‘White Gold Rush’ ยุคตื่นลิเทียม ตั้งสติก่อนฝันหวานถึงศูนย์กลางแบตเตอรี่แห่งอาเซียน

เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยการค้นพบแหล่งแร่ ‘ลิเทียม’ (lithium) แหล่งใหม่ของประเทศไทย จากแหล่งเรืองเกียรติ จังหวัดพังงา โดยคาดว่ามีปริมาณ 14.8 ล้านตัน มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวียและอาร์เจนตินา ซึ่งแร่ลิเทียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำแบตเตอรี่โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ ยังพบแร่โซเดียมในภาคอีสาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแร่สำคัญสำหรับการทำแบตเตอรี่ด้วย 

ขุมทรัพย์ลิเทียมหรือ ‘ทองคำสีขาว’ (white gold, ไม่ใช่ ‘ทองคำขาว’ หรือ platinum) ของไทยนี้ ได้รับการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่า สามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ภาครัฐไทยพยายามผลักดัน ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการคาดการณ์ของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะทะลุ 150,000 คัน ในปี 2567 

ในวันเดียวกับที่มีการเปิดเผยแหล่งแร่ลิเทียมของไทย กรมสรรพสามิตได้ลงนามความตกลง (MOU) กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3 ค่ายใหญ่ที่ทำตลาดในประเทศไทยคือ ฉางอัน (Changan) เอ็มจี (MG) และเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) เพื่อเดินหน้าโครงการ EV 3.5 พร้อมงบประมาณอุดหนุน 10,000 ล้านบาท 

การค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมของ กพร. ในครั้งนี้ จะเป็นแรงส่งขนาดหลายแมกนิจูดต่อวงการอุตสาหกรรมไทย ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีการลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 7 ราย และตลาดรถยนต์ภายในประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้พอนิยามได้ว่า ไทยกำลังเข้าสู่ยุค ‘ตื่นลิเทียม’ (White Gold Rush) สร้างแรงกระเพื่อมไปทุกภาคส่วน พร้อมการคาดการณ์ถึงอนาคตที่สดใสทางเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็มีหลายข้อคิดเห็นที่ไม่ใช่การคัดค้าน แต่อาจเป็นการเสนอแนะสำหรับการจัดการแร่ลิเทียม เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาจัดการวางระบบอย่างเปิดเผยและโปร่งใส

ตื่นลิเทียม แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

การลงทุนในสัมปทานเหมืองแร่ในไทย นำปัญหามาสู่ชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ ไม่เพียงแค่ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของสารเคมี การทำลายทรัพยากรชีวภาพ การใช้นํ้าบาดาลจำนวนมหาศาล เพราะการสกัดแร่ลิเทียมต้องใช้นํ้าเป็นจำนวนมาก จากบทเรียนในประเทศอาร์เจนตินา ประเทศผู้มีขุมทรัพย์ลิเทียมมากที่สุดในระดับโลก ต้องเผชิญผลกระทบจากการสกัดแร่ลิเทียม ด้วยการใช้นํ้าจากทะเลสาบเกลือและนํ้าบาดาล โดยคาดการณ์ว่ามีการใช้นํ้านับล้านล้านลิตรในการสกัด เพื่อนำลิเทียม คาร์บอเนต มาผลิตแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า จนเกิดสภาวะนํ้าแล้ง ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต การทำมาหากินของชุมชนโดยรอบ

ทะเลสาบเกลือ Pastos Grandes ในจังหวัดซัลตาร์ ประเทศอาร์เจนตินา ในสภาวะแห้งแล้ง ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับการทำเหมืองแร่ลิเทียมของ Pastos Grandes Lithium Project (ภาพ: mining.com

ตามรายงานผลลัพธ์และอันตรายที่เกิดจากการปนเปื้อนของลิเทียม โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่า สารนี้สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจและการรับประทาน ซึ่งจะกัดกร่อนดวงตาและระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง จนเกิดภาวะปอดบวมนํ้าได้ และเป็นอันตรายต่อชีวิต

