Mdou Moctar เสียงจากทะเลทราย “ถ้าเรานิ่งเงียบ มันจะเป็นจุดจบของเรา”

หลังจากที่ ‘Afrique Victime’ สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 5 วางจำหน่ายในปี 2021 Mdou Moctar ศิลปินเจ้าของอัลบั้มดังกล่าว ก็ถูกพูดถึงในวงกว้างมากมายและเป็นที่น่าจับตามอง โดยมีความน่าสนใจในเชิงกระบวนการการสร้างสรรค์เพลงและกระบวนการทางสังคมบางอย่างที่หล่อหลอมเขาและบทเพลงขึ้นมา

สายเบรกจักรยาน บลูทูธ และฝนสีม่วง

Mdou Moctar หรือ Mahamadou Souleymane (Mdou เป็นชื่อเล่นย่อ และ Moctar หรือ Mokhtar หมายถึง ‘ผู้ถูกเลือก’ ในภาษาอาหรับ) เกิดที่เมืองอบาลาค (Abalak) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไนเจอร์ เขาเติบโตในชุมชนชาวทูอาเร็ก (Tuareg) ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบทะเลทรายซาฮารา ในวัฒนธรรมของชาวทูอาเร็ก ดนตรีคือรากฐานของชุมชน และถูกใช้เป็นเครื่องมือของการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อผสมกับความชื่นชอบแล้ว Moctar จึงมีความหลงใหลในดนตรีตั้งแต่เด็ก หากแต่พ่อและแม่ชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดศาสนากลับไม่สนับสนุนด้านดนตรี แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรค เขาประกอบกีตาร์ตัวแรกด้วยท่อนไม้และสายเบรกจักรยาน และเริ่มหัดเล่นกีตาร์ด้วยมือซ้ายข้างถนัดนับแต่นั้น

“พ่อแม่ของผมไม่มีเงินซื้อกีตาร์ให้และไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่ สำหรับพวกเขา นักดนตรีคือคนชั่ว ดื่มเบียร์และเล่นยา ผมไม่เคยบอกพวกเขาว่าอยากได้กีตาร์ ผมไม่กล้า ผมก็เลยสร้างมันเองซะเลย” Moctar กล่าว

ในปี 2008 Mdou Moctar ปล่อยอัลบั้มแรกของเขาในชื่อ ‘Anar’ ซึ่งมีการผสมผสานของดนตรีพื้นบ้าน เสียง drum machine และเสียงร้องแบบ auto-tune ทั้งหมดออกมาเป็นมวลดนตรีที่ให้ความรู้สึกดิบๆ มีเอกลักษณ์ เพลงของ Moctar แพร่กระจายด้วยวิธีส่งต่อผ่านบลูทูธและเมมโมรี่การ์ดของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับเพลงของศิลปินคนอื่นๆ ในภูมิภาคซาเฮล (Sahel) พื้นที่กึ่งทะเลทรายที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างแอฟริกาเหนือและแอฟริกาใต้ และราวกับเป็นโชคชะตาที่ คริสโตเฟอร์ เคิร์คลีย์ (Christopher Kirkley) ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Sahel Sounds ได้ฟังเพลงของ Moctar ในขณะท่องเที่ยวในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเขาใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะตามหาตัวของศิลปินลึกลับจากทะเลทรายผู้นี้พบ เพราะจากการที่มีเพียงชื่อ ‘Moctar’ ในไฟล์เพลงดิจิทัลเป็นเพียงเบาะแสเดียว

ระหว่างปี 2013-2019 Mdou Moctar ออกอัลบั้มกับ Sahel Sounds จำนวน 3 อัลบั้ม ได้แก่ ‘Afelan’ ‘Sousoume Tamachek’ และ ‘Ilana’ ไม่เพียงแค่นั้น ในปี 2015 Moctar ทั้งแต่งเพลงและแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Akounak Tedalat Taha Tazoughai โดยมีเคิร์คลีย์เป็นผู้กำกับ เขาต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของ Moctar ในเชิงเปรียบเทียบกับ Prince (เจ้าของเพลง ‘Purple Rain’ โด่งดังมากในยุค 80s) เพราะเขามองว่าทั้งสองมีเสน่ห์ที่คล้ายคลึงกัน และเพื่อการแสดงความเคารพต่อเพลง Purple Rain ของ Prince ชื่อ Akounak Tedalat Taha Tazoughai ในภาษาทามาเช็ก (Tamashek) แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Rain the Color of Blue With a Little Red In It เพราะในภาษาทามาเช็กไม่มีคำว่าสีม่วง 

