02 จุดเริ่มต้น
ไม้ใหญ่สามารถงอกงามยืนต้นสูงสง่าได้จากเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ฉันใด การเดินทางของข้าวอินทรีย์เมื่อแรกก้าวก็ไม่ต่างกัน
ราวปี 2534 ตลาดสินค้าอินทรีย์ในยุโรปกำลังเติบโต ชาวตะวันตกเริ่มหันมาบริโภคอาหารอินทรีย์ หากเป็นข้าว ก็จะมีข้าวบาสมาติของอินเดีย ซึ่งมีการทำเป็นอินทรีย์ขายในตลาดยุโรปอยู่เดิม แต่หากวัดกันตัวต่อตัวในด้านความนิยมของครัวโลกแล้ว ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นคู่ต่อกรสูสีที่ฝรั่งยืนยันว่าอร่อยไม่แพ้กัน เพียงแต่ในรายของข้าวหอมมะลินั้น ยังไม่มีใครทำออกมาในรูปแบบของข้าวอินทรีย์
“ตอนนั้นทำเรื่องข้าวบาสมาติ หรือข้าวแดง ข้าวญี่ปุ่น และข้าวคุณภาพอย่างอื่นอยู่ จริงๆ ข้าวทุกอย่างก็น่าสนใจนะ แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ ข้าวหอมมะลิ เพราะยังไงก็เป็นเอกลักษณ์ไทย เรื่องคุณภาพก็หนีไทยไปไม่พ้นแน่ๆ”
ไพรัช โตวิวัฒน์ ผู้บริหาร ไชยวิวัฒน์อุตสาหกรรมการเกษตร หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไทยในตลาดโลก
บริษัท ไชยวิวัฒน์อุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด หรือเดิมคือ โรงสีเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์ เป็นบริษัทที่ทำเรื่องข้าวครบวงจร ทั้งยังมีเครือข่ายการประสานงานแน่นแฟ้นกับเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ห้าจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา และแพร่
งานศิลปะชิ้นสำคัญของจิตรกรเอกยังจำเป็นต้องมีเส้นร่าง ก่อนจะเปลี่ยนแผนงานในกระดาษให้เป็นจริง ย่อมต้องมีการวางแผน
เมื่อภาพของโครงการข้าวอินทรีย์ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น ทุกฝ่ายล้วนมองเห็นเป้าหมายในการนำผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ออกสู่ตลาดโลกร่วมกัน จึงเกิดการจับมือทางธุรกิจขึ้นระหว่าง นครหลวงค้าข้าว เชียงใหม่ไชยวิวัฒน์ และ ริเซอร์เรีย มอนเฟอร์ราโต
ทั้งสามบริษัท ต่างแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันตามความเชี่ยวชาญของตน และตามสายพานการผลิต โดย โรงสีเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์ เป็นฝ่ายประสานงานกับเกษตรกร หาพื้นที่เหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรหลักในการผลิตข้าว ส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์กับชาวนาในพื้นที่ แล้วจึงรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาไปทำการสี จากนั้น นครหลวงค้าข้าว จะเข้ารับไม้ต่อ ในขั้นตอนการบรรจุหีบห่อ ดูแลเรื่องตลาดและการส่งออก ส่วน ริเซอร์เรีย มอนเฟอร์ราโต จากอิตาลี เป็นผู้รับช่วงเรื่องกระจายสินค้าออกสู่ตลาดในภาคพื้นทวีปยุโรปโดยเฉพาะ
เมื่อองค์ประกอบในการทำธุรกิจสอดประสานกันอย่างลงตัว แต่โครงการข้าวอินทรีย์ยังไม่อาจเดินหน้าได้เต็มกำลัง เพราะมองในแง่ของตลาดและการส่งออกแล้ว ปัจจัยทุกอย่างมีพร้อมก็จริง แต่ด้านการเกษตร ชาวนา และพันธุ์ข้าว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของโครงการข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ยังไม่พร้อม
จิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งของภาพทุ่งข้าวอินทรีย์ออกรวงสีทองทั่วท้องทุ่ง ยังไม่ถูกวางเข้าที่
ไพรัชกล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ อาจจะยังขาดชิ้นส่วนสำคัญไป คือ หน่วยงานของราชการซึ่งมีความรู้เรื่องข้าว เป็นที่ปรึกษาในด้านการทำเกษตร และพร้อมจะเป็นฝ่ายประสานงานกับชาวนาในพื้นที่ จึงได้ติดต่อไปยังสถาบันวิจัยข้าว ทำให้ ดร.บริบูรณ์ สมฤทธิ์ เดินทางจากกรุงเทพฯสู่เชียงราย และรับหน้าที่ประสานงานกับศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย หรือสถานีทดลองข้าวพานเดิม ในเรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
“เราเริ่มหารือกันประมาณปี 34 คุณไพรัชหอบเอกสารเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ทั้งของอเมริกาและของอียูมาให้ผมดู พวกหลักคิด ข้อกำหนดต่างๆ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แล้วผมก็ช่วยเขียนโครงการให้ แล้วเราก็เริ่มโดยเอาต่างประเทศเข้ามา ไปดูพื้นที่ที่เชียงรายที่เราจะจัดทำโครงการ ก็คือทุ่งลอ เราพาทีมงานจากต่างประเทศเข้าไปเก็บตัวอย่างทั้งดิน น้ำ ข้าว จากนั้นก็เริ่มดำเนินการ ผ่านช่วงปรับเปลี่ยนตอนปี 35 แล้วปี 36 สินค้าข้าวอินทรีย์ก็เริ่มออกสู่ตลาด” ดร.บริบูรณ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ซึ่งขณะนั้นเป็นนักวิชาการเกษตร 8 สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร
เมื่อเป็นการค้าแบบส่งออก จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพอพ้นพรมแดนไทยไป มาตรฐานหรือหลักเกณฑ์อะไรที่คุ้นชินและใช้อยู่จะต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามตลาดผู้รับซื้อ ในที่นี้ คือ ยุโรป ซึ่งมีมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป หรืออียู รองรับอยู่ ดังนั้น หลักวิชาการและความร่วมมือจากภาครัฐ จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การจัดการด้านมาตรฐานเป็นไปได้อย่างราบรื่น
จุดเริ่มต้นง่ายๆ ในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จัดระบบ และจัดการพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมในการเพาะปลูกข้าวของภาคเหนือตอนบน ไปปรับปรุงเพื่อวางแผนว่าจะสามารถเปลี่ยนไปสู่อินทรีย์เต็มรูปแบบได้อย่างไร จนถึงเริ่มมีการควบคุมทั้งการใช้เมล็ดพันธุ์ การให้ปุ๋ย ให้ยา ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนที่จะส่งไปขอตรวจสอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
โครงการเริ่มต้นจริงจัง เอกชนสามส่วน ถูกเติมเต็มช่องว่างด้วยหน่วยงานภาครัฐอีกส่วนหนึ่ง แต่ก่อนจะได้การรับรองอย่างเป็นทางการจาก บริษัท ไบโออะกริเซิร์ท (Bioagricert) ฝ่ายตรวจสอบของทางอิตาลี ซึ่งได้รับรองระบบงานจาก สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation Organic Movement: IFOAM) ได้เข้ามาส่วนร่วมในการตรวจสอบให้ตรงตามมาตรฐานยุโรป
แม้จะเป็นบริษัทจากยุโรป ไม่ว่าจะพัฒนามากแค่ไหน แต่ถ้าเรื่อง ‘ข้าว’ ต้องนับเป็นของใหม่ ทางไบโออะกริเซิร์ทเองก็ต้องอาศัยความร่วมมือและข้อมูลจากศูนย์วิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยข้าว สถานีทดลองข้าวพาน (ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย) และศูนย์วิจัยข้าวสันป่าตอง ของบ้านเราด้วยเหมือนกัน นับเป็นการเติมเต็มข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อให้การพัฒนาโครงการข้าวอินทรีย์ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทุ่งลอ นาอินทรีย์
โอบล้อมด้วยภูเขาด้านหนึ่ง อีกฟากเป็นทุ่งนากว้างจรดขอบฟ้า ข้าวเพิ่งตั้งต้นไม่ต่างจากนาข้าวในภาคกลางที่มีอาณาบริเวณไพศาล ต้นฤดูการทำนา แม้ล่าช้าไปกว่าการหว่าน ปักดำ แต่ยอดข้าวเขียวชอุ่มที่ชูช่อฉ่ำฝนกลางนา ก็เป็นภาพเล่าเรื่องราวได้อย่างมีชีวิตชีวา
‘ทุ่งลอ’ พื้นที่รอยต่อระหว่าง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ถูกคัดเลือกให้เป็นผืนนาอินทรีย์ ด้วยการบุกเบิกของฝ่ายส่งเสริมการเกษตร โรงสีเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์ ศักดิ์สิทธิ์ ธรรมศร
“ตอนเข้าไปที่แรก ปี 34-35 ผมต้องใช้มอเตอร์ไซค์เข้าไป เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นลูกรัง ทางเกวียน ไม่สามารถใช้รถยนต์ได้”
ในฐานะผู้เข้ามาใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชาวนาแห่งทุ่งลอจะยอมรับแนวทางเกษตรอินทรีย์ เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จักมาก่อน
“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เกษตรอินทรีย์ไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญมากเท่าไหร่ ทีแรกนัดประชุมแต่ละหมู่บ้านว่าเราจะเข้ามาทำเกษตรอินทรีย์ ไม่มีใครมาฟังกันเลย แล้วเขาก็ไม่รู้ว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร เขายังมองว่าที่เขาทำอยู่มันก็คงไม่แตกต่าง เพราะมันอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนของเกษตรกร เพราะสภาพพื้นที่ตรงนั้นมันไม่มีอะไรที่จะมาจูงใจให้เขาเข้าร่วมโครงการ”
การเริ่มต้นของทีมบุกเบิกจึงไม่ใช่การชักชวนเกษตรกรให้มาสนใจในแนวทางอินทรีย์โดยตรง แต่เป็นการติดต่อผ่านผู้นำชุมชน ศักดิ์สิทธิ์บอกว่า บางครั้งถึงกับต้องมีของล่อใจ
“ตอนนั้นเราพยายามหาวิธีการชักจูงให้คนมาร่วมประชุม แต่ว่าผมก็เลยหาวิธีการว่าจะทำยังไงให้เกษตรกรเข้ามาร่วมฟังนโยบายของเรา มีวิธีเดียวก็คือ หาอะไรมาแจกแลกกับการมาร่วมประชุม ผมก็เลยต้องเอาจอบมาให้ เพื่อให้เขามาฟัง ก็ได้รับความสนใจ เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรมารับฟัง เพราะบ้านเรา เวลาจะนัดประชุมที ถ้าเขาไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เขาจะไม่ค่อยมาร่วมกัน”
เมื่อนโยบายของโครงการเกษตรอินทรีย์เข้าสู่หูเกษตรกรแล้ว ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้อย่างเรียบง่ายมากขึ้น
“หลังจากได้ฟังนโยบายโครงการ เขาก็ให้ความสนใจกัน เราก็เริ่มมองหาเป็นกลุ่มๆ เลยว่า หาคนเป็นผู้นำขึ้นมา หลังจากนั้นก็เลยตั้งเป็นกลุ่ม”
ด้วยคุณสมบัติเพียบพร้อม เป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ มีภูเขาล้อมรอบ และแหล่งน้ำไหลผ่าน ที่นาทั้งหมดกว่า 20,000 ไร่ จึงถูกคัดเลือกเข้าโครงการประมาณ 6,000 ไร่
