The Most Hated Men in America

Martin-Shkreli

เรื่อง : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ถ้าคุณไม่ใช่พวกปลีกวิเวกหลีกหนีจากโลกจนเกินไปนัก เชื่อมั่นว่า คุณต้องได้ยินชื่อ มาร์ติน ชเครลี (Martin Shkreli) ได้เคยเห็นหน้าตาอ่อนใสวัย 32 ของเขาตามข่าวและโลกออนไลน์ แต่ที่แน่ๆ คุณต้องได้ผ่านหูผ่านตาพฤติกรรมที่ทำให้เขาเป็น ‘The Most Hated Men in America’ หรือ ‘Public Enemy No.1’ ระดับเดียวกับอาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของโลกกันเลยทีเดียว

ด้วยว่า บริษัท Turing Pharmaceutical ของนายชเครลีปรับขึ้นค่ายาไพริมเมธามีน (pyrimethamine) ชื่อการค้า ดาราพริม (Daraprim) ซึ่งเป็นยารักษาโรคฝีในสมองที่เกิดจากพยาธิในภาวะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ (toxoplasmosis) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยมะเร็ง ข้ามคืนพรวดเดียว 5,500 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเม็ดละ 13.5 ดอลลาร์ (ประมาณ 500 บาท) เป็นเม็ดละ 750 ดอลลาร์ (ประมาณ 27,000 บาท) ต่อเม็ด ทั้งที่ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ หรือ 35 บาทเท่านั้น

ทำให้ค่ายาต่อหนึ่งการรักษานั้นพุ่งไปถึง 63,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,200,000 บาท) และยิ่งถ้าเป็นกรณีของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องใช้การรักษายาวนานกว่า ค่ายาอาจสูงมากถึง 634,000 ดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 23 ล้านบาท) ทีเดียว

[ไม่อยากบอกให้ตกใจ ยาตัวเดียวกันนี้ในประเทศไทยราคาขายอยู่ที่ 400-480 บาท ต่อ 1,000 เม็ด!!! อ่านไม่ผิด นั่นหมายความว่า ราคาขายในไทยตกอยู่ที่ประมาณเม็ดละไม่เกิน 50 สตางค์]

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ดุเดือดที่สุดในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ถึงขั้นที่สื่อไม่ว่าเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ เสรีนิยมแค่ไหน หรือแม้แต่นักการเมืองที่กำลังจะลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดียังต้องพูดถึงด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์

แม้แต่ฝ่ายนำในสมาคมอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่อย่าง ฟาร์มา (PhRMA) ที่คอยเป็นหัวหอกในการปกป้องผลประโยชน์อุตสาหกรรมยา ยังต้องรีบออกมาตีตัวออกห่างว่า ‘เป็นแค่กรณีเฉพาะ’ พูดอีกนัยหนึ่งคือ พฤติกรรมกระหายทำกำไรอย่างบ้าเลือดบนชีวิตผู้คนอย่างน่ารังเกียจนี้เป็นแค่กรณีเฉพาะ ไม่ใช่นิสัยพื้นฐานของคนในอุตสาหกรรมยานะจ๊ะ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว นี่คือกรณีพิสดารเฉพาะของพ่อหนุ่มชเครลีคนเดียวจริงๆ หรือ เป็นสันดานที่ได้รับการหนุนเสริมเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมยาในสหรัฐ

สื่อจำนวนมากนำเสนอพฤติกรรมอันเลวร้ายของ มาร์ติน ชเครลี อย่างเจาะลึกไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นลูกแรงงานอพยพ เติบโตมาในย่านซอมซ่อของบรูคลิน ใช้สองมือและสมองอันฉ้อฉลสร้างบริษัทที่หากินกับการปั่นกระดาษอย่างกองทุนเฮดจ์ฟันด์ แถมยังติดคดีโกงบริษัทตัวเอง เมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่ขึ้นราคาบ้าเลือด ก็ระรานนักข่าวด้วยการชูนิ้วกลาง และด่าว่า “ไอ้งั่ง”

