71,000 ล้านบาท คืองบประมาณที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้ในแผนงาน โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล
9 ปี คือระยะเวลาที่คาดการณ์ว่า โครงการนี้จะดำเนินงานเสร็จสิ้นพร้อมใช้
ยังไม่รวมถึงค่าบำรุงรักษาอีกปีละประมาณ 328 ล้านบาท และค่ากระแสไฟในการดำเนินโครงการที่ประเมินแล้วอยู่ที่ราว 2,443 ล้านบาทต่อปี (ยังไม่ทราบว่าใครคือผู้จ่าย) เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำส่งเพิ่มไปสู่เขื่อนภูมิพลปีละ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ความต้องการน้ำของทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ประมาณ 18,579 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
นั่นเท่ากับว่า น้ำยวมที่ผันข้ามลุ่มมายังเขื่อนภูมิพลด้วยงบประมาณสูงลิบ ได้น้ำเพียง 9.6 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการที่ตั้งไว้
ตัวเลขอันน่ากังขานี้ เป็นเพียงหนึ่งในข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจากโครงการผันน้ำยวม อภิมหาโปรโปรเจ็คต์ที่เกี่ยวพันกับงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล และเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนผู้ใช้น้ำ ทั้งด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภคในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด
มากกว่านั้น โครงการนี้ยังกระทบโดยตรงกับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ผู้อาศัยในเขตพื้นที่โครงการ ยังไม่นับรวมถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรในแม่น้ำและสิ่งแวดล้อมจากการผันน้ำข้ามลุ่ม
WAY นำบทสนทนาในหัวข้อ ‘ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย’ โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายพันธมิตร เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ผ่านทาง GreenNews มาไล่เลียงถึงข้อถกเถียงและประมวลข้อมูลที่ประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้ข้อมูลได้อย่างรอบด้าน [1]
ผ่านถ้อยคำของ หนึ่ง – วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สอง – ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สาม – ตัวแทนของชาวบ้าน ในพื้นที่
เกิดอะไรขึ้นที่แม่น้ำยวม
น้ำแม่ยวม มีต้นกำเนิดที่อำเภอขุนยวม ไหลผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาบรรจบกับแม่น้ำเงา ที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สอด อำเภอสบเมย และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบยวม ตำบลแม่สามแลบ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน
บริเวณที่แม่น้ำยวมและแม่น้ำเงาไหลมาบรรจบกันนั้น ชาวบ้านในพื้นที่เรียกขานว่าแม่น้ำสองสี อันเป็นหมุดหมายของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘โครงการผันน้ำยวม’
นี่ไม่ใช่โครงการใหม่หมาดแต่อย่างใด เพราะในปี 2538 โครงการผันน้ำข้ามลุ่มได้ก่อร่างแนวคิดขึ้นภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) [2]
กระทั่งมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตั้งแต่ปี 2546-2549 ข้อค้นพบคือ แนวที่เหมาะสมในการผันน้ำยวมมาที่เขื่อนภูมิพล คือการผันจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่างเพื่อลงมายังเขื่อนภูมิพล
หลังการศึกษาครั้งนั้น โครงการนี้ได้ถูกเก็บพับลงกรุ เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาลจนเกินไป
เวลาล่วงเลยมายังปี 2559 โครงการนี้ถูกนำมาปัดฝุ่นเช็ดถูอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) มอบงบประมาณเร่งด่วนให้กรมชลประทานศึกษาความเป็นไปได้ของแนวส่งน้ำที่เหมาะสม และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีกครั้ง โดยมี บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร รับหน้าที่ทำการศึกษา EIA ครั้งนี้
ปัจจุบัน รายงาน EIA เสร็จสิ้นแล้วท่ามกลางความกังขาของทั้งประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการหลายฝ่าย ถึงเนื้อในของรายงานที่อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และเสียงของชุมชนต่อความกังวลที่ไม่ถูกรับฟัง และไม่ได้รับการบันทึกในรายงานฉบับนี้ [3]
มากกว่านั้น โครงการผันน้ำยวมที่กำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็วจนน่าตระหนก ยังตามมาด้วยข้อถกเถียงหลายประการ ซึ่งในบทความชิ้นนี้ ประกอบด้วยข้อสังเกตและข้อโต้แย้งหลักๆ 5 ประการด้วยกันคือ
หนึ่ง – งบประมาณก่อสร้างโครงการราว 71,000 ล้านบาท
สอง – โครงการนี้สร้างผ่านพื้นที่ป่าและอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง
สาม – ผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของโครงการ
สี่ – ค่าไฟที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการระยะยาวนี้ ซึ่งในรายงานของ EIA ไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้รับผิดชอบ
ห้า – การร่วมลงทุนของบริษัทวิสาหกิจของประเทศจีน
จากแม่น้ำยวม ถึงเขื่อนภูมิพล
‘โครงการผันน้ำยวม’ คือการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่างมายังเขื่อนภูมิพล ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ ปริมาตรเก็บกักประมาณ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร, สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา เพื่อสูบน้ำผ่านอุโมงค์ส่งน้ำคอนกรีตซึ่งมีความยาว 61 กิโลเมตร เจาะทะลุผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด โดยผ่านอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง มีจุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 4 แห่ง และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
ความพิเศษของโครงการนี้ คือการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา สูบขึ้นไปยังบนเขาซึ่งมีความสูง 170 เมตร ไปไว้ยังอุโมงค์พักน้ำด้านบนเขา 1 ตัว จากนั้นจึงปล่อยน้ำลงมาจากเขา ไหลลงตามแรงโน้มถ่วงเพื่อให้น้ำไหลลงมาเติมยังเขื่อนภูมิพล
มีการคาดการณ์ในเล่มการศึกผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมว่า งบประมาณในการก่อสร้างโครงการอยู่ที่ตัวเลข 71,000 ล้านบาท ใช้เวลาเตรียมโครงการก่อสร้างประมาณ 9 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวางท่ออุโมงค์เจาะผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน 6 แห่ง
โครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ 36 หมู่บ้าน ในตำบลแม่วะหลวง ตำบลแม่สวด ตำบลกองก๋อย และ ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, ตำบลนาเกียน ตำบลอมก๋อย และ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ [4]
นี่คือข้อมูลเบื้องต้น ก่อนไปสู่ย่อหน้าถัดจากนี้ว่าด้วยข้อถกเถียงในประเด็นสำคัญที่ว่า โครงการนี้คุ้มค่าหรือไม่ ประเทศไทยได้หรือเสียมากกว่ากัน
‘คุ้ม’ หรือ ‘ไม่คุ้ม’
“โครงการนี้คุ้มหรือไม่ ประเทศได้หรือเสียจากโครงการนี้?” คำถามนี้ถูกส่งไปยังผู้ร่วมสนทนาทั้งสองท่าน
วีระกร คำประกอบ: “โครงการนี้คุ้มครับ 71,000 ล้านบาทในการดำเนินโครงการมันคุ้มค่า เพราะหากเราไม่เติมน้ำ มันจะวิกฤติไปกันใหญ่”
