“พอได้เจอกับกลุ่มชาวปกาเกอะญอก็รู้สึกว่า เขาลึกซึ้งกับคำว่าป่าจังเลย ที่เราเรียนในคณะวนศาสตร์อาจจะเป็นนิยามป่าที่ว่า พื้นที่นี้มีต้นไม้ ลำธาร ห้วย หนอง บึง นา ระบบนิเวศ หรือการไหลเวียนของน้ำ แต่พอเจอคนที่อยู่กับป่า เกิด กิน ตายที่นั่น มันมีจิตวิญญาณบางอย่างที่ความเป็นมนุษย์ของเขาผูกพันกับป่าจริงๆ มุมมองของเขาไม่เหมือนที่เราเรียนในวนศาสตร์เลย เขานับถือทุกอย่างเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้ ก้อนหิน ลำธาร เขานับถือหมด”
นี่คือคำบอกเล่าของ มิว-ปภาวิน พุทธวรรณะ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การเรียนสาขาวนศาสตร์ชุมชนทำให้เธอได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการจัดการป่า สำหรับเธอแล้ว จุดเปลี่ยนทางความคิดเกิดขึ้นเมื่อครั้งได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านปกาเกอะญอ เห็นวิถีชีวิต ระบบการทำไร่หมุนเวียน รวมถึงความเชื่อทางจิตวิญญาณระหว่างคนกับป่า ที่คนเมืองคงจะไม่มีวันเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งจนกว่าจะได้มาเห็นกับตาตัวเอง เพราะกระทั่งตอนนี้ มายาคติว่าด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ต้นเหตุของฝุ่นควัน PM2.5 ก็ยังเป็นคำพิพากษาโดยมีชาวปกาเกอะญอและคนบนภูเขาเป็นจำเลย
ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มคนที่ถือครองผูกขาดองค์ความรู้เรื่องป่าไม้แต่เพียงผู้เดียวอย่างคณะวนศาสตร์ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยาน จากกรณี #saveบางกลอย ที่มีการพูดถึงตัวบทกฎหมายว่าด้วยเรื่องประกาศอุทยาน และเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตวป่า ซึ่งจุดที่เชื่อมโยงกันระหว่างรัฐกับวิธีคิดแบบ ‘คนเมือง’ มากที่สุดก็คือ การสร้างความชอบธรรมให้กับการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพราะต้องการอนุรักษ์พื้นที่ป่าซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมของทุกคนต่อไป
ประโยชน์ส่วนรวมในที่นี้ต้องมาในรูปแบบของ ‘ป่าปลอดคน’ เพราะคนเหล่านั้นถูกมองว่า เป็นตัวการทำลายป่าโดยสิ้นเชิง
วนศาสตร์ 101: ว่าด้วยการพิทักษ์ป่าหรือคน
ย้อนกลับไปก่อนที่จะเป็นคณะวนศาสตร์ เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2478 คณะมีชื่อว่า โรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่ เกิดขึ้นมาเพื่อผลิตบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นที่ต้องการในขณะนั้น สังกัดก็คือกรมป่าไม้ จากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จึงมีการเปลี่ยนมาเป็นคณะวนศาสตร์ตามอย่างปัจจุบัน โดยความเปลี่ยนแปลงด้านหลักสูตรก็มีการปรับไปตามยุคสมัยด้วย จากตอนแรกที่นิสิตวนศาสตร์ส่วนใหญ่จะเข้ารับราชการต่อที่กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยาน ตอนนี้ความสนใจของเด็กๆ หลากหลายมากขึ้น บางคนอยากทำงานในองค์กรเอกชน บางคนอยากทำงานร่วมกับเอ็นจีโอมากกว่า เป็นต้น
