ธงชัย วินิจจะกูล: ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้ใครรักชาติมากขึ้นหรือน้อยลง

บ่ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาภายใต้ชื่องาน ‘เราจะ ‘หาเรื่อง’ กับประวัติศาสตร์อย่างไร’ โดยมี ศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เสวนา

ธงชัย วินิจจะกูล เป็นผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์เล่มสำคัญอย่าง กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation) อธิบายการเกิดขึ้นของสยามผ่านแผนที่ และผลงานวิชาการที่สำคัญอีกจำนวนมากที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จึงทำให้ภายในงานได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลามและคึกคัก

ธงชัย วินิจจะกูล

ประวัติศาสตร์และความหมายของการ ‘หาเรื่อง’

ธงชัยเริ่มต้นท้าทายความหมายตามขนบของประวัติศาสตร์ด้วยตัวอย่างง่ายๆ อย่างคำนิยามเรื่องประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เป็น “การศึกษาเรื่องราวในอดีต” และสำหรับนักประวัติศาสตร์ก็มีความเข้าใจที่ซับซ้อนเพิ่มจากคนทั่วไปเพียงเล็กน้อยว่า การศึกษาประวัติศาสตร์คือ “การศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอดีต”

ทั้งสองความหมายข้างต้นนี้จึงกลายเป็นคำนิยามของการศึกษาประวัติศาสตร์ตามขนบที่สาธารณชนรับทราบโดยทั่วกัน หากแต่การศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมมองของธงชัย กลับไม่ได้มีเพียงสองความหมายนี้เท่านั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีควรจะมีหลายความหมาย เขาได้เพิ่มความหมายที่ ‘สาม’ และ ‘สี่’ ให้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ นั่นคือ ‘การศึกษาเรื่องของอุดมการณ์’ และ ‘การศึกษาความเปลี่ยนแปลง’

การศึกษาประวัติศาสตร์แบบ การศึกษาเรื่องของอุดมการณ์ เป็นการศึกษาที่ต้องถูก ‘หาเรื่อง’ ให้บ่อย เพราะเขามองว่าอุดมการณ์เป็นสิ่งที่ผูกพันกับความรู้ในอดีตและส่งผลถึงปัจจุบัน ผลลัพธ์ของการศึกษาประวัติศาสตร์แบบนี้ส่งผลได้ทั้งแง่ดี แต่ “ฆ่าคนก็ได้” เช่นกัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การหาเรื่องต่อประวัติศาสตร์ชนิดนี้ มีความหมายและจำเป็นอย่างมาก ดังคำอธิบาย ‘การหาเรื่อง’ ในช่วงหนึ่งของเขา

การหาเรื่องคือการ check and balance ในทางปัญญา การหาเรื่อง คือ การอย่าให้ประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นใดเวอร์ชั่นหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นราชาชาตินิยม เวอร์ชั่นเผด็จการ เวอร์ชั่นเรดิคัล อย่าให้เวอร์ชั่นไหนมีอำนาจมากเกินไป

ขณะที่อีกหนึ่งความหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของการศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต ว่ามีผลกระทบที่ก่อให้เกิดเป็นสภาวการณ์ที่ดำรงอยู่ได้อย่างไร เมื่อเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นมาของสิ่งนั้นๆ การไล่เรียงและค้นหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เท่ากับว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์นั่นเอง

สำหรับเขาแล้ว ประโยชน์ของการศึกษาความเปลี่ยนแปลง คือ การเปิดประตูบานใหญ่ ที่เปิดกว้างจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ซึ่งก็ทำให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มีความพิเศษ และสามารถหาเหตุผลของสิ่งที่เป็นอยู่ได้จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีตได้

ธงชัย วินิจจะกูล

ประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วย ‘วิธีวิทยา’

หลังจากวงเสวนาเห็นความแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์ตามขนบ และ ประวัติศาสตร์นอกขนบ ที่จำเป็นที่จะต้องถูกหาเรื่องเพื่อ check and balance ในทางปัญญาแล้ว ในช่วงถัดจากนี้ ธงชัยเริ่มสาธิตให้เราเห็นว่า ประวัติศาสตร์ ในฐานะวิธีวิทยา (Methodology) นั้นกำลังทำงานอย่างไร

เวลาที่คนมีอำนาจในสังคม เขาไล่ให้เราไปเรียนประวัติศาสตร์ เขาไล่ให้เราไปเรียนความรู้ที่มัน statics คำอธิบายที่ statics คำอธิบายที่หยุดนิ่ง เป็นการสะท้อนของความเข้าใจประวัติศาสตร์ง่ายๆ และผิดด้วย ถ้าเกิดว่าไล่ให้ไปเรียนประวัติศาสตร์จริงๆ และประวัติศาสตร์ที่ไล่ให้ไปศึกษาความรู้ที่เปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นแบบนั้นผมจะขอบคุณ (ผบ.ทบ.) มาก

