ปิยบุตร แสงกนกกุล: ทางที่เคยก้าวมา ทางที่กำลังก้าวอยู่ และทางที่กำลังก้าวไป ของคณะก้าวหน้า

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เคยกล่าวถึงชัยชนะในปี 1997 ของพรรคแรงงานใหม่ (New Labour) ภายใต้การนำของ โทนี แบลร์ (Tony Blair) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของอิทธิพลทางภาษาในฐานะเป็นคำ-สั่ง (order-word) เพราะการเติมคำคุณศัพท์อย่างคำว่า ‘ใหม่’ ต่อท้าย ทำให้คนในสังคมรับรู้ได้ถึงทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปของพรรคแรงงาน และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นการเพิ่มตัวเลือกใหม่ หรือ ‘ทางที่สาม’ ให้แก่ประชาชน[1]

ตามนัยนี้ การเกิดขึ้นของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ในปี 2018 ก็คล้ายจะมีลักษณะเดียวกัน เพราะการตั้งชื่อโดยการผสมระหว่างคำว่า ‘อนาคต’ กับ ‘ใหม่’ คือการบังคับให้องค์กรต้องเป็นอนาคตที่ใหม่อยู่เสมอ กระทั่งในเชิงเจตนารมณ์ของพรรคยังประกาศชัดเจนว่า มีเป้าประสงค์ที่จะ “สร้างการเมืองแบบใหม่ ให้สังคมไทยตระหนักว่าการกลับสู่ประชาธิปไตยคือทางออกของวิกฤติการเมืองและวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารที่เรื้อรังมากว่าทศวรรษ”[2]

แต่ชีวิตพรรคอนาคตใหม่ก็ต้องจบลงด้วยคำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญในไม่กี่ปีให้หลัง กระนั้น จิตวิญญาณของอนาคตใหม่ก็ยังไม่ดับไปเสียทีเดียว หากยึดตามคำของ ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ก็ประกาศชัดว่า “คำว่าอนาคตใหม่ ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังคงเดินเรื่องอยู่”

หลังพรรคถูกยุบ ปิยบุตรและอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิ ร่วมกันก่อตั้งคณะที่ประกาศชัดเจนว่าจะมุ่งหน้าสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามให้ใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ทำให้พวกเขาเลือกกลับมาในชื่อใหม่ที่มีลักษณะบังคับให้ต้องพัฒนาไม่แพ้กัน ชื่อนั้นคือ ‘คณะก้าวหน้า’

ในบทสัมภาษณ์ตอนแรกนี้ การพูดคุยถึงอดีตที่เคยก้าวมา เส้นทางปัจจุบันที่ก้าวอยู่ และอนาคตที่กำลังก้าวไป กระทั่งการสอบถามว่า ก้าวที่บอกว่ามุ่งไปข้างหน้านั้น เป็นก้าวเดียวกับผู้ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องหรือไม่ คือสิ่งที่เราคุยกับปิยบุตร ทั้งในฐานะเลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ ตลอดจนในฐานะของหัวหน้าขบวนการล้มเจ้า (ตามที่คนจำนวนหนึ่งกล่าวหา)

“เราทรุดลงเพื่อเป็นการเสียสละอันมีเกียรติ ในการต่อสู้ที่มีกำลังไม่ทัดเทียมอันนี้ เราเสียสละทุกสิ่งที่เรามีเพื่ออุดมการณ์แห่งเสรีภาพ อำนาจบาตรใหญ่จักต้องพินาศ ประชาชนจะต้องลุกฮือขึ้น” เพราะอะไรอาจารย์ถึงเลือกเปิดด้วยโควทท่อนนี้ จากนวนิยายเรื่อง แม่ ของ แม็กซิม กอร์กี ในแถลงการณ์ก่อตั้งคณะก้าวหน้า

การก่อตั้งคณะก้าวหน้าสืบเนื่องมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ถ้ายังจำกันได้ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ผมก็แถลงการณ์ไว้ชัดเจนว่า ผมต้องการให้ภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องยุบพรรค ไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ เพราะเราเห็นมาโดยตลอดว่า กว่าทศวรรษเขาใช้วิธีการอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อที่จะกำจัดคู่แข่งศัตรูในทางการเมือง ดังนั้นผมเลยตั้งใจว่า จะทำให้การยุบพรรคนั้นไม่สำเร็จ 

ไม่สำเร็จในที่นี้คืออะไร ก็คือ เขาต้องการตัดธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) กับผมออกไปจากแวดวงทางการเมือง ให้ธนาธรกลับไปทำธุรกิจ ให้ผมกลับไปสอนหนังสือ เดี๋ยวพอหมดขั้วแปรทางการเมืองค่อยกลับมาเล่นการเมืองใหม่ ซึ่งเขาจะไม่ได้อย่างนั้น เขาต้องการให้ผู้สนับสนุนของเราละทิ้งการสนับสนุน เขาต้องการให้การเดินทางของพรรคอนาคตใหม่หยุดลง ซึ่งเขาจะไม่ได้อย่างนั้น นี่จึงเป็นที่มาของการสร้างคณะก้าวหน้าขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันเพื่อน ส.ส. ในอนาคตใหม่ก็ย้ายไปอยู่พรรคก้าวไกล แต่ผม คุณธนาธร คุณช่อ (พรรณิการ์ วานิช) และอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ก็เดินหน้าทำคณะก้าวหน้ากันต่อ 

สาเหตุที่ผมยกโควทนี้ขึ้นมา ซึ่งมาจากสำนวนแปลของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ แปลไว้อย่างสละสลวยมาก เพราะเรารู้ดีว่าเราสู้กับอะไร เรารู้ดีว่าเราสู้กับอำนาจบาตรใหญ่ขนาดไหน ดังนั้นเมื่อเราสู้กับอำนาจบาตรใหญ่ขนาดนี้ อำนาจของยักษ์ตัวมหึมาขนาดนี้ มันจึงเป็นธรรมดาที่เราจะมีโอกาสทรุดลงเสมอ แต่การทรุดลงไม่ได้หมายความว่าเราแพ้หรือเราสิ้นสุดการต่อสู้ ตรงกันข้าม มันจะทำให้เรากลับมาใหม่และการทรุดลงของเราเป็นการทรุดลงอย่างมีเกียรติ เพราะเราสู้กับเขา เราถึงโดนเขาชกจนล้ม มันเป็นการล้มที่มีเกียรติยศ และมีต่อเนื่องไปอีก เราไม่หยุด เราไม่ยอมแพ้ ถ้าเราทำอย่างนี้ ท้ายที่สุด มันจะเป็นความหวังให้กับประชาชนในการต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรม

วันนั้นอาจารย์พูดด้วยว่าจะเดินหน้าสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ อยากถามเพื่อทบทวนอีกครั้งว่า ภารกิจนั้นคืออะไร

