การเดินทางของเม็ดเงิน: ธุรกิจข้ามชาติ ผลประโยชน์รัฐ ธุรกรรมการเงิน และสถานการณ์หลังรัฐประหารในเมียนมา

เกิดอะไรขึ้นหลังรัฐประหารในเมียนมา

มิถุนายน 2567 ทอม แอนดรูวส์ (Tom Andrews) ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา (UN Special Rapporteur on the situation of human rights in Myanmar) เปิดเผยรายงานพิเศษ Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar1 ชี้ให้เห็นว่า ธนาคารไทย 5 แห่ง มีความเชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา หรือ SAC (State Administration Council) เพื่อการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ โดยพบความเชื่อมโยงว่า การจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกับการ ‘โจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน’ ในสงครามกลางเมืองเมียนมาเมื่อปี 2566  

ช่วงหนึ่งของรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีการจัดหาอะไหล่สำหรับเฮลิคอปเตอร์แบบ Mi-17 และเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ Mi-35 ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ได้เคยจัดหามาก่อน โดยมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารไทย 

อาวุธยุทธภัณฑ์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน ในเดือนเมษายน 2566 ที่หมู่บ้านปาซิจี (Pazigyi) ภูมิภาคสะกาย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 17 คน 

การโจมตีทางอากาศในเดือนเมษายน 2566 ที่หมู่บ้านปาซิจี ภูมิภาคสะกาย เมียนมา | ที่มา: https://myanmar-now.org | ภาพ: KYUNHLA ACTIVISTS GROUP
ที่มา: https://english.dvb.no

6 กันยายน 2567 มีรายงานข่าวการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา หรือ ‘ตัดมะด่อ’ (Tatmadaw) ในเมืองนํ้าคำ (Namhkam) ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ห่างจากแนวพรมแดนเมียนมา-จีน เพียง 5 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 11 คน เป็นเด็ก 2 คน บาดเจ็บ 11 คน อาคาร 2-3 หลังได้รับความเสียหายอย่างหนัก2 

หนึ่งในสมาชิกของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน กองกำลังปลดปล่อยชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army: TNLA) ซึ่งเข้ายึดครองพื้นที่ดังกล่าวระบุว่า มีการโจมตีทางอากาศด้วยการทิ้งระเบิดใส่พลเรือนผู้บริสุทธิ์แบบรายวัน

“กองทัพเมียนมาทิ้งโจมตีทางอากาศรายวัน โดยการทิ้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์ ใส่เป้าหมายพลเรือน”3

สมาชิกกองกำลัง TNLA

นับตั้งแต่การรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้นำกองทัพเมียนมา โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ภายใต้การนำของ นางอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) จนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐประหารทั่วประเทศ ก่อนจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยอาวุธ ผลักดันให้ประชาชนชาวเมียนมาจำนวนมากจับอาวุธสู้ ร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวพื้นที่ชายแดน รวมไปถึงการจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force: PDF) ต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลทหารเมียนมาของพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย

ตลอดระยะเวลา 3 ปี สงครามกลางเมืองเมียนมายังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการโจมตีทางอากาศที่พุ่งเป้าไปยังพลเรือนเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ 

สำนักข่าวอิระวดี (The Irrawaddy) รายงานตัวเลขว่า การโจมตีทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 63 ครั้ง ในปี 2564 เป็น 260 ครั้ง ในปี 2565 และสูงถึง 613 ครั้ง ในปี 2566 

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ตัดมะด่อปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือนทั่วประเทศ เช่น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา โรงเรียน และตลาด ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิต 359 คน ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 61 คน และมีผู้บาดเจ็บ 756 คน4

การพุ่งเป้าโจมตีเป้าหมายพลเรือนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง คำถามมีอยู่ว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564  เมียนมาถูกนานาชาติควํ่าบาตร (sanction) ทางเศรษฐกิจ และไม่ส่งอาวุธ (arms embrago) ให้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว งบประมาณจัดซื้ออากาศยานโจมตีทางอากาศ มีที่มาจากแหล่งใด

‘ความตายจากฟ้า’ ยังคงดำเนินต่อไป โดยมี ‘ตัวละครลับ’ เกี่ยวโยงกับธุรกรรมจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมา

สงครามกลางเมืองกำลังล่วงเข้าสู่ปีที่ 4 

จากรายงานรอบ 6 เดือนของ Armed Conflict Location & Event Data (ACLED) ตลอดระยะเวลาครึ่งแรกของปี 2567 ประชาชนชาวเมียนมา 43 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 22,826,181 คน ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในสงครามกลางเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน (violence against civillians) ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาทั้งสิ้น 62 ครั้ง (ลดลงจากตัวเลขเฉลี่ยหลักร้อยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567)5 