Akounak Tedalat Taha Tazoughai เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้ภาษาทามาเช็กดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวหนังนอกจากจะทำให้ Moctar เริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว ยังทำให้ ลิซา โคลแมน (Lisa Coleman) นักดนตรีที่เล่นร่วมกับ Prince มาตลอดยุค 80s กล่าวชื่นชมว่าการเปรียบเทียบของ 2 นักดนตรีในภาพยนตร์นั้นดีงามอย่างยิ่ง

‘Afrique Victime’ ถ้าเรานิ่งเงียบ มันจะเป็นจุดจบของเรา

ขณะที่ เจอราร์ด โคสลอย (Gerard Cosloy) เจ้าของร่วมของค่ายเพลง Matador กล่าวว่าเขาติดตาม Moctar นับตั้งแต่ได้ยินเพลง ‘Tahoultine’ ในอัลบั้มรวมศิลปิน ‘The Sahel Sounds compilation Music from Saharan Cellphones (Vol. 1)’

“ในปี 2019 เพื่อนนักดนตรีของผมได้สะกิดๆ ว่า Mdou สนใจที่จะบันทึกเสียงกับค่ายนายนะ” โคสลอยกล่าว

หลังจากประชุมไม่กี่ครั้ง Mdou Moctar ก็ได้เซ็นสัญญากับ Matardor ในที่สุด โดยมีศิลปินร่วมค่ายอย่าง Julien Baker, Interpol, King Krule, Queens of the Stone Age และอื่นๆ 

โคสลอยพูดถึง Moctar และอัลบั้ม ‘Afrique Victime’ ไว้ว่า “เหมือนที่เรารักงานก่อนๆ ของเขา ‘Afrique Victime’ ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าทั้งดนตรีและเนื้อร้องนั้นคือความสด สิ่งที่ดีที่สุดของพวกเขาได้ถูกบรรจุลงในอัลบั้มนี้ และจากที่กล่าวมา เราเชื่อว่าผลงานนี้ไม่ใช่เพียงการแตะๆ ให้พอรู้จักในสิ่งที่พวกเขาทำได้แน่ๆ”

เพลงในอัลบั้ม ‘Afrique Victime’ ส่วนใหญ่ถูกบันทึกขณะทัวร์ในปี 2019 ซึ่ง Moctar ให้ความเห็นว่าเขาสนุกกับการบันทึกเพลงทีละเพลงตามสตูดิโอต่างๆ แทนที่จะบันทึกเพลงทั้งหมดรวดเดียวในหนึ่งสัปดาห์ ‘Afrique Victime’ จึงเสมือนการรวบรวมเคมีที่เข้มข้นของ Mdou Moctar ระหว่างการเล่นสดเอาไว้

สำหรับบางเพลงใน ‘Afrique Victime’ นั้น Moctar บอกว่า มันวนเวียนอยู่ในหัวมาระยะหนึ่ง แต่กระบวนการสร้างสรรค์ของเขานั้นเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามวิธีการตอบสนองต่อโลกรอบตัวของเขา “ในชีวิตนี้ ผมไม่เคยเขียนเพลงเลย” เขากล่าว “บางครั้งมันอาจเป็นปัญหา แต่โดยปกติผมจะหยิบกีตาร์ขึ้นมาและพยายามสร้างเสียงในหัวและในใจที่ได้ยิน มันเป็นการลองผิดลองถูกนะ … และจากการเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมจะจำมันได้ และบางครั้งเมื่อเอาไปเล่นในภายหลัง ผมก็อาจปรับจังหวะ หรือจะเล่นโซโลและทันใดนั้น ผมก็อาจพบเสียงที่ชอบ และก็เก็บมันไว้ นั่นเป็นวิธีที่เพลงถูกสร้างขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