สิตางศุ์: “ประเทศเราได้ค่ะ แต่ได้ไม่คุ้มเสีย เราไม่จำเป็นต้องทำโครงการในงบ 71,000 ล้านบาท แล้วใช้เวลา 9-10 ปี ปีถึงจะเห็นผล เรามีวิธีอื่นที่ทำได้เลย ใช้งบน้อยกว่า เห็นผลวันนี้”
จากคำตอบนี้ เรามาดูข้อมูลจากทั้งสองฝั่ง เหตุใดโครงการนี้จึงคุ้มค่า แล้วเหตุใดประเทศเราจึงได้ไม่คุ้มเสีย
วีระกร คำประกอบ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ได้ชี้แจงถึงเหตุผลสำคัญในการมีอยู่ของโครงการผันน้ำยวม ผ่านข้อมูลของการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรเขตชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำปิง
“ปัญหาหลักคือ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำปิงตอนล่างนั้น ไม่มีน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ แม้กระทั่งเขื่อนภูมิพล เรามีพื้นที่กักเก็บน้ำถึง 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ท่านนึกดูว่า ขนาดในฤดูฝนเรายังมีน้ำไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อนเลย
“เขื่อนภูมิพลจึงมีพื้นที่ว่างปีๆ นึงราว 7,000-8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เลยนะ ท่านอย่าลืมนะว่า ปัจจุบัน แม้ดูเหมือนเราจะมีพื้นที่ชลประทานเยอะ แต่เมื่อเราไม่มีต้นทุนอย่างน้ำ ผมไปดูมาทุกคลองเลยนะ แห้งหมดครับ
วีระกรได้เปิดตัวเลข ‘ความต้องการน้ำ’ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประมาณปีละ 18,579 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งเป็นน้ำที่ใช้ในการผลักดันน้ำเค็มประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และน้ำเพื่อการประปานครหลวง ประมาณ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
“ผมตกใจนะ ไม่คิดว่าจะมากขนาดนั้น แล้วในภาคอุตสาหกรรมอีก 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เหลือให้กับชลประทานโดยเฉพาะสิบปีที่ผ่านมานี้ น้อยมาก”
นับตั้งแต่ปี 2557 วีระกรชี้ว่า เกษตรกรไม่สามารถทำนาปรังได้ เนื่องจากภาวะการขาดเเคลนน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทานจำนวนมาก
“เรามองว่า เงิน 71,000 ล้านบาทในการดำเนินโครงการ มันยังคุ้มค่า เพราะหากเราไม่เติมน้ำ มันจะวิกฤติไปกันใหญ่”
ลุ่มเจ้าพระยาไม่ได้ขาดแคลนน้ำ
จากการให้ข้อมูลข้างต้นของวีระกร นำมาซึ่งข้อโต้แย้งของ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า โดยเธอเริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หลักของโครงการผันน้ำยวมเพื่อเติมน้ำเข้าอ่างภูมิพล นั่นก็คือ การแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนเพื่อการเกษตรรวมไปถึงการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชนในลุ่มเจ้าพระยานั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทว่าวิธีการแก้ปัญหานั้น มีมากกว่าการสร้างอุโมงค์ผันน้ำข้ามลุ่มด้วยงบประมาณมหาศาล
สิตางศุ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 3 ข้อหลักๆ คือ
หนึ่ง – ขณะนี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเจอปัญหาน้ำในการเกษตรขาดแคลน ทั้งในเขตชลประทานเองและนอกเขตชลประทานที่เราเรียกว่า ‘เกษตรน้ำฝน’
สอง – ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค รวมไปถึงการผลิตน้ำดิบของการประปานครหลวง
สาม – ในหน้าแล้งประชาชนเผชิญปัญหาน้ำเค็มขึ้นสูง ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา หรือก็คือ ‘น้ำประปากร่อย’
“การแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้ มีทางเลือกในการแก้ปัญหาอยู่ ดิฉันไม่ได้โทษชลประทานที่ยกโครงการผันน้ำยวมมาศึกษา เพราะพันธกิจของกรมชลประทานคือการพัฒนาแหล่งน้ำ หาน้ำมาให้พอ แต่หากมองในมิติของวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ นอกจากการที่เราจะไปหาน้ำมาเติมอย่างไม่หยุดยั้ง ยังมีอีกมิติหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำอยู่”
เรื่องที่หนึ่ง – ปัญหาการจัดการน้ำในภาคการเกษตร สิตางศุ์อธิบายให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบชลประทานในภาพรวม ซึ่งมีไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หรือกล่าวได้ว่า เมื่อกรมชลประทานสูบน้ำจากเขื่อนมา 100 เปอร์เซ็นต์ น้ำจำนวนนั้นได้สูญหายไปในระบบท่อระหว่างทางถึง 40 เปอร์เซ็นต์
“ถ้าสมมุติว่าเราเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานขึ้นมาอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่กรมชลประทานสามารถทำได้ หมายความว่าเราสามารถเพิ่มพื้นที่ทำนาได้อีก 10 เปอร์เซ็นต์จากที่มีอยู่ตอนนี้
“นอกจากนั้น ถ้าเราสามารถเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวของเกษตรกรจากปัจจุบัน ไปเป็นการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง เราสามารถลดการใช้น้ำได้ 39 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าเราไปปลูกแบบวิธีดินชุ่มน้ำ เราสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 63 เปอร์เซ็นต์ มีอดีตอธิบดีกรมชลประทานท่านหนึ่ง ส่งข้อมูลมาให้ดิฉันว่า ถ้าเราทำแบบนี้ในพื้นที่กรมชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด เราจะได้น้ำเพิ่มขึ้น 5,000-6,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยวิธีการนี้สามารถทำได้ทันทีแล้วไม่ต้องใช้งบประมาณมาก”
เรื่องที่สอง – น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งในพื้นที่ของการประปานครหลวงนั้น คือการสูบน้ำจากสองฝั่ง คือจากแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันออก) และจากแม่น้ำแม่กลอง (ฝั่งตะวันตก)
ด้านฝั่งเจ้าพระยา การประปานครหลวงสูบน้ำวันละประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนฝั่งแม่กลอง สูบน้ำวันละ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยแล้วในแต่ละปี การประปานครหลวงใช้น้ำ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
“มันเยอะจนเราเซอร์ไพรส์ แต่มีตัวเลขที่น่าตกใจมากกว่านั้นอีก นั่นคือน้ำ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เราสูบมาใช้นั้น ปัจจุบันอัตราน้ำสูญเสียของการประปานครหลวงเฉลี่ยคือ 32.84 เปอร์เซ็นต์
“แปลว่าหากเราผลิตน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วไหลไปตามท่อ น้ำจะหายไป 32.84 เปอร์เซ็นต์ น้ำที่ใช้ได้จริงมีไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หากอ้างอิงตัวเลขจากท่านวีระกรเมื่อสักครู่ว่า ในแต่ละปีการประปานครหลวงใช้น้ำ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แปลว่า ในแต่ละปีเราทำน้ำหายไป 750 ล้านลูกบาศก์เมตร”
สิตางศุ์คำนวณตัวเลขให้เห็นว่า น้ำ 750 ล้านลูกบาศก์เมตรที่หายไปนั้น เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวได้ 750,000 ไร่ในแต่ละปี และหากการประปานครหลวงสามารถลดอัตราการสูญเสียน้ำได้วันละ 5 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า เราจะได้น้ำกลับมาเดือนละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีละ 99 ล้านลูกบาศก์เมตร
