สมาร์ทโฟนที่เจ๋งที่สุดในโลก

aw-01

หลายคนกำลังรอ iPhone 7 อย่างจดจ่อ เราไม่ได้บอกให้คุณชะลอการตัดสินใจ แต่อยากชวนมาฟัง ดักลาส รัชคอฟ (Douglas Rushkoff) ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีสื่อและเศรษฐกิจดิจิตอล (Media Theory and Digital Economics) มหาวิทยาลัยซิตีแห่งนิวยอร์ค (City University of New York) และผู้เขียนหนังสือ Throwing Rocks at the Google Bus กันก่อน

เขาเขียนบทความเรื่อง ‘สมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดในโลก’ เอาไว้ใน www.digital trends.com

โดยจั่วหัวเอาไว้ว่า “สมาร์ทโฟนที่เจ๋งที่สุดก็คือเครื่องที่อยู่ในมือคุณนั่นแหละ”

เพราะอะไร?

“ตอนนี้ค่าย Apple สร้างความผิดหวังแก่สาวกทั้งหลายด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับ Samsung ที่ปล่อย Galaxy Note 7s ออกมา การพัฒนาที่แทบจะเปล่าประโยชน์ในสงครามสมาร์ทโฟนเหล่านี้ เห็นได้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆ”

รัชคอฟ ตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า นอกจากเงินก้อนใหญ่ที่เสียไป ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูญไปมหาศาลจากสมาร์ทโฟนเหล่านี้ โดยเฉพาะการใช้พลังงานต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโทรศัพท์อีกต่อไป แต่ได้ย้ายรูปแบบไปอยู่ในคลาวด์ (cloud) หรือโปรแกรมอัตโนมัติอย่าง Siri เองก็ไม่ได้อยู่ในโทรศัพท์ หากอยู่ในคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อด้วย

การใช้พลังงานเหล่านี้ เกิดขึ้นจริงบนเซิร์ฟเวอร์ที่กำลังสตรีมมิ่ง บรรดาคลิปทั้งหลาย รวมถึงคำนวณและวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลกันทั้งวันทั้งคืน  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ว่าคุณจะใช้โทรศัพท์เครื่องใหม่หรือเครื่องเก่า มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง… ข้อมูลทั้งหลายถูกย้ายไปจัดการอยู่นอกโทรศัพท์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม รัชคอฟ ยังเตือนความจำเราเรื่องแร่หายากต่างๆ ในโลกใบนี้ จนจุดชนวนความขัดแย้งเรื่องแร่ทั้งหลายที่ใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือ หนึ่งในนั้นคือ แคสซิเทอไรท์ (cassiterite) ซึ่งเป็นสินแร่ดีบุกที่มีมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งคองโก เช่นเดียวกับ ทองคำทังสเตน และ แทนทาลัม

ยกตัวอย่าง สารแทนทาลัม – สารสำคัญที่ใช้ในการผลิตตัวเก็บประจุ หรือ capacitor ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น DVD วิดีโอเกม และคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ กองกำลังติดอาวุธต่างๆ ในคองโก หาเลี้ยงตัวเองด้วยการค้าขายแร่เหล่านี้อย่างผิดกฎหมาย เกิดการต่อสู้ รบพุ่งกันหลายครั้งเพื่อแย่งชิงเหมืองแร่เหล่านี้ในภาคตะวันออกของประเทศ โดยมีแรงขับสำคัญคือความต้องการและกำลังซื้อของประเทศเจ้าของนวัตกรรม

รัชคอฟให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Apple ชี้แจงว่า ตอนนี้มีกระบวนการตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบในการผลิต 100 เปอร์เซ็นต์ และแม้ตอนนี้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ได้มาจากความขัดแย้งหรือแย่งชิงทรัพยากร (conflict free) แต่โรงถลุงแร่ 242 แห่ง โรงงานสกัดแร่ดีบุก แทนทาลัม ทังสเตน และทองคำ ของ Apple ได้ว่าจ้างบริษัทซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการตรวจสอบ เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

ในฐานะผู้บริโภค รัชคอฟแนะนำว่าการใช้เครื่องที่อยู่ในมือให้นานที่สุดเป็นวิธีที่ดีที่สุด แทนที่จะซื้อเครื่องใหม่เพราะอยากก้าวทันโลก ถ้าเรารู้จักใช้เครื่องและปรับให้เข้ากับโปรแกรมและซอฟท์แวร์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาหลากหลาย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ของใหม่ ความเจ๋งอยู่ที่ว่าคุณใช้ได้นานแค่ไหนต่างหาก

“เป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนับวันสมาร์ทโฟนยิ่งเหมือนคอมพิวเตอร์ ที่การปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างช้า ช้ามาก…

“สี่ปีที่แล้ว ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนกูรูแมคอินทอชคนหนึ่งว่า แต่ก่อนเขาจะซื้อรุ่นที่ดีที่สุด จ่ายเงินให้ Apple care พอใช้ไปสามปี เครื่องก็พัง จากนั้นก็ซื้อเครื่องใหม่ แต่ตอนนี้ ระยะเวลาลดลงเหลือแค่หนึ่งปี หรืออย่างมากที่สุดก็ปีครึ่ง ไม่มีค่ายไหนผลิตเทคโนโลยีที่ล้ำกว่าออกมา เช่นเดียวกับ iPhone 6 ที่ไม่เห็นว่า iPhone 7 จะดีกว่าตรงไหนในสองปีถัดมา (ยกเว้นกล้อง!)” รัชคอฟทิ้งท้าย


ที่มา: treehugger.com

2016-10-19-new-banner

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า