เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 10: ‘ยศ วัชรเสถียร’ นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ผู้เกาะแน่นอยู่กับความเป็นสามัญชน

ในช่วงเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์  พ.ศ. 2511 นักเขียน นักประพันธ์ ที่ผมได้พบเป็นคนแรกที่สำนักงานสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย คือ ยศ วัชรเสถียร และเมื่อนึกย้อนก็ต้องถือว่าเขาเป็นคนแรกที่เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของกลุ่มนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ‘คณะสุภาพบุรุษ’ อย่างชื่นชม โดยเฉพาะคนชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการนิตยสาร สุภาพบุรุษ รายปักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2472

ยศ วัชรเสถียร

ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2505-2508 ที่ผมเป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมเคยอ่านนวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ และ สงครามชีวิต ของ ‘ศรีบูรพา’ ที่พบในห้องสมุดของคณะศิลปศาสตร์มาก่อนก็จริง แต่ก็ไม่มีใคร แม้แต่อาจารย์ที่สอนวิชาวรรณกรรม ที่จะมาให้ความกระจ่างได้ว่า ‘ศรีบูรพา’ เป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร ที่พูดถึงมากหน่อยก็เห็นจะเป็น อ.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ที่มาบรรยายพิเศษ แต่ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึง ‘ม.ร.ว.กีรติ และ นพพร’ ในนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ เสียมากกว่า โดยแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญว่า ‘ศรีบูรพา’ เป็นนามปากกาของนักหนังสือพิมพ์ที่มีความคิดก้าวหน้า ชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เพราะในเวลานั้น เป็นที่รู้กันว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นเสมือน ‘นักเขียนต้องห้าม’ ที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่กับ ‘พวกคอมมิวนิสต์’ ในประเทศจีน และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร เมื่อปี 2501 (ความจริงอยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่การทำรัฐประหารปี 2500 แล้ว แต่มายึดอำนาจเบ็ดเสร็จอีกครั้งในช่วงปลายปี 2501) จนมีผลก่อให้เกิดการตัดต่อทางความคิดขนานใหญ่ เช่น หนังสือและงานเขียนต่างๆ ของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้าที่มีแนวความคิดไปทางสังคมนิยม – คอมมิวนิสต์ ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2480 และ 2490 ได้ถูกบรรณารักษ์ในมหาวิทยาลัยกวาดออกจากห้องสมุดและหอสมุด จนเหลือแต่งานเขียนประเภท ‘พาฝัน’ ต่างๆ ส่วนงานของบรรดานักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่มีความคิดไปทางฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า หรือที่เรียกกันต่อมาว่า ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ได้ถูก ‘เก็บ’ ออกไปจากชั้นหนังสือในมหาวิทยาลัยจนแทบหมด (เหลือแต่ประเภทกลางๆ ไว้ เช่น ‘ฮิวเมอริสต์’ ‘แม่อนงค์’ ‘ส.ธรรมยศ’) นักศึกษาที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงนั้น ว่ากันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501-2509 จึงแทบไม่ได้เห็นงานเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์, อิศรา อมันตกุล, ‘นายผี’, สุภา ศิริมานนท์, ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, ทวีป วรดิลก, เสนีย์ เสาวพงศ์, ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์, รมย์ รติวัน, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ งานเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ เท่าที่ปรากฏอยู่ในห้องสมุดของคณะศิลปศาสตร์ และหอสมุดกลางธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2505 จึงมีที่เห็นอยู่เพียง 2 เล่ม คือ ข้างหลังภาพ และ สงครามชีวิต แต่ไม่มี แลไปข้างหน้า, จนกว่าเราจะพบกันอีก และหรืองานเขียนบทความทางการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในชื่อ การเมืองของประชาชน

พูดกันตรงๆ ก็คือนักศึกษาธรรมศาสตร์ในช่วงตั้งแต่ปี 2501-2509 แทบไม่รู้จักนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ที่เป็นผู้เสนอที่มาของประโยคว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” แต่ประการใด ผมเองก็ต้องใช้เวลา ‘แสวงหา’ ตามร้านหนังสือเก่าอยู่นาน กว่าจะมารู้ว่า ‘ศรีบูรพา’ และนักเขียน นักประพันธ์คณะ ‘สุภาพบุรุษ’ เหล่านั้นมีความเป็นมาอย่างไร และเกี่ยวข้องกับคนชื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อย่างไร เนื่องจากเวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัยของผมมีแต่ความง่วงเหงาหาวนอน ไม่รู้รากเหง้าทางความคิดที่เคยเป็นมาก่อนหน้า เพราะถูกจอมเผด็จการ ‘ผ้าขาวม้าแดง’ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และลูกสมุนต่างๆ เช่น ‘ถนอม-ประภาส’ ได้ตัดต่อความคิดให้ใหม่ทั้งหมด (ความจริงก็ต้องถือว่าเนื่องมาจากความคิดเผด็จการของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ในรุ่นทศวรรษ 2480 และ 2490 แล้ว) ด้วยเช่นกัน กล่าวคือบรรยากาศในมหาวิทยาลัยคือให้รู้แบบเชื่องๆ ไม่ให้คิดออกนอกกรอบ หรือที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยเรียกว่าเป็นยุค ‘สายลม-แสงแดด’ นอกจากนั้นจอมพลสฤษดิ์ยังได้ ‘ตัดต่อความคิด’ ให้เข้ากับจารีตนิยมในช่วงยุคสงครามเย็นอีกหลายอย่าง เช่นถือวิสาสะเรียกตัวเองว่า “รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทั้งที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร และต่อมาก็ค่อยๆ ตัดต่อให้ยกเลิก วันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน ไปยกย่องวันที่ 5 ธันวาคม และ วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ก็ให้เรียกเสียใหม่ว่าเป็น วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนชื่อจาก มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้เหลือเพียงแค่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เฉยๆ การเกิดขึ้นของ คณะศิลปศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2505 ว่าไปแล้วก็เหมือนเป็นการ ‘ตัดตอน’ คำว่า ตลาดวิชา ของ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่นายปรีดี พนมยงค์ ก่อเกิดขึ้นมาตามหลัก 6 ประการของ ‘คณะราษฎร’ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

เมื่อผมถูกยื่นซองขาวให้ออกจากการเป็น ‘ครูโรงเรียนราษฎร์’ และเข้ามาทำงานที่ สังคมศาสตร์ปริทัศน์  ในปี พ.ศ. 2511 ในฐานะ ‘ผู้ช่วย บก.’ ของ ‘ส.ศิวรักษ์’ (แต่กินเงินเดือนในฐานะ ‘เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ’ ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย) การได้มีโอกาสพบปะนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ในรุ่นทศวรรษ 2480 และ 2490 ที่เข้ามาสัมพันธ์กับ ‘ส.ศิวรักษ์’ เช่น ยศ วัชรเสถียร, สุภา ศิริมานนท์, กรุณา กุศลาสัย, สมบูรณ์ วรพงษ์, คำสิงห์ ศรีนอก ฯลฯ ความทรงจำต่างๆ เกี่ยวกับนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ในช่วงรุ่นทศวรรษ 2480 และ 2490 ก่อนหน้าจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารจึงค่อยๆ ฟื้นกลับคืนมา และ ยศ วัชรเสถียร เป็นนักเขียน นักประพันธ์ในรุ่นทศวรรษ 2480 และ 2490 ที่มาเยือนสำนักงาน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นคนแรกๆ และมาพร้อมกับการเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และกลุ่มนักเขียน คณะสุภาพบุรุษ ให้ฟังอย่างเป็นกันเอง ส่วนคนอื่นๆ ที่มีโอกาสได้มาเยือนก็มักจะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ ‘ปะติดปะต่อ’ ความทรงจำเกี่ยวกับนักเขียน นักประพันธ์ ในรุ่นนั้นอย่างนิยมยกย่อง เช่น สุภา ศิริมานนท์ และ คำสิงห์ ศรีนอก

