ระหว่าง ‘พวกเรา’ กับ ‘พวกมัน’ : ความขัดแย้งในสายตาของชาวพุทธในพม่า

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ ที่หลายคนมองว่าเป็นความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญา นั้นแท้ที่จริงแล้วมีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะฟันธงลงไปว่าสาเหตุใดที่ทำให้ความขัดแย้งในระลอกนี้รุนแรงกว่าทุกครั้ง

อย่างไรก็ดี ปรากฎการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องจากความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาที่ใช้นามว่า ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) โจมตีฐานที่มั่นของกองทัพและตำรวจพม่าร่วม 30 แห่ง ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ชาวพุทธในยะไข่ หกคนถูกสังหารโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่ายใกล้เมืองหม่องด่อ ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ชาวบ้านในละแวกนั้นและชาวพุทธทั่วพม่าปักใจเชื่อว่า การสังหารชาวพุทธอย่างโหดเหี้ยมในครั้งนี้เป็นฝีมือของพวก[1] ‘เบงกาลี’[2] หัวรุนแรง และเป็นแผนการจะยึดครองรัฐยะไข่โดยชาวมุสลิม

ความน่าสนใจของปัญหาโรฮิงญาครั้งนี้คือ การที่ต่างฝ่ายต่างงัดเรื่องเล่าของตัวเองขึ้นมาสู้กัน ในขณะที่ความรุนแรงในรัฐยะไข่ยังมีอยู่จริง และมีชาวโรฮิงญาที่อพยพหนีตายเข้าไปในบังคลาเทศแล้วกว่า 500,000 คน โซเชียลมีเดียกำลังร้อนระอุด้วย ‘สงครามน้ำลาย’ ระหว่างกลุ่มที่เห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญาฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายชาวพุทธในพม่า หรืออาจจะรวมมาถึงชาวพุทธฝั่งขวาจากไทย ศรีลังกา และที่อื่นๆ ด้วย

ประเด็นที่ชาวโรฮิงญารวมถึงประชาคมโลกที่ร่วมกันสนับสนุนชาวโรฮิงญาหยิบยกขึ้นมาพูดเป็นสิ่งแรกคือ ความรุนแรงในรัฐยะไข่ตั้งแต่ปี 2012 เรื่อยมา มีลักษณะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ซาอิด ราอัด อัล-ฮุสเซน (Said Raad al-Hussein) เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เรียกความไม่สงบในรัฐยะไข่ในครั้งนี้ว่าเป็น “ตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบที่ปรากฏในหนังสือเรียน” และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง จนทำให้ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหลายคน ไม่ว่าจะเป็น มาลาลา ยูซาฟไซ, สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู หรือแม้แต่ องค์ทะไลลามะ ตบเท้ากันออกมาประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ และกระตุ้นให้ ออง ซาน ซูจี แถลงการณ์ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น

การพุ่งเป้าไปที่ ออง ซาน ซูจี เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ คนทั่วโลกรู้จักพม่าเพราะ ออง ซาน ซูจี เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1992 หรือพูดง่าย ๆ คือคนทั่วโลกรู้จัก ออง ซาน ซูจี มากกว่ารู้จักประเทศพม่า การรณรงค์เพื่อให้ริบรางวัลโนเบลคืนจากซูจี เฉพาะในเวบไซต์ change.org จึงมีผู้สนับสนุนเกือบ 500,000 คนเข้าไปแล้ว และยังมีกระแสการต่อต้านทั้ง ออง ซาน ซูจี และรัฐบาลพม่าออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาคมโลกละเลยตัวแปรสำคัญที่สุดของกระบวนการสร้างสันติภาพในพม่า นั่นคือ ‘กองทัพ’