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค เรามีความคิดว่าเราต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงการเมืองให้มันดีขึ้นกว่าเดิม ภายหลังจากเราอยู่กับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาต่อเนื่องกว่าทศวรรษ จนพูดกันว่ามันเป็นทศวรรษที่สูญหาย ในขณะเดียวกัน ตัวละครทางการเมืองที่มีอยู่ ณ เวลานั้น ไม่น่าจะตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงได้ เราเลยอาสาเข้ามาทำ ทั้งผม คุณธนาธร และคุณชัยธวัช (ชัยธวัช ตุลาธน) ซึ่งร่วมกันก่อตั้งพรรคขึ้นมา ต่างมองเรื่องของการเมืองอีกแบบหนึ่ง มองว่าการเมืองเป็นเรื่องความเป็นไปได้แบบใหม่ เป็นเรื่องของสิ่งที่คนเชื่อว่ามันจะทำไม่ได้ แต่เราทำได้ อันนี้เป็นการเมืองในความหมายของพวกเรา ดังนั้น เวลาเราตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ผมเข้าใจว่าพรรคการเมืองแบบเดิมทั้งหมดที่มีเขามุ่งมาด ปรารถนาในการสะสมคะแนนเสียงและจำนวน ส.ส. เพื่อแลกกับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือเพื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก แล้วจึงไปทำตามนโยบายต่างๆ เป็นการเมืองในความหมายแบบเดิม 

แต่สำหรับการเมืองในความหมายแบบที่เราคิด แน่นอนว่าการตั้งพรรคขึ้นมาก็อยากได้จำนวน ส.ส. อยากได้เป็นรัฐบาลเพื่อครองอำนาจอย่างเป็นธรรม แต่มันไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะหากเราคิดเรื่องจำนวน ส.ส. และรัฐมนตรีเป็นเรื่องหลัก เราก็จะต้องยอมทำอะไรต่อมิอะไรที่มันไม่ถูกต้อง เช่น ผมอยากได้ ส.ส. เยอะ รวดเร็ว ทันใจ ภายใน 4 ปี ก็ต้องไปซื้อ ไปดีล ส.ส. และเอาตระกูลการเมืองที่เป็นมืออาชีพเข้ามาให้มากที่สุด เพื่อเอา ส.ส. ไปเป็นจำนวนนับบวกเพื่อให้เป็นรัฐบาล ถ้าเราคิดเราทำอย่างนี้ ก็คงไม่ต้องตั้งพรรคอนาคตใหม่ ไปอยู่พรรคอื่นป่านนี้เราก็อาจจะได้เป็นรัฐมนตรีไปแล้ว แต่เมื่อคิดไม่เหมือนเดิม ก็เลยเป็นที่มาของการตั้งพรรคอนาคตใหม่ คือ การเมืองไม่ใช่แค่จำนวนนับและจำนวน ส.ส. ไม่ใช่แค่การเข้าไปขอแบ่งอำนาจมาครอง แต่เราต้องการเข้าไปเปลี่ยนความคิด การขยับเขยื้อน เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองใหม่ ผลที่ตามมาต่อเนื่องในท้ายที่สุด มันคือการเข้าไปมีอำนาจเพื่อเปลี่ยนสังคมไทย วิธีคิดแบบนี้มันเลยไม่เหมือนกันกับการก่อตั้งพรรคการเมืองแบบที่เคยเป็นมา

ผมขอเท้าความถึงปรัชญาเมธีที่ผมชอบมาก คือ อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou) เขาพูดถึงการเมือง (politics) ว่ามีสองความหมาย ความหมายแรกคือความหมายที่หยิบยืมมาจากมาคิอาเวลลี (Machiavelli) กล่าวว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ พูดถึงว่าจะเข้าสู่อำนาจรัฐอย่างไร แต่การเมืองในความหมายที่สอง มันสัมพันธ์กับเรื่องความยุติธรรม การปลดปล่อยคนไปสู่เสรี ผมเชื่อแบบบาดียูในเรื่องที่เราต้องทำภารกิจการเมืองแบบความหมายที่สอง ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงเริ่มต้นจากสิ่งนี้ เราต้องการค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ การเปลี่ยนความคิดของผู้คนสำคัญมากกว่าจำนวน ส.ส.

ทีนี้ก็จะมีประเด็นที่เราวางเอาไว้ เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องไปประกาศในรูปของนโยบายหาเสียง ทั้งในเรื่องการรณรงค์ทางการเมืองจากการเลือกตั้ง เช่น จัดการตัวรัฐธรรมนูญปี 2560 ทิ้ง จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉันทามติของประชาชน จัดการเรื่องปฏิรูปกองทัพ จัดการเรื่องปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสวัสดิการ การจัดการปัญหาเรื่องที่ดิน การสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น นี่เป็นตัวอย่างพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้เคยนำไปทำเป็นนโยบายรณรงค์หาเสียง แต่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล ยังไม่มีโอกาสทำ และบังเอิญถูกยุบพรรคเสียก่อน 

พอมาเป็นคณะก้าวหน้า ผมคิดว่าคณะก้าวหน้าไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ไม่ได้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ไม่มีโอกาสเข้าไปผลักดันในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็ให้พรรคก้าวไกลเขารับไป แต่บทบาทที่เราทำได้อยู่ คือ เราระดมกันทางความคิด ผมอาจจะยกตัวอย่างให้เห็นสักสองสามเรื่องก็ได้ 

เรื่องแรก เราไปทำเรื่องท้องถิ่น ตอนเป็นอนาคตใหม่เรายืนยันเรื่องยุติรัฐราชการรวมศูนย์ คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น พอมาเป็นคณะก้าวหน้าก็คิดว่า เราไปหาผู้สมัครหน่วยก้านดีๆ ที่มีความคิดแบบใหม่เพื่อเข้าไปทำงานการเมืองท้องถิ่นใหม่ๆ ถามว่ายากไหม ยากแน่นอนครับ แต่อย่างที่ผมเรียนไปว่า ชัยชนะมันไม่ได้อยู่ที่ว่ามีนายก อบจ. อบต. หรือเทศบาลกี่คน ความสำคัญมันอยู่ที่คุณลองให้เขาเข้าไปเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นแล้วหรือยัง ว่าต่อไปนี้ถ้าหากเลือกเรา เราจะทำนโยบาย ถ้าหากสนใจแนวทางแบบเรา คุณไม่จำเป็นต้องเป็นตระกูลการเมือง ขอให้คุณตั้งใจที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง พอเสียทีกับการเมืองที่แข่งขันกันด้วยอิทธิพล เราจะแข่งขันกันที่นโยบาย ซึ่งทำแบบนี้ชนะหรือแพ้ จะได้กี่ที่นั่ง ก็ไม่เป็นไร แต่ผลักดันความคิดแบบนี้เข้าไป ถ้าการเมืองท้องถิ่นใหม่มันดีขึ้นจริง ข้ออ้างที่จะขัดขวางการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นก็จะหมดลงไปโดยปริยาย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการขยับเขยื้อนทางความคิด 

หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ มันไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้เราจะตื่นมาแล้วเข้าไปมีอำนาจรัฐ แต่เราสร้างความคิดต่อผู้คนให้คนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นไปได้จริงในยุคสมัยของเรา นี่คือสิ่งที่ตั้งใจ ฉะนั้น ก็ทำหลากหลายเรื่อง ทั้งเรื่องผลักดันทางความคิด ทั้งสนับสนุนการลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น เหมือนกับโรงเรียนการเมือง แต่ผมไม่อยากใช้คำนี้ เราใช้ชื่อภาษาอังกฤษที่มีศัพท์อยู่แล้วและเข้าท่ากับยุคสมัยหน่อย คือ Common School

พูดถึงเรื่องการเมืองท้องถิ่น การเลือกตั้งที่ผ่านมาเห็นว่าคณะก้าวหน้าได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แต่การเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล กระทั่งสมัยที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ มักถูกปรามาสว่าเป็นจุดด้อย อยากให้อาจารย์ลองประเมินตั้งแต่ตอนเริ่มทำจนถึงตอนล่าสุดว่าคืบหน้าแค่ไหนแล้ว

ประเมินแบบไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป ผมว่าเราเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองได้พอสมควร เอาในส่วนของระดับชาติก่อน ถ้าลองเทียบ 24 มีนาคม 2562 ที่พรรคอนาคตใหม่ลงสนามครั้งแรกกับตอนนี้ปลายปี 2564 จะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมืองปรับตัวคล้ายๆ กับที่เราเคยทำมา ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว แสดงว่ามีพรรคอื่นๆ เริ่มเห็นด้วยแล้วกับแนวคิดแนวทางแบบนี้ ก็ปรับไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ผลักดันวาระที่มันอาจจะดูไม่ได้คะแนนเสียง แต่มันเป็นความก้าวหน้าของสังคมมากขึ้น สำหรับผม ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม แต่ถ้าเราทำให้พรรคการเมืองหรือคนในสังคมเอาด้วยกับแนวทางแบบนี้ นี่คือชัยชนะของการเมืองแบบใหม่แล้ว

ส่วนระดับท้องถิ่น ผมทราบดีว่าการเมืองท้องถิ่นมันยาก มันโหด ยิ่งสนามเล็กลงเท่าไหร่ ยิ่งใช้อิทธิพลกลไกรัฐเข้าไปช่วยมากขึ้นเท่านั้น พฤติกรรมการเลือกของผู้คนยังสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์อย่างมาก ผมเน้นย้ำตรงนี้ว่าผมไม่เคยตำหนิผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เคยตำหนิเรื่องการเมือง ผมไม่เคยบอกว่าอย่าเลือกตั้ง ตรงกันข้าม การเลือกตั้งแต่ละครั้งมันคือการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์และโอกาสกันไปเรื่อยๆ ถ้าเราลองย้อนดูอิทธิพลกลไกรัฐในการซื้อสิทธิ์ขายเสียง มันก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงตามลำดับ การเลือกตั้งปี 2554 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่การซื้อเสียงมันทำงานไม่ได้เลย แต่พอเกิดรัฐประหารปี 2557 การเมืองไทยมันถอยกลับไปใหม่ 

ดังนั้น เวลาคนจะตำหนิเรื่องการซื้อเสียง เรื่องนักการเมืองไม่ดี ถ้าจะเอาให้จริงต้องไปดูว่าสิ่งที่มันไม่ดี การเมืองไทยที่ถอยลงมันเริ่มต้นจากการที่มีรัฐประหารก่อน พอรัฐประหารแล้ว ทหารเข้ามาครองอำนาจอย่างเป็นต่อ สืบทอดอำนาจ เขาก็จะไปตั้งพรรคทหารขึ้นมาแล้วก็ซ่องสุมกำลัง ไปดึง ส.ส. ดูดคนนั้นคนนี้ และเอากลไกรัฐอัดเข้าไป เอาอิทธิพล เงินทอง อัดเข้าไปในพื้นที่ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่มันแย่ลงเรื่อยๆ ถ้าลองประเทศไทยมีสวัสดิการที่ดี มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ก็ไม่มีใครสนใจที่จะเข้าไปรับเงินรับทองเหล่านั้น ดังนั้น ผมไม่เคยโทษผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ในเมื่อสภาพการณ์ทางการเมืองมันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องยอมรับว่ามันมีพฤติกรรมของการซื้อสิทธิ์ขายเสียง มีการใช้อิทธิพลจริงๆ วิธีการของเราคือไม่ไปทำแบบเขา ถ้าเราทำแบบเขา เราก็อยู่ในเข่งเดียวกันหมด และต่อให้ทำแบบเขาก็ไม่มีปัญญาสู้เขาแน่ เพราะเขาชำนาญกว่าแน่นอน ดังนั้น เราจึงเปิดวิธีใหม่ เราแข่งอีกแบบหนึ่ง 

แน่นอน ผมก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือบอกว่าอ่อนทางการเมือง ไร้เดียงสา (innocent) ทางการเมือง ไม่มองความเป็นจริงทางการเมือง ก็ได้ยินได้ฟังมาโดยตลอด แต่พูดตรงๆ เราก็ตามการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เราก็รู้ว่าเขาทำอะไรกันยังไง เรารู้ว่าถ้าอยากชนะแบบเขาต้องทำยังไง เพราะรู้อย่างนี้ไงก็เลยไม่ทำ

เพราะอยากจะสร้างความแตกต่าง เกจิอาจารย์อาจดูถูกว่าเราอ่อน ไม่รู้จักปรับสภาพให้เข้าใจโลกการเมือง …คือเข้าใจครับ แต่จะไม่ทำ ทีนี้พอไม่ทำแล้วถามว่าแพ้ไหม ก็แพ้ครับ แพ้แล้วยังไงครับ ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เสร็จภายในวันพรุ่งนี้ ผมไม่ได้มีความคิดว่าธนาธรและผมจะต้องเข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐ ต้องไปเป็นรัฐมนตรี ไปเป็น ส.ส. เร็วๆ นี้ เรื่องนั้นมันเรื่องอื่น แต่ความสำคัญคือเราอยากเปลี่ยนก่อน ดังนั้น ก็ทดลองดู แพ้ก็แพ้ครับ เจออิทธิพลเต็มไปหมดก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวเอาใหม่ เอาใหม่ไปเรื่อยๆ แล้วผมเชื่อว่านานวันเข้า พฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ถ้าหากแจ็คพอต เราชนะขึ้นมาบางเขต เหมือนเทศบาลที่เราเลือกตั้ง 16 อบต. ได้มา 38 ที่นั่ง และเราสามารถเอากลไกเหล่านี้ไปบริหารให้ดูว่าทำได้จริง คนก็จะเปลี่ยน 

เวลาผมบอกว่ารณรงค์เพื่อเปลี่ยนความคิดการเมือง ความคิดผู้คน มันคือแบบนี้ มันคนละแบบกับการกักตุนจำนวน ส.ส. เอาชนะเลือกตั้งให้มากๆ เพื่อที่จะเป็นรัฐบาลเร็วๆ อันนี้จึงเป็นมุมมองที่อาจจะแตกต่างกัน ไม่ได้บอกว่าของใครผิดของใครถูก แต่พวกเราเชื่อของเราแบบนี้

สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ทั้งแบบทางการและไม่ทางการจากคณะก้าวหน้า คือการรณรงค์ทางความคิดที่ก้าวหน้า คำถามคือความคิดที่ก้าวหน้าของคณะก้าวหน้า กับความคิดก้าวหน้าของคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง เป็นความคิดก้าวหน้าที่เหมือนกันหรือไม่

ผมมองอย่างนี้นะครับ อะไรที่จะใช้คำว่า progressive ตัว progress ที่มีความหมายว่าก้าวหน้า หมายถึง 

