ด้วยภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป กับความหมายของเสรีภาพสื่อที่กำลังถูกลดทอนคุณค่า ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในประเทศไทย เพราะสื่อปัจจุบันมีหลายรูปแบบและสื่อนั้นก็ยังคงทำหน้าที่นำเสนอข่าวสาร ถ่ายทอดเนื้อหาต่างๆ ให้กับคนในสังคม แต่เมื่อสวมเข้ากับบริบททางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามว่า เสรีภาพสื่อยังคงมีอยู่จริงหรือไม่ อะไรที่สูญเสียไป หรือเป็นเพราะผู้ทำหน้าที่สื่อเลือกที่จะจำกัดตัวเอง
งานเสวนาวิชาการ ‘The Missing Rights: เสรีภาพสื่อของไทย ถูกจำกัดไว้หรือถูกกำจัดไป’ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรัฐศาสตร์วิชาการ ประจำปี 2564 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยมีวิทยากรร่วมแบ่งปันความรู้อย่าง รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจําคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส, ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าว สํานักข่าวราษฎร และ นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนอิสระ อดีตผู้สื่อข่าว BBC ประจำประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ณัทพัฒน เกียรติไชยากร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันตามหาสิ่งที่กำลังจะสูญหายไปในโลกของสื่อ
คำจำกัดความและหน้าที่สื่อ
รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจําคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนิยามสื่อไว้ว่า “หากเป็นสมัยอดีต สื่อมวลชนก็เป็นเหมือนแพลตฟอร์มที่ใช้เป็นช่องทางส่งสาร แต่ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ได้ทำให้เกิด UGC (User Generated Content) ที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาผลิตสื่อได้”
สื่อมวลชนในยุคก่อนไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ล้วนถูก disrupt ด้วยแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถผลิตสื่อได้ โดยในมุมมองของ รศ.พิจิตรา เห็นว่านิยามของสื่อไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะยังต้องมีการตรวจสอบข้อมูล มีการคัดกรองที่ถูกต้อง การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลก็ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานจรรยาบรรณสื่อและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
เมื่อกล่าวถึงหน้าที่ของสื่อ รศ.พิจิตรา มองว่า “สื่อนั้นนอกจากเป็นช่องทางในการส่งผ่านข้อมูลแล้ว ยังมีหน้าที่เป็น gate keeper คอยคัดกรองข่าว สื่อควรเป็น watch dog ให้สังคม เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ และควรนำเสนอสิ่งที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ”
รศ.พิจิตรา กล่าวและย้ำถึงประเด็นที่ว่า สื่อควรนำเสนอข่าวที่เป็นผลประโยชน์และผลกระทบต่อสาธารณะ แต่ก็พอเข้าใจได้ถึงการอยู่รอดทางธุรกิจที่ยังจำเป็นต้องมีโฆษณาแฝง คลิกเบท (clickbait) เพื่อสร้างความจูงใจในสื่อของตนเอง ซึ่งสื่อในปัจจุบันมักจะนำเสนอในเชิง what people want? หรือเลือกที่จะตามกระแสสังคม มากกว่าที่จะทำหน้าที่สื่อจริงๆ คือการเป็น gate keeper คอยคัดกรองข่าวให้กับสังคม