ในฐานะผู้รับหน้าที่บุกเบิกพื้นที่ ไพรัช และ ศักดิ์สิทธิ์ ฝ่ายส่งเสริมการเกษตรของโรงสีเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์ เริ่มต้นจากการเข้าไปซื้อข้าวหอมมะลิ ระหว่างนั้นก็ได้มีการร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดด้วย นั่นหมายถึงว่า ประตูสู่ทุ่งลอเริ่มเปิด ราคาและมาตรฐานการเกษตร เริ่มเท่าทันโลกภายนอก
ปกติการทำนาของชาวบ้านทุ่งลอ เป็นนาปีแบบดั้งเดิม หรือทำเพียงครั้งเดียวต่อปี ไม่มีการปลูกพืชอื่นสลับ ซึ่งจริงๆ ต้องถือเป็นข้อดี เพราะไม่มีพืชชนิดอื่นไปแย่งความอุดมสมบูรณ์ ทั่วทั้งพื้นที่นา จึงมีแต่ความเขียวเต็มไปหมด
“เรื่องแรกคือการส่งเสริม เราก็จัดระบบการเกษตรเข้าไป เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้เขา สอง เราก็ได้ทดลองไปด้วย นอกจากเมล็ดพันธุ์ เราก็ทำเรื่องการไล่แมลงแบบธรรมชาติ เพื่อให้เขาทิ้งการใช้สารเคมี ช่วยหาวิธีปรับปรุงดินอย่างอื่น อาทิ ถั่วเขียว สาหร่ายแกมน้ำเงิน อันไหนที่เป็นประโยชน์ และโครงการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ห้าม เราก็เอาไปทดลองเกือบหมด” ไพรัชเล่าถึงกระบวนการเข้าสู่วิถีอินทรีย์ที่เข้าไปมีส่วนร่วม
แน่นอนว่าการเข้าไปครั้งแรกย่อมมีอุปสรรค แม้ฝ่ายส่งเสริมของเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์จะพยายามช่วยเหลือด้านการเกษตร แต่สิ่งที่เกษตรกรบางคนต้องการความมั่นใจยังเป็นเรื่องราคาข้าว ไปจนถึงการต่อต้านจากชาวบ้าน เพราะวิธีการใหม่ๆ บางอย่างอาจจะขัดใจผู้อนุรักษ์ภูมิปัญญาเดิมๆ ไปบ้าง
เช่นเดียวกับเสียงเรียกร้องของเกษตรกรที่ยังไม่เข้าใจเกษตรอินทรีย์มากนัก พวกเขายังคงถามไถ่รายละเอียดราคา ส่วนแบ่งผลผลิต และสิทธิ์ในการเก็บเมล็ดพันธุ์ แต่ไม่ถึงกับต่อต้าน เพราะรู้ว่าวิถีธรรมชาติเป็นเรื่องดี แต่นั่นก็เป็นการเพิ่มภาระและข้อแม้ให้กับพวกเขาไปในตัว
อาจจะเป็นโชคดีของพื้นที่ห่างไกล ที่แม้ถนนก็ยังเข้าไม่ถึง เดิมที เกษตรกรทุ่งลอแทบไม่ได้ใช้สารเคมีอยู่แล้ว พวกเขายังอิงอยู่กับระบบเพาะปลูกที่เป็นธรรมชาติ เพราะเมื่อห่างไกลความเจริญ ย่านอุตสาหกรรมเข้าไม่ถึง การคมนาคมไม่สะดวก ไม่มีพ่อค้าและเกษตรกรคนไหนลงทุนแบกปุ๋ยและยาเข้าไป วิถีการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมของที่นี่ จึงมีความใกล้เคียงกับระบบเกษตรอินทรีย์ไม่น้อย
แต่ไม่ใช่ว่าพอได้พื้นที่และมีการเพาะปลูกแล้ว จะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวขายได้เลย เพราะมาตรฐานอินทรีย์ของอียูระบุชัดเจนว่า พื้นที่เกษตรนั้นๆ ต้องไม่มีการใช้สารเคมีมาก่อน หรือหากพบสารตกค้าง ก็ต้องพักดินไว้อย่างน้อย 2-3 ปี ดังนั้น กว่าการซื้อขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์อย่างเต็มพื้นที่จะเป็นจริงได้ ก็ประมาณ ปี 2537
บุกเบิกแนวคิดอินทรีย์
สมัยนี้ถนนเข้าไปถึงทุ่งลอพร้อมๆ กับสายไฟฟ้า ภาพที่เคยเป็นลูกรังเปียกแฉะเจิ่งน้ำในหน้านา ถูกเปลี่ยนไปเป็นทางลาดยางรถสวนกันได้
เส้นทางนี้ได้นำพาบางอย่างเข้าสู่ชุมชนเกษตรกรแห่งทุ่งลอ