ในปี พ.ศ. 2522 เมื่อครั้งผมทำนิตยสาร โลกหนังสือ รายเดือน ผมจึงตั้งใจว่าจะขึ้นปกไว้อาลัยให้ ยศ วัชรเสถียร โดยนำเอางานเขียน 2 ชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขาที่มอบไว้ให้ก่อนเสียชีวิตมาลงพิมพ์ และในครั้งนั้นได้เขียนแนะนำประวัติของ ยศ วัชรเสถียร ไว้แบบกว้างๆ ใน โลกหนังสือ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ดังมีใจความที่ขอเรียบเรียงนำกลับมาใช้แนะนำอีกครั้ง ณ ที่นี้

ยศ วัชรเสถียร
ชาตะ : 2 สิงหาคม พ.ศ. 2451
มรณะ : 3 สิงหาคม พ.ศ. 2522

“ข้าพเจ้าสารภาพว่ารู้สึกภูมิใจ ทั้งเกิดความรู้สึกอยากที่จะเป็นนักประพันธ์จริงๆ คือนักประพันธ์ที่มีเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ และที่พิมพ์เป็นเล่มขายขึ้นมา…”

ข้างต้นคือคำกล่าวของ ยศ วัชรเสถียร แสดงความรู้สึกไว้ในอัตชีวประวัติเรื่อง เมื่อพรหมลิขิตให้ข้าพเจ้าเป็นนักประพันธ์ ที่เขาเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 สารภาพความตื่นเต้นภูมิใจที่เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ นางงูเห่า ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกจาก สุภา ศิริมานนท์ โดยตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ที่จัดทำกันในโรงเรียนบ้านสมเด็จ

ยศ วัชรเสถียร ได้เล่าความในใจของเขาต่อไปว่า

“…ตอนนี้เอง ประจวบกับได้อ่านเรื่อง ยอดปรารถนา ของศรีบูรพา ซึ่งมีตัวละครสำคัญ คือ ดุสิต สมิโตปกรณ์ เป็นเรื่องยาวลงในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ รายวัน ท่วงทำนองและสำนวนโวหารที่ท่านนักประพันธ์ผู้นี้สรรมาใช้ ได้ปลุกศรัทธาที่ข้าพเจ้าได้มีต่อท่านผู้นี้มาก่อนแล้ว ตั้งแต่ได้อ่านเรื่อง ปราบพยศ ที่ลงในนิตยสาร สุภาพบุรุษ ให้แรงกล้ายิ่งขึ้นจนถึงทำให้ข้าพเจ้าต้องเขียนไปสดุดี และพร้อมกันนี้ข้าพเจ้าได้บอกให้ท่านผู้นี้รู้เป็นคนแรกถึงความอยากของข้าพเจ้า ที่จะได้เป็นนักประพันธ์จริงๆ บ้างนั้น แล้วข้าพเจ้าก็ได้รับตอบแสดงความขอบใจ และให้ความเป็นไมตรี ทั้งอวยพรให้ข้าพเจ้าสมหวังในความปรารถนา ขอให้เริ่มลงมือ อย่ามัวลังเลอยู่เลย อันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปีติ และปักใจแน่วแน่ว่าต้องเป็นนักประพันธ์กับเขาให้ได้…”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผลงานด้านต่างๆ ของ ยศ วัชรเสถียร ก็มีออกมา เช่น นวนิยายเรื่อง ชาติชาย  (พ.ศ. 2478) รวมเรื่องสั้นชุด มนุษย์เดินดิน (พ.ศ. 2503) สารคดีชุด รู้ไว้ใช่ว่า ในนามปากกา ‘กำแหง เดชา’ และ ‘หงษ์เพชร’

ยศ วัชรเสถียร เกิดที่จังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2451 เป็นบุตรของร้อยโทธูป และ นางแม้น วัชรเสถียร เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนบ้านสมเด็จ เบญจมบพิตร และอัสสัมชัญ

“ผมเรียนจบก็มาทำงานรถไฟ อยู่ได้ 2 เดือนก็ออก เพราะหัวแข็งไปด่านายเข้า มาทำงานฝรั่งอยู่ราว 1 ปีก็ออกอีก รู้ตัวเองว่าหลงใหลการประพันธ์ เลยมาทำงานหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง คุมหน้าพวกนิยาย เขียนอะไรบ้าง ก็ได้รู้จักกับคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ พอพระองค์วรรณฯ ท่านออก ประชาชาติ รายวัน เมื่อ พ.ศ. 2475 ก็มาอยู่ ประชาชาติ พร้อมคุณกุหลาบ โรงพิมพ์ที่อยู่บำรุงนุกูลกิจ ผมมีหน้าที่เขียนนิยายเรื่องยาวและหาข่าวไปด้วย…”

ยศ วัชรเสถียร เคยให้สัมภาษณ์ นสพ.มติชน  ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม และได้กล่าวให้ความเห็นว่า “…ผมประสบชีวิตที่คับแค้นมามาก ลูกๆ ไม่มีใครสืบทอดเพราะผมห้าม อย่ามาหากินทางนี้ เพราะถ้าไม่แกร่งจริงๆ จะอยู่ไม่ได้…”

นอกจากอยู่ในฐานะนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์รุ่นอาวุโสแล้ว ยศ วัชรเสถียร ยังทำงานในฐานะนักแปลอีกด้วย เขาเป็นผู้บุกเบิกแปลนวนิยายรุ่นแรกของ ฮาโรลด์ รอบบินส์ ผลงานแปลเท่าที่ปรากฏมีอยู่ 3 เล่มคือ กรรมบันดาล (พ.ศ. 2503) แปลจากเรื่อง Never Love A Stronger, อรทัยขายรัก (พ.ศ. 2504) แปลจากเรื่อง 79 Park Avenue และ เทพบุตรแห่งความตาย (พ.ศ. 2504) แปลจากเรื่อง Stiletto

ในฐานะของนักแปลผู้ไม่เคยผ่านรั้วมหาวิทยาลัยมาเลย ยศ วัชรเสถียร เคยมีวิวาทะกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาครั้งหนึ่ง ดังที่เขาได้เขียนเล่าไว้ใน ‘คำนำ’ นวนิยายแปลเรื่อง กรรมบันดาล (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2) ก่อนหน้าที่เขาจะถึงแก่กรรมได้ไม่นาน ดังมีความว่า

“เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ในระหว่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตกเป็นจำเลยคดีกบฏ กับคดีหมิ่นประมาทเอกอัครราชทูตอเมริกา ผมไปคลุกคลีอยู่กับท่านเกือบทุกวัน ผมเกิดสงสัยคำพาดหัวในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ (ทำโดยคนอเมริกัน) คำหนึ่ง คือ Brinkmanship ว่ามันแปลว่าอะไร หรือมีความหมายอย่างไร จึงถามท่านโดยเขียนให้ดู ท่านดูนิ่งอยู่ชั่วอึดใจ ผมก็ต้องร้องอุทานว่า ‘อ้าว!’ เพราะท่านให้คำตอบแก่ผมว่า ‘คุณอย่าเอาภาษาหมามาถามผมซี’…ในเวลานั้นผมมีกำลังทรัพย์ได้เพียงพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ ส.เสถบุตร เล่มเดียว ทั้งๆ ที่ผมควรจะต้องมีพจนานุกรมอังกฤษ-อังกฤษอย่างธรรมดา และอเมริกันสแลงด้วย จึงเหมือนกับว่าอุตริขึ้นไปนั่งบนหลังม้าพยศ แต่ผมก็อยากขี่และขับควบม้าพยศขึ้นมาเหมือนกัน จึงไม่ยอมลดละท้อถอย…”

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในความเป็น ยศ วัชรเสถียร นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์รุ่นแรกและรุ่นสุดท้ายของคณะ ‘ประชามิตร-สุภาพบุรุษ’ ที่พูดจาโผงผาง ขวานผ่าซาก แต่ทว่าจริงใจ ยศ วัชรเสถียร มีอายุยืนยาวมาจนได้มีความสัมพันธ์กับนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ ได้เขียนบทความลงในนิตยสาร เช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และวิทยาสารปริทัศน์ ทั้งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อีกทั้งถ้าเข้าใจไม่ผิดก็ต้องว่า เขาเองก็เป็นผู้มีส่วนรับรู้และร่วมก่อตั้ง ‘มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป’ มาตั้งแต่ช่วงบุกเบิก

เนื่องจากความคุ้นเคยกันมาก่อน ตั้งแต่ครั้ง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ยศ วัชรเสถียร จึงรับปากกับบรรณาธิการ โลกหนังสือ ว่าจะเขียน ‘บันทึกความทรงจำ’ เกี่ยวกับวงการนักเขียน นักประพันธ์ไทยในอดีตมาให้พิจารณาเป็นประจำ และก่อนหน้าที่เขาจะถึงแก่กรรมประมาณ 1 อาทิตย์ ยศ วัชรเสถียร จึงได้ส่งบทความมาให้ โลกหนังสือ 2 ชิ้น เกี่ยวกับ ระลึกถึงเวทางค์ และ มูลเหตุที่ศรีบูรพาเขียนสงครามชีวิต แต่ก็โดยมิได้คาดฝัน เพราะหลังจากนั้นเราก็ได้ทราบข่าวการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของเขา…เช่นเดียวกับภาพวาด ‘รูปเหมือน’ ตัวของเขา จากฝีมือของ อวบ สาณะเสน ที่ โลกหนังสือ นำมาเป็นปกในฉบับนี้ อวบ สาณะเสน ศิลปินผู้วาด ก็สร้างขึ้นก่อนหน้าประมาณ 1 อาทิตย์ เช่นกัน…

ข้อความประวัติชีวิตโดยสรุปของ ยศ วัชรเสถียร ที่ปรากฏใน โลกหนังสือ ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2522 เป็นข้อเขียนที่ผมเขียนแบบสรุป เท่าที่จะ ‘ปะติดปะต่อ’ ข้อมูลที่หามาได้ในเวลานั้น เท่าที่ทราบ ยศ วัชรเสถียร ยังมีผลงานกระจัดกระจายอยู่ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ในรุ่นทศวรรษ 2480 และ 2490 อยู่อีกไม่น้อย และที่เคยพิมพ์เป็นเล่มแล้วก็ยังมีอีก เช่นนวนิยายเรื่อง ตามใจลูก (ไม่ทราบปีพิมพ์) รวมเรื่องสั้น ยังงี้ก็มี (ใช้นามปากกา ‘กำแหง เดชา’ ไม่ทราบปีพิมพ์) ส่วนงานเขียนด้านสารคดีในนามปากกา ‘ยุธิษเฐียร’ ก็มีเช่น สมบัติบรรพชน (ไม่ทราบปีพิมพ์) ประวัติรัถยาน (ไม่ทราบปีพิมพ์) และงานเขียนที่มีคุณค่าต่อการ ‘ปะติดปะต่อ’ ประวัตินักเขียน นักประพันธ์ไทยในอดีตให้ผมก็มีเช่น การประพันธ์และนักประพันธ์ไทย (ไม่ทราบปีพิมพ์) กุหลาบ สายประดิษฐ์ – ศรีบูรพาที่ข้าพเจ้ารู้จัก (ไม่ทราบปีพิมพ์) มนัส จรรยงค์ และ ไม้ เมืองเดิม (ไม่ทราบปีพิมพ์)

เข้าใจว่าเรื่องสั้นและบทความต่างๆ ของ ยศ วัชรเสถียร น่าจะยังมีกระจัดกระจายตามในนิตยสารต่างๆ อีกจำนวนไม่น้อย เช่นเรื่องสั้น มนุษยธรรม ที่ปรากฏพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม 14 ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496 นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องสั้นแนวขำขันของเขาที่ใช้นามปากกา ‘กำแหง เดชา’ พิมพ์ครั้งแรกอยู่ในนิตยสารปกแข็งรายเดือนฉบับนี้อีกหลายเรื่อง นิตยสารรายเดือน เพลินจิตต์พิเศษ ฉบับนี้มีนาย เวช กระตุฤกษ์ เป็นเจ้าของและผู้อำนวยการ เลียว ศรีเสวก (นามปากกา ‘อรวรรณ’) เป็นที่ปรึกษา และ เอื้อม รุจิดิษ (นามปากกา ‘อ.ร.ด.’) เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

ยศ วัชรเสถียร มีอายุได้ 71 ปี และถ้านับเวลาตั้งแต่ปีเกิดของเขาเมื่อ พ.ศ. 2451 มาถึงปัจจุบัน ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาก็จะมีอายุครบ 111 ปีในปีนี้ ว่าไปแล้ว ยศ วัชรเสถียร ก็เหมือนเป็นรุ่นน้องที่มีอายุเยาว์กว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เพียง 4 ปี (เช่นเดียวกับ เสาว์ บุญเสนอ ผู้ร่วมบุกเบิก ‘สำนักเพลินจิตต์’ กับ เหม เวชกร มาตั้งแต่ พ.ศ. 2476) แต่ทำไมแวดวงเหมือนจะลืมเขาไปแล้ว แม้แต่กรรมการชุดปัจจุบันของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป ก็คงหาทราบไม่ว่า ยศ วัชรเสถียร เคยเป็นหนึ่งในการร่วมรับรู้การเกิดขึ้นของมูลนิธินี้ของ ‘ส.ศิวรักษ์’ และเคยนำเงินของ ‘มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป’ ไปช่วยเหลือ ‘ป.อินทรปาลิต’ ที่กำลังเจ็บป่วยในช่วงบั้นปลายชีวิต

สุภา ศิริมานนท์ เคยเขียน ‘คำนำ’ ให้หนังสือรวมเรื่องสั้น มนุษย์เดินดิน ของ ยศ วัชรเถียร ที่สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์รวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 มีใจความตอนหนึ่งที่ผมอยากขอยกมาสรุป ดังนี้

