บทบาท ‘มนุษย์แม่’ ของมารดาที่ชื่อ ‘ธิดา’

ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

 

แม้ว่า ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ก่อตั้งนิตยสาร Bioscope และผู้นำเข้าภาพยนตร์สารคดี (สุดเปรี้ยว) ในนาม Documentary Club แต่สองบทบาทข้างต้นห่างไกลภาพจำความเป็น ‘มนุษย์แม่’ อย่างสุดกู่

อันที่จริง ในชีวิตส่วนตัว อีกหนึ่งบทบาทของเธอคือ การเป็นมารดาของบุตรธิดาสองคน และหลายๆ ครั้ง เราได้อ่านเรื่องราวของ ‘มนุษย์’ (ซึ่งมีลูก และกลายเป็น) แม่ของเธอผ่านสเตตัสเฟซบุ๊คอยู่หลายครั้ง

ความรู้สึกหลังการอ่าน – นอกจากตบเข่าฉาด ยังพยักหน้าหงึกหงักว่า “เออ ใช่” ของแถมที่ได้คือ สำนวนจิกกัดที่ ‘มันส์’ มาก

เพราะมันไม่ใช่เรื่องราวแบบ… เธอคือแม่ผู้เสียสละ/แม่ในอุดมคติที่ไม่มีแม้แต่สักวินาทีหนึ่งที่จะรำคาญลูก แต่มันมีทุกกลิ่นความเป็น ‘มนุษย์แม่’ ที่มีทั้งความรัก เอื้ออาทร หวังดี แต่ก็ปนไปทั้งความคาดหวัง อ่อนแอ เหนื่อยหน่าย เกรี้ยวกราด จิตตก และอื่นๆ ที่มนุษย์แม่จะพึงมีต่อมนุษย์ลูก

เนื่องจากแอบอ่านความสัมพันธ์ระหว่างเธอและลูกมานาน ในวาระวันแม่แห่งชาติ 2560 นี้ เราจึงติดต่อเพื่อขอพูดคุยกับเธอ ในหัวข้อสนทนาที่ว่า ‘มารดาที่ชื่อ ‘ธิดา’ เอาเข้าจริงแล้วเป็นอย่างไร’

รับชมค่ะ 🙂


ทำไมจึงมีลูก

ไม่ได้คิด (หัวเราะ) เอ๊ะ… ต้องพูดตรงขนาดไหน? คือมีลูกตอนที่อายุเยอะ ด้วยวัยขณะนั้น ถ้าคิดว่าจะต้องมีให้ได้ คงต้องไปหาหมอ แต่เราก็ไม่เคยไปจนถึงขั้นนั้นเลย เราเริ่มต้นอย่างครอบครัวปกติ คือใช้ชีวิตไป ทำงานไปอยู่หลายปี ก็ไม่มีลูก พอไม่มี ก็คิดว่าต่อไปเราจะมีชีวิตอยู่กันเองสองคนรึเปล่า มีคิดเรื่องอนาคตบ้าง แต่ไม่ได้คิดจริงจังว่าต้องมีหรือไม่มี

คนรุ่นหนึ่งเห็นว่าการมีลูกจะทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ขึ้น คุณคิดเช่นนั้นไหม

ไม่นะ แต่คิดว่าเราอาจจะอยู่ในช่วงเวลาก้ำกึ่งของสองแนวคิด ระหว่างแนวคิดว่า ถ้าเรามีครอบครัวแล้วต้องมีลูก ต้องมีบ้าน ต้องมีนี่นั่นนู่น อาจจะเป็นคนในรุ่นพ่อแม่เราที่คิดอย่างนั้น กับอีกแนวคิดหนึ่งคือ การมีชีวิตอย่างอิสระ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เราก้ำกึ่งอยู่ระหว่างสองแนวคิดนี้ ดังนั้นเราเลยไม่ได้อยู่บนแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเสียทีเดียว

และอาจเพราะตอนนั้นชีวิตทั้งหมดของเราทั้งหมด หมดไปกับการทำงาน ทำนิตยสาร Bioscope และทำกันเองสองคนด้วย มันเลยเหมือนว่าเราเริ่มต้นทำในสิ่งที่มันเอาความสนใจของเราไปเสียเยอะ ดังนั้นไลฟ์สไตล์ของคู่เรา มันเหมือนคู่แต่งงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้าของกิจการร่วมกัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราไม่ได้นึกถึงสิ่งอื่นๆ ที่หายไปจากการเป็นครอบครัว ดังนั้น ความคิดไปถึงขนาดว่าเราจะมีหรือไม่มีลูก ในขณะนั้นจึงยังไม่มี

วินาทีที่รู้ว่ามีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้อง และนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร

ก็เป็นยังไงคะ… (ผายมือไปที่กองบรรณาธิการ ซึ่งมีอีกหนึ่งฉายาว่า ‘ปีศาจหม่ามี้’)

มันก็ทั้งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ น่าตกใจ และน่ากังวลไปพร้อมๆ กัน คือจังหวะที่รู้ว่ามี เราก็ดีใจ ร้องไห้ร้องห่มกันสองตายายเลยนะ แต่แน่นอนว่ามันมีความรู้สึกกังวลขึ้นมา ความกังวลเบื้องต้น มันก็เป็นความกังวลเกี่ยวกับตัวเองแหละ เพราะเรายังไม่ได้เห็นเขาออกมาเป็นตัวตน คือกังวลกับตัวเองว่า เราอายุเยอะแล้ว ความปลอดภัยของลูก หรือต่อจากนี้ชีวิตจะต้องเปลี่ยนไปอย่างไร

ในช่วง 10 เดือนของการตั้งท้อง เราก็มีได้แต่คำถาม แต่ไม่มีทางรู้หรอกว่าชีวิตเราจะเปลี่ยนยังไง เพราะทำงานจนนาทีสุดท้ายยย… (ลากและขึ้นเสียงสูง) เลยนะ อีกไม่กี่วันก็จะคลอดแล้ว แต่เรายังนั่งปั่นต้นฉบับอยู่เลย คือไม่ได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หรือการเตรียมความพร้อมอะไรใดๆ เท่าไหร่เลย

คุณจินตนาการตัวเอง ก่อนและหลังมีลูกไว้ว่าอย่างไร

โห… แตกต่างมากเลย มันมีทั้งสิ่งที่เรามโนไปเองว่าเราจะเป็นแม่อย่างนั้นอย่างนี้ แต่เอาเข้าจริง ทำไมเราไม่เห็นทำได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยจินตนาการไว้เลย

