ดีล ‘TRUE-DTAC’ เมื่อคลื่นยักษ์กระแทกผู้บริโภค กสทช. จะยืนข้างใคร

หลังมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ (Telenor Group) ที่จะร่วมมือกับจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยให้ TRUE และ DTAC ปรับโครงสร้างทางธุรกิจ ควบรวมกิจการ เพื่อปลุกปั้นเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ทำให้เกิดข้อกังวลตามมาว่า ดีลระดับยักษ์ครั้งนี้ ใครได้ ใครเสีย ประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้ควรมีปฏิกิริยาอย่างไร 

จากข้อกังวลที่ยังไม่ได้รับความกระจ่าง นำมาสู่วงเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ดีล TRUE-DTAC ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังเสียงผู้บริโภค’ จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของสองยักษ์ใหญ่

การผูกขาดระดับ ‘อันตรายมาก’

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของวงการโทรคมนาคมมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ให้ความคิดเห็นถึงกรณีการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC ว่า หากประเมินทั้งสองแง่มุม ดีลครั้งนี้อาจส่งผลทำให้บริษัทที่จะถูกจัดตั้งใหม่มีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อสังคมได้ แต่หากมองในอีกมุม ดีลนี้จะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ โดยในทางเศรษฐศาสตร์ต้องมีการชั่งน้ำหนักทั้งสองฝั่ง แต่กรณีศึกษาของสหรัฐอเมริกาจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการที่เหลือในตลาดคือ AIS ไม่ได้มีการคัดค้านการควบรวมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นของตลาด หลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนคือ ราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัทมีการเพิ่มขึ้นภายหลังการประกาศควบรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แต่ไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะจะนำไปสู่การผูกขาด โดยการผูกขาดชั้นที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ช้าลง ราคาที่แพงขึ้น ต่อมาคือการผูกขาดชั้นที่ 2 คือการผูกขาดจากต่างประเทศที่คนไทยต้องเจอ เนื่องจากในอนาคตเมื่อเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์ส (Metaverse) การเข้าถึงข้อมูลก็จะยากยิ่งขึ้น ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ยากขึ้น 

นอกจากนี้ จากการประเมินผลกระทบตามแนวทางพิจารณาการควบรวมเบื้องต้น โดยการเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นและอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม หากมีแนวโน้มที่จะมีอันตรายมากกว่า ก็เห็นสมควรที่จะต้องห้ามไม่ให้เกิดการควบรวม หรือควบคุมให้เป็นการควบรวมแบบมีเงื่อนไข ซึ่งกรณีประเทศไทย หากเกิดการควบรวม มีแนวโน้มที่จะเข้าโซนสีแดง คือ การมีระดับการผูกขาดที่ ‘อันตรายมาก’

ความคิดเห็นเพิ่มเติมจาก ผศ.ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงผลกระทบของดีลครั้งนี้ ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าที่ไม่มีการแข่งขันว่า จากข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้ถึง ‘The Welfare Effect’ นั่นคือ การเกิดความกระจุกตัวของตลาด ส่งผลให้มีจำนวนผู้ประกอบการที่น้อยลงและมีการถือส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ที่จะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า

กฎหมาย กสทช. มีช่องโหว่ เอื้อเอกชนควบรวม

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากประกาศ กสทช. ปี 2561 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับใหม่ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการควบรวมโดยทันที เนื่องจากมีความแตกต่างจากประกาศ กสทช. ปี 2553 โดยสิ้นเชิง

“ถ้ายังคงใช้กฎหมายปี 2553 อยู่ หากจะมีการควบรวม ต้องมาขออนุญาตก่อน แต่พอมาเป็นประกาศฉบับใหม่ของปี 2561 มันเลยเกิดความเสี่ยงทันที เพราะ กสทช. ไม่รู้เลยว่า เขาจะมาแจ้งเมื่อไหร่ แม้แต่วันที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่เริ่มนับเป็นวันที่ 1 กลายเป็นว่าเปิดช่องให้มีกระบวนการเจรจา ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า ความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้วด้วย แต่การนับหนึ่งตามประกาศ กสทช. ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ”

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ชี้แจงถึงการดำเนินการของ กสทช. ว่า ตั้งแต่มีข่าวการควบรวม ทางสำนักงานฯ ได้มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงบ้างแล้ว แต่ในความเป็นจริงผ่านมา 3 เดือน ยังไม่มีการเสนอวาระใดๆ มีเพียงการแจ้งด้วยวาจา ทำให้ กสทช. เองก็ไม่ได้รับทราบในส่วนนี้เลย ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของการบริหารของ กสทช. และในเมื่อยังไม่มีข้อมูล ทาง กสทช. จึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุน อีกทั้งเรื่องนี้เข้ามาในช่วงคาบเกี่ยวกับการแต่งตั้ง กสทช. ชุดใหม่ เมื่อทั้งสองบริษัทเสนอคำขอควบรวม จึงทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อ และทำให้เกิดกระบวนการทำงานที่ไม่เต็มสูบ

ข้อเสนอถึง กสทช.

ทางด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ มีข้อเสนอ 3 แนวทางต่อการควบรวมกิจการในประเทศไทย โดยนำเสนอตามลำดับของผลประโยชน์ที่มีต่อผู้บริโภค ดังนี้

1. ไม่ให้ควบรวม ให้ขายแก่รายอื่น และลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน

2. ให้ควบรวม โดยกำหนดเงื่อนไขให้คืนคลื่น เพื่อนำมาจัดสรรให้รายใหม่

3. ให้ควบรวม และส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง (MVNO) หรือกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน

โดยข้อที่ 3 ถือเป็นข้อเสนอที่ไม่มีความเหมาะสม เพราะการเกิด MVNO ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ข้อที่ควรจะพิจารณาคือ การไม่ให้เกิดการควบรวมกัน ซึ่งประเด็นนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ยืนยันอีกเสียงว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับข้อเสนอ MVNO เพราะที่ผ่านมากว่า 10 ปี ยังไม่มีรายใดประมูลได้ นั่นหมายความว่า หากใช้มาตรการนี้ ระยะเวลาที่จะเกิดดอกออกผลอาจจะต้องใช้เวลา 5-10 ปี และในปัจจุบันเป็นตลาด 5G ทำให้ MVNO ไม่สามารถพัฒนาได้ทัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อเสนอต่างๆ สุดท้ายแล้ว กสทช. ก็ถือเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง ตามมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติ กสทช. โดยให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 

ในแง่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ สฤณี อาชวานันทกุล ได้กล่าวทิ้งท้ายถึง กสทช. ว่า

“ถ้าปล่อยให้สองบริษัทเดินหน้าไปแบบไม่มีหน่วยงานกำกับ อาจเกิดสภาวะการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดก่อนที่การควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นด้วยซ้ำ กสทช. จึงไม่ควรจะรออะไร เพราะตั้งแต่วันที่มีการแถลงของทั้งสองบริษัทก็ชัดเจนมากพอแล้วที่จะต้องตั้งกรรมการ ที่ผ่านมา กสทช. ทำงานค่อนข้างช้า และไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องทำแบบนี้ เพราะแม้แต่ชั้นของการเจรจาเบื้องต้นก็สุ่มเสี่ยงแล้ว ยิ่งถ้ารอกรรมการชุดใหม่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก ทำไมถึงไม่รีบลงมือตั้งแต่ต้น นี่อาจจะเป็นคำถามถึง กสทช.”

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวสรุปว่า ในท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคจะยังคงมีภาระในอนาคตอย่างแน่นอน หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรมีการควบรวม แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังคมไทยก็ต้องมีหน้าที่ในการช่วยกันจับตามองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า