Strange Parallels: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประวัติศาสตร์โลก จากยุคราชวงศ์ถึงก่อนการเข้ามาของระบอบอาณานิคม

หนังสือเล่มแรกใน ‘อ่าน-อุ่น อุษาคเนย์’ นี้เป็นผลงานของ วิคเตอร์ บี. ลิเบอร์แมน (Victor B. Lieberman) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์เปรียบเทียบแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2003 ลิเบอร์แมนใช้เวลาพัฒนาแนวคิดและเขียนหนังสือในชุด Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800-1830 นานนับสิบปี และออกมาเป็นหนังสือเล่มหนาสองเล่ม แบ่งออกเป็นเล่ม 1 Integration on the Mainland (การสร้างอาณาจักรและความเป็นปึกแผ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป) และเล่ม 2 Mainland Mirrors: Europe, Japan, China, South Asia, and the Islands (ภาพสะท้อนจากภาคพื้นทวีป: ยุโรป ญี่ปุ่น จีน เอเชียใต้ และหมู่เกาะ) บทความนี้ขออ้างถึง Strange Parallels เล่มแรกเป็นหลัก

เดิมทีลิเบอร์แมนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พม่าในยุคราชวงศ์ เรียกได้ว่าเป็น ‘กระบี่มือหนึ่ง’ ในการอ่านเอกสารภาษาพม่ายุคโบราณ เขามีประสบการณ์ทำงานกับปราชญ์และนักประวัติศาสตร์คนสำคัญๆ ของพม่า เช่น ถั่น ทุน (Than Tun) โต หล่ะ (Toe Hla) และ ซอ ทุน (Saw Tun) รวมทั้งนักวิชาการด้านภาษาพม่าอย่าง จอห์น โอเคล (John Okell) อย่างใกล้ชิดมาก่อน ความคุ้นเคยภาษาพม่า และการเติบโตในยุคทองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในฐานะ ‘วิชา’ (subject) และ ‘สาขาวิชา’ (discipline) ยิ่งเพิ่มความแหลมคมและความ ‘ลึก’ ให้กับผลงานชิ้นโบแดงชิ้นแรกของลิเบอร์แมน ซึ่งก็คือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ต่อมาจะพัฒนามาเป็นหนังสือชื่อ Burmese Administrative Cycles: Anarchy and Conquest, c. 1580-1760 ตีพิมพ์ในปี 1984 หนังสือเล่มแรกของลิเบอร์แมนยังเป็นตัวบทที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์พม่ายังใช้อ้างอิงมาจนถึงปัจจุบัน

ลิเบอร์แมนออกจะแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนักอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ทั่วๆ ไปในรุ่นของเขา ตรงที่เขาพยายามออกจาก comfort zone มาโดยตลอด ตั้งแต่ที่เขาเริ่มลงเรียนภาษาพม่าที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) กรุงลอนดอน กับ หล่ะ เพ (Hla Pe) และ จอห์น โอเคล มาตั้งแต่แรก เขาแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องพม่าในรุ่นเดียวกันที่มักสนใจประวัติศาสตร์พม่าในยุคอาณานิคม และใช้เอกสารภาษาอังกฤษมากกว่าเอกสารโบราณภาษาพม่า

แม้นเมื่อหนังสือเล่มแรกของเขาจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามแล้ว ลิเบอร์แมนยังคิดที่จะออกจาก ‘comfort zone’ ของตัวเองตลอดเวลา แก่นหลักของหนังสือในชุด Strange Parallels ของลิเบอร์แมนอยู่ที่ว่าการเกิดขึ้นของรัฐจารีตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในแต่ละรัฐเท่านั้น แต่ยังมาจากปฏิสัมพันธ์ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะกับยุโรปและภูมิภาคอื่นของเอเชีย ตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 800 เมื่อกษัตริย์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเริ่มนำพุทธศาสนาเข้ามา จนกลายเป็นศาสนาของรัฐ

อย่างไรก็ดี รัฐในช่วงแรกๆ ในภาคพื้นทวีป เช่น อาณาจักรทวารวดี อาณาจักรเจนละในกัมพูชา และอาณาจักรปยูในพม่า ล้วนเป็นอาณาจักรเล็กๆ และกระจัดกระจาย อาณาจักรขนาดใหญ่ที่ทำสงครามขยายอาณาจักรและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้รัฐของตนจะเกิดขึ้น อย่างในกรณีของพุกามและอยุธยา