“99 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอสำหรับการปลูกข้าว 275 ไร่ต่อวัน เพียงพอสำหรับการปลูกข้าว 8,250 ไร่ต่อเดือน เพียงพอสำหรับการปลูกข้าว 99,000 ไร่ต่อปี นี่เพียงการประปานครหลวงนะคะ ยังไม่ได้ไปแตะการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสาขามากกว่าการประปานครหลวงอีก มีทุกจังหวัด”
สิตางศุ์พยายามชี้ให้เห็นถึงตัวเลขการสูญเสียน้ำในระบบท่อของการประปานครหลวง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการประปาส่วนภูมิภาคมากนัก อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบชลประทาน เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งในภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภค โดยการกู้คืนน้ำที่หายไปผ่านการพัฒนาระบบชลประทานและการประปา
เธอย้ำว่า วิธีการนี้สามารถทำได้ทันที ทำได้ในวันนี้ โดยไม่ต้องลงทุนถึง 71,000 ล้านบาท และไม่ต้องรอถึง 9-10 ปี
ด้านวีระกร ได้โต้แย้งในประเด็นที่ว่า เหตุใดจึงไม่จัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีก่อนการลงทุนโครงการด้วยงบประมาณมหาศาล ดังนี้
“แควใหญ่ๆ ของน้ำปิง เขามีเขื่อนหมดเลยนะครับ เขามีเขื่อนกักน้ำไว้ใช้ตอนบนทั้งหมด น้ำที่ไหลลงมาสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลน้อยลงทุกปีๆ ฉะนั้นน้ำที่จะไหลลงมาภาคกลาง มาช่วยภาคเหนือและภาคกลางตอนล่างทั้งหมด 29 จังหวัดจึงมีน้อยมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เพราะมันเป็นน้ำที่ต้องเสียทิ้งลงทะเลอยู่แล้ว”
ทำไมต้องผันน้ำข้ามลุ่มสาละวินมายังปิงตอนล่างสู่เจ้าพระยา
อย่างที่กล่าวว่า โครงการผันน้ำยวมนั้น คือการผันน้ำข้ามจากลุ่มน้ำสาละวินมายังเขื่อนภูมิพลในลุ่มน้ำปิง ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงคือ การผันน้ำข้ามลุ่มในทางวิศวกรรมศาสตร์เป็นไปได้หรือไม่ ส่งผลกระทบต่อนิเวศวิทยามากน้อยเพียงใด แล้วจำเป็นหรือไม่กับงบประมาณจำนวนนี้
วีระกรตอบในประเด็นนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า อีกเพียง 13.5 กิโลเมตร น้ำจากแม่น้ำยวมจะไหลลงสู่แม่น้ำเมย ผ่านไปยังแม่น้ำสาละวิน ก่อนไหลลงทะเลในประเทศเมียนมา
“เพียงแค่ 13.5 กิโลเมตร เท่านั้น น้ำนี้จะไม่ใช่ของไทยแล้ว แทนที่เราจะปล่อยน้ำทิ้งไปปีละประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เราทิ้งน้ำยวมลงทะเลไปเฉยๆ ทำไมเราไม่สูบมาตามโครงการนี้”
วีระกรอธิบายเพิ่มเติมถึง ลักษณะของการผันน้ำนั้นจะดำเนินไปเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศวิทยาท้ายน้ำ โดยมีกระบวนการระบายน้ำไปยังบริเวณท้ายน้ำไม่ต่ำว่า 5.88 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งในกรณีที่มีปริมาณน้ำมากในช่วงหน้าฝน การระบายน้ำส่วนเกินจะมีประมาณ 182 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
“นอกจากนั้น โครงการยังเขียนไว้อีกว่า การผันน้ำต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำท่าที่เกิดขึ้นของอ่างเก็บน้ำภูมิพลในปีนั้น ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำภูมิพลต้องไม่เกินระดับน้ำควบคุมตอนบน ไม่ใช่ว่าเอะอะๆ ก็ผันตะพึด แถมโครงการนี้จะควบคุมเพื่อไม่ให้น้ำท่วมในหน้าฝนด้วย”
ตัวละครลับอย่าง ‘จีน’ และอธิปไตยของชาติ
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 วีระกร คำประกอบ ได้อธิบายต่อสื่อมวลชนกรณีความคืบหน้าของโครงการผันน้ำยวมว่า