“เราไม่รู้ว่าพวกทหารจะมาเมื่อไร จะมาจับตัวไปเมื่อไรไม่รู้ เวลาออกไปข้างนอกก็ต้องระมัดระวังตัว กลัวจะถูกจับตัวไป พวกทหารสามารถเข้ามาในบ้าน ค้นข้าวของ หากเจอของมีค่าก็จะเอาไป ทำให้ทุกคนรู้สึกกลัวไปหมด” 

ปากคำของแรงงานเมียนมาที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อจริงและรูปพรรณใบหน้า ผู้พลัดถิ่นจากหมู่บ้านในภูมิภาคมัณฑะเลย์ (Mandalay Region) หมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่ต่อต้านการปกครองของคณะรัฐประหาร สะท้อนภาพ “ระบอบที่ปกครองด้วยความหวาดกลัว” (reign of terror) ที่ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน 

แรงงานเมียนมาผู้นี้เล่าสภาพในหมู่บ้านว่าไม่มีใครล่วงรู้ชะตากรรมของตนเองว่า วันนี้อาจจะถูกจับตัวไปหรือไม่ พรุ่งนี้จะต้องเสียชีวิตหรือไม่ เพราะมีกรณีที่มีชาวบ้านถูกจับตัว ก่อนพบเป็นศพในวันรุ่งขึ้นหลายครั้ง 

เมื่อไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของพวกเขา มีเพียงเสียงปืนยิงขึ้นฟ้าของทหารเท่านั้น ที่ทำให้รู้ว่าพวกเขามาถึงหมู่บ้านแล้ว

“ในหมู่บ้านมีคนต่อต้านรัฐประหารและระบอบมินอ่องหล่ายมากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ ยังดีที่ไม่มีการทิ้งระเบิด แต่จะมีการยิงขึ้นฟ้าข่มขู่ ไม่มีใครล่วงรู้ชะตากรรมของตนเองว่า พวกเขาจะมาเมื่อไรก็มา พวกเขาจะสั่งยิงเสียเมื่อไรก็ได้”

เบบี้ (ชื่อสมมติ)
แรงงานชาวเมียนมา ย่านเยาวราช-สำเพ็ง

อย่างไรก็ดี ในระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างปี 2566-2567 การโจมตีทางอากาศใส่เป้าหมายพลเรือน มีสถิติเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ทั้งที่รัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียที่มั่นและพื้นที่ยึดครองให้แก่กองกำลังฝ่ายต่อต้าน รวมไปถึงสูญเสียกำลังพลหลายหมื่นนาย ที่ยอมแพ้ต่อฝ่ายต่อต้านในหลายพื้นที่6 ความเพลี่ยงพลํ้าของตัดมะด่อเช่นนี้นำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมตัดมะด่อจึงกำหนดเป้าหมายการโจมตีไปยังพลเรือน มากกว่าการทำสงครามกับกองกำลังติดอาวุธเพื่อการยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายต่อต้าน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมียนมา ชี้ประเด็นให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่เราควรให้ความสนใจมากที่สุด ณ ปัจจุบัน คือ ตัดมะด่อเน้นการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายพลเรือน ด้วยการใช้เครื่องบินรบหรือเฮลิคอปเตอร์โจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเปิดฉากโจมตีตามหมู่บ้าน เผาทำลายเคหะสถาน ข่มขืนทารุณกรรม เป็นการล้างแค้นที่ประชาชนเหล่านี้ให้การสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลัง PDF

“การโจมตีทางอากาศของตัดมะด่อคือ มาตรการตอบโต้ประชาชนที่ให้การสนับสนุนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกองกำลัง PDF แม้ว่าตัวเลขของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสเกลที่สูงมากและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ”

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การสู้รบในสงครามกลางเมืองเมียนมา ณ ปัจจุบัน เข้าสู่ภาวะที่ทุกฝ่ายล้วนเหนื่อยล้า เพราะต่างระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการศึก แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีความพยายามในการที่จะหาทางลง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวทางหาทางลงไม่เหมือนกัน 

ฝ่ายต่อต้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น มีกองกำลัง PDF พยายามในการเข้ายึดพื้นที่ เพื่อให้ตัดมะด่อยอมแพ้ วิธีการเช่นนี้ใช้มา 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่บรรลุผล 