กับสิ่งที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อนว่าการต้องเลี้ยงดูคน หรือแม้แต่การเป็นแม่ เอาเข้าจริงแล้วเราควรมีทัศนคติต่อชีวิตของลูกยังไง มันมีทั้งสิ่งที่เราเคยคิดไว้แบบหนึ่ง แต่พอทำจริงมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ในแง่ที่ว่า เฮ้ย มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นนะ มันมีชุดความคิดแบบอื่นๆ ที่เราเลือกใช้ได้

หรือแม้แต่เรื่องที่เราอาจจะเคยได้ยินว่าการเป็นพ่อแม่ต้องกังวลบางอย่าง แต่พอเราอยู่กับความเป็นจริง เราพบว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น บางทีชีวิตมันก็มีความคลี่คลายไปในแบบอื่น มีสิ่งที่ไม่ตรงกันตั้งแต่ก่อนและหลัง และมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ทราบว่าคุณให้ลูกเข้าโรงเรียนทางเลือก เป็นเพราะคุณนำหนังทางเลือกเข้ามาฉายในบ้านเรา จึงเป็นเหตุให้คุณส่งลูกเข้าโรงเรียนทางเลือกรึเปล่า?

ไม่ๆ คือตอนที่เขาสองขวบนิดๆ ก็เอาเขาเข้าโรงเรียนแถวบ้าน เป็นเนิร์สเซอรีปกติ แต่เข้าได้อาทิตย์เดียวก็พอเถอะ กลับมาอยู่บ้าน (หัวเราะ)

เพราะเขาเด็กไปสำหรับเรา จริงๆ เพิ่งจะสองขวบนิดๆ แล้วเขาก็ร้องไห้เยอะ คุณครูก็ไล่เรากลับสุดฤทธิ์ เพราะว่าเรายิ่งมายืนเก้ๆ กังๆ ยิ่งทำให้ลูกเราพะวักพะวง แต่เราก็พะวักพะวงจริงๆ กลับบ้านไปเราก็ไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลาว่า เอ๊ะ เราทำถูกไหมนะ ซึ่งจริงๆ มันเป็นวิถีปกติ คนเขาก็เอาลูกเข้าโรงเรียนปกติใช่ไหม แต่เราอาจจะมีอะไรบางอย่างกับเรื่องแบบนี้อยู่เป็นทุนเดิม

ถ้ากลับมาย้อนคิดตอนนี้ อาจเป็นเพราะตอนที่เราเอาลูกเข้าเนิร์สเซอรี เรากำลังอยู่ในช่วงปรับตัว ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเราต้องคิดกับมันยังไง คือเราอยากทำงานนะ และก็เห็นว่าคนอื่นลูกอายุสองขวบกว่าเขาก็ให้เอาเข้าโรงเรียนได้แล้วนี่ เราเอาลูกเข้าโรงเรียนบ้าง มันก็คงโอเคมั้ง

ตอนนั้นเลยเป็นจุดที่เริ่มคิดจริงจังแล้วว่า เราต้องเริ่มคิดกับมันจริงๆ แล้วนะ คือเมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่า เฮ้ย ไม่เป็นไร เราเน้นโรงเรียนใกล้บ้าน โรงเรียนอะไรก็ได้ ทั้งหมดอยู่ที่การเลี้ยงของเรา เอาความสะดวกไว้ก่อน เราจะไม่ให้ลูกต้องสู้กับรถติด ซึ่งนั่นคือวิถีชีวิตที่เราคิดว่าอยากจะเป็น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราต้องคิดว่าแบบไหนมันใช่สำหรับเรา ซึ่งก็ต้องพูดตรงๆ ว่ามันสำหรับเราแหละ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาต้องการหรือไม่ต้องการอะไรในตอนนี้ แต่ว่าตอนนั้นแหละ ตอนที่เขาออกจากเนิร์สเซอรี แล้วต้องคิดว่าจะเอาเขาเข้าโรงเรียนอะไรต่อไป เราจึงต้องเริ่มทำการบ้านว่า เราต้องการทำอะไรกับการศึกษากันแน่

ตรงนั้นมันทำให้เราเริ่มสงสัยว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ ใช่วิถีแบบที่เราชอบไหม คือมันอาจจะเป็นวิถีที่ใครจะเลือกอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของใครใช่หรือเปล่า? แต่มันใช่วิถีที่เราอยากเป็นไหม เราก็เลยเริ่มเรียนรู้ว่าการเข้าโรงเรียน หรือแนวทางการศึกษามันมีอะไรบ้าง คือเริ่มทำความเข้าใจ หาความรู้จากตรงนั้น

จากโรงเรียนทั่วๆ ไป ก็เริ่มอ่านไปเรื่อยๆ และพบว่า เออ มันมีการศึกษาทางอื่นเยอะเหมือนกันนะ ซึ่งเราไม่เคยศึกษามาก่อน ก็ต้องแน่อยู่แล้ว เพราะเราไม่เคยเกี่ยวข้องกับการพาบุตรหลานเข้าโรงเรียน

จนมาเจอระบบการศึกษาที่มันตรงกับจริตของเรา หรือเป็นสิ่งที่เรามีความเชื่อร่วม ซึ่งเผอิญว่าการศึกษาที่เราสนใจ มีความคิดว่าเด็กมีพัฒนาการตามวัยที่เอื้อต่อการเติบโตในแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกัน

ซึ่งจริงๆ แล้วระบบโรงเรียนมันก็มาจากพัฒนาการของสังคม ที่เร่งให้พ่อแม่กลับสู่ตลาดแรงงานเร็วๆ ระบบโรงเรียนเลยเข้ามาเพื่อจะเอาลูกออกไป มันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราส่งลูกเข้าโรงเรียนเร็ว ทีนี้แนวทางที่เราสนใจ มันก็จะค้านกับแนวคิดแบบนี้ เป็นความเชื่อที่ว่า ต้องเป็นเด็กวัยไหน จึงจะเหมาะสมกับการถูกพรากออกไปจากพ่อแม่ พอเราไปเจอแบบนี้เข้า ก็เหมือนว่าเราเริ่มคลำทางถูก และรู้ว่าจะตั้งต้นใหม่แบบไหน

