พุทธทศวรรษ 60 ของนวนิยายไทย

เรื่อง: พชร์ โพธิ์พุ่ม
ภาพถ่าย: อิศรา เจริญประกอบ

 

ทุกอย่างเริ่มต้นจากการหยิบ อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง หนังสือรวมบทความของ รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาด้านวรรณกรรมของประเทศไทย บทความนั้นทำให้ข้าพเจ้าค้นพบความตื่นเต้นระคนประหลาดใจ ถึงความมหัศจรรย์ของบทความชิ้นนี้ ซึ่งเขียนเมื่อ 21 ปีที่แล้ว

ทศวรรษหน้าของนวนิยายไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2539 นิตยสาร สารคดี ในบทความ ชูศักดิ์ได้ ‘ทำนาย’ นวนิยายไทยในช่วงปี 2540-2549 ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน และเมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยน คำทำนายนั้นเป็นจริงราวตาเห็น

เขา ‘คาดเดา’ แนวโน้ม และแบ่งนวนิยายไทย ‘ที่จะเกิดขึ้น’ ในช่วง 10 ปี นับจากปี 2540 ออกเป็นสามกลุ่ม จากพฤติกรรมการอ่านของผู้คนในยุคนั้นเอาไว้ดังนี้

  1. กลุ่มนวนิยายชาวบ้าน หรือนวนิยายขนาดสั้นเล่มละ 12 บาท ตามแผงหนังสือ เขาบอกว่า นวนิยายประเภทนี้จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นในยุค 2540-2549 เนื่องจากผู้อ่านนวนิยายกลุ่มนี้ไม่ได้แสวงหาแนวทางเรื่องที่แตกต่าง                                                           
  2. กลุ่มนวนิยายยอดนิยม นวนิยายที่เขียนลงเป็นตอนๆ ตามหน้านิตยสารผู้หญิง ซึ่งชูศักดิ์เรียกนักเขียนหญิงที่ได้รับความนิยมขณะนั้นว่า ‘สามราชินีนวนิยายโรมานซ์’ คือ ทมยันตี, ว.วินิจฉัยกุล และ กฤษณา อโศกสิน จะยังคงครองตลาดต่อไป และถ้าหากไม่มีนักเขียนฝีมือดีรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น นวนิยายแนวนี้คงไร้สีสันเป็นแน่

ในช่วง 2540 ‘สามราชินี’ ยังคงทรงอิทธิพล แต่เกิดการส่งไม้ต่อให้กับนักเขียนยอดนิยมชื่อดังได้เป็นที่รู้จักอีกหลายท่านอย่าง ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร และ ดวงตะวัน ทำให้วงการนวนิยายกลุ่มนักเขียนหญิงยอดนิยมมีสีสันและรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น

  1. กลุ่มนวนิยายสร้างสรรค์ และนวนิยายสายรางวัล ที่เน้นสร้างความแปลกใหม่และมีเนื้อหาที่เข้มข้น จะถึงจุดอิ่มตัวกับการสะท้อนภาพสังคมในสไตล์สัจนิยม (วรรณกรรมที่พยายามเลียนแบบให้เสมือนชีวิตจริง) นักเขียนจะเริ่มหันเหไปเขียนเรื่องในแนวทางสัจนิยมมหัศจรรย์, Postmodern, Metafiction กลับไปมองความเป็นมายาของนวนิยายแทน                                                                                                           

หลักฐานของคำทำนายในกลุ่มที่ 3 ในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 40 คือการขึ้นมาของสองนักเขียนที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับนวนิยายสร้างสรรค์ของไทยจนถึงปัจจุบัน อย่างนักเขียนหัวนอกอย่าง วินทร์ เลียววาริณ และ ปราบดา หยุ่น ที่สร้างวรรณกรรมแหกขนบความเป็นสัจนิยม และนำเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า เข้ามาให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักกัน

ในฐานะนักอ่านหน้าใหม่ที่โตมากับยุคเริ่มต้นของสำนักพิมพ์แจ่มใส การอ่านนิยายออนไลน์ นวนิยายสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ‘แฟนฟิค’ (Fan Fiction) และนวนิยายหลังยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ปี 2540-2560 นวนิยายเหล่านี้ล้วนเป็นโลกการอ่านของข้าพเจ้า และรวมถึงเพื่อนพ้องร่วมเจนเนอเรชั่นเดียวกันกับเหล่ามนุษย์ Gen Y ตอนปลายด้วย

ชูศักดิ์เคยทำนายนวนิยายระหว่างปี 40-49 ไว้แล้ว เวลาในปัจจุบันได้ล่วงเลยมาถึงปี 2560 ด้วยความซุกซนและอยากรู้ WAY จึงคิดที่จะหาคำตอบ ของคำถามที่ว่า…นวนิยายไทยในทศวรรษอันใกล้นี้ จะเป็นอย่างไร?

