ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ย่ำแย่ ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นเป็นจำนวนหลักพันทุกๆ วัน และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แฮชแท็กที่มาแรงและพุ่งทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 1 คือแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรทางการแพทย์ และ #ขอไฟเซอร์ให้หมอ
WAY อาสาพาไปย้อนรอยคำสัมภาษณ์ของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นับตั้งแต่ช่วงที่โควิดเริ่มระบาดใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน
ผมไม่ใช่หมอ โควิดคือโรคหวัดโรคหนึ่ง
ในวันที่ 25 มกราคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยยืนยันว่า ทางการไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น นายอนุทินจึงย้ำเตือนว่าไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก และหมั่นติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เนื่องจากทางการไม่ปกปิดข้อมูลแน่นอน
“ภาครัฐห่วงสุขภาพของคนไทยมากกว่าสิ่งอื่นใด เราไม่ปิดข่าวเพื่อสร้างภาพให้การท่องเที่ยวแน่นอน ประชาชนต้องได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ตอนนี้ทางจีนปิดเมืองอู่ฮั่น ถือเป็นมาตรการที่น่าพอใจ เพราะลดการระบาดของเชื้อ”
นายอนุทิน ยังได้ให้ความเห็นส่วนตัวอีกว่า โควิดเป็นเพียง “โรคหวัดโรคหนึ่ง” เท่านั้น
“คือผมไม่ใช่หมอ ก็ประคองตัวเองมาได้ 50 กว่าปีแล้วนี่นะครับ มองว่ามันคือโรคหวัดโรคหนึ่ง แล้วก็ใครเป็นหวัดเราก็ต้องรู้ การทำตัวก็คือ เวลาเราเจอคนเป็นหวัด เราทำยังไงก็ทำเหมือนกันนะครับ อย่าไปให้เขาจามใส่ อย่าไปสัมผัสตัวเขา อย่าไปกินข้าว กินอาหารร่วมกับเขา ใช้ชีวิตตามปกตินะครับ อย่าไปสัมผัสซากสัตว์ตายแล้ว”
นายอนุทินได้เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎง่ายๆ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และใช้ชีวิตตามปกติ รับประทานอาหารที่เรารับประทานกันโดยทั่วไป เช่น อาหารในภัตตาคารต่างๆ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้ออย่างแน่นอน
“จริงๆ ถามว่าถ้าไม่มีโรคระบาดอู่ฮั่น เราควรจะไปสัมผัสซากสัตว์ที่ตายแล้วไหม เราควรจะไปสัมผัสกับคนป่วยไหม เราควรจะไปกินค้างคาวไหม เราควรจะไปกินกบ กินกระต่าย กินอะไรไหม มันก็ไม่ควรทั้งนั้น ใช้ชีวิตให้มันปกติ กินอาหารที่คนไทยเรากินกันทั่วไป ไปเยาวราชไปกินอาหารตามภัตตาคารต่างๆ ก็ใช้ชีวิตตามปกติ รับรองไม่มีทางที่จะติดเชื้อได้อย่างแน่นอน”
ที่มา: https://workpointtoday.com/corona-virus-3/
ไม่พอใจ ‘แพทย์’ บุคคลตัวอย่าง แต่กลับไม่ระวังตนเอง
ในวันถัดมา (26 มีนาคม 2563) สื่อได้สอบถามนายอนุทินถึงกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 9 คน ได้รับเชื้อโควิด นายอนุทินชี้แจงว่ายังไม่ได้รับรายงาน และตอบกลับไปว่า
“เท่าที่ทราบการติดเชื้อของแพทย์จากการปฏิบัติหน้าที่รักษาโควิด-19 ยังไม่มี นี่คือสิ่งที่ต้องไปหวดกัน พวกเราไม่พอใจสำหรับบุคลากรที่ไม่เฝ้าระวังตัวเอง ซึ่งเราควรเป็นบุคคลตัวอย่าง ขอให้บรรดาแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกคนรักษาตัวให้เป็นอย่างดี เราต้องเป็นตัวอย่าง เป็นกำลังใจ ทำตัวเองให้ปลอดภัยเพื่อการดูแลรักษาคนป่วยอย่างสุดความสามารถ คนที่ป่วยได้สั่งให้เขาแยกตัวเองไว้แล้ว หวังว่าภายใน 5-7 วันจะหาย กลับมาทำงานอย่างเป็นปกติ”
นายอนุทินกล่าวเพิ่มอีกว่า “มัวแต่ระวังของนอกบ้าน ไม่ระวังของในบ้าน ต้องขออภัยด้วย และจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก”
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้นเอง แฮชแท็ก #อนุทิน ได้ขึ้นอันดับ 1 บนทวิตเตอร์ ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาก่นด่าและแสดงความไม่พอใจต่อคำให้สัมภาษณ์ของนายอนุทิน เนื่องจากภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนัก จนแทบไม่มีเวลาพักหายใจ โดยทำได้แค่งีบหลับไปบนโต๊ะทำงานบ้าง หรือนอนเรียงรายกันตามพื้นโรงพยาบาลบ้าง เป็นภาพที่ปรากฏแทบจะทุกแพลตฟอร์มในสื่อสังคมออนไลน์
ยิ่งไปกว่านั้น บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังต้องสรรหา ประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อป้องกันตัวเองมาใช้ในยามฉุกเฉินโดยไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพจากภาครัฐ การกล่าวเช่นนี้ของนายอนุทินจึงเป็นการบั่นทอนกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหน้าด่านผู้คอยดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังเสมอมา
“หลังจากการแถลง เชื่อว่าทีมแพทย์และพยาบาลเสียความรู้สึกอย่างหาที่สุดไม่ได้ มันเกิดคำถามในหัวตลอดเวลาว่าคุณให้อะไรในการป้องกันตัวเองให้ทีมแพทย์และพยาบาลบ้าง ในขณะที่เราให้กำลังใจกันในทุกๆ เช้าว่าเพื่อประเทศชาติและจะผ่านมันไปด้วยกัน ทำอุปกรณ์ขึ้นมาเองเพื่อป้องกันตัวเอง” บุคลากรทางการแพทย์รายหนึ่งกล่าวผ่านทวิตเตอร์
ที่มา: https://news.thaipbs.or.th/content/290278
ความล้มเหลวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้
วันที่ 28 มกราคม 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทินก็คงยังยืนยันว่า สถานการณ์ในไทยยังถือว่าอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้ แม้พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 6 ราย รวมเป็น 14 ราย แต่ผู้ป่วย 8 รายแรกอาการดีขึ้นแล้ว ดังนั้น การตรวจพบผู้ติดเชื้อจึงไม่นับว่าเป็นความล้มเหลว เนื่องจากตามหลักสากล การที่เรายิ่งตรวจพบก็แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการตรวจ อีกทั้งนายอนุทินก็ยังคงแสดงความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์โควิด-19 จะไม่รุนแรงเทียบเท่ากับไวรัสซาร์สหรือเมอร์สอย่างแน่นอน
“เรียนย้ำว่า เราไม่ได้วัดว่าการที่พบคนป่วยมากๆ เป็นความล้มเหลวนะครับ ทางการแพทย์ ยิ่งพบคนป่วยเท่ากับเป็นการยืนยันประสิทธิภาพในการหาคนป่วยเจอ ความล้มเหลวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรักษาไม่ได้ ควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครอยู่ที่ไหน แต่ตอนนี้ทุกรายเราทราบว่าใครอยู่ที่ไหนหมด”
เมื่อสื่อสอบถามถึงการประเมินระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายอนุทิน ระบุว่า ตนได้เคยสอบถามประเด็นนี้กับผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีการคาดการณ์ระยะยาวไว้ 6 เดือน เพราะตอนซาร์สกับเมอร์สก็กินระยะเวลา 9 เดือน แต่ในกรณีของโควิด ทางประเทศจีนได้ออกมาตรการปิดเมืองอู่ฮั่น ดังนั้น อาจมีแนวโน้มส่งผลให้การควบคุมเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ นายอนุทินยังสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนโดยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเอาอยู่ เพราะตนกับทีมงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ประสานงานกันด้วยความเข้าใจ และเชื่อว่ามีศักยภาพมากพอที่จะรักษาสถานการณ์อันเลวร้ายได้ ขอเพียงประชาชนให้กำลังใจ และไม่ควรกล่าวว่ากันอย่างไม่สร้างสรรค์ โดยประชาชนสามารถให้คำแนะนำได้ ตำหนิติเตียนได้ แต่ก็ควรให้ข้อเสนอแนะที่มีเหตุผลด้วย ตนเองพร้อมรับฟังและนำไปปฏิบัติตาม
ที่มา: https://workpointtoday.com/virus-19/
หวั่นม็อบทำโควิด-19 ระบาด อย่าให้ถึงขนาดต้องบังคับ