ต้นเดือนกันยายน 2567 เสียงระเบิดและการปะทะเกิดขึ้นอีกครั้งที่เมืองเมียวดี และอาจจะปะทุหนักอีกรอบ ตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงสงบศึกหรือหยุดยิง โอกาสที่สงครามคราวนี้จะหยุดลงอย่างถาวรจึงแทบเป็นไปไม่ได้ 

“ความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ SAC เกิดขึ้นเพื่อการรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองของตนเองให้คงอยู่ต่อไป” 

ผศ.ดร.ลลิตา กล่าวย้ำถึงความพยายามรักษาอำนาจและสถานภาพปัจจุบัน (status quo) ของ SAC ซึ่งจำเป็นต้องกดปราบประชาชนชาวเมียนมา 

ทรัพยากรสำคัญของการรักษาอำนาจด้วยวิธีการนี้คือ ‘เงินทุน’ และ ‘อาวุธ’ 

‘บ่อทอง’ ของกองทัพเมียนมา และการควํ่าบาตรที่ไม่เป็นผล 

โดยพื้นฐานแล้ว เมียนมาเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รายได้หลักของประเทศมาจากทรัพย์ในดินสินในนํ้า ผ่านการให้สัมปทานต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ นํ้ามัน แร่อัญมณี เป็นต้น 

ภายหลังการรัฐประหารในปี 2564 ประเทศโลกเสรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (European Union: EU) มีมาตรการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา กดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของตนเองที่ได้รับสัมปทานการขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งทะเลอันดามันของในเมียนมาอย่าง โททาล เอนเนอจี้ (TotalEnergies)7 ของฝรั่งเศส และเชฟรอน (Chevron)8 ของสหรัฐอเมริกา ถอนตัวออกจากการได้รับสัมปทานดังกล่าว

อย่างไรก็ดี มาตรการควํ่าบาตรต่อเมียนมาเช่นนี้ แสดงออกโดยประเทศในโลกตะวันตกเท่านั้น ขณะที่การเข้าไปลงทุน การรับสัมปทาน หรือการค้าขายตามแนวชายแดนในเมียนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีน ไทย อินเดีย และเพื่อนบ้านอาเซียน (ASEAN) อย่างสิงคโปร์ ยังคงดำเนินต่อไป หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมียนมาและรัสเซีย ผู้สนับสนุนอาวุธ ก็ไม่ได้ทำให้การควํ่าบาตร SAC ส่งผลกระทบแต่อย่างใด 

ผศ.ดร.ลลิตา วิเคราะห์ท่าทีของรัฐบาลเมียนมาต่อมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกว่า 

“ตราบใดก็ตามที่เมียนมายังสามารถค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้ เมียนมาก็ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศตะวันตก 

“กรณีของไทย เมียนมาเชื่อว่าความมั่นคงทางพลังงานของไทยยังต้องพึ่งพิงเมียนมา ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการซื้อพลังงานจากตะวันออกกลาง ตรงนี้ทำให้เห็นได้ว่าตราบใดที่ประเทศเพื่อนบ้านยังต้องพึ่งพาทรัพยากรจากเมียนมาอยู่ ย่อมไม่มีมาตรการควํ่าบาตรจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาล SAC ก็จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง 

“แต่หากวันหนึ่งทั้งโลกพร้อมใจกันควํ่าบาตร รวมถึงควํ่าบาตรประเทศที่ยังมีความสัมพันธ์กับเมียนมา ไม่ว่าจีนและไทย ถึงวันนั้นการกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาจึงจะเห็นผล” 

การเคลื่อนย้ายฐานที่มั่นจากสิงคโปร์สู่ไทย

รายงาน The Billion Dollar Death Trade: The International Arms Networks that Enable Human Rights Violations in Myanmar โดย ทอม แอนดรูวส์ (Tom Andrews) ผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา (UN Special Rapporteur on the situation of human rights in Myanmar) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ชี้ให้เห็นว่า เครือข่ายนักธุรกิจเมียนมาที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา (State Administration Council: SAC) ถือเป็นนายหน้าจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ อะไหล่ วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงนํ้ามันสำหรับเครื่องบินรบ ผ่านบริษัทของตนเองก่อนส่งให้ตัดมะด่อ 

โดยหนึ่งในนั้นคือเครือข่ายธุรกิจในสิงคโปร์ที่ถูกใช้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและการจัดหาอาวุธผ่านบริษัทในเครือ ทำให้ทางการสิงคโปร์ตกเป็นเป้าเพ่งเล็งจากนานาชาติ แต่อย่างไรก็ดีผู้รายงานพิเศษชี้ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นความเคลื่อนไหวนี้ 