1) ไม่ยอมจำนนกับกฎเกณฑ์ ความคิด ความเชื่อ วิถีแบบเดิมๆ ที่เป็นอยู่ แต่อยากจะไปให้ไกลกว่าเดิม ฉะนั้น จะเริ่มต้นจากการไม่เอาสิ่งที่เป็นอยู่ และอยากเสนอสิ่งใหม่ คำมันก็ชัดอยู่นะ คำว่าก้าวไปข้างหน้า นั่นหมายถึงมันจะไม่อยู่ที่เดิม ความคิดแบบเดิมไม่เอา แต่จะเอาแบบใหม่ นี่คือรากฐานของมัน

2) การผูกโยงกับความเป็นไปได้ ถ้าคุณเชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็จะอยู่ที่เดิมแบบเดิม แต่ถ้าคุณเชื่อว่าสิ่งใหม่จะเกิดขึ้นได้จริง และเข้ามาแทนที่สิ่งเก่าได้ คุณเชื่อว่ามันเป็นไปได้แล้วคุณจะลงมือทำ 

ฉะนั้น มันจะเป็นไปได้สองอย่าง คือ ต่อต้านสิ่งที่เป็นอยู่ เห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่ไม่ยุติธรรม ไม่ถูก ไม่ดี เราอยากจะเสนอสิ่งใหม่ที่ไกลกว่าเดิม กับอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเสนอสิ่งใหม่ที่ไกลกว่าเดิม คุณต้องมั่นใจแล้วว่ามันเป็นไปได้ เราเชื่อว่ามันเป็นไปได้ มันจะเกิดขึ้นจริง นี่คือนิยามความคิดก้าวหน้าในความเห็นผม

ถามว่าตรงกันไหม ผมคิดว่าหลายคนก็สามารถพูดได้ว่าตัวเองก้าวหน้า แต่รายละเอียดอาจจะเห็นไม่ตรงกัน แต่หลักใหญ่ใจความจะเป็นอย่างที่ผมบอกเมื่อสักครู่ ยกตัวอย่างเช่น บางเรื่องผมก็เห็นด้วย แต่บางเรื่องผมก็ไม่เห็นด้วย

จริงๆ มีเรื่องหนึ่งที่ผมก็รู้สึกว่ามันอาจจะยังไม่มีพื้นที่ในการโต้เถียงเรื่องพวกนี้ คือตอนนี้มีการรณรงค์เรื่องการทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย แล้วบอกว่าถ้าใครไม่เอาเรื่องนี้จะเป็นคนล้าหลัง แต่วิธีคิดของผมเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าผมจะถูกนิยามว่าล้าหลังหรือก้าวหน้า ผมมองว่าการขายบริการทางเพศมันมีเส้นแบ่งบางๆ ของการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการค้ามนุษย์ 

ผมพูดตรงนี้เพราะอะไรครับ สำหรับผม ผมเข้าใจดีกับการที่หลายคนเรียกร้องเรื่องทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย เพราะต้องการสวัสดิการ ต้องการความมั่นคงในอาชีพ ต้องการสถานะที่ชัดเจน เรื่องแบบนี้มันใช้วิธีอื่นได้ แต่การทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย ผมถามนิดหนึ่งง่ายๆ คุณสามารถปรับเปลี่ยนความคิดของหญิงและชายให้เหมือนกันได้ไหม ผมไม่เชื่อนะว่าผู้หญิงจะซื้อบริการได้มากกว่าผู้ชาย มันอาจจะเป็นปทัสถาน (norm) ทางสังคม อาจจะเป็นวิธีคิดที่ปลูกฝังมา ถ้าหากตรงนี้มันไม่เท่ากัน สุดท้ายชายจะขึ้นมาเป็นใหญ่ กดขี่ผู้หญิงผ่านกระบวนการแบบนี้ เรื่องนี้ในยุโรปถูกถกเถียงกันในฝ่ายก้าวหน้าเต็มไปหมด ดังนั้น เวลาเราเห็นการรณรงค์ของฝ่ายก้าวหน้าในยุโรปหลายที่ เขาก็จะเถียงกันเรื่องนี้มาก ในประเทศฝรั่งเศสเองเขาก็ไม่ยอมให้เรื่องนี้ถูกกฎหมาย แต่เขาใช้วิธีลงโทษผู้ซื้อบริการให้มีความผิดทางอาญา ผมเองเข้าใจดีที่มีการรณรงค์กันตอนนี้ เพราะเขาต้องการสถานะที่ชัดเจน มีสวัสดิการ ได้อยู่ในระบบ ไม่ให้ถูกกดขี่ข่มเหงหรือทารุณกรรมจากบุคคลอื่นๆ ในการประกอบอาชีพนี้ ดังนั้น อันนี้ถกเถียงได้ ผมจึงไม่รู้ว่าการที่ผมคิดแบบนี้จะก้าวหน้าหรือล้าหลัง 

หรืออีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเรามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ในอนาคตเรื่องการบริการทางเพศ ถ้าเรามองเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เรานิยามไปได้เลยไหมว่า นี่คือบริการสาธารณะ (public service) มองแบบนี้เพราะอะไร ตัวอย่างหลากหลาย เช่น บางมลรัฐในสวิตเซอร์แลนด์เขาก็ทำแบบนี้ เขาจัดให้เรื่องนี้เป็นบริการสาธารณะ เพราะรู้ว่ามีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเพศสัมพันธ์ได้ปกติเหมือนคนทั่วไป เช่น มีการบริการให้กับผู้พิการ ทุพพลภาพ มีคนที่เข้าไปบริการทางเพศให้กับบุคคลเหล่านี้ โดยเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจ้าง อะไรแบบนี้ มันก็ล้ำไปเลย

ผมถึงบอกว่าเวลาเราพูดเรื่องก้าวหน้า เราไม่รู้หรอกว่าใครก้าวหน้า ใครล้าหลัง แม้แต่ในฝ่ายที่เราบอกว่าก้าวหน้าด้วยกันเอง เพราะรายละเอียดมันจะเห็นต่างกัน แต่หลักใหญ่ใจความมันอยู่ที่สองข้อที่ผมบอกไป คือ ไม่เอาปทัสถานหรือวิถีแบบเดิม อยากเสนอสิ่งใหม่ที่ไปไกลกว่าเดิม กับอีกอันคือ เชื่อว่าสิ่งใหม่ที่ไกลกว่าเดิมมันเป็นไปได้ เกิดขึ้นได้จริง

ในวันที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ออกมาเรียกร้องทางการเมือง ถูกจำคุก โดนคดี คณะก้าวหน้ามองอนาคตตัวเองอย่างไร

ผมมองว่าอย่างนี้ คือการชุมนุมเรียกร้องมีกระแสสูง กระแสต่ำ มีช่วงขึ้น มีช่วงลง คุณูปการที่สำคัญของเยาวรุ่นแสดงออกรอบนี้คือ เขาสามารถผลักดันประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ขึ้นมาสู่สาธารณะได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เหมือนช้างตัวใหญ่ๆ ที่อยู่ในห้องแล้วเรามองไม่เห็นมัน เยาวรุ่นเขาได้ไปเปิดประตูออกมาให้เห็นแล้วว่าช้างตัวนี้อยู่ในห้องของคุณ คุณควรมาคุยกันได้แล้วว่าจะเอายังไงกับช้างตัวนี้ นี่คือคุณูปการของเขา แต่การชุมนุม สถานการณ์ทางการเมือง มันแปรเปลี่ยนไปตามช่วงจังหวะเวลา ปี 2563 ขึ้นพีคมาก ปี 2564 ลงมาก ลงเพราะ 1) โควิด 2) รัฐตั้งหลักได้แล้วว่าจะจัดการอย่างไร ช่วงแรกรัฐมึนงง ตอนนี้ตั้งหลักได้แล้ว เขาตัดสินใจใช้สิ่งที่ผมเรียกว่า ‘นิติสงคราม’ ใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าจัดการ ตั้งข้อหา จับกุม คุมขังเอาไว้เยอะๆ และเขาอยู่เหนือกลไกรัฐ เขาก็เลือกได้ จิ้มได้ กดได้ ขยายได้ เลือกผ่อนหนักผ่อนเบาได้ตลอดเวลา พอมันมาถึงสถานการณ์แบบนี้ 

