9 กรกฎาคมที่ผ่านมา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตาม ‘มาตรา 44’ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เพื่อยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. กว่า 70 ฉบับ และมีการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 2 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมหลายประเด็น แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ การยกเลิกบรรดาประกาศคำสั่ง คสช. ที่ถูกโจมตีว่าเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ การใช้อำนาจดังกล่าวถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช. หยุดปฏิบัติหน้าที่หลังจากมี ครม. ชุดใหม่เข้ารับตำแหน่ง หมายความว่า นับตั้งแต่วันที่มี ครม. ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ คสช. จะหายไป และจะไม่มีอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 อีก
ด้วยเหตุที่การใช้อำนาจพิเศษในยุคเผด็จการเต็มใบกำลังจะหายไปเช่นนี้ จึงอยากชวนทบทวนว่า ตลอดระยะเวลาที่ คสช. อยู่ในอำนาจ จนถึงวันที่ คสช. กำลังจะพ้นสภาพไป สังคมไทยมีอะไรเป็นของดูต่างหน้าบ้าง
ประชาชนขึ้นศาลทหาร ชาวบ้านถูกไล่ออกจากบ้าน
ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ที่ยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. กว่า 70 ฉบับ มีบรรดาประกาศและคำสั่งบางฉบับที่น่าสนใจที่ คสช. เคยใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประกาศคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน การให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน และนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่า
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คสช. ออกคำสั่งเพื่อกำกับควบคุมและปิดกั้นสื่อมวลชนอย่างน้อย 12 ฉบับ โดยประกาศที่สำคัญคือ ประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่กำหนดเงื่อนไขการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ เช่น ห้ามวิพากษ์วิจารณ คสช. โดยไม่สุจริต หรือนำเสนอข่าวสารในลักษณะที่จะให้เกิดความขัดแย้ง เป็นต้น
ที่ผ่านมา กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับได้พิจารณาลงโทษสื่อมวลชนผ่านประกาศทั้งสองฉบับนี้ไปแล้ว อย่างน้อย 59 ครั้ง โดยแบ่งระดับการลงโทษออกเป็น 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่การตักเตือนหรือทำความเข้าใจ ขอให้แก้ไขเนื้อหา ระงับการออกอากาศ และเพิกถอนใบอนุญาต โดยสื่อที่โดนลงโทษบ่อยที่สุด คือ Voice TV จากการนำเสนอข่าว เช่น การนำเสนอบทสัมภาษณ์ของแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือ การรายงานความเห็นของ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่พาดพิงคณะรัฐประหาร เป็นต้น
ถัดมาเป็นเรื่องของการให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งมีด้วยกันทั้งสิ้น 5 ฉบับ โดยฉบับสำคัญคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ที่กำหนดให้ผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับภัยความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญาต้องขึ้นศาลทหาร และมีการขยายรวมไปถึงผู้ที่กระทำความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช. ต้องขึ้นศาลทหารด้วย ทั้งที่ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมและระบบการทำงานเป็นแบบสายบังคับบัญชา ดังนั้นการให้พลเรือนที่เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลต้องขึ้นศาลทหารจึงสุ่มเสี่ยงต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของศาล โดยที่ผ่านมามีพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารอย่างน้อย 92 คดี
ส่วนเรื่องสุดท้ายที่น่าสนใจคือ คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ นโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ โดยประกาศและคำสั่งดังกล่าวทำให้ชาวบ้านที่ถูกทางการประกาศพื้นที่ป่าทับที่อยู่อาศัยและทำมาหากินถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่า บางครอบครัวถูกทำลายที่ทำมาหากิน ถูกทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย บางคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ทั้งที่เคยอาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิม
ยกตัวอย่างกรณีชาวบ้านที่ถูกประกาศเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัยที่เขตอุทยานแห่งชาติ ‘ไทรทอง’ และต่อมาเมื่อมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ทำให้ชาวบ้านอย่างน้อย 14 คนถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกจำคุกในข้อหา ‘บุกรุกป่า’
อุ้มหาย สิทธิเสรีภาพประชาชน แทรกแซงองค์กรอิสระ
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คสช. ออกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 345 ฉบับ และใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 209 ฉบับ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 554 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับได้สร้างความทรงจำที่เลวร้าย เข้าทำนองว่า ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’
ยกตัวอย่างเช่น การใช้อำนาจพิเศษจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่าง ‘คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558’ เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ที่ถูกนำมาใช้แทนกฎอัยการศึก โดยให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังได้ 7 วัน ให้เจ้าหน้าที่ทหารมีส่วนร่วมในการสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสั่งห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งอำนาจดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาล คสช. เป็นหลัก และที่ผ่านมามีผู้ถูกตั้งข้อหาจากการชุมนุมทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 421 คน รวมถึงมีผู้ถูกควบคุมตัวหรือข่มขู่คุกคามอย่างน้อย 1,501 คน (เป็นการถูกเรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหารอย่างน้อย 929 คน)