ลิเบอร์แมนกล่าวถึงพัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแบ่งรัฐออกเป็นสามประเภท เรียงจากเก่าไปใหม่ ได้แก่ รัฐกฎบัตร (charter state) ซึ่งเกิดขึ้นก่อน ค.ศ. 1350 อิทธิพลจากรัฐยุคแรกๆ ได้แก่ เมืองพระนครในกัมพูชา อาณาจักรไดเวียด จามปา และพุกาม ทั้งในทางศาสนา กฎหมาย การเมือง และภาษาจะส่งไปถึงรัฐในยุคต่อๆ มาอย่างเข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี รัฐในยุคแรกมีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่รวมศูนย์ และมีความหลากหลายทางศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐ (polity) จะเห็นว่าในอาณาจักรเขมรโบราณ ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธนิกายมหายานจะผลัดขึ้นมามีอิทธิพล และในรัฐก็ประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลายที่อาศัยอยู่รวมกันอย่างสงบสุข เพราะแนวคิดเรื่อง ‘รัฐ’ หรือความรู้สึกของความเป็น ‘เรา’ และ ‘เขา’ ยังไม่เกิดขึ้น

รัฐในยุคที่สองเกิดขึ้นมาหลังรัฐยุคแรกเสื่อมจากการรุกรานของมองโกลในกรณีของพุกาม และการเข้ามามีบทบาทของคนกลุ่มไต (Tai) ที่สร้างบ้านแปงเมืองและสร้างอาณาจักรในยุคต่อมาสำเร็จ รัฐในยุคนี้ให้ความสำคัญกับการค้า การทำสงคราม การปกครองรวมศูนย์ที่ตัวกษัตริย์ และสังคมมีลักษณะเป็นสังคมเดี่ยว (homogeneous) มากขึ้น รัฐในรุ่นที่สองพ่ายแพ้ให้กับรัฐยุคใหม่ที่มาพร้อมกับการล่าอาณานิคม

Strange Parallels ต้องการนำเสนอวิธีการ (approach/methodology) ใหม่เพื่อการทำความเข้าใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลิเบอร์แมนกล่าวว่าที่ผ่านมา วิธีการมองประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่สี่แบบ/มุมมอง ได้แก่

1. ในมุมมองของคนนอก (externalist): เป็นสกุลการเขียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กระแสหลักในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในยุคอาณานิคม ที่ชาวตะวันตกเขียนประวัติศาสตร์ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยมีวาทกรรมอย่าง ‘ภาระของคนขาว’ (White Men’s Burden) เป็นตัวผลักขับให้เกิดการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวงกว้าง ลิเบอร์แมนหยิบยกงานของ จี.อี. ฮาร์วีย์ (G.E. Harvey) และ ยอร์ช เซเดส (George Cœdès) มาเป็นตัวอย่างของงานศึกษาในยุคบุกเบิกกลุ่มนี้

2. ในมุมมองที่ต่อต้านประวัติศาสตร์แบบ externalist: ลิเบอร์แมนเรียกประวัติศาสตร์นิพนธ์กลุ่มนี้ว่าสาย ‘autonomous’ หรือสายที่ต่อต้านระบอบอาณานิคม ลิเบอร์แมนน่าจะยืมคำว่า ‘autonomous’ นี้มาจากนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ จอห์น สเมล (John R.W. Smail) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อินโดนีเซียสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ในบทความเลื่องชื่อของเขา ‘On the Possibility of an Autonomous History of Modern Southeast Asia’ (ว่าด้วยความเป็นไปได้ของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ที่เป็นตัวของตัวเอง) ลิเบอร์แมนกล่าวถึงนักประวัติศาสตร์อีกหลายคน ที่เขาถือว่าเป็นผู้สถาปนาประวัติศาสตร์สกุลนี้ โดยเฉพาะ เจ.ซี. ฟาน เลอร์ (J.C. van Leur) นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ผู้เขียนหนังสือ Indonesian Trade and Society: Essays in Asian Social and Economic History (การค้าและสังคมในอินโดนีเซีย: ความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจของเอเชีย) ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1934