การเข้าถึงตัว จนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร นอกจากจะเกิดขึ้นจากฝ่ายส่งเสริมโรงสีเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์แล้ว ในส่วนของหน่วยราชการ สถานีทดลองข้าวพาน จังหวัดเชียงราย ก็ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้นำแนวคิดเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ทุ่งลอ
บุญดิษฐ์ วรินทร์รักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวแพร่ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว หนึ่งในทีมบุกเบิก และเป็นคนกลางทำหน้าที่สื่อสารระหว่างกลุ่มธุรกิจกับชาวนาในพื้นที่ บุญดิษฐ์เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มแรก หรือระหว่างปี 2534-35 ทำหน้าที่นักวิชาการเกษตร 5 สังกัดสถานีทดลองข้าวพาน ในขณะนั้น
“บทบาทหลักๆ คือการจัดระบบการจัดการพื้นที่ปลูก ตอนนั้นสถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร เรามีคำแนะนำในการปลูกข้าวโดยทั่วไปอยู่แล้ว ก็เอามาดูร่วมกับการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลการปลูกข้าวในทุ่งลอ แล้วมาประมวลดูว่า อันไหนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทางไบโออะกริเซิร์ท จะเป็นคนดูในเรื่องนี้
“ผมจะเอาคำแนะนำและสิ่งที่ชาวนาทำจริง มาดูว่าเรื่องไหนไม่เข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งเขาจะถือว่ามีความเสี่ยงต่อการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเราก็ต้องมาปรับให้เข้ากับเกณฑ์ของยุโรป และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ทุกอย่าง ตั้งแต่แหล่งเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน การใช้ปุ๋ย ป้องกันกำจัดศัตรูพืช การจัดการน้ำ การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการเก็บรักษาข้าวเปลือกที่เหมาะสม” บุญดิษฐ์กล่าว
เป็นธรรมดาที่ช่วงแรกๆ ต้องเจอกับเสียงต่อต้าน ด้วยความไม่พร้อมของทั้งชาวนา และระบบเกษตรอินทรีย์ผู้มาใหม่เอง ทำให้การวิจัยเพื่อปรับพื้นที่ทุ่งลอให้เป็นเกษตรอินทรีย์ถูกตั้งเป็นโจทย์ใหญ่ของทีมวิชาการ
“ช่วงปี 2535-40 ตอนนั้น ยังไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยกับการทำวิจัยเกี่ยวกับข้าวอินทรีย์ ซึ่งเราพบว่า ทั่วโลกไม่มีใครทำวิจัยเรื่องข้าวอินทรีย์ เพราะทางยุโรป และอเมริกา ถือว่าใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาจัดระบบให้เป็นระบบเกษตรอินทรีย์ได้เลย แต่ของเราคิดอีกอย่างหนึ่ง พอเราวางแผนการผลิตแล้วได้เข้าไปสัมผัสจริงในนา ปรากฏว่า มันมีโจทย์ มีประเด็นที่จะต้องให้เราทำการวิจัย ฉะนั้น เราเลยเซ็ตงานวิจัยขึ้นมาเป็นโครงการวิจัยเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2540”
งานวิจัยเริ่มต้นขึ้นควบคู่กับการปลูกข้าวอินทรีย์ในทุ่งลอ มีการนำผลการศึกษาไปใช้จริงในพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งสามารถตอบสนองเรื่องระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ และปัญหาภายในพื้นที่ได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ เรื่องเมล็ดพันธุ์ วิธีปลูก การจัดการน้ำ ดิน ปุ๋ย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว จนผ่านไปหลายปี ผลงานของกลุ่มนักวิชาการเกษตรเหล่านี้ ก็เป็นที่ยอมรับในหมู่เกษตรกรมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้งานวิจัยข้าวอินทรีย์จะสิ้นสุดลงในปี 2550 พร้อมๆ กับการย้ายไปทำงานที่ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาของบุญดิษฐ์ แต่ชาวบ้านทุ่งลอก็ไม่ได้โชคร้ายถึงขนาดเสียนักวิชาการเกษตรผู้ร่วมหัวจมท้ายไป เพราะปัจจุบัน บุญดิษฐ์ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ และยังรับหน้าที่ให้คำปรึกษากับกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เหมือนเดิม
พัฒนากลุ่มเกษตรกร
เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยดูจะเสียเปรียบในเรื่องการเกษตร เหมือนที่รู้กันโดยทั่วไปว่า เกษตรกรบ้านเรายากจน ในขณะที่ของต่างประเทศเป็นอะไรที่ตรงกันข้าม
ทั้งเพื่อตอบสนองเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา และหวังกำไรจากสินค้าอินทรีย์ คนทำข้าวอินทรีย์หลายกลุ่มจึงต้องมองภาพในเชิงการลงทุน และธุรกิจเป็นหลัก
“ทุกครั้งเกษตรกรจะถามว่า เขาจะได้อะไรจากตรงนั้น ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศอย่าง ยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น การทำเกษตรอินทรีย์จะได้ผลตอบแทนทางด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ก็คือใบรับรองการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีมูลค่าทางสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ซึ่งรัฐจะช่วยอุดหนุนโดยไม่อยู่ในเกณฑ์การค้าของ WTO (องค์การการค้าโลก) แต่ประเทศไทยไม่มีจุดนั้น” อดีตนักวิชาการเกษตร เล่าย้อนถึงปัญหาในการนำแนวคิดอินทรีย์เข้าไปปักหมุดในทุ่งลอ
“เราก็อยู่ตรงกลางระหว่างภาคเอกชน กับเกษตรกร ซึ่งต้องหาข้อยุติตรงนี้ให้ได้ การที่จะพัฒนาไปข้างหน้าน่าจะลำบาก สุดท้ายเราก็มีการตั้งเกณฑ์ว่า ให้บริษัทรับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกร จะต้องใช้ฐานราคาจากที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเราก็กำหนดให้เป็นของพาณิชย์จังหวัด เกษตรกรก็พอใจระดับหนึ่ง ด้วยมูลค่าทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย ที่ยังไม่ออกมาในประเทศไทยจนถึงเดี๋ยวนี้
“ฉะนั้น มันก็พึ่งได้ทางเดียวคือ มูลค่าของสินค้า หรือตัวข้าวอินทรีย์เอง ซึ่งก็เป็นข้อที่ทำให้การเติบโตของข้าวอินทรีย์และเกษตรอินทรีย์เป็นไปได้ช้า”
ทุ่งลอ มีการใช้กระบวนการทางด้านเกษตรสังคมเข้ามาช่วย ประมาณปี 2543-2545 โครงการช่วยเหลือเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน ของประเทศเดนมาร์ก (SADP/DANCED) เข้ามาในพื้นที่ โดยผ่านทางกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหน่วยงานนี้จะทำเรื่องกระบวนการพัฒนา บริหารกลุ่มเกษตรกรอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นผลประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะระดับแกนนำกลุ่ม เพราะเป็นการฝึกทักษะการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม รวมถึงการบริหารจัดการเชิงธุรกิจเบื้องต้น
