ทำไมต้องไล่ ‘ป้ามล’ คำถามจากคนบ้านกาญจนาภิเษก ถึงอธิบดีกรมพินิจฯ

“ที่ท่านพูดว่าถ้าบ้านกาญจนาฯ ถูกยุบก็ไปอยู่ที่อื่นก็ได้ มีที่อื่นอีกเยอะแยะ มันไม่เป็นปัญหา มันไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับท่านครับ แต่มันเป็นปัญหาสำหรับเยาวชนที่เขากำลังเจียระไนกันอยู่”ก็อต เยาวชนบ้านกาญจนาฯ รุ่นปัจจุบัน

“ตอนรู้ว่าทางกรมพินิจฯ จะยุติบทบาทป้า เราก็ตกใจ บ้านกาญจนาฯ ทำให้รอยร้าวสิบกว่าปีในครอบครัวผมที่ไม่เคยรักษา ถูกรักษา…ที่นี่ให้โอกาสเยาวชน ให้โอกาสพวกผมที่ก้าวพลาดขนาดนี้ ทำไมไม่มองให้ลึกกว่านี้ บ้านอื่นอยู่เพื่อเอาตัวรอด ต้องใช้ด้านมืดมาทำให้ตัวเองรอด แต่บ้านกาญจนาฯ เขาให้การอยู่ร่วม ให้อิสระ ผมหลีกหนีมาพึ่งบ้านหลังนี้ พึ่งป้า ถ้าบ้านนี้ต้องจบลง จะมีเยาวชนอีกหลายคนที่กำลังรอโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเอง”กิต เยาวชนบ้านกาญจนาฯ รุ่นปัจจุบัน

“หลักการและแนวคิดของป้าควรที่จะต้องไปต่อ ไม่มีเหตุผลอื่นเลยที่จะพอแค่นี้ ผมไม่เข้าใจว่าทางกรมพินิจฯ เขาคิดยังไงกัน เขามีคนเก่งอยู่เต็มชั้นเต็มตึกคอยคิดเรื่องพวกนี้อยู่ แต่ทำไมเขาถึงคิดเรื่องนี้ไม่ได้ก็ไม่รู้”เบนซ์ ศิษย์เก่าบ้านกาญจนาฯ

“รัฐกำลังโชว์สกิลความอ่อนหัดให้เราเห็น ว่าเขาไม่ได้ตัดสินใจไปในทางที่ควรจะตัดสินใจ เขาถามผมว่าการที่ป้าโดนยุติบทบาทเกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือเปล่า แต่ผมก็ยืนยันว่านั่นเป็นสิทธิของป้า ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด แต่พอป้าพูดแรง พูดตรง พวกเขารับไม่ได้ ก็เลยจะมาทำแบบนี้หรือเปล่า ผมก็ไม่มั่นใจ”แดเนียล ศิษย์เก่าบ้านกาญจนาฯ

ภายห้องประชุมชั้น 2 สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย อนุสาวรีย์ชัยฯ พื้นที่ของห้องประชุมสี่เหลี่ยมนี้ไม่ได้มีมากมายนัก แต่ถูกบรรจุด้วยมวลอารมณ์ที่หลากหลาย กว่าครึ่งของห้องประชุมคือเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ทั้งรุ่นปัจจุบันและศิษย์เก่านั่งรายล้อมกันอยู่ 

ข้างต้นคือเสียงประจักษ์พยานที่ยืนยันว่า หลักการบ้านกาญจนาฯ ได้ชุบชูชีวิตพวกเขาที่ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคมได้ พวกเขาผลัดเปลี่ยนกันพรั่งพรูความรู้สึกที่มึนงง อัดอั้น ไม่พึงพอใจ ที่ผู้ใหญ่มีอำนาจกำลังส่งสัญญาณว่าพื้นที่ที่ถูกออกแบบมาอย่างประณีตเพื่อขัดเกลาพวกเขาอาจจะไม่ได้ไปต่อ

มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ ‘เปิดใจป้ามล และงานวิจัยบ้านกาญจนาภิเษก…ไปต่อหรือพอแค่นี้’ โดยมี ทิชา ณ นคร (ป้ามล) ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัยและผู้บริหารไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น ไทยแลนด์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หรือเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ร่วมแลกเปลี่ยน ดำเนินรายการโดย ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว

บทสนทนาแลกเปลี่ยนกันท่ามกลางบรรยากาศหลังจากที่กองทรัพยากรบุคคล กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แจ้งว่า งบประมาณในปี 2568 มีการตัดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนออก หมายความถึงการต้องยุติบทบาทผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษกคนนอก ซึ่งก็คือ ทิชา ณ นคร หรือป้ามล ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง

บ้านกาญจนาภิเษกและการเปลี่ยนความเชื่อ

“สิ่งที่ป้ามลทำ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงคน แต่เปลี่ยนความเชื่อของคนว่า มนุษย์เราผิดพลาดได้ และมนุษย์เราก็เติบโตได้ ด้วยการที่เราหันไปรดน้ำพรวนดินกับด้านบวกที่มีในจิตใจพวกเขาทุกคน”

จิราภรณ์แลกเปลี่ยนกับวงคุยถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าไปเจอกับเยาวชนคนหนึ่งในบ้านกาญจนาฯ เป็นเยาวชนที่เคยก่อคดีอาชญากรรมรุนแรง ซึ่งพูดคุยกันด้วยท่าทีที่มีเหตุมีผล มีทัศนะหรือมุมมองที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ทำให้เข้าใจว่ากว่าที่เขาจะมาถึงจุดนี้ เขาต้องผ่านกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นว่ามนุษย์เรายังมีด้านที่เติบโตได้

จิราภรณ์เล่าว่า นักศึกษาแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี จะถูกส่งเข้าไปดูงานกับบ้านกาญจนาฯ ทุกปี ซึ่งทุกคนจะกลับมาสะท้อนให้ฟังว่าบ้านกาญจนาฯ คือพื้นที่ที่เปลี่ยนความคิดและมุมมองของพวกเขาที่มีต่อเยาวชนที่เคยกระทำผิดไปโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นวิธีการของบ้านกาญจนาฯ ไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงเยาวชนที่ก้าวพลาด แต่ยังเปลี่ยนแปลงคนในสังคม ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเราต่างมีหลายด้าน การที่เด็กคนหนึ่งจะมีปัญหาได้ สภาพแวดล้อมนั้นเป็นตัวผลักดันอย่างมาก

“หมอได้ยินว่าป้าต้องถูกประเมินเพื่อดูว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ หมอก็คิดว่าไม่ใช่แค่ป้าที่ต้องถูกประเมิน อธิบดีเองก็ควรจะถูกประเมินเหมือนกัน เพราะเรามีสถานที่แห่งนี้อยู่ในประเทศไทย 20 ปีแล้ว ทำไมไม่ต่อยอดสิ่งเหล่านี้ไปสู่ที่อื่นๆ”

งานวิจัยชี้ชัดความสำเร็จแบบบ้านกาญจนาฯ ไม่อาจพบได้ในระบบราชการปกติ

อรุณฉัตรเปิดเผยข้อมูลจากการวิจัย หัวข้อ ประเมินผลเพื่อแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based Evaluation) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนผู้เคยกระทำผิด ที่ผ่านกระบวนการ ‘วิชาชีวิต’ ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2561 พบว่า กระบวนการทำงานของบ้านกาญจนาฯ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอยู่ใน ‘ขั้นสิ้นสุด’ ตามแนวคิดขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Transtheoretical model: TTM) ซึ่งสอดคล้องกับสถิติเด็กที่ผ่านกระบวนการของบ้านกาญจนาฯ มีแนวโน้มกระทำผิดซ้ำน้อยกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นข้อมูลนี้จึงยืนยันชัดเจนว่ากระบวนการนี้ช่วยปกป้องสังคมและส่งคืนพลเมืองเข้มแข็งกลับคืนสู่สังคมได้จริง