อิทธิพลของ ฟาน เลอร์ จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักประวัติศาสตร์อเมริกันจำนวนหนึ่งในทศวรรษ 1960 ลงมา เช่น แฮร์รี เจ. เบนดา (Harry J. Benda) อเล็กซานเดอร์ วูดไซด์ (Alexander Woodside) เดวิด วัยแอตต์ (David Wyatt) หรือจอห์น สเมล เอง เขียนประวัติศาสตร์ด้วยความเห็นอกเห็นใจคนพื้นเมือง ‘คลุกวงใน’ โดยนำหลักฐานพื้นเมืองมาใช้เพิ่มขึ้น และยังเป็นพื้นฐานของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง เช่น คอร์เนล พรินซ์ตัน เยล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (เบิร์คลีย์) และฮาวาย

3. ประวัติศาสตร์แนว ‘ยุคการค้า’ ของ แอนโธนี รีด (Anthony Reid) หนังสือ Southeast Asia in the Age of Commerce 1450-1680 (สองเล่มจบ) หรือที่มีแปลเป็นภาษาไทยโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ ในชื่อ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680 เป็นหนึ่งในตำราด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ประสบความสำเร็จสูงสุด อาจจะเป็นเพราะมีนักวิชาการด้านนี้น้อยมากที่จะมองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะที่เป็น ‘ภูมิภาค’ ที่มีความเหมือนหรือความคล้ายคลึงกัน รวมทั้งมีประสบการณ์ในอดีตใกล้เคียงกันจากความผันแปรของการค้าทั้งภายในเอเชียและภายในโลก

ข้อเสนอของลิเบอร์แมนคัดง้างกับข้อเสนอหลักของ แอนโธนี รีด อยู่บ้าง รีดมองว่าดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะ ‘ภูมิภาค’ ที่มีจุดร่วม และมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือที่เรียกว่า ‘ระยะเวลาช่วงยาว’ (longue durée) รีดได้รับอิทธิพลโดยตรงจากนักประวัติศาสตร์สกุลอันนาล (Annales School of History) โดยเฉพาะงานของ แฟร์นองด์ บรอเดล (Fernand Braudel) ผู้เขียนหนังสือคลาสสิกเรื่อง The Mediterranean and the Mediterranean World in the Age of Philip II (เมดิเตอร์เรเนียนและโลกเมดิเตอร์เรเนียนในยุคของพระเจ้าฟิลิปที่ 2) รีดมองว่าบรอเดลเป็น ‘แรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่’ ที่ทำให้เข้าใช้ข้อมูลจากหลากหลายสาขาวิชาเพื่อสร้างเรื่องเล่าขนาดใหญ่ (grand narrative) ที่เป็นของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองได้

ลิเบอร์แมนเห็นต่างจากรีด เพราะเขาเชื่อว่าการทำความเข้าใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างแท้จริง นักประวัติศาสตร์ต้องสามารถเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในโลก และหาพลวัตจากภายนอกด้วย เพราะความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้เกิดรัฐขนาดใหญ่และทันสมัยขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4. แนวทางสุดท้ายนี้เป็นแนวทางของลิเบอร์แมนเอง ลิเบอร์แมนย้ำว่าเขาต้องการเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงของโลก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนของภาคพื้นทวีปและภาคพื้นทะเลมีความแตกต่างกันจนในบางครั้งก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ทั้งหมด แต่การวิเคราะห์แบบองค์รวมของเขาจะทำให้เราเห็นภาพของพื้นที่ ‘ยูเรเซีย’ (Eurasia) คือพื้นที่ของทั้งเอเชียและยุโรปได้เด่นชัดขึ้น จากความสงสัยที่ว่าเหตุใดการขยายตัวของอาณาจักรในพม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จึงเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับรัสเซียในสมัยพระเจ้าอิวานที่ 9 ทำให้ลิเบอร์แมนพัฒนาข้อเสนอหลักในหนังสือเล่มนี้ว่าเอเชียและยุโรปมีปฏิสัมพันธ์กันมาโดยตลอด การขยายตัวของหลายอาณาจักรในเอเชียคล้ายกับสถานการณ์ในรัสเซียและฝรั่งเศสในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

