ในรอบปีที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ขณะเดียวกันก็มีบางประเด็นที่กองบรรณาธิการเลือกที่จะเล่า บางเรื่องก็อยู่ในกระแสของสังคม ขณะที่บางเรื่องเราก็เลือกหยิบจับบางหัวข้อที่ ‘เราคิดว่าน่าสนใจ’ มาจัดวางเป็นทางเลือกท่ามกลางความล้นทะลักของข้อมูลข่าวสาร
ว่ากันด้วยสถิติ ตลอดปี 2018 เว็บไซต์ waymagazine.org ผลิตเนื้อหาเล็กบ้างใหญ่บ้างราว 500 กว่าเรื่อง ต่อไปนี้คือ 5 อันดับเนื้อหาที่มีผู้อ่านมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ประกอบไปด้วยเรื่องราวตั้งแต่สุนทรียะตลาดล่างจนถึงความเศร้าของคนบนฟ้า ซึ่งเราจะพากลับไปทบทวนอีกครั้ง
อันดับ 5 สุนทรียะตลาดล่าง พื้นที่และมูลค่ากราฟิกรถซิ่ง
ถ้าพูดถึงนักออกแบบ ‘graphic designer’ คงให้ภาพว่านั่งทำงานในออฟฟิศแนวลอฟต์หรือร้านกาแฟฮิปๆ แต่อีกด้านของการออกแบบ บนท้องถนนก็สามารถกลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์ของคนอีกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ช่างกราฟิก’ ‘ช่างป้าย’ หรือแม้กระทั่ง ‘เด็กแว้น’ ได้เหมือนกัน
หลังจากที่ สรัช สินธุประมา นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขลุกตัวอยู่ที่ร้าน ‘สีสันการป้าย’ เป็นเวลาหนึ่งเดือน ได้คลุกคลีกับ น้าสมาน จันทร์เทพ เจ้าของร้าน, เฟิร์ส และ นัตตี้ ช่างประจำร้านและอีกบทบาทคือเด็กแว้น สิ่งที่สรัชต้องการถ่ายทอดคือการสลายอคติต่างๆ อย่างที่เขาบอกเราว่า
“เราไม่ได้บอกว่าเราไม่มีอคติเลย แต่เป้าหมายของเราคือเราพยายามเปิด แล้วเขียนให้เห็นว่ามันมีด้านอื่นของคนกลุ่มนี้ ที่คนส่วนใหญ่หรือสังคมไม่เคยเห็นมุมนี้มาก่อน”
คลิกอ่าน: สุนทรียะตลาดล่าง พื้นที่และมูลค่ากราฟิกรถซิ่ง
อันดับ 4 ถ้าแวนโกะห์เป็นผีจริง ลุงคงไม่มาหลอกแกหรอก
ราวปลายเดือนพฤษภาคม พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ คนรักงานศิลป์เล่าว่า เช้าวันหนึ่งเธอตื่นขึ้นมาแล้วหายเมาขี้ตาเมื่อเจอคำสร้อยท้ายข่าว “สยอง ผีแวนโก๊ะมาหา”
“เป็นการอ่านข่าวที่สับสนในอารมณ์มาก เหมือนดูหนังไซไฟ ดาวินชี่โค้ด สืบเสาะ ค้นหาความจริง ภาพจริงหรือภาพปลอมกันแน่ แล้วอยู่ๆ หนังก็เปลี่ยนเป็น ชัตเตอร์กดติดวิญญาน เอาดื้อๆ อินซิเดียส 6 วิญโกะห์ตามติด ผีแวนโกะห์อาฆาตใครที่ขโมยรูปไปจะโดนตามตัดหู ไรเงี้ยะเธอ”
พีรมณฑ์ จึงตาม ‘ผีแวนโกะห์’ ไปยังสมัยที่เขายังมีชีวิต แล้วถามว่า “ลุงวาดภาพมาเป็นพัน เห็นความงามของทุกสิ่งตั้งแต่ดวงดาวยันทานตะวันเหี่ยวๆ ถ้าลุงตาย ลุงจะมาสิงภาพภาพเดียวเนี่ยนะ?”
คลิกอ่าน: ถ้าแวนโกะห์เป็นผีจริง ลุงคงไม่มาหลอกแกหรอก
อันดับ 3 ไล่ ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ ไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยอีกรอบ
บันทึกบทสนทนาระหว่างกองบรรณาธิการ WAY กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ชิ้นนี้ ตีพิมพ์ฉบับนิตยสารครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ก่อนรัฐประหารไม่กี่เดือน
ปลายเดือนมิถุนายน 2561 รัฐสภาฝรั่งเศสมีมติให้ถอนคำว่า ‘เชื้อชาติ’ ออกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ
สุจิตต์ วงษ์เทศ ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอ่านเอกสาร หาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เขียนหนังสือหลายสิบเล่ม เขียนบทความนับพันชิ้น เพื่อยืนยันว่า เชื้อชาติไทยแท้ไม่มีจริง เราคือผลผลิตของอารยธรรมอุษาคเนย์ที่หลากหลายและผสมผสาน
อะไรทำให้สองเรื่องนี้ผูกเข้าหากัน กลายเป็นบทสนทนาเดียวกัน ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ อะไรทำให้บทสนทนานี้ยังคงสดใหม่อย่างน่าขมขื่น
คลิกอ่าน: ไล่ ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ ไปเรียนประวัติศาสตร์ไทยอีกรอบ
อันดับ 2 ปาฐกถาฉบับเต็ม ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ปาฐกถาฉบับเต็มทุกวรรคตอนของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในหัวข้อ ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ บันทึกไว้เนื่องในวาระปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2561 ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
คลิกอ่าน: ปาฐกถาฉบับเต็ม ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
อันดับ 1 ยิ่งบิน ยิ่งเศร้า: Air Hostess and her Mental Illness
ข่าวการเสียชีวิตของแอร์โฮสเตสสายการบินดัง มีข้อมูลว่ามีสาเหตุมาจาก ‘โรคซึมเศร้า’
ฟังแล้วอาจสงสัยว่าสาวสวยในชุดเครื่องแบบ โปรยยิ้มให้ผู้คน มีใจรักการบริการ นางฟ้าแอร์โฮสเตสคืออาชีพในฝันของใครหลายคน ไหนจะการเดินทางไกลไปสวิตเซอร์แลนด์ ไหนจะรายได้พอที่จะซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมได้สบายๆ
นั่นคือด้านสว่างใต้แสงไฟเหนือน่านฟ้า
ด้านมืดของอาชีพนางฟ้าเริ่มเผยตัวออกมาเรื่อยๆ โดยที่แต่ละคนไม่รู้ตัวว่า ถูกสิ่งเหล่านี้กลืนกินไปแค่ไหน ร้ายที่สุดจะไปถึงจุดอาการซึมและอาการเศร้ามีน้ำหนักต้านแรง G มาก จนทำให้บางคนตัดสินใจ ‘ไม่ไปต่อ’
คลิกอ่าน: ยิ่งบิน ยิ่งเศร้า: Air Hostess and her Mental Illness