“ข้าพเจ้าเขียนสิ่งเหล่านี้ มิใช่เพื่อ ยศ วัชรเสถียร ในฐานะที่เป็นมิตรรุ่นอาวุโสร่วมสำนักศึกษากันมาแต่เยาว์วัย หากเพื่อ ยศ วัชรเสถียร ในฐานะนักประพันธ์ผู้เกาะแน่นอยู่กับความเป็นสามัญชน โดยไม่ยอมถดถอย เปลี่ยนแปลง…”

ใช่เลย —
เขาคือ ยศ วัชรเสถียร นักเขียน นักประพันธ์ ผู้เกาะแน่นอยู่กับความเป็นสามัญชน

10 ธันวาคม 2562


มนุษยธรรม

ยศ วัชรเสถียร

นายสุนทร กีรติพงศ์ เสร็จจากธุรกิจภายนอก กลับไปยังสำนักงานบริษัทการค้าของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันนั้น เป็นเวลาที่บรรดาคนงานซึ่งเป็นลูกจ้างของเขา ส่วนมากกำลังเตรียมตัวที่จะกลับไปบ้านหรือไปไถลสนุกเฮฮาเสียก่อน เพราะถึงกำหนดเวลาปิดสำนักงานแล้ว ก่อนที่เขาจะเข้าไปในห้องทำงานของเขาซึ่งเป็นห้องพิเศษโดยเฉพาะ เขาได้รับคำบอกจากเลขานุการซึ่งเป็นหญิงวัยล่วงเข้ากลางคนแล้วและนั่งอยู่ที่โต๊ะตรงหน้าห้องของเขาว่า บรรดาหนังสือการงานที่เขาจะต้องลงนาม หล่อนได้นำไปไว้บนโต๊ะของเขาเรียบร้อยแล้ว เหมาะทีเดียวเขานึกอยู่ในใจ เพราะว่าวันนี้เขายังไม่อยากกลับไปบ้านหรือไปหย่อนใจที่สโมสร ซึ่งเขาจะไม่ได้รับความสงบเงียบอันเป็นสิ่งที่เขาปรารถนาในขณะนี้จากทั้งสองแห่ง เขาจะไม่ได้รับความสงบเงียบภายในบ้านของเขาเองก็เนื่องจากความวุ่นวายของเมียของเขาที่ต้องการจะเป็นผู้หญิงตัวอย่างคนหนึ่งในจำนวนผู้หญิงตัวอย่างทั้งหลาย ด้วยการทำตัวให้เป็นคนมีชื่อเสียง แล้วก็ได้รับสมญาว่า ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ และในการนี้เมียของเขาได้เป็นหัวหน้าวิ่งเต้นจัดตั้งสมาคม อันประกอบด้วยสมาชิกบรรดาพวกที่เป็นเมียทั้งหลายขึ้น ให้ชื่อว่า ‘สมาคมแม่บ้าน’ แล้วก็ยึดเอาบ้านของเขาซึ่งกว้างขวางนั้นเป็นสถานที่ของสมาคม แม้เขาจะไม่มีความเห็นชอบด้วย แต่เขาก็ต้องยอม เพราะเขาได้ยอมมาจนเมียของเขาถือว่าเป็นหน้าที่ของเขาเสียแล้ว ในเมื่อมันเป็นความประสงค์ของหล่อน เมื่อบ้านของเขาได้กลายเป็นสถานที่ของ ‘สมาคมแม่บ้าน’ ขึ้นแล้วทุกวัน พอตกเย็นแม่พวกเมียประดาที่เป็นสมาชิกซึ่งล้วนแล้วแต่พวกมีความปรารถนาจะเป็นคนสำคัญ ได้ชื่อว่า ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ ก็แห่กันมาชุมนุม ปรึกษาและถกเถียงด้วยเรื่องอะไรต่อมิอะไร อันก่อความรำคาญให้แก่เขา ซึ่งต้องการความสงบเงียบเป็นที่ยิ่ง ต่อค่ำจึงทยอยกันกลับไป

เขากล่าวคำขอบใจแก่ผู้เป็นเลขานุการ แล้วก็เดินเข้าไปในห้องทำงานของเขา วางกระเป๋าเอกสารลงบนโต๊ะ ถอดเสื้อชั้นนอกนำไปแขวนยังที่สำหรับแขวน แล้วเลยเข้าไปในห้องน้ำด้วยความตั้งใจที่จะล้างมือและล้างหน้าเสียก่อน จึงจะมานั่งโต๊ะทำงานต่อไป จากกระจกเงาซึ่งติดอยู่เหนือที่ล้างหน้าในขณะที่เขาเช็ดหน้าด้วยผ้าขนหนู ภาพหน้าของเขาที่ปรากฏแก่สายตาของเขา มันมีลักษณะที่บอกให้เขาตระหนักว่า อันสังขารของมนุษย์เรานี้ มันเป็นอนิจจังอย่างแน่นอน และในปีนี้ สัญลักษณ์ของความชราปรากฏให้เขาเห็นอย่างเด่นชัด นั่นคือเนื้อหนังที่หน้าเหี่ยวย่น เส้นผมหงอกมีจำนวนมากขึ้น เขาไม่ห่วงใยต่อสังขารของเขาดอก แต่เขาก็ยืนอยู่หน้ากระจกเงา เพ่งมองรูปลักษณะแห่งสังขารที่ร่วงโรยทรุดโทรมของเขานั้นชั่วขณะหนึ่ง พลางบอกแก่ตัวของเขาเองว่า แม้บัดนี้หน้าตาของเขาจะสิ้นลักษณะเจริญตาอย่างสมัยที่เขาอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ก็จริง ค่าที่เดี๋ยวนี้อายุของเขามันครบห้ารอบแล้ว แต่มันก็ไม่ถึงกับทำให้ใครที่ได้เห็นแล้วรู้สึกว่าน่าเกลียดและน่ากลัว ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ไม่เคยเห็นเขามาก่อนมาได้เห็น ทุกคนจะบอกแก่ตัวเองว่านั่นมันเป็นหน้าที่ของบุคคลที่มีหัวใจเปี่ยมอยู่ด้วยความเมตตาปรานี อันจะหลั่งให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเช่นฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน อยู่เสมอ

เขาเงยหน้าขึ้นจากงานเมื่อหญิงสาววัยสิบห้าหยกๆ สิบหกหย่อนๆ คนหนึ่ง ผลักบังตาก้าวเข้ามาในห้องด้วยสีหน้าและท่าทางประหม่า และหยุดชะงักยืนอยู่ตรงเพียงแค่ที่ล้ำช่องประตูเข้ามา ต่อเมื่อเขายิ้มและบอกว่า “มาซี” จึงค่อยๆ ก้าวเท้าเดินต่อเข้ามาหยุดยืนอยู่ที่หน้าโต๊ะของเขา เขาจำได้ทันทีว่าแม่สาวน้อยรุ่นกำดัดผู้นี้ เขาเคยได้เห็นพ่อหนุ่มน้อยดำเกิง กีรติพงศ์ ลูกชายคนเล็กของเขาซึ่งเอาแต่ข้างเที่ยวสนุกท่าเดียวพาไปเที่ยวไหนต่อไหนแต่ลำพังสองต่อสองด้วยเสมอ ก่อนหน้าที่เมียของเขาซึ่งเป็นแม่ส่งไปอยู่ที่ภูเก็ตกับญาติผู้ใหญ่ของหล่อนผู้หนึ่งเมื่อเดือนหนึ่งล่วงมาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เพื่อจะได้ไปเที่ยวจัดอย่างที่อยู่ในพระนคร เป็นเชิงส่งไปดัดสันดาน แล้วจะส่งไปเรียนต่อที่ยุโรป หรืออเมริกา แล้วแต่พ่อหนุ่มน้อยดำเกิงจะพอใจ ซึ่งเขาก็ต้องยอมตามเคยอย่างที่ได้ยอมมาแล้วในเมื่อมันเป็นความประสงค์ของเมียของเขา

“มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับฉันหรือจ๊ะ” เขาเอ่ยถามแม่สาวน้อยอย่างอารมณ์ดี

“ดิฉันชื่อเตือนใจค่ะ อ้า ดิฉันขอบพระคุณท่านเหลือเกินที่ท่านกรุณาให้โอกาสแก่ดิฉัน” แม่สาวน้อยเอ่ยขึ้นด้วยเสียงสั่นเพราะประหม่าและประหวั่น “มันเป็นเรื่องใหญ่โตและข้อสำคัญต่อชีวิตของดิฉันเหลือเกินเทียวค่ะ” และแล้วในทันใดหล่อนก็เริ่มร้องไห้สะอึกสะอื้น หลับตาปล่อยให้น้ำตาที่ซึมท้นไหลเป็นทางลงมาตามร่องแก้ม ริมฝีปากสั่นระริก

“อ้าว! อะไรกันล่ะ?” กีรติพงศ์ผู้ชราร้องออกมาด้วยความตกใจและฉงนสนเท่ห์ และกระวีกระวาดลุกขึ้นจากเก้าอี้เดินอ้อมโต๊ะมาหาหญิงสาว โอบแขนวางบนไหล่ของหล่อนโดยน้ำใจการุณย์ “ไปนั่งที่โน่นเถิด” พลางประคองหญิงสาวพาไปให้นั่งลงบนเก้าอี้ชุดรับแขกตัวยาวที่นั่งได้สองคน และเขาเองก็นั่งลงด้วยข้างหล่อน “เรื่องราวเป็นอย่างไรกัน บอกให้ฉันรู้เถิดแม่หนู ถ้าฉันสามารถช่วยได้แล้ว ก็ยินดีที่จะช่วย”

แม่สาวน้อยเม้มริมฝีปากและขบมันไว้ด้วยฟัน เปิดกระเป๋าถือหยิบผ้าเช็ดหน้าออกมาซับน้ำตา แล้วด้วยเสียงสะอื้นหล่อนพึมพำออกมาว่า “ดิฉัน ดิฉันเสียใจ ดิฉันไม่ได้ตั้งใจจะมาร้องไห้ให้ท่านต้องกังวลรำคาญเลย”

“ไม่เป็นไรหรอกแม่หนู การร้องไห้ของแม่หนูน่ะ มันทำให้ฉันใจไม่ดีจริง แต่ไม่รำคาญหรอก” เขาปลอบหล่อน “เล่าเรื่องความเดือดร้อนของแม่หนูให้ฉันรู้ต่อไปเถิด”

แม่สาวน้อยก้มหน้าลงมองผ้าเช็ดหน้าที่หล่อนถืออยู่ และขยำมันจนยับ ทั้งบิดเป็นเกลียวด้วยนิ้วมือโดยไม่มีความหมาย ครั้นแล้วเหมือนกับว่าหล่อนได้ตัดสินใจเป็นที่เด็ดขาด เงยหน้าขึ้น กัดฟันแน่น ถอนหายใจยาว แล้วจึงพูดออกมาว่า “ดิฉันกำลังให้กำเนิดแก่ลูกของดำเกิง กีรติพงศ์ค่ะ”

เมื่อหล่อนบอกออกมาเช่นนั้นแล้ว หล่อนก็ได้เห็นผู้เป็นพ่อของบุคคลซึ่งหล่อนเอ่ยถึง ดำเกิง กีรติพงศ์ มีอาการตะลึง ริมฝีปากของหล่อนเริ่มสั่นอีก และหล่อนเผยอมันพูดต่อไปว่า “แล้วเดี๋ยวนี้ ดิฉันไม่ได้พบหน้าค่าตาของเขาเลยเดือนหนึ่งแล้วค่ะ ดิฉันเขียนจดหมายถึงก็ไม่ได้ตอบ ดิฉันไม่รู้ว่าเขาไปอยู่เสียที่ไหน”

ท่านสุภาพบุรุษชรากีรติพงศ์ พยายามบังคับจิตใจให้สงบ แต่เรื่องที่เขาได้รับทราบมันมีอำนาจยังความสะเทือนให้เกิดแก่จิตใจของเขารุนแรงเกินกว่าที่เขาจะสามารถบังคับให้มันสงบได้ง่ายๆ และเขายังไม่รู้ที่จะจัดการลงไปสถานใด

“แม่หนูรู้มาเป็นเวลานานเท่าไหร่แล้ว ที่แม่หนู อ้า ให้กำเนิดแก่ลูกของเจ้าดำเกิงน่ะ?” ในที่สุดเขาถามออกมาภายหลังที่นิ่งงันอยู่ครู่ใหญ่

“สองเดือนกว่าแล้วค่ะ” แม่สาวน้อยตอบ บัดนี้ความประหม่าค่อยคลายไปจากความรู้สึกของหล่อน “อ้า ดิฉันรู้ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อดิฉัน ในเมื่อดิฉันได้ยินเขาล่ำลือกันว่า ท่านมีหัวใจที่เปี่ยมอยู่ด้วยมนุษยธรรม ขอท่านได้โปรดเอ็นดูเห็นใจดิฉันด้วยเถิด ดิฉันรักเขา – รักเหลือเกินค่ะ และก็เพราะความรักที่ดิฉันมีต่อเขานี้ เมื่อเขาต้องการได้ความสุขสำราญจากร่างกายของดิฉัน มันได้บังคับให้ดิฉันต้องตามใจเขา ข้อนี้ดิฉันสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้ค่ะ ว่าดิฉันไม่ได้รักเขาเพราะเหตุที่เขาเป็นลูกของท่าน ซึ่งมีฐานะเป็นเศรษฐี ดิฉันเพิ่งรู้ว่าเขาเป็นลูกของท่านก็เมื่อเขาหายหน้าไป แล้วดิฉันเที่ยวสืบเสาะหาเขานั่นดอกค่ะ นอกจากจะเพราะดิฉันรักเขาอย่างสุดใจแล้ว ดิฉันยังเชื่อคำที่เขาบอกดิฉันว่ารักดิฉันจริงๆ นั้น เป็นคำพูดที่ออกมาจากน้ำใสใจจริงของเขา”

“แล้วแม่หนูได้บอกให้เขารู้หรือเปล่าล่ะ ที่แม่หนูเกิดท้องไส้ขึ้นน่ะ?” ท่านสุภาพบุรุษชราซัก

“บอกค่ะ” สาวน้อยตอบ

“แล้วเขาว่าอย่างไร?”