จุดเด่นของ Strange Parallels อยู่ที่ความกล้าหาญของลิเบอร์แมนที่ใช้แนวคิดหรือบทเรียนจากภูมิภาคอื่นมาอธิบายความเสื่อมของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยกตัวอย่างเช่น ลิเบอร์แมนอธิบายว่าความตกต่ำของรัฐบางรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผลมาจากโรคระบาด ระดับน้ำทะเล หรืออาจจะเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศด้วย เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับอัตราการเกิด-ตาย และผลผลิตทางการเกษตรที่แต่ละรัฐผลิตได้ การเกิดขึ้นของรัฐในรุ่นแรก หรือ ‘charter states’ จึงไม่ใช่ผลจากการขยายตัวของรัฐพุทธ และกษัตริย์แบบธรรมราชา-เทวราชาเท่านั้น แต่ยังมาจากฝนฟ้าอากาศที่เป็นใจด้วย

เครก เจ. เรย์โนลด์ (Craig J. Reynolds) ศาสตราจารย์ด้านไทยศึกษาคนสำคัญ กล่าวถึงงานของลิเบอร์แมนไว้อย่างน่าสนใจว่า งานขนาดใหญ่ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้เพราะทักษะและความรอบรู้ของลิเบอร์แมนเท่านั้น แต่เป็นเพราะลิเบอร์แมนใช้เครือข่ายทางวิชาการของเขาให้เป็นประโยชน์

จริงอยู่ว่าลิเบอร์แมนสามารถอ่านเอกสารพม่าโบราณได้อย่างแตกฉาน แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ลิเบอร์แมนใช้เครือข่ายและความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาคนอื่นๆ ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม และใช้เวทีระดับนานาชาติให้เป็นประโยชน์เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น

ประกอบกับที่ลิเบอร์แมนเป็นหนอนหนังสือ ที่ไม่ได้สนใจในประเด็นที่ตนเองถนัดเท่านั้น แต่ยังสนใจประวัติศาสตร์โลก ยิ่งทำให้ลิเบอร์แมนไม่ใช่ทั้งนักประวัติศาสตร์แบบเก่าที่มีความรู้ค่อนข้างคับแคบ และไม่ใช่นักประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่เน้นทฤษฎีฉวัดเฉวียนจนลืมแก่นของวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือการเล่าเรื่อง และอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต

ลิเบอร์แมนไม่ใช่ศาสตราจารย์ที่พูดหรือออกงานเยอะ เขามีผลงานออกมาไม่มากนัก ทว่าหนังสือแต่ละเล่มหรือบทความแต่ละชิ้นมีความโดดเด่นทั้งในด้านข้อมูลและข้อถกเถียง ลิเบอร์แมนผสมผสานแรงบันดาลใจที่เขาได้จากนักประวัติศาสตร์-นักปรัชญาฝรั่งเศส กับนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาอเมริกันในยุคแรกๆ อย่าง เบนดา เคฮิน วัยแอตต์ หรือ วูดไซด์ ซึ่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และมีความเป็นมนุษยนิยม

แม้หนังสือ Strange Parallels จะออกมานับสิบปีแล้ว แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงจากหนังสือนี้ออกมาเรื่อยๆ ผู้เขียนเห็นว่างานของลิเบอร์แมนเป็นหมุดหมายที่ทำให้เราเข้าใจพัฒนาการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ดี จึงเลือก Strange Parallels มาประเดิมคอลัมน์ใหม่เป็นบทความแรก

Author

ลลิตา หาญวงษ์
เรียนและเทรนมาในสายประวัติศาสตร์อาณานิคม แต่สนใจการเมืองและวัฒนธรรมพม่าร่วมสมัยด้วย ปัจจุบันเป็นครูประวัติศาสตร์และเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องพม่าๆ ให้หลายสำนักข่าวออนไลน์และออฟไลน์เป็นหลัก ชื่นชอบดนตรีแจ๊ซ กีฬา ฟิล์มนัวร์ และชอบทำอาหารให้คนอื่นกิน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า