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส มองว่า สื่อคือชุมทางข้อมูลข่าวสารและเป็นเครื่องมือในการสื่อสารของคนในสังคม อีกทั้งสื่อยังมีหลายประเภทและมีหลายแพลตฟอร์ม แม้แต่หนัง ละคร เพลง ทุกอย่างล้วนเป็นสื่อทั้งสิ้น เพราะสื่อคือการบอกข่าวสาร และไม่ว่าเป็นสื่อประเภทไหน แพลตฟอร์มอะไร ก็ควรทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าเป็น news media ก็ควรที่จะนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องและตรงไปตรงมา ถึงแม้ว่าในทางปรัชญาจะตัดสินได้ยาก แต่หน้าที่ของสื่อก็ยังคงต้องรับผิดชอบการทำความจริงที่ปรากฏให้ดีที่สุด
บทบาทที่เปลี่ยนไปของสื่อไทย ท่ามกลางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง
“ดิฉันมองว่าประเทศไทยมียุคประชาธิปไตยสั้นมาก”
นิธินันท์ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยนั้นไม่เคยมีประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง นับตั้งแต่เหตุการณ์ 2475 ก็ไม่ได้เป็นยุคประชาธิปไตยรุ่งเรือง 100 เปอร์เซ็นต์ อำนาจเก่ายังคงมีอยู่ ขณะเดียวกัน คณะราษฎรที่ถูกจัดตั้งขึ้นก็ถูกปราบในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นยุค 14 ตุลาฯ ก็ไม่ได้ชัยชนะจากพลังประชาชน สุดท้ายนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อนาคตของประชาธิปไตยแทบจะถูกหั่นทิ้งลง จนกระทั่งเกิดพฤษภาทมิฬ 2535 และมีรัฐธรรมนูญ 2540 ในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีประชาธิปไตยมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ถูกรัฐประหารซ้ำซาก
“เอาเข้าจริงสื่อไทยไม่ได้ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสังคมเท่าไหร่นักหรอกค่ะ” นิธินันท์กล่าวและว่า การมองว่าหน้าที่ของสื่อคือการต่อต้านรัฐบาล ยังถือเป็นการมองภาพที่ไม่กว้างนัก เพราะมองเพียงแค่รัฐบาล ทั้งๆ ที่ปัญหานั้นอาจไม่ได้เกิดจากแค่รัฐบาล แต่เป็นองค์รวมอำนาจที่มากกว่านั้น
เธอบอกอีกว่า ยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แม้จะมีกลุ่มนักคิดก้าวหน้ากลุ่มหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้ไปถึงที่สุด เพราะหลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหารซ้ำซาก สื่อแทบไม่ได้มีบทบาทเปลี่ยนแปลงอะไรทางการเมืองเลย สื่อเอาแต่วิจารณ์รัฐบาลไปวันๆ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้
นิธินันท์ได้เสนออีกว่า สื่อในแบบอื่นๆ เช่น หนังสือ แมกกาซีน และสื่ออื่นๆ ทั้งหมดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยนำข้อมูลมาให้สังคมเข้าใจมากขึ้นว่าสังคมที่ดีเป็นอย่างไร
หากถามว่าการนำเสนอของสื่อแต่ละยุคแตกต่างกันแค่ไหน เธอมองว่ายุคสมัยที่มีความแตกต่างกัน การทำหน้าที่สื่อก็ย่อมแตกต่างกัน
“ยุคเผด็จการทหาร สื่อก็ไม่กล้าวิจารณ์อะไรมาก อย่างเก่งก็เลี่ยงไปเขียนเรื่องอื่น เพราะกลัวโดนปิดและกลัวภัยอันตราย” นิธินันท์กล่าวเสริมอีกว่า ในช่วงรัฐบาลทักษิณ สื่อยังสามารถวิจารณ์ได้อย่างเป็นอิสระ แต่สื่อบางเครืออาจจะติดปัญหาทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากโฆษณา ซึ่งต่างจากปัจจุบันนี้ที่สื่อขาดความกล้าและแทบไม่วิจารณ์รัฐบาลทหารเลย
สื่อชายแดนใต้ การสื่อสารท่ามกลางความรุนแรง
“เราไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการฆ่าคนเยอะแยะ แม้แต่คนในพื้นที่เองก็งง ผู้คนคาดเดากันไปต่างๆ นานา พวกเขาก็ช็อกเหมือนกัน สื่อก็ช็อก ทุกอย่างมันแปลก มันใหม่ มันเป็นความท้าทาย มันเป็นเรื่องของคนที่ถูกกดทับในทุกๆ ทาง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สนใจปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าว BBC ประจำประเทศไทย และปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ กล่าว
