คงมิต้องต่อความให้ยาว หรือสาวความให้ยืดก็รู้กันว่า ณ เวลานี้ สถาบันกฎหมายไทยถูกตั้งคำถามอยู่ทุกลมหายใจ มองลอดดวงตาแล้วนับจำนวนคนที่ไม่ศรัทธากฎหมาย อาจนับได้จำนวนมากพอที่จะเรียกสภาวะนี้ว่า ‘วิกฤติ’
ในทางนิติศาสตร์ การตีความกฎหมายทั่วไปอาจแบ่งได้เป็นสองทาง[1] ทางแรก เป็นการตีความที่ส่งผลต่อการสร้างกฎเกณฑ์ในระบบกฎหมาย เรียกว่า Authentic Interpretation การตีความลักษณะนี้ชัดเจนที่สุดในกรณีคำพิพากษาของศาล ส่วนอีกทางหนึ่ง เป็นการตีความที่ไม่ได้มีผลอะไรกับระบบกฎหมายโดยตรง แต่เป็นการตีความในเชิงวิชาการเสียมากกว่า เรียกว่า Scientific Interpretation
วันนี้ ความเสื่อมถอยในศรัทธาต่อกฎหมายดูจะเป็นแรงกระเพื่อมจากการตีความประเภทที่มีผลในระบบกฎหมาย อย่างการตีความ พิพากษา และออกคำสั่งในคดีโดยศาลเป็นส่วนใหญ่ ส่วนฟากของผู้มีบทบาทในการตีความเชิงวิชาการ ไม่ว่าจะนักกฎหมาย อาจารย์กฎหมาย นักศึกษากฎหมาย หรือกระทั่งคนธรรมดาทั่วไป มีน้อยนักที่จะเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในนามของตุลาการนี้ หากเปรียบลมหายใจกับบัญชีธนาคารแล้ว คงสังเกตได้ไม่ยากว่า บัญชีที่มีเจ้าของชื่อว่า นาย ความศรัทธา นามสกุล ในกฎหมาย มีรายการถอนออกมากกว่าฝากเข้าอยู่หลายโยชน์ทีเดียว
การจัดงานเสวนาสาธารณะ ‘บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน’ โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความจำเป็นที่ฟากวิชาการต้องทำอะไรสักอย่างกับสภาวะเช่นนี้ สะท้อนผ่านการกล่าวเปิดงานเสวนาของคณบดีแห่งคณะนิติศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
“หลายท่านคงตระหนักดีว่า คำพิพากษาของศาลไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะต่อคู่ความในคดีเท่านั้น แต่ในหลายวาระโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น คำพิพากษาของศาลอาจมีส่วนช่วยทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ในบางครั้ง คำพิพากษาก็อาจจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง”
ผู้พิพากษาต้องปราศจากอคติ 4 ประการ
ภายใต้ปัจจุบันที่ไม่สู้ดี อนาคตที่ไม่รู้จะสู้ได้หรือเปล่า การกลับไปพูดถึงอดีตน่าจะช่วยทำให้สภาพจิตใจผ่อนคล่ายขึ้นในระดับหนึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า เดิมทีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กษัตริย์ยังคงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้านเมือง การตัดสินใจในกิจการต่างๆ ล้วนมีกษัตริย์เป็นผู้ชี้ขาดเป็นคนสุดท้าย แต่ด้วยความที่บ้านเมืองย่อมเต็มไปด้วยกิจการมากมาย การแต่งตั้งผู้ช่วยให้ขึ้นมาแบ่งเบาภาระหน้าที่จึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตุลาการก็เป็นกิจการหนึ่งที่ต้องทำตามระบบนี้ อย่างไรก็ดี อำนาจเหล่านี้ยังคงสงวนไว้ที่กษัตริย์อยู่ดี
ทั้งนี้ ก่อนปี 2475 ไม่ว่าจะในระบบกฎหมายเก่าหรือระบบกฎหมายใหม่ (อาจแบ่งอย่างง่ายว่า ระบบกฎหมายเก่าคือช่วงที่ยังบังคับใช้กฎหมายตราสามดวง และระบบกฎหมายใหม่คือช่วงที่เริ่มมีการปฏิรูปกฎหมายให้เป็นระบบกฎหมายแบบตะวันตก) ถ้าเป็นคดีสำคัญต้องฎีกาไปถึงกษัตริย์
สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ตุลาการต้องยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ อันสะท้อนอยู่ทั้งในระบบกฎหมายเก่าและระบบกฎหมายใหม่ ได้แก่ การปราศจากอคติ 4 ประการ
1. ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความรักใคร่ เพราะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือเพราะเป็นผู้เอาสินบนมาให้
2. โทสาคติ ความเกลียดชัง เช่น เคยทะเลาะกันมาก่อน หรือมีความคิดความอ่านไม่เหมือนตน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นต้นทางของโทสาคติได้
3. พยาคติ ความลำเอียงเพราะความหวาดกลัว เช่น ตัดสินไปแล้วกลัวเขามาด่า มาระเบิดบ้าน และจะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกหากเป็นความกลัวตัวเองจะไม่เจริญ โดยธงทองยกตัวอย่างผ่านเรื่องเล่าว่า ผู้พิพากษาท่านหนึ่งที่อยู่ในลำดับที่จะได้เป็นขึ้นไปเป็นผู้มีตำแหน่งระดับสูงในองค์กรตุลาการ ผู้พิพากษาคนนี้กลับไปเล่าว่า จะไม่ให้ใครได้ประกันเลย เพราะกลัวครหานินทา แล้วไม่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูง
4. โมหาคติ คือ คิดว่าตัวเองรอบรู้ทุกอย่าง ติไม่ได้ เตือนไม่ได้ และยังไม่ขวนขวายหาความรู้
นี่คือเลคเชอร์ของพระอินทร์ เป็นหลักอินทภาษ คือต้องปราศจากอคติ 4 ประการนี้
ธงทองกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน คำหลัก (keyword) ที่ต้องสร้างความเข้าใจกันก็คือ ศาลทั้งหลายในเวลานี้พิพากษาคดี ‘ในพระปรมาภิไธยในพระมหากษัตริย์’
“คำว่าพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยในพระมหากษัตริย์นั้น มิได้หมายความว่า เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์จะมามีพระบรมราชวินิจฉัยสุดท้าย แต่เป็นเรื่องที่ศาลมีหน้าที่ต้องพิพากษาอรรถคดีไปตามตัวบทกฎหมาย ไปตามที่เห็นว่าเป็นความยุติธรรม … และเมื่อปฏิบัติในนามพระปรมาภิไธย ถ้าทำอะไรมิดีมิชอบ ก็จะทำให้กษัตริย์มิดีมิชอบไปด้วย นี่คือสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”[2]
ธงทองได้ฝากทิ้งท้ายว่า ผู้พิพากษาทำหน้าที่พิพากษาถึงแม้พระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อทำผ่านพระปรมาภิไธย ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ก็ห้ามที่จะโยงไม่ได้ ดังนั้น ยิ่งมีมิติเกี่ยวข้องยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะคำสั่งในคดีหนึ่งไม่ได้มีผลแต่ในคดีนั้น การเกิดแรงกระเพื่อมเป็นความจริงซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ตามปกติของคดีที่อยู่ในสายตาของสาธารณะ
ส่วนฝ่ายบริหารเองมีแนวโน้มที่จะเป็นอำนาจนิยมอยู่พอสมควร ศาลจึงต้องทำหน้าที่ให้สง่างาม ศาลต้องตรวจสอบการใช้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพึ่งศาล จึงขอให้ผู้พิพากษารู้ถึงบทบาท และประคองตนให้ปราศจากอคติ ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความยั่งยืนได้และสง่างาม
มองความหมายระบอบผ่านตัวบท