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ มิว-ปภาวิน นิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะวนศาสตร์ ที่อีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้าเธอก็จะจบการศึกษา มิวเล่าให้ฟังว่า ถ้าให้ลองแบ่งแบบหยาบๆ จากทั้งหมด มีนิสิตวนศาสตร์เพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อข้อเรียกร้อง จากการเข้ายื่นหนังสือของคณบดีถึงนายกรัฐมนตรี เธอมองว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันไปถึงระบบอุปถัมภ์ระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้องภายในคณะ ที่เชื่อมโยงสู่ประเพณีรับน้องใหม่ของคณะด้วย
หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่า คณะวนศาสตร์ที่ทำการผลิตคนเข้าสู่อุตสาหกรรมป่าไม้นั้นมีเพียงที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้น แม้ว่าต่อมาจะมีคณะเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้เพิ่มขึ้นมาอีกแห่ง แต่บุคลากรทั้งในกรมป่าไม้ และกรมอุทยานดั้งเดิมจนถึงปัจจุบันล้วนเป็นคนจากวนศาสตร์ทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อเป็นประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสองกรม คนในคณะเองจึงหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์วิจารณ์เพราะมองว่า บุคลากรในกระแสมีสถานะเป็นรุ่นพี่คณะ หรือบางครั้งก็มองไปไกลกว่านั้นว่า ถ้าอนาคตต้องเข้าทำงานที่นี่จะเกิดผลกระทบอะไรกับตัวเองรึเปล่า กลายเป็นการผลักการรับรู้ชุดข้อมูลด้านอื่นๆ ออกไปด้วย
“เพื่อนบางคนก็ยังคิดว่า ชางบางกลอยเป็นชนกลุ่มน้อยชาวพม่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในป่า เขาก็คิดประมาณว่า คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิที่จะมาอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว พอเขาเชื่อแบบนี้มา อาจารย์สอนแบบนี้มาก็เชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูก โดยไม่ได้มองว่ารัฐเองก็ยังสัมปทานที่ดินให้เอกชนทำเขื่อนอยู่เลย ไม่ได้นำสองส่วนนี้มาเปรียบเทียบกัน แล้วมันก็มีการ convince กันอยู่บางๆ ด้วยว่า อย่าทำตัวแตกต่าง เราเลยไม่กล้าแสดงออกที่จะทำให้ตัวเองโดดออกมาจากกลุ่มก้อนในคณะ บางคนเขาก็อยากจะพูด แต่คิดว่าพูดแล้วอาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะชีวิตประจำวันก็ยังต้องติดต่อกันอยู่”
มิวพาเราย้อนไปยังจุดกำเนิดของกรมป่าไม้ ที่เดิมทีแล้วองค์กรรัฐแห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ซัพพอร์ตเรื่องของการค้าไม้เชิงพาณิชย์ ซึ่งไอเดียนี้ไทยก็รับมาจากอังกฤษในช่วงที่มีการเปิดการค้าเสรีขึ้นเป็นครั้งแรก นั่นคือ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คนที่มานั่งตำแหน่งรักษาการอธิบดีกรมป่าไม้ตอนนั้นก็เป็นชาวอังกฤษ จากนั้น เขาเล็งเห็นว่า ทางภาคเหนือมีไม้สักที่น่าจะสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มากจึงเริ่มมีการเปิดสัมปทานไม้ขึ้น ระยะนั้นต้นไม้สูงใหญ่หายไปค่อนข้างมาก กระทั่งปัจจุบัน กรมป่าไม้ได้ผันตัวมาสู่บทบาทนักอนุรักษ์แทน
เมื่อมองลำดับไทม์ไลน์แบบนี้แล้ว อาจจะทำให้หลายคนเห็นภาพชัดมากขึ้นว่า เพราะอะไรแนวคิดคนกับป่าจึงไม่ได้รับการตอบสนองด้วยท่าทีอันเป็นมิตรจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงคณะวนศาสตร์เองที่มุ่งเน้นเพียงแต่จะปฏิบัติตามตัวบทอย่างเคร่งครัด และยังคงมองว่า หน่วยงานที่มีศักยภาพในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติต้องมาจากกลไกของรัฐ มากกว่าการมอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตรงนั้นให้กับชุมชนได้มีส่วนร่วม ทำให้แม้ว่าจะเป็นนิสิต สาขาวนศาสตร์ชุมชน ที่ได้ศึกษางานด้านสังคมศาสตร์มาบ้าง ก็ยังไม่สามารถทำความเข้าใจวิถีของคนกับป่าได้ครบถ้วนอย่างที่ควรจะเป็น