คำพูดเย้าหยอกของธงชัย แต่เต็มไปด้วยความจริงจังที่ต้องการปักธงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมักจะมีความไหลเลื่อนมากเสียกว่าการเป็นความจริงที่แข็งตึงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สาเหตุของความไหลเลื่อนไม่หยุดนิ่งดังกล่าว ก็เพราะลักษณะพิเศษของวิชาประวัติศาสตร์มีลักษณะของการวิพากษ์ตัวเองตลอดเวลา มีทั้งการสร้างและการโค่นภายในตัวมันเอง การที่จะอ่านประวัติศาสตร์เพื่อยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสรณะนั้น จึงเป็นการศึกษาที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่ลักษณะสำคัญของการเป็นนักประวัติศาสตร์ ก็จะมีความเป็น skepticism (คนกลุ่มที่มีความสงสัยอยู่ตลอดเวลา) ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้ประวัติศาสตร์มีการตั้งคำถามต่อตัวเองอยู่เสมอ

ธงชัย วินิจจะกูล

ธงชัย ทำให้เราเริ่มเห็นภาพของวิธีวิทยาของวิชาประวัติศาสตร์ได้ชัดแจ้งมากขึ้น ขณะเดียวกัน เขาสาธิตต่อไปให้เห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์นั้นเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการเข้าถึงความรู้เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่หรือกลไกสำคัญที่จะต้องรับใช้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ ดังช่วงหนึ่งที่เขากล่าวว่า

ประวัติศาสตร์ไม่มีหน้าที่ทำให้ใครรักชาติมากขึ้นหรือรักชาติน้อยลง ประวัติศาสตร์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการไปกอบผลประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง คือทำได้ทั้งนั้น แล้วแต่ความพอใจคน แล้วแต่การเมืองของแต่ละคน แต่การแสวงหาความรู้ของวิชาประวัติศาสตร์นั้นไม่เกี่ยวข้อง มันออกหัว ออกก้อยได้ทั้งนั้น ไม่การันตี ถ้าผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในชาติไล่คนไปอ่านประวัติศาสตร์ เพื่อให้มีความรักชาติมากขึ้น อันนี้ก็ยุ่งแล้วล่ะครับ ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ทำให้รู้จักคิด คิดไม่หยุด

เมื่อเราเข้าใจวิธีวิทยาของวิชาประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ธงชัยชวนแยกแยะระหว่างความแตกต่างของประวัติศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์และวิชาสายสังคมศาสตร์ เช่น สายรัฐศาสตร์ วิธีวิทยาของตัวมันล้วนแตกต่างกัน ขณะที่นักประวัติศาสตร์มุ่งเน้นไปที่การอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยทฤษฎี แต่ในทางตรงกันข้าม นักรัฐศาสตร์จะอธิบายทฤษฎีด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ลักษณะเด่นเฉพาะที่สำคัญของความเป็นสังคมศาสตร์ก็คือการพิสูจน์ทฤษฎี ขณะที่ฝั่งประวัติศาสตร์จะใช้ทฤษฎีพิสูจน์เหตุการณ์

ซึ่งธงชัยมองว่า ความแตกต่างนี้ได้กลายเป็นจุดแข็งให้กับวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาในสายมนุษยศาสตร์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น วิชาวรรณกรรม ที่เปิดกว้างให้กับการตีความ อนุญาตให้มีพื้นที่ความถูกต้องมากกว่าหนึ่ง

ธงชัย วินิจจะกูล

ประวัติศาสตร์ หรือ Myth

“ประวัติศาสตร์ เป็นความรู้ประหลาดที่คนส่วนมากเห็นว่าน่าเบื่อหน่ายไม่สนุก เต็มไปด้วยเรื่องราว รายละเอียดที่ไม่รู้จะมีประโยชน์อะไรกับชาติปัจจุบัน แต่คุณครูก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นความรู้สำคัญเพื่อความภูมิใจในชาติของเรา แถมเรียนแล้วเรียนอีก ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่ คนส่วนมากก็เห็นเป็นวิชาคร่ำครึ ไม่เห็นจะทำให้เกิดรายได้ หรือทำให้เกิดอาชีพมั่นคงแต่อย่างใด แถมดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ได้ ไม่เห็นจะต้องฝึกฝนร่ำเรียนเท่าไหร่เลย ตอนเป็นผู้ใหญ่นี่แหละที่เราเห็นว่าเราเป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์ของชาติเราเป็นอย่างดี ยามใดที่มีความขัดแย้งสาธารณะที่เกี่ยวพันกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะถ้ามีคนชาติอื่นมาสะกิดแตะต้องประวัติศาสตร์ของเรา ผู้ใหญ่ผู้รู้จะแสดงตัวเป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์กันยกใหญ่ ช่วยการโต้แย้งคนชาติอื่น ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่เคยสนใจเรียนประวัติศาสตร์มากก่อนเลย

