“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือขบวนเสด็จ” ตัน-สุรนาถ แป้นประเสริฐ

กังวล เครียด กลัว อึดอัด…

14 วันที่ต้องจำจากห่างหมอนใบเดิมที่เคยนอน บ้านหลังเดิมที่เคยอยู่ อิสรภาพที่เคยมี ย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมคับแคบ มีเพียงลำแสงเล็กๆ เล็ดลอดลงมา

แต่ละค่ำคืนไม่เคยหลับได้อย่างสนิท ต้องพลิกตัวไปมาเพื่อต่อสู้กับความรู้สึกทุกข์ทรมานที่เกิดภายในใจและข่มตาลงเพื่อรอพบแสงวันใหม่

เวลากว่าสองสัปดาห์ในเรือนจำเดินไปอย่างเชื่องช้า ไม่มีวินาทีไหนที่มีความสุข ทุกครั้งในเรือนจำที่เสียงโลหะกระทบกันดังขึ้น เสียงเบาๆ นั้นกระแทกหัวใจของ สุรนาถ แป้นประเสริฐ หรือ ตัน 

หลายคนอาจได้อ่านเรื่องราวของผู้ชายคนนี้จาก #saveตันสุรนาถ ที่บอกเล่าชีวิตการทำงานของเขาในบทบาทผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active Youth) สุรนาถคือคนที่ทำงานรณรงค์ด้านเด็กและเยาวชนมาต่อเนื่องยาวนานนับ 10 ปี 

เขาผ่านการทำงานพัฒนาชุมชนหลายพื้นที่ เช่น โครงการพื้นที่นี้ดีจัง ที่ทำงานร่วมกับกลุ่ม ‘ดินสอสี’ ที่มีหมุดหมายเพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมชุมชนที่มีความเสี่ยงให้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ 

บทสนทนาต่อจากนี้คือการคุยถึง ‘พื้นที่’ เช่นกัน

ทว่าเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หลังจากสุรนาถตกเป็นผู้ต้องหาที่กำลังถูกดำเนินคดี ‘กระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินี’ ตามมาตรา 110 ประมวลกฎหมายอาญา จากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 บริเวณทำเนียบรัฐบาลและอยู่ในเหตุการณ์รถขบวนเสด็จผ่าน 


“ทุกครั้งที่ผมได้ยินเสียงกุญแจ ผมฟุ้งซ่าน นึกไปถึงขนาดที่ว่าเสียงกุญแจนั้นคือเสียงเปิดประตูห้องขังและผมจะถูกซ้อมจนตายคาที่” – เขากล่าว

31 มีนาคม 2564 คือวันที่อัยการนัดหมายว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่

หากอัยการมีคำสั่งส่งฟ้องศาล และศาลมีคำสั่งคัดค้านไม่ให้ประกันตัว เขามีโอกาสจะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และนั่นคือข่าวร้าย เพราะเขาจะต้องกลับเข้าเรือนจำและเผชิญกับความทรมานอีกครั้ง 

คุยกับสุรนาถ ถึงชีวิตและเรื่องราวหลังกำแพง แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 5 เดือน แต่ทุกความรู้สึกยังชัดเจน นี่คือแผลเป็นที่ทิ้งรอยไม่มีวันหาย 

ข้อกล่าวหาที่รุนแรงและการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทุกค่ำคืน เขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกต่อไป

เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 

วันนั้นเรารู้แล้วว่ามันจะมีการชุมนุม ตอนนั้นมีการเคลื่อนไหวและการชุมนุมเรื่อยๆ แล้วเราก็อยากไปแสดงออกธรรมดา 

ผมประชุมงานอยู่เสร็จประมาณบ่าย 3 หลังจากนั้นก็ขับมอเตอร์ไซค์ออกจากที่ประชุม พร้อมกับเช็คข่าวไปพลางๆ พบว่าบริเวณที่เขาชุมนุมกันมันเข้าไม่ได้แล้ว ผมจึงย้ายตัวเองมารวมตัวกันแถวๆ หน้าทำเนียบ

วันนั้นก็เห็นน้องๆ นักศึกษายืนถือป้ายแสดงออก เช่น ‘ฟังเสียงของเราหน่อย’ ‘อย่าปิดกั้นเสรีภาพของเรา’ จากนั้นขบวนตำรวจประมาณ 2 ชุดก็ตรึงกำลังและเดินเข้ามาปิดกั้นประชาชนที่ยืนอยู่ตรงคอสะพานข้างทำเนียบ 

เราก็กลัวว่าถ้าปิดอย่างนี้แล้วเราจะออกยังไง ประชาชนที่อยากมาแสดงออกจะเข้ามาสมทบยังไง

ผมก็ตัดสินใจไปดันแผงให้ตำรวจยอมเปิดทาง ณ บริเวณนั้นไม่มีแกนนำ ไม่มีใครเลย มีแต่ประชาชน ผมเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ชอบมาพากล มีผู้ชุมนุมจำนวน 100 กว่าคนเอง แต่ทำไมตำรวจมาเยอะแบบนี้ ชั่วโมงนั้นเริ่มวุ่นวายตำรวจเริ่มมาล้อม มีการกระชากผู้หญิง มีคนล้ม เวลาผ่านไปสักพักผมได้ยินเสียงรถนำขบวน ทุกคนคิดว่าเป็นรถของคณะรัฐมนตรี ทุกคนจึงตะโกนและต่างพร้อมใจกันชู 3 นิ้ว และตำรวจก็เริ่มถอยออกไป

แสดงว่า ณ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเป็นรถใคร 

ไม่รู้ครับ พวกเราเข้าใจว่าเป็นรถนายกฯ หรือรัฐมนตรีสักคน เพราะว่าขบวนมันสั้นมาก 

ครึ่งชั่วโมงต่อมาขบวนผู้ชุมนุมใหญ่ก็เดินเข้ามาสมทบ ผมก็โล่งใจ 

จากนั้นผมก็เดินกลับไปที่มอเตอร์ไซค์ตัวเองเพื่อเดินทางกลับบ้าน เพราะนัดแฟนไว้ว่าจะไปซื้อกับข้าวด้วยกัน 

รู้ข่าวตอนไหนว่าตัวเองโดนมาตรา 110 

ทราบเมื่อ 4 โมงเย็นของวันที่ 20 ตุลาคม (2563)

ผมไม่ได้รู้ด้วยตัวเองด้วยซ้ำ มีคนอื่นโทรมาบอก หลังกลับจากม็อบผมก็ใช้ชีวิตปกติ กำลังไปที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า พอเห็นข่าวก็ตกใจ แต่ก็พยายามตั้งสติ 

ผมก็ส่งข่าวไปให้แฟนและครอบครัวทราบ ทุกคนร้องไห้ นั่นทำให้ผมยิ่งเครียด ตอนนั้นผมก็กลัวนะ มันชาไปเหมือนกัน คดีที่ผมโดนมันค่อนข้างรุนแรง เราไม่เคยเจอมาก่อน ผมกังวลเรื่องครอบครัวด้วย เพราะเพิ่งเสียคุณพ่อไปเมื่อเดือนมิถุนายน