Justice for Myanmar องค์กรเคลื่อนไหวด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเมียนมา ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อให้ดำเนินการสกัดกั้นทางการเงิน การจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ เสบียง และนํ้ามันสำหรับเครื่องบินรบด้วย พร้อมทั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธ รวมไปถึงให้ระงับการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล SAC เพื่อหยุดยั้งการทำสงครามกลางเมือง9 

ภายหลังรายงานฉบับดังกล่าวได้รับการเปิดเผยและเกิดเสียงเรียกร้องจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมา ท่ามกลางการจับจ้องจากนานาชาติ ทางการสิงคโปร์จึงได้ตอบรับการดำเนินการดังกล่าวอย่างแข็งขัน นำไปสู่การดำเนินนโยบายไม่ส่งอาวุธให้เมียนมา ภายใต้มติสมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly resolution 75/287) อันเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมา ในปี 2564 ภายหลังการรัฐประหาร 5 เดือน

ในปีงบประมาณ 2565 ธนาคารสิงคโปร์ให้บริการด้านธุรกรรมแก่รัฐบาลทหารเมียนมา มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ในการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ต่อมารัฐบาลสิงคโปร์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนตามที่รายงานฉบับนั้นรายงานออกมา ส่งผลให้การไหลเวียนของอาวุธและยุทธภัณฑ์จากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ ผ่านไปยังเมียนมาลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ 

ขณะเดียวกัน การดำเนินการสอบสวนและตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้การให้บริการด้านธุรกรรมแก่รัฐบาลทหารเมียนมา เหลือตํ่ากว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งการจัดซื้อที่เหลือตํ่ากว่า 20 เปอร์เซ็นต์นี้ เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เท่านั้น อีกทั้งบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ให้เมียนมาก็ลดจำนวนลงอย่างมาก จาก 81 บริษัท ในปี 2565 เหลือเพียง 6 บริษัท ในปี 2566 

มาตรการของสิงคโปร์ที่เข้มข้นและแข็งขันนี้ ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมามองหาช่องทางในการจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ผ่านช่องทางอื่น นั่นคือ ประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีนโยบายคว่ำบาตรหรือห้ามส่งอาวุธให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาที่ชัดเจนแต่อย่างใด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เมียนมา อธิบายการเคลื่อนตัวของทุนสนับสนุนอาวุธจากสิงคโปร์มายังไทยว่า

“ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุไว้ว่า กลุ่มนักธุรกิจเครือข่ายใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์ ฝากเงินรวมถึงค้าอาวุธ แต่เมื่อบริษัทเหล่านี้ถูกควํ่าบาตร ติดแบล็กลิสต์ จากการปราบปรามอย่างจริงจังของทางการสิงคโปร์ ทำให้บริษัทค้าอาวุธที่เคยจดทะเบียนในสิงคโปร์ต้องย้ายเข้ามาจดทะเบียนในไทยแทน เพื่อเลี่ยงบาลี และยังดำเนินการค้าอาวุธให้กับเมียนมาต่อไป นั่นหมายความว่า ธนาคารในประเทศไทยก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่กลับไม่มีมาตรการใดที่จะป้องกันเงินเปื้อนเลือด (blood money) ที่ไหลเข้ามาสู่ระบบของธนาคารไทย”

จากรายงานพิเศษ Banking on the Death Trade ยังพบด้วยว่า ปริมาณเงินไหลเวียนในการจัดซื้ออาวุธผ่านทางสิงคโปร์ลดลง จากมูลค่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2565 เหลือเพียงแค่ 10 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2566 ตรงกันข้าม การจัดซื้ออาวุธจากบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 60 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 120 ล้านดอลลาร์ 

ธนาคารไทย 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารกรุงไทย ถูกระบุในรายงานพิเศษดังกล่าวว่า มีความเชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมของรัฐบาลทหารเมียนมา

เส้นทางการเงินและการทำธุรกรรมในการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาล SAC ดำเนินการผ่านธนาคารเมียนมา 2 แห่ง คือ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) และ Myanmar Investment and Commercial Bank (MICB) ธนาคารทั้ง 2 แห่งนี้เป็นธนาคารรัฐ และถูกนานาชาติคว่ำบาตร รัฐบาล SAC จึงเปลี่ยนมาทำธุรกรรมผ่าน Myanmar Economic Bank (MEB) แต่ก็ถูกคว่ำบาตรในเวลาต่อมา 

