โมร็อกโก: แก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจกษัตริย์ เพื่อความอยู่รอดของสถาบัน

  • จากสถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งปราบปราม จับกุม อุ้มหาย นำมาสู่ความขัดแย้งกับประชาชนที่ยืดเยื้อยาวนาน 
  • เมื่อกระแสการเมืองในภูมิภาคเริ่มเคลื่อนตัวไปสู่ประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์โมร็อกโกจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
  • เกิดกระบวนการปรองดองเพื่อชำระความผิดพลาดในอดีต มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจและบทบาทกษัตริย์ รวมถึงลดโทษในกฎหมายหมิ่นกษัตริย์

ท่ามกลางกระแสธารการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของภูมิภาคแอฟริกาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์อาหรับสปริงจนถึงปัจจุบัน โมร็อกโกถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับถึงเสถียรภาพทางการเมือง สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงมีกษัตริย์เป็นประมุข 

กระนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศที่ยังคงมีกษัตริย์ในตำแหน่งประมุขของชาติแห่งนี้ จะเดินทางมาถึงจุดที่สถาบันกษัตริย์สามารถตั้งมั่นอยู่ในสังคม พร้อมๆ กับการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับที่น่าพอใจ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตามที แต่เส้นทางที่ยาวไกลนี้ก็ชวนให้บทเรียนที่น่าใจอยู่ไม่น้อย 

หลังจากที่โมร็อกโกได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1955 ก่อนหน้านั้นชนชาวโมร็อกกันต้องอยู่ในฐานะรัฐอารักขาตั้งแต่ปี 1912 เมื่อโมร็อกโกได้รับเอกราช หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศจึงเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ภายใต้ความตึงเครียดของรัฐบาลกษัตริย์ ไม่ช้าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนก็ยืดเยื้อยาวนานตามมาอีกหลายทศวรรษ[1] 

ความขัดแย้งทางอุดมการณ์นับเป็นปัจจัยหลักของความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อรัฐบาลกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 5 ทรงกลัวการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้าน ก่อนจะเลือกวิธีการตอบโต้ด้วยการปราบปรามกลุ่มเคลื่อนไหวและบุคคลที่เห็นต่างอย่างรุนแรง นี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘การอุ้มหาย’ และการจับกุมตามอำเภอใจ 

อย่างไรก็ตาม โมฮัมเหม็ดที่ 5 ปกครองประเทศได้เพียง 5 ปี ก่อนที่เขาจะสิ้นพระชนม์ในปี 1955 พระราชโอรสของเขาก็ขึ้นครองราชย์ โดยมีชื่อว่ากษัตริย์ฮัสซันที่ 2 และแทนที่ความขัดแย้งจะคลี่คลาย ฮัสซันที่ 2 กลับใช้พระราชอำนาจที่รุนแรงมากกว่า ส่งผลให้เกิดการปกครองแบบเผด็จการ กล่าวกันว่าช่วงเวลานี้ถูกเรียกขานว่า ‘ปีแห่งตะกั่ว’ (The Years of Lead) กินเวลายาวนานนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถึงทศวรรษ 1980 โดยมีความรุนแรงและการปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมือง และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง 

กษัตริย์ฮัสซันที่ 2

รูปแบบของความรุนแรงในช่วงเวลานี้มีตั้งแต่การจับกุม จำคุก ทรมาน การประหารชีวิต การอุ้มหาย มีการปิดหนังสือพิมพ์และปิดกั้นหนังสือต้องห้าม 

เหตุการณ์ความขัดแย้งที่สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ในปี 1963 โมร็อกโกได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 71.8 เปอร์เซ็นต์ แต่แทนที่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะชนะการเลือกตั้ง กลับกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่คว้าชัย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ รัฐบาลฮัสซันที่ 2 ได้ใช้วิธีการสังหารและจองจำผู้นําพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย อีกทั้งศาลฎีกาภายใต้อำนาจกษัตริย์ยังสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้ง[2] 

ดังกรณีอื้อฉาวที่สุดที่เกิดขึ้นกับ เมห์ดี เบน บาร์กา (Mehdi Ben barka) แกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เขาถูกลักพาตัว ก่อนจะถูกสังหารที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในปี 1965 ท่ามกลางการจลาจลที่คาซาบลังกา (Casablanca) เมืองใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยปัญหาหลักมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น[3] มีรายงานว่าการชุมนุมครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมไม่น้อยกว่า 500 คน ทำให้ประชาชนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮัสซันที่ 2 อย่างรุนแรง 

