‘นี่แหละเผด็จการ’ หนังสือภาพฉูดฉาดในประวัติศาสตร์โหดเหี้ยม

การตอบคำถามว่าประชาธิปไตยคืออะไร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตอบให้ได้ด้วยว่า อะไรไม่เป็นประชาธิปไตย กล่าวให้ชัดกว่านั้น อะไรคืออำนาจนิยม อะไรคือเผด็จการ

หนังสือ นี่แหละเผด็จการ เป็นหนังสือภาพการเมือง (graphic novel) ที่จะพาผู้อ่านทำความเข้าใจเผด็จการในเวลาอันกระชับและได้ใจความจากทั้งตัวหนังสือบรรยายของ เอกิโป ปลันเตล และภาพวาดสีสันฉูดฉาดของ มิเกล กาซาล ที่บอกเล่าเรื่องราวของเผด็จการในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการฟรังโกไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1977 หลัง นายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เสียชีวิต เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความเลวร้ายและอันตรายของระบอบเผด็จการที่กัดกินประเทศ

ด้วยเจตนาที่ต้องการสร้างองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าให้กับสังคมไทย มูลนิธิคณะก้าวหน้าจึงเลือกจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้โดยแปลจากภาษาสเปนมาเป็นภาษาไทย ทั้งยังเป็นหนังสือเล่มแรกที่มูลนิธิคณะก้าวหน้าตีพิมพ์ในนามของตน นับเป็นการแปลเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก และเป็นภาษาลำดับที่ 13 ที่มีการแปลจากภาษาต้นฉบับ

ในฐานะที่เป็นการทำหนังสือเล่มแรก มูลนิธิคณะก้าวหน้าจึงจัดงานเปิดตัวหนังสือ นี่แหละเผด็จการ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ มานา ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้แปล, ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน พิธีกรและนักจัดรายการ และ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ บรรณาธิการและผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า

ปูมหลังของหนังสือ

มานา ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ เล่าว่า นี่คือหนึ่งในหนังสือชุดที่มีทั้งหมด 4 เล่ม ของ เอกิโป ปลันเตล ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของนักเขียนนิรนาม 3 คน เพื่อเขียนหนังสือในช่วงยุคการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตยในสเปน และเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของประชาธิปไตย เผด็จการ ชนชั้นทางสังคม และบทบาททางเพศในรูปแบบหนังสือเด็ก ชื่อชุดว่า ‘หนังสือเพื่อวันพรุ่งนี้’ (Libros para mañana) ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ (Ragazzi Award) ประเภทหนังสือสารคดีจากเทศกาลหนังสือโบโลญญาปี 2017

หนังสือทั้ง 4 เล่มในชุดนี้ ตีพิมพ์ออกมาช่วงปี 1977-1978 หรือนับเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 และเป็นช่วงเดียวกันกับที่สเปนเลิกสานต่อระบอบเผด็จการฟรังโก และเลือกเปลี่ยนผ่านการปกครองไปบนเส้นทางของประชาธิปไตย ภายใต้การนำของกษัตริย์ฆวน การ์โลส (Juan Carlos)

มองเห็นเผด็จการอย่างที่มันเป็น

ประจักษ์ ก้องกีรติ ให้ความเห็นว่า การแปลหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายและกว้างขึ้น เนื่องจากหนังสือภาพต่างจากหนังสือวิชาการที่มีการเข้าถึงในวงจำกัด ทั้งยังแสดงทัศนะว่า เผด็จการทั่วโลกจะมีลักษณะร่วมกัน 3 ประการ

1. ปกครองด้วยความกลัว คือปกครองด้วยการปราบปราม ข่มขู่ ฆ่าสังหาร ทำให้คนจำนวนมากต้องดำเนินชีวิตอย่างเชื่องสงบ หรือที่ประจักษ์ใช้คำว่า ‘อยู่เป็น’

2. ปกครองด้วยความเท็จ เพราะการปกครองของเผด็จการเต็มไปด้วยปัญหาจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมความจริงและข้อมูลข่าวสาร

3. ปกครองด้วยการเลี้ยงดูเครือข่ายบริวาร ด้วยเหตุผลว่า เผด็จการไม่สามารถแยกขาดจากกลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุนได้ ประจักษ์เปรียบเทียบว่า “เผด็จการก็เหมือนหัวหน้ามาเฟีย เพราะจำเป็นต้องมีลูกน้อง” โดยการจะรักษาผู้สนับสนุนตน สามารถทำได้ผ่านการให้รางวัล หรือแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งการกระทำลักษณะนี้จะทำให้การปกครองของเผด็จการเกิดการทุจริตสูงตามมา

ประจักษ์ยังให้ความเห็นว่า สังคมไทยมีความรู้เรื่องเผด็จการน้อย เหตุผลหนึ่งเพราะยังมีทัศนคติต่อเผด็จการอยู่ ดังที่ปรากฏคำเรียกเผด็จการว่า ‘เผด็จการโดยธรรม’ 

อย่าเผลอแก้ตัวให้เผด็จการ

ในฐานะผู้อ่านคนหนึ่ง ภูวนาทมองว่า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จะเกิดการตั้งคำถามไปทีละเรื่องๆ ทั้งยังเกิดการเปรียบเทียบกับเรื่องในหนังสือว่าเหมือนกับสถานการณ์ที่ตนเองเจอมากน้อยเพียงใด 

ความน่าสนใจคือ ภูวนาทเล่าว่าขณะที่อ่านอยู่ได้เกิดความคิดว่า สถานการณ์ในไทยปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายเท่าที่แสดงไว้บนหนังสือ แต่นั่นก็เป็นเพียงการเผลอแก้ตัวแทน และพยายามมองหาข้อดีให้กับการปกครองเท่านั้น ทั้งยังเห็นว่าเหตุผลที่ประเทศไทยยังคงวนอยู่ที่เดิม 

“ไม่ใช่เพราะว่าเราตั้งความหวังและเป้าหมายไว้สูงจนไปไม่ถึง แต่เป็นเพราะว่าเราตั้งเป้าหมายไว้ต่ำไป และเผลอไปพอใจกับมัน” 

‘ระบบ’ เป็นประเด็นที่ภูวนาทให้ความสำคัญ เพราะการเป็นประชาธิปไตยหมายถึงระบบที่มีวาระคืนอำนาจให้ประชาชน มีเจตนาที่เปิดกว้างแก่การตรวจสอบ แต่สำหรับเผด็จการหาเป็นเช่นนั้นไม่ 

ทำไมต้องอ่าน

กุลธิดา บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ชี้ว่า หนังสือไม่ได้ถูกผลิตเพื่ออ่านเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านมีบทสนทนาเชื่อมต่อกันได้ โดยไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย บทสนทนาที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้บุคคลในวงสนทนา ทั้งตัวเราเองและคนที่พูดคุยด้วยได้รู้จักตัวเองมากขึ้น 

การแลกเปลี่ยนบทสนทนายังเป็นคำตอบที่ภูวนาทเห็นด้วยว่า เป็นเหตุผลที่ควรต้องอ่านหนังสือเล่มนี้เช่นกัน 

ส่วนประจักษ์และมานา มีคำตอบนี้ไปในทางเดียวกันคือ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สามารถอ่านได้สำหรับหลายช่วงวัย หลายยุคสมัย และต่อให้ถูกอ่านในสังคมที่พ้นจากเผด็จการ หรือสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ในการย้ำเตือนความเลวร้ายของการปกครองแบบเผด็จการได้เสมอ

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า