ในสายตาของสื่อทั่วไปนั้น พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับเป็นความท้าทายในการทำงาน แต่สำหรับนวลน้อย เธอเห็นว่านี่ไม่ใช่ความท้าทาย แต่เป็นการทำความเข้าใจในความเป็นชายขอบของสังคม
ในยุคที่นวลน้อยทำงานในสังกัด BBC ซึ่งให้ความสนใจในประเด็นนี้ โดยเฉพาะประเด็นของคนชายขอบ ซึ่งในประเทศไทยมีชาวมุสลิมเพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ และมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ก็ต่างไปจากพื้นที่อื่น หรือเรียกได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อยในคนกลุ่มน้อย สอดคล้องกับประเทศตะวันตกที่เมื่อมีการก่อการร้ายก็จะรังเกียจมุสลิม เพราะคิดว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับความรุนแรง และในสังคมที่มีความโกรธแค้นก็มักมีความเป็นเหตุเป็นผลน้อยลง ทำให้คนมีอคติกับมุสลิม
นวลน้อยเล่าถึงอุปสรรคการทำข่าวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประการแรกคือ ความไม่รู้ ถือเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับนักข่าวทุกคนที่ลงพื้นที่ ซึ่งอาจไม่เข้าใจพื้นที่อย่างถ่องแท้
“เมื่อคุณไม่รู้จักพื้นที่ ความขัดแย้งมันก็กระโดดออกมา เพราะความเป็นคนไทยคือคู่ขัดแย้ง เป็นเรื่องของชาตินิยมมลายูปะทะกับชาตินิยมไทย หากไม่รู้ตัว เราจะหลงติดไปในกับดักนี้โดยอัตโนมัติ…
“หลายคนถามอยู่บ่อยๆ ว่าไม่กลัวถูกยิงตายเหรอ ซึ่งที่จริงมันก็ไม่ได้ถูกยิงตายง่ายขนาดนั้น ยกเว้นมีการวางระเบิดหน้าร้านสะดวกซื้อ แล้วคุณดันไปอยู่ตรงนั้น”
นวลน้อยให้ข้อสังเกตว่า อันตรายที่แท้จริงแล้วคือ การเสนอข่าวของสื่อจะเข้าทางใคร คนที่ใช้ความรุนแรงมีอยู่ 2 ฝ่าย ฝ่ายรัฐไทยจะใช้คำว่ากลุ่มก่อเหตุหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน อีกฝ่ายคือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพราะคนที่มีปืนคือคนที่มีเสียงดังที่สุด หากนำเสนอข่าวไม่ดีหรือขัดกับใคร ก็จะเป็นอันตรายกับตัวสื่อเอง
นวลน้อยกล่าวอีกว่า ความเร่งรีบในการนำเสนอข่าวมีโอกาสทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้เสมอ แต่หากมีประสบการณ์และผ่านการอบรมมากพอ ความผิดพลาดก็จะลดน้อยลง อย่างน้อยที่สุดผู้สื่อข่าวต้องเปิดใจกว้างและรับฟัง ต้องมีจรรยาบรรณในการทำข่าว และแน่นอนที่สุดคือ คนเราผิดพลาดได้
“ถ้าเราไปด้วยมุมมองของคนที่ไม่เข้าใจ เราจะใช้องค์ความรู้ที่เรามีอยู่ แล้วก็จะไปตัดสินเขาแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งความเป็นจริงเราไม่สามารถใช้วิธีคิดของเราไปตัดสินเขาได้”
สื่อในสถานการณ์ม็อบ
ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าว สํานักข่าวราษฎร กล่าวว่า เหตุที่ทำเพจสำนักข่าวราษฎร เพราะสนใจและติดตามข่าวการเมือง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของราษฎรในช่วงปี 2563 จึงต้องการเป็นสื่อทางเลือกให้กับประชาชนในการบริโภคข่าวสาร และเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่การคลายปมความขัดแย้งให้กับการเมืองไทยได้ และด้วยความเป็นสื่อทางเลือกจึงสามารถนำเสนอข่าวสารได้โดยไม่ต้องมีการปิดกั้นหรือไม่ต้องเซ็นเซอร์
ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าว สํานักข่าวราษฎร กล่าวว่า เหตุที่ทำเพจสำนักข่าวราษฎร เพราะสนใจและติดตามข่าวการเมือง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของราษฎรในช่วงปี 2563 จึงต้องการเป็นสื่อทางเลือกให้กับประชาชนในการบริโภคข่าวสาร และเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่การคลายปมความขัดแย้งให้กับการเมืองไทยได้ และด้วยความเป็นสื่อทางเลือกจึงสามารถนำเสนอข่าวสารได้โดยไม่ต้องมีการปิดกั้นหรือไม่ต้องเซ็นเซอร์
อย่างไรก็ตาม ณัฐพงศ์ยอมรับว่า ข้อจำกัดของการเป็นสื่ออิสระคือต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง และอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการนำเสนอข่าวสารได้ เพราะไม่มีผู้คัดกรองให้ จนบางครั้งก็อาจทำให้เกิด fake news โดยไม่ตั้งใจ
ณัฐพงศ์กล่าวว่า เสรีภาพสื่อทุกวันนี้ค่อนข้างถูกจำกัด ดังเช่นเมื่อครั้งไปทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สที่ภาครัฐมองว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้เขาถูกจับกุมไปด้วย แม้จะแสดงตนไปแล้วว่าเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ
อีกกรณีที่สำคัญคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินว่าการจัดชุมนุมของแกนนำราษฎรเป็นการล้มล้างการปกครอง อีกทั้ง กสทช. ยังขอให้สื่อไม่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ โดย กสทช. อ้างว่าผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงยิ่งทำให้ประชาชนต้องหันไปติดตามสื่อเฉพาะทางและเนื้อหาที่อยู่ใต้ดินแทน
ณัฐพงศ์มองว่า ขอบเขตของเสรีภาพสื่อคือการรายงานข้อมูลบนพื้นฐานของความเป็นจริง และเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข่าวสาร
ขอบเขตเสรีภาพสื่อที่หดแคบลง
ทางด้านนวลน้อย กล่าวเสริมในประเด็นเสรีภาพสื่อว่า ในทางกฎหมายสื่อไทยมีเสรีภาพค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดสูง แม้ศาลจะไม่ได้ห้าม แต่ กสทช. ใช้วิธีขอความร่วมมือ ทำให้เกิดแรงกดดันโดยตรงต่อสื่อ
นวลน้อยยืนยันว่า สื่อควรมีเสรีภาพและจรรยาบรรณ ต้องเคารพผู้อื่น เคารพผู้ที่เสพรับข่าวสาร เคารพสิทธิแหล่งข่าว โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่คนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนที่ถูกสื่อละเลยก็สามารถส่งเสียงได้มากขึ้น สื่อจึงต้องสร้างวัฒนธรรมการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล ไม่ทับถมกัน รู้ว่าบทบาทหน้าที่ของตนเองคืออะไร ซึ่งสังคมก็มีส่วนร่วมในการสร้างสื่อด้วยกันทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับนิธินันท์ ให้ความเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันคนอ่านหนังสือกันมากขึ้น พูดถึงโครงสร้างสังคมมากขึ้น คนหนุ่มคนสาวมีเหตุผล มีความสดใหม่ สามารถเป็นสื่อที่มีคุณภาพได้ ส่วนสื่อยุคปัจจุบันต้องหันมาทบทวนตัวเอง โดยเฉพาะสมาคมสื่อที่ไม่กล้าต่อสู้กับรัฐบาล
“สื่อจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเสรีภาพ เรามีเสรีภาพเพื่อความเป็นมนุษย์ เราต้องเคารพคนอื่นเหมือนเคารพตัวเอง เราใช้เสรีภาพที่มีขอบเขตของการเป็นมนุษย์ และไม่ทำร้ายคนอื่น”
กฎหมายควบคุมสื่อ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เสนอว่า นิยามของสื่อในปัจจุบันมีการเลื่อนไหลไปมาก จนบางครั้งก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการกำหนดนิยาม เพราะประชาชนทั่วไปที่ลุกขึ้นมาแสดงออกก็มีบทบาทไม่มากไม่น้อยไปกว่าสื่อที่ทำงานเป็นอาชีพ