ท่ามกลางสระแสการลุกฮือของบรรดากลุ่มนักเรียนมัธยม นิสิตนักศึกษา และประชาชนจากทุกสาขาอาชีพที่ไม่พอใจต่อการดำรงอยู่และการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน สถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศจึงมีการจัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ กรณีในช่วงเย็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน รวมถึงในอีกหลายๆ จังหวัด นายอนุทินได้ให้ความเห็นว่า การจัดชุมนุมในช่วงเวลาเช่นนี้เป็นเรื่องที่อันตราย ประชาชนต้องตระหนักว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด ดังนั้น การรวมตัวกันของคนหมู่มาก จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรกระทำ เนื่องจากอาจทำให้การระบาดเพิ่มมากขึ้น
“ผมเข้าใจปัญญาชน แต่ตอนนี้มันมีการระบาดของโรค แต่ผมไม่ได้ปิดกั้น เท่ากับเราไม่ได้สั่งห้าม แต่ขอให้ทุกคนช่วยกันระมัดระวังการแพร่ระบาดของโรค เพราะถ้าติดกัน 1 คนในที่ชุมนุม เท่ากับเราต้องตามไปคุมโรคกับทุกคนที่ร่วมชุมนุม และต้องตามไปถึงคนใกล้ชิดกับทุกคนที่ร่วมชุมนุม อยากขอร้องให้ลองคิดดูว่ามันจะมีวิธีแสดงออกด้วยวิธีอื่นไหม”
นายอนุทินกล่าวว่า การจัดชุมนุมจะเป็นสาเหตุ หรือ คลัสเตอร์ (cluster) ที่ทำให้เชื้อโควิดแพร่ระบาดออกไป จึงเสนอให้นำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“เราได้แสดงความกังวลไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผมได้เรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ว่า หากจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร ตามกฎหมายที่แต่ละฝ่ายมีอำนาจอยู่ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขทำได้เพียงแค่แจ้งเตือนและขอความร่วมมือ ถ้าห้ามได้ผมก็ห้ามแล้ว แต่อย่าให้ถึงขนาดต้องบังคับ เพราะหากไม่ยอมก็จะเป็นเรื่องขึ้นมา”
“อาจจะต้องไปใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในการควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากห้ามแล้วแต่ไม่ฟัง ผู้จัดงานหรือหากจัดการชุมนุมก็ต้องรับผิดชอบ หากเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค” นายอนุทินกล่าวเตือน
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2015022
https://www.youtube.com/watch?v=Pq1I-XzHZ8o
น้ำตาแห่งความเชื่อมั่นของ รมว.สาธารณสุข
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 นายอนุทินได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยมีการสรุปสถานการณ์และชี้แจงให้ทุกฝ่ายใช้มาตรการเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการประสานงานกับทุกภาคส่วน ในขณะการแถลงข่าวนั้น บางช่วงนายอนุทินมีเสียงสั่นเครือ พร้อมกล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนจะนำบุคลากรที่มีความสามารถมาต่อสู้ป้องกันโควิด-19 โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนเสียภาษีให้กับประเทศนี้ ขอจงมั่นใจว่าทางทีมงานจะนำความปลอดภัยด้านสุขภาพมาให้ประชาชน
“ต้องมีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยืนยันว่าคนไทยต้องรู้จัก Social distancing ให้มาก เพื่อให้เราอยู่ร่วมกัน ให้ทุกคนไม่มีโอกาสได้รับเชื้อต่อกัน เพราะโควิด-19 อยู่ในตัวคน ไม่ใช่อากาศ”
เดือนถัดมา วันที่ 22 เมษายน 2563 นายอนุทินพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวง มีการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมีวาระการส่งเสริมสนับสนุน และการให้ความร่วมมือ เพื่อการบริหารจัดการ การจัดหา การกระจายวัคซีน และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ประชาชน โดยนายอนุทินตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 เดือน แผนวัคซีนโควิด-19 ของไทย จะต้องเดินหน้าเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเน้นย้ำว่าประชาชนไทยจะได้รับวัคซีนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และทุกคนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างถ้วนหน้า
“คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้เสนอพิมพ์เขียว The Brain ในการจัดทำแผนงานวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งการจัดทำวัคซีนดังกล่าวจะต้องมีแผนการทดลอง และต้องเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ เรามองไปถึงการกระจายวัคซีน ที่ไทยต้องได้รับในระยะเวลาที่รวดเร็ว ประชาชนทุกคนต้องได้สิทธิ์ในการเข้าถึง ชัดเจนว่าหลายหน่วยงานของไทย เริ่มพัฒนาวัคซีนกันแล้ว มีการเสนอว่าจะเห็นความคืบหน้าใน 6 เดือน แต่ที่ประชุมแห่งนี้ ขอเห็นความคืบหน้าใน 3 เดือน เราเชื่อว่าคนไทยเก่งมาก และจะทำได้ในที่สุด”
ที่มา: https://news.thaipbs.or.th/content/290064
https://www.bhumjaithai.com/news/26139
โควิดกระจอก
หลังจากที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จากแรงงานข้ามชาติที่อพยพเข้ามาภายในประเทศ นายอนุทินจึงได้กล่าวถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ณ สนามหลวง ไว้ว่า
“เวลานี้ความพร้อมของเรามีเต็มที่ อย่างไรก็สามารถควบคุมได้ อีก 6 เดือนก็มีวัคซีนออกมา จึงขอให้มั่นใจไม่จำเป็นต้องปิดจังหวัด เพราะโควิดกระจอก ถ้าเราเข้าใจและมีอาวุธพร้อม สามารถรับมือได้”
คำว่า “กระจอก” เป็นคำพูดที่บุคลากรทางการแพทย์หลายคนไม่เห็นด้วย เช่น รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ใน facebook ถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก โดยส่วนท้ายของโพสต์ มีความว่า
“หวัดธรรมดา…เห็นคำนี้ก่อนระลอกแรกมาแล้ว โชคดีที่ทุกคนในประเทศช่วยกันเต็มที่จึงรอดมาได้ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่หวัดธรรมดา
“ไวรัสกระจอก…เห็นคำนี้แล้ว เราต้องสู้ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดระลอกสอง เพราะจะแรง เร็ว คุมยาก ยืนยันว่ามันไม่ใช่ไวรัสกระจอก เห็นชัดๆ ว่าติดไปแล้วเกือบ 76 ล้าน ตายไปแล้วกว่า 1.6 ล้านคนทั่วโลก”
และในช่วงปลายเดือนเดียวกันนี่เอง การระบาดระลอกใหม่ก็เกิดขึ้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ย้ำว่า ต้องจำเป็นต้องยกระดับการควบคุมให้เข้มงวดขึ้น มีมาตรการให้ปิดตลาด และห้ามเข้า-ออกในพื้นที่ ด้านอนุทินก็มีการลงพื้นที่เช่นเดียวกันโดยวันที่ 27 ธันวาคม 2563 นายอนุทินได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประกอบการอาหารทะเลด้วยตนเอง มีการโชว์ลีลาทำอาหาร ควงตะหลิวราวกับเป็นพ่อบ้านมืออาชีพ ในขณะเดียวกัน นายอนุทินก็ได้รับประทานกุ้งเพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าอาหารทะเลที่จังหวัดสมุทรสาครนั้นสามารถนำไปปรุงสุกและบริโภคได้ เพราะสะอาด ปลอดภัย และไร้โควิด-19
อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมา (28 ธันวาคม 2563) มีการรายงานว่าผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ตรวจพบเชื้อโควิด เนื่องจากการลงพื้นที่และทำงานอย่างหนัก ดังนั้น นายอนุทินที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าฯ เมื่อวันก่อน จึงต้องปฏิบัติตามมาตรการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน พร้อมสังเกตอาการ แม้ผลการตรวจเชื้อจะออกมาเป็นลบก็ตาม โดยนายอนุทินยืนยันว่าจะทำงานต่อไปแบบ work from home เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ท่ามกลางความสนใจของประชาชนที่คอยลุ้นและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_2473021
https://www.bbc.com/thai/thailand-55464003
อนุทินเปิดศึกออนไลน์กับแพทย์ ลั่น “หมาไม่เข้าใจคน”
หากย้อนไปในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นายอนุทินได้ไปแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกับ นพ.ชญานนท์ บุญธีระเลิศ หลังจากแชร์โพสต์ต้นทางของนายอนุทิน พร้อมแคปชันที่ว่า “Covid โรคกระจอก โถ จะทำทุกอย่างให้ทุกคนปลอดภัย”