ปกติการรวมกลุ่มของเกษตรกรทางภาคเหนือจะหลวมกว่าทางอีสานมาก เนื่องจากไม่มีแรงกดดันทางสภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจ ดังนั้น ชาวบ้านแต่ละคนจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งถือเป็นที่มาของปัญหาในการรวมกลุ่ม
โครงการนี้จะเน้นการพาออกนอกพื้นที่ไปดูงาน มากกว่าการสอนหรือฝึกอบรม เช่น การพาไปศึกษาการรวมกลุ่มเกษตรกรในภาคอีสาน และภาคตะวันออก โดยการออกพื้นที่แต่ละครั้งจะไม่มีการจัดเป็นทางการให้มากพิธีรีตรอง แต่เน้นการพบปะกันระดับชาวบ้าน ให้ไปกินนอน ไปอยู่ด้วยกันในหมู่บ้าน จนกระทั่งเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเอง
จนปัจจุบัน แทบไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐใดๆ เข้าไปส่งเสริม เมื่อประสบการณ์มากพอ ชาวนาทุ่งลอสามารถให้ความรู้และเป็นวิทยากรเองได้ และไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ชุมชนเดียวกันเท่านั้น ชาวนาอินทรีย์ที่นี่สามารถบรรยาย และเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ที่มีความสนใจในแนวคิดอินทรีย์ได้อย่างสบายๆ
“ส่วนปัจจัยการผลิตอีกสองสามตัว อาทิ เราไปสอนเขาทำเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ที่ได้ส่วนหนึ่งใช้ปลูก ที่เหลือก็นำไปขายได้ หรือการทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ก็ใช้ภายในให้พอ เหลือจากนั้นค่อยขาย พูดง่ายๆ คือสอนให้เขามองหารายได้จากช่องทางอื่น นอกจากตัวค่าข้าวอย่างเดียว โดยเฉพาะเรื่องของการเผยแพร่ความรู้ น่าจะพัฒนาไปได้อีก”
นั่นเป็นเพียงปัญหา และการคลี่คลายที่เกิดขึ้นระหว่าง กลุ่มผู้ทำธุรกิจข้าวอินทรีย์ นักวิชาการ และชาวบ้าน ซึ่งไม่อาจพูดได้ว่าเมื่อผ่านด่านนี้แล้ว การเดินไปสู่เป้าหมายข้าวหอมมะลิอินทรีย์จะราบเรียบ เพราะแนวคิดอีกด้านของวงการเกษตร คือ การใช้ปุ๋ยและยาอย่างเข้มข้นก็กำลังเติบโตคู่ขนานไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องแก้ปัญหากันในระยะยาว
สำหรับทุ่งลอ เมื่อแนวคิดเกษตรอินทรีย์มีความเข้มแข็ง ตัวเกษตรกรเองเมื่อรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นก็สามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองกับตลาดได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เชื่อแน่ว่า แนวคิดอินทรีย์นี้จะอยู่คู่แผ่นดินทุ่งลอไปอีกนานเท่านาน
สู่ตลาดโลก
เนื่องจากโครงการข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทุ่งลอ เป็นความร่วมมือกับคู่ค้าจากประเทศอิตาลี ประกอบกับนครหลวงค้าข้าวมีบทบาทเป็นผู้ส่งออกข้าวอยู่แล้ว ตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ต่างประเทศถึงร้อยละ 90 ในขณะที่ภายในประเทศซึ่งนครหลวงค้าข้าวผลิตขายในชื่อ ไทไท และ เกรทฮาร์เวสต์ คิดเป็นร้อยละ 10 เท่านั้น