“เขาบอกดิฉันว่า ไม่ต้องกังวลดอก ขอให้รออีกสักหน่อยเขาจะจัดการให้เป็นที่เรียบร้อย คือให้ได้อยู่ด้วยกันเยี่ยงผัวเมียทั้งหลาย แต่ดิฉันสังเกตดูเขามีอาการไม่ค่อยสบายใจค่ะ และแล้วก่อนหน้าที่เขาจะหายหน้าไปสักสี่ห้าวัน เขาได้ไปพบกับดิฉัน บอกว่าเขาเสียใจเหลือเกินที่เขาไม่อาจจัดการให้เป็นไปตามที่เขาบอกไว้นั้นได้ เพราะคุณแม่ของเขาไม่ยินยอมที่จะต้อนรับผู้หญิงอย่างดิฉันในฐานะลูกสะใภ้ แล้วเขาก็ทิ้งเงินไว้ให้ดิฉันจำนวนสองพันบาท และบอกให้ดิฉันไปหาหมอที่เขาหากินในทางฆ่าชีวิตที่เริ่มเกิดให้เขาช่วยจัดการให้…”

“แล้วทำไมแม่หนูไม่…”

บุคคลผู้ได้รับยกย่องว่ามีหัวใจเปี่ยมอยู่ด้วยมนุษยธรรมและเมตตาปรานี พูดออกมาเพียงเท่านั้นแล้วก็หยุด รู้สึกเย็นวาบขึ้นในลำคอ เพราะเขาระลึกขึ้นได้ว่าถ้อยคำที่เขาตั้งใจจะพูดต่อไปนั้นมันมีความหมายสนับสนุนให้แม่สาวน้อยทำลายชีวิตที่มาปฏิสนธิในครรภ์ของหล่อน เขารีบเปลี่ยนเป็นว่า “เอ้อ – ทำไมแม่หนูจึงไม่ไปพบแม่ของเขาล่ะ?”

“ดิฉันได้ไปพบมาแล้ว ออกจากนั่นก็มาหาท่านนี่แหละค่ะ” แม่สาวน้อยตอบ ประกายตาของหล่อนบอกถึงความรู้สึกร้าวใจอย่างสาหัส

“แล้วแม่ของเขาว่าอย่างไร?” ท่านชายชราถามด้วยความสนใจ

“ท่านบอกว่า ทั้งท่านและดำเกิงไม่อาจจะต้อนรับดิฉันได้ เพราะไม่เชื่อว่าชีวิตที่มาปฏิสนธิในท้องของดิฉันนั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของดำเกิง ท่านพูดอย่างกับว่าดิฉันเที่ยวได้นอนแบให้ผู้ชายทั้งบ้านทั้งเมือง โอ้ – ร้ายกาจเหลือเกิน ร้ายกาจที่สุด แต่ดิฉันไม่เชื่อหรอกค่ะว่าดำเกิงจะปฏิเสธเช่นนั้นโดยไม่ถูกบังคับ เพราะเขารู้ดีอยู่แก่ใจว่ามันเป็นลูกของเขา – สายโลหิตของเขาแท้ๆ” แล้วหล่อนก็เริ่มสะอึกสะอื้นร่ำไห้อีก เพราะไม่สามารถจะสะกดอดกลั้นความอาดูรไว้ได้

กีรติพงศ์ผู้ชราลุกขึ้นยืนอย่างแช่มช้า สีหน้าบอกความกังวลใจเป็นอย่างมาก เขาก้าวเดินไปที่หน้าต่าง ซึ่งบานเปิดอยู่พลางมองเหม่อออกไปภายนอกโดยไม่มีจุดหมาย ด้วยวิจารณญาณของเขา เขารู้ว่าเรื่องที่แม่สาวน้อยเล่าให้ฟังนั้นมันเป็นความจริง หล่อนหาได้มดเท็จไม่ และเหตุการณ์ในครอบครัวของเขานั้น เมื่อคิดถึงแล้วมันไม่ให้ความชื่นบานเลย แต่ไหนแต่ไรมาแล้วเขาต้องใช้ความอดทนตลอดมา เขาเชื่อว่าลูกชายของเขารักหญิงสาวผู้นี้ด้วยความสุจริตใจอย่างไม่มีปัญหาอันใดที่จะต้องคลางแคลง เพราะพฤติการณ์ระหว่างลูกชายของเขากับแม่สาวน้อยผู้นี้เท่าที่แว่วมาเข้าหูเขา และเท่าที่เขาเห็นด้วยตาเองในบางคราว มันเป็นประจักษ์พยานยืนยันอย่างเพียงพอ แต่ที่ลูกชายของเขาไม่อาจต้อนรับหล่อนในฐานะเมียอย่างเปิดเผยถูกต้องตามนิตินัยได้นั้น ก็เพราะผู้เป็นแม่นั่นเองเป็นต้นเหตุ บังคับเอาแก่ลูกชายซึ่งตามปกติอยู่ในโอวาทผู้เป็นแม่ พร้อมด้วยเกลี้ยกล่อมด้วยถ้อยคำฉลาด
ครู่หนึ่งภายหลังที่ความเงียบได้ปกคลุมอยู่ เขาก็ได้ยินแม่สาวน้อยพูดขึ้นว่า “ท่านคงรู้สึกว่าดิฉันเป็นผู้หญิงสาระเลว ที่สละทอดตัวให้แก่ลูกชายของท่าน ทำนองเดียวกับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย สละตัวบำเรอบรรเทาความใคร่ของสัตว์เดรัจฉานตัวผู้ ดิฉันยอมรับว่าดิฉันเลวจริงในข้อนี้ แต่ขอท่านได้โปรดเอ็นดู เห็นใจเถิดว่า ทั้งนี้เพราะดิฉันรักเขาอย่างสุดใจ เชื่อถือถ้อยคำของเขาที่บอกดิฉันว่า รักดิฉันอย่างจริงใจนั้นเป็นความจริง ที่ดิฉันเชื่อว่าท่านคงเห็นใจ เพราะท่านเองก็เคยได้ผ่านวัยหนุ่มสาวและความรักมาแล้ว”

ท่านสุภาพบุรุษชราหมุนกายหันกลับมาเผชิญหน้ากับแม่สาวน้อย ถ้อยคำและน้ำเสียงของหล่อนที่บอกถึงความรู้สึกชอกช้ำใจอย่างแสนสาหัสนั้น ทำให้เขารู้สึกวาบหวิว

“ฉันรู้ – ฉันเข้าใจจ้ะแม่หนู” เขาบอกหล่อน “ฉันเชื่อแม่หนูและเห็นใจ”

“แล้วท่านเห็นควรที่ดิฉันจะจัดการต่อไปอย่างไรล่ะคะ? ประทานโทษดิฉันด้วย ที่ขอความเห็นจากท่านในข้อนี้ แต่ถ้าท่านจะแนะนำให้ดิฉันไปหาหมออย่างที่ดำเกิงแนะนำละก้อ ขอโปรดอย่าเอ่ยออกมาเลยค่ะ เพราะถึงดิฉันจะต่ำศักดิ์ แต่ใจของดิฉันไม่หินชาติพอที่จะยอมทำเช่นนั้นได้”

อย่างแช่มช้า กีรติพงศ์ผู้ชราก้าวเดินมาหาหล่อน แล้วหยุดยืนอยู่ตรงหน้า วางมือลงบนบ่าของแม่สาวน้อย

“วันนี้ แม่หนูกลับบ้านเสียก่อนเถิด เพราะเดี๋ยวนี้เธอทำให้หัวของฉันจะระเบิดอยู่แล้ว” เขาบอกหล่อน “แต่แม่หนูไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้อีกต่อไปหรอก ฉันรับรองกับแม่หนูว่า กีรติพงศ์ของฉันจะต้องผ่องแผ้วเสมอ ขอแม่หนูจงวางใจ พรุ่งนี้เวลานี้แม่หนูมาหาฉันใหม่”

เมื่อเขากลับไปบ้านและภายหลังอาหาร อยู่ลำพังกับเมียของเขาในห้องพักผ่อน เขาถามเมียของเขาขึ้นว่า

“ทำไมเธอจึงไม่ให้ฉันรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงที่เธอส่งเจ้าดำเกิงไปอยู่ภูเก็ตจ๊ะ โสภา?”

