สวัสดิการถ้วนหน้าคือวัคซีนฆ่าไวรัสความเหลื่อมล้ำ ตรวจอาการคนจนช่วงการระบาด

นักวิจัยซึ่งเป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย 6 มหาวิทยาลัย รวมตัวกันในนามคณะนักวิจัย โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ได้ร่วมกันจัดทำการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดโควิด-19 ต่อคนจนเมืองเป็นการเร่งด่วน เพื่อต้องการทราบสถานการณ์ของคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 การเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ ตลอดจนเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และบ้านของคนจนเมือง

ผลสำรวจพบว่า คนจนเมืองเกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถาม (89.90 เปอร์เซ็นต์) มีการดูแลตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน พวกเขาแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาแพงด้วยการหันมาใช้หน้ากากผ้าที่มีราคาถูกกว่า บางครัวเรือนมีการปรับตัวมาเย็บหน้ากากอนามัยขายด้วย ข้อเท็จจริงนี้หักล้างความเข้าใจที่ว่า คนจนเป็นผู้ละเลยไม่ดูแลตนเองและอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ความเข้าใจที่ว่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด

  • 44.27 เปอร์เซ็นต์ พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
  • 29.45 เปอร์เซ็นต์ พกเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือเป็นบางครั้งที่ออกจากบ้าน
  • 26.28 เปอร์เซ็นต์ ไม่พกเจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์เมื่อออกจากบ้าน

คณะผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะเจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ใช้น้อยกว่า

ขณะที่สภาพที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองไม่เอื้อให้จัดสรรพื้นที่ หากมีสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและต้องกักตนเอง

  • 43.79 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยเป็นที่กักสมาชิกในครอบครัวโดยแยกจากคนอื่น
  • 26.43 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่อาศัยไม่พร้อม แต่สามารถดัดแปลงได้
  • 29.78 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่อาศัยมีความเหมาะสมหากจะต้องใช้กักสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวแยกจากสมาชิกคนอื่นๆ

ข้อเท็จจริงประการนี้ สะท้อนว่า หากคนจนเมืองคนใดเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลให้การกักตนเองระหว่างดูอาการนั้นมีความเป็นไปได้ มิเช่นนั้น เขาอาจจะนำเชื้อไปเผยแพร่ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวได้

อยู่บ้านเพื่อชาติ รายได้ลดลงเหลือเดือนละ 3,906 บาท

ข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจอย่างมากในหลายประการ

  • 18.87 เปอร์เซ็นต์ นายจ้างให้หยุดงานโดยสิ้นเชิง
  • 18.00 เปอร์เซ็นต์ นายจ้างให้ลดเวลาทำงานและรายได้ลดลง
  • 18.22 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอยไม่สามารถค้าขายได้ เพราะพื้นที่ที่ค้าขายถูกจำกัด
  • 18.44 เปอร์เซ็นต์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ช่าง คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับรถรับจ้าง รถตู้ ฯลฯ ก็ได้รับผลกระทบมีผู้ว่าจ้างน้อยลงหรือไม่มีเลย

เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติจึงทำให้รายได้ลดลง

  • 60.24 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด
  • 31.21 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่ง

กล่าวได้ว่า คนจนเมืองมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากวิกฤติโควิด-19 มีเพียงผู้ที่ทำงานมีเงินเดือนประจำไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่ได้รับผลกระทบเลย

หากคำนวณเป็นรายได้ที่ลดลงของผู้ตอบแบบสำรวจ คนจนเมืองมีรายได้ลดลงเฉลี่ย 70.84 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมรายได้เฉลี่ยของคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามก่อนวิกฤติโควิด อยู่ที่ 13,397 บาท ต่อเดือน ดังนั้นในช่วงระหว่างวิกฤติคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามรายได้ลดลง 70.84 เปอร์เซ็นต์ หรือ 9,490 บาท ต่อเดือน คงเหลือรายได้เพียง 3,906 บาท ต่อเดือน

จากรายได้ที่ลดลงราว 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนจนเมืองประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ

  • 54.41 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเงินชำระหนี้สิน ทั้งหนี้สินนอกระบบ หนี้รถจักรยานยนต์ หนี้รถปิคอัพ
  • 29.83 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีรายได้ถึงขนาดประสบปัญหาการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือจากภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปที่ทำอาหารแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน
  • 33.82 เปอร์เซ็นต์ ต้องกู้หนี้ยืมสิน
  • 13.24 เปอร์เซ็นต์ ต้องนำข้าวของไปจำนำ
  • 26.05 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องขับไล่ให้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการปรับตัวมาทำงานที่บ้านหรือ work from home นั้น คนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 79 ตอบว่า อาชีพที่ตัวเองทำนั้นไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐที่จำกัดการออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะคนจนเมืองต่างจากชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพอื่น ที่สามารถปรับตัวจากการทำงานในสำนักงานโดยเครื่องมือสารสนเทศทำงานที่บ้านได้

การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐ

  • 66.67 เปอร์เซ็นต์ พยายามลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกันของรัฐบาล
  • 51.87 เปอร์เซ็นต์ ลงทะเบียนสำเร็จ
  • 14.60 เปอร์เซ็นต์ ลงทะเบียนไม่สำเร็จ
  • 28.99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบว่าตนเองขาดคุณสมบัติ
  • 4.54 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ทราบวิธีการในการลงทะเบียนจึงไม่ได้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ

คณะนักวิจัยตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลว่า คนจนเมืองไม่ใช่เป็นคนฉวยโอกาส เพราะเกรงว่าหากไม่มีคุณสมบัติแล้วได้รับเงินจะมีความผิดในภายหลัง นอกจากนี้ ยังมีคนจนเมืองผู้ตอบแบบสอบถามอีก

เปลี่ยนการสงเคราะห์เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า

คณะนักวิจัยได้ทำข้อเสนอต่อรัฐบาล ว่ารัฐควรปรับเปลี่ยนหลักคิดและวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตินี้จาก ‘การสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน’ เป็น ‘การให้สวัสดิการถ้วนหน้า’ หรือเปลี่ยนวิธีการจาก ‘คัดคนเข้า’ เป็น ‘คัดคนออก’ กล่าวคือ แทนที่รัฐจะใช้วิธีการคัดกรองอย่างเข้มงวดว่า เฉพาะคนที่พิสูจน์และผ่านการตรวจสอบว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างชัดเจนเท่านั้น จึงจะได้รับการสงเคราะห์ รัฐควรใช้หลักคิดใหม่ว่า คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐทั้งสิ้น ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ คงมีเฉพาะคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการประจำและพนักงานประจำรายเดือนที่ไม่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน ยังคงมีรายได้เท่าเดิม ที่จะถูก ‘คัดออก’ ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

ส่วนคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด หากอยู่ในวัยทำงาน คนกลุ่มนี้ควรได้รับการช่วยเหลือทุกคน ดังเช่น หลายประเทศอย่าง สิงคโปร์ ไต้หวัน และ สหรัฐอเมริกา ต่างดำเนินการในแนวทางนี้ และรัฐต้องตระหนักว่า ภาครัฐไม่มีข้อมูลของคนกลุ่มนี้อย่างครบถ้วนและทันสมัย จึงไม่ควรยึดฐานข้อมูลของรัฐเป็นเกณฑ์ในการตัดสิทธิประชาชน หากแต่รัฐควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างฐานข้อมูลและให้การช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด แน่นอนว่า การจ่ายเงินด้วยหลักคิดใหม่นี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระบางรายที่ยังมีรายได้ตามปกติจะหลุดลอดเข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้าและรวดเร็ว

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ชี้ว่า ประเทศไทยมีแรงงานรวม 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งคือ 20.5 ล้านคน ซึ่งก็ใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน หากรัฐให้การช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คือ 15,000 บาท ต่อคน ก็จะใช้เงินราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเพียงครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ตั้งไว้ 600,000 ล้านบาท ที่สำคัญจะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้อย่างถ้วนหน้าและทันท่วงที

ตรงกันข้าม วิธีการที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้สะท้อนหลักคิดที่ผิดพลาด คือมุ่งคัดกรองเฉพาะคนผ่านตะแกรงร่อนมารับความช่วยเหลือ โดยไม่ได้ตระหนักว่า มาตรการที่เข้มงวดของรัฐ ทำให้ผู้ประกอบอาชีพนอกระบบต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า อีกทั้งวิธีการดังกล่าวยังล่าช้าและเกิดข้อผิดพลาดในหลายกรณี เพราะเชื่อมั่นในระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มากเกินไป โดยไม่ได้ตระหนักว่าระบบ AI หากไม่มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับมาตรการของภาครัฐ คณะนักวิจัยเสนอว่า รัฐควรผ่อนปรนเปิดพื้นที่ค้าขายและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลงและการดำเนินชีวิตของประชาชนก็ต่างตื่นตัวในการป้องกันตนเอง ดังนั้นการเปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ค้าขายอย่างมีการจัดการ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย มีเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมืออย่างทั่วถึง

การจัดพื้นที่ไม่ให้ผู้คนอยู่ใกล้ชิดกัน การต่อคิวอย่างมีระยะห่าง ฯลฯ จะช่วยฟื้นชีวิตทางเศรษฐกิจให้คนจนเมืองและทำให้ผู้คนในเมืองมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และมีความปลอดภัยไปพร้อมๆ กัน

ในช่วงภาวะวิกฤติ รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐให้แก่ผู้สูงอายุคนละ 600-800 บาท ต่อเดือนตามช่วงอายุ เป็น 2,000 บาท เพราะครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุต่างก็ประสบภาวะฝืดเคืองในช่วงภาวะวิกฤติ การเพิ่มเงินในส่วนนี้ขึ้นไประดับหนึ่งอย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือนต่างๆ ได้

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า