ดังนั้น ‘Afrique Victime’ จึงเปรียบดั่งอัลบั้มส่วนตัวที่ Moctar เป็นผู้สังเกตการณ์ความรู้สึกหรือห้วงอารมณ์ของตนเองที่มีเรื่องราวของความหวัง ความเจ็บปวด และความอ่อนแอ เขากล่าวถึงแทร็คต่างๆ ในอัลบั้มไว้ว่า

‘Asdikte Akal’ เป็นบทกวีที่ชวนคิดถึงบ้าน โดยเขียนจากที่ไกลๆ ในขณะที่ ‘Layla’ เป็นเพลงที่สื่อถึงภรรยาซึ่งคลอดลูกขณะที่เขาต้องทัวร์คอนเสิร์ตไปครึ่งค่อนโลกในปี 2019 ทำให้เขาไม่สามารถอยู่ตรงนั้นได้ ‘Ya Habibti’ เป็นอีกเพลงสำหรับเลย์ลา โดยพูดถึงความทรงจำฝังลึกในการพบกันครั้งแรกของพวกเขา ‘Tala Tannam’ ก็ดูเหมือนจะเหมาะกับเธออีกเช่นกัน ดั่งท่อนหนึ่งในเพลง (ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว)

“I used stones to write your name in a heart/Water can never wash it away because it’s surrounded by trees.”

“ในหัวใจของฉัน ฉันใช้ก้อนหินสลักชื่อเธอ โดยที่น้ำก็ไม่สามารถชะล้างมันออกไปได้ เพราะมันห้อมล้อมด้วยบรรดาต้นไม้”

ขณะที่ ‘Taliat’ และ ‘Bismillah Atagah’ มีเนื้อหาของความอกหักและความรักที่ไม่สมหวัง เพลงเปิดอัลบั้มอย่าง ‘Chismiten’ ก็พกบรรยากาศยามสายัณห์พร้อมคำอธิษฐานอันแรงกล้าเพื่อต้านทานความรู้สึกอิจฉา หึงหวงและความไม่มั่นคง 

และเพลง ‘Afrique Victime’ ซึ่งถูกใช้เป็นชื่ออัลบั้มด้วยนั้น คล้ายจะเป็นเพลงเดียวที่พูดถึงการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมสมัยใหม่ ที่ต่างชาติมีผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ โดยมีเนื้อร้องบางส่วนเป็นภาษาทามาเช็ก และมีเนื้อร้องส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส ทำให้เราเข้าใจได้ว่าสถานการณ์ในประเทศไนเจอร์ยังคงมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยชาวต่างชาติ ในความยาวกว่า 7 นาทีครึ่งที่เพลงบรรเลงไปพร้อมกับเสียงกลองและเบสที่เลี้ยงจังหวะไปเรื่อยๆ ราวผืนผ้าใบขาวที่กลายเป็นพื้นที่ให้เสียงกีตาร์ของ Moctar ระบายความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความเศร้า โกรธ หมดหวัง สิ้นหวัง ที่ผสมปนเปกัน ก่อนที่จังหวะของบีทกลองและเบสจะค่อยๆ เร่งเร้ามากขึ้น เสียงโซโลของ Moctar ก็แทนความรู้สึกเจ็บปวด แสนทุกข์ทน บาดลึก แต่ก็แฝงความอันตรายในแววตาที่ไม่ยอมแพ้เช่นกัน ก่อนเสียงทั้งหมดนั้นจะค่อยๆ เฟดลงหายไปราวการมาเยือนของห้วงราตรีที่ค่อยๆ โอบกอดบีบนวดความเมื่อยล้าเคร่งเครียดเหล่านั้น

“Africa is a victim of so many crimes/If we stay silent it will be the end of us/Why is this happening? What is the reason behind this?”