WAY ชวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสาวณิต จุลวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณกรรมไทยร่วมสมัย อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ‘ความซับซ้อนของการเล่าเรื่อง: ลักษณะหลังสมัยใหม่ในบันเทิงคดีร่วมสมัยของไทย’ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในองค์ความรู้ที่สำคัญของวรรณกรรม Postmodern ในประเทศไทย

เมื่อเราส่งสารท้าทายให้เธอลองทำนายนวนิยายในทศวรรษข้างหน้านี้ เธอนึกสนุกกับคำชวนของเรา การพูดคุยจึงเริ่มต้นขึ้น

ปกติแล้วในวงการนวนิยายไทย มีการทำนายอนาคตในลักษณะนี้ไหมครับ

ก็อาจจะไม่มีใครเคยเขียนหรือพูดเพราะมันคือการคาดการณ์ไปข้างหน้า ที่ผ่านมาถ้าไม่มีบทความของอาจารย์ชูศักดิ์ ที่เขียนถึงทศวรรษหน้าของนวนิยายไทย ในปี 2539 เพื่อพูดถึงวงการนิยายยุคตั้งแต่ 2540 ก็แทบไม่ค่อยมีใครเขียนเป็นเรื่องเป็นราว มีแต่การคาดการณ์ในส่วนของธุรกิจวงการหนังสือ ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ในเชิงแนวโน้มของนวนิยายจะมีลักษณะอย่างไรนั้นอาจจะยังไม่มี                                               

แต่ในปี 2558 ซึ่งเป็นวาระครบ 100 ปีนวนิยายไทย นับจากนวนิยายเรื่องแรก ความไม่พยาบาท ของ นายสำราญ ตีพิมพ์ ก็มีการจัดเวทีที่จุฬาฯ ขึ้น เชิญนักวิชาการมาพูดถึงอนาคตของนวนิยายไทยว่าน่าจะเป็นอย่างไร แต่เป็นลักษณะการพูดที่ไม่ได้ผ่านการทำวิจัย (research) แต่ใช้ประสบการณ์ที่เรา (นักวิชาการที่เข้าร่วมเสวนา) มองรอบๆ ตัวแล้วดูว่าเราคิดอย่างไรกับวงการนวนิยายไทย

สิ่งที่ถูกนำเสนอในงานเสวนาครั้งนั้น คืออะไร

ส่วนใหญ่เป็นความคิดของแต่ละคนมากกว่า อย่างดิฉันพูดถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับวรรณกรรมหรือนวนิยายไทยที่ไม่ใช่กลุ่มงานเขียนยอดนิยมจากนักเขียนหญิง หรือไม่ใช่กลุ่มที่อาจารย์ชูศักดิ์ใช้คำว่า ‘งานสร้างสรรค์’ อย่างสมัยก่อน

อาศัยความอยากรู้ว่าเทรนด์หนังสือขณะนี้ของบ้านเราเป็นอย่างไร เลยไปเดินงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งโอเคว่าแจ่มใสก็มีอยู่เป็นกระแสของเขาไป แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์ของนวนิยาย Y ออกมาเยอะมาก รวมทั้งนวนิยายอีโรติก เรท X เรท R ก็มากด้วย มีกลุ่มนิยายแฟนตาซีแบบเกม ยังมีนิยายแฟนตาซีย้อนยุคที่เลียนแบบนิยายจีน ตัวละครจะย้อนยุคไปยุคก่อนอดีต อะไรแบบนี้

ไปเดินดูมันจะเห็นหนังสือพวกนี้มีอยู่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่พอสมควร ซึ่งอาจจะไม่ได้บูมเหมือนแจ่มใส (สำนักพิมพ์แจ่มใส) ไม่ได้โด่งดังมาก แต่มันเห็นกระแสที่เกิดขึ้นว่ามีงานกลุ่มนี้เกิดขึ้นอยู่ ซึ่งตอนนี้น่าจะมีการปรับเปลี่ยนเทรนด์ไปบ้างเหมือนกัน

เมื่อไม่มีใครพูดถึงนวนิยายไทยในอนาคต ณ ตอนนี้เราอาจจะเป็นคนกลุ่มแรกที่จะพูดถึงมันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ถามเลยนะครับ…อาจารย์คิดว่านวนิยายไทยในทศวรรษหน้า (2560-2569) จะเป็นอย่างไร

เป็นคนกลุ่มแรกไหม ไม่รู้ พูดอย่างนั้นลำบาก เอาเป็นว่าตอนนี้เริ่มต้นทศวรรษใหม่ และเรากำลังจะลองพูดถึง 10 ปีข้างหน้าก็แล้วกัน

การที่เราจะพูดถึงนวนิยายยุค 2560 มันคือการคิดถึงอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นยังไง ต้องคิดจากฐานปัจจุบันว่า วงการนิยายในปัจจุบันมันเป็นอย่างไรใช่ไหม แล้วเราก็คิดต่อไปว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจากปี 60 ถึงปี 69    

เริ่มจากคนอ่านก่อน คนอ่านจะเป็นอย่างไร เริ่มจากคิดว่าดิฉันอ่านอะไรอยู่ คุณอ่านอะไรอยู่ เราอ่านอะไรอยู่ ก็ต้องบวกอายุตัวเองไปอีก 10 ปี และคิดไปว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะยังอ่านเรื่องแบบเดิมอยู่ไหม ก็คงไม่ ใช่ไหม

แม้กระทั่งเวลาที่สอนในห้องเรียน ดิฉันถามนักศึกษาว่าพวกคุณอ่านอะไรกัน อย่างคนที่อ่านแจ่มใส เขาก็จะบอกว่าเคยอ่าน (แจ่มใส) แต่ตอนนี้อ่านไม่ได้แล้ว ซึ่งมันน่าสนใจ เพราะต้องย้อนถามไปว่าของที่เราเคยชอบอยู่แท้ๆ ทำไมจึงอ่านไม่ได้แล้ว?