“กมธ. ที่ศึกษาโครงการนี้ ได้ประสานไปทางบริษัทวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ซึ่งทราบว่าเขาให้ความสนใจในเรื่องนี้อยู่ เพราะว่าประเทศจีนมีวิสาหกิจประมาณ 5 บริษัท ในการทำเขื่อนทั่วโลก โดยสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในจีนและต่างประเทศ ดังนั้นงานนี้เหมือนเขารับงานโดยไม่เอากำไรมาก เพราะเครื่องไม้เครื่องมือมีพร้อมสำหรับทำโครงการใหญ่ๆ และอยากช่วยประเทศไทยด้วย” [5]
รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนแห่งนี้มีชื่อว่า ‘บริษัทต้าถัง’ ได้ยื่นข้อเสนอในการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและพัฒนาโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างที่รัฐบาลไทยต้องจ่ายลดลงอย่างมาก ซึ่งในประเด็นนี้ วีระกรได้ชี้แจงว่า
“เมื่อบริษัทวิสาหกิจของจีนเขารู้ว่าเราพิจารณาเรื่องนี้อยู่ กระทั่งทางบริษัทจีนเขามีความสนใจแล้วได้ทำเรื่องมาถึงกรรมาธิการฯ กล่าวว่า บริษัทดังกล่าวมีความสนใจที่จะมาลงทุน ในขั้นต้น เขาบอกว่า เขาจะออกค่าใช้จ่ายให้ก่อนทั้งหมดโดยที่ทางจีนจะมาทำโครงการให้โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนคือ การคิดค่าน้ำในการสูบน้ำข้ามลุ่มน้ำในอัตราไม่ถึง 1 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร”
กล่าวได้ว่า จากเดิมที่กรมชลประทานตั้งงบประมาณไว้ 71,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับข้อเสนอของบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ที่ตั้งงบประมาณไว้เพียง 40,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างโครงการเพียง 4 ปีเท่านั้น
“ผมได้คุยกับท่านอธิบดีชลประทานเมื่อเร็วๆ นี้ ท่านบอกว่า ‘ถ้าเรื่องนี้ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ปลายปีนี้เราคงได้เริ่มเจรจา’ แต่อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องเปิด TOR ให้ประมูลทั่วโลก ไม่ใช่ให้บริษัทจากจีนเท่านั้น แต่จีนเป็นหนึ่งในหลายๆ บริษัท ที่อาจจะเสนอมาเมื่อโครงการนี้มันเริ่มมีทิศทางที่รัฐบาลสนใจจะทำจริงๆ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่จะทำการประมูลออกมาว่าโครงการนี้จะให้ใครทำหรือเราจะทำเอง”
หลังคำชี้แจงของวีระกร สิตางศุ์ได้กล่าวทวงถามถึง ‘ต้นทุน’ อันเป็นผลพวงจากโครงการที่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก นั่นคือ ค่าไฟจากการดำเนินงาน และค่าน้ำจากการสูบน้ำที่ประเทศจีนจะเก็บจากประเทศไทยหากได้ลงทุนในโครงการนี้
“ดิฉันพยายามชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นหรือไม่จำเป็นของการมีหรือไม่มีโครงการ สมมุติว่าอะไรก็แล้วแต่ ทำให้เราจะสร้างให้ได้ ซึ่งก็มีโมเดลว่าจีนจะมาร่วมทุนสร้าง หากว่าสร้างได้จริงๆ ดิฉันอยากถามว่า แล้วค่าไฟที่จะเกิดขึ้นจากการสูบน้ำของโครงการปีละประมาณ 2,443 ล้านบาทนั้น ซึ่งเมื่อคิดเป็นต้นทุนน้ำ มันจะตกอยู่ที่น้ำคิวละ 1.37 บาท ไปรวมกับต้นทุนการสร้างอีกเกือบ 1 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร รวมแล้วน้ำมีต้นทุน 2 บาทกว่า
“วันนี้ประเทศชาติเรามีงบขนาดนั้นเหรอ เราไม่มีงบ เราถังเเตก เราถึงต้องไปขอให้คนอื่นมาช่วย กี่โครงการแล้วที่ไทยต้องให้จีนมาช่วย เราได้คำนึงถึงอธิปไตยของประเทศชาติบ้างหรือเปล่า”
ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่งอกออกมา ใครจ่าย
2,443 ล้านบาทต่อปี คือค่าไฟที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ
เมื่อนำตัวเลขมาคิดต้นทุนจากการสูบน้ำ จะตกอยู่ที่ประมาณค่าน้ำคิวละ 1.37 บาท
และอีกเกือบ 1 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร คือต้นทุนที่ประเทศไทยต้องจ่ายหากจีนร่วมลงทุน
คำถามง่ายๆ ทว่าสำคัญ ‘ใครคือผู้จ่าย’