หมายความว่าโรงเรียนทางเลือก เป็นทางเลือกของคุณด้วยไหม

ก็ใช่ๆ ยังรู้สึกเหมือนเราโชคดีที่รู้สึกว่าเจอทางที่มันใช่ คือมันไม่ใช่แค่ทางเลือกว่าเป็นโรงเรียนที่ดี เราจึงส่งลูกไป แต่วิถีอันนั้นมันสอดรับกับสิ่งที่เราเชื่อพอดี เป็นวิถีเดียวกันกับเราพอดี

ประสบการณ์ส่วนตัว มีผลต่อการเลือกการศึกษาให้ลูกอย่างไร

โห… มีอย่างแรง เพราะว่าเป็นคนมีประสบการณ์ชั่วร้ายกับโรงเรียน (หัวเราะ) คือเกลียดโรงเรียนมาตั้งแต่เด็ก เกลียดมาก (ย้ำ) พยายามย้อนกลับไปหาสาเหตุ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร ตัวเองก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนตั้งแต่เด็กมากๆ นะ แต่มันเป็นภาพที่เรายังจำมาจนโต ว่าช่วงอนุบาลคือช่วงร้องไห้

ร้องไห้ทุกวัน ร้องขนาดอาละวาดเกาะแขนเกาะขาแม่ ร้องจนครูด่า ที่มันน่ากลัวมาก คือเราร้องไห้จนถึง ป.6 นะ ถึงไม่ใช่ทุกวันขนาดนั้น แต่จำได้ว่า แม้กระทั่งตอนประถมปลาย ยังมีบางวันช่วง ป.5-6 เราร้องไห้ไม่ยอมออกจากบ้าน แกล้งป่วย ไม่อยากไปโรงเรียน โทรให้แม่มารับ แต่แม่มาก็แค่เอายามาให้ แล้วก็กลับไป เราไปยืนร้องไห้อยู่หน้าประตูโรงเรียน ซึ่งเราสงสัยมากว่าเราเป็นอะไรวะ ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน แต่ที่แน่ใจว่าโรงเรียนเป็นที่ที่เราไม่มีความสุขเลย ไปแล้วรู้สึกแปลกแยก เวลานั่งเรียนก็ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราเรียนเก่งมากเลยนะแต่ก็ไม่เคยรู้สึกประทับใจอะไรเลยแม้แต่น้อยกับสิ่งที่ได้เรียน (หัวเราะ)

แต่อาจจะเป็นที่เรานะ ไปด่าโรงเรียนคงไม่แฟร์ เพียงแต่มันเป็นภาพจำว่า เอ๊ะ… เด็กคนอื่นๆ เขาอยากไปโรงเรียนกันเป็นปกติไหม จะมีโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่อยากไปไหม  (หัวเราะ) หรือจะมีโรงเรียนที่เด็กอยากไปอย่างแท้จริงไหม เป็นโรงเรียนที่เขาไปแล้วรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เหมาะกับตัวเขาจริงๆ ไปแล้วรู้สึกมีความสุข แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคิดเรื่องแบบนี้

แต่เอาเข้าจริง ความคิดที่ตั้งคำถามกับการศึกษาก็มีสะสมมาเรื่อยๆ จุดหนึ่งที่คิดว่ามันพีคที่สุด คือช่วงที่อยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะทำงานหนัก เรียนหนัก หรืออะไรก็จำเหตุผลแม่นๆ ไม่ได้นะ แต่มันมีคำถามว่า “นี่เรามานั่งทำอะไรอยู่” สิ่งที่เราเรียนมันนำเราไปสู่อะไร เป็นประโยชน์กับคนอื่นยังไง มีแต่คนรวยเท่านั้นหรือเปล่าที่จะจ้างเราไปออกแบบ ไม่รู้นะ แต่เราไม่เชื่อใน… จะบอกว่าอะไรดี ไม่เชื่อในโลกแบบนี้

แต่เราไม่ได้กล่าวโทษสายวิชาที่เรียนนะ คือมันมีคนที่ทำแล้วเกิดประโยชน์จริงๆ แต่สำหรับเรา จุดนั้นมันทำให้มีคำถาม แต่ไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกับการเรียนเลย นั่งคิดว่า ทำไมตอนเด็กๆ ถึงไม่มีความรู้สึกอยากไปโรงเรียนเลยวะ ไปแล้วไม่เจออะไรที่มีความหมายกับเรา แต่จะใช้คำถึงขนาดว่าไม่เจอสิ่งที่เรียนแล้วมีความหมายต่อสังคม ก็ออกจะเพ้อเจ้อเนอะ (หัวเราะ) เอาเป็นว่า เราไม่พบอะไรที่น่าตื่นเต้น การศึกษาแบบนั้นมันไม่ทำงานกับเราน่ะ

คุณจึงกังวลว่าลูกจะประสบชะตากรรมเดียวกัน?

อย่างน้อยลูกก็ไม่ควรเป็นทุกข์กับการศึกษา แต่เราก็ไม่รู้นะ พอพูดไปแล้วปรากฏว่าเด็กคนอื่นเขาไม่เป็นกันหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) แต่ก็เจอเด็กไม่น้อยที่ซัฟเฟอร์กับการศึกษานะ แม้จะไม่ถึงขนาดร้องไห้หน้าประตูรั้ว แต่เราเจอคนจำนวนมากที่เขาก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ หรือแม้แต่เขาไม่รู้ตัวว่าเขาอยู่ในระบบที่มีปัญหา

คนส่วนใหญ่คิดว่าโรงเรียนทางเลือกเป็นโมเดลจำลอง ข้างนอกต่างหากคือเรื่องจริง?

