‘เมืองศูนย์กลาง’ ตามความหมายที่เราเข้าใจคือ เมืองอันเป็นศูนย์รวมแห่งความเจริญศิวิไลซ์ทั้งปวงเท่าที่ประเทศนี้จะมีได้
เฉกเช่นกัน ความหมายอีกด้านหนึ่งของเมืองเดียวกันนี้ ยังเป็นศูนย์รวมของปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของผู้คนแทบทุกมิติ
บทสนทนาชิ้นนี้ชวนเจาะลึกลงไปยังกรณีศึกษาว่าด้วยเรื่องราวของคนจนเมือง จากโครงการวิจัย ‘ปริทัศน์สถานภาพความรู้ เรื่องความเหลื่อมล้ำในเมืองศูนย์กลาง’ กับ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม (CISR) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ในฐานะหัวหน้าโครงการ
ข้อค้นพบเบื้องต้นจากงานวิจัยทำให้ตระหนักได้ว่า มิติของความขาดพร่องไม่เท่าเทียมนั้น ไม่อาจพึ่งพาไม้บรรทัดเพื่อวัดตัวเลขรายได้รวยจนเพียงอย่างเดียว และการฉีดยารักษาอาการจนก็มิใช่หนทางเยียวยาความเหลื่อมล้ำที่ตรงจุดเสมอไป
ทำไมเมืองศูนย์กลางซึ่งเป็นหัวหอกของการพัฒนา ภายใต้นโยบายหลักที่เน้นให้เมืองเหล่านี้มีบทบาทในฐานะแหล่งงานสำคัญและเป็นฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้นำไปสู่ความลักลั่นและขาดสมดุลจนแทบเหมือนกันไปหมดทั่วโลก?
บางช่วงของการพูดคุย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ถึงกับต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า นี่มันใช่เมืองที่เขาเคยรู้จักหรือไม่ เป็นบ้านของพวกเราจริงๆ หรือ?
“รัฐปล่อยให้คุณค่าหรือเนื้อหาบางอย่างที่ควรมี เป็นราก เป็นคุณค่าของเมือง หายไปเฉยๆ ด้วยกลไกราคา”
นอกจากทัศนะอันน่าตื่นเต้น ขอเชิญชวนเหล่าคนเมืองร่วมสำรวจไปพร้อมๆ กันว่า เรารู้จักเมืองแปลกหน้าและคนแปลกถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันมานี้ดีพอหรือยัง
อะไรคือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พบมากในเมืองศูนย์กลาง
สำหรับเมืองศูนย์กลาง สิ่งที่งานวิจัยไฮไลท์ขึ้นมาคือเรื่องสิทธิ สิทธิที่จะอยู่ในเมือง หรือสิทธิในที่อยู่อาศัย ซึ่งเราพบว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก
สิทธิที่จะอยู่ในเมือง เป็นแนวคิดที่มองว่า เมืองหนึ่งเมืองควรมีคนหลากหลายช่วงชั้นของระดับรายได้ ซึ่งไม่ได้วัดด้วยกลไกตลาดอย่างราคาที่ดินเพียงอย่างเดียว ตอนนี้พื้นที่เมือง เนื้อเมือง หรือองค์ประกอบของเมือง ถูกตีเป็นมูลค่าหมด ทั้งที่ดิน การเดินทาง ค่าเช่าห้อง การกินอยู่ ทุกอย่างมีมูลค่าหมด
เมื่อปล่อยให้ระบบกลไกตลาดเสรีทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจะถูกคัดกรองโดยกลไกราคา ทำให้คนที่เข้าไม่ถึงกลไกนี้ ไม่สามารถเข้ามาทำงานเพื่อปากเพื่อท้องได้โดยสะดวก เช่น ไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยในเขตเมือง เนื่องจากราคาค่าที่พักสูง จำต้องขยับไปอยู่วงนอกออกไปเรื่อยๆ ดูอย่างคอนโดในเมืองกับชานเมืองก็มีราคาต่างกัน สุดท้ายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงกลไกราคาก็หมดสิทธิไปโดยปริยาย
สิทธิในความหมายนี้คือ ไม่มีโอกาส เพราะเราใช้กติกาของกลไกราคาเป็นตัวตั้ง คราวนี้พอผลักคนออกไปย่อมมีต้นทุนอื่นๆ ตามมา เช่น คุณต้องไปเช่าห้องย่านชานเมือง ซึ่งต้องแลกด้วยเวลาในการเดินทาง เพราะรายได้คุณมีเท่านี้