ปัญหาสิทธิการอยู่อาศัยของชุมชนในพื้นที่สัมปทานเหมือง 

ปัญหาสิทธิในการอยู่อาศัยของประชาชน เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องคำนึงเป็นอย่างมากเมื่อถึงเวลาให้สัมปทานในการทำเหมืองแร่ ซึ่งประเทศไทยพบปัญหาสิทธิที่ดินทำกินและสิทธิในการจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่มาอย่างยาวนาน เช่น การถูกขับออกจากพื้นที่ ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนแม่บท ไม่มีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาพื้นที่อย่างโปร่งใส แม้ว่าไทยจะมีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่มีหลักการเปิดพื้นที่รับฟังประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กระนั้น แผนแม่บทฉบับนี้กลับไม่เปิดกว้างให้ชุมชนมีส่วนร่วมทั้งในแต่ละกระบวนการ และมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็น

ในหลายกรณีนำมาสู่ข้อพิพาทในสิทธิที่ดินทำกินของประชาชน สิทธิในการจัดการชุมชน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ จนเกิดการไล่ที่และความรุนแรงระหว่างกลุ่มทุนกับชุมชน ตัวอย่างเช่น กรณีเหมืองแร่เมืองเลย ที่มีการใช้กำลังขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น เป็นต้น

การปะทะกันระหว่างชาวบ้านและกลุ่มชายติดอาวุธ ระหว่างการคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย ปี 2557
(ภาพ: เฟซบุ๊กเหมืองแร่เมืองเลย)

ตื่นลิเทียม เศรษฐกิจไทยตื่นด้วยจริงหรือ?

ตัวเลขและการคาดการณ์ภายหลังการค้นพบแร่ลิเทียมในไทย แน่นอนว่า ไทยจะมีโอกาสในการพัฒนาและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ในช่วงที่เทรนด์การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมไปทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้ไทยกลายเป็น ‘ผู้เล่นสำคัญ’ ในตลาดแร่ลิเทียมและตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ในทางกลับกัน หากไทยเน้นไปที่การลงทุนจากต่างประเทศในการทำเหมืองแร่ เพื่อนำแร่ลิเทียมส่งไปยังประเทศผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างจีน ก็คงไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก เพราะการพึ่งพารายได้จากประเทศปลายนํ้าของสายพานการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้ทำให้ไทยก้าวข้ามการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง หากแต่รัฐต้องให้ความสนใจในการวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่อาจเริ่มจากการรับหรือแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีจากประเทศที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนพัฒนาต่อยอดจนไทยมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง หากเป็นเช่นนี้ ไทยก็มีแนวโน้มสู่การเป็น ‘ผู้เล่นสำคัญ’ หรืออาจนิยามว่าเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ อย่างน้อยก็ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง 

นอกจากนี้ การหาส่วนแบ่งรักษาดุลในการลงทุนจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็สำคัญไม่น้อย ในวันที่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งได้ลงทุนและให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์มาอย่างยาวนาน การหาสมดุลในการลงทุนจากทั้งจีนและญี่ปุ่นนั้นจึงเป็นงานหินของรัฐบาลไทย เพราะหลายประเทศในอาเซียนเองก็มีความพร้อมเช่นกัน และทุนก็พร้อมจะไปเช่นกัน หากรัฐบาลสามารถรักษาดุลในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากกว่าเดิม 

ไม่ได้ขัดขวางความเจริญ แต่รัฐต้องจัดการอย่างโปร่งใส

เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ได้นำไปสู่การขัดขวางความเจริญของประเทศไทยที่กำลังจะเดินไปสู่เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต จากการค้นพบแร่ลิเทียมที่เปิดโอกาสให้ไทยกลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐจะต้องบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ลิเทียมในอนาคต อันส่งผลดีและผลเสียโดยตรงต่อประชาชน เพราะที่ผ่านมา กรณีเหมืองทองอัครา ก็ได้แสดงตัวอย่างที่ชัดเจนในทุกประเด็นปัญหา ตั้งแต่การให้สัมปทาน ปัญหาสิทธิชุมชนและที่ทำกิน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จนกลายเป็นมหากาพย์ 3 เส้า ระหว่างรัฐ-เอกชน-ชาวบ้าน 

การค้นพบแร่ลิเทียมจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเกิดการกระจายรายได้อย่างแท้จริงนั้น รัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ระดับชุมชนและระดับชาติ เพื่อการกำหนดอนาคตของประเทศไทยโดยคนไทยด้วยกันเอง หาใช่กลุ่มทุนข้ามชาติไม่ 

อ้างอิง:

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า