นอกจากนี้ในงานวิจัยยังได้นำเสนอปัจจัย 4 ประการ ที่ทำให้สถานควบคุมต่ำอย่างบ้านกาญจนาฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเยาวชนที่ก้าวพลาด คือ 

  1. ผู้อำนวยการฯ – การมีผู้อำนวยการที่มีความเข้าใจในการพัฒนามนุษย์ด้วยกระบวนการฟื้นฟู มีทักษะการพัฒนานวัตกรรม และมีบุคลิกที่ไว้วางใจได้
  2. รูปแบบกระบวนการ – การมีกระบวนการ ‘วิชาชีวิต’ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนได้ โดยเฉพาะด้านกระบวนการรู้คิด ซึ่งเยาวชนที่ผ่านกระบวนการนี้มีการตอบสนองต่อการอธิบายที่เป็นเหตุผล และสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้สูงขึ้น มองเห็นเหตุปัจจัยทางสังคมที่เกาะเกี่ยวกับชีวิตตนเอง รวมถึงการปรับทัศนะที่มีต่อการกระทำของครอบครัว
  3. สภาวะแวดล้อม – ด้วยหลักคิดควบคู่กับหลักปฏิบัติของบ้านกาญจนาฯ ที่มุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ นำไปสู่การกำหนดกติกาหรือข้อตกลงในการใช้ชีวิตร่วมกัน บนฐานความเชื่อว่าวัยรุ่นไม่ปฏิเสธเนื้อหาสาระที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ แต่พวกเขาต้องการสิ่งเหล่านั้น 
  4. ปัจจัยเชิงโครงสร้างและการสนับสนุน – การทำให้กระบวนการภายในบ้านกาญจนาฯ ทั้งการสนับสนุนปกติจากกรมพินิจฯ การใช้งบประมาณจากมูลนิธิชนะใจ เพื่อมาใช้ทำงานในกิจกรรมสำคัญ แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายตามระบบได้ ทำให้การขับเคลื่อนเพื่อความเปลี่ยนแปลงในหลายกิจกรรมสามารถทำได้ด้วยความราบรื่น

“ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ระบบระเบียบราชการแบบปกติ ที่มีความแข็งตัวและไม่สอดคล้องกับปัจจัยข้างต้น ดังนั้นการขยายผลการทำงานของบ้านกาญจนาฯ หลังจากนี้จำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายมารองรับการทำงานที่ได้ผลและสอดคล้องกับปัจจัยข้างต้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำงานระยะยาว”

สู้หมดหน้าตัก ดื้อรั้นให้นานพอ

ป้ามลเริ่มต้นเล่าความรู้สึกจากที่ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เคยสอบถาม ‘แดเนียล’ วิวัฒน์วงศ์ ดูวา อดีตเยาวชนบ้านกาญจนาฯ ว่า ถ้าที่นี่ไม่มีป้ามลจะทำอย่างไร ซึ่งแดเนียลตอบกลับไปว่า “สิ่งที่ป้าทำ มันอยู่ที่พวกผมแล้ว” ป้ามลกล่าวต่อว่าอีกครึ่งหนึ่งถูกยืนยันด้วยงานวิจัยที่อรุณฉัตรเปิดเผยว่า ระบบก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนที่มีความเชื่อสามารถขับเคลื่อนสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้ 