เช่นกันครับ ประสบการณ์ตรงเลย ที่บ้านมีหนังสือนวนิยายสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นหลายสิบเล่ม ตอนนี้นอนให้ฝุ่นขึ้นอยู่บนชั้นหนังสือ (หัวเราะ)

เพราะวัยเราเปลี่ยน ถามว่าวัยมันสำคัญยังไง มันสำคัญที่ว่าในทุกช่วงเวลาที่เราโตขึ้น อายุที่มากขึ้น เราไม่ได้โตแต่อายุ เรามีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น มีความรู้ มีวิธีคิดที่สั่งสมมามากขึ้น เรามีโลกทัศน์เพิ่มเติมทั้งหมดนี้ทำให้มุมมองของเราต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม                                                

เพราะฉะนั้นมันทำให้เรื่องที่เราเคยอ่าน เคยชอบ เราอาจจะชอบไม่ได้ ทนอ่านมันไม่ไหว หรือแม้กระทั่งว่าเคยอ่านแล้วชอบ และอาจจะชอบอยู่ แต่เราอ่านอีกครั้งแล้วอาจเปลี่ยนวิธีคิดกับมันไปแล้ว

แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้าวรรณกรรมจะเป็นอย่างไร ต้องถามว่าวรรณกรรมมันจะตอบสนองใคร

ดิฉันจะพูดถึงกลุ่มนักอ่านโดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม จากความแตกต่างของช่วงวัยที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่าน ซึ่งต้องอย่าลืมว่าขณะที่เราโตไป มันจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่โตขึ้นมาใหม่ แทนที่คนกลุ่มเก่าเสมอ

ดิฉันอยากเสนอสิ่งที่ต่างจากที่อาจารย์ชูศักดิ์เคยพูดเอาไว้ ตอนนั้นอาจารย์แบ่งวรรณกรรมตามเนื้อหาและพฤติกรรมของผู้บริโภค คือ นวนิยายชาวบ้าน นวนิยายยอดนิยม และนวนิยายสร้างสรรค์ ดิฉันอยากจะมองอนาคตของนวนิยายไทยจากการตอบสนองแต่ละช่วงวัย ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มนักอ่านดั้งเดิม

ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการอ่านเรื่องเล่าด้วยวิธีแบบเดิม คือเรื่องที่มีโครงเรื่องชัดเจน มีภาพของตัวละคร มีปมปัญหาที่ตัวละครต่อสู้ดำเนินเรื่องไปตั้งแต่ต้นจนจบ ชัดเจนว่าปัญหาของเรื่องคืออะไร ตัวละครต้องต่อสู้ฝ่าฟันอะไรบ้าง อ่านแล้วก็อาจจะได้ภาพของความคิดอะไรบางอย่างเกิดขึ้นจากการอ่าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นข้อคิดสอนใจ เป็นอะไรก็ได้ที่มีเนื้อหาชัดเจน มีเรื่องราวชัดเจน

เน้นว่ากลุ่มนี้คือนักอ่านที่คุ้นเคยกับการเล่าเรื่องแบบเดิม อ่านแล้วยังมีเนื้อเรื่อง มันมีประเด็นที่ให้พูดถึง อาจจะวิเคราะห์วิพากษ์ได้ว่าตัวละครนี้ทำอย่างนี้ดีหรือไม่ดี ทำไมชีวิตมันต้องมาเป็นอย่างนี้ ถ้าเทียบกับที่อาจารย์ชูศักดิ์เคยพูดไว้ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่อ่านงานสองกลุ่มแรก คือกลุ่มนวนิยายชาวบ้านและกลุ่มนวนิยายยอดนิยม

กลุ่มที่ 2 กลุ่มนักอ่านวัยเยาว์

อาจจะอายุ 20 ปีลงไป โดยประมาณนะคะ เป็นกลุ่มที่เติบโตมากับเรื่องเล่าแบบบันเทิ้ง…บันเทิง อ่านนิยายอ่านวรรณกรรมเพื่อความบันเทิงเริงรมย์โดยแท้จริง ไม่สนใจเนื้อหา ไม่สนใจว่ามันให้อะไรหรือไม่ให้อะไร เป็นกลุ่มที่ประสบการณ์ชีวิตไม่เยอะ เพิ่งเรียนรู้โลก เพิ่งเริ่มโตเมื่อวาน เพราะฉะนั้นจะเน้นที่ความสนุกสนาน ตื่นเต้นกับชีวิต หรือฉากเหตุการณ์ที่ไม่เจอในโลกความเป็นจริง อ่านอะไรก็จะตื่นตาตื่นใจ