แม้ราคาจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศลังเลที่จะซื้อข้าวอินทรีย์ แต่ถ้าหากผู้บริโภคในบ้านเรามีความรู้ความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง ข้าวอินทรีย์ที่ไม่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตเลย เมื่อเทียบกับข้าวทั่วไปที่ปลูกโดยมีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ก็เชื่อมั่นได้ว่าผู้บริโภคในประเทศจะหันมาสนใจบริโภคข้าวอินทรีย์กันมากขึ้นอย่างแน่นนอน
“ตลาดของเรา หลักๆ เลยคือ ยุโรป ซึ่งก็มี อิตาลี ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของเรา แล้วเขาก็เอาไปกระจายทำตลาดต่อในภูมิภาคยุโรป นอกจากนี้ก็มีส่งออกไปอเมริกา ออสเตรเลีย จีน”
สุณี วิศิษฎ์วรณัฐ ฝ่ายการค้าเกษตรอินทรีย์ นครหลวงค้าข้าว ให้ข้อมูลด้านการตลาดของว่า เนื่องจากกระแสอาหารอินทรีย์ผลิบานขึ้นในยุโรป ทำให้ผู้คนหันกลับมาสนใจทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ไปจนถึงการต่อต้านเคมีภัณฑ์ในอาหาร ที่นับวันจะมีผลการทดลองและการวิจัยออกมารองรับมากมายว่า สารเคมีตกค้างหลายอย่างในอาหารเป็นปัจจัยทำลายสุขภาพ
ไม่ใช่เฉพาะสหภาพยุโรปเท่านั้นที่มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสินค้าอินทรีย์ แต่เกือบทุกประเทศที่มีการบริโภคอาหารอินทรีย์ต่างก็มีข้อกำหนดเป็นของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะมีไว้เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีการซื้อขายกันภายในประเทศแล้ว ยังใช้เป็นเกณฑ์เพื่อคัดเลือกสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย
การตั้งเกณฑ์มาตรฐานของแต่ละชาติก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป โดยอาศัยหลักการพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์คล้ายๆ กัน อาทิ ห้ามใช้สารเคมี ห้ามใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์ (non GMO ) เป็นต้น
สำหรับแหล่งผลิต ไม่ใช่ใครนึกอยากจะปลูกพืชไม่ใช้ปุ๋ยแล้วจะเป็นเกษตรอินทรีย์ได้เลยทันที เพราะจะมีช่วงระยะเวลาปรับเปลี่ยน ตามแต่มาตรฐานของสินค้านั้นๆ จะกำหนด อย่างในกรณีข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หากต้องการได้รับการรับรองมาตรฐานยุโรป จะต้องมีการทำเอกสารยอมรับข้อตกลงว่าจะไม่มีการใช้สารเคมีในพื้นที่ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงเวลาปรับเปลี่ยนสองปี ก่อนที่จะอ้างว่าผลิตผลจากพื้นดินนั้นเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ ในขณะที่มาตรฐาน NOP (National Organic Program) ของอเมริกาจะมีการกำหนดช่วงระยะเวลาปรับเปลี่ยนพื้นที่สามปี
“เพราะฉะนั้น สินค้าที่ปลูกในวันแรกจนถึง 24 เดือนแรก ไม่สามารถบอกว่าเป็นอินทรีย์ได้ จะนับว่าเป็นอินทรีย์ ก็ต่อเมื่อปลูกเลยช่วงที่กำหนดไปแล้ว”
เมื่อเกณฑ์นี้เป็นมาตรฐานในการผลิต หมายความว่าจะถูกนำไปใช้กับการคัดเลือกสมาชิกด้วย เช่น ถ้าจะมีนสมัครเพิ่มเข้ามาในกลุ่มเพื่อผลิตข้าวส่งออกไปประเทศยุโรป ก็ต้องผ่านระยะปรับเปลี่ยนสองปีตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอียูเสียก่อน
ติดตามเรื่องราว ‘การเดินทางของเมล็ดข้าว’ สองตอนแรกได้ที่
การเดินทางของเมล็ดข้าว ตอนที่ 1
การเดินทางของเมล็ดข้าว ตอนที่ 2