ยุคปัจจุบันโครงสร้างของกฎหมายเกิดจากคณะรัฐประหารทั้งหมด กล่าวโดยสรุปคือห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นมาตราที่ถูกขุดขึ้นมาใช้ ซึ่งมีประมาณ 70 มาตรา จากกฎหมาย 5 ฉบับ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ทั้งประชาชนและสื่อมีเสรีภาพบ้างพอสมควรเท่าที่รัฐบาลนี้จะอนุญาตให้มี ภายใต้กฎเหล็กอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
หากมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องออกกฎหมายควบคุมสื่อ นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขาต้องการควบคุมการรับรู้ของประชาชน จัดเลือกตั้งบังหน้า รัฐบาลนี้จะไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่ได้รับการยอมรับ แต่สถานะเขาไม่ชอบธรรมจึงต้องควบคุม
อย่างไรก็ตาม กฎหมายควบคุมสื่อยังมีความจำเป็น หากต้องตั้งอยู่บนกรอบที่ประชาชนเห็นชอบร่วมกัน
“เราจะผลักดันเสรีภาพสื่อได้อย่างไร อันนี้ง่ายมาก เราอย่าไปหวังกับสื่อขนาดนั้น เพราะเราสามารถทำเองได้ เพียงแค่ต้องเพิ่มคุณภาพของตัวเอง เวลาโพสต์อะไรแล้วมันฮอต มีคนแชร์เป็นหมื่น สื่อใหญ่ก็จะหยิบไปพูดถึงเอง ยังไงสื่อก็จะวิ่งตาม แต่อะไรที่สื่อนำเสนอแล้วมันผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เราก็ต้องด่าสื่อที่นำเสนอผิด คือถ้าเราช่วยกันด่า เขาก็จะดีขึ้น” ยิ่งชีพกล่าวไว้
Fake News โรคระบาดของสื่อยุคดิจิทัล
รศ.พิจิตรา ตั้งข้อสังเกตว่า fake news คือข้อมูลที่เป็นเท็จ เป็นข้อมูลปลอมที่มีเจตนาแอบแฝง ปัจจุบัน fake news ในสื่อสังคมออนไลน์มีปริมาณมาก สามารถทำข่าวปลอมได้ทุกวัน มีการแชร์มากกว่าข่าวปกติถึง 6 เท่า
“ถ้าเรามอง fake news เป็นอันตราย ภาครัฐจะเข้ามากำกับ อย่างช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติโรคระบาด ความหวาดกลัวของประชาชนก็จะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกำกับสื่อ”
fake news ในมุมมองของประชาชนกับรัฐบาลไม่เหมือนกัน รัฐบาลมองว่าเป็นภัยความมั่นคง แต่ในมุมมองของประชาชนเป็นเรื่องตลกที่ไว้ใช้ท้าทายอำนาจรัฐ
รศ.พิจิตรา กล่าวอีกว่า ก่อนที่ กสทช. จะถูกตั้งขึ้น สื่อค่อนข้างมีเสรีภาพมาก ถึงขนาดที่ว่าสื่อเลือกข้าง และกลายเป็นเครื่องมือสุดโต่ง เพราะขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุม โดยเฉพาะทีวีดาวเทียมกับวิทยุที่มีเสรีภาพในการปลุกระดมและด่าทอต่างๆ แต่ขณะเดียวกันหากสื่อมีเสรีภาพพร้อมๆ กับมีความรับผิดชอบ fake news ก็ย่อมลดลง
ความฝัน ความหวัง ในสื่อไทย
นิธินันท์กล่าวว่า คงไม่อาจบอกได้ว่าอะไรที่ขาดหายจากสื่อ เพราะไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบในโลกนี้ นั่นจึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่สื่อยังมีน้อยเกินไปคือเรื่องของการใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ ของคนทำสื่อ เพราะความไม่รู้จะนำไปสู่อคติ และกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการปิดปากประชาชน
หน้าที่ของสื่อคือต้องเป็นปากเสียงให้กับคนที่ไม่มีเสียง สื่อต้องไม่นำเสนอข่าวที่มีเจตนาให้เป็นเท็จ หรือเพื่อประสงค์ร้ายต่อคนอื่นๆ การมีความรู้ความเข้าใจจะทำให้คนทำสื่อไม่ติดกับดัก การมีความรู้จะเป็นเกราะป้องกันให้กับนักข่าวได้ดีที่สุด
ในอนาคต นิธินันท์หวังว่าสื่อคนรุ่นใหม่จะมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อยากให้คนทำสื่อมองเห็นโลกกว้างภายนอก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะข่าวสารจากต่างประเทศก็สามารถนำมาเทียบเคียงกับประเทศไทยได้ หากสื่อช่วยกันนำเสนอความรู้ก็จะช่วยให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้