และกลุ่มที่ 3 กลุ่มแสวงหาความชอบของตนเอง

กลุ่มนี้เป็นช่วงคนวัย 20-30 ปี เป็นช่วงที่เริ่มจะแสวงหาว่าชอบอะไร จะไปในทิศทางไหน เมื่อค้นเจอก็จะต่อยอดการอ่านแนวที่ชอบไปถึงช่วงอายุ 40 ขึ้นไป กลุ่มนี้ผ่านความสนุกไปแล้วตั้งแต่ช่วงก่อน 20 เพราะฉะนั้นหลังจากเติบโตขึ้นมาแล้วเขาจะเริ่มหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งสิ่งที่ตัวเองชอบจะเป็นอะไรก็ได้นะ อาจจะยังคงบันเทิงต่อไปก็ได้ หรือว่าชอบอะไรที่มันหนักขึ้น อยากจะมีคอนเทนต์ที่มากขึ้น มีเนื้อหาสาระมากขึ้น อาจจะชอบในแนวผจญภัย อ่านเรื่องแต่งแล้วอยากจะอ่านเรื่องจริง แบบพวกสารคดีก็ได้

ดิฉันว่ามองพฤติกรรมการอ่านของคนวัย 20 30 40 เป็นแบบนี้                                                                               

นวนิยายจะตอบสนองนักอ่านแต่ละกลุ่มในทศวรรษหน้าอย่างไร

พอแบ่งคนอ่านออกเป็นกลุ่มแบบนี้ ดิฉันก็คิดว่านิยายหลังปี 2560 มันจะเป็นอย่างไร มองภาพกว้างๆ ว่านวนิยายไทยจะหลากหลายมาก เพราะคนอ่านในแต่ละช่วงวัยมันมีความหลากหลาย

ช่วงอายุ 40 ขึ้นไป ซึ่งต่อไปเขาจะอายุ 45-50 ถูกไหม หรืออาจบวกๆ ขึ้นไปอีก ก็จะเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับเรื่องเล่าแบบเดิมอยู่ เพราะฉะนั้นนวนิยายที่เขียนอยู่ในขนบแบบสัจนิยมหรือโรแมนติก ที่บอกเล่าชีวิตของตัวละครท่ามกลางปัญหาต่างๆ การพรรณนาปัญหาครอบครัวของตัวละคร ปัญหาความรัก หรือเรื่องชู้สาว เรื่องเล่าเหล่านี้อาจจะยังอยู่ เพียงแต่ว่าความเข้มข้นของปัญหาที่ตัวละครประสบพบเจอ ความดุเดือด วิธีการแก้ปัญหาหรือการคลี่คลาย แง่มุมทางความคิดอาจจะหลากหลายขึ้น เป็นงานที่ตอบสนองนักอ่านเรื่องเล่าตามแนวขนบ ซึ่งอาจจะรวมถึงกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่านี้ด้วยก็ได้ แต่เชื่อว่าจะลดลง คือคนน่าจะอ่านมันน้อยลงไป   

ทำไมจึงคิดว่า นักอ่านนวนิยายตามขนบจะลดลงครับ

คือคิดว่ากลุ่มที่จะเติบโตมาแทนคนช่วงอายุ 40 จะไม่หยิบนิยายที่พูดถึงปัญหานี้ด้วยวิธีการเล่าแบบเดิมแต่จะไปอ่านอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะพูดถึงต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องหรือประเด็นนักเขียนไทยเวลาหยิบเรื่องมาเล่านั้นมีน้อย ก็จะพูดถึงแต่ปัญหาความรัก อุปสรรคการทำงาน ซึ่งก็มีอยู่ แต่เรื่องที่หยิบมาเขียนนั้นน้อย เวลาพูดถึงปัญหาการทำงานไม่ได้พูดไปที่เนื้องาน แต่ไปพูดเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่เรื่องของความไม่เป็นธรรม อะไรแบบนี้ไป

ถ้าเราอ่านงานต่างประเทศ บางทีเขาหยิบแค่บางประเด็นขึ้นมาพูดได้เป็นเรื่องเป็นราว เช่น การต่อสู้ของตัวละครในที่ทำงาน แต่งานของไทยแทบจะไม่มี เช่น The Firm นวนิยายที่มาทำเป็นหนังเกี่ยวกับนักกฎหมายที่ต้องอาศัยความรู้กฎหมายเอาตัวรอดจากองค์กรอาชญากรรมและ FBI หรือที่เรารู้จักดีก็เรื่อง รหัสลับดาวินชี ที่เขาสามารถเขียนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนสัญวิทยาได้ เอาความรู้พวกนั้นมาสร้างโครงเรื่อง คิดดูว่านักเขียนต้องค้นข้อมูลขนาดไหนที่จะสร้างเรื่องขึ้นมาได้ หรืออย่าง Jurassic Park คุณคิดว่าคนที่เขียนนวนิยายเรื่องนี้ต้องมีความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และมีจินตนาการขนาดไหนถึงจะสร้างเรื่องขึ้นมาได้ขนาดนี้

