่อนบ้านของไทยเช่นเวียดนาม เข้าร่วมด้วย แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม
ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่แล้ว 27 แห่ง ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศรวมกว่า 34.9 ล้านตัน และในเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็เพิ่งอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 2 แห่งที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทบ้านปู ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของประเทศไทย ก็ยังมีธุรกิจพลังงานถ่านหินในต่างประเทศ โดยเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินในออสเตรเลียและอินเดียอีกด้วย ถึงแม้ว่าพลังงานถ่านหินจะเป็นเพียงส่วนน้อยของแหล่งพลังงานที่ใช้อยู่ในประเทศไทย แต่การที่รัฐบาลไทยยังคงสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานถ่านหิน และการไม่เข้าร่วมในความร่วมมือการยุติการลงทุนในพลังงานถ่านหิน ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลไทยปล่อยให้โอกาสในการแสดงถึงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสภาพภูมิอากาศต่อหน้านานาประเทศในภูมิภาคและประชาคมโลกหลุดลอยไป
การตัดสินใจไม่ร่วมลงนามในความร่วมมือและพันธสัญญาต่างๆ ข้างต้นของรัฐบาลไทยนั้น เป็นการทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพที่ล้าหลังในด้านการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนการตัดลดงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 ลงถึงร้อยละ 47 อีกด้วย
แต่สถานการณ์อาจจะยังไม่สายเกินไป หากรัฐบาลไทยพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการตัดสินใจที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการร่วมลงนามในการแสดงเจตนารมณ์และเข้าร่วมในพันธสัญญาต่างๆ ในการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ดังเช่นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้ดำเนินการไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการลงนามหรือแสดงเจตนารมณ์ ก็คือการสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังในระดับนโยบาย โดยเฉพาะในแง่ของการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการอย่างจริงจังดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยและเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สามารถร่วมกันเป็นตัวอย่างในการผลักดันการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เพื่อนสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาคได้
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยที่มีต่อประชากรในประเทศ ในด้านการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชากรได้มีอากาศสะอาดหายใจ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืนและปลอดภัย
หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 (https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2211327/thailand-shows-lack-of-commitment-at-cop26)