Tom Ginsburg: ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมปรับตัว ทางเดียวที่เหลือคือการหายไป

ลำพังแค่การหาความหมายและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ (Monarchy) และรัฐธรรมนูญ (Constitution) ก็ทำให้หลายคนงงเป็นไก่ตาแตกแล้ว พอยิ่งนำสองสิ่งนี้มาเข้าคู่กัน กลายเป็น ‘กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ (Constitutional Monarchy) ความงงก็ยิ่งเลยเถิด จนอาจทำให้ทุกคนกลายเป็นไก่ตาบอดไปได้

ภายใต้ความหมายที่กระจัดกระจายนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เชิญ ศาสตราจารย์ทอม กินส์เบิร์ก (Tom Ginsburg) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบแห่ง University of Chicago เจ้าของผลงานหนังสือเล่มล่าสุด How to Save a Constitutional Democracy นำกล่าวปาฐกถาที่อาจสร้างเสริมความเข้าใจและหาตำแหน่งแห่งที่อันเหมาะสมให้แก่ทั้งสถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญได้ ในหัวข้อปาฐกถาที่มีชื่อล้อไปกับหนังสือของเขาว่า “How to Save Thailand’s Constitutional Democracy”

photo: Jason Smith

“How to Save Thailand’s Constitutional Democracy” 

กินส์เบิร์กนิยามความหมายของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ว่าเป็นระบอบการปกครองซึ่งมีสถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญจะกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกษัตริย์ ในขณะเดียวกัน กษัตริย์ต้องไม่อยู่ในสถานะหัวหน้ารัฐบาล เพราะหัวหน้ารัฐบาลต้องมาจากสถาบันการเลือกตั้งเท่านั้น 

เมื่อยึดตามนิยามนี้ ปัจจุบันจึงมีประเทศที่เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ จากประเทศทั้งหมดบนโลก และเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Abolute Monarchy) เพียงแค่ 8 ประเทศ จาก 43 ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

เมื่อดูจากการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ของ The Economist จะเห็นว่า ใน 13 อันดับแรกของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีถึง 8 ประเทศที่ปกครองแบบระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่เพียงไปด้วยกันได้กับประชาธิปไตย แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดยังสามารถผสานทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันได้

RankCountryOverall score
1Norway9.81
2Iceland9.37
3Sweden9.26
4New Zealand9.25
5Canada9.24
6Finland9.20
7Denmark9.15
8Ireland9.05
9Australia8.96
10Netherlands8.96
11Taiwan8.94
12Switzerland8.83
13Luxembourg8.68
ดัชนีวัดระดับความเป็นประชาธิปไตย ประจำปี 2020 ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Democracy_Index

นอกจากนั้น กินส์เบิร์กยังชี้ให้เห็นอีกว่า 7 จาก 12 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกก็เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศจำนวนหนึ่งที่ปกครองโดยกษัตริย์และไม่ได้เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กินส์เบิร์กอธิบายว่า สาเหตุเกิดจากการที่กษัตริย์ในประเทศเหล่านั้น มีความร่ำรวยสูงมาก เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง มีความร่ำรวยอย่างมากจากการครอบครองทรัพยากรน้ำมัน และความร่ำรวยนี้เองทำให้พวกเขาสามารถควบคุมประชาชนให้อยู่ในกำมือได้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับบริบทในทวีปยุโรป กินส์เบิร์กเห็นว่า สิ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ในยุโรปซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยและมีความร่ำรวยสูง เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เกิดจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในช่วงศตวรรษที่ 19 จนทำให้กษัตริย์ต้องเข้าต่อรองอำนาจกับรัฐสภา

ในช่วงเวลานี้เอง คือทางแยกที่ต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนไปเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยในยุโรปประเทศที่เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น เกิดจากการที่กษัตริย์ยอมปรับเปลี่ยนตาม และค่อยๆ ถ่ายโอนอำนาจไปยังสถาบันพลเมืองและรัฐสภา แสดงให้เห็นว่า ถ้ากษัตริย์ยอมปรับเปลี่ยน สถาบันกษัตริย์ก็จะไม่หายไป 

“ถ้าพระมหากษัตริย์ยอมอ่อนข้อก็จะอยู่รอด ถ้าพระมหากษัตริย์สู้ ไม่ทางใดทางหนึ่งก็จะถูกแทนที่ในที่สุด”

อะไรทำให้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหายไป และต้องทำอย่างไรให้คงอยู่

ในทางหนึ่ง ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะหายไปเมื่อสถาบันกษัตริย์ใช้กองทัพในฐานะหนึ่งในเทคโนโลยีแห่งการควบคุม ซึ่งจากประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในประเทศตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะทั้งอิรัก ซีเรีย และลิเบีย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วกองทัพที่กษัตริย์ใช้งานนั่นเอง จะกลับมาทำการรัฐประหารล้มล้างกษัตริย์