ธนาคารไทยทั้ง 5 แห่งที่ปรากฎชื่อในรายงาน ล้วนมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับธนาคารเมียนมาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารเมียนมาทั้ง 3 แห่งหรือแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมีการให้บริการทางธุรกรรมกับทางเมียนมาสำหรับรับรายได้จากวิสาหกิจรัฐ (state-owned enterprise) ต่างๆ ผ่านการให้บริการ nostro account กระทั่งรายงานของผู้รายงานพิเศษพบว่า มีการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ด้วย ซึ่งภายหลังจากผู้รายงานพิเศษได้ส่งจดหมายไปยังสถาบันการเงินเหล่านี้เพื่อขอให้หยุดให้บริการทางการเงินแก่เมียนมา 

มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ส่งผลให้มูลค่าการทำธุรกรรมในบางธนาคารของไทยมีมูลค่าทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงตามแรงกดดัน เช่น ในปีงบประมาณ 2565 ธนาคารกสิกรไทยเคยมีมูลค่าทางธุรกรรมในการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ของรัฐบาลทหารเมียนมา 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อถึงปีงบประมาณ 2566 ลดเหลือเพียง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาธนาคารกสิกรไทยได้ยุติการให้บริการทางธุรกรรมแก่ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) หลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศควํ่าบาตรต่อธนาคารดังกล่าวในเดือนมิถุนายน 2566  

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 SAC และภาครัฐต่างๆ จัดซื้อสินค้าและบริการผ่าน Myanmar Economic Bank (MEB) มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 MEB ให้บริการทางธุรกรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้รับรายได้ 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากรายได้ ซึ่งรวมไปถึงเงินจำนวน 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีที่มาจากรายได้รายเดือนจากการขายก๊าซธรรมชาติและนํ้ามันของรัฐวิสาหกิจให้กับประเทศไทย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นักธุรกิจผู้ใกล้ชิดกับ SAC เข้ามาเป็นผู้เล่นในการจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์และอื่นๆ เพื่อป้อนให้กับกองทัพเมียนมาด้วย 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ การจัดซื้อนํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน (aviation fuel) โดยใช้บริษัทของพวกเขาเป็นทางผ่านในการจัดซื้อและทำธุรกรรมผ่านธนาคารในประเทศไทย เช่น Asia Sun Group ได้ใช้บริษัทในเครือ 3 บริษัทคือ Swan Energy Myan-Oil และ Rich Ray Trading จัดซื้อนํ้ามันสำหรับอากาศยานเพื่อใช้สำหรับเครื่องบินรบ ทั้งหมดมีมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ไปยังบริษัทด้านพลังงานของไทยในช่วงปี 2566 

ในอีกทางหนึ่ง การตรวจสอบอย่างเข้มข้นที่มีประสิทธิภาพของธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทย ซึ่งรวมไปถึงการสอบประวัติย้อนหลังของบริษัทสัญชาติเมียนมาสามารถหาข้อค้นพบได้ว่า บริษัทสัญชาติเมียนมาเหล่านั้นมีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวกับการซื้อขายนํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน ตัวอย่างเช่น บริษัท Swan Energy’s ที่ประกาศผ่านเว็บไซต์ว่า ทำการซื้อนํ้ามันสำหรับอากาศยานมายังเมียนมา 10,000 เมตริกตันในทุกเดือน คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของส่วนแบ่งในตลาดเมียนมา

บริษัทสัญชาติเมียนมาที่ถูกลิสต์ในรายงานฉบับนี้ทั้งหมดว่า มีความเชื่อมโยงการซื้อนํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน ล้วนเป็นบริษัทของนักธุรกิจเมียนมาที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาล SAC แทบทั้งสิ้นเช่น ซอมินทุน (Zaw Min Tun) เจ้าของ Asia Sun Group ที่ได้เข้าซื้อกิจการในปี 2565 วิน จอ จอ อ่อง (Win Kyaw Kyaw Aung) ผู้อำนวยการและผู้ถือหุ้นของ Asia Sun Group เป็นต้น    

ที่มา: รายงานพิเศษ Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar (p. 21)

