การปันเสื้อผ้ามือสอง อาจเป็นไปด้วยเหตุผลอะไรได้บ้าง?
ความปรารถนาดี, ศีลธรรมส่วนตัวเรื่องโลกร้อน, การประกาศจุดยืนเรื่องแฟชั่น หรือ อาจเป็นไปเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ ในช่วงที่สื่อมวลชนรายงานว่าเศรษฐกิจบ้านเราอยู่ในช่วงเติบโต แต่เรากลับหาเงินในกระเป๋าตัวเองไม่เจอ…ก็เป็นได้
ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองอาจถูกขับเคลื่อนมาจากหลายสาเหตุ
แต่กลุ่มประชาคมแอฟริกาตะวันออกไม่คิดเช่นนั้น เพราะมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศดังกล่าวประกาศ ‘ร่าง’ กฎหมาย แบนการนำเข้ากลุ่มสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายมือสองจากประเทศที่ร่ำรวยวัฒนธรรมแฟชั่น โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว
เสื้อผ้ามือสอง ผู้ต้องสงสัยทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
มูลเหตที่ทำให้ประชาคมแอฟริกาตะวันออก หรือ The East African Community (EAC) โดยเฉพาะประเทศเคนยา, ยูกันดา, แทนซาเนีย, บูรันดิ และรวันดา ผลักดันนโยบายห้ามนำเสื้อผ้ามือสองเข้าประเทศนั้น เนื่องจากข้อกังวลที่ว่า
การนำเข้าเสื้อผ้ามือสองจำนวนมาก อาจบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติ ฐานที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะผู้คนหันไปบริโภคเสื้อผ้าราคาถูกเหล่านี้ จนละเลยสินค้าที่ถูกผลิตมาจากฝีมือและทรัพยากรในประเทศ
จำนวนเท่าไหร่ ที่เรียกว่ามากจนทำให้เศรษฐกิจประเทศล่มจมได้?
อ้างอิงตัวเลขจากรายงานของ ลินดา คาลาบรีส (Linda Calabrese) นักเศรษฐศาสตร์สายพัฒนา ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้า เฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้ามือสองของกลุ่มประเทศ EAC เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านดอลลาร์ในปี 2001 เป็น 300 ล้านดอลลาร์ในปี 2014
หรือคิดเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของการนำเข้าสินค้ามือสองทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกา
หากมองในแง่อุปสงค์-อุปทาน อาจเรียกได้ว่ามีสินค้าอยู่ในตลาดมากเพียงพอที่จะทำให้ราคาเสื้อผ้ามือสอง มีราคาเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ของเสื้อผ้ามือหนึ่ง ที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศได้
และเป็นตัวเลขเดียวกันที่ผู้สนับสนุนนโยบายดังกล่าว เบตตี ไมนา (Betty Maina) เลขาธิการใหญ่ประชาคมแอฟริกาตะวันออก (Kenya’s Principal Secretary in the Ministry of EAC) ใช้บ่งชี้ว่า การนำเข้าสินค้ามือสองจำนวนมากจากต่างประเทศส่งผลต่อการใช้จ่าย-จ้างงาน-ผลิต ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานเรื่องเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ
“เราต้องการขับเคลื่อนประชาคมให้ไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วไป และนโยบายนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น เพราะผู้คนจะหันกลับมาบริโภคสินค้าที่ผลิตจากในประเทศมากขึ้น” เบตตี ไมนา กล่าว
ข้อต่อสู้ของจำเลยเสื้อผ้ามือสอง
ผู้ที่ถูกอ้างอิงและกำลังจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศที่กำหนดเทรนด์แฟชั่นในแต่ละปี (และอาจกลายเป็นทุกเดือนในปัจจุบัน) ที่มีธุรกิจเพื่อการปล่อยของ หรือให้ผู้คนเคลียร์พื้นที่ในตู้เสื้อผ้าให้ทันซีซั่นใหม่ ด้วยการบริจาค/ขาย ส่งออกไปค้าขายเชิงพาณิชย์ยังประเทศอื่นๆ ต่อไป เช่น ร้าน Oxfam หรือ Salvation Army ร้านขายของสินค้ามือสองราคาถูก (มากๆ) – ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ทำให้ทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศยูกันดา เดโบราห์ มาลัค (Deborah Malac) ออกมาท้วงว่า
“การดำเนินนโยบายนี้อาจให้ผลกระทบในเชิงลบ มากกว่าคุณประโยชน์ที่ประเทศยูกันดาจะได้รับ”
เธอชี้ว่า เฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐ กับยูกันดา ที่ยกเว้นภาษีการขนส่งสินค้า และสินค้าดังกล่าวต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน ถูกกฎหมาย และรับรองเรื่องสิทธิ์ของแรงงานตามหลักสากล ก็เพียงพอและเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้
แม้ในข้อความระหว่างบรรทัดของสื่อต่างประเทศจะแสดงนัยว่า ความเห็นจากทูตสหรัฐประจำประเทศยูกันดานั้น อาจเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมือง
กระนั้นก็มีสื่อมวลชนและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งได้ออกมาให้ความเห็นในเชิงขอให้คณะกรรมการ EAC ทบทวนเนื้อหาและวิธีการแก้ไขเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกครั้ง
ลินดา คาลาบรีส ตั้งคำถามว่า ด้วยนโยบายกีดกันการนำเข้าสินค้ามือสองเพียงประการเดียว จะเพียงพอต่อการแก้โจทย์ที่รัฐบาลได้ตั้งไว้หรือไม่
และใช่หรือไม่ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงการให้ประชาชนต้องตอบข้อสอบปรนัย ที่ให้เลือกระหว่าง
A. หาซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่ง ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
B. ซื้อเสื้อผ้าที่มีป้ายรับรองว่า ‘เสื้อตัวนี้ ผลิตจากคนพื้นเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์’
ซึ่ง ไม่ว่าจะ A. หรือ B. ต่างก็รับประกันถึงความ ‘แพงกว่า’ อย่างแน่นอน
ขณะที่ แอนดรูว บรูกส์ (Andrew Brooks) ผู้เขียนหนังสือ Clothing Poverty: The Hidden World of Fast Fashion and Second-hand Clothes ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
แม้คนในท้องถิ่นจะเร่งอัตราการผลิตจนเต็มกำลังที่จะทำได้ แต่มันจำเป็นหรือไม่ ที่เขาต้องซื้อสินค้า ‘ที่อาจราคาไม่แพงแต่ก็แพงกว่าเสื้อผ้ามือสองที่นำเข้ามาจากประเทศโลกที่หนึ่งอยู่ดี’ และกังวลว่า มาตรการที่หวังให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นมากที่สุด จะกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหา โดยเฉพาะคนยากจน ให้ไม่เหลือตัวเลือกในการจับจ่ายซื้อของได้
วิธีการแก้ปัญหาที่ทั้งคู่เสนอมานั้นใกล้เคียงกันคือ หาวิธี ‘ออกแบบ’ การบริหารประเทศ ด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน กลับไปส่งเสริมและเอื้ออำนวยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น ทางเดินรถที่สะดวกและเข้าถึงง่าย ตั้งแต่โรงงาน ไปยังศูนย์กระจายสินค้า และเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ตั้งตลาดรายย่อยทั่วประเทศ หรือหาโครงสร้างการเก็บภาษีการค้าขาย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการผลิตและการซื้อขายสินค้า เช่น การกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม การสร้างตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก หรือการทำการตลาดกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เข้ามาซื้อสินค้าพื้นเมืองของกลุ่มประชาคมมากขึ้น