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นเท้าความกลับไปว่า คำในทำนอง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เริ่มใช้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2492 มาตรา 2
“ในปี 2492 เขาเว้นวรรคเอาไว้ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย [วรรค] มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับหลังๆ ก็เป็นแบบนี้ จนถึงฉบับ 2521 ที่ไม่มีวรรค เขียนต่อกันแบบไม่มีคำเชื่อม ฉบับที่เติมคำเชื่อมคือฉบับ 2534 ประธานร่างรัฐธรรมนูญคือ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้เติมคำว่า ‘อันมี’ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พอถึงฉบับ 2540 ก็ตัดคำว่า ‘พระ’ ออกไป จนถึงปัจจุบัน”
ปริญญาเห็นว่าการนำสองประโยคมาเชื่อมติดกัน เป็นผลจากการยึดอำนาจ ทำให้บทบาทของการถ่วงดุลอำนาจลดน้อยลง โดยปริญญาตั้งข้อสังเกตว่า ยังทำให้ประโยคหลังค่อยๆ มีสถานะสำคัญกว่าประโยคแรก จนคนสับสนว่าเป็นระบอบราชาธิปไตย เห็นได้จากความพยายามในการถวายฎีกาขอ ‘นายกฯ พระราชทาน’
ปริญญาสกัดความหมายของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2475 ในส่วนของคำปรารภและมาตรา 1 ออกมาได้ 2 องค์ประกอบ คือ 1. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และ 2. กษัตริย์ย่อมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
“เมื่อยอมให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แล้วทรงขึ้นไปอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นหลัง 2475 เป็นต้นมา การยึดอำนาจคือยึดอำนาจรัฐบาล ไม่ได้แตะต้องกระทบกระเทือนกษัตริย์อีกต่อไป การทำให้เป็นสมัยใหม่ (modernization) ของ Monarchy จึงเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง”
ดังนั้น กษัตริย์ก็จะใช้อำนาจทางรัฐสภาผ่านทาง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรีผ่านการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน (รัฐธรรมนูญ มาตรา 158) และใช้อำนาจทางศาลผ่านการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 190)
การใช้อำนาจทั้งหมดข้างต้น มีสิ่งที่บอกถึงความแตกต่างจากระบอบราชาธิปไตยคือ สภามาจากปวงชนและเป็นผู้แทนปวงชน ที่จะให้ความยินยอมในการตรากฎหมาย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 81) พระมหากษัตริย์จึงเป็นเพียงผู้โปรดเกล้าฯ และในทำนองเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็มาจากการเลือกของรัฐสภาแล้วจึงทูลเกล้าฯ ส่วนศาลก็มีที่มาตามกระบวนการ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 196 198 และ 204) ทั้งหมดนี้สะท้อนหลัก ‘The King Can Do No Wrong’ (ซึ่งสะท้อนอีกทีในมาตรา 182)
กษัตริย์จึงเพียงแต่ “โปรดเกล้าฯ ตามที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ขึ้นไป ดังนั้น ถ้าหากว่ากฎหมายไม่ดี มีปัญหา จะไปโทษผู้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ไม่ได้ ต้องโทษรัฐสภา ว่าทำไมกฎหมายมีปัญหา … โทษ ส.ส. แล้วต้องโทษคนเลือก ส.ส. คือประชาชนอีกที … ถ้าหากนายกฯ บริหารบ้านเมืองไม่ดี มีปัญหา ต้องโทษคนเลือกนายกฯ รัฐมนตรีทำงานไม่ดีก็ต้องโทษนายกฯ เพราะนายกฯ เป็นคนทูลเกล้าฯ ชื่อรัฐมนตรี ถ้าศาลตัดสินคดีไม่ดี มีปัญหา ต้องโทษคนคัดเลือก และเจ้าของคดี ทั้ง 3 อำนาจต้องรับผิดชอบ ต้องออกหน้า ไม่ใช่หลบอยู่ข้างหลัง นี่คือหลักที่ทรงอยู่เหนือการเมือง และความขัดแย้งทางการเมือง”