การปรับตัว(ของรัฐบาลทหารเมียนมา)เมื่อถูกโลกโอบล้อม

รายงาน Banking on the Death Trade กระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยโดยตรง แต่อย่างไรก็ดี นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อกรณีวิกฤตการณ์หลังรัฐประหารเมียนมา รัฐบาลไทยยืนกรานมาโดยตลอดว่าจะวางตัว ‘เป็นกลาง’ ในความขัดแย้งดังกล่าว แนวทางนโยบายนี้ชัดเจนตั้งแต่สมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องมาสู่รัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่เพิ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “จะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ”

“เรื่องนี้ทำให้ไทยเสียหน้า และอยู่ภายใต้แรงกดดันเพิ่มขึ้น ขณะนี้ทั่วโลกมองว่าไทยคือแหล่งพักเงิน แหล่งฟอกเงิน จริงๆ แล้วมีหลายมิติไม่ใช่แค่ปัญหาด้านการเงินการธนาคารเพียงอย่างเดียว ยังมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวเมียนมาที่มีมูลค่าสูงมากรองจากคนจีน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการฟอกเงินอย่างหนึ่ง เราจะไม่มีทางรู้จนกระทั่งลงไปตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมถึงมีเรื่องธุรกิจตามเมืองชายแดน อย่างเช่นอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่เมียนมาเข้ามาลงทุน”

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลจากการเปิดเผยรายงานข้างต้น ทำให้สมาคมธนาคารไทยออกแถลงการณ์ชี้แจง กรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับรัฐเมียนมา ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 โดยระบุว่า 

สมาคมธนาคารและสมาชิกให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลก ตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีนโยบายชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธของกองทัพเมียนมาเพื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และพร้อมให้ตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และปรับปรุงแนวทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง10

ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลเมียนมา ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ระบุว่า ธุรกรรมทางการเงินของธนาคารทหารไทยธนชาตที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลเมียนมา เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง 

พร้อมเน้นยํ้าว่า ธนาคารทหารไทยธนาชาต มิได้มีสาขาในประเทศอินเดียตามที่ถูกอ้างในรายงานฉบับนี้ว่ามีความเชื่อมโยงกับธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลเมียนมา เพื่อความเชื่อมั่นในการให้บริการทางธนาคารจะยึดหลักธรรมาภิบาล เน้นยํ้าถึงจุดยืนเช่นเดียวกับสมาคมธนาคารไทย ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์สำหรับกองทัพเมียนมาภายใต้หลักสากล พร้อมทำการตรวจสอบการทำธุรกรรมอย่างเข้มข้น เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกรรมดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับรายชื่อห้ามทำธุรกรรมและการนำเงินไปใช้เพื่อการจัดซื้ออาวุธในการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

เนื้อหาคำชี้แจงของสมาคมธนาคารไทยข้างต้นนี้ รวมไปถึงคำชี้แจงของธนาคารไทยที่มีรายชื่ออยู่ในรายงานพิเศษนี้ ชี้ว่า ธนาคารไทยล้วนให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่สอดคล้องกับ ‘หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน’ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งเป็นหลักการสมัครใจรับ เพื่อนำไปใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน11 

ประเด็นท่าทีสถาบันการเงินไทยดังกล่าว ผศ.ดร.ลลิตา แสดงความเห็นว่า ไม่เพียงแค่ธนาคารจะรับหลักการเท่านั้น ธนาคารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดง ‘เจตจำนงทางการเมือง’ (political will) ผลักออกมาให้เป็นนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์มากที่สุดในปีต่อไป โดยจะต้องดำเนินการตรวจสอบมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

แถลงการณ์ของสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงกรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลเมียนมา

ทำความรู้จักหลักการชี้แนะของสหประชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) 

United Nations Guiding Principle on Business and Human Rights (UNGPs) คือ มาตรฐานระหว่างประเทศของสหประชาติ เพื่อใช้กำกับดูแลในการดำเนินธุรกิจไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน  มุ่งประสงค์ให้ภาคธุรกิจมุ่งรับหลักการที่มีความยืดหยุ่นนี้ไปปฏิบัติด้วยความสมัครใจ 

3 เสาหลัก UNGPs (3 Pillars)

การคุ้มครอง (Protect)
กำหนดหน้าที่ของภาครัฐในการคุ้มครองประชาชน โดยการป้องกัน กำกับดูแลการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างมาตรฐานและบรรยากาศการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

การเคารพ (Respect)
กำหนดให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเลี่ยงการละเมิด ประเมินและตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของตนเอง

การเยียวยา (Remedy)
ภาครัฐและธุรกิจจะต้องเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกละเมิดหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจ แจ้งเตือนถึงผลกระทบต่อบุคคลหรือชุมชน บรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการทำธุรกิจนั้นๆ  