ความเป็นจริงอีกด้านคือ เมื่อคนไม่มีทางเลือก พวกเขาก็ต้องบุกรุก เพราะเมืองแห่งนี้ไม่รับรองสิทธิคนจน วิธีที่เขาจะทำงานในเมืองนี้ได้คือ ต้องใช้พื้นที่สาธารณะ เราจึงเห็นหาบเร่ วินมอเตอร์ไซค์ สลัม การยึดทางเท้าขายของ คือทุกอย่างที่เรียกว่าผิดกฎหมาย เอาของส่วนกลางมาเป็นของส่วนตัว ในเมื่อไม่สามารถเข้าไปสู่ระบบของกลไกราคาได้ สู้ไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีนี้ ที่สาธารณะโดนบุกรุกหมด ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันรัฐก็บอกว่าผิดกฎหมาย ต้องกันคนเหล่านี้ออกไป
คำถามคือ แล้วนโยบายอะไรล่ะที่จะทำให้คนมีรายได้น้อยสามารถแทรกตัวเข้าไปได้ จะมีกลไกอะไรในการทำให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้ามาอยู่ในระบบการผลิตได้
สำคัญแค่ไหนที่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนจนเมือง
เอาง่ายๆ ว่า คนที่ต้องทำงานในเมือง ใช้ชีวิตในเมือง ถ้าไม่มีข้าวแกงจานละ 30 บาท มีแต่ของแพงๆ คุณจะอยู่อย่างไร ห่อปิ่นโตมาหรือ คุณจะเดินทางอย่างไรในชั่วโมงเร่งรีบ คุณจะหาวินมอเตอร์ไซค์อย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนกลุ่ม lower middle income ที่ช่วยพยุงค่าครองชีพในเมืองหายไปหมด แม่บ้านทำความสะอาดตึก คนเก็บขยะ คนที่เป็นมดงานซึ่งทำงานด้านบริการในเมืองหายไปหมด นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่เห็นชัดว่า คนในสังคมเมืองและนโยบายของเมืองไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิที่จะอยู่ในเมืองของคนจนเลย
นอกจากคนจนจะขาดสิทธิ ขาดโอกาส อีกด้านหนึ่งยังถูกเบียดขับด้วยนโยบายการพัฒนาต่างๆ ในงานวิจัยเรื่องเมืองศูนย์กลางก็ได้พูดไว้ คือเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรม
ยกตัวอย่างกรณีที่เห็นชัดๆ คือการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้า ที่ส่งผลให้มูลค่าที่ดินเปลี่ยนไปมโหฬาร ค่าเช่าที่พุ่งขึ้นเป็น 10 เท่า ในย่านที่รถไฟฟ้าพาดผ่าน เดิมอาจเคยเช่า 2,000 บาทต่อเดือน ก็กลายเป็น 20,000 ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก็คือ กลุ่มชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในเขตเมือง เช่น ย่านเยาวราช ชุมชนตามเขตพระนครที่กลไกเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง หรือแถวบางลำพูที่มีนโยบายการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาเช่นนี้ขึ้นมา
นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างเชิงวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น เยาวราชที่มีความเป็นย่านคนจีน ย่านการค้า ขายของไหว้เจ้า คนกลุ่มนี้เป็นพาหะทางวัฒนธรรมที่สำคัญ หมายถึงว่า เขามีทักษะ ความเชื่อ และคุณค่าบางอย่างทางวัฒนธรรม จนเกิดความเป็นเยาวราชขึ้นมา เกิดเป็นบางลำพู นางเลิ้ง มีวิถีชีวิต มีขนม การละเล่น มีอะไรต่างๆ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ
พอรถไฟฟ้าเข้ามา โครงสร้างพื้นฐานเริ่มทำงาน กลไกราคาก็ปรากฏตัวขึ้น กลายเป็นว่ากิจกรรมบางอย่างไม่สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขค่าเช่าที่เปลี่ยนไป คนขายกระดาษไหว้เจ้าในเยาวราชต้องย้ายออกไป เพราะจ่ายค่าเช่าไม่ไหว กิจกรรมของเขาไม่ทำเงินเท่ากับกิจกรรมใหม่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟแฟรนไชส์ หรือร้านอาหารฟาสท์ฟู้ดที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า
รัฐปล่อยให้คุณค่าหรือเนื้อหาบางอย่างที่ควรมี เป็นราก เป็นคุณค่าของเมือง หายไปเฉยๆ ด้วยกลไกราคา เราควรสะท้อนว่ารัฐต้องเข้าไปจัดการอะไรบางอย่าง เพื่อเก็บรักษา เยียวยา หรือดูแลในเรื่องแบบนี้ ไม่อย่างนั้นคุณจะมีแต่แนวคิดแปลงทุกอย่างเป็นมูลค่าหมด อะไรที่มูลค่าน้อยก็หายไป อะไรที่มูลค่ามากก็เข้ามาแทน
เมืองแบบนี้มันเป็นเมืองยังไง เราตั้งคำถามว่าเมืองแบบนี้มันเป็นเมืองยังไง
อาการนี้คือถูกเบียดขับ?
ในทางวิชาการเรียกว่า gentrification เป็นการแทนที่ด้วยกลไกราคา เมืองศูนย์กลางเห็นชัด กรอบพื้นที่ในงานวิจัยคือ กรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑลโดยรอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เราเจอในเมืองศูนย์กลางมี 3 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือ สิทธิที่จะอยู่ในเมือง ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน สิทธิทางวัฒนธรรม และสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม
ความเหลื่อมล้ำในเมืองศูนย์กลางได้พรากโอกาสหรือเนื้อหาสำคัญบางอย่างของเมืองไป ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่มีสิทธิ เพราะสิทธิของเขาถูกกำหนดด้วยสิทธิแบบกรรมสิทธิ์ โฉนดที่ดิน กลุ่มคนบางกลุ่มที่เป็นพาหะทางวัฒนธรรมจึงมีฐานะเป็นเพียงผู้เช่า
เวลาที่เราพูดถึงสิทธิในเชิงกฎหมาย สิทธิทางวัฒนธรรมหรือสิทธิชุมชนยังมีศักดิ์ต่ำกว่าสิทธิแบบ property (ทรัพย์สิน) เช่น เจ้าของที่ดินซึ่งถือสิทธิเหนือที่ดินและอาคาร กับผู้เช่าที่มีสิทธิทางวัฒนธรรม ถูกวางทับอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยผู้เช่าเป็นคนอยู่อาศัย ประกอบกิจกรรม เช่น ทำอาหาร ทำขนมไหว้เจ้า พอวันหนึ่งเจ้าของที่ดินขึ้นค่าเช่า หรือขายที่ดินไป เมื่อขายแล้วสิทธิบนที่ดินถูกเปลี่ยนมือ สิทธิทางวัฒนธรรมก็หายไปเลย คำถามคือจะทำอย่างไรให้เนื้อหานี้ยังอยู่ กลไกรัฐหรือนโยบายอะไรที่จะเข้ามาดูแลตรงนี้
ป้อมมหากาฬคือตัวอย่างชัดๆ ใช่ไหม
กรณีนี้สิทธิในเชิงกฎหมายก็ถูกมองว่ามีน้ำหนักกว่า แต่สังคมจำเป็นต้องเลือก ถ้าเลือกอันหนึ่ง อีกอันก็จะไม่มี ไม่ปรากฏ หมายความว่ามีทางเลือกอยู่แค่ 0 กับ 1 แต่เราพยายามจะจินตนาการว่าควรมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้ไม่ต้องเลือก เท่าที่ผมเข้าใจคือรัฐมองเรื่องความเป็นธรรม เขามองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าจะยุติธรรม ทุกคนต้องใช้พื้นที่นี้ได้ แต่ในความเป็นธรรมนั้นก็ไปสร้างความเหลื่อมล้ำด้วย
มีแนวโน้มไหมว่า สิ่งที่เป็นทุนชุมชน ทุนวัฒนธรรม จะถูกเบียดขับออกไปเรื่อยๆ