พูดว่านักเขียนไทยทำงานน้อยก็อาจจะไม่แฟร์กับเขา แต่ผลก็คือมันทำให้เวลาเขียนงาน เขาไม่สามารถลงลึกถึงปัญหาหรือลงลึกถึงประเด็นอะไรบางอย่าง ที่จะเห็นแง่มุมแล้วหยิบเอามาเป็นพล็อตเรื่องได้   

นวนิยายต่างประเทศกลุ่มนี้ก็เล่าเรื่องแบบเดิม ตามขนบและเน้นความซับซ้อนของพล็อต เน้นการสร้างตัวละคร แต่มันเป็น best seller เพราะความน่าตื่นเต้นของพล็อตที่มันไม่ใช่พล็อตเดิมๆ แต่มีปมปัญหาใหม่ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนอ่านเรื่องแบบนี้อยู่

ขณะที่นวนิยายไทยยังวนเวียนกับปัญหาชีวิตครอบครัวความรัก ยังไม่ก้าวออกไปในมุมมองที่กว้างกว่านี้ ก็เลยทำให้งานเขียนที่เป็นแนวเล่าพล็อต เน้นการสร้างพล็อตของไทย จะได้รับความนิยมน้อยลงไปเรื่อยๆ

แต่ก็มีนักเขียนไทยที่พยายามทำอยู่ เท่าที่เห็น เช่น กาหลมหรทึก ของ ปราบต์ ก็พยายามจะสร้างนวนิยายในลักษณะใช้ข้อมูลต่างๆ มาผูกและสร้างเรื่องเล่า

แล้วสำหรับนวนิยายที่จะตอบสนองกลุ่มวัยรุ่นในอนาคต จะยังเป็นแจ่มใส เกมออนไลน์ หรือแนว Y อย่างตอนนี้หรือเปล่า

ถ้าคิดตามตรรกะเกี่ยวกับกลุ่มนักอ่านวัยรุ่น โลกของเขายังเล็กอยู่ ยังเน้นความสนุกสนานต้องการความบันเทิง ต้องการความชุ่มชื่นหัวใจ เขาจะยังไม่อยากมองโลกที่หดหู่ เต็มไปด้วยปัญหา เพราะฉะนั้นวรรณกรรมในอนาคตที่จะตอบสนองคนกลุ่มนี้ คือวรรณกรรมที่ยังให้เขาสนุกกับชีวิตช่วงวัยรุ่น

ต้องบอกว่า ความบันเทิงของวัยรุ่นแต่ละยุคไม่เหมือนกัน เรื่องที่คนในวัยหนึ่งเคยรู้สึกว่าเป็นความบันเทิง คนอีกรุ่นหนึ่งในวัยเดียวกันไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความบันเทิงแล้ว  

ความบันเทิงของวัยรุ่นใหม่ในอนาคต หรือกลุ่มที่อายุไม่ถึง 20 ตอนนี้ คืออาจยังไม่เกิด ยังเด็กอยู่ หรือเกิดแล้วอายุไม่ถึง 10 ขวบในตอนนี้

หมายความว่า ขณะนี้เขาอยู่ในกระแสนวนิยายเกาหลี ญี่ปุ่น โลกดิจิตอล นิยาย Y ที่บูมอยู่ขณะนี้ มันจะติดตัวพวกเขาไปในอนาคตระยะหนึ่ง และจะทำให้พวกเขายังอ่านงานพวกนี้อยู่ เราจะต้องทำนายว่าอีกห้าหรืออีก 10 ปีข้างหน้า อะไรที่จะมาเป็นกระแสในกลุ่มวัยรุ่นอนาคต จะยังเป็นจีน เกาหลี ญี่ปุ่นอยู่ไหม หรือมันจะเปลี่ยนเป็นอะไรในโลกข้างหน้า กระแสเกมออนไลน์ กระแส Y จะยังอยู่ไหม หรือมันจะไปเป็นกระแสอื่นแล้ว ซึ่งมันก็ยังระบุไม่ได้จริงๆ แต่ค่อนข้างเชื่อว่า นิยาย Y น่าจะลดความนิยมลง

มีเหตุผลอธิบายไหมครับ ว่าทำไมนวนิยาย Y ถึงจะลดความนิยมลง

การบูมของนิยาย Y มันเป็นกระแสที่สืบเนื่องมาจากเรื่องของการ์ตูน Y ของญี่ปุ่น พร้อมกับกระแสเสรีในการแสดงออกถึงเพศวิถี ที่เปิดโอกาสให้คนแสดงออกเรื่องเพศมากขึ้น และหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะผ่านสื่อต่างๆ หรือกระทั่งในชีวิตประจำวัน

การเล่าถึงความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน ณ เวลานี้มันดูเป็นเรื่องแปลกใหม่ น่าสนใจ และท้าทาย แต่ข้างหน้าอีกห้าหรืออีกสิบปีข้างหน้า เรื่องแบบนี้จะท้าทายอยู่ไหม? เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้กันหมดแล้ว

อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องยอมรับว่าแม้ว่ามันจะเป็น Y แต่พล็อตมันคือพาฝัน ตัวละครยังแสดงบทบาทผู้หญิงผู้ชายธรรมดา กลายเป็นว่านิยาย Y มันก็คือการจำลองความโรแมนติกชายหญิง เข้ามาอยู่ในเรื่องเล่าของคนเพศเดียวกันเพื่อสร้างความตื่นเต้น แต่สุดท้ายมันไม่ได้มีอะไรใหม่

เพราะฉะนั้นจึงไม่คิดว่าพล็อตลักษณะนี้จะอยู่นาน คือคนรุ่นนี้ที่ตื่นเต้นกับมัน พอเขาโตแล้วเขาก็จะเลิกอ่าน แล้วคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตมาใหม่ อาจจะไม่เห็นว่าเรื่องลักษณะนี้น่าตื่นเต้น เขาอาจจะรู้สึกว่าทำไมเหรอ มีอะไรใหม่ ไม่เห็นแปลกเลยก็ได้

นวนิยายสำหรับวัยรุ่นในอดีตเป็นอย่างไร เหมือนนวนิยายแจ่มใสที่กำลังป๊อปมากๆ ในกลุ่มวัยรุ่นตอนนี้ไหม

รู้จัก ‘ศุภักษร’ ไหมคะ ไม่รู้จักใช่ไหม (หัวเราะ) คนที่เป็นวัยรุ่นช่วงประมาณปี 2525 น่าจะรู้จัก เขาเป็นนักเขียนที่สร้างงานชุด นิยายรักนักศึกษา เล่มบางๆ ออกมาหลายเล่มเป็นชุด นี่แหละคือนิยายเพื่อวัยรุ่นในยุคก่อน เป็นแบบนิยายแจ่มใสสมัยนี้

มันก็เป็นชีวิตรักของนักเรียนโรงเรียนมัธยมในกรุงเทพฯ หรือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย จะเป็นการจีบกันธรรมดา จีบกันไปมาแล้วตกลงลงเอยเป็นแฟนกัน อย่างมากก็หอมแก้มกอดกันนิดหน่อย แค่นั้นเอง ทีนี้เรื่องแบบนี้ หลังจากยุคนั้นมันน่าเบื่อแล้ว อ่านเรื่องไหนๆ ก็แค่นี้

เพราะฉะนั้นงานรุ่นใหม่ที่ตอบสนองวัยรุ่นก็ไม่ต้องการอะไรเยอะนอกจากความบันเทิงในเรื่องความรัก เพราะเรื่องสนุกของวัยรุ่นคือเรื่องความรัก จะให้ไปสนุกตื่นเต้นผจญภัยอย่างอื่นมันก็ไม่มีมากนัก ซึ่งความรักแบบจีบกันก็ไม่พอแล้ว มันก็ต้องไปต่ออีกขั้นหนึ่ง กับอีกอันหนึ่งคือการเปิดเสรีทางวัฒนธรรม แนวคิดเรื่องเพศที่มันเปิดมากขึ้นก็เข้ามาผนวกด้วย เพราะฉะนั้นนิยายอย่างแจ่มใสก็เกิดขึ้นมา ยังไม่นับกลวิธีทางภาษาหรือวรรณศิลป์ที่ไม่ต้องพรรณนามาก คือยุคการพรรณนามันอาจจะจบไปแล้วก็ได้ การพรรณนาความรู้สึกอาจจะไม่จำเป็นแล้วแต่มันเป็นยุคของการพูดคุยและแสดงออกโดยใช้สัญลักษณ์อีโมติคอน โชว์ให้เห็น เป็นวัฒนธรรมการดู มองปั๊บก็เห็นความหมาย

นวนิยายสำหรับนักอ่านกลุ่มแสวงหาในทศวรรษหน้าล่ะครับ จะมีลักษณะอย่างไร

กลุ่มสุดท้ายของหนังสือในยุคหลัง 2560 คือนวนิยายที่ตั้งคำถามและเล่นกับรูปแบบ กลุ่มนี้จะเป็นนวนิยายที่ตอบสนองคนที่แสวงหาคำตอบ หาทางที่ชอบและรวมทั้งสิ่งที่ไม่ชอบ ก็จะมาสนใจกับกลุ่มงานที่ตั้งคำถาม วิพากษ์สังคม แต่ไม่ได้วิพากษ์สังคมแบบนวนิยายสัจนิยม ที่จะเล่าเรื่องบนพล็อตปัญหาชีวิตอะไรแบบนั้น

แต่จะต้องผ่านรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เป็นรูปแบบการประพันธ์ที่แปลกใหม่ อาจจะเป็น Magical Realism สัจนิยมมหัศจรรย์ ซึ่งจริงๆ ก็เริ่มเขียนกันมาระยะหนึ่งแล้ว คิดว่านักเขียนอาจจะยังใช้แนวนี้ในการเขียนอยู่ อีกแนวคือการเล่าเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรง ตัดสลับไปมาจนไม่รู้ว่าเรื่องไหนเกิดก่อนเกิดหลัง หรือเรื่องที่เล่าปะปนกันระหว่างเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

งานกลุ่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องตามขนบแบบเดิม ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาความคิดบางอย่างที่จะส่งผ่านออกมาด้วย เพราะฉะนั้นมันจะตอบสนองทั้งด้านความคิดและกลวิธีการแต่งที่มันไม่เรียบง่าย อ่านแล้วไม่สามารถเข้าใจมันได้เลยเดี๋ยวนั้น มันต้องผ่านการคิดอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้มันตอบโจทย์กับคนที่ไม่ชอบงานทั้งสองแบบที่พูดมาข้างต้น

สรุปคือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับนวนิยายในทศวรรษหน้าคือ ความหลากหลาย (multiplicity) เราบอกไม่ได้หรอกว่ามันจะมีอะไรขึ้นมาแทน เพราะว่ารูปแบบต่างๆ ตอบสนองคนที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันนี้และในอนาคต คนมีหลากหลาย มีความชอบที่แตกต่างกันมาก จนกระทั่งดิฉันเองคิดว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอะไรที่มาเป็นกระแสหลักครอบงำ สมมุติดิฉันบอกว่ามันต้องเป็นแบบนี้ มันเป็นการบอกจากความรู้สึกของเรา แล้วในอีกห้าปีข้างหน้าเราก็มองเห็นมันเป็นอย่างนั้น นี่ไง…ที่ฉันคิดมันจริงเลย แต่ดิฉันอยู่ในโลกของดิฉันไง ขณะที่โลกของคุณไม่ได้เป็นอย่างที่ดิฉันพูด นึกออกไหมคะ? เราแต่ละคนอยู่ในโลก แต่เป็นคนละโลกกัน

กระแส หรือความบูม ของคนในแต่ละโลกมันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันคือความหลากหลาย ดิฉันเชื่อว่าในอนาตมันคือความหลากหลาย

เช่นนั้น ถ้าให้ทำนายนวนิยาย จากโลกของอาจารย์ในพุทธทศวรรษที่ 60 คืออะไร

ต้องบอกว่าในเชิงของรูปแบบมันเลื่อนไหลมากและแทบจะบอกไม่ได้ เพราะมีรูปแบบการเขียนที่เยอะมาก แต่ว่าเทรนด์การเขียนที่กำลังมาตอนนี้คือเรื่องเล่าอดีต เรื่องราวจากความทรงจำของตัวละคร เช่น งานของ อุทิศ เหมะมูล ที่พูดถึงปัจจุบันแต่ย้อนโยงไปในอดีต หรืองานของ วีรพร นิติประภา ที่ย้อนเล่าเรื่องราวในอดีตหลายรุ่นของตัวละครหลายตัว งานพวกนี้พูดถึงอดีตเพื่อที่จะพูดถึงปัจจุบัน ไม่ใช่เล่าอดีตที่หมายถึงอดีต แต่จะเล่าอดีตอย่างหมายถึงปัจจุบัน หรือว่าต้องการจะพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับปัจจุบันผ่านอดีต เป็นการย้อนทบทวนตัวเอง

อีกรูปแบบที่คิดว่าในอนาคตต้องมา ซึ่งเริ่มมีให้เห็นแล้วในช่วงสี่ห้าปีนี้ คือนวนิยายที่พูดเรื่องความคับข้องใจ ความอึดอัดทางการเมือง แต่ไม่ใช่การพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ตอนนี้นักเขียนพูดเรื่องการเมืองเยอะมากในวรรณกรรมแต่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ เพราะพูดไม่ได้ และถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ จะมีงานลักษณะนี้ออกมาเรื่อยๆ

นอกจากรูปแบบเรื่องของความทรงจำและการเมืองแล้ว คือความเป็น ‘วาทกรรมความจริงความลวง’ แต่รูปแบบนี้ไม่แน่ใจว่าจะยังอยู่ต่อไปไหมนะ วาทกรรมความจริงความลวงคืองานที่พูดถึงสิ่งต่างๆ การครอบงำ การปิดกั้น ไม่รู้อะไรจริง ไม่รู้อะไรปลอม ไม่รู้อะไรลวง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่นวนิยายเข้ารอบซีไรท์เขียนกันมากในรอบที่แล้ว

เพราะฉะนั้นงานในกลุ่มที่ดิฉันมอง จะเป็นกลุ่มที่พัฒนารูปแบบการเล่าเรื่อง นักเขียนจะพัฒนาหากลวิธีนำเสมอใหม่ๆ คอนเทนต์อาจจะไม่น่าสนใจเท่ากับเล่าเรื่องด้วยวิธีการใด

ในฐานะอาจารย์สอนด้านวรรณกรรมร่วมสมัย อยากให้อาจารย์แนะนำนวนิยายสำหรับการเรียนรู้วรรณกรรมร่วมสมัยของไทยครับ

ขอแนะนำเป็นนักเขียนแล้วกัน เพราะหนังสือมันเลือกไม่ถูก มีเยอะมาก (หัวเราะ)

คนแรก ชาติ กอบจิตติ

ถ้าจะอ่านงานร่วมสมัยคิดว่าต้องอ่าน ชาติ กอบจิตติ ในฐานะที่เขาเป็นรุ่นบุกเบิกของวรรณกรรมร่วมสมัยหลังยุคความขัดแย้งทางการเมืองทศวรรษ 2510 เขาเสนอความใหม่อยู่ตลอด นวนิยายที่เขาเขียนแตกต่างจากเดิมเสมอนับจากเรื่องแรกจนถึงปัจจุบัน ทั้งเนื้อหาความคิดและเทคนิค

คนที่สอง แดนอรัญ แสงทอง

ส่วนใหญ่แดนอรัญจะเขียนเรื่องสั้น แต่เรื่องสั้นเขาเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวมาก แล้วทำไมเราจะต้องอ่านแดนอรัญ? คือเขาเป็นที่รู้จักมากๆ ในวงการหนังสือโลก งานของเขาได้รับการแปลหลายภาษาในยุโรป ถ้านักอ่านชาวไทยไม่รู้จักก็น่าเสียดาย

เขามีสไตล์เฉพาะตัวที่มีเจตนาของการสร้างสรรค์ คือ งานเขียนของเขาเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อจะสื่อกลวิธีการเล่าเรื่อง เพราะฉะนั้นในเวลาที่เราอ่าน บางคนอาจจะรู้สึกว่าช่างยืดเยื้อ น่าเบื่อ แต่มันเป็นกลวิธีของเขา เวลาอ่านงานของแดนอรัญ ต้องละเลียดไปกับวิธีการเล่าเรื่อง ไปกับวิธีที่เรื่องมันจะดำเนินไป

อีกสามคนจะเป็นนักเขียนใหม่ที่เขายังพัฒนาต่อไป เป็นสิ่งที่น่าติดตามในแง่ของวรรณกรรมร่วมสมัยว่าเขาจะพัฒนางานไปที่ตรงไหน

คนที่สาม อุทิศ เหมะมูล

อุทิศเป็นนักเขียนที่แรง กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนางานเขียนไปสู่บางจุด คิดว่าเขามีจุดหมายบางจุดที่เขาอยากไปถึง เขาเล่นกับการเล่าเรื่องข้างในความคิดความรู้สึกของตัวละคร ซึ่งมันทำให้เวลาที่เราอ่าน เราต้องปะติดปะต่อเหตุการณ์ที่เล่าอยู่ในเรื่องนั้น เหมือนจิ๊กซอว์ที่ไม่ใช่จิ๊กซอว์จริงๆ เป็นจิ๊กซอว์ที่ไม่ชัดเจน เราจับจิ๊กซอว์มาต่อกันแล้วบางทีอาจไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจนเลยก็ได้ และอาจจะไม่ได้เป็นตัวจิ๊กซอว์ที่อยู่ในภาพ แต่อาจอยู่ข้างๆ ภาพ น่าที่จะติดตามไปเรื่อยๆ ว่าเขาจะไปถึงไหน

คนที่สี่ วีรพร นิติประภา

วีรพรเป็นนักเขียนที่มีลีลาน่าสนใจจากผลงานสองเรื่องที่เสนอเรื่องราวและลีลาภาษา การเล่าที่จมดิ่งอยู่กับความคิด อารมณ์ ความรู้สึก แต่งานเขียนทั้งสองเรื่องของเขามีกลิ่นอายของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ อยู่เยอะ ฉะนั้นเขาอาจต้องค้นหาตัวเองต่อไป ซึ่งน่าสนใจว่าเขาจะหลุดจากมาร์เกซเมื่อไหร่ และอย่างไร

คนที่ห้า ผาด พาสิกรณ์

ผาดจะแตกต่างจากกลุ่มของชาติ ของแดนอรัญ หรือแม้กระทั่งวีรพร ถ้าเทียบให้เห็นชัดกับยุคก่อน ผาดคือกลุ่มนักเขียนแนวยอดนิยม คือเปรียบได้กับแนวของคุณพ่อเขา ก็คือ พนมเทียน

เขาไม่ได้เขียนงานให้กลุ่มนักอ่านที่แสวงหาความสร้างสรรค์ เขาคือนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีลีลาการเล่าที่คล้ายกับรุ่นเก่า คล้ายนะแต่ใหม่กว่า เพราะฉะนั้นงานเขาเท่าที่อ่าน จะรู้สึกถึงความสดใหม่ที่มันเกิดขึ้น แต่เขามีแอบเชยนิดนึง มีความเป็นผู้ชายไทยสมัยก่อน มันสะท้อนอยู่ในเรื่องที่เขาเล่า ซึ่งจะเป็นวิธีคิดโบราณนิดๆ (หัวเราะ)

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า