“บางคนก็ยังมีอคติอยู่ บางคนยังเชื่อว่า PM2.5 เกิดจากกะเหรี่ยงเผาป่า ทั้งหมดต้องย้อนกลับไปถึงวัฒนธรรมของวนศาสตร์มันทำให้เกิดการทำผิดแล้วปกป้องกัน มีความเป็นพวกเป็นพ้อง ฉันคือเลือดวนศาสตร์ ลูกไพร ลูกป่าไม้ พอเกิดเป็นแฮชแท็ก #saveแก่งกระจาน ที่มันเป็นอุทยานแล้วไปเกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้ กรมอุทยาน เกี่ยวกับบุคลากรในนั้น ซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง คุณครู พอเขาเห็นว่า แก่งกระจานโดนโจมตีก็เกิดความรู้สึกอยากจะปกป้อง โดยไม่ได้คิดเลยว่าอะไรคือความชอบธรรมจริงๆ”
เธอบอกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักสูตรของคณะวนศาสตร์ที่ทำให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจระหว่างคนกับป่าน้อยมากๆ เว้นแต่สาขาวนศาสตร์ชุมชนและสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ได้มีองค์ความรู้จากฝั่งสังคมศาสตร์มาบ้าง มองป่าในมิติของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้บรรยากาศระหว่างสองสาขานี้กับฝั่งวนศาสตร์ป่าไม้มีจุกหักเหอยู่เหมือนกัน เพราะความคิดและมุมมองต่อป่าไม่ตรงกันนั่นเอง
ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ศัตรูของพื้นที่ป่า
งานวิจัยเรื่องระบบไร่หมุนเวียนกับการจัดการพื้นที่เผาไหม้และหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ของ ศุทธินี ดนตรี, สตรีรัตน์ จุมพิศ และ ชณัฐฎา แสงงาม ระบุว่า ผลลัพธ์จากแนวทางการควบคุมการเผาไร่หมุนเวียนมีส่วนช่วยให้การเผาในช่วงห้ามเผาลดลง แต่นี่เป็นเพียงการห้ามเผาแบบโดดๆ โดยปราศจากการพิจารณาถึงผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรด้วย โดยที่ผ่านมา ภาครัฐมีความพยายามในการลดรอบการเผาไร่หมุนเวียนเพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกอยู่กับที่ และต้องการจะนำไร่หมุนเวียนบางส่วนกลับคืนสู่พื้นที่ป่า แต่นี่เป็นเพียงมุมมองการจัดการแบบภาครัฐเท่านั้น ซึ่งต้องมีการกดตัวเลขสถิติที่ทำได้ให้ลดต่ำมากที่สุดแบบที่ขาดซึ่งการมองผ่านแว่นของมิติเชิงวัฒนธรรม
นโยบายการรวบช่วงเวลาการเผาทั้งไร่หมุนเวียนและข้าวไร่ให้มารวมอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้การปลูกข้าวไร่แบบดั้งเดิมไม่ได้ผล เพราะหน้าดินต้องใช้เวลาฟื้นฟูความสมบูรณ์นานมากกว่า 7 เดือน ซึ่งรัฐเองไม่ได้ลงมาทำความเข้าใจรายละเอียดตรงนี้ ผลที่ตามมาเพื่อความอยู่รอดของชาวบ้านก็คือ ต้องหันมาปลูกพืชเชิงพาณิชย์เพื่อให้ขายได้ และมีผลผลิตมากกว่าการปลูกข้าวไร่ และทำให้ต้องใช้สารเคมีจากปุ๋ยและยาฆ่าหญ้าเพิ่มขึ้น เกิดผลกระทบกับดินและการปนเปื้อนของแหล่งน้ำบนที่สูง
ฉะนั้น การทำไร่หมุนเวียนในฐานะแหล่งอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์จึงมีความสำคัญมาก ข้อเสนอจากรัฐที่ต้องการให้เลิกทำไร่หมุนเวียนหยุดการเคลื่อนที่เพื่อเผาไร่ จึงไม่อาจตอบสนองวิถีชีวิตของชาวบ้านได้ นอกจากผลผลิตที่ได้จะไม่เพียงพอต่อการยังชีพในครัวเรือนแล้ว ในส่วนของรายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวก็หดหายไปเช่นเดียวกัน