ในความเห็นของผม

เยาวชนคนหนุ่มสาวในรอบนี้เขาไปได้สุดความสามารถแล้วภายใต้ระบอบนี้ ภายใต้ข้อจำกัดของกลไกรัฐที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเขาถือไว้อยู่ ดังนั้น มันอาจจำเป็นต้องปรับวิธีการสื่อสาร การรณรงค์ การนำเสนอใหม่ เพื่อให้ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ไปต่อ

สมมุติเราบอกว่าเราอยากปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ เราไม่สามารถทำได้โดยการชุมนุมบนท้องถนนเพียงอย่างเดียวแน่ๆ มันจำเป็นต้องมีสถาบันการเมืองในระบบเอาไปทำต่อ ต้องมีพรรคการเมือง มี ส.ส. เอาด้วย และที่สำคัญที่สุด สถาบันกษัตริย์ต้องเอาด้วย ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องเอาด้วย ทีนี้ถ้ารณรงค์สื่อสารด้วยท่วงทำนองแบบเดิมแบบเดียวตลอด ฝ่ายอนุรักษนิยมเขาก็ปิดประตูใส่ เขาจะไม่มาดูรายละเอียดเลย เพราะเขาไม่ชอบท่าที ผมไม่ได้บอกว่าท่าทีแบบนี้ผิดนะ แต่คุณจะทำอย่างไรให้การสื่อสาร (communication) ของคุณไปถึงผู้รับสารได้ มันหมายถึงการเปลี่ยนใจคนได้ ในเมื่อถ้าสื่อสารแบบนี้ ฝ่ายตรงข้ามปิดประตูหนี ไม่คุยด้วย มันก็ไปต่อไม่ได้ 

ผมเลยคิดว่าในส่วนของพวกผมที่พอจะมีกำลัง มีสมอง มีศักยภาพอยู่บ้างที่จะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ได้ ผมก็เอาสมองที่ผมมีมาออกแบบเป็นตัวบทกฎหมาย เช่น เราพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มันมีหลากหลายประเด็น บางประเด็นต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญในหมวด 2 บางประเด็นต้องแก้ระดับราชโองการ บางประเด็นไม่อยู่ในกฎหมายเลย เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล ผมมองว่าช่องทางการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 มันทำได้ ผมเลยยกร่างรัฐธรรมนูญหมวด 2 พระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ ให้สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy และให้สอดคล้องกับระบอบที่เรายืนยันว่าเป็นประชาธิปไตยพร้อมกับพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย ตัวแบบผมก็ไม่ได้เอามาจากที่ไหนไกล หลายเรื่องเป็นกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญที่ใช้ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 หลายเรื่องเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้มาก่อนปี 2534 หลายเรื่องใช้มาก่อนปี 2492 หลายเรื่องผมหยิบยืมมาจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองแบบนี้ ทั้งหลายทั้งปวงออกแบบและเขียนขึ้นมาเพื่อที่จะนำเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่กระจัดกระจายอยู่บนท้องถนนให้มาอยู่ในรูปตัวบทรัฐธรรมนูญ แล้วใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญในการรณรงค์ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การรณรงค์ก็เดินทางระยะยาว สามารถถกเถียง อภิปราย หรือทำความคิดความรู้กับผู้คนให้มากขึ้นระหว่างทาง ผมคิดว่าสิ่งที่ผมเสนอตรงนี้อาจจะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับการผลักดันประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ต่อ 

ภายใต้สถานการณ์ที่กลไกรัฐกดเรามาเรื่อยๆ การรณรงค์มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จแบบเดียว บางช่วงเวลาเราใช้การชุมนุม บางช่วงเวลาเราใช้การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย บางช่วงเวลาเราใช้การถกเถียง อภิปรายทางวิชาการ การดีเบตกับฝ่ายตรงข้าม บางช่วงเวลาพรรคการเมืองควรเอาไปทำเป็นนโยบายหาเสียง มันหลากหลายรูปแบบ

ฉะนั้น ผมประเมินว่าถ้าจะบอกว่าแตกต่างกันอย่างไรระหว่างกลุ่มที่ชุมนุมบนท้องถนนกับคณะก้าวหน้าในวันนี้ ผมคิดว่าเราจะเข้าไปหนุนเสริมเพื่อจะทำให้ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นยังไปได้ต่อในพื้นที่ปลอดภัย และสามารถคุยแบบมีวุฒิภาวะกันได้มากขึ้น

นี่คือสิ่งที่อาจารย์พูดเมื่อเช้าของวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา?

ครับ ก็ตั้งใจ คือผมร่างมาเสร็จแล้วตั้งแต่ 10 สิงหาคม มันเป็นวันที่เขาปราศรัยข้อเสนอ 10 ข้อ ผมเห็นว่าเป็นวาระครบรอบ 1 ปี และประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มันค่อนข้างหายไปเรื่อยๆ ตอนนี้กลายเป็นเรื่องการถูกจับและต้องเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ไปคุกคาม จำกัดสิทธิเสรีภาพของเยาวชนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น ประเด็นมันถูกบิดไป ผมเลยคิดว่าหลังๆ มา ไม่มีใครคุยประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้ว ไม่มีใครพูดเรื่องข้อเสนอ โอเค เรื่องยกเลิก 112 มันกลับมาใหม่ แต่เรื่องอื่นแทบไม่ได้คุยกันเลย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะเอาอย่างไร การขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์จะเอาอย่างไร กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์จะเอาอย่างไร การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะเอาอย่างไร งบประมาณ รายจ่ายประจำปีที่จะมาถึงนี้ จะหักค่าใช้จ่ายให้กับพระมหากษัตริย์จะเอาอย่างไร ตรงนี้มันไม่ได้คุยรายละเอียดกันแล้ว 

ผมเลยคิดว่าด้วยวิธีที่ผมเรียนหนังสือมา ความถนัดที่ผมมีก็คือเรื่องแบบนี้ ก็จะพยายามผลักดันมาพูด แต่มันอาจจะเป็นความโชคร้ายอย่างหนึ่ง ก็คือว่าหน้าตาแบบผม ฝ่ายอนุรักษนิยมเขาก็ไม่ค่อยเชื่อ เวลาเขาเห็นหน้าผมเขาก็จะแปะป้ายว่าเป็นพวกล้มเจ้า แต่ผมก็พูดอยู่ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ผมยืนยันว่าถ้าผมมีความคิดล้มเจ้าจริงนะ ผมนั่งอยู่เฉยๆ แต่เพราะผมอยากจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์พร้อมกับประชาธิปไตย ผมถึงมีข้อเสนอแบบนี้ออกมา

ข้อเสนอของอาจารย์คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องเข้าใช้กลไกอำนาจรัฐ?