“แอฟริกาเป็นเหยื่อในอาชญากรรมมากมาย ถ้านิ่งเงียบ มันจะเป็นจุดจบของเรา ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น? เหตุผลเบื้องหลังคืออะไร?”

ท่อนหนึ่งจากเพลง Afrique Victime

มองเผินๆ ดูเหมือนว่าเพลง Afrique Victime จะไม่เข้าพวกกับเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม แต่มันกำลังทำหน้าที่สะท้อนว่าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของแอฟริกานี้ ก็มีกระแสคลื่นของชีวิตประจำวันไหลเวียนอยู่ โดยเพลงอื่นๆ สื่อสารทั้งความสุขและความผิดหวัง การเฉลิมฉลอง และความเศร้าโศก

photo: Matador

ดนตรีพื้นเมือง อาวุธปลดแอกของคนท้องถิ่น

Moctar กล่าวว่า “มีประเพณีของดนตรีปฏิวัติ (tradition of revolutionary music) ของคนทูอาเร็ก มันเป็นวิธีที่จะสนับสนุนนักรบของเราและเป็นวิธีที่ให้ความรู้แก่คนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิของคุณ และแน่นอนว่าเป็นวิธีนำความสุขมาสู่ชาวทูอาเร็กทุกคนด้วย”

แนวทางปฏิวัติดังกล่าวต้องย้อนกลับไปที่กลุ่มดนตรีทิโชมาเรน (Tishoumaren หรือ Desert Blues, Tuareg Blues) รุ่นบุกเบิกอย่างวง Tinariwen ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มกบฏที่ต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันสำหรับชุมชนทูอาเร็กที่ถูกกีดกันมานานในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ทั่วภูมิภาคซาเฮล โดย Moctar ก็ร่วมต่อสู้ในการลุกฮือทูอาเร็ก (Tuareg uprising) เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2010 เขากล่าวว่า จากข้อเท็จจริงที่คนทูอาเร็ก ไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนพลเมืองในไนเจอร์ คือ ไม่มีน้ำดื่ม ไฟฟ้า โรงเรียนและโรงพยาบาล แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สภาพของชุมชนชาวทูอาเร็กในไนเจอร์นั้นดีขึ้น แต่ว่าภาพรวมของประเทศตอนนี้ ประชาชนทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอดีตเจ้าอาณานิคม (ที่พวกเขาไม่รู้จัก) และไม่ใช่แค่ชาวฝรั่งเศสที่ตั้งรกรากในไนเจอร์เท่านั้น นอกเมืองอกาเดซ (Agadez) กองทัพสหรัฐได้สร้างฐานโดรนมูลค่า 110 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ CIA ตัดสินใจว่าต้องการฐานทัพของตัวเองเช่นกัน ซึ่งอยู่ห่างออกไป 350 ไมล์ในเมืองเดอคู (Dirkou)

Tinariwen วงดนตรีทูอาเร็กจากทางตอนเหนือของประเทศมาลี เคยได้รับรางวาล Grammy Award ปี 2011 ในสาขา Best World Music Album

“การมีอยู่ของฐานทัพเหล่านี้จะเป็นรากของสิ่งที่ทำลายไนเจอร์” Moctar กล่าว “…ก่อนที่กองกำลังทหารเหล่านี้จะเข้ามาในประเทศ มีฐานทัพฝรั่งเศส และตอนนี้เป็นฐานทัพทหารสหรัฐ และนั่นก็ตรงกับช่วงเวลาที่สถานการณ์ผู้ก่อการร้ายเริ่มเลวร้ายลง จนเกินความควบคุมที่ชาวไนจีเรียจะจัดการได้ด้วยตนเอง ประเทศตะวันตกเหล่านี้พูดว่าพวกเขามาเพื่อป้องกันการก่อการร้าย แต่ขณะนี้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เข่นฆ่าผู้คน และกองทัพพวกนี้… คือมันเกิดขึ้นข้างบ้านและพวกเขาไม่ได้ตอบโต้เลย! ถึงกระนั้น แม้พวกเขามีความพร้อมและฝึกฝนมาอย่างดี แต่พวกเขาปฏิเสธที่จะเข้าไปแทรกแซง ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาไม่สนับสนุนกองกำลังท้องถิ่นของเราในทะเลทราย ถ้าพวกเขาต้องการช่วยเรามากขนาดนั้น”