ในบทความของ มาร์ค ฟาร์มาเนอร์ (Mark Farmaner) ที่เขียนขึ้นเพื่อกระตุกและกระตุ้นประชาคมโลกให้เห็นว่า การรุมประณาม ออง ซาน ซูจี เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ได้ แต่โลกควรให้ความสนใจกับกองทัพพม่าภายใต้การนำของ พลเอกมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) เพราะกองทัพคือผู้กุมยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาติ ที่แม้แต่ผู้นำระดับสูงในรัฐบาลอย่างซูจีก็ไม่มีวันรับรู้ นอกจากนี้ กองทัพยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในการเมืองพม่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม กองทัพมีโควตาในรัฐสภาถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และการโหวตเพื่อให้แก้ไขกฎหมายใดๆ จะเกิดขึ้นมิได้ หากกองทัพไม่เห็นชอบ[3]

ในขณะที่ประชาคมโลกมักอ้างประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องความชอบธรรมให้กับชาวโรฮิงญา แต่ความเชื่อของคนในสังคมพม่าส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนความคิดสามชุดใหญ่ ดังนี้

1. แนวคิด ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ หรือความคิดที่ว่า ชาวพุทธในพม่าเป็นผู้ถูกรังแกก่อน โดยชาวมุสลิมโรฮิงญาที่พวกเขาถือว่าเป็นคนนอก และเป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย มิได้เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ 135 กลุ่มที่รัฐบาลพม่าให้การรับรอง

ชาวพม่าจำนวนมากเชื่อว่า ชาวโรฮิงญาจำนวนนับล้านคนในรัฐยะไข่เป็นผลผลิตมาจาก ‘แผนการยึดครองพม่า’ ของคนมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพจำนวนมากจากฝั่งบังคลาเทศ การออกลูกออกหลานโดยปราศจากการคุมกำเนิด และการรุกคืบเข้าไปยึดครองที่ดินของชาวพุทธในรัฐยะไข่ เหนือไปกว่านั้น ความเกลียดชังและการโจมตีชาวโรฮิงญาคือการป้องกันตัว เพราะชาวพุทธเป็นผู้ถูกรังแกก่อน ข่าวการสังหารชาวพุทธที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2012 ก่อให้เกิดกระแสโจมตีชาวโรฮิงญา ชาวพุทธในพม่าผลักให้โรฮิงญากลายเป็นคนอื่น และเป็นผู้ร้าย เป็นผู้ก่อการร้าย กลายเป็นเงื่อนไขทำให้การปราบปรามหรือกวาดล้างชาวโรฮิงญาง่ายขึ้น

2. ประชาคมโลกได้รับข่าวสารที่บิดเบือน อันเกิดจากการปล่อยข่าวของผู้ไม่หวังดีและกลุ่มก่อการร้าย ชาวพม่าเชื่อว่า ภาพบ้านเรือนโรฮิงญาที่ถูกเผาก็เป็นฝีมือของชาวโรฮิงญาเองเพื่อสร้างสถานการณ์ และเพื่อเรียกความสนใจจากนานาชาติ ประเด็นนี้ทำให้ชาวพม่าไม่พอใจสื่อต่างชาติอย่างมาก และมองว่าสื่อขนาดใหญ่ระดับโลกเป็นแหล่งเผยแพร่ ‘ข่าวปลอม’ (fake news)

การโต้ตอบของคนพุทธในพม่ามีตั้งแต่การกรูเข้าไปแสดงความคิดเห็นในหน้าเฟซบุ๊คของสำนักข่าวระดับโลกทั้งหลาย และเรียกร้องให้ทั่วโลกนำเสนอข่าวที่เป็นกลาง โดยการนำเสนอภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธและชาวฮินดูในรัฐยะไข่ ความขัดแย้งในปัจจุบันจึงมิใช่การต่อสู้ด้วยการใช้กำลังเท่านั้น แต่ยังเป็นการปะทะกันของชาวพุทธในพม่าและชาวมุสลิมทั่วโลกในพื้นที่โซเชียลมีเดีย

3. ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติคือกุญแจที่จะนำพาพม่าออกจากสภาพกระอักกระอ่วนนี้ ชาวพม่าส่วนหนึ่งประกาศว่า แม้พวกเขาจะไม่ชอบกองทัพ และเลือกจะอยู่เคียงข้างพรรค NLD มาโดยตลอด แต่ในเวลาที่ยากลำบากนี้ ชาวพุทธพม่าจำเป็นต้องอยู่เคียงข้างกองทัพ และยิ่งต้องยืนหยัดอยู่เคียงข้าง ‘The Lady’ หรือวีรสตรีแห่งชาติอย่าง ออง ซาน ซูจี แม้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจะมีเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองจากพรรค NLD หลายกรณี แต่ปัญหาโรฮิงญากลับสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในพรรค NLD เพิ่มขึ้นแบบฉับพลัน

ผู้คนในเฟซบุ๊คและโซเชียลมีเดียอื่นๆ พร้อมใจเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเองเพื่อสนับสนุน ออง ซาน ซูจี ด้วยข้อความเช่น “We Stand With You, Daw Aung San Suu Kyi” (เราอยู่เคียงข้าง ออง ซาน ซูจี) หรือแม้แต่ข้อความว่า “We Support Myanmar Army” (เราสนับสนุนกองทัพเมียนมาร์) จากปากของกลุ่มคนที่เคยต่อต้านกองทัพอย่างหนักมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวพุทธในพม่าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสังคมที่เคยสนับสนุนประชาธิปไตย ผู้คนอึดอัดกับระบอบเผด็จการ และความต้องการเห็นความเท่าเทียมในประเทศที่พวกเขารัก แต่ปัญหาโรฮิงญาและอคติทางชาติพันธุ์ – ศาสนาที่รุนแรงในครั้งนี้ กลับทำให้สังคมที่รักและหวงแหนประชาธิปไตยอย่างสังคมพม่าเริ่มอึดอัดกับเสรีภาพที่พวกเขามีอยู่ มองว่าสื่อต่างชาติเป็นศัตรู และเห็นว่าชาวพุทธที่รู้สึกเห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญาเป็นผู้ทรยศ ทัศนคติเหล่านี้อาจชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วสังคมพม่ามิได้ต้องการประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่พวกเขาโหยหาประชาธิปไตยในแบบที่พวกเขาสามารถออกแบบเองได้

เป็นประชาธิปไตยที่มอบเสรีภาพและสันติภาพให้กับพวกเขาเอง แต่พวกเขาจะมิยอมมอบเสรีภาพนี้ให้กับ ‘คนเถื่อน’ และ ‘ผู้ก่อการร้าย’ อย่างชาวโรฮิงญาโดยเด็ดขาด


 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
[1] “UN rights chief denounces Myanmar ethnic cleansing,” Aljazeera, 12 กันยายน 2017: http://www.aljazeera.com/news/2017/09/myanmar-crisis-textbook-ethnic-cleansing-170911081528888.html
[2] คำที่ชาวพุทธในพม่าใช้เรียกชาวโรฮิงญา
[3] Mark Farmener, “Only One Person Can Stop Ethnic Cleasing in Myanmar, And It Isn’t Aung San Suu Kyi,” Huffington Post, 13 กันยายน 2017: http://www.huffingtonpost.com/entry/myanmar-rohingya-aung-san-suu-kyi_us_59b83175e4b02da0e13cf59f

Author

ลลิตา หาญวงษ์
เรียนและเทรนมาในสายประวัติศาสตร์อาณานิคม แต่สนใจการเมืองและวัฒนธรรมพม่าร่วมสมัยด้วย ปัจจุบันเป็นครูประวัติศาสตร์และเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องพม่าๆ ให้หลายสำนักข่าวออนไลน์และออฟไลน์เป็นหลัก ชื่นชอบดนตรีแจ๊ซ กีฬา ฟิล์มนัวร์ และชอบทำอาหารให้คนอื่นกิน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า