การเดินทางของเมล็ดข้าว ตอนที่ 1

IMG_0386

ข้าวในจาน

พฤษภาคม เมล็ดพันธุ์จำนวนนับไม่ถ้วนถูกหว่านไปทั่ว จากมือใครคนหนึ่ง เขาคนนั้นแหงนหน้ามองหมู่เมฆที่ตั้งเค้า จวบจนฝนโปรยลงมา ไม่นาน กล้าอ่อนเริ่มแทงพ้นดิน ก่อนจะปรากฏเป็นต้นข้าวเขียวขจีเต็มท้องนา เช่นเดียวกับรอยแห่งความสุขที่ผลิบานบนใบหน้า

พฤศจิกายน อากาศชื้นของหน้าฝนถูกแทนที่ด้วยลมหนาวอ่อน เช่นเดียวกับความเขียวที่แปรเปลี่ยนเป็นสีทอง เมล็ดพันธุ์นับไม่ถ้วนนั้นก่อกำเนิดเป็นชีวิตใหม่มากมายทบทวี เขาคนนั้นก้มหน้า หันหลังให้ฟ้า มือกำเคียวเก็บเกี่ยวผลผลิตแห่งฤดูกาลด้วยรอยยิ้มเช่นเดิม

ชีวิตของใครอีกหลายคนก็มีวิถีแบบเดียวกันนี้ – ชาวนา ผู้ปลูกข้าวอินทรีย์

ข้าวทุกเมล็ดมีเรื่องราว และบันทึกตัวอักษรสั้นๆ ไม่อาจบรรยายขั้นตอนการเดินทางจาก ‘นา’ สู่ ‘จาน’ ได้ละเอียดถี่ถ้วน

เรารู้กันมาตั้งแต่เด็กว่าข้าวเป็นอาหารหลักประจำมื้อของคนเอเชีย โดยเฉพาะย่านอุษาคเนย์อันเป็นที่ราบลุ่ม สภาพแวดล้อม ดิน น้ำ เหมาะกับการปลูกข้าว ไม่ว่าไทย ลาว พม่า เวียดนาม ต่างมีชีวิตอยู่ด้วยธัญพืชสายพันธุ์เดียวกัน

โตขึ้นมาอีกหน่อย เราเริ่มทำความเข้าใจว่า ข้าวที่นอนเรียงเม็ดให้เรากินล้วนมีที่มา

“เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ

เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน…”

โรงเรียนอนุบาลสอนบทวีของ จิตร ภูมิศักดิ์ เปิบข้าว ให้นักเรียนท่องก่อนอาหารมื้อเที่ยง

ข้าวไม่มีทางมาอยู่ในจานได้ หากไม่มีใครบางคนต้องยอมทนลำบาก แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย…แล้วเราก็เริ่มรู้จักว่า ‘ชาวนา’ คือใคร…ข้าวมีคุณค่าอย่างไร

ในชีวิตเมืองแสนรีบเร่ง เด็กหลายคนโตในรถ อาหารมื้อด่วนกลายเป็นความเคยชิน

“ข้าวต่างกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยเหรอ?” แน่ละ น่าสงสัย…เพราะทุกอย่างมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน บนชั้นในห้างสรรพสินค้า หรือไม่ก็ตู้แช่จากร้านสะดวกซื้อ และสิ่งที่เหมือนกันอีกอย่างคือ มันเดินทางสู่ไมโครเวฟ

ไม่ใช่แค่การมองเห็นคุณค่าของข้าวปลาเท่านั้น แม้แต่ความสงสัยใคร่รู้อยากสืบค้นที่มาของอาหารในจานก็เป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า ไม่น่าสนใจเท่าความเคลื่อนไหวบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค

“ไม่มีใครสนใจหรอกคุณ ว่าเรากินอะไรอยู่ เอาแค่กินๆ ให้อิ่มท้องก่อน เดี๋ยวว่างๆ ผมค่อยคิดเรื่องนี้นะ” ลึกๆ หลายคนเชื่อเช่นนี้

อะไรที่ได้มาง่ายๆ คุณค่าของมันจะถูกความเคยชินเจือจนจางลง เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่า อยู่มาวันหนึ่ง เรื่องปากเรื่องท้อง โดยเฉพาะอาหารการกินอย่างข้าวที่เคยเป็นสิ่งสำคัญกลับต้องมาเผชิญสถานการณ์ที่ว่า

และการมองเห็นคุณค่าของข้าว คงไม่ใช่แค่สวมบทบาทชาวนา หรือกินข้าวให้หมดจาน

นอกสังคมระดับวงสำรับ บทบาทของข้าวก็ถูกลดทอนลงเรื่อยๆ เช่นกัน หลังจากเกษตรกรรมเปลี่ยนสภาพจากการทำมาหาเลี้ยงปากท้องเป็น ‘อุตสาหกรรมการเกษตร’ แน่นอนว่าเมื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น ผลกำไรเข้ามามีเอี่ยว ใครๆ ก็อยากขายผลผลิตได้มาก ตัวช่วยต่างๆ ก็พาเหรดกันเข้ามาสู่ไร่นา นำโดยปุ๋ยเคมีและสารพิษกำจัดแมลง

และอย่างที่รู้กัน ปุ๋ยและยานับวันจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ และผู้ที่ต้องแบกรับภาระนี้ก็คือเกษตรกร ปัจจัยเหล่านี้เพิ่มพูนรายจ่ายเป็นทวีคูณ ในขณะที่ราคาผลผลิตคงที่ จนเมื่อถึงจุดเสียสมดุล ต้นทุนสูงกว่าราคาขายข้าว หนี้สินก็บังเกิด บางคนถึงกับต้องระเห็จออกจากที่ดินทำกินของตัวเอง จนต้องพลิกบทบาทจากเจ้าของที่ดินมาเป็นเพียงผู้รับจ้างทำนา

นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุเพื่ออธิบายว่า ทำไมเกษตรกรกับปัญหาความยากจนถึงเป็นของคู่กันมาโดยตลอด ซึ่งจะโทษระบบอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอย่างเดียวก็คงไม่ถูก ในเมื่อเราทุกคนต่างก็อยู่บนวิถีการบริโภคแบบนี้ด้วยความสมัครใจทั้งนั้น

ความเป็นจริงที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ สารพิษจากระบบอุตสาหกรรมการเกษตรไม่ได้หายไปกับสายฝน หรือละลายไปกับหยาดเหงื่อชาวไร่ชาวนา มันยังคงตกค้างอยู่บนใบผัก เปลือกผลไม้ เมล็ดข้าว จนมาสู่ปากเรา-ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ ผู้บริโภคลำดับสุดท้ายก็กลายเป็นธนาคารสะสมสารพิษชั้นดี

เมื่อเราอยู่ในยุคบริโภคสิ่งที่ดู ‘คล้าย’ อาหาร และต้องรับมือกับสารปนเปื้อนที่นับวันจะยิ่งมีมากขึ้น การมองย้อนไปให้เห็นคุณค่าและรากเหง้าของอาหารข้าวปลาคงไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญกว่าคือ การคิดต่อยอดไปให้ไกลถึงความปลอดภัยของอาหารในอนาคต

เชื่อกันว่า เกษตรอินทรีย์ คือทางออกของปัญหาข้างต้น นอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคแล้ว วิธีการทำเกษตรแบบไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีเป็นพิษยังเป็นทางรอดสำคัญของชาวนา เป็นกุญแจดอกสำคัญในการปลดพันธนาการหนี้สิน

นี่คือที่มาของข้าวอินทรีย์

“แล้วข้าวจากนาเกษตรอินทรีย์ ต่างจากนาอื่นๆ อย่างไร?”

“ข้าวอินทรีย์ที่อยู่ในจาน ต่างจากจานอื่นๆ อย่างไร?”

“ทำไมข้าวอินทรีย์แพงกว่าข้าวธรรมดา?”

ล้วนชวนหาคำตอบ เมื่อคนกินเริ่มคิดถึงคุณค่าของอาหารในจาน แต่หากไม่ได้เห็นข้าวเดินทาง อาจจะแยกไม่ออกด้วยตาเปล่า

บันทึกข้าวอินทรีย์ บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของข้าวอินทรีย์ จากนาสู่จาน ผ่านชีวิตจริงของเกษตรกรผู้ร่วมโครงการ ‘ข้าวหอมมะลิอินทรีย์’ ที่ทุ่งลอ รอยต่อเชียงราย–พะเยา ผู้ยืนยันว่า แนวทางเกษตรอินทรีย์นั้นคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของอาหารและระบบการเกษตรอย่างแท้จริง

เริ่มต้นเมื่อปี 2534 จนผ่าน 20 ฤดูกาล รอยยิ้มของชาวนายังปรากฏที่ทุ่งลอเสมอ ไม่ว่าวันนั้นท้องทุ่งจะเป็นสีเขียว หรือฉาบทาด้วยสีทอง แนวคิดเกษตรอินทรีย์ลงหลักปักฐานแล้ว ตั้งแต่เริ่มหว่านจนถึงวันเกี่ยว ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ

จะหาอะไรมาเจือจางความสุขบนใบหน้านั้นไป…คงไม่มี

 

 

 

 

 

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า