“ความประหลาดของความรู้ประวัติศาสตร์อยู่ตรงนี้ ไม่น่าเรียน น่าเบื่อ แต่ก็สามารถเป็นผู้รู้ดี สามารถสร้างให้คนมีอารมณ์ร่วม ภูมิใจจนน้ำตาไหลได้ รักชอบเกลียดชังได้กับความขัดแย้งในอดีตอย่างลึกซึ้ง คนอินกับประวัติศาสตร์เหลือเกิน ตราบเท่าที่อย่าไปเรียนมัน เพราะประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม (หรือแบบอื่นๆ ในประเทศอื่น) ที่แพร่หลายในสังคมไทย หรือเป็นขนบความรู้ประวัติศาสตร์ปัจจุบัน มิใช่การไต่สวนค้นคว้าอดีตหรือปัจจุบัน หรืออธิบายการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบคอบ มิใช่ความรู้ที่ไตร่ตรวจด้วยวุฒิทางปัญญา แต่ประวัติศาสตร์ เพื่อปลูกฝังและศรัทธาความเชื่อชุดหนึ่งอย่างมิพึงสงสัย ตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่แทบจะกลายเป็นศาสนาของโลกวิสัย เป็น secular religion ชนิดหนึ่ง มีความสิทธิศักดิ์ ไว้ให้ชื่นชมดื่มด่ำ การละเมิดความเชื่อประเภทนี้ จึงเป็นอาชญากรรมทางความคิด การละเมิดทางศาสนาจึงเป็นทำนองเดียวกับการลบหลู่ศาสนา”

– ธงชัย วินิจจะกูล อ่านข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ ประวัติศาสตร์นอกขนบ 

ธงชัย กำลังทำให้พวกเราเห็นถึงความประหลาดของวิชาประวัติศาสตร์ในสภาพสังคมไทย ผ่านความทรงจำร่วมของทุกคน เมื่อครั้นอยู่ในวัยเยาว์ เหล่านักเรียนกลับไม่ได้ให้ความสนใจและตั้งใจเรียนวิชาประวัติศาสตร์เท่าใดนัก แต่เมื่อเติบใหญ่ขึ้นเด็กน้อยเหล่านั้นกลับกลายเป็นผู้ที่คิดว่าตนเองรู้จักประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เขายกตัวอย่างประวัติศาสตร์ในไทยที่เต็มไปด้วยลักษณะของความศักดิ์สิทธิ์และมีไว้สำหรับการดื่มด่ำมากเสียกว่ามีไว้เพื่อหาเรื่อง เมื่อมาถึงช่วงกลางของการสนทนา เราจะเห็นว่าสิ่งที่เขานำเสนอในช่วงต้น ขัดแย้งกับสภาพสังคมที่ไทยดำรงอยู่ เพราะนอกจากจะหาเรื่องไม่ได้แล้ว ยังคงเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อย

เขาอธิบายต่อไปว่า ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ทำให้ผู้คนคิด แต่มีไว้เพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่เคยคิดมาก่อนหน้านั้นถูกต้องอยู่แล้ว แม้ว่าจริงๆ แล้วอาจจะถูกหรือไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ถ้าหากถูกทำให้เชื่อไปแล้วด้วยการเล่าเรื่องซ้ำๆ มันก็จะถูกต้อง สิ่งที่ว่านี้คือ myth และ myth ที่ว่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เล่าได้ต่างไปจากนี้ ผู้เล่าใหม่อาจจะเล่าด้วยการเพิ่มเติมอภินิหารให้มีความแฟนตาซีและความสนุกมากยิ่งขึ้น แต่ไม่สามารถบิดโครงเรื่องหลักที่วางเอาไว้ได้

ธงชัยยังสรุปให้ฟังอีกว่า การที่ผู้มีอำนาจพยายามจะไล่ให้ผู้คนไปเรียนและรับรู้ประวัติศาสตร์ที่พวกเขาต้องการ สิ่งเหล่านั้นเรียกว่า myth ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์และทุกคน ที่จะต้องหาเรื่องกวนมันให้ขุ่นคลั่กอย่าให้มันตกตะกอนนิ่งๆ และประวัติศาสตร์ที่ดีในความเห็นของเขา คือประวัติศาสตร์ที่ถูกกวนและหาเรื่องอยู่เสมอ

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Photographer

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า