ในปี 2020 สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ Moctar ต้องยกเลิกทัวร์ในอเมริกาเหนือ ในช่วงเวลานั้น เขากลับมาที่บ้านและเดินทางทั่วไนเจอร์แทน เพื่อพบเจอสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน เขาตระหนักว่ามีปัญหาในการเข้าถึงน้ำดื่ม ดังนั้นเขาจึงควักเงินตัวเองสร้างบ่อน้ำกลางทะเลทรายขึ้นทันที และยังมีแผนสร้างโรงเรียนและคลินิกที่หมู่บ้านของเขาอีกด้วย

โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่าสถานการณ์โควิด-19 ในไนเจอร์ไม่ได้รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก (ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อยืนยัน 5,555 ราย และเสียชีวิตสะสม 194 ราย) แต่ผู้คนก็ไม่สามารถรวมตัวทำกิจกรรมได้ เช่น การละหมาดที่มัสยิด หรืองานแต่งงาน Moctar กล่าวว่า สถานการณ์นี้ทำให้นักดนตรีในอกาเดซขาดรายได้ และนักดนตรีท้องถิ่นส่วนใหญ่อยู่อย่างยากลำบาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะในสถานการณ์ปกติ ดนตรีพื้นบ้านเป็นแหล่งหารายได้ที่สำคัญของคนหนุ่มสาว พอๆ กับการเล่นฟุตบอลที่เป็นหัวใจหลักของวัยรุ่นในเมืองอื่นๆ  

ตอนต่อไปของ Mdou Moctar

โปรเจ็คต์ต่อไปของ Moctar น่าจะเป็นผลจากสิ่งที่เขาได้เห็นที่บ้านเกิดในไนเจอร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา

“สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมในตอนนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในแอฟริกา” เขากล่าว “ดนตรีของผมจะได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติมากขึ้น ผมต้องการแต่งเพลงในธีมนั้นจริงๆ … เรากำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความอยุติธรรม การทุจริต และการเอารัดเอาเปรียบโดยประเทศฝรั่งเศส ผมต้องการให้อัลบั้มต่อไปมีกลิ่นอายของธีมเหล่านั้น แต่ผมไม่ใช่คนประเภทที่จะลืมเรื่องความรักได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เชื่อมโยงและผูกรวมผู้คนเข้าด้วยกัน

“ผมต้องบอกว่า ผมมีความสุขมากที่ข้อความของผมกระจายไปทั่วโลก ณ ขณะที่ผมยังมีชีวิตอยู่ นานแล้วที่ดนตรีของผมเป็นแค่เรื่องตลกของที่บ้าน ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะเป็นศิลปินระดับนานาชาติ รู้ไหม ทุกวันนี้ผมยังเห็นตัวเองเป็นมือใหม่ และคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป”

ปัจจุบัน Mdou Moctar เป็นวงดนตรี 4 ชิ้น ประกอบด้วย ฟรอนท์แมนอย่าง มาฮามาดู ซูลีย์มาเน (Mahamadou Souleymane) ทำหน้าที่ร้องนำและ lead guitar, อาห์มูดู มาดาสซาเน (Ahmoudou Madassane) เล่น rythm guitar ซึ่งร่วมงานกับ Moctar ตั้งแต่ปี 2008, ซูลีย์มาเน อิบราฮิม (Souleymane Ibrahim) มือกลองและสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของวง และมือเบสอย่าง ไมคีย์ โคลตัน (Mikey Coltun) จากบรูคลิน ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้จัดการ คนขับรถ โปรดิวเซอร์ และซาวด์เอนจิเนียร์

ในปี 2021 นี้ พวกเขาได้ประกาศทัวร์ระยะสั้นในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมที่สหรัฐอเมริกา และประกาศทัวร์ยุโรปช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 2022 

อ้างอิง  

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า