ปริญญายังว่าถึงเหตุการณ์ในปี 2549 รัชกาลที่ 9 เข้าใจอย่างถูกต้องว่า การขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540)
“มันคล้ายกับว่า พวกเราเหมือนกับเด็ก ทะเลาะกับพี่ ทะเลาะกับน้องในบ้าน แล้วแพ้ สู้ไม่ได้ ก็ไปร้องเรียกให้พ่อมาแก้ปัญหาให้เรา ว่าง่ายๆ คือเราไม่เข้าใจหลักการปกครองตนเองของเรา ประชาธิปไตยคือการปกครองตนเอง ทะเลาะกันให้จบแล้วค่อยทูลเกล้าฯ … ไม่ใช่เอาความขัดแย้งโยนยกไปให้พระองค์ท่านทรงชี้ ทำไม่ได้ เพราะท่านทรงอยู่เหนือการเมือง”
ปริญญายังได้กล่าวอีกว่า เพื่อไม่ให้กระทบถึงสถาบันกษัตริย์ ศาลต้องกระทำตามกฎหมาย เช่น ศาลต้องทำตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocent) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 และมาตรา 108/1 กล่าวคือ “การไม่ปล่อยเป็นเรื่องยกเว้น การปล่อยเป็นเรื่องหลัก ถ้าจะไม่ปล่อยต้องให้เหตุผลเป็นหนังสือ” และเหตุผลในการออกคำสั่งก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่อ้างเหตุผลตามข้อกล่าวหาของตำรวจ ซึ่งจะกระทบต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และจะทำให้มีความเชื่อว่า ม.112 กลายเป็นเรื่องทำตามใบสั่ง ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อกษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของทุกฝ่ายทุกข้าง
“ฝ่ายตุลาการไปตีความคำว่าพระปรมาภิไธยคลาดเคลื่อนไป เป็น The Judge Can Do No Wrong แต่ที่จริงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ The King Can Do No Wrong”
ถ้า “ศาลตัดสินมีปัญหา มีคนทักท้วง ก็เป็นเรื่องของศาลเจ้าของคดีต้องรับผิดชอบ จะไปโทษพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้”
ปริญญาพูดถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายกฯ อ่านคำปฏิญาณไว้ไม่ครบ และมีคนไปร้องว่า เมื่อพูดไม่ครบ ก็ถือว่ายังไม่เข้ารับตำแหน่ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ให้เหตุผลว่าการถวายคำปฏิญาณไม่ครบเป็นเรื่องทางการเมือง เป็นความสัมพันธ์เฉพาะกับทางกษัตริย์ ซึ่งปริญญาเห็นว่าฟังไม่ได้ เพราะจะทำให้คนเข้าใจว่าการอ่านไม่ครบเป็นเรื่องสัมพันธ์กับกษัตริย์ คำวินิจฉัยเช่นนี้จะกระทบไปถึงสถาบันกษัตริย์ ทำให้คนคิดว่าพลเอกประยุทธ์เป็นคนของกษัตริย์
และเมื่อถึงที่สุดแล้ว ศาลไทยจะรับผิดต่อกฎหมายอย่างไร เป็นไปได้ไหมที่จะมีการกำหนดความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย อย่างที่เยอรมนีมีในมาตรา 339 ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับช่วงที่คนบอกว่า คนไข้จะฟ้องหมอได้ ทำให้แพทย์ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นในการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ
“อย่าไปโกรธที่เขาไม่เข้าใจ” ขอเตือนด้วยความหวังดี
หากจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่สถาบันตุลาการแตกต่างจากรัฐสภาและรัฐบาล นั่นก็คือ ตุลาการเป็นสถาบันซึ่งไม่ค่อยเปิดเผยต่อสาธารณะ ตุลาการมีระเบียบปฏิบัติมากมายที่บริหารกันเองภายใน เป็นสถาบันที่ไม่ต้องมีการถ่ายทอดสดการประชุมเหมือนรัฐสภา และไม่ต้องมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเหมือนรัฐบาล เพื่อทำความเข้าใจและดูท่าทีของผู้พิพากษา การฟังผู้มีประสบการณ์ในบทบาทตุลาการกว่า 36 ปี อย่าง อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่ง
“ผู้พิพากษาผู้ใหญ่ทั้งหลายก็มีความห่วงใย ไม่มีใครที่ว่ากล่าวผู้พิพากษาปัจจุบัน แต่เป็นการแสดงความห่วงใยต่อสถาบันศาลยุติธรรม”
สมลักษณ์เริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันว่า สถาบันตุลาการเกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยตนอย่างมาก จากเดิมสถาบันจะเป็นที่เคารพของประชาชนโดยทั่วไป กลายเป็นว่าความเคารพศรัทธาดูจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
“ศรัทธาในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม ความบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่ใช่การคิดเองของผู้พิพากษา แต่เกิดจากความเชื่อของประชาชน”
สมลักษณ์ยังได้กล่าวถึงการตีความในกฎหมายว่า อาจตีความได้หลายนัยยะ ศาลจะต้องตีความตามเจตนารมณ์ หรือตีความให้เป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ บนฐานของความถูกต้อง เมื่อถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าตีความถูกต้อง? คำตอบคือต้องสังเกตจากปฏิกิริยาของสังคมหลังได้ตัดสินไปแล้ว
“ถ้าสังคมไม่เห็นด้วย ผู้พิพาพากษาต้องกลับมาคิดว่าตีความอะไรไป อย่าเพิ่งไปโกรธสังคม ว่าสังคมเป็นอริ อย่าคิดอย่างนั้น
“ความบริสุทธิ์ยุติธรรม อย่าไปคิดว่าตนเองบริสุทธิ์แล้วโกรธประชาชน เพราะถ้าเราตีความถูก ในการจะลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษในเรื่องใด หรือต่อบุคคลใดก็ตาม ต้องอธิบาย ห้ามนิ่งเฉย ส่วนการเขียนคำพิพากษา ต้องเขียนให้ละเอียด ยกข้อเท็จจริงให้ชัดเจน อ้างอิงหลักกฎหมายอย่างถูกต้อง
“อยากเตือนผู้พิพากษา ว่าเวลาจะสั่งอะไร ต้องดูกฎหมายเสียก่อน อย่าสั่งตามความคิดตัวเอง ต้องอธิบาย อย่าไปโกรธที่เขาไม่เข้าใจ”
เมื่อพูดถึง มาตรา 112 สมลักษณ์เล่าว่า สมัยตนเป็นผู้พิพากษา ไม่ค่อยมีการกล่าวหาด้วย มาตรา 112 ผ่านตำรวจ อัยการ ตลอดการทำงาน 36 ปี จำได้ว่ามีแค่ครั้งเดียว ที่น่าสนใจคือ ท่าทีของศาลในสมัยก่อนที่เมื่อมีการกล่าวหากันด้วยมาตรา 112 ศาลจะต้องพิจารณาคดีให้รอบคอบ และต้องวางโทษให้หนัก
“มีการคิดกันอย่างนั้นจริง มีการคุยกันไหมทุกวันนี้ว่าทำไมมันผุดขึ้นมา ลูกศิษย์อาจารย์ที่เป็นศาลบอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน”