เราก็เคยคิดแบบนี้ คิดว่าโอ๊ย สิ่งที่เกิดในโรงเรียนทางเลือกมันคงเป็นอะไรที่สวยใส เด็กคงแบ๊วโลกสวยน่าดู ออกมาเจอชีวิตจริงคงลำบาก เพราะโลกข้างนอกมันเลวร้าย นั่นนี่โน่น แต่จริงๆ แล้วโรงเรียนที่เราไปมันไม่ใช่แบบนั้น เขาไม่ได้พยายามจำลองความสวยงามเวิ่นเว้อขึ้นมา ตรงข้ามเลย สิ่งที่เขาให้ความสำคัญกับการเพาะบ่มคือสภาวะภายในของเด็ก เขาไม่ได้สอนวิชาการให้เด็กโตขึ้นมาเป็นอาชีพอะไรหรือแม้แต่สอนให้เด็กแสวงความสุข สลัดความทุกข์อะไรงั้น แต่เป้าหมายคือให้เด็กเติบโตขึ้นในฐานะมนุษย์ที่มีความแข็งแกร่งภายใน เป็นธรรมชาติ อยู่กับความเป็นจริงได้อย่างเข้าใจ

สิ่งสำคัญสำหรับเราในการเลี้ยงลูก ไม่ใช่การกังวลว่าเขาจะรู้อะไรบ้าง เขาจะอยู่ในโรงเรียนแบบไหน จะสอบได้ที่เท่าไหร่ จะเอนท์ติดที่ไหน และเขาจะมีอาชีพอะไร เพียงแต่เราสนใจว่าลูกเราจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีสภาวะทางจิตและความคิดแบบไหน เราสนใจเรื่องแบบนี้

และเราคิดว่าถ้าเขามีความแข็งแกร่ง เข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์คนอื่น เห็นว่าในโลกนี้มีคนอื่นอีกเยอะที่มีคุณค่าเหมือนๆ กัน เราคิดว่าสิ่งนี้ มันจะอยู่กับเขาไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหนของโลก และแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไป เขาจะอยู่ได้ เราเชื่อแบบนี้

ขณะที่คุณออกแบบการศึกษาของลูกๆ ไว้อย่างเข้มแข็งมาก ผู้นำของเราก็เช่นกัน ท่ามกลางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แม่อย่าง ‘ธิดา’ จะเอาอย่างไรกันดี

ช่างน่ากังวลใจยิ่งนัก ไปอยู่ที่อื่นดีกว่า (หัวเราะ) (ไม่ต้องไล่เลยเนอะ-กองบรรณาธิการ) ใช่ เดี๋ยวไปเอง

คือเราว่ามันเป็นฐานความคิดที่สวนทางกันน่ะ สิ่งที่เขาทำอยู่ตอนนี้คือการพยายามแช่แข็งให้สังคมอยู่ในโครงสร้างแบบที่เขาควบคุมได้ตลอดไป และเขาเชื่อว่าสิ่งไหนที่มันจะนำสังคมไปถึงจุดนั้น เขาก็จะออกแบบให้มันเป็นไปให้ได้

แต่ในความเป็นจริง โลกมันเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่คุณกำหนดวันนี้ 20 ปี จะบ้าเหรอ… มันคือการย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่โลกในอนาคตจะเป็นอย่างนั้น

คนที่ไม่มีลูกส่วนหนึ่ง เพราะกลัวว่าลูกจะโตมาในประเทศไทย

(หัวเราะ) ไม่ได้คิดในเชิงกังวลว่าเขาจะต้องโตมาอยู่ในประเทศแบบนี้นะ เพียงแต่เรารู้สึกว่ามันเสียโอกาส พูดไปเดี๋ยวจะต้องมีคนด่า คือ… มันเสียโอกาส เรารู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมบนโลกนี้ แม้แต่คนรุ่นเราก็เถอะ ไม่ต้องพูดไปถึงรุ่นลูก คือเราเกิดมาพร้อมๆ กับคนจำนวนมากในโลกนี้ แต่ทำไมมีคนบางคนได้อยู่ในประเทศที่พร้อมที่จะส่งเสริมเสรีภาพในการเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่ทำไมเราต้องมาอยู่ในพื้นที่ที่มันกดขี่เราทุกอย่าง ไม่ให้เรามีโอกาสเติบโตเลย

คุณเพียงแต่เกิดมาในบางพื้นที่ แล้วคุณก็ถูกจับแช่แช็งให้อยู่ในโมเดลบางอย่างที่คุณเลือกออกไปไม่ได้ เราแค่รู้สึกว่ามันน่าเสียดายที่เราเกิดมาในยุคสมัย ในสังคมที่มันถูกทำให้เป็นแบบนี้ ถ้าสมมุติว่าเด็กๆ ได้เกิดมาในที่ที่ ได้รับการส่งเสริม ชีวิตมันจะต่างกันมากเลยนะ

เราเพียงแต่ทำให้ลูกรู้สึกว่า ในโลกกว้างมันมีสิ่งอื่น มันมีวิธีคิดแบบอื่น และจริงๆ มันเป็นเรื่องของเขา เมื่อเขาโตขึ้น ให้เขารู้ว่ามันมีเสรีภาพอยู่ในโลกนี้ ที่คุณจะเลือกพาชีวิตคุณไปได้ และถ้าคุณสามารถไปได้

ถามอย่างล้อเลียน คุณวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ในการเลี้ยงลูกไว้อย่างไร

จะอยู่ถึงไหม? (หัวเราะ) อืม… จริงๆ เราคิดเรื่องเดียวว่า เราจะทำให้เขาเป็นคนแข็งแกร่งจากภายใน แข็งแกร่งในที่นี้หมายความว่า มีสายตาและมีจิตใจที่เปิดกว้าง จะพูดอย่างไรดี… คือ มีทัศนคติที่ถูกต้องน่ะ เช่น มีความเข้าใจว่าโลกนี้มันมีมนุษย์อื่นๆ ที่มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และจริงๆ โลกนี้มันอิสระที่คุณจะแสวงหาอะไรก็ได้

เช่น สมมุติเวลาเขากลับบ้านมาแล้วเล่าว่า ในห้องมีเพื่อนว่ากัน ล้อเลียนกัน เราก็จะพยายามข้ามความรู้สึกว่า “ใครพูด ไหนใคร” ไป เพียงแต่เราจะพยายามบอกเขาว่า สิ่งที่ทำกัน มันเป็นการทำร้ายกัน ซึ่งถ้าลูกเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ควรจะทำสิ่งเหล่านี้นะ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการล้อเลียนกัน ณ ตอนนี้เราอาจคิดว่ามันตลก แต่วันหนึ่งถ้าเรายังเก็บทัศนคตินี้ไว้ในตัว มันก็จะกลายเป็นการ bully กันในอนาคต ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์อะไรที่จะทำแบบนี้กับคนอื่น