ไม่เพียงเท่านั้น หมอนี่ยังไม่มีความละอายในการตัดสินใจอันชั่วร้ายครั้งนี้ พูดหน้าตาเฉยว่า “นี่คือการตัดสินใจทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมซึ่งจะทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นของเราทุกคน” “ไม่ต้องสงสัย ผมมันทุนนิยม ผมสร้างบริษัทยาใหญ่ เพื่อให้เป็นบริษัทยาที่ประสบความสำเร็จ และเป็นบริษัทที่ทำกำไร” “ก็เข้าใจนะว่ามันอาจดูละโมบไปบ้าง แต่ผมคิดว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นจะเอาไปวิจัยและพัฒนายาที่ดีกว่าในการกวาดล้างโรคฯ”

Martin Shkreli, chief investment officer of MSMB Capital Management, works on a computer in his office in New York, U.S., on Wednesday, Aug. 10, 2011. MSMB made an unsolicited $378 million takeover bid for Amag Pharmaceuticals Inc. and said it will fire the drugmaker's top management if successful. Photographer: Paul Taggart/Bloomberg via Getty Images ***Local Caption ** Martin Shkreli

เอลเลน ที’โฮเอน ผู้เขียนหนังสือ The Global Politics of Pharmaceutical Monopoly Power (เกมการเมืองโลกเพื่อครอบครองอำนาจผูกขาดตลาดยา – ฉบับแปลไทย) ให้สัมภาษณ์ Washington Post ว่า เธอช็อคกับความเห็นของชเครลี แต่ไม่ประหลาดใจที่ได้ยิน

“เพราะไม่ใช่ครั้งแรก คุณสามารถเห็นได้บ่อยครั้งเลย เมื่อใดก็ตามที่ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีคนคัดค้าน ไม่มีนโยบายหรือกลไกใดๆ เข้ามาควบคุม บริษัทยาไม่รีรอที่จะเรียกราคาสูงสุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาทำมาแล้วกับยาต้านไวรัสเอชไอวี กับยารักษาไวรัสตับอักเสบซี แล้วตอนนี้เราก็มาเห็นกับยาตัวนี้”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกจริงๆ ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคม บริษัท Rodelis Therapeutic ผู้ซื้อสิทธิ์การขายยารักษาวัณโรค cycloserine ที่ใช้กันมานานนมต่อจาก บริษัท Chao Center แจ้งขึ้นราคาจากไม่ถึง 500 ดอลลาร์ต่อ 30 เม็ด (ประมาณ 17,500 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 10,800 ดอลลาร์ (ประมาณ 378,000 บาท) แต่เมื่อถูกจดหมายร้องเรียนก็เลิกซื้อสิทธิ์การขายยาตัวนี้ไป

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท Valent Pharmaceutical International ก็ขึ้นราคายาโรคหัวใจ 2 ตัวชื่อการค้า Isuprel 525 เปอร์เซ็นต์ และ Nitropress 212 เปอร์เซ็นต์ ทันทีที่ซื้อสิทธิการขายมาจากบริษัทอื่น กรณีนี้ไม่พบว่ามีการร้องเรียนทำให้การขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดครั้งนั้น เสร็จสมอารมณ์หมาย เช่นเดียวกับ doxycycline ยาปฏิชีวนะที่เก่าแก่กว่าครึ่งศตวรรษ ที่ถูกทยอยขึ้นราคา 9,200 เปอร์เซ็นต์ จากขวดละ 20 ดอลลาร์ (ประมาณ 700 บาท) เป็น 1,849 ดอลลาร์ (ประมาณ 66,000 บาท) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2014