สมลักษณ์ชี้ว่าสถานการณ์ของ มาตรา 112 ศาลไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเดิมได้แล้ว การลงโทษให้หนักเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป “จะมีกรณีแบบ อากงไม่ได้…เหตุการณ์บ้านเมืองมันเปลี่ยนไปจะยึดถือแบบเดิมไม่ได้แล้ว ถ้าไปทำให้มันหนัก สังคมจะยอมรับไม่ได้”
อีกทั้งการทำแบบนี้เป็นการดึงกษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ใช่การธำรงประชาธิปไตย
สำหรับความผิดฐานกบฏ ใน มาตรา 113 สมลักษณ์กล่าวว่า กฎหมายไม่มีเขียนว่า คำสั่งคณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจสำเร็จ เป็นกฎหมาย ถ้าไปนับว่าเป็นกฎหมายก็เป็นการไม่ธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากศาลรับรองคณะรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เท่ากับศาลไม่อยู่ข้างประชาชน เป็นการทำให้คณะรัฐประหารยืมมือกฎหมาย
“ศาลต้องมีความกล้าหาญที่จะทำตามกฎหมายโดยไม่มีอคติ แล้วจะมีอันตรายใดๆ ได้ เพราะถ้าทำตามกฎหมาย สังคมจะเป็นกำแพงให้พิง
“ถือว่าเป็นคำเตือนของผู้พิพากษาคนหนึ่งซึ่งมีความรักและความหวังดี ไม่มีความประสงค์ร้ายใดๆ …ในภาวะปัจจุบันที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง มีความแตกแยก ขอให้ท่านผู้พิพากษา คิดและอย่าไปโกรธบุคคลใดที่มาเรียกร้อง ตามที่เขาคิดว่าเขาควรจะได้รับ เช่น อิสรภาพในเรื่องมาตรา 112 ต้องพยายามฟังเขา
“ท่านต้องคิดว่าท่านจะมีการแก้ไขและการปฏิรูป ปฏิรูปทั้งในทางหลักการและจิตวิญญาณ เพราะการปฏิรูปตัวท่านเองมันง่าย และจะรู้ว่าสิ่งใดที่ดี และอธิบายต่อสังคมได้ เพื่อสร้างความศรัทธาต่อศาล อย่าเพิ่งโกรธเด็ก ปฏิรูปตัวท่านเองดีกว่าไม่ทำอะไรเลย [ไม่เช่นนั้นจะ] มีคนมาปฏิรูปท่าน ข่าวก็บอกว่า ส.ส. จะปฏิรูปศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีทางใดที่จะแก้ไขให้เหตุการณ์ทั้งหลายมันดี เป็นไปตามความยุติธรรมและกฎหมาย ขอให้รีบทำ อย่าให้คนอื่นเข้ามาปฏิรูป ความเสียใจไม่ได้อยู่แต่กับผู้พิพากษาปัจจุบัน ขอพูดตรงๆ ว่า ผู้พิพากษาผู้ใหญ่ที่เกษียณไปแล้วก็เป็นห่วงมากเลย เพราะฉะนั้น ดูแลตัวท่านเองก่อนที่คนอื่นจะมาดูแลท่าน”
ข้อสังเกตบางประการ
การเสวนาครั้งนี้ สะท้อนถึงความอัดอั้นของนักกฎหมายในฟากวิชาการได้เป็นอย่างดี เพราะอย่างน้อยที่สุด การเสวนาก็กินเวลาเกินกำหนดไปกว่า 40 นาที ทั้งนี้ แม้วิทยากรทั้งสามจะมีวิธีการในการเข้าถึงปัญหา (approach) ต่างกันบ้าง กล่าวคือ ธงทองอธิบายผ่านประวัติศาสตร์กฎหมาย ปริญญาอธิบายผ่านตัวบท ส่วนสมลักษณ์อธิบายผ่านประสบการณ์ แต่การเสวนาครั้งนี้ก็ถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันด้วยหลักการ
แนวทางการแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือของตุลาการโดยวิทยากรทั้งสาม เป็นไปในทางเดียวกัน คือ ผู้พิพากษาต้องไม่มีอคติ เป็นอิสระ และเป็นกลาง ในการตัดสินพิพากษาหรือมีคำสั่ง ต้องชี้แจงเหตุผลให้สิ้นข้อสงสัย ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและความยุติธรรม เพราะมิเช่นนั้นสังคมจะเกิดความสงสัยต่อสถาบันตุลาการ และด้วยความที่ตุลาการเป็นสถาบันที่กระทำ ‘ในพระปรมาภิไธย’ ความสงสัยนั้นจะส่งผลกระทบถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยเช่นกัน