คือสร้างทัศนคติเหล่านี้ให้เขารู้ว่า การอยู่ในโลก มันมีอะไรที่สำคัญบ้างในการเป็นคน เราเชื่อเรื่องพวกนี้มากกว่า แต่ไม่เคยวางแผนยาวๆ ว่าเขาจะไปทำอะไร เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร โลกยุคที่เขาจะโตขึ้นมามันเป็นอีกแบบหนึ่ง เราจะไปวางแผนอะไรให้เขาได้ เราเองก็มีแต่จะแก่ลง ใกล้ตายเต็มที หรือวันนั้นเราอาจจะตายไปแล้วก็ได้ และโลก ณ ตอนนั้นอาชีพต่างๆ มันอาจไม่สำคัญแล้ว

เขาอาจจะมีชีวิตแบบไม่ต้องมีบ้านอยู่ที่ไหนเลยก็ได้ การเดินทางในโลกนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับโลกนี้ไปหมดแล้ว เราจะไปกำหนดอะไรเขาได้ แค่รู้สึกว่า ณ ตอนนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องเป็นคนที่โอเคมากพอที่จะอยู่ในโลกนี้ได้

ปัญหาที่คุณเจอ จากการเป็นแม่คืออะไรบ้าง

ถ้าถามความยากส่วนตัว คือ ปกติพี่เป็นคนใช้เวลากับการทำงานเยอะมาก (เน้นเสียง) ติดการทำงานอย่างเยอะ ปัญหาคือ การหาความพอดีระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำเพื่อลูก คือขณะที่เราทำงาน เราก็จะมีเพื่อนที่เป็นแม่ร่วมโรงเรียนเยอะแยะ ซึ่งบางคนเป็นแม่บ้านอย่างเดียว เราก็จะเกิดการเปรียบเทียบว่า “ที่กูเลือกนี่มันใช่หรือเปล่าวะ?” (หัวเราะ) ที่เราคิดว่าเราเลี้ยงดู เอาเข้าจริงแล้วมันใช่หรือเปล่าวะ?

หรือจริงๆ แล้วเราต้องลาออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงลูกนะ แต่ความจริงคือ เราทำได้เหรอ? เราเป็นคนแบบนี้เหรอ? ถ้าทำแบบนั้น แล้วเราจะเป็นคนแบบไหน คือเราอาจจะทำได้ หรืออาจจะเป็นบ้าไปเลยก็ได้ (หัวเราะ) คือมันยากระหว่างการชั่งน้ำหนักว่าจะเป็นตัวเอง หรือจะมีชีวิตเป็นแม่ ซึ่งต้องดูแลคนอื่น

คือพอทำสิ่งนี้แล้วก็มีความรู้สึกผิดกับอีกสิ่งหนึ่ง แต่พอทำสิ่งนี้ แล้วก็จะโหยหาสิ่งนั้น คิดว่ามันคือความไม่ลงตัว ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งที่จะทำหรือไม่ทำ เกิดผลอะไรกับลูกเนอะ

ท่ามกลางข้อจำกัดในบทบาทของการเป็นแม่ คุณได้และเสียอะไรไปในบทบาทนี้

อันนี้พูดในแง่ส่วนตัวมากๆ นะ มันเหมือนธรรมชาติจัดสรรความลงตัวให้กับชีวิต และรู้สึกว่ามันคือความโชคดีอย่างหนึ่งเหมือนกันนะที่ได้มีพาร์ทนี้ จริงๆ เราเคยคุยกับแฟนเหมือนกันว่า ถ้าเราไม่มีลูก ชีวิตของเราจะเป็นยังไงนะ ก็ยังนึกไม่ออก วันๆ หนึ่งคงนั่งหน้าจอคอม ทำงานเช้าจรดเย็น แล้วยังไงต่อดี

ถามว่าถ้าไม่มีลูกแล้วจะแฮปปี้ไหม ก็คงแฮปปี้ในแบบหนึ่ง แต่อันนี้เหมือนโดนธรรมชาติจัดสรรว่า พอได้แล้วนะความบ้างานที่สิงในตัวแกมาครึ่งชีวิตเนี่ย (หัวเราะ) เรียนรู้บทบาทอื่นในชีวิตบ้าง มันมีอย่างอื่นที่จะเป็นได้อีกนะ ชีวิตแกน่ะ

เหมือนว่าคนสองคนก็ได้เติบโตในแง่ของความเป็นคนด้วย ทัศนคติต่อโลกและชีวิตเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือน… โอเคว่าเราได้มีโอกาสทำทุกๆ บทบาทที่จะมีโอกาสได้ทำ

ในแง่ข้อตรงข้าม หมายความว่าเราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมด ซึ่งเราก็ทำได้ไม่ลงตัวหรอก มีวันที่เราเสียสติอยู่เป็นพักๆ ตะโกนโวยวายใส่ลูก “ไป๊ ฉันจะทำงาน” (หัวเราะ) มีเรื่อยๆ คิดว่าปัญหาคือการจัดการ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง

กลัวไหมว่าคุณจะเป็นแม่ในอุดมคติไม่ได้  

มีเป็นพักๆ เหมือนกัน ว่าเวลาโวยวายใส่ลูก แบบ “เฮ้ย… ไป๊” แล้วเราก็มาเสียใจทีหลัง “โอ๋ ลูก ขอโทษน้า” ทำไมฉันต้องคอยทำอะไรแบบนี้ นี่ฉันเป็นอะไรเนี่ย (หัวเราะ)

ทั้งที่เราตั้งใจเอาไว้อย่างหนึ่ง มีความรู้ต่างๆ นานา เราต้องทำได้ แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็ทำไม่ได้ว่ะ รู้ตัวด้วยตอนทำ แต่ก็ทำไปอย่างนี้ มันก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกว่ายังดีไม่พอ ต้องพัฒนา

แต่ว่าเราก็พยายามอยู่กับความเป็นจริงด้วยว่า มีความจำเป็นอะไรที่เราต้องกดดันตัวเองว่าต้องเป็น ‘สุดยอดคุณแม่’ กูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พลาดแล้วพลาดอีก แล้วก็ คือเราก็แค่พยายามทำให้ดีที่สุด เรารู้สึกว่า ที่สุดแล้ว ถ้าเรากดดันตัวเอง มีเป้าหมายให้ตัวเองที่มันเลิศลอยเกินความสามารถ มันก็ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ไง