เมื่อนายอนุทินเห็นข้อความดังกล่าว และสังเกตรูปโปรไฟล์เป็นรูปสุนัขแสนน่ารัก จึงโต้กลับไปว่า “เห็นหน้าคนโพสต์เลยเข้าใจแล้วว่าหมาไม่เข้าใจคนอ่ะ” ด้าน นพ.ชญานนท์ จึงตอบกลับไปว่า “เก่งมากหนูเก่งมาก!!!!” ทางฝั่งนายอนุทินก็ไม่ยอมแพ้ โดยตอบกลับไปว่า “อยู่ รพ. พะเยาเหรอ เดี๋ยวไปหา มารอรับน้า” ทั้งคู่โต้กลับไปมาอย่างเผ็ดร้อน โดยท้ายที่สุด คุณหมอก็ได้แสดงความเห็นว่าอนุทินควรกลับไปทำหน้าที่ของตนให้ดี ไม่ต้องมารอรับ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ รมว.สาธารณสุข กลับมานั่งเล่น facebook สุดยอดจริง ๆ อย่างไรก็ตาม โพสต์นี้ได้ถูกลบไปแล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนเก็บภาพข้อความสนทนาอันดุเดือดนี้ไว้ได้
ที่มา: https://hilight.kapook.com/view/209601
ม้าเต็งที่มีนามว่า ‘AstraZeneca’
ในขณะที่หลายๆ ประเทศมีตัวเลือกวัคซีนให้ประชาชนได้เลือกฉีด ประเทศไทยกลับจัดหาวัคซีนให้ประชาชนเพียงแค่ไม่กี่ประเภทเท่านั้น โดยนายอนุทินได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวัคซีนที่ภาครัฐได้คัดสรรมาให้ประชาชนไทยได้ฉีด ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ไว้ว่า
“มีหลายหน่วยงานในไทยกำลังพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในภาคเอกชนก็ไบโอเนทเอเชีย ดังนั้น คนไทยจะเป็นเจ้าของคอกม้า ถามว่าแทงม้าตัวเดียวหรือเปล่า ว่ากันไปแล้วเราแทงม้าเต็ง เพราะว่าเราเห็นว่าม้าที่ชื่อว่า AstraZeneca วิ่งนำมาแล้ว เพราะเขาตัดสินใจจะสนับสนุนประเทศไทยก่อน เขากล้าที่จะบอกว่าเขามีถึง 61 ล้านโดสที่พร้อมจะมาให้ประเทศไทย ในขณะที่ม้าตัวอื่นบอกว่า เราต้องบอกเขาก่อนว่าเราต้องการเท่าไหร่ แต่ที่เร็วที่สุดที่เขาจะให้ก็เดือนกันยานู่น เท่าไหร่ยังบอกไม่ได้ เงื่อนไขยังบอกไม่ได้”
ที่มา: https://www.facebook.com/LikeAnutin/videos/423529778938852
วัคซีนยี่ห่อดังกล่าว เป็นวัคซีนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยมีการจองล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับแอสตราเซเนกา บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยมีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ร่วมดำเนินการ โดยนายประยุทธ์กล่าวว่า
“เราต้องมีการเตรียมการภายในประเทศคือ เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย อยู่ในขั้นตอน คือเมื่อรับวัคซีนเข้ามาแล้วจะมีการบรรจุ แจกจ่าย”
ที่มา: https://www.bbc.com/thai/55097716
อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดนี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับหลากหลายประเทศในเรื่องของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่อาจเป็นผลข้างเคียง ซึ่งอาจเกิดกับคนอายุน้อย หรือวัยทำงาน รวมถึงอาการอื่นๆ เช่น พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ตามัว แขนขาชาอ่อนแรง บางรายอาจมีอาการบวมแดง หอบเหนื่อย ชัก ปวดท้องรุนแรง ฯลฯ หรือร้ายแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น ในกรณีของประเทศอิตาลี ทางภาครัฐได้สั่งระงับการฉีดแอสตราเซเนกา กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี หลังพบวัยรุ่นฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา ดังนั้น จะเห็นว่าหลายๆ ประเทศหันไปใช้วัคซีน mRNA ที่ผลิตโดย ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา เป็นหลัก
ให้กราบ Pfizer ก็ยอม