วิทยากรมองเห็นปัญหากฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ มาตรา 112 หรือกระทั่งความผิดฐานกบฏในมาตรา 113 มองเห็นปัญหาการตรากฎหมายของรัฐสภา โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดความสับสนต่อความหมายของระบอบการปกครอง มองเห็นปัญหาการตีความและการปฏิบัติตามกระบวนการกฎหมายของศาล ตลอดจนถึงฝ่ายรัฐบาล วิทยากรก็ยอมรับกันว่ามีปัญหา และในเกือบทุกปัญหา วิทยากรได้ให้คำตอบและแนวทางการแก้ไขไว้อย่างชัดเจน กล่าวได้ว่า งานเสวนาครั้งนี้ได้ทำหน้าที่ตอบหลายๆ คำถาม และคลี่คลายข้อสงสัยให้แก่สังคมไปได้หลายประการ
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องน่าเสียดาย อาจเป็นเพราะระยะเวลาที่จำกัดหรือเหตุประการอื่น วิทยากรทั้งสามคล้ายจะยืนอยู่บนสมมุติฐานร่วมกันว่า ปัญหาของสังคมไทย ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในสังคมจำนวนมาก มองว่าสถาบันกษัตริย์มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อปัญหาในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ว่ามุมมองเช่นนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ การลองยืนอยู่บนสมมุติฐานดังกล่าวหรือความเป็นไปได้ดังว่า ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ และควรค่าแก่การถกเถียงแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะจากฟากฝั่งวิชาการกฎหมายต่อไป
เชิงอรรถ
[1] การแบ่งประเภทการตีความในลักษณะนี้ ยึดตามกรอบคิดของ Hans Kelsen ดู สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. 2551. “การบรรยายพิเศษ เรื่อง หลักการตีความกฎหมายมหาชน วันอังคารที่ 29 เมษายน 2551 โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ในหนังสือ หลักการตีความกฎหมายมหาชน. กรุงเทพฯ. หน้า 87
[2] ธงทองยังได้อ้างถึงคำกล่าวของ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ที่ว่าถึงเรื่องคำว่า ‘ในพระปรมาภิไธย’ ซึ่งอรรถนิติได้อ้างพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 มาอีกทีหนึ่ง ความว่า “ท่านได้เปล่งคำปฏิญาณด้วยความเข้มแข็ง ก็เข้าใจว่า ท่านได้ตั้งใจจะทำตาม คำพูดที่เปล่งออกมานี้ ที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า คือ ที่ท่านบอกว่า จะปฏิบัติในพระปรมาภิไธย หมายความว่า ข้าพเจ้าถ้าเห็นท่านทั้งหลาย ปฏิบัติดีชอบจริงๆ ก็สบายใจ แต่ถ้าสงสัยว่า ท่านทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเดือดร้อน ที่เดือดร้อนเพราะเมื่อปฏิบัติอะไร ในพระปรมาภิไธย พูดง่ายๆ ในนามของพระเจ้าอยู่หัว ถ้าทำอะไรที่มิดีมิชอบ พระเจ้าอยู่หัวก็เป็นคนที่ทำมิดีมิชอบ ฉะนั้นต้องกำชับอย่างหนักแน่นว่า ให้ทำตามคำปฏิญาณ เพราะว่าจะทำให้ข้าพเจ้าเองในส่วนตัว และในหน้าที่เดือดร้อน และถ้าข้าพเจ้าเดือดร้อนก็คงทำให้คนเดือดร้อนมากเหมือนกัน เพราะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม” ดู ปาฐกถาพิเศษ:::: อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ “ความคิดเชิงปรัชญากฎหมายของพระเจ้าอยู่หัว” (จบ)