กรณีต่อมา ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอาจหายไปจากการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของราชวงศ์ลาว

อีกกรณีหนึ่งที่จะทำให้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหายไป ได้แก่ กรณีที่ประเทศซึ่งได้มีการเปลี่ยนผ่านไปเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่กลับพยายามรวบอำนาจกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม อย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศเนปาล ซึ่งในที่สุดก็จบลงด้วยการหายไปของสถาบันกษัตริย์และกลายเป็นสาธารณรัฐ 

กินส์เบิร์กสรุปว่า การธำรงระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญให้อยู่รอด ต้องมีการรักษาประชาธิปไตยในด้านหนึ่ง และรักษาระบอบกษัตริย์ในอีกด้านหนึ่ง อีกทั้งต้องไม่กลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะนั่นเป็นเส้นทางที่ปฏิเสธประชาธิปไตย และเป็นไปในรูปแบบที่ไม่เหมาะกับโลกศตวรรษที่ 21

ทำไมถึงยังต้องมีสถาบันกษัตริย์ 

กินส์เบิร์กเห็นว่า ถึงอย่างไรพระมหากษัตริย์ก็จะมีบทบาทสำคัญในประชาธิปไตยสมัยใหม่ ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะปกป้องประชาชนจากกระแสประชานิยม (populism) ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นของกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชน เพื่อเปิดทางให้อำนาจการบริหารประเทศตกอยู่ในมือของคนคนเดียว เช่นกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประเทศไทย โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา และ อูโก ชาเบซ (Hugo Chavez) แห่งเวเนซุเอลา ทั้งนี้ ลึกๆ แล้วคนกลุ่มนี้ต่างไม่มีความไว้วางใจในสถาบันประชาชน ตลอดถึงสถาบันอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะสถาบันสื่อมวลชน หรือระบบราชการ และต้องการที่จะมีอำนาจสั่งการโดยตรงผ่านตัวผู้นำเอง โดยในท้ายที่สุดกระแสประชานิยมแบบนี้จะกลายพันธุ์เป็นสถาบันกษัตริย์แบบใหม่ 

กินส์เบิร์กเสนอว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถป้องกันได้ผ่านกลไกของสถาบันกษัตริย์ โดยให้เหตุผลว่า หากลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างประเทศยุโรปที่มีสถาบันกษัตริย์กับประเทศที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ จะเห็นว่าประเทศที่ยังมีสถาบันกษัตริย์สามารถทัดทานกับกระแสประชานิยมได้

ประการต่อมา กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน อันจะกลายมาเป็นหลักประกันในภาวะวิกฤติ กินส์เบิร์กยกตัวอย่างของไทยในปี 1992 (พ.ศ. 2535) กษัตริย์สามารถเรียกพบคู่ขัดแย้งอย่างหัวหน้าคณะรัฐประหารและผู้นำกลุ่มผู้ประท้วงเข้าเจรจาเพื่อให้ยุติความรุนแรง และช่วยปกป้องประชาธิปไตยของประเทศ 

นี่เป็นกลไกหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ที่กินส์เบิร์กเห็นว่าจะมีประโยชน์อย่างมากในภาวะวิกฤติ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการใช้กลไกนี้อยู่ตลอดเวลา กินส์เบิร์กเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ในลักษณะนี้ว่า “เป็นเหมือนถังดับเพลิงที่แม้พวกเราทุกคนจะมีอยู่ในบ้าน แต่ก็หวังว่าจะไม่ได้ใช้มัน แต่คุณก็จะอุ่นใจที่มีมัน”

และหากสถาบันกษัตริย์มีความพยายามที่จะกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตัวรัฐธรรมนูญเองก็สามารถช่วยยับยั้งความพยายามนั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งกับอำนาจของกองทัพ 

ช่วงท้ายของปาฐกถา กินส์เบิร์กเสนอว่า แนวทางที่จะรักษาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไว้ได้ คือแนวทางเดียวกับการรักษารัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ มีการเลือกตั้งที่ทุกคนสามารถแข่งขันกันได้ มีการยอมรับรัฐธรรมนูญผ่านเจตจำนงของประชาชนภายใต้การถกเถียงอย่างเสรี และมีการปกครองตามหลักนิติรัฐและรัฐธรรมนูญ เพราะในท้ายที่สุดทุกสถาบันต้องทำตามกฎหมาย ดังนั้นเอง ผู้พิพากษาจึงต้องค้ำจุนสิทธิเสรีภาพ และสิทธิเสรีภาพนี้จะเป็นสิ่งที่ค้ำจุนรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอีกทอดหนึ่ง 

“รัฐบาลไม่ควรมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งไม่ดี พวกเขาล้วนหวังดีต่อบ้านเมือง และนี่จะเป็นหนทางที่ทำให้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่ต่อไปได้”

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า