ซึ่งในรายงานของโครงการฯ ไม่ได้ระบุไว้แต่อย่างใด
“ส่วนหนึ่ง เราได้คืนมาจากการที่เขื่อนภูมิพลปั่นไฟมาขายให้ประชาชนต่อ อีกส่วนคือสุดแท้แต่รัฐบาลว่า รัฐบาลจะเก็บค่าน้ำจากชาวนา หรือรัฐบาลอาจจะช่วยส่วนหนึ่ง หรือจะให้เกษตรกรจ่ายค่าน้ำเพิ่ม 2 บาท
“หากว่าเกษตรกรต้องจ่าย ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรต้องคำนึงถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ว่า เอะอะๆ ก็ใช้น้ำกันเยอะแยะจนน้ำไม่พอ ถ้าเราเก็บค่าน้ำชาวนาเพิ่มซักบาทนึง รัฐบาลช่วยซักบาทนึง ปีนึงก็ไม่เท่าไหร่หรอกครับ” วีระกรชี้แจง
ด้านสิตางศุ์ได้โต้แย้งว่า “เราเก็บค่าน้ำจากชาวนาไม่ได้เพราะมันผิดกฎหมายค่ะ การเก็บค่าน้ำไม่เคยเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วม แปลว่าประชาชนไม่เคยรู้เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนที่อยู่ลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด ไม่เคยรู้เลยว่า หากมีโครงการนี้เกิดขึ้น เขาจะต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มขึ้น
“หากประเด็นนี้ไม่เคลียร์ แปลว่ากระบวนการมีส่วนร่วมเกิดปัญหา”
ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ มาตรา 42 ระบุว่า ‘การใช้น้ำประเภทที่หนึ่งไม่ต้องขอรับใบอนุญาต และไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ ให้หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อมูลการใช้น้ำประเภทที่หนึ่งที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวต่อพนักงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กนช. กำหนด’ [6]
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงข้อสังเกตโครงการ 3 ข้อหลักๆ คือ
หนึ่ง – งบประมาณที่คาดการณ์ไว้ที่ 71,000 ล้านบาทนั้น คือราคาที่ประเมินไว้เมื่อ 3 ปีก่อน แต่ปัจจุบันราคาวัสดุในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า นั่นหมายความว่า งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างจริงอาจสูงกว่าที่ประเมินไว้มาก
“เวลาคิดโครงการ คุณต้องคิดค่าไฟในการดำเนินงานไปด้วย ซึ่งก็ประมาณ 2,500 ล้านบาทตลอดอายุโครงการ ซึ่งผมประเมินว่า อายุโครงการนี้อยู่ที่ 25 ปี โดยประมาณ ฉะนั้น ท่านต้องบวกเข้าไปด้วย ไม่ใช่คิดแค่ค่าก่อสร้างอย่างเดียว”
สอง – การคิดคำนวณต้นทุนนั้น ต้องคิดตลอดอายุโครงการ ไม่ใช่ประเมินเพียงระยะการก่อสร้าง เมื่อคำนวณให้เห็นต้นทุนทั้งหมดแล้วจึงจะสามารถประเมินความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการได้อย่างแท้จริง
สาม – กรณีการร่วมลงทุนของบริษัทจีน ต้องระบุไว้ในรายงาน EIA ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนรายละเอียดนอกเหนือจากรายงานได้
สี่ – การผันน้ำจากลุ่มสาละวินมาที่ลุ่มน้ำปิง เป็นการผันน้ำข้ามลุ่ม นั่นหมายความว่า ภาครัฐต้องฟังเสียงคนทั้งสองลุ่มน้ำ แล้วต้องนำข้อคิดเห็นของประชาชนเหล่านั้นเข้าสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำก่อนถึงจะผ่านโครงการได้ ซึ่งในรายงาน EIA กลับไม่มีส่วนนี้
“โครงการนี้ไม่คุ้ม ถ้าจะสูบน้ำแล้วเสียเงินตลอดเวลามันไม่คุ้ม ในมุมสิ่งแวดล้อม น้ำจะไหลไปไหนก็ตาม มันได้ทำหน้าที่ของมันอยู่ ถ้าจะไหลลงทะเลก็ให้มันไหลไป มันไม่ได้ไหลไปอย่างไร้ประโยชน์ครับ” หาญณรงค์ทิ้งท้าย
แม่น้ำยวม คือชีวิต คือวิญญาณ คือรากเหง้า
“ดิฉันเป็นตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบนะคะ แม่น้ำสายนี้คือชีวิตค่ะ แม่น้ำสายนี้สร้างให้ดิฉันมีชีวิตถึงทุกวันนี้”