“นังกะสือน้อยนั่นไปพบกับเธอหรือ?” เมียของเขากลับย้อนถาม และเมื่อได้รับผงกศีรษะเป็นการตอบรับจากเขา หล่อนก็ตอบเขาอย่างที่เคยใช้ตอบเขาเสมอมา ในเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วหล่อนจัดการไปเองตามลำพัง คือตอบว่า “เพราะฉันไม่ต้องการให้เธอได้รับความรำคาญใจน่ะซี”

แต่กาลก่อนเมื่อเขาได้ถามทำนองเดียวกันนี้ และเมียของเขาตอบอย่างนี้ จะไม่ปรากฏว่าเขาพูดต่อไปด้วยเรื่องเดียวกันอีกเลย แต่คราวนี้เขาไม่ยอมหยุด พูดต่อไปว่า “แต่ฉันควรจะได้รู้ทันทีที่เธอได้รู้”

“ทำไม? เธอเห็นมันเป็นเรื่องสำคัญนักเทียวหรือ?” ผู้เป็นเมียของเขาพูดออกมาด้วยเสียงขุ่น

“ถูกแล้ว เรื่องที่เกี่ยวกับเกียรติฉันยอมถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แม้จะเป็นเกียรติของผู้อื่น”

“แต่ฉันก็ได้จัดการหาทางแก้ไขแล้วนี่นะ” เมียของเขาโต้ “ฉันให้ดำเกิงเอาเงินไปให้ และแนะนำให้มันไปหาหมอให้เขาช่วยทำลายให้เสีย เดี๋ยวนี้น่ะมันง่ายจะตายไปการพรรค์นี้ หมอที่เขาหากินด้วยวิธีนี้มีอยู่เยอะแยะ แล้วฉันก็ไม่เห็นว่าอีนังกะสือน้อยนั่นมันจะมีเกียรติอะไรมาเสียสักนิด ฉันไม่นึกเลยว่ามันจะสาระแนไปโอดครวญกับเธอ”

ผู้เป็นผัวหัวเราะเสียงอยู่ในลำคอ แล้วจึงว่า “เธอควรจะเห็นเป็นเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่เขามาโอดครวญกับฉัน ถ้าหากเขาไปโอดครวญเพื่อขอความช่วยเหลือจากพวกหนังสือพิมพ์ ว่าลูกชายของเราทำให้เขามีท้องขึ้น แล้วยื่นมือเข้าขัดขวางไม่ให้เขาได้รับความเป็นธรรม มิหนำซ้ำเธอแนะนำและให้เงินเขาไปจ้างหมอให้รัดเจ้าทารกที่เกิดมานั่นออกเสียอย่างนี้ละ เธอจะว่าอย่างไร?”

“ฉันจะว่ายังไง? ฉันก็รับว่าฉันแนะนำเช่นนั้นจริงน่ะซี ในเมื่อมันอยากจะเอาตัวรอดจากผลระยำที่เกิดจากเป็นคนใจง่าย” เมียของเขาตอบอย่างไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน

“แต่การแนะนำเช่นนั้นของเธอ มันเป็นการแนะนำที่แสดงถึงว่าเธอเป็นคนใจร้าย ไร้มนุษยธรรมนะจ๊ะ โสภา เพราะมันเป็นการแนะนำให้เขาฆ่าคน” ผู้เป็นผัวพยายามบังคับเสียงที่พูดให้นุ่มนวล “แล้วเธอเป็นเมียฉัน ร่วมใช้กีรติพงศ์ของฉัน”

“ก็ไม่เห็นจะแปลก” เมียของเขาว่าอย่างดื้อดึง

“แปลว่าศักดิ์ศรีของกีรติพงศ์ของฉันผู้เป็นผัวของเธอไม่มีค่าอะไรสำหรับเธอเลยยังงั้นหรือจ๊ะ?” ผู้เป็นผัวถาม รู้สึกขื่นขม

“ฉันไม่ได้ว่ายังงั้น” ผู้เป็นเมียตอบในท่าทีเมินหน้า

ท่านสุภาพบุรุษชรานิ่งอยู่ชั่วอึดใจใหญ่ ในที่สุดจึงเอ่ยขึ้นว่า “จะอย่างไรก็ตาม ฉันขอวิงวอนให้เธอเห็นแก่ชีวิตที่เรารัก และจะต้องรัก อ้า ฉันหมายถึงชีวิตที่มาเกิดในท้องของแม่หนูน้อยนั่นในฐานะลูกของเจ้าดำเกิง ลูกชายของเรา”

“อ๋อ, เราไม่อาจแน่ใจได้หรอกว่ามันจะเป็นลูกของเจ้าดำเกิงอย่างแท้จริง” นางกีรติพงศ์ตอบแล้วแค่นหัวเราะด้วยเสียงขุ่นเบาๆ

“เธอมัวไปหลับหูหลับตาอยู่เสียที่ไหนนะ จึงไม่รู้เสียบ้างเลยว่าแม่สาวๆ สมัยยุคปรมาณูนี่ร่านริกกันเสียยิ่งกว่ากระดี่ได้น้ำใหม่ เที่ยวกับผู้ชายเปลี่ยนตัวเท่ากับเปลี่ยนเสื้อ เต้นรำกันหามรุ่งหามค่ำ แล้วท้องมันจะไม่ป่องขึ้นมาได้ยังไงไหว นังกะสือนี่ก็แบบเดียวกัน เที่ยวแบให้ใครต่อใคร พอท้องป่องขึ้นมาก็เลยทึกทักเอาว่าเจ้าดำเกิง เพราะมันเป็นลูกเศรษฐี ถือเอาเป็นโอกาสประเสริฐของมัน แน่ละ มันจะต้องทำทุกๆ อย่างที่จะเป็นการบังคับให้เจ้าดำเกิงรับมันเป็นเมีย เรื่องมันต้องเป็นอย่างฉันว่านี่แน่ ถ้าไม่จริงละก้อเอาฉันไปตัดคอก็ได้”

“แต่ฉันไม่อาจตัดสินเข้ากับตัวได้ง่ายๆ อย่างเธอจ้ะ โสภา” ท่านสุภาพบุรุษกีรติพงศ์ผู้ชรากล่าวออกมาด้วยเสียงเรียบเบาๆ แต่หนักแน่น

“ก็แล้วแต่เธอซี” ฝ่ายเมียว่าอย่างรำคาญ แล้วตัดบทว่า “ฉันไม่ต้องการพูดด้วยเรื่องนี้ต่อไปแล้ว เรื่องงานสมาคมของฉันวันนี้ทำให้ฉันเพลียจะตาย ฉันไปนอนละ” แล้วหล่อนก็ลุกขึ้นผละออกเดินไป

หนุ่มน้อย ดำเกิง กีรติพงศ์ จุดบุหรี่ด้วยมือที่สั่น แล้วจึงเงยหน้าขึ้นมองไปที่ผู้เป็นพ่อของเขา พลางพูดออกมาว่า