และถ้าย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีกนิด ก็จะพบว่า ยาไพริมเมธามีน (pyrimethamine) ยาตัวต้นเรื่องนี้ ก็มีการขึ้นราคาทุกครั้งเมื่อสิทธิ์การขายถูกเปลี่ยนมือ จากที่เคยขาย 1 ดอลลาร์โดย GSK ก็ขึ้นเป็น 13.5 ดอลลาร์ ก่อนหน้าที่จะถูกขายมาถึงมือของ Turing Pharmaceutical

prim
จากการศึกษาของหน่วยงานด้านนโยบายสาธารณะในสหรัฐพบว่า ปีที่แล้วราคายาแบรนด์เนม 200 ตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.9 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มสูงกว่าปีก่อนๆ มาก แต่ที่น่าตกใจกว่าคือ ยาชื่อสามัญที่ไม่ติดสิทธิบัตรแล้ว ที่ควรเป็นความหวังให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาในราคาที่ถูกลง กลับถูกถีบราคาให้สูงขึ้นในอัตราที่แสนสาหัสกว่า

ทำให้หลายคนเกิดอาการงุนงงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะยาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นยาเก่าแก่มาก ไม่มีสิทธิบัตร ไม่ติดอยู่ในช่วงเวลาการผูกขาดข้อมูลทางยาที่ห้ามบริษัทยาอื่นขึ้นทะเบียน เหตุใดจึงถูกผูกขาดเบ็ดเสร็จเช่นนี้

สาเหตุสำคัญอยู่ที่ บริษัทยาชื่อสามัญในสหรัฐถูกคุมกำเนิดด้วยนโยบายและกฎหมายที่เอื้อแต่บรรษัทยักษ์ใหญ่ให้ทำกำไรสูงสุด การขึ้นทะเบียนยาเพื่อออกวางจำหน่ายสำหรับยาชื่อสามัญใหม่เต็มไปด้วยความยากเย็น ดังนั้นแม้ว่าจะหมดเวลาการผูกขาดโดยกฎหมายต่างๆ แล้ว แต่ยาจำนวนมากตกอยู่ในมือผู้ผลิตเพียงรายเดียว

นี่จึงทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ล่าสุดในสหรัฐ ที่บริษัทเล็กๆ จะไปซื้อยาเก่าประเภทนี้ที่บรรษัทยายักษ์ใหญ่ทำกำไรมาจนเบื่อแล้ว พอซื้อมาได้ปั๊บก็ติดราคาใหม่ที่แพงกระแทกใจทันที ด้วยข้ออ้างเดิมๆ คือต้องหาเงินเพิ่มเพื่อวิจัยและพัฒนายาให้ดีขึ้น อาจแถมด้วยโครงการ CSR เล็กๆ ให้ยาราคาถูกสัก 1-2 โรงพยาบาลเป็นตัวอย่างทาบทับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเอาไว้ ก็เป็นอันเรียบร้อย

แม้จะเหมือนในกมลสันดาน แต่แตกต่างกันในท่าที มาร์ติน ชเครลี ซึ่งมาจากโลกของวาณิชธนกิจ ไม่เคยกระมิดกระเมี้ยนในการเปิดเผยความคิดที่จะทำกำไรบ้าเลือดตราบเท่าที่โอกาสเปิด ทั้งหมดเป็นไปได้เพราะกลไกทางกฎหมายและสภาพตลาดที่อุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ได้ปูทางเอาไว้ คนอย่างชเคลรีก็แค่เข้ามาเดินร่วมเส้นทางนี้เท่านั้น

“ชเครลีเป็นแค่ผลผลิตของระบบ ไม่ใช่สาเหตุ” นายแพทย์เจมส์ แฮมบลิน บรรณาธิการอาวุโสของ The Atlantic กล่าวในบทความของเขา “ถ้าไล่ตบตีนายคนนี้ ก็เพียงแค่บรรเทาอาการ แต่ไม่ได้รักษาที่ตัวโรค ยังมี ‘ยิ่งกว่าชเครลี’ อีกมาก และ จะมี ‘ยิ่งกว่าชเครลี’ เกิดตามมาอีกมากมาย