ในพื้นที่ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จะถูกเบียดขับ ไม่ว่าเป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานตัดผ่าน เช่น มีการพัฒนาระบบราง มีนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยว หรือการประกาศเป็นย่านอนุรักษ์ อย่างที่เกิดขึ้นกับป้อมมหากาฬ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงโอกาสในการพัฒนา เพราะกลไกราคาไม่ได้ให้แต้มต่อกับเขา
สิ่งที่พวกเขาเผชิญคือ การไล่รื้อแบบอ่อน หรือ soft eviction โดยใช้กลไกราคา ทำให้เขาจ่ายค่าเช่าไม่ไหว เหมือนการไล่รื้อทางอ้อม แต่ถ้าเป็นการไล่รื้อโดยใช้กฎหมาย เรียกว่า hard eviction คือถ้าคุณทำผิดกฎหมาย คุณก็ต้องออกไป
นอกจากสิทธิที่จะอยู่ในเมือง กับสิทธิทางวัฒนธรรมชุมชนแล้ว ปัญหาเรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง
ในการศึกษานี้มีประเด็นชัดอยู่เรื่องหนึ่ง เราพบว่าพื้นที่ทิ้งขยะของกรุงเทพมหานครรองรับได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณขยะที่ผลิตขึ้นมาทั้งหมด เราเอาขยะทั้งกรุงเทพฯ ไปทิ้งที่ปริมณฑล เพราะเมืองกรุงเทพฯ ไม่สามารถจัดการตนเองได้ ต้องเอาภาระของเมืองไปฝากไว้ที่อื่น ปัจจุบันถูกทิ้งที่ตำบลแพรกษา สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และอีกส่วนหนึ่งแถวหนองแขม
การผลักปัญหาสิ่งแวดล้อมออกจากกรุงเทพฯ ก็เป็นผลพวงจากกลไกราคาเช่นกัน คือใช้ระบบการจ้าง หาบ่อขยะ หาที่ทิ้งขยะ โดยมีพื้นที่ปริมณฑลเป็นแหล่งรองรับขยะจากกรุงเทพฯ
แม้แต่เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 กรุงเทพฯ ก็ผลักภาระปัญหาไปยังนนทบุรี ปทุมธานี ที่ต้องรับน้ำแทนเรา แล้วคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องจ่ายอะไรเลยสำหรับความปลอดภัยครั้งนั้น แต่ให้รัฐจ่ายส่วนที่เป็นปัญหา เช่น ชดเชยผลผลิตทางการเกษตร ชดเชยบ้านเรือนที่โดนน้ำท่วม
เรื่องนี้อาจฟังดูซับซ้อนสักหน่อย เนื่องจากเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างการบริหารรัฐกิจที่แบ่งกรุงเทพฯ เป็นหน่วยหนึ่ง และมีกลไกการตัดสินใจที่แยกส่วนกัน หมายถึงว่านโยบายอะไรที่กรุงเทพฯ จะทำ คนนนทบุรี คนปทุมธานี ไม่มีโอกาสต่อรอง ยกตัวอย่างการขยายตัวของเมือง พอรถไฟฟ้าขยายโครงสร้างพื้นฐานออกไป เราก็ไปสร้างปัญหารถติด สร้างปัญหามลพิษที่นนทบุรี ทั้งที่เป็นการพัฒนาที่เริ่มจากตัวกรุงเทพฯ เพราะเราไม่มีโครงสร้างการบริหารรัฐกิจที่ทำงานร่วมกันทั้งหมด จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบ
เพราะความที่เป็นเมืองหลวงด้วยไหม อำนาจจึงใหญ่โตกว่า
ความจริงแล้วถือว่ากรุงเทพฯ มีอำนาจน้อยมาก กรุงเทพฯ ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่เองได้ เพราะมีโครงสร้างแบบแยกส่วน คือผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ดูแลเมืองก็จริง แต่คนที่ถืออำนาจในเรื่องต่างๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน ยกตัวอย่างเรื่องทางเท้า เราจะเห็นว่า เฮ้ย! ทำไมมีเสาไฟฟ้าปักอยู่กลางทางเท้า อีกเดี๋ยวมีตู้โทรศัพท์ เดี๋ยวมีสะพานลอย เพราะแต่ละอย่างมาจากหน่วยงานคนละแห่งที่เข้ามากระทำบนพื้นที่ที่ กทม. ดูแล