ในช่วงปลายปี 2563 นายอนุทินกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนว่า ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งซื้อวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) โดยวัคซีนชนิดนี้มีกระบวนการผลิตที่คิดค้นผ่านเทคโนโลยี RNA ซึ่งหากฉีดเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) และเสริมสร้างให้เซลล์ในร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจเจรจากับบริษัทเวชภัณฑ์หลายแห่ง เพื่อให้วัคซีนเพียงพอต่อผู้ติดเชื้อ หนึ่งในนั้นคือวัคซีนจากไฟเซอร์ที่เคยถูกปฏิเสธไป แต่ภายหลัง นายอนุทินกลับให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ว่าจะเจรจากับบริษัทไฟเซอร์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีถ้อยความหนึ่งระบุว่า “จะให้กราบเขาเพื่อให้ส่งได้เร็วที่สุดก็จะทำ”
ทว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาแฮชแท็กที่มาแรงและพุ่งทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 1 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือแฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรทางการแพทย์ และ #ขอไฟเซอร์ให้หมอ หลังมีเอกสารสำคัญ ‘หลุด’ โดยเอกสารนี้เป็นข้อมูลสรุปการประชุมเฉพาะกิจร่วมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฯ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยมีข้อความตอนหนึ่งที่ระบุถึงข้อคิดเห็นผู้ร่วมประชุม อาทิ “ในขณะนี้ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (กลุ่มด่านหน้า บุคลากรทางการแพทย์) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”
ไม่นาน นายอนุทินก็ออกมายอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นความจริง แต่เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ไม่ใช่ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวที่ปรากฏในเอกสารได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพหน้าด่านที่มีโอกาสได้รับความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงานทุกๆ วัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า
“ก่อนจะรักษาหน้า รักษาชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ก่อนไหมคะ แพทย์หน้าด่านแต่ละคนต้องทำงานเสี่ยงติดเชื้อทุกวัน เหนื่อยก็เหนื่อย แต่กลับฉีดวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพให้เขา ปฏิบัติกับเขาราวกับว่าเป็นเครื่องจักร ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นพวกมึงมากกว่าที่ไม่มีความเป็นคน”
นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวมากมายตามสื่อออนไลน์ รวมถึงมีการรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนร่วมลงชื่อออนไลน์ เรียกร้องให้นำเข้าวัคซีน mRNA โดยภาคีบุคลากรสาธารณสุขและหมอไม่ทน จะรวบรวมรายชื่อเหล่านี้ไปยื่นที่สภา
ในที่สุด หลังประชาชนไทยพร้อมใจกันก่นด่า ต่อว่า สาปแช่ง ก็ดูเหมือนว่าจะไปสะกิดต่อมบางอย่างของภาครัฐให้ทำงาน โดยในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้ลงนามสัญญา จัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นจำนวน 20 ล้านโดส เพื่อนำเข้าในประเทศไทยภายในเดือนตุลาคม 2564 ที่จะถึงนี้ โดยวัคซีนนี้จะมุ่งฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเป็น ‘บูสเตอร์โดส’ เข็มที่ 3
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจสรุปได้ว่า ไฟเซอร์นั้นไม่ได้มาจากการกราบอ้อนวอนของนายอนุทินแต่อย่างใด หากแต่เป็นการส่งเสียงร้องที่เต็มไปด้วยความคับแค้นใจของประชาชนไทยที่ไม่สามารถทนได้จากการบริหารงานของภาครัฐที่ปฎิบัติกับประชาชนราวกับพวกเขาไม่ได้เป็นมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้เอง ครม. ก็อนุมัติให้ซื้อวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เพิ่มอีกเป็นจำนวน 10.9 ล้านโดส ในกรอบวงเงิน 6,111 ล้านบาทด้วยเช่นกัน แม้จะมีเอกสารหลุดออกมาว่ามันไร้ประสิทธิภาพก็ตาม