มิว ในฐานะนิสิตวนศาสตร์ที่เคยลงพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่คนเมืองควรตระหนักและตั้งคำถามจริงๆ ก็คือ สรุปแล้ว ไร่หมุนเวียนเป็นสาเหตุของการทำลายป่าจริงไหม และหากไม่ใช่ เพราะอะไรมายาคติแบบนี้จึงฝังแน่นในภาพจำของคนเมืองมาหลายสิบปีขนาดนี้
“ไร่หมุนเวียนถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากนโยบายของภาครัฐ พอมีนโยบายอพยพเอาคนออกจากป่า ปรากฏว่า พื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ไม่เพียงพอต่อการทำไร่หมุนเวียน รัฐไม่ได้ส่งเสริมการทำไร่หมุนเวียน แต่ส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชในเชิงพาณิชย์ ชาวบ้านมองว่า นโยบายป่าไม้ทำให้เขารู้สึกกดดันในการทำมาหากิน ต้องเปลี่ยนไปทำรูปแบบอื่น เมื่อได้ลองปลูกพืชตามที่รัฐบอกก็ไม่ประสบความสำเร็จ พืชผลไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวหรือคนในหมู่บ้าน จึงอยากกลับไปยังชีพในที่ที่เคยทำไร่หมุนเวียน แต่พอต้องการกลับไปที่เดิมก็เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ เอาคนลงมาอยู่ข้างล่างอีก ไร่หมุนเวียนไม่ได้เป็นการทำลายป่า การเลือกพื้นที่ในการทำไร่หมุนเวียนต้องเป็นป่าผสมป่าไผ่เพราะฟื้นตัวได้เร็ว น้อยมากที่จะทำในป่าดิบ เพราะการมีต้นไม้ใหญ่เยอะมันยากในการใช้กำลังจัดการ”
จากการได้ไปลงพื้นที่จริงทำให้มิวเข้าใจว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นมีความลึกซึ้งมากกว่าที่คนเมืองคิด ชาวปกาเกอะญอเคารพบูชาธรรมชาติกันมากเพราะเขาเชื่อว่า หากไม่มีแม่น้ำ ต้นไม้ ป่า ดิน หรือกระทั่งไฟ ก็ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะมีกินมีใช้มาได้หลายชั่วอายุคน และนวัตกรรมไร่หมุนเวียนที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปีก็เป็นวิธีการที่ชาญฉลาดมาก เพราะการเผาหน้าดินเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเป็นทางเดียวที่จะทำให้แร่ธาตุในดินพร้อมต่อการใช้งาน ซึ่งรอบการเผาในแต่ละครั้งก็มีการจัดสรรมาแล้วว่า ต้องงดเว้นการเผาอย่างไร ผสมผสานแบบไหน
“เวลาคลอดลูกชาวปกาเกอะญอจะนำรกเด็กไปใส่ไว้ที่ต้นไม้ ซึ่งต้นไม้ก็จะเป็นภาพแทนของเด็กคนนั้นไปเลย ถ้าทำลายต้นไม้ก็เท่ากับทำลายชีวิตของเด็กคนนั้นไปด้วย และการจะเปิดทำไร่หมุนเวียนสักแห่งก็ไม่ได้ดูเรื่องน้ำหรือคุณภาพดินเท่านั้น แต่มีพิธีไหว้ขอบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า เขาทำกินได้ไหม ทุกๆ หมู่บ้านจะมีผู้นำทางจิตวิญญาณอยู่ มีเรื่องราวเหนือธรรมชาติ การเตรียมพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนมันต้องเผาอยู่แล้ว เพราะการเผาเป็นวิธีการเดียวที่จะใช้เตรียมพื้นที่ทางการเกษตรได้ดีที่สุด มีการสร้างแนวกันไฟ และกำหนดกรอบระยะเวลาในการเผาด้วย ไร่หมุนเวียนจะมีรอบการหมุนเวียนที่นานมาก ให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว แต่การปลูกพืชเชิงพาณิชย์มันคือ การปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆ ทำให้แร่ธาตุในดินน้อยลง สูญเสียหน้าดินได้ง่าย”
กฎหมายเพื่อประชาชน?
