ภาพประกอบ: Shhhh
ฉายาหนึ่งของ โดนัล ทรัมป์ คือ ‘เจ้าแห่งการควบคุมสื่อ’ (master media manipulator) – จาก The New York Times / นักแทคติคสุดจีเนียส (‘genius’ tactician) จาก คานเย เวสต์ ฯลฯ
ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ที่มีแน่ๆ คือ ภาษาและการแสดงออกของทรัมป์ที่พยายามเข้าควบคุมสื่อ เอาชนะการดีเบท และคุกคามฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่ง มีรูปแบบที่ทำให้สื่อต่างๆ จับสังเกตได้ ซึ่ง The Guardian ได้สำรวจมา และสรุปคร่าวๆ ไว้ดังนี้
ความจริงที่ไม่จริง
ไม่ว่าจะกี่ที่หรือกี่เวที ทรัมป์มักนำเสนอผู้สนับสนุนหน้าซ้ำและเพื่อนหน้าเดิมๆ เพื่อสร้าง ‘ภาพ’ ขึ้นมาสนับสนุนเหตุผลต่างๆ ที่เขาอ้าง แม้ว่าผู้สนับสนุนนั้นๆ จะไม่ต่างกับต้นไม้บนเวที จะมีบทพูดบ้างก็เป็นการเชียร์แบบเล็กๆ น้อยๆ
ระหว่างรอขึ้นแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้เตรียมแฟ้มงานให้ทรัมป์เซ็นต่อหน้าสาธารณะ ว่าเขาได้ยินยอมมอบหมายงานต่างๆ ในบริษัทแก่ลูกชายแล้ว อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยเอกสารต่างๆ เหล่านั้นแก่สื่อมวลชน จึงไม่มีใครเห็นหรือพิสูจน์ได้ว่าทรัมป์ลงมือเซ็นจริงๆ หรือเปล่า
พูดแบบไม่ต้องพูดก็ได้
ขณะขึ้นแถลงข่าว บางครั้งทรัมป์ก็ไม่ได้พูดอะไร บางประโยคที่ปล่อยออกมาก็เต็มไปด้วยคำคุณศัพท์ (adjective) ไวยากรณ์สับสน จนกลายเป็นการพูดนอกเรื่องไป ต้องแปลความกันอีกรอบ ไม่ว่าเขาจะเริ่มต้นพูดด้วยเรื่องอะไรก็ตาม
แต่จนแล้วจนรอด เขาก็สามารถเปลี่ยนการสาดโคลนต่างๆ นานา ให้เข้าใจผิด จนกลายเป็นที่พึงพอใจของบรรดาฝ่ายขวาจัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของเขา พร้อมบอกอีกด้วยว่าการกลั่นแกล้งอย่างนี้จะไม่มีทางจบลงง่ายๆ
ดิสเครดิตทุกๆ คน
วิธีของทรัมป์ก็ง่ายๆ เริ่มจากการทำลายเครดิตของทุกคนและทุกอย่างที่ไม่ลงรอยกับเขา
ทรัมป์มักจะใช้การโจมตีไปที่ตัวบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำ ซึ่งมักจะหาสาระไม่ค่อยได้ ยกตัวอย่าง เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มกราคม ทรัมป์กล่าวหา จอห์น ลูอิส สมาชิกสภาผู้แทนฯรัฐจอร์เจีย จากพรรคเดโมแครต และอดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองที่เคยถูกจับจากการประท้วงอย่างสงบในช่วง 1960 ซึ่งทรัมป์บอกว่า ลูอิสถูกจับเพราะ ‘ดีแต่พูด’
สมคบคิดแบบผิดๆ
ทรัมป์พยายามให้เครดิตกับแหล่งข่าวบางที่ โดยไม่อ้างหลักฐานหรือที่มาใดๆ ครั้งหนึ่งเขาเคยสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดของหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ เกี่ยวกับเรื่อง พ่อของ เท็ด ครูซ (หนึ่งในแคนดิเดตสามคนสุดท้ายของพรรครีพับลิกัน) ว่ามีส่วนในการลอบสังหารอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี รวมถึงการรีทวีตข้อมูลอาชญากรรมที่ผิดๆ แต่เขาอ้างว่ามันเป็นแหล่งข้อมูลที่ “น่าเชื่อถืออย่างสุดๆ” ซึ่งก็เป็นสื่อเจ้าเดียวกับที่เคยนำเสนอเรื่องเอกสารแจ้งเกิดของ บารัก โอบามา ว่าเป็นเอกสารปลอม – ซึ่งทรัมป์เพิ่งออกมายอมรับในความเชื่อผิดๆ ของเขาเมื่อสามเดือนก่อน
ข่มขู่ คุกคาม
อาทิตย์ที่แล้ว ทรัมป์เพิ่งตะโกนว่า “You’re fake news” นักข่าว CNN ที่ไม่ได้เต้าข่าวใดๆ และกำลังตั้งคำถามต่อว่าที่ประธานาธิบดี
หลังจากนั้น ฌอน สไปเซอร์ โฆษกส่วนตัวของทรัมป์ และว่าที่โฆษกทำเนียบขาว ก็ข่มขู่นักข่าวคนดังกล่าวว่า ต้องถูกไล่ออกแน่ๆ จากพฤติกรรมที่หยาบคายเช่นนี้
การข่มขู่ที่ป่าเถื่อนเช่นนี้เป็นอีกแทคติคหนึ่งที่มักใช้ระหว่างหาเสียงสำหรับสื่อที่ทรัมป์ขึ้นบัญชีดำ และบางครั้งทรัมป์ก็ใช้วิธีการใส่ร้ายแบบเอ่ยชื่อ ซึ่งเข้าข่ายคุกคาม ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่สนับสนุนทรัมป์ก็ดำเนินรอยตามด้วยการข่มขู่สื่อต่างๆ บางครั้งถึงขั้นทำร้ายร่างกายผู้ที่ออกมาประท้วงด้วย