ป้ามลเล่าต่อว่า ยิ่งได้ฟังคำพูดของอธิบดีกรมพินิจฯ ที่มีสถานะเป็นผู้มีอำนาจในเชิงนโยบายกล่าวไว้ว่า หากมีการปิดบ้านกาญจนาฯ ยังมีสถานที่เหลือเฟือที่จะรองรับเด็กเหล่านี้ คือการตีโจทย์เชิงนโยบายที่ผิดอย่างมาก เพราะทั้งหมดทั้งมวลคือเรื่องของความรู้สึกที่มนุษย์คนหนึ่งรู้สึกปลอดภัย มีคุณค่า เห็นมุมสว่างของตัวเอง และพร้อมที่จะต่อยอด นี่คือเครื่องมือที่บ้านกาญจนาฯ ค้นพบ แต่ไม่เคยถูกให้คุณค่า นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้อง ‘ดื้อรั้นให้นานพอ’

“ตราบใดก็ตามที่คุณไม่สามารถอธิบายได้ว่า อะไรคือที่รองรับระบบหรือนวัตกรรมที่เราค้นพบ และเป็นหลักประกันที่แท้จริงว่ามันจะถูกปกป้อง ไม่ใช่ปกป้องทิชา แต่ปกป้องระบบที่ทิชาค้นพบ ถ้าตรงนี้ยังไม่ถูกพูด เราไม่อาจประนีประนอมได้ เพราะไม่งั้นเท่ากับเรากำลังสปอยล์รัฐซึ่งมีอำนาจอันล้นเหลือ ซึ่งรัฐก็ได้ท้าทายเราไปแล้ว”

ถึงที่สุดพื้นที่ทุกแห่งหนในทางนิตินัยอย่างไรก็เป็นของรัฐอยู่แล้ว และรัฐมีอำนาจล้นเหลือในการจัดการสิ่งใดๆ แต่ป้ามลก็ย้ำว่าเราต้องดื้อ เพื่อให้รัฐได้รู้ว่าอย่าทำอย่างนี้กับประชาชน กับผู้คนที่เขามีส่วนได้เสีย และแม้ว่าป้ามลจะอยู่ในบ้านกาญจนาฯ ซึ่งเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์ ก็ยังคงประกาศจุดยืนว่าจะยังไม่ไปไหนเพื่อเป็นการปกป้องหลักคิดที่ค้นพบ

แน่นอนว่ามีข่าวสะพัดมากมายว่า การที่ป้ามลถูกสั่งให้ยุติบทบาท เป็นเพราะการแสดงจุดยืนทางการเมือง การปกป้องเยาวชนที่เปิดหน้าสู้เพื่อประชาธิปไตย ป้ามลเน้นย้ำด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ทำคือสิทธิและเสรีภาพที่พึงกระทำได้ และผู้ใหญ่ที่มีอำนาจควรกลับไปทบทวนเสียเองด้วยซ้ำว่า การหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาประเมินคนทำงาน นั่นหมายถึงคุณกำลังถือไม้บรรทัดที่หมดสภาพ

“โดยอายุ โดยช่วงเวลาของป้า มันเหมาะสมแล้วที่ป้าจะสู้จนหมดหน้าตัก ไม่มีอะไรจะสูญเสียเท่ากับสูญเสียศรัทธาที่มีต่อตัวเอง ไม่มีอะไรจะสูญเสียเท่ากับสูญเสียความเคารพที่มีต่อตัวเอง ซึ่งป้าจะไม่ใช่คนคนนั้นโดยเด็ดขาด ดังนั้นป้าก็ฝากบอกไปถึงอธิบดีฯ ด้วยว่าไปทบทวนให้ดี แล้วก็มาพบกันที่บ้านกาญจนาฯ” ป้ามลกล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ช่วงท้ายของการเสวนา วงพูดคุยได้เน้นย้ำถึงการให้สังคมติดตามการออกกฎกระทรวงมาตรา 55 ภายใต้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ที่ให้อธิบดีกรมพินิจฯ มีอำนาจในการให้ใบอนุญาตหรือยุติการให้ใบอนุญาตแก่ภาคประชาสังคมในการทำสถานควบคุม ซึ่งโดยเจตนารมณ์ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมจัดตั้งสถานควบคุมได้ แต่กลับมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามอำนาจอธิบดี

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า