“คุณพ่อก็วุ่นวายให้รำคาญใจไปเปล่าๆ เรื่องมันนิดหน่อยเท่านั้น”

“ถูกของเจ้า ถ้าคิดว่าศักดิ์ศรีของกิรติพงศ์มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน แต่พ่อคิดอย่างนั้นไม่ได้” กีรติพงศ์ฝ่ายที่เป็นพ่อตอบ

“แล้วฉันก็ไม่มีเวลาที่จะโต้เถียงกับแก เพราะเครื่องกำลังคอยฉันอยู่ที่สนาม แกได้มีเวลาตรึกตรองสำหรับการตัดสินใจเด็ดขาดมากพอแล้ว ตอบฉันออกมาว่าแกจะกลับไปกับฉันหรือไม่ไปเท่านั้นที่ฉันต้องการ”

“ข้อนี้คุณแม่ไม่ได้บอกคุณพ่อหรอกหรือครับว่าผมออกจากภูเก็ตก็จะไปอเมริกาเพื่อเรียนต่อ” ฝ่ายลูกตอบ

“แกกลับไปกับพ่อแล้วก็ไปอเมริกาได้ ไม่ใช่ว่าจะไปไม่ได้”

“ถึงผมจะกลับไปกับคุณพ่อ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร คุณแม่ท่านไม่ยอมให้คุณพ่อทำสิ่งที่โง่ๆ อย่าง อย่าง”

“เจ้าดำเกิง” กีรติพงศ์ผู้เป็นพ่อเอ่ยขัดขึ้นด้วยเสียงหนัก แล้วด้วยท่าทีที่เยือกเย็น กล่าวต่อไปว่า “แม่ของแกจะไม่สามารถคัดค้านการหย่าขาดกับฉันได้หรอก ในเมื่อถึงคราวฉันเอาจริงขึ้นมาบ้าง สามสิบห้าปีมันนานพอแล้วที่ฉันยอมเป็นทาสผู้ภักดีต่อแม่ของแก เขาต้องการเงิน เขาได้เงิน เขาต้องการทำสิ่งที่เขาว่าจะได้ชื่อเสียงเกียรติยศ เขาได้ทำ ได้ทุกๆ อย่างที่เขาต้องการจากการเป็นผัวที่เสมือนทาสผู้ภักดีของฉัน ฉันหาเงินได้มาแล้วอย่างไร ต่อไปฉันก็มั่นใจว่าฉันต้องหาได้เสมอไปเมื่อฉันยังมีลมหายใจอยู่ และฉันก็จะต้องตั้งหน้าตั้งตาหา เพราะเจ้าชีวิตที่เกิดมาในท้องของยายเตือนใจนั้น มันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของกีรติพงศ์ของฉัน ซึ่งแกก็ยอมรับในข้อนี้ เมื่อมันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของกีรติพงศ์ มันก็ต้องมีสิทธิ์ในกีรติพงศ์อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ใช่อย่างที่ทำให้ใครนึกว่ามันเป็นแค่เพียงกาฝาก”

กีรติพงศ์ที่เป็นลูกจ้องมองกีรติพงศ์ผู้เป็นพ่อของเขาเหมือนกับว่าเขาไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แล้วพึมพำออกมาว่า “แต่เตือนใจคงไม่ยอมแต่งงานกับคุณพ่อแน่นอน”

“ฉันรับรองว่าแกยอม เราได้พูดตกลงกันแล้ว ถ้าหากว่าเจ้าใจผ่าเหล่าไปจากกีรติพงศ์ มันอาจจะเป็นการดีมากก็ได้ ถ้าเจ้าจะมีใจผ่าเหล่าไปจากกีรติพงศ์นะดำเกิง แต่ฉันรู้ว่าเจ้ารักผู้หญิงคนนี้ด้วยใจจริงของเจ้า ฉันรู้”

“ถูกแล้วขอรับ ผมรักเขาจริงๆ ถึงฐานะของเขาจะยากจน แต่เขาก็เป็นคนดีทั้งพ่อทั้งแม่” ชายหนุ่มพูดออกมาอย่างร้าวใจ “แต่… แต่คุณแม่ อา… คุณพ่อก็ย่อมรู้ว่าท่านร้ายเพียงไร ท่าน ท่านคงจะไม่ยอม”

“เจ้าจะมายอมให้เขาเป็นผู้บ่งการชี้ขาดโชคชาตาอนาคตของเจ้าอยู่ยังไงกัน มันเป็นธรรมดาที่มนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จะต้องมีเวลาเกิดความคิด ความตั้งใจของตัวเองขึ้นมา เมื่อมันเกิดแล้ว ทางที่ถูกต้องมันก็ต้องยืนหยัดกับความคิดความตั้งใจของตัวเองที่เกิดขึ้นนั้น ข้อสำคัญที่สุด เมื่อเจ้าเกิดมาจากสายเลือดของกีรติพงศ์ เจ้ามีหน้าที่ๆ จะต้องทรงไว้ซึ่งความเป็นผู้มีมนุษยธรรม เจ้าผู้เป็นลูกคนหนึ่งของพ่อ เดี๋ยวนี้พ่อต้องการให้เจ้ากลับไปกับพ่อ เพราะการกลับไปกับพ่อของเจ้านี้นั้น มันเป็นการไปช่วยชีวิตหนึ่งให้หลุดพ้นจากกองทุกข์สาหัสซึ่งเจ้าเองเป็นผู้หยิบยื่นหรือก่อขึ้นให้แก่เขา ขอเจ้าจงระลึกถึงข้อนี้” แล้วผู้พูดก็ลุกขึ้นยืน ออกก้าวเดินตรงไปทางประตู

“เดี๋ยวก่อนครับคุณพ่อ” กีรติพงศ์ผู้เป็นลูกร้องออกมา เขามองผู้เป็นพ่อของเขาด้วยดวงตาเบิกกว้าง ความรู้สึกเคารพนับถือฉายประกายอยู่ที่ดวงตาของเขา “คุณพ่อคิดว่าคุณพ่อ”

กีรติพงศ์ฝ่ายที่เป็นพ่อชะงัก หยุดและหันกลับมา แล้วพูดออกมาว่า

“ถูกแล้ว พ่อคิดว่ายายเตือนใจกับชีวิตที่เกิดในท้องของแกทั้งสองชีวิต มีค่าเพียงพอที่เจ้ากับพ่อจะต่อสู้เพื่อเขา เราสามารถที่จะช่วยเขาได้ในเมื่อเราสามารถช่วยตัวเราเองได้”

ทั้งสองต่างมองจ้องประสานสายตากันอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วกีรติพงศ์ฝ่ายที่เป็นลูกก็หัวเราะออกมาเบาๆ อย่างเบิกบาน

“ถ้าคุณพ่อไม่เคยชนะคุณแม่เลย คราวนี้คุณพ่อชนะ” เขาบอกผู้เป็นพ่อ

ฝ่ายผู้เป็นพ่อยิ้ม แล้วว่า “เป็นอันว่ายายเตือนใจแกก็ได้ผู้ชายใหม่อีกคนหนึ่งที่ดีกว่าคนที่แกได้เสียไปจากคนๆ เดียวกัน”


พิมพ์ครั้งแรก: เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม 14 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496
เวช กระตุฤกษ์: เจ้าของและผู้อำนวยการ
เลียว ศรีเสวก: ที่ปรึกษา
เอื้อม รุจิดิษ: บรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณา

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า