ที่มา: https://www.undp.org

 ทางด้านคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ นำโดย รังสิมันต์ โรม ประธาน กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ ได้ออกหนังสือเชิญ 5 ธนาคารที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจัดซื้ออาวุธของ SAC เข้าชี้แจงในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 

โดยทุกฝ่ายลงมติเห็นพ้องข้อเสนอแนะของที่ประชุม กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ ว่าจะต้องมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น หรือ Enhanced Due Diligence (EDD) พร้อมทั้งการตรวจสอบ 254 บริษัทที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ รวมถึง 2 บริษัทที่ขายนํ้ามันสำหรับเครื่องบินรบให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา และมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการจัดการปัญหาดังกล่าว หรือร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการเชิงรุกและแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้12 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ลลิตา ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น (EDD) แต่โดยเงื่อนไขข้อเท็จจริงแล้ว ธนาคารไทยไม่สามารถตรวจสอบที่มาและความเกี่ยวข้องกับ SAC ได้ครบถ้วนทั้งหมด ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เป็นบัญชีม้า บัญชีตัวแทนฝั่งไทย หรือบัญชีม้าที่นักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับ SAC ใช้ในการทำธุรกรรม เพื่อทำการซื้ออาวุธแล้วส่งกลับไปฝั่งเมียนมา เป็นต้น

“เท่าที่เข้าใจ ธนาคารไทยก็ยอมรับว่ายังมีปัญหาเหล่านี้อยู่ เพียงแต่พยายามทำให้ปัญหาเหล่านี้ หรือมูลค่าของเงินเหล่านี้น้อยลง หรือมีมาตรการเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้การตรวจสอบเข้มข้นขึ้น อย่างทาง ปปง. เข้ามาตรวจสอบบัญชีม้า ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำไปตามกระบวนการภายใน อย่างในกรณีของรัฐบาลสิงคโปร์ เขาสั่งลงมาเลย ธนาคารทุกแห่งจะต้องทำการตรวจสอบอย่างเข้มข้น มีเป้าหมายเลยว่า สิงคโปร์จะต้องไม่อยู่ในแบล็กลิสต์นี้หรือถูกเพ่งเล็งจากนานาชาติ”

แต่ในอีกด้าน ผศ.ดร.ลลิตา สะท้อนปัญหาของการตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่า ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ​2562 หรือกฎหมาย PDPA ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ แม้ว่า ปปง. จะมีหมายเพื่อเข้าตรวจสอบ แต่สุดท้ายแล้วธนาคารไม่สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าให้กับหน่วยงานตรวจสอบได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ๆ ที่เท่าทันต่อสถานการณ์ เช่น กรณีเกิดสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมีนอมินีจำนวนมากเข้ามาทำธุรกรรมทางการเงินในไทย เราควรจะมีกฎหมายที่ทันสมัย เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะแวดวงการเงิน

ผศ.ดร.ลลิตา ระบุว่าแม้ว่ากระบวนการทางกฎหมายจะต้องใช้เวลาในการผลักดัน เป็นวิธีการทางการเมืองในรัฐสภา ซึ่งไม่อาจเท่าทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การลดมูลค่าทางธุรกรรมทางการเงินที่อาจเชื่อมโยงการจัดซื้ออาวุธของรัฐบาลเมียนมา เป็นวิธีการที่เป็นไปได้ที่สุดในปัจจุบัน จากตัวอย่างของกรณีสิงคโปร์หรือธนาคารไทยที่ดำเนินการดังกล่าวไปแล้ว 

จากรายงานของผู้รายงานพิเศษที่ได้รับการเปิดเผยออกมาในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้ชี้ว่าธนาคารไทย 5 แห่งเชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมของรัฐบาลทหารเมียนมาในการจัดซื้ออาวุธเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ 

แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ในฐานะแนวร่วมภาคประชาสังคมที่ผลักดัน ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) ผ่านการประเมินนโยบายความยั่งยืนของสถาบันการเงินตั้งแต่ปี 2561 เห็นว่าธนาคารไทยทั้ง 5 แห่ง ที่ปรากฏชื่ออยู่ในรายงานพิเศษฉบับดังกล่าว ได้ประกาศเคารพหลักการชี้แนะ UNGPs เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ13 ให้ธนาคารไทยดำเนินการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าธนาคารให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอย่างแท้จริง โดยข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อคือ…  

  1. ยกระดับการตรวจสอบทางธุรกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา ให้เป็นไปตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights UNGPs) เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence : EDD) ของธนาคารต่อไป ด้วยการตรวจสอบข้อมูลและรับฟังรายงานจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกการรับเรื่องร้องเรียนของธนาคาร เพื่อให้เห็นว่าองค์กรใดน่าสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมา
  2. ธนาคารเมียนมาทั้ง 3 แห่งคือ Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) Myanmar Investment and Commercial Bank (MICB) และ Myanmar Economic Bank (MEB) ล้วนเป็นธนาคารภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารเมียนมา ธุรกรรมที่กระทำกับธนาคารเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกี่ยวโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา จึงเรียกร้องให้ธนาคารประกาศระงับธุรกรรมและความสัมพันธ์ทางการเงินกับธนาคารเหล่านี้ พร้อมทั้งแนะนำลูกค้าให้ใช้บริการจากสถาบันการเงินอื่นนอกเหนือจากธนาคารเหล่านี้ 
  3. เรียกร้องให้ธนาคารประกาศระงับธุรกรรมทุกรายการที่ลูกค้าหรือคู่สัญญา (counterparty) ที่ไม่ผ่านการมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น (Enhanced Due Diligence : EDD) ทั้งหมด   

เชิงอรรถ
  1. รายงานฉบับเต็ม https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/hrbodies/hrcouncil/sessions-regular/session56/a-hrc-56-crp-7.pdf ↩︎
  2. VOA. (2567, กันยายน 6). Retrieved กันยายน 10, 2567, from https://www.voanews.com/a/myanmar-armed-group-says-11-civilians-killed-in-junta-air-strikes/7773740.html ↩︎
  3. DVB. (2567, กันยายน 6). At least 11 civilians killed in airstrikes on Namkham in northern Shan State. Retrieved กันยายน 10, 2567, from https://english.dvb.no/at-least-11-civilians-killed-in-airstrikes-on-namkham-in-northern-shan-state/ ↩︎
  4. Wei, B., & Zan, H. H. (2024, May 23). Myanmar Junta Airstrikes Kill 359 Civilians in Four Months: Report. The Irrawaddy. Retrieved September 13, 2024, from https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-airstrikes-kill-359-civilians-in-four-months-report.html ↩︎
  5. Armed Conflict Location & Event Data, data export. (2024, August 6). https://acleddata.com/. Retrieved September 13, 2024, from https://acleddata.com/2024/08/06/myanmar-mid-year-metrics-2024/ ↩︎
  6. Armed Conflict Location & Event Data, data export, https://acleddata.com/ (accessed 13 September 2024; comparing January – October 2023 with November 2023 – April 2024). ↩︎
  7. TotalEnergies withdraws from Myanmar. (2022, January 21). TotalEnergies.com. Retrieved September 13, 2024, from https://totalenergies.com/media/news/press-releases/totalenergies-withdraws-myanmar ↩︎
  8. Chevron Exits Myanmar With Withdrawal From Natural Gas Project. (2024, April 9). WSJ. Retrieved September 13, 2024, from https://www.wsj.com/business/energy-oil/chevron-exits-myanmar-with-withdrawal-from-natural-gas-project-cd0afbd1 ↩︎
  9. Open letter to government of Singapore. (2023, October 29). Justice For Myanmar. Retrieved September 17, 2024, from https://www.justiceformyanmar.org/press-releases/open-letter-to-government-of-singapore ↩︎
  10. แถลงการณ์สมาคมธนาคารไทย ฉบับเต็ม https://www.tba.or.th/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%88%E0%B8%87-%E0%B8%81%E0%B8%A3/ ↩︎
  11. ธนาคารทหารไทยธนชาต. (2567, มิถุนายน 28). ธนาคารทหารไทยธนชาต ชี้แจงกรณีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวโยงกับรัฐบาลเมียนมา. Retrieved กันยายน 24, 2567, from https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/ttb-clarifies-financial-transactions-related-to-myanmar-military-government ↩︎
  12. ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ พร้อมด้วยนายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมคณะ กมธ. ในวันนี้ (11 ก.ค. 67). (n.d.). ↩︎
  13. อ่านข้อเรียกร้องต่อสถาบันการเงินไทย 5 แห่งที่ปรากฏชื่อในรายงานของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ กรณีธุรกรรมเชื่อมโยงกองทัพพม่าฉบับเต็มได้ที่ https://fairfinancethailand.org/article/2024/thai-5-thai-bank-named-in-the-united-nations-special-rapporteurs-report/ ↩︎

เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://fairfinancethailand.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า