เช่นเดียวกับ เอลเลน ที’โฮเอน เธอมองว่า ถ้ากรณีนี้มันกระทบความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจแก้ปัญหาเชิงลึกถึงโครงสร้างที่ประเคนให้อุตสาหกรรมยาสหรัฐเป็นอุตสาหกรรมยาที่ทำกำไรสูงที่สุดในโลก จนบางบรรษัททำกำไรสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ บนความเจ็บป่วยของผู้คน ด้วยการควบคุมราคายา… “เราควรให้รางวัลโนเบลกับเขาไปเลย…แต่นั่นแหละ เมื่อคิดถึงการควบคุมราคายา มันสุดจะไม่ใช่อเมริกันเอามากๆ”

ถึงแม้เราจะเห็นความแข็งขันในการหาเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ที่วางนโยบายในการจัดการปัญหาการเข้าถึงยาและราคายาในสหรัฐแบบชัดเจนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการแข่งขันในตลาดยาให้กับผู้ผลิตยาชื่อสามัญ การจัดการกับการส่งเสริมการขายยาและการตลาดที่ขาดจริยธรรม ลดเวลาการผูกขาดข้อมูลทางยาที่ปิดโอกาสการวางจำหน่ายของยาชื่อสามัญลงครึ่งหนึ่ง (ซึ่งการผูกขาดนี้มีขึ้นในฐานะข้อแลกเปลี่ยนที่บารัก โอบาม่ายอมตามอุตสาหกรรมยาสหรัฐเพื่อแลกกับการไม่ค้านโอบาม่าแคร์) และขจัดข้อตกลงที่บรรษัทยายักษ์ใหญ่จ่ายเพื่อดีเลย์การวางจำหน่ายยาชื่อสามัญของบริษัทคู่แข่งเพื่อให้ตัวเองขายผูกขาดได้เจ้าเดียวต่อไป หรืออาจถึงขั้นให้ผู้ป่วยอเมริกันข้ามไปซื้อยาราคาถูกจากแคนาดาได้ แต่ข้อสังเกตทิ้งท้ายของโฮลเอนไม่ผิดจากความเป็นจริงมากนัก

เพราะหากย้อนกลับไปสมัยที่ฮิลลารีเป็นสตรีหมายเลข 1 ความแข็งขันของเธอที่จะทำให้คนอเมริกันมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เคยถูกอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมประกันสุขภาพเอกชนทำลายมาแล้ว จนเธอกลายมาเป็นหนึ่งในสาวิกาของอุตสาหกรรมยาด้วยเงินที่ส่งมาสนับสนุนการเลือกตั้งของเธอเป็นอันดับต้นๆ

กลับมาที่ประเทศไทย เราควรจะกระหยิ่มใจที่ยาตัวนี้บ้านเราขายเม็ดละไม่ถึง 2 สลึง ในขณะที่คนอเมริกันกำลังตกตะลึงพึงเพริดกับราคา 26,000 บาทต่อเม็ดหรือไม่

drug
รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำวิจัยเจาะลึกถึงพฤติกรรมและแทคติคบรรษัทยาข้ามชาติ มองว่า กรณีนี้เป็นตัวอย่างการผูกขาดตลาดทำให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาสูงเท่าไรก็ได้ ประกอบกับตลาดยาในสหรัฐไม่มีระบบการควบคุมการทำกำไรเลย สำหรับประเทศไทยยังมีระบบควบคุมอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม หากมีการทำ FTA กับสหภาพยุโรป หรือกับสหรัฐอเมริกา ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) จะยิ่งน่าวิตกกว่านี้