ท่าทีนี้ไม่ต่างจาก เรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน แห่งตุรกี และ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัฐเซีย ที่ไม่แค่ข่มขู่สื่ออิสระและผู้ต่อต้านต่างๆ แต่ใช้วิธีจับกุม กักขัง และต้นอาทิตย์นี้เอง เอร์โดอันก็ออกมาแนะให้ทรัมป์จัดการนักข่าว CNN ด้วยการนำไปอยู่ใน “ที่ของเขา-in his place”
แย่งชิงความสนใจ – แต่ไม่สำเร็จ
ไม่ว่าทรัมป์จะหาวิธีแย่งความสนใจออกจากประเด็นมากแค่ไหนก็ตาม นักข่าวจำนวนไม่น้อยถูกฟ้อง ห้องข่าวจะกระอักกระอ่วนในข่าวเชียร์จำนวนมหาศาลที่ทรัมป์ส่งมา ทั้งเรื่องข้อเสนอต่างๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผลประโยชน์ที่มีแนวโน้มก่อความขัดแย้งไปทั่วโลก การคุยโม้เรื่องข่มขู่คุกคามทางเพศ แรงสนับสนุนจากกลุ่มที่ต่อต้านเขา รวมถึงคำปฏิเสธเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปูติน
ทรัมป์โจมตีองค์กรข่าวกระแสหลักต่างๆ ทั้งเรื่องการขาดทีมงานและข้อมูลในการทำข่าวสืบสวนต่างๆ และขู่ว่าให้เตรียมตัวพ่ายแพ้แก่โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีต่างๆ ได้แล้ว
สู้ด้วยข้อมูลผิดๆ
ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ รวมถึง เคลยานน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษา ล้วนมีประวัติการยืนยันข้อมูลผิดๆ ทั้งนั้น ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คอนเวย์โต้เถียงกับ CNN เรื่อง เอกสารลับจาก Buzzfeed 35 หน้าเรื่องรัสเซียร่วมมือกับทรัมป์ โค่น ฮิลลารี คลินตัน คอนเวย์ชี้แจงได้แค่ว่า รายงานดังกล่าวไม่ได้รับการยืนยัน และใช้แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตน คอนเวย์จบบทสนทนาด้วยประโยคที่ว่า “There’s no link to Buzzfeed. Full stop”
เพนซ์เองก็เคยประกาศว่า ตัวเองคือผู้สนับสนุนสื่ออิสระมาอย่างยาวนาน แม้ว่าครั้งหนึ่ง เขาพยายามใช้เงินภาษีเพื่อสร้างองค์การข่าวแห่งรัฐขึ้นมา ทรัมป์เองก็อ้างว่า เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ว่าได้พูดอะไรออกมาอย่างหนึ่ง แต่ในคำแถลงที่ออกโดยแคลปเปอร์เองกลับไม่ปรากฏว่าเขาพูดในสิ่งนั้นที่ทรัมป์อ้าง
โดนัล ทรัมป์ นัก (บล็อค) ทวิตเตอร์ตัวพ่อ
- จากการสำรวจของมหาวิทยาลัย Quinnipiac พบว่าชาวสหรัฐ 64 เปอร์เซ็นต์ อยากให้โดนัล ทรัมป์ ปิดทวิตเตอร์ส่วนตัว
- ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์สัญญาว่าจะเปลี่ยนแนวการทวีตของตัวเอง เดือนเมษายน ปีที่แล้ว เขาบอกประชาชนว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง ผมจะเลิกทวีตหลังจากที่ผมได้เป็นประธานาธิบดี” แต่ต้นสัปดาห์เขาให้สัมภาษณ์กับ Times of London ว่าเขาจะยังคงใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวต่อไป “ผมต้องตรวจสอบสื่อที่บิดเบือน”
- ทวีตที่ผ่านมาของทรัมป์ นอกจากแคมเปญหาเสียงแล้ว ยังพูดถึง “การแบนคนมุสลิมชั่วคราว”, “กล่าวหาว่าผู้อพยพเม็กซิกันมาพร้อมกับยาเสพติดและอาชญากรรม”
- รายการทอล์คโชว์ ของ โจ วอลช์ อดีตสมาชิกสภาคองเกรสพรรครีพับลิกันจากอิลลินอยส์ และหนึ่งในผู้สนับสนุนทรัมป์ เผยว่า เขาโดนทรัมป์บล็อคในทวิตเตอร์เมื่อปี 2015 หลังจากที่เขาวิจารณ์เรื่องที่ทรัมป์ไปโจมตีวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ว่าที่ได้ชื่อเป็นวีรบุรุษ เพียงเพราะเขาเป็นเชลยสงคราม
- ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทรัมป์บล็อคเพื่อนทวิตเตอร์ไปมากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ก็มีมากพอจนเกิดแฮชแท็ก #BlockedByTrump
- ล่าสุด ทรัมป์ตั้งใจจะรีทวีตลูกสาว อีแวนกา ทรัมป์ ที่ใช้ชื่อ @IvankaTrump แต่กลับแท็กผิดไปยังหญิงสาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งใช้ชื่อแรกเหมือนๆ กัน หญิงสาวคนนั้นก็ทวีตกลับมาหาทรัมป์ว่า “คุณคือคนที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ฉันขออนุญาตแนะนำให้คุณตั้งใจและใส่ใจในการใช้ทวิตเตอร์มากกว่านี้ และใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับ #climatechange ให้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com
cnn.com
abcnews.go.com
politico.com