ช่วงท้ายของวงสนทนา ตัวเเทนของชาวบ้าน ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนถึงความกังวลจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ เธอมองว่า วงสนทนาครั้งนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ให้เธอบอกเล่าและแสดงออกซึ่งสิทธิที่ตนมีในฐานะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่โครงการ สิทธิที่รัฐไม่ได้มอบให้ สุ้มเสียงของชาวบ้านอันตรธานหายไปจากกระบวนการมีส่วนร่วมและไร้ซึ่งตัวตนในรายงาน EIA
เธอเริ่มไล่เลียงข้อกังวลออกเป็นข้อๆ ดังนี้
“หนึ่ง – จากการที่ดิฉันเข้าไปร่วมกระบวนการ EIA อยากบอกว่า ขนาดดิฉันอ่านภาษาไทยได้ พูดภาษาไทยได้ แต่ท่านรู้ไหมว่าชาวบ้านในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ท่านกลับไม่จัดล่ามให้เลย ถ้าเราพูดถึงสิทธิในทางกฎหมาย คือสิทธิการได้ข้อมูลข่าวสาร ท่านพูดได้อย่างไรว่าประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเต็มที่
“สอง – กระบวนการมีส่วนร่วม ในรัฐธรรมนูญก็ได้พูดถึงการที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม ในกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็พูดว่า รายงาน EIA ต้องทำกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งท่านพยายามเสนอข้อมูลอย่างเดียว ท่านเคยได้รับฟังเสียงของชาวบ้านหรือเปล่า
“ที่ผ่านมา คนในพื้นที่พยายามพูดถึงความกังวล ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของเขา บ้านกะเบอะดินนั้น คนในชุมชนยังไม่รู้เลยว่าจะมีอุโมงค์ผันน้ำไปเจาะที่ใต้หมู่บ้านของเขา ส่วนบ้านแม่งูดที่อยู่ปลายอุโมงค์ พี่น้องก็กังวล อีกทั้งพี่น้องตรงนี้คือกลุ่มที่เคยหนีผลกระทบจากเขื่อนภูมิพล คำถามคือ ท่านจะให้พวกเขาหนีอีกครั้งเหรอ”
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านในพื้นที่พยายามเขียนจดหมายทักท้วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ทว่าในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กลับไม่บันทึกถึงความเห็น ปัญหา และเสียงของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย
“ดิฉันเชื่อว่าถ้า EIA ชอบธรรมจริงๆ เคารพสิทธิและเสียงของชาวบ้านจริงๆ EIA จะไม่มีทางผ่านค่ะ” เธอทิ้งท้าย
หลังจากเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ในการประชุมเพื่อพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ครั้งที่ 19/2564 คณะกรรมการได้ลงมติ ‘เห็นชอบ’ ต่อรายงานเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ต่อมาเมื่อวานนี้ (15 กันยายน 2564) ในการประชุมพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวม โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ก็ได้ลงมติเห็นชอบต่อรายงานเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการแล้ว
โดยขั้นตอนการพิจารณาโครงการผันน้ำยวมนั้นถือว่ารวดเร็วกว่าปกติ รวมทั้งมีข้อสังเกตสำคัญคือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั่งเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนั้น ทั้งมีส่วนในการเริ่มต้น EIA และอนุมัติ EIA
อ้างอิง
[1] เสวนาออนไลน์ “โปรเจคยักษ์ – ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย”
[2] ปัดฝุ่นโครงการผันสาละวินสู่ลุ่มเจ้าพระยา
[3] ข้อเท็จจริง EIA ร้านลาบ โครงการผันยวมสู่เขื่อนภูมิพล
[4] โครงการผันน้ำยวม 70,000 ล้าน แก้ปัญหาน้ำลุ่มเจ้าพระยาหรือทำลายป่าต้นน้ำ
[5] ผันน้ำยวม: รัฐสน จีนพร้อมจ่าย ชาวบ้านค้าน “ทำไมเราต้องสละน้ำให้เจ้าพระยา”
[6] พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ มาตรา 42