มันเป็นการวิ่งคู่ขนาน เราบอกว่าประชาธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน ขาหนึ่งคือ ประชาชนแสดงออกโดยตรง ใช้เสรีภาพในการประท้วง แสดงความเห็น ไปเลือกตั้ง ออกเสียงประชามติ กับอีกขาอำนาจหนึ่งคือ อำนาจที่ต้องผ่านผู้แทน ผ่านสถาบันการเมือง พวกนี้เขาอ้างว่าใช้แทนประชาชน ก็คืออำนาจรัฐ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ถ้าคุณมีการเมืองนอกสถาบันการเมือง การเรียกร้องนอกสถาบันการเมืองอย่างเดียวต่อให้เป็นแสนเป็นล้านก็ไปต่อยาก ถ้าพวกถืออำนาจรัฐมันไม่เอา ไม่เข้าไปเปลี่ยน เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีแต่เสียงข้างมากในสภา แต่ไม่มีการเมืองนอกสถาบันการเมืองกดดันเลย พวกนี้นานวันเข้าจะกลายเป็นอำมาตย์คนใหม่ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ลงเลือกตั้งทุก 4 ปี กลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผมเรียกว่าเป็น ‘สมาชิกสภาแบบราชการ’ (Bureaucrat MP) พวกนี้จะไม่ทำอะไร อยู่ไปวันๆ กินเงินเดือน ยกมือโหวต เสร็จแล้วก็รอเลือกตั้ง อะไรที่ทำแล้วเสี่ยงทำให้ตัวเองโดนตัดสิทธิ์ ยุบพรรค ไม่กล้าทำ อะไรที่ทำให้ตัวเองได้เป็น ก็จะทำแต่เรื่องเหล่านั้น พอเป็นอย่างนี้สถาบันการเมืองก็กลายเป็นอำมาตย์แบบใหม่ ทำอะไรไม่ได้ 

ฉะนั้น มันต้องคู่ขนานกันไป เว้นเสียแต่ว่า…อันนี้ก็เป็นความคิดความฝันของผมอย่างหนึ่งนะ ความฝันอุดมคติกับการลงมือปฏิบัติมันก็อีกแบบหนึ่ง ระยะหลังๆ ผมเริ่มศึกษาและมีอุดมคติเรื่องอนาธิปไตยเยอะขึ้น ถ้าในแง่อุดมคติเราก็จะไม่คิดเรื่องอำนาจนอก/ในสถาบัน อุดมคติแบบอนาธิปไตยจะไม่มีนายเหนือหัวตัวเอง เราทุกคนจะปกครองซึ่งกันและกันเอง แต่ในระหว่างสถานการณ์อันแหลมคมช่วง 10-20 ปีนี้ ผมคิดว่ามันต้องใช้อันนี้เป็นคู่ขนาน ขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้ ผมดูจากสายธารในประวัติศาสตร์ การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นได้ ยุค 1789-1792 มันหนุนเสริมกัน ถ้าไม่มีการกดดันนอกสภา ในสภาก็ขี้เกียจ ขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีนอกสภาก็ไม่มีในสภามาทำให้ เช่นเดียวกับปฏิวัติรัสเซียช่วงเริ่มต้น ก็อาศัยขั้นตอนที่หนึ่งหนุนเสริมกันทั้งในและนอกสภา จนกระทั่งสถานการณ์สุกงอมเพียงพอ เขาก็ปฏิวัติรุดหน้าไปอีกในต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 1917 ผมประเมินว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง มันต้องอาศัยทั้งสองส่วนไปพร้อมๆ กันทั้งในสภาและนอกสภา 

สิ่งที่อาจารย์ว่ามา มีตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญฉบับ Re-solution ที่คณะก้าวหน้ามีส่วนในการดันเข้าสภา แต่สุดท้ายก็ถูกปัดตกไป เลยอยากถามว่าความเคลื่อนไหวถัดไปของคณะก้าวหน้าคืออะไร

เวลาเราใช้ช่องทางเข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าสภา หลายคนก็จะถามว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ทำแล้วก็แพ้ ฝ่ายที่มองแง่ไม่ดีกับเราก็จะบอกว่า ไอ้พวกนี้ไม่มีอะไรหรอก ทำเอามัน เสนอในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันรู้อยู่แล้วว่าไม่ผ่าน บางคนก็ไปไกลกว่านั้นคือเสนอเข้ามาเพื่อไปปลุกระดม แต่ทั้งหลายทั้งปวงผมมองแบบนี้ ผมแปลกใจว่าทำไม ส.ส. ถึงไม่เอา ถ้า ส.ว. ไม่เอาผมเข้าใจได้นะ แม้ผมจะหวังให้มี ส.ว. ที่ฉลาดบางคนที่เปิดประตูด่านที่หนึ่งให้ก่อน เพราะมันเป็นร่างของประชาชน แล้วคุณค่อยไปคว่ำวาระอื่นก็ได้ อันนี้ดันตั้งป้อมไม่เอาแต่แรก แต่สำหรับ ส.ส. ผมแปลกใจที่ได้น้อยกว่าที่คิด เพราะร่างที่ผมเสนอเข้าไปมันเป็นการทำให้ ส.ส. กลับมามีบทบาท มีอำนาจ และมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้มากกว่าเดิม คุณสามารถเอายักษ์ที่แอบขี่คอคุณมาตั้งแต่ปี 2549 ยักษ์ตัวนี้ชื่อศาลรัฐธรรมนูญ ยักษ์ตัวนี้ชื่อวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ยักษ์ตัวนี้ชื่อองค์กรอิสระ มันขี่คอคุณทุกวัน ผมมีข้อเสนอเอายักษ์ตัวนี้ออกจากบ่าคุณ แต่ “เฮ้ย มันไม่เอากันว่ะ” อันนี้ผมแปลกใจมากนะ แปลกใจว่าทำไม ส.ส. โหวตน้อยกว่าที่คิด 

เรื่องนี้มันก็จบในสภาไปแล้ว แต่ถามผม ผมคิดว่าการแพ้โหวตในสภามันก็คือการสะสมชัยชนะในอนาคต ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ คือวิธีการเอาเสียงข้อเรียกร้องจากข้างนอกแล้วผลักเข้าไปในสภาผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย มันคือเทคนิคการทำให้เป็นสถาบัน (Institutionalization) สิ่งที่มันกระจัดกระจายอยู่ข้างนอกให้เข้าไปข้างใน เสียงเรียกร้อง ความคิดกระจัดกระจายเต็มไปหมด เสียงอยู่ในอากาศ แต่เราจับมัดรวมกันใส่ขวดโหลแล้วเอาไปปล่อยในสภา มันคือการทำให้เสียงเรียกร้องที่ไม่เป็นทางการ กลายเป็นข้อเสนอที่เป็นทางการ และถูกผลักเข้าสภา 