จนถึงตอนนี้กระแสจากบุคลากรและคนในวนศาสตร์หลายเสียงก็ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การขอคืนพื้นที่ป่าเป็นพันธกิจสำคัญ และมองว่า การไล่ชาวบ้านที่เกิด ตาย และทำกินตรงนั้นมาร่วมร้อยปีคือความชอบธรรมตามประกาศอุทยาน และการรักษาไว้ซึ่งผืนแผ่นดินป่าต้นน้ำของส่วนรวม แม้ว่ามติของคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2553 ว่าด้วยเรื่องแนวทางการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงจะระบุว่า ให้มีการรักษาความหลากหลายของการสร้างพันธุ์พืช ความมั่นคงทางอาหาร ความสมดุลของระบบนิเวศผ่านระบบไร่หมุนเวียน ตลอดจนวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แนวทางดังกล่าวกลับขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง ตั้งแต่กรณีอุ้มหายบิลลี่ คดียิงอาจารย์ป๊อด จนมาถึงกรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน
หากกลับไปดูตามตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ชาวบางกลอยมีสิทธิกลับไปใช้ชีวิตยังพื้นที่เดิมได้ แต่รัฐก็ระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงการเขียนไว้กว้างๆ เท่านั้น ยังต้องดูกฎหมายลูกประกอบ ฉะนั้น ชาวบ้านบางกลอยไม่มีสิทธิกลับไปที่ใจแผ่นดินอีกแล้ว
สิ่งที่รัฐและคนในหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ถือครองชุดความรู้เรื่องป่าไม้แต่เพียงผู้เดียว ควรตระหนักให้มากกว่าการพิทักษ์ป่าตามตัวหนังสือก็คือ กฎหมายที่ปราศจากหลักนิติธรรมนั้นคงไม่อาจเรียกว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อประชาชนได้ ในขณะที่ชาวบ้านใช้ชีวิตกับป่ามาได้หลายร้อยปี แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐเองก็ยังคงมีการให้สัมปทานพื้นที่ป่ากับนายทุนและภาคเอกชน รวมถึงการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่รังแต่จะทำลายหน้าดิน แร่ธาตุ และความเป็นอยู่ของพี่น้องอย่างเลี่ยงไม่ได้
บทสรุปของเรื่องนี้จึงไม่อาจใช่การทำเพื่อส่วนรวม หากแต่เป็นการขาดพร่องซึ่งความเข้าใจในวิถีการทำกิน และการเลือกบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ไม่ได้ก่อประโยชน์ทางการค้า หรือสร้างเม็ดเงินให้กับพวกเขามากกว่า ในทางตรงกันข้าม สหรัฐอเมริกาประเทศที่ไทยรับเอาโมเดลเขตอุทยานมาใช้ กลับมีการจัดการระบบอุทยานให้สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตของชนเผ่า แทนการไล่คนออกจากป่าแบบที่รัฐไทยพยายามอย่างหนักมาหลายปี