แต่ยังไงก็ตาม ก่อนมีลูกเราอาจจะเคยเพ้อฝันว่าถ้าฉันมีลูก ฉันจะเป็นแม่ที่เจ๋งสุดๆ เพราะฉันจะยังงี้ยังงั้นยังโง้น ครั้นพอมีจริงๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริงแล้วหัดปล่อยวางแหละ คือถ้าวางไว้ว่าเราต้องเป็นแม่ที่ดีระดับ A ให้ได้ แต่ในความจริงเราทำได้แค่ C แล้วก็มานั่งเฟล เราจะทำให้ตัวเองเฟลไปเพื่ออะไร เราก็เพียงแต่รู้สึกว่าบางวันเราก็  A บ้าง C บ้าง แค่รู้สึกว่าเราต้องพยายามกับลูก ทำความสัมพันธ์ให้มันโอเค

และแม้แต่ตอนที่เราพลาด เขาก็ควรจะเห็นว่าเราพลาด เมื่อเราพลาด เราก็ขอโทษเขา เพราะเราก็เป็นคนคนหนึ่งที่พลาด

สิ่งที่เรารู้สึกดีคือ อย่างน้อยเราคิดว่าเรามีความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกับลูกในระดับที่โอเคอยู่ เพราะเมื่อเราพลาด เราคิดว่าลูกเข้าใจนะว่าเราเป็นอะไร เขาอาจจะโกรธ โวยวายกลับ แต่เดี๋ยวดีกัน เราขอโทษ เขาขอโทษ พอเขาพลาด-เขาขอโทษ เราพลาด-เราขอโทษ เรารู้สึกว่ามันก็มีความลงตัวอยู่ประมาณหนึ่ง

เคยไหมที่ลูกเดินมาบอกว่า อยากให้คุณเป็นแม่แบบคุณแม่บ้านนั้นจังเลย

มันก็มีประสบการณ์แบบนั้นอยู่เหมือนกัน เขาอาจจะไม่ได้พูดมันออกมาหรอก เพียงแต่เรานึกออก เช่น เรามีพี่สาว ซึ่งเขาก็มีลูกสองคนและโตหมดแล้ว ซึ่งเขาเป็นแม่ที่มีความอดทนอย่างยิ่ง เราแบบ โห… ทำได้ยังไง ลูกสาวเลยชอบไปอยู่กับเขา รักมาก ติดมาก ชอบมาก

ซึ่งทำให้เรามีคำถามไงว่า เขาจะต้องมีความเป็น ‘คุณแม่’ อะไรบางอย่าง ที่ลูกเราต้องการแน่ๆ ซึ่งมันก็มีผลแหละ เราก็พยายามจะกลับมาตั้งคำถามเรื่อยๆ และเพราะเราก็มีความรู้สึกผิดในความผิดพลาดของเราอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นก็จะมีคำถามประเภทว่า จริงๆ เราควรเป็นแม่อย่างไรกันแน่ แต่อย่างที่บอก เสร็จแล้วเราก็ต้องผ่อนตัวเองลง คือจะแบกความรู้สึกตัวเองตลอดเวลาไม่ได้

และเราก็พยายามจะไม่เป็นแม่ที่แบบ “อ๋อ รักคนนั้นเหรอ เห็นคนนั้นดีกว่าฉันเหรอ?” (หัวเราะ) เราทำแบบนี้ไม่ได้ เราต้องให้โอกาสเขาได้มีทางอื่น เพราะเราคิดว่าในที่สุดแล้วมันไม่มีใครหรอก ที่เป็นพ่อแม่ประเสริฐสุด ฟ้าประทาน ไม่มีวันรักใครไปมากกว่าคุณพ่อคุณแม่ เราไม่เชื่อว่ามีครอบครัวไหนที่มีแต่โมเมนต์เพอร์เฟ็คต์แบบนี้

การที่เราเป็นแบบนี้ คิดว่าลูกก็มีความรักนับถือเราประมาณหนึ่ง เราก็รักและหวังดีกับเขาประมาณหนึ่ง แต่มันมีบางสิ่งบางอย่างที่เราตอบไม่ได้ ซึ่งมันมีบางคนที่ตอบเขาได้ และเขาก็พบตรงนั้น เราคิดว่ามันก็เป็นการปลดปล่อยเขานะ จะไปบีบบังคับว่า “ห้ามไป ต้องรักแม่นะ” อะไรแบบนี้ เราว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ

แต่ในทางการสื่อสาร พอลูกโต เราก็จะพูดกับเขาตรงๆ ว่า ที่มันเป็นแบบนี้เพราะอันนี้ใช่ไหม เพราะเราทำอันนี้ไม่ดีใช่ไหม อันนี้อยากให้แม่ทำยังไง เอ๊ย… อันนี้แม่ทำไม่ได้หรอก ลูกรู้ใช่ไหมว่าอันนี้แม่ทำไม่ได้ แต่แม่จะพยายามนะ เขาก็จะรู้นะ เขาก็จะมีคำพูดประเภทว่า แม่อะ… ทำไมแม่ไม่ทำแบบนี้ แต่ขณะเดียวกัน มันก็จะมีเรื่องดีๆ เช่น มีเพื่อนบางคนของเขาที่พูดเตือนเขา หรือพูดอะไรเป็นเรื่องดีๆ ที่ทำให้เขารู้สึกดี เขาก็เคยกลับมาบอกแม่ว่า วันนี้เพื่อนหนูคิดดีมากเลยแม่ เขามีความคิดเหมือนแม่เลย หนูชอบมาก เราก็รู้สึกว่า เขามีชุดความจำของเขาว่าเขาจัดวางแม่ไว้ตรงไหน

มีความเชื่อว่า การมีลูก ทำให้ชีวิตของผู้หญิง สมบูรณ์ขึ้น

ทุกวันนี้ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองสมบูรณ์แบบเลย (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ คือเราไม่เคยคิดเรื่องความเป็นเพศมาก่อนเลย ไม่เคยคิดว่าผู้หญิงต้องเป็นอะไรหรือผู้ชายต้องเป็นอะไร ไม่รู้เหมือนกันแฮะ

ลูกได้สอนบทเรียนอะไรให้แม่บ้าง

รู้สึกว่าข้อดีของเด็ก คือการที่เขามองโลกไม่ซับซ้อน เขามีปฏิกิริยากับโลกในสิ่งที่เขาปะทะ เจอสิ่งที่เขาไม่แฮปปี้เขาก็พูด เจอสิ่งที่เขามีความสุข เขาก็บอกออกมา การที่มีปฏิกิริยากับโลกไม่ซับซ้อนและตรงไปตรงมา เราว่าอันนั้นคือสิ่งที่มันเยียวยาเราที่สุดเลย และหลายครั้งมันคือวิธีการแก้ปัญหาชีวิตที่ดีนะ

พอเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีดราม่า พูดชั้นหนึ่งไม่จบ พูดไปสองชั้นสามชั้น ขุดปัญหาอดีตมา โมโหพ่อมาลงที่ลูก (หัวเราะ) ลูกเริ่มแบบ…แม่เป็นอะไร? หนูงง จะโกรธอะไรขนาดนั้น ทำไมต้องพูดขนาดนี้ เกินไปแล้วนะแม่ ปฏิกิริยาของเด็กนี่มันตรงๆ และลูกเรายิ่งโคตรตรง ซึ่งบางทีมันทำให้เราคิดว่า เออว่ะ… ใช่ ลูกพูดถูกว่าแม่ไม่ควรพูดอย่างนี้เลย

เหมือนกับว่าเขาดึงเรากลับมาโดยฉับพลันทันที ทำให้เรากลับมาอยู่กับสถานการณ์ตรงหน้า ให้เรารู้สึกว่า เออใช่ มันก็แค่นี้เอง ทำไมต้องไปเอาปัญหาต่างๆ มาทับถมให้สิ่งที่เขาทำ ‘แค่นี้’ ต้องกลายเป็นเรื่องใหญ่ และเราว่าจริงๆ นี่คือปัญหาการเลี้ยงลูกเหมือนกันนะ คือการที่พ่อแม่มองความผิดลูกเป็นเรื่องใหญ่โตเพราะไปเอานั่นนี่มาพะวง เอามารวมกันไปหมด ขณะที่เด็กมองปัญหาว่าเล็กน้อยออก หนูทำผิด หนูก็แก้ หนูขอโทษ ก็น่าจะจบสิแม่ เราเลยรู้สึกว่าหลายๆ ครั้งถ้าเราเองแก้ปัญหาชีวิตเราด้วยวิธีคิดแบบนี้ได้ มันก็ดีมากเลย

ความสัมพันธ์ของแม่และลูกหลายๆ คู่ ไม่ค่อยลงรอยกัน ส่วนหนึ่งเพราะแม่รู้สึกเป็นเจ้าของลูก ลูกๆ ห้ามท้าทาย?

คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติของทุกคน ไม่เฉพาะพ่อแม่หรอกเนอะ สมมุติเราเล่นเฟซบุ๊ค แล้วมีคนมาคอมเมนต์อะไรสักอย่างที่เรารู้สึกว่ามันกวนตีน ก็จะแบบ “มึงท้าทายกูเหรอ?” (หัวเราะ) คนเราไม่มีใครอยากถูกท้าทาย เพราะการท้าทายเท่ากับว่าความมั่นคงเราถูกสั่นคลอน

กับลูกมันยิ่งหนัก เพราะพ่อแม่รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ พ่อแม่รู้สึกว่าลูกด้อยกว่า เราควรจะมีอำนาจในการควบคุมเขา ซึ่งเราก็อาจไม่ได้ตีความอำนาจในทางลบเนอะ พ่อแม่อาจรู้สึกว่าเขามีความเป็นห่วงเป็นใย อะไรก็แล้วแต่ แต่เรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของลูก และเรามีหน้าที่ตรงนี้

เราคิดว่าความโกรธส่วนใหญ่มันเกิดมาจากตรงนี้ เกิดความหวั่นไหวว่า การที่ลูกเถียง แปลว่าสิ่งที่เราอยากจะอธิบายกับลูก เขาไม่เข้าใจหรือเปล่า หรือแปลว่าการที่เขาเริ่มดื้อ เริ่มออกจากเส้นทาง ภาพที่ฉันวาดเอาไว้ มันจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว แล้วมันจะเป็นยังไง

เราว่าคนเป็นพ่อแม่ แบกความกลัวความกังวลสารพัด ซึ่งจริงๆ แล้วเราว่ามันเป็นความสัมพันธ์ที่มีปัญหา คือความสัมพันธ์ที่เราคิดว่าเราเป็นคนควบคุมฝ่ายเดียว ซึ่งพอมันไม่เป็นแบบนั้น เราจึงเสียศูนย์ ใช้อำนาจลงไปอีก ลงไปคุมเพื่อให้มันได้ ซึ่งจริงๆ เราควรรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันไม่มีอะไรในโลกที่เป็นแบบนั้น เราเองก็ผ่านช่วงเวลาที่ถูกพ่อแม่ควบคุม พอถึงเวลาเราก็เถียง เป็นวัยรุ่นเราก็ดื้อ

ทุกคนย้อนกลับไปดูตัวเองตอนเป็นวัยรุ่น ใครบ้างที่อยู่ในกรอบ พ่อแม่พูดอะไรก็ทำตามทุกคำ ไม่น่าจะมีหรอก แทบทุกคนต้องเคยผ่านช่วงที่พ่อแม่เป็นห่วงมากๆ  แล้วใช้วิธีบังคับ ซึ่งแม้ว่าเราเข้าใจ แต่เราก็ทุกข์ทรมานจริงมั้ย ถ้าเรากลายเป็นพ่อแม่แล้วเราก็ไม่ควรจะลืมความรู้สึกตอนตัวเองเป็นลูกเหมือนกัน

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เราก็ยอมรับกับตัวเองให้ได้ ว่าความโกรธนี้เกิดจากอะไร ความโกรธนี้มีเหตุผลที่เหมาะสมหรือเปล่า หรืออะไรที่พอจะคุยกันได้แบบมนุษย์ มันก็ควรจะทำอย่างนั้นได้ ที่พูดนี่ก็ไม่ได้ว่าตัวเราเองจะทำได้ดีไปทุกครั้ง แย่ก็เยอะ แต่เราคิดว่า มันคือการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ และฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ ที่จะดีลกับความสัมพันธ์ให้ได้ เพราะในที่สุดลูกก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนๆ กับเรา

โลกของเขาก็โตขึ้นเรื่อยๆ โลกของเขาก็กว้างขึ้น เราเสียอีกที่แก่ลง โลกของเราก็แคบลง วันหนึ่งมันจะถึงจุดที่คุณไม่ได้มีความแตกต่างกัน และลูกคุณก็จะเหนือกว่าคุณในวันหนึ่งด้วยนะ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะอยู่เหนือจากเขาไปตลอดกาล เราคิดว่ายิ่งลูกโต เรายิ่งปฏิบัติต่อกันอย่างมนุษย์ คุณก็จะเป็นเพื่อนกันไปได้นานมากขึ้นเท่านั้น