เพราะนี่คือการส่งออก ‘ความเป็นอเมริกัน’ แบบที่ ที’โฮเอน ตั้งข้อสังเกต

“อย่างใน TPP มีบทในภาคผนวกของร่างความตกลงที่หลุดออกสู่สาธารณะที่ชื่อว่า ‘ความโปร่งใสและกระบวนการรักษาสุขภาพที่ยุติธรรม’ ซึ่งชื่อดูดีมาก แต่เนื้อหาจริงๆ เป็นเนื้อหาที่เกินกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก ระบุว่า รัฐสมาชิกของ TPP ไม่สามารถต่อรองราคายาได้ ซึ่งจะกลายเป็นภาระของประชาชนโดยปริยาย ห้ามการกำหนดราคาอ้างอิงแบบที่ประเทศไทยใช้อยู่ในการนำยาเข้าสู่ระบบ ทั้งที่เป็นการทำเพื่อให้งบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หากบริษัทยาไม่พอใจยังสามารถนำไปเป็นเหตุฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน จนในที่สุดจะสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว (chilling effect) จนหน่วยงานภาครัฐไม่กล้าต่อรองราคาในที่สุด”

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่เอื้อให้การจดสิทธิบัตรเป็นไปอย่างง่ายดายแม้ไม่มีความใหม่-ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ห้ามกลไกการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร ซึ่งจะทำให้เกิดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันหมดอายุหรือที่เรียกว่า สิทธิบัตรแบบ evergreening ซึ่งปรากฎมากในสหรัฐ ในไทยเองจากการประเมินผลกระทบพบว่า มีคำขอสิทธิบัตรเหล่านี้รออยู่เป็นจำนวนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ หากให้สิทธิบัตรผูกขาดไป เพียงแค่ยาที่ใช้สูงสุดในไทย 50 ตัวแรก จะต้องเสียงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาทในอีก 20 ปีข้างหน้า

ยิ่งไปกว่านั้นยังจำกัดการทำซีแอล และแน่นอนว่า อุตสาหกรรมยาชื่อสามัญรวมทั้งองค์การเภสัชกรรมของไทยจะถูกบอนไซ ภาพที่เห็นในสหรัฐอเมริกาในขณะนี้จึงแทบจะเป็นภาพอนาคตหลังจากที่เรายอมรับเอฟทีเอลักษณะที่ว่า

“กลไกดูแลราคายาสำคัญมาก ไม่ควรปล่อยให้ยาเป็นสินค้าทั่วไป ถ้าเทียบกัน ระบบสาธารณสุขและการกำกับของเราดีกว่าสหรัฐมาก แต่ข้อตกลงการค้าเสรีทั้งกับ TPP หรือกับสหภาพยุโรปนั้น จะเข้ามาทำลายหรือทำให้กลไกเหล่านี้อ่อนแอ แม้ว่าตลาดยาจะเล็กเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอาหารส่งออก ถ้าเรายอมตามความสูญเสียจะมหาศาล ดังนั้น ดังนั้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ การจะเจรจาบทที่ว่าด้วยเรื่องของยา การเข้าถึงยา ไม่ควรจะพิจารณาจากมุมเฉพาะขนาดอุตสาหกรรมเท่านั้น” รศ.ดร.ภญ.นุศราพรกล่าว

ถึงที่สุดแล้ว เราอาจไม่ถึงกับต้องให้รางวัลโนเบลกับ มาร์ติน ชเครลี แต่อย่างน้อยต้องขอบคุณความไม่แยแสโลกของเขาที่ช่วยกระตุกให้ผู้คนตื่นแล้วลุกขึ้นมาตั้งคำถามอย่างถึงแก่นกับอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่ อุตสาหกรรมยายักษ์เล็ก และรัฐที่สมคบกัน

***************************************

(หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจาก

The Guardian / theguardian.com

Washington Post / washingtonpost.com

Los Angeles Times / latimes.com

The New York Times / nytimes.com

CBS News / cbs.com

The Atlantic / theatlantic.com

Vox.com

เช้าทันโลก FM 96.5

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า