เมห์ดี เบน บาร์กา (Mehdi Ben barka)

ความไม่พอใจดังกล่าวเพิ่มสูงมากขึ้นเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่มอํานาจให้แก่พระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในปี 1981 ได้เกิดการจลาจลที่คาซาบลังกาอีกครั้ง รัฐบาลระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 66 ราย ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามถึง 637 ราย และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเยาวชนจากสลัม

ขณะที่รายงานของ Report of the Equity and Reconciliation Commission หรือ IER ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการปฏิรูปการเมืองในทศวรรษที่ 1990 พบว่า การจลาจลในปีนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกว่า 114 คน ถูกจับ 5,000 คน 

ถัดจากนั้นหลายปียังคงมีการสลายการชุมนุม เช่น ในปี 1984 เกิดการจลาจลที่มาร์ราเคช (Marrakech) ประชาชนถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง รวมถึงในปี 1994 ที่เตโตอวน (Tetouan) และในปี 1990 หลังจากการตีพิมพ์หนังสือ Notre Ami le Roi (Our Friend the King) โดย ชีลส์ แปร์โรต์ (Gilles Perrault) ซึ่งเนื้อหามีการกล่าวถึงกษัตริย์ฮัสซันที่ 2

อย่างไรก็ตาม ในปี 1996 โมร็อกโกได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแม้จะกําหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่จําเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็นับว่าก้าวหน้าในเรื่องความเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้น จนเมื่อปี 1999 ฮัสซันที่ 2 สิ้นพระชนม์ กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ พระองค์ก็ทรงริเริ่มกระบวนการปรองดองชำระความผิดพลาดจากความขัดแย้งในอดีต เนื่องจากทรงเห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกษัตริย์ฮัสซันที่ 2 กับประชาชน ก่อให้เกิดความรุนแรงตามมามากมาย 

การเริ่มต้นในการออกมาขอโทษประชาชนของสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ จนนำมาสู่การปรึกษาหารือกันว่าจะไม่เดินกลับไปซ้ำเดิม

รัฐบาลใหม่หลังการเปลี่ยนถ่ายอำนาจมาสู่ประชาชนได้เปิดพื้นที่สาธารณะให้ชาวโมร็อกโกเล่าประสบการณ์การถูกรัฐละเมิดสิทธิและถูกทำร้าย และมีการตกลงกันระหว่างผู้มีอำนาจเก่าและใหม่ในการร่วมกันออกแบบสถาบันการเมืองขึ้น ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการที่เป็นแก่นแกนของความรุนแรงทางการเมือง ได้แก่ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจและบทบาททางการเมืองของกษัตริย์ 2. ยอมรับให้ผู้ชนะการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 3. ลดโทษกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์[4]

เมื่อกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 ขึ้นครองราชย์ เขาได้ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยริเริ่มด้วยการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมา ทำให้โมร็อกโกได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ขณะเดียวกันฝ่ายตุลาการก็มีความเป็นอิสระ มีการให้เสรีภาพส่วนบุคคลที่กว้างขวาง และให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการชนะการเลือกตั้งเทียบเท่ากับผู้ชาย นอกจากนี้ยังออกแบบกระบวนการกระจายอำนาจไปยังภูมิภาค โดยเปิดให้ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง[5]

กล่าวได้ว่ากระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งของโมร็อกโก เป็นตัวอย่างของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกษัตริย์กับประชาชนที่มีการคลี่คลายแบบค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางการผลักดันของหลายฝ่าย และที่สำคัญคือฝ่ายผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อันมีส่วนในการพยุงสถานะของสถาบันกษัตริย์โมร็อกโกให้ดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน 

เชิงอรรถ

[1] Morocco’s Truth Commission: Honoring Past Victims during an Uncertain Present

[2] Democratization in the Arab World?: Depoliticization in Morocco

[3] France accused 44 years on over Moroccan’s vanishing

[4] วิธีทำลายรัฐประหารด้วย ‘สภา’ ที่มาจากประชาชน

[5] Morocco: Reform as a Path to a Genuine Constitutional Monarchy

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า