ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia) ระบุว่า เยาวชนข้ามเพศชาวแคนาดาเกือบครึ่งหนึ่งไม่กล้าเข้ารับบริการสาธารณสุขเมื่อจำเป็น อีกทั้งความไว้วางใจในตัวผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขยังมีส่วนสำคัญต่อการรักษาสุขภาพกายและจิตใจของเยาวชนข้ามเพศด้วย
นักวิจัยวิเคราะห์แบบสำรวจด้านสุขภาพในปี 2013-2014 จากเยาวชนข้ามเพศอายุระหว่าง 14-25 ปี จำนวน 923 คนทั่วประเทศ พบว่า ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามรู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องคุยกับหมอเรื่องเพศหรือปัญหาด้านสุขภาพของคนข้ามเพศโดยเฉพาะ
68 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนตอนต้น (อายุ 14-18 ปี) ไม่สนใจเข้ารับการตรวจสุขภาพจิตในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ 34 เปอร์เซ็นต์ไม่ไปตรวจสุขภาพร่างกายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อถึงเวลา ส่วน 47 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนตอนปลาย (อายุ 19-25 ปี) ไม่สนใจตรวจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต หรือกระทั่งไปตรวจสุขภาพตามปกติ
จากข้อมูลพบว่า บางคนไม่ไปตรวจสุขภาพเพราะคิดว่าอาการที่เป็นอยู่อาจหายได้เอง บางคนมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและการเดินทาง แต่มีอีกหลายคนที่บอกว่าไม่กล้าไปพบหมอเพราะเคยเจอประสบการณ์เชิงลบ หรือกลัวว่าหมอจะวินิจฉัยหรือตรวจอาการใดๆ ซึ่งใช้อ้างเป็นเหตุผลที่จะไม่ทำการรักษาต่อ
ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามหลายคนยังเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายจากการไปพบผู้ให้การรักษาด้วย เช่น หมอปฏิเสธที่จะออกใบสั่งยา เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการยืนยันเพศสภาพแบบนี้ให้คนไข้
เบธ คลาร์ก (Beth Clark) นักศึกษาปริญญาเอกผู้ทำงานวิจัยนี้กล่าวว่า เยาวชนข้ามเพศหลายคนเจอเหตุการณ์ชวนอึดอัดและน่าลำบากใจเมื่อไปพบหมอ โดยเฉพาะหมอที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพของคนข้ามเพศ ผลวิจัยระบุว่า เยาวชนที่พูดคุยกับหมอเรื่องสุขภาพของตัวเองอย่างสบายใจ จะมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีกว่า
นอกจากนี้ คนไข้ที่หมอรับรู้เพศสภาพของตนแล้วจะมีสุขภาพโดยรวมดีกว่าคนไข้ที่หมอไม่ทราบเพศสภาพของตนมาก่อน รวมทั้งคนไข้ที่ไม่แน่ใจว่าหมอรู้เพศสภาพของตนหรือไม่
เอลิซาเบธ แซวิก (Elizabeth Saewyc) นักวิจัยอาวุโส อาจารย์ด้านการพยาบาล และผู้อำนวยการองค์กร Stigma and Resilience Among Vulnerable Youth Centre แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสรุปของการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการหาวิธีให้บริการด้านสาธารณสุขที่สนับสนุนเยาวชนข้ามเพศมากกว่านี้
“เยาวชนข้ามเพศที่รู้สึกอับอายและถูกแบ่งแยกมีความเสี่ยงที่จะพบปัญหาสุขภาพมากกว่า เพราะฉะนั้นเราควรตระหนักว่าการที่พวกเขาไม่ไปตรวจสุขภาพทั้งๆ ที่จำเป็นต้องไปคือเรื่องที่น่ากังวล เรามีส่วนต้องรับผิดชอบ ทั้งบุคลากรด้านสาธารณสุข นักศึกษาด้านสาธารณสุข และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อพัฒนาความสามารถในการรักษาปัญหาสุขภาพของคนข้ามเพศ และทำให้คนไข้มั่นใจในบริการที่พวกเขาได้รับ”