ผมคิดแบบนี้เพราะแม้เราแพ้ แต่ ณ วันนี้ความคิดเรื่องสภาเดี่ยวเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปคุณจะทำรัฐธรรมนูญกันใหม่ คุณจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ มิใช่เริ่มต้นจากการที่บอกว่าประเทศไทยมีสองสภาและเถียงกันว่าวุฒิสภามาจากไหน เราจะเริ่มต้นจากการมีสภาเดี่ยวก่อน ทำไมต้องมีวุฒิสภา เพราะหลังๆ มาร่างรัฐธรรมนูญกันก็เชื่อไปโดยปริยายแล้วว่าต้องมีวุฒิสภา แล้วก็มาเถียงกันว่าวุฒิสภามาจากไหน เอามาทำอะไร แต่รอบหน้าไม่มีแล้ว ทำไมต้องมีวุฒิสภา ก็เป็นสภาเดี่ยวไปเลย ความคิดนี้มันฝังไปแล้ว 

เช่นเดียวกัน ความคิดที่บอกว่าประเทศไทยต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีองค์กรอิสระ มีอำนาจมากมายมหาศาลแบบนี้ ต่อไปนี้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ คนจะเถียงกันว่า มีศาลรัฐธรรมนูญไว้ทำไม มีองค์กรอิสระไว้ทำไม ไม่มีได้ไหม เปลี่ยนที่มา เปลี่ยนองค์ประกอบ ลดอำนาจ ตรวจสอบศาลธรรมนูญและองค์กรอิสระบ้างได้ไหม ความคิดแบบนี้มันไปแล้ว สำหรับผมคือการสะสมชัยชนะ เพราะพอเข้าไปแล้วแพ้ แต่ความคิดมันวิ่งไปรอล่วงหน้าแล้ว วันใดก็ตามที่การแก้รัฐธรรมนูญมาถึง ก็เจอกันอีก และวันข้างหน้าก็จะมีหลายเรื่องเข้าไปอีก เช่น สมมุติผมผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 เข้าไปได้สำเร็จ ถูกปัดตกก็ไม่เป็นไร แต่คนรู้แล้วว่ามีอีกทางเลือกหนึ่ง หมวด 2 ที่เป็นอีกแบบหนึ่ง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยกเลิก 112 เข้าไปมันอาจจะตกก็ได้ แต่คนรู้แล้วว่าโลกนี้มันมีความเป็นไปได้อีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้เขียนกฎหมาย 112 แบบนี้ ผมว่านี่คือวิธีการสะสมชัยชนะไปเรื่อยๆ

ชัยชนะที่พูดถึงคืออะไร

ผมไม่รู้ว่าคนไทยที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชนมันคือคำยกยอตัวเองหรือเปล่า แต่ตั้งแต่ผมปวารณาตัวเองว่าจะมาทำกิจกรรมในทางปัญญา จนกระทั่งมีพรรคการเมือง ผมมีเป้าหมายในใจอยู่แค่นี้ คือผมเชื่อการเมืองในความหมายที่สองของบาดียู เราต้องมีการผลักดันเรื่องต่างๆ เพื่อปลดปล่อยให้มนุษย์มีอิสระมากยิ่งขึ้น ทีละขั้นทีละตอน (step by step) ไปเรื่อยๆ 

ดังนั้น ชัยชนะมันนิยามไม่ได้หรอกว่าเมื่อไรจะชนะ เพราะสมมุติวันนี้คุณได้รัฐธรรมนูญใหม่มา ผมว่าคนก็ไม่ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ คุณยังมีเรื่องสวัสดิการ ยังมีเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ จนวันหนึ่งมันไปสู่การที่ไม่มีรัฐ  ผมเชื่อว่ามนุษย์ต้องมีเส้นทางของมนุษยชาติ เดินทางไปสู่การปลดแอกตัวเองเรื่อยๆ เรามีแอกอยู่ในตัวเราทุกวันๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ ทั้งในทางการเมือง ทั้งในทางสังคม แอกเหล่านี้มันเต็มบ่า ภารกิจของการทำกิจกรรมทางปัญญาหรือกระทั่งการตั้งพรรค ผมปลดไปเรื่อยๆ ถ้าวันนี้ปลดได้ชิ้นหนึ่ง แม้จะได้ชัยชนะ แต่มันไม่ทั้งหมดหรอก มันมีอีก ดังนั้น มันจึงไม่มีวันเป็นที่สิ้นสุด มันต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ นี่คือความก้าวหน้าของมนุษยชาติ และวันหนึ่งถ้าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเคยรณรงค์แล้วบอกว่ามันโคตรใหม่ โคตรทันสมัย และได้มาแล้ว มันอาจจะล้าสมัย มันจะมีใหม่กว่าอีก อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า ‘อนิจจังของสังคม’ มันมีพลังเก่าและใหม่ในสังคม วันนี้เราบอกมันเป็นพลังใหม่กำลังสู้กับพลังเก่า วันหนึ่งเกิดเราเป็นพลังใหม่ขึ้นไปได้จริงๆ เดี๋ยวมันมีใหม่กว่ามาสู้อีก มันจะปรับกันไปเรื่อยๆ สำหรับผม ทั้งในทางภารกิจทางปัญญาและกิจกรรมการเมือง เห็นตรงกันคือ พยายามที่จะทำให้มนุษย์ได้รับการปลดปล่อยไปสู่อิสระเสรีมากยิ่งขึ้น

พูดถึงเรื่องถูกแปะป้ายว่าเป็นพวกล้มเจ้า วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ‘บทบาทตุลาการกับการดำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน’ เชิญ ทอม กินสเบิร์ก (Tom Ginsburg) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยชิคาโก มาพูดหัวข้อ ‘How to Save Thailand Constitutional Democracy’ ซึ่งแม้ในรายละเอียดจะต่างกันบ้าง แต่ข้อเสนอหลักก็คล้ายกับอาจารย์คือ รัฐธรรมนูญและสถาบันกษัตริย์จะอยู่รอดและไปด้วยกันได้ ต้องมีความเป็นประชาธิปไตย หนำซ้ำ สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญยังอาจเป็นประโยชน์ในภาวะวิกฤติด้วย ปรากฏว่าหลังจาก WAY เผยแพร่ประเด็นเหล่านี้ออกไป ฝ่ายที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับอาจารย์จำนวนหนึ่งกลับเข้ามาชื่นชมกินสเบิร์ก ขณะที่พอข้อเสนอทำนองเดียวกันออกมาจากปากปิยบุตร กลับมีแต่คำโจมตีถากถาง อยากถามว่า เราพอจะเข้าใจหรืออธิบายการที่คนสองคนพูดคล้ายๆ กัน แต่กลับได้รับท่าทีตอบสนองไม่เหมือนกันแบบนี้อย่างไร

ผมคิดว่ากระบวนการนี้มันสะสมมาหลายปี อาจเรียกได้ว่าสะสมมาตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรณรงค์กันในกลุ่มนิติศาสตร์กับเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน ต่อเนื่องมาจนตั้งพรรคการเมือง มันเป็นกระบวนการที่พยายามทำให้มองว่าผมมีความคิดที่น่ากลัว นำไปสู่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมจำแนกเป็นกลุ่มๆ แบบนี้ 