หรืออย่าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเช่นเดียวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แต่ขอบเขตการใช้อำนาจกว้างกว่า ซึ่งครอบคลุมการกระทำความผิดกว่า 20 ประเภท เช่น การข่มเหง ขู่เข็ญ รังแกให้บุคคลอื่นเกรงกลัว หรือค้ายาเสพติด เป็นเจ้ามือพนัน มีพฤติการณ์ซ่องสุมอาวุธ ทว่าในทางปฏิบัติกลับมีการอ้างอำนาจดังกล่าวเข้าไปคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง เช่น เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โดยอ้างเหตุว่า ทหารมาตรวจสอบปราบปรามผู้มีอิทธิพล
อีกทั้ง คสช. ยังเคยใช้อำนาจพิเศษเพื่อแทรกแซงองค์กรอิสระ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2558 เรื่อง การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำหนดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และที่ผ่านมามีการใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระอย่างน้อย 13 ครั้ง
นอกจากนี้ คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น การแทรกแซงกติกาการเลือกตั้ง อย่างน้อย 3 ครั้ง เช่น การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงออนไลน์จนกว่า คสช. จะอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ที่ให้ คสช. สั่ง กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้ หาก คสช. หรือรัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนที่ถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองบางพรรคที่สนับสนุน คสช. เป็นต้น
อุ้มนายทุน
แม้ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 จะมีการยกเลิกบรรดาประกาศคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. กว่า 70 ฉบับ แต่ยังมีบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกหลายฉบับที่ยังส่งผลกระทบอยู่จนถึงปัจจุบัน และบางฉบับก็ย้ายตัวเองไปอยู่ในกฎหมายทั่วไปซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ-สภาแต่งตั้งของ คสช. โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกกลุ่มทุน
ตัวอย่างเช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยคำสั่งฉบับนี้กำหนดบังคับให้กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งดำเนินการออกผังเมืองรวมและกฎกระทรวงตามกฎหมายควบคุมอาคาร ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยเร็ว ทำให้ไม่มีมาตรการในการคุ้มครองผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน
รวมถึงการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยยกเว้นข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องพื้นที่ตั้งโรงงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องการผลิตพลังงานและการจัดการขยะของเสียสิ่งปฏิกูลซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน
แม้ว่าที่ผ่านมาภาคประชาชนจะพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมในการเข้าไปตรวจสอบอำนาจ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาคดีเครือข่ายภาคประชาชนยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและการจัดการขยะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยศาลอ้างว่า คำสั่งออกโดยอำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ที่รับรองให้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด ศาลปกครองไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ
นอกจากนี้ คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษเพื่อผลักดันโครงการของตัวเองป็นการเฉพาะ เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีการใช้มาตรา 44 อย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกนักลงทุนและลดทอนมาตรการคุ้มครองชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้แก่
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อกำหนดให้พื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายสามารถดำเนินไปได้ล่วงหน้าในระหว่างจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ต้องพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน (EIA/EHIA) สำหรับโครงการหรือกิจการในเขต EEC เป็นการเฉพาะ อย่างรวดเร็วให้เสร็จภายใน 1 ปี
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกรวบอำนาจการจัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในภาพรวม แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และแผนการดำเนินงาน รวมทั้งกำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในแต่ละกรณี
จากอำนาจพิเศษสู่ครรลองปกติ
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้ง 3 ฉบับที่เกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ถูกย้ายมาบรรจุในกฎหมายพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 แทน ซึ่งถือเป็นการรับรองการใช้อำนาจพิเศษผ่านกฎหมายปกติ
เช่นเดียวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานรัฐสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้มีการจัดหาประมูลโครงการหรือผู้รับเหมาได้ ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะผ่านความเห็นชอบ ที่ต่อมา สนช. ก็ได้นำคำสั่งดังกล่าวมาบรรจุในกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2561
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ คสช. ได้ทำไว้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่สามารถหยิบมาเล่าได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ บรรดา ‘มรดกกฎหมาย คสช.’ ที่เหลืออยู่ยังถูกคุ้มครองไว้ด้วย มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของ คสช. หรือของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจดังกล่าวยังเป็นไปได้ยาก เว้นเสียแต่ว่าจะต้องพึ่งพาอำนาจของประชาชนและรัฐสภาในการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญ