‘ปลาบึก’ ราชินีแห่งแม่น้ำโขง ชะตากรรมบนพายุแห่งการทำลาย

พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ที่ทวีความรุนแรงสู่พายุโซนร้อนถูก สปป.ลาว ตั้งชื่อว่า ‘ปาบึก’ หมายถึง ‘ปลาบึก’ ปลาน้ำจืดไร้เกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำโขงในฐานะ ‘ราชินีแห่งสายน้ำ’

ไม่เพียงสัญญาณเตือนภัยจากพายุปาบึกเท่านั้นที่ต้องคอยรับมือ ปัจจุบันปัญหาเรื่องการลดจำนวนลงของปลาบึกในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเองก็นับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน และมันเป็นสัญญาณเตือนที่ดูเหมือนไม่ได้รับการไยดีจากผู้คนมากนัก โดยเฉพาะในสายตาของการพัฒนาที่เดินหน้าด้วยการทำลาย

ข้อมูลจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ซึ่งบันทึกสถิติการจับปลาบึกในช่วงฤดูวางไข่ที่บ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระบุว่า ในปี 2529 มีปลาบึกถูกจับ 18 ตัว และในปี 2533 มีปลาบึกถูกจับเพิ่มขึ้นเป็น 69 ตัว ปี 2539 สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้ปลาบึกอยู่ในบัญชีแดง ซึ่งหมายถึงสัตว์ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ จำนวนปลาบึกที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ไทยกำหนดเงื่อนไขในการจับปลาบึกโดยชาวประมงต้องขออาชญาบัตรและนำปลาบึกที่จับได้ไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบขยายพันธุ์โดยการผสมเทียมก่อน

ปี 2544-2546 ปัญหารุนแรงขึ้น โดยชาวประมงไม่สามารถจับปลาบึกบริเวณอำเภอเชียงของได้เลย กระทั่งปี 2549 รัฐบาลไทยประกาศห้ามจับปลาบึกอย่างเป็นทางการ และปลาบึกถูกบรรจุลงในบัญชีสัตว์คุ้มครองของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส

จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกนั้นปัญหาปลาบึกลดลงเกิดจากการจับปลาเกินขนาด ในช่วงก่อนปี 2500 มีจำนวนเรือประมงออกหาปลาบึกเพียง 5 ลำ เท่านั้น แต่ปี 2529 มีเรือเพิ่มขึ้นเป็น 18 ลำ ส่วนปี 2535 มีจำนวนเรือเพิ่มขึ้นถึง 80 ลำ

อย่างไรก็ตาม ระยะหลังมานี้การคุกคามปลาบึกเปลี่ยนไปจากการล่าเป็นการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำและระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณแม่น้ำโขงตอนกลางและปลายน้ำ ระดับน้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ปลาบึกหรือสัตว์น้ำเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อผู้คนริมโขงที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ปี 2556 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจแม่น้ำโขงว่า มีความเป็นไปได้ที่แม่น้ำโขงเหลือปลาบึกตัวเต็มวัยเพียง 200-300 ตัวเท่านั้น อันเนื่องมาจากการมีเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงทำให้ปลาบึกไม่สามารถว่ายฝ่าปราการเขื่อนไปวางไข่ได้

27 กันยายน 2560 นิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวถึงความพยายามที่จะระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงกว่า 140 จุด เพื่อเอื้อต่อเส้นทางเดินเรือว่า ตอนนี้แม่น้ำโขงก็กำลังจะตายอยู่แล้ว เขื่อนหกแห่งที่สร้างตอนบนของจีนส่งผลกระทบหนักต่อชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำมาหลายสิบปีแล้ว ทั้งน้ำขึ้นลงไม่ปกติ พันธุ์ปลาสูญหาย เกาะแก่งหินผาและระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกทำลาย แม่น้ำจะต้องตายแน่นอน การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศคือ การฆ่าแม่น้ำโขง เพราะการระเบิดครั้งนี้ไม่ใช่แค่ระยะทาง 90 กิโลเมตร แต่เป็นระยะทาง 631 กิโลเมตร และมีแผนจะระเบิดเกาะแก่งมากกว่า 140 จุดถึงหลวงพระบาง หากระบบนิเวศพัง มนุษย์ก็แย่ สิ่งมีชีวิตอื่นก็แย่เช่นกัน

14 กรกฎาคม 2561 ชัยวัฒน์ ดวงธิดา ชาวประมง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย กล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ว่า หลัง สปป.ลาว สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ทำให้การขึ้นลงของระดับน้ำไม่เหมือนเดิม ซึ่งกระทบกับการวางไข่ของปลา ไม่เพียงแค่ปลาบึกเท่านั้นที่พบเห็นได้ยากขึ้นในพื้นที่ธรรมชาติ ปลาอื่นๆ ที่เคยจับได้ก็หายไป กระทั่งชาวประมงอย่างเขาต้องเปลี่ยนอาชีพจากหาปลาไปเป็นชาวสวน

อ้างอิง:

 

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า