เรื่องและภาพ : อธิคม คุณาวุฒิ
ไม่ได้พูดเล่นนะครับ
หากรักจะปั่นจักรยานท่องเที่ยวตะลอนๆ แบบที่เรียกกันว่าทัวร์ริ่ง ค่ำไหนนอนนั่น ปั่นแบกของฟูลโหลดพะรุงพะรัง ไม่สนใจความเบา ไม่เน้นความเร็ว แต่เน้นดื้อดึงก้นบดอานเช้าจรดค่ำ ไม่มีรถเซอร์วิสขับตามหลังแบบคุณชายขาแรง ฯลฯ
หากเลือกวิถีทางนี้ โดยไม่คิดจะปลีกวิเวกปั่นเดี่ยว สิ่งเดียวที่เราต้องการคือเพื่อน
เพื่อนดีๆ ในการปั่นทัวริ่ง สำคัญยิ่งกว่าอุปกรณ์ราคาแพง – ข้อนี้ขอยืนยัน
แต่ก็นั่นแหละ นักจักรยานก็คือมนุษย์อุจจาระเหม็นทั่วไป ไม่ใช่พอโดดขึ้นอานแล้วจะแปลงร่างคนดีหรือผู้วิเศษเสียเมื่อไหร่ ในแวดวงคนทัวร์ริ่งนิสัยดีๆ เขาจึงถือสาและเคร่งครัดในกฎบางข้อ
ประมวลตามภาษานักจับแพะชนแกะ ได้หลักการเบื้องต้นออกมาดังนี้
เสรีภาพ
‘อาจารย์ป๋า’ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาทัวริ่ง เอ่ยถ้อยคำหนึ่งลึกซึ้งปานพระเซน กระผมฟังแล้วรีบจดใส่หน้าผากโดยพลัน
ท่านว่า – นักทัวริ่งจะไม่ขัดคอกัน
คุณสมบัติเบื้องต้นของนักทัวร์ริ่งทุกคนคือรักในเสรีภาพ มิเช่นนั้นจะออกมาปวดน่องตัวดำกรำแดดทำไม
ดังนั้นแล้ว รูปแบบและแผนการปั่นของแต่ละคนจึงเป็นไปโดยอิสระ ใครใคร่ปั่นเร็วถึงเร็ว ได้พักเร็ว ใครใคร่กินลมชมวิว ใครใคร่หลบแดด ใครใคร่กิน ใครใคร่ดื่มน้ำ ใครใคร่จิบเบียร์ ล้วนเป็นไปโดยอิสระ ไม่มีใครเอามือมาดุนหลังจับรอบขา
กระทั่งเส้นทางในแต่ละวัน ถ้ามีตัวเลือกก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางเดียวก็ยังได้ หากมั่นใจในขีดความสามารถในการดูแลตัวเอง และคำนวณเวลาปลายทางนัดหมายในแต่ละวันให้ตรงกัน ไม่สร้างภาระแก่ใคร
ออกจากบ้านมาปั่นจักรยานนะครับ ไม่ใช่ฝึกทหาร
มีกรณียกเว้นจำต้องซักถามกันบ้าง หากการตัดสินใจนั้นหมิ่นเหม่ต่อความปลอดภัย หรืออาจสร้างภาระห่วงใยให้กับเพื่อนร่วมทริป
แต่ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะให้เสรีภาพในการตัดสินใจของกันและกันเป็นหลักการพื้นฐาน
พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่านัดจะไปหนองคาย แต่อีกฝ่ายดันไถลไปถึงนราธิวาส…อันนั้นเป็นข้อแตกต่างระหว่างนักทัวร์ริ่งกับคนบ้าพูดจาไม่รู้เรื่อง
เสมอภาค
ถึงแม้นว่านักทัวริ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกบ้าหอบฟาง เปิดกระเป๋ามีอุปกรณ์ยังชีพทุกชนิดอยู่ในนั้น ตั้งแต่เต็นท์ ถุงนอน เครื่องครัว เตาสนาม ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอาบน้ำ เสื้อผ้าสะอาด อุปกรณ์ซ่อมรถ เครื่องต้มกาแฟ เป็นต้น บางรายนอกจากอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการยังชีพแล้ว ยังมีพ่วงอุปกรณ์เพิ่มสุนทรียะในชีวิตเข้าไปด้วย อาทิ เครื่องเล่นเอ็มพีสามพร้อมลำโพงพกพา แท็บเล็ต พาวเวอร์แบงก์ เบียร์กระป๋อง บางรายถึงขั้นพกอูคูเลเลรัดใส่แร็คหลัง เนื่องจากขึ้นเขาลงห้วยหรือตะกายดอยชันแค่ไหน ก็ขาดแคลนเสียงเพลงไม่ได้ ฯลฯ
แต่ถ้าหากใครคิดจะปั่นทัวริ่ง พร้อมแบกอีโก้ โพรไฟล์ส่วนตัว ติดไปด้วยทุกที่…อันนี้มีแนวโน้มที่จะเหนื่อยยิ่งกว่าการแบกอย่างอื่น
มันก็มีบ้าง ที่นักจักรยานทัวริ่งทางไกลบางคน อาจได้ใช้ประโยชน์จากฐานะหรือตำแหน่งทางสังคมเพื่อความสะดวกในบางเรื่อง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมก็ยังไม่เคยเห็นใครเป็นเอาหนักถึงขั้นใช้บริการเจ้าหน้าที่ตำรวจขับมอเตอร์ไซค์ปิดหัวท้ายขบวนจักรยาน กร่างอยู่ริมถนนได้ตลอดทริป