บางกลุ่มก็เสพข่าวสารแบบนี้เยอะ แล้วก็เชื่อจริงๆ กลุ่มนี้ผมเข้าใจได้นะ อยู่ในกรุ๊ปไลน์ ส่งไลน์คุยกันทุกวัน ในกลุ่มเดียวกันเห็นอย่างนี้ทุกวัน แต่คนกลุ่มนี้ผมเคยพบกับตัวเองนะ พอคุยสักพักเขาก็เข้าใจ แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับผมก็ตาม แต่เขารู้แล้วว่าผมไม่ได้เป็นอย่างที่เขาได้ยินได้ฟังมา

อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่ม Instrumentalize หรือจงใจเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คือคนที่ครองอำนาจมายาวนานในสังคมไทย มีวิธีการและวิธีคิดแบบสงครามเย็น คือ สร้างศัตรูของรัฐ สมัยก่อนก็คอมมิวนิสต์ ต่อมาก็คุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) ในชื่อของ ‘ระบอบทักษิณ’ และยุคนี้ก็คือผมกับธนาธร ดังนั้น เขาต้องสร้างอะไรอย่างนี้ขึ้นมา เพื่อจะเป็นเหตุผลความชอบธรรมของการครองอำนาจของพวกเขา เป็นเหตุผลที่จะได้บอกว่า เขาต้องอยู่เพื่อรักษาความมั่นคง เป็นเหตุผลให้เขาถึงต้องอยู่ในอำนาจตลอดไป 

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่รู้หมด นั่งกินเหล้ากินข้าวก็นินทาเจ้า และก็รู้ด้วยว่าสิ่งที่ผมพูดนั้นถูกต้อง แต่เพียงเพราะต้องการแข่งขันทางการเมือง ก็พร้อมจะโจมตีผม โดยไม่ได้ดูเนื้อหาสาระที่ผมนำเสนอ ทั้งหมดที่ผมพูดมานี้ถ้าหากผมยังเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ผมเชื่อว่าการโจมตีผมจะน้อยกว่านี้ คือยังมีแน่ๆ แต่ไม่เยอะเท่านี้ แต่ความที่เขาวิตกจริตหนักมากขึ้น เพราะผมตั้งพรรคการเมือง ขนาดโดนยุบไปแล้วก็ยังกังวล ผมก็งงว่าผมจะเอาอะไรไปทำ ผมโดนตัดสิทธิ์ 10 ปี นี่ก็เกือบ 2 ปีแล้ว พรรคก็ถูกยุบ แล้วผมจะเอาอะไรเข้าไปมีอำนาจ 

เป็นกลุ่มที่มองว่าอาจารย์อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว?

ก็ไปนั่งคิดบอกว่าผมเป็นกุนซือ เป็นผู้บงการชักใย (mastermind) วางแผนอยู่ข้างหลัง แต่ลองไปดูสิว่าสิ่งที่ผมเสนอ กับเยาวชนเสนอไป มันก็ไม่ได้เหมือนกันนะ อย่างวันนี้ผมเสนอว่าจะต้องปรับท่าทีการเคลื่อนไหว ผมยังไม่รู้เลยว่ากลุ่มเยาวชนเขาจะเห็นด้วยหรือเปล่า หรือหลายครั้งเราต้องอย่าไปดูหมิ่นดูแคลนเขา คิดว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่เขามีความรู้ เขาค้นคว้าข้อมูล เขาตัดสินใจได้เอง การที่พยายามบอกว่าผมเป็นคนหนุนหลังคืออะไร

หนึ่ง

คุณไม่อยากจะเชื่อว่าเด็กสมัยนี้จะคิดได้ไกลขนาดนี้ คุณก็จะพยายามดูถูก ด้อยค่าเขา ด้วยการบอกว่ามันคิดอย่างนี้ไม่ได้หรอก มันต้องมีคนอยู่ข้างหลัง นี่คือปลอบประโลมตัวเอง ไม่เชื่อว่าความคิดคนมันไปไกลแล้ว คิดว่ามีคนชักใย

สอง เขาต้องการสร้างผีตัวใหม่ ซึ่งก็จะกลายเป็นผมกับคุณธนาธร ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมเสียดายคือ พอเป็นศาสตราจารย์ทอม กินสเบิร์ก พูดได้ แต่พอผมพูดเรื่อง เหมือนกัน ข้อเสนอก็เหมือนกัน การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หลายเรื่องตรงกับรอยัลลิสต์พูดนะ หลายเรื่องตรงกับฝ่ายที่เคยรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาหลายยุคหลายสมัยนะ หลายเรื่องผมก็เอามาจากตำราของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นรอยัลลิสต์นะ หลายเรื่อง ส.ส. ในสภาพูดกันในปี 2491-2492 และเป็น ส.ส. ที่บอกว่ารักสถาบันฯ ทั้งนั้น แต่พอมาเป็นหน้าผมไม่เชื่อกัน 

ถามว่าจะแก้ยังไง ผมคิดว่า ข้อแรก ลองฟังข้อเสนอผมให้ชัด อย่างที่ผมยืนยัน ถ้าผมมีความคิดล้มล้างจริง ผมจะไม่พูดอะไรอีกเลยครับ ผมนั่งรอเฉยๆ ซุ่มซ่อนยาวนาน เก็บตัว เดินงานใต้ดิน ผมไม่สนอะไร แค่รอเวลา แต่เพราะผมมองว่าประเทศนี้มันไม่ควรไปถึงจุดนั้น เราสามารถรักษาสถาบันกษัตริย์ได้พร้อมกับมีประชาธิปไตย ผมเลยเสนอข้อเสนอนี้ออกมา ทีนี้ปัญหาคือคุณกลับตีความว่าล้มล้างไปหมด บางทีผมก็มานั่งคิดนะว่า เขามีแนวคิดที่เชื่อในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีการเลือกตั้งเป็นครั้งคราวมากกว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ข้อเสนออะไรก็ตามที่ไปเปลี่ยน แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย พวกนี้ไม่เอาเลย ตกลงใครกันแน่ที่ยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิดว่าถ้าลองไปศึกษาดูก็จะเข้าใจ 

อีกวิธีแก้หนึ่งคือ ต้องขอแรงนักวิชาการ/ปัญญาชน ฝ่ายอนุรักษนิยมหรือรอยัลลิสต์ คุณต้องออกมาพูดบ้าง คุณพูดไม่เหมือนผมทั้งหมดหรอก คุณพูดบางประเด็นก็ได้ แต่คุณต้องออกมาพูด เพราะถ้าคุณออกมาพูด ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายรอยัลลิสต์เขาจะฟังคุณมากกว่า เขาอาจจะเชื่อมั่นคุณมากกว่า หลายคนก็คิดแบบผมแต่ไม่พูด เพราะอยากอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (comfort zone) ต่อ พูดไปเดี๋ยวเดือดร้อน แต่ปัญหาคือ ถ้าทุกคนมัวนั่งคิดกันว่า ไม่แสดงออก ไม่เสนอ กลัวเดือดร้อน แล้ววิกฤตการณ์มันก็จะอยู่อย่างนี้ ผมว่าหน้าที่ของปัญญาชน/บุคคลสาธารณะ มันคือภารกิจแบบนี้ไม่ใช่หรือ คุณต้องนำเสนอทางเลือกทางออกใหม่ๆ เพื่อออกจากวิกฤตการณ์ที่เราเผชิญอยู่

เชิงอรรถ

[1] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2556. ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา. หน้า 28-30.

[2] https://futureforwardparty.org/?page_id=1019

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า