กลัวไหมว่า วันหนึ่งเราจะรู้จักลูกน้อยลงเรื่อยๆ

จริงๆ มันจะมีคำขู่มาเรื่อยๆ นะว่า “คอยดูเหอะ พอลูกใกล้วัยรุ่น มันจะเฮี้ยนขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มห่างไกลกัน” ซึ่งทำให้เรารู้สึกเราควรจะเตรียมตัวให้พร้อมเจอวันนั้น เราไม่อยากอยู่กับความกลัว ซึ่งอันนั้นพูดไม่ได้ว่าทำได้รึเปล่า อาจจะทำไม่สำเร็จ เพียงแต่จะแบบ เฮ้ย ก็ถ้ารู้แล้วว่ามันต้องเป็นแบบวันนั้น ก็รีบเรียนรู้และเตรียมพร้อมไว้ว่า วันหนึ่งจะเกิดแบบนั้น ถ้าถึงวันนั้นจริงๆ เราจะได้ไม่ culture shock มาก

แต่เรื่องที่ว่าในที่สุดลูกก็จะเป็นอิสระ ออกไปจากชีวิตเรา ก็รู้สึกว่าธรรมดานะ มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับรุ่นเรานี่ เราก็ทำกับพ่อแม่แบบนั้นมาก่อน คือรู้สึกว่าหลายๆ อย่างที่กังวลนู่นนี่ เพราะว่าเราสวมบทบาทพ่อแม่อยู่ แต่ลืมไปว่าอดีตเราก็สวมบทบาทลูกมาก่อน และเราก็เคยทำเรื่องทั้งดีและเลวใส่พ่อแม่มากมาย พ่อแม่เราก็เคยทำแบบนั้นกับคนรุ่นปู่ย่าตายายมาตั้งแต่กำเนิดมนุษย์ขึ้นมา และก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

อะไรคือสิ่งที่แม่ของคุณทำให้คุณ และคุณอยากส่งต่อสิ่งนั้นให้ลูกของคุณบ้าง

เอาจริงๆ แม่เราคือคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่สัมผัสได้ว่าเขาเป็นของเรา เป็นบุคคลที่เรารู้สึกว่าสัมผัสได้ตลอดเวลา เป็นที่ยึดเหนี่ยว รู้สึกว่ามีเขาอยู่จริงๆ ในชีวิตของเรา ด้วยการกระทำของเขา เราก็อยากให้ลูกนึกถึงเราในลักษณะแบบนี้

ถ้าในอนาคตพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว หรือลูกได้ไปใช้ชีวิต หรือไปเจออะไรก็ตาม แต่เมื่อถึงวันที่เขารู้สึกว่าเขาไม่มีอะไรเลย มันควรจะมีคนสองคนที่เป็นที่พึ่งทางความรู้สึกของเขาได้

เนื่องในวันแม่แห่งชาติ มีสิ่งใดอยากฝากถึงแม่ๆ คนอื่นไหมคะ

คิดว่ายุคสมัยที่เรามาเป็นแม่ มันเป็นยุคที่มีชุดความคิดนู่นนี่เยอะมาก และเรารู้สึกว่าการเป็นพ่อแม่ยุคนี้ก็ยากในแง่ที่มันมีสิ่งกระตุ้นและบอกเราอยู่เสมอว่า เราต้องเป็นพ่อแม่ยังไง ‘เราต้องเป็นแบบนี้นะ ต้องให้นมลูก ต้องให้ลูกกินจากเต้า ต้องอย่าทำนี่ อย่าทำนั่น ต้องให้ลูกไปสอบที่นั่น’ บ้าบออะไรเต็มไปหมด

เราเจอคนที่เป็นพ่อแม่ร่วมรุ่นของการเป็นแม่ที่มีความเครียดแบบนี้ คือหมายถึงมีความกดดันหลายสิ่ง จากการถูกกระตุ้นจากสังคม รวมทั้งการกังวลว่าสังคมมันแย่นะ จะเลี้ยงลูกยังไง ให้ลูกเป็นคนดี

เราก็เป็นคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง เพราะรู้สึกว่าสะดวกสบายอบอุ่น อะไรก็ว่าไป แต่เราก็มีเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนที่เขาให้ไม่ได้ ต้องไปทำงานหรืออะไรก็แล้วแต่ และทุกคนก็จะรู้สึกว่า นี่เท่ากับการเป็นแม่ที่แย่ ไม่ได้ให้นมลูก ต้องพยายามปั๊มนมใส่ขวด อะไรไม่รู้ ซึ่งมันทุกข์ทรมานหนักขึ้นไปอีก เราจึงค่อนข้างจะ

รำคาญมากเวลาที่ใครมาบอกว่า “ทำไมอย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้ แม่ต้องให้นมลูกสิ ให้นมวัวเป็นเรื่องเลวร้าย” แหม จะอะไรกันนักหนา เขาก็มีความจำเป็นอื่นในชีวิตไหม ทุกคนก็พยายามทำชีวิตตัวเองให้ดีที่สุด พอแล้ว

โลกมันเปลี่ยนไปทุกวันแหละ แต่ถึงที่สุดแล้ว คนเป็นพ่อแม่ต้องเลือกให้ชัดว่าเราต้องการอะไรในชีวิต และมุ่งหน้าไปในทางนั้น ไม่จำเป็นจะต้องแบกรับคำนิยามจากสังคม เพราะในที่สุดแล้ว มันคือเรื่องของคุณกับลูก และก็เรื่องของลูกกับโลกในอนาคต มันมีอยู่แค่นี้เอง

ทำเรื่องของคุณให้มันดีๆ แล้วก็เลิกกดดันคนอื่น จะได้ไม่ต้องมาวัดประเมินค่ากัน สำคัญคือ ลูกๆ ของทุกคนเติบโตขึ้นไปแล้วสามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้ อยู่ในโลกได้อย่างดีพอสมควร ก็พอแล้ว ไม่ต้องเก่งมากดีมาก จะเพอร์เฟ็คต์อะไรนักหนา

ทุกคนก็ไม่ต้องแบกรับความกดดันเยอะ โลกมันก็เปลี่ยนไปทุกวัน สิ่งที่คุณเชื่อวันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้ามันอาจจะไม่เป็นจริงแล้วก็ได้


Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า