เราไม่สามารถใช้โครงสร้างของท้องถิ่นมาบูรณาการในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการเมืองได้ทุกเรื่อง กระทั่งเคยมีข้อเสนอที่ว่า กทม. ต้องแยกปัญหาออกมาเป็นเรื่องๆ แล้วสังคายนาเป็นการเฉพาะเลย เพราะปัญหาเยอะมาก แต่โครงสร้างไม่เอื้อ
ทำไมลำพังอำนาจผู้ว่าฯ กทม. จึงดูแลได้ไม่ครอบคลุม
ยกตัวอย่างสำนักงานเขต เวลาเราไปขอให้เขาช่วยอะไร เขาจะไม่ค่อยตอบสนองเราหรอก เพราะคนที่ให้คุณให้โทษแก่ผู้อำนวยการเขตคือปลัด กทม. ไม่ใช่เรา และเป็นตำแหน่งเวียน ในแง่นี้เมื่อเทียบกับเทศบาลยังมีโครงสร้างดีกว่า เพราะเทศบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง นายกเทศบาลต้องฟังเสียงประชาชน ถ้าเขาไม่ตอบสนองเรา ย่อมไม่ได้เสียงโหวต แต่ผู้อำนวยการเขตไม่เกี่ยว เขาไม่ได้ถูกโหวตขึ้นมา เขาลอยมาจากกลไกราชการ ทำให้การสนองตอบต่อปัญหาความเดือดร้อนสู้เทศบาลไม่ได้ ลักษณะการทำงานของ กทม. และความสัมพันธ์กับเทศบาลในจังหวัดปริมณฑล จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่
มีทางไหมที่นโยบายการพัฒนาจะเดินไปพร้อมกับแนวคิดลดความเหลื่อมล้ำ
ถ้าถามผม ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือมี แต่เมื่อไหร่ล่ะที่สังคมแห่งการเรียนรู้จะไปถึงจุดนั้น ตราบใดที่ยังไม่วิกฤติ ไม่สร้างผลกระทบในเชิงความขัดแย้ง หรือเกิดผลเสียต่อฝ่ายอำนาจนำ พวกเขาก็ยังเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องให้สังคมเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผมคิดว่าอำนาจนำในการบริหารเมืองหรือการบริหารเศรษฐกิจของประเทศยังแข็งแรง ขณะที่การใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม หรือ include คนเข้ามาร่วม ไม่ได้เป็นหลักคิดของเขา เป็นเพียงเครื่องมือในการทำให้ปัญหาต่างๆ บรรเทาแบบเฉพาะหน้า ถ้ามีปัญหามากหน่อย ก็อาจเชิญคนเข้ามาร่วมในกระบวนการ แต่ถ้าไม่มี ปัญหานั้นก็จะถูกละเลยไป แม้แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำที่หลายคนกำลังพูดถึงก็ยังไม่ได้อยู่ในหลักคิดของการพัฒนาหรืออยู่ในการทำแผนนโยบายของรัฐ คล้ายๆ เป็นเครื่องมือว่าจะทำอย่างไรมิให้เรื่องพวกนี้มากวนใจหรือขัดขวางทิศทางการพัฒนานโยบายเสียมากกว่า
ผมคิดว่าอาจต้องลองเปลี่ยนยุคเปลี่ยนรุ่น หรืออาจต้องไปถึงจุดที่ปัญหาเริ่มบานปลายจากการที่ไม่ได้ผนวกรวมให้คนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา สถานการณ์ของประเทศตอนนี้ยังทำอะไรได้ยาก เราไม่มีอะไรบนหน้าตักที่จะไปแข่งขันได้ แต่ยังไงเสีย ใครก็ตามที่ขึ้นมาบริหารประเทศก็ควรต้องมองเรื่องการไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง
คาดหวังนวัตกรรมอะไรจากงานวิจัยชุดนี้
งานวิจัยในระยะแรก เราได้รู้จักกับกลไกที่สร้างความเหลื่อมล้ำ คือพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ส่วนในระยะที่ 2 เราพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า evident หรือ การประจักษ์ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมี actor หรือตัวอย่างของผู้คนที่ถูกความเหลื่อมล้ำกระทำ และจะหยิบยกเนื้อหาของแต่ละสถานการณ์ขึ้นมาขยายความเพื่อให้เห็นน้ำหนักของปัญหา และนำไปสู่การสะท้อนว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายนโยบายควรเข้ามาดูแลเรื่องนี้
เราพยายามนำเสนอกรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรม เราเข้าไปสัมพันธ์กับคนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำ เพื่อดึงประเด็นออกมา โดยใช้เครื่องมือในการทำงานผ่านการจัดเวทีเสวนาบ้าง จัดฟอรั่มบ้าง เพื่อทำให้เห็นว่ามีกระบวนการที่สามารถเข้าไปสร้างนโยบายได้ เหมือนเราเอางานวิจัยเข้าไปสร้างกระบวนการ คลุกกับข้อเสนอ นี่คือหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการทำวิจัยในระยะต่อไป
ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพใหญ่ การทำงานวิจัยในลักษณะนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตย?
ปกติงานวิจัยที่นักวิชาการทำคือ ตัวผู้วิจัยอยู่นอกปรากฏการณ์ เป็นผู้สังเกตการณ์ แล้วศึกษาว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ฉะนั้น ข้อเสนอมักไม่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์ เพราะถูกดึงออกมานอกปรากฏการณ์ แต่งานวิจัยในระยะที่ 2 เราพยายามนำตัวนักวิจัยเข้าไปอยู่ข้างใน เช่น ไปจัดเสวนา เพื่อให้กระบวนการศึกษานี้สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริง ให้น้ำหนักของความรู้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดึงพลังขึ้นมาจากพื้นที่ ดึงพลังปัญหาของคนในเมืองแต่ละประเภท เพื่อส่งเสียงว่า มีปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำอะไรบ้าง แล้วสะท้อนออกมาด้วยว่า มีมาตรการอะไรบ้างที่จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ โดยชวนชาวบ้านหรือชวนผู้ที่อยู่ในสถานการณ์มาคิดโจทย์และแก้ปัญหา
นักวิจัยไม่ใช่คนที่จะออกมาชี้แนะว่าควรแก้อย่างนั้นอย่างนี้ โดยคนในพื้นที่ก็ไม่ได้รับรู้ด้วย แต่นักวิจัยต้องนำเรื่องนี้ไปคุยกับพื้นที่ ให้เกิดการคิดแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน กับคนที่เป็น key actor ซึ่งได้รับผลกระทบและอยู่ในปัญหาความเหลื่อมล้ำจริง เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองและหาข้อสรุปได้เองว่า ตกลงควรมีเครื่องมืออะไร มีมาตรการอะไร
บางทีต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า ที่รัฐสามารถละเมิดหรือไม่รับรองสิทธิของพวกเขา อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงพลังของพลเมืองเองไหม คือเราไม่สามารถสร้างน้ำหนักของพลังพลเมืองได้ เพราะโดยธรรมชาติของอำนาจ มันจะพยายามขยายตัวเองอยู่แล้ว ถ้าคุณไม่มีแรงพอก็จะต่อรองกับอำนาจนั้นได้ยาก
อีกนัยหนึ่งคือ ปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องสิทธิ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องข้อมูล หรือความรู้ จะทำอย่างไรให้สังคมมีพลังในการแสดงตัว แสดงความรู้ออกมา เพราะธรรมชาติของรัฐเองหรือคนที่มีอำนาจ ถ้าไม่มีแรงปะทะกลับไป เขาก็ไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องแก้ไขอะไร ในมุมของคนมีอำนาจ ผมว่าเป็นเรื่องยาก จนกว่าคนข้างล่างจะสร้างพลัง สร้างน้ำหนักตีกลับไป
สนับสนุนโดย