ยากดีมีจน จักรยานของพี่ราคาไม่กี่ร้อยบาท หรือจะใช้คันละหลายแสนบาท ถึงเวลาอยู่บนถนนจักรยานทุกคันต่างก็อยู่บนเงื่อนไขความเสมอภาคโดยเท่าเทียม คือเป็นพาหนะกระจอกงอกง่อยที่สุด มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องการน้ำใจและความเข้าใจจากพาหนะอื่นบนถนนมากที่สุด
ถึงเวลาปะเหมาะเคราะห์ร้าย พี่ๆ ที่เขาขับรถพ่วงสิบล้อวิ่งเบียดอยู่ด้านขวาของเรา เขาไม่สนหรอกว่า คันไหนถูกคันไหนแพง คนบนหลังอานเป็นใคร ใหญ่มาจากไหนกันบ้าง
ความเสมอภาคยากดีมีจนในแง่นี้ ออกจะปฏิสัมพันธ์ในทางตรงข้ามด้วยซ้ำ
กล่าวคือ แรกๆ เราอาจตื่นเต้นสนอกสนใจความถูกความแพงของเฟรม ประสิทธิภาพความลื่นไหลของชุดขับเคลื่อน หรืออุปกรณ์ของเล่นประดามีที่ช่วยอำนวยความสะดวกและผ่อนแรงในการปั่น ซึ่งร้อยทั้งร้อยความหรู อลังการ และความสะดวกทั้งปวงล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ
แต่ผ่านไปสักพัก พอหายตื่นเต้นกับอุปกรณ์แล้วเราจะพบว่า สิ่งที่น่าตื่นเต้นและน่านับถือกว่าก็คือ คนที่ใช้ของถูกที่สุด อุปกรณ์ผ่อนแรงน้อยที่สุด แต่ดูแลตัวเองและเพื่อนร่วมทางได้ดีที่สุดต่างหาก
มันเป็นจุดนัดพบสำคัญ ระหว่างอารมณ์เด็กชายเห่อของเล่น กับผู้ชายโตเต็มวัยที่รู้จักนับถือผู้อื่นให้ถูกเรื่อง
ภราดรภาพ
ข้อนี้ง่ายมาก อยู่กลางแดดทั้งวัน ร้อนจนได้ยินเสียงเต้นในขมับ เหนื่อยล้า หิวมือไม้สั่น ปวดก้น น่องตึง เจ็บเข่า สถานการณ์แบบนี้ พื้นฐานนิสัยใครเป็นอย่างไร…มันก็ออกมาหมด
ผมได้คาถาดีจากเพื่อนนักทัวริ่งท่านหนึ่ง และพยายามท่องไว้ตลอดการออกทัวร์ทุกทริป
…เราจะไม่โกรธใคร
ไม่ต่างกับการเดินป่าหรือออกทะเลตกปลา กว่าจะเอ่ยปากชวนใครสักคนไปด้วยกันต้องคิดแล้วคิดอีก นิสัยใจคอนั้นเป็นเรื่องแรกที่ต้องสอบให้ผ่าน แต่การปั่นจักรยานทางไกลเรียกร้องเพิ่มกว่านั้น เช่น ความอดทน ความแข็งแรง ทักษะในการควบคุมรถ ทักษะการใช้ถนน ฯลฯ
ไม่ใช่ว่านัดหมายจะไปดอยอินทนนท์ แต่ไม่เคยซ้อมปั่นขึ้นเนินแม้แต่กิโลเมตรเดียว อันนี้ถือว่าไม่เคารพสิทธิเพื่อนร่วมทริป เพราะถึงจุดหนึ่งย่อมเป็นภาระแน่ๆ
พ้นไปจากนั้น มันก็เป็นเรื่องทั่วไปของมิตรภาพ การดูแลซึ่งกันและกันตามปกติ ตามเทคนิคลูกล่อลูกชนของแต่ละคน
ในแง่นี้ ภราดรภาพหรือความเป็นพี่เป็นน้องกับบุคคลภายนอกกลุ่มจักรยาน กลับน่าสนใจกว่า
การท่องเที่ยวด้วยจักรยานเป็นวิธีที่บังคับอย่างกลายๆ ให้เราต้องค้อมตัวผูกมิตรกับผู้คนรายทาง บางคราวขอหลบแดด หลายครั้งต้องขอเติมน้ำดื่มเพราะห่างไกลร้านค้า ขออนุญาตใช้ห้องน้ำยามฉุกเฉิน หรือถึงขั้นขอที่ซุกหัวนอนเวลาจนตรอกผิดแผน
เสียงตะโกนหยอกล้อทักทายจากแม่ค้าพ่อค้าริมทาง น้ำใจของคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนในชีวิต หยิบยื่นให้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ กล้วยน้ำว้าสักหวี น้ำดื่มเย็นๆ อาหารพื้นบ้านบางมื้อ ชายคาคุ้มหัวเป็นที่หลับนอนบางค่ำคืน
ทั้งหมดนี้ พอไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากวิธีคิดของคนค้าขาย จึงมีรสชาติน่าจดจำเสมอ
มันเกิดขึ้นและดำเนินไป โดยที่เราไม่ทันได้นึกถึงคำว่าภราดรภาพด้วยซ้ำ
หมายเหตุ :
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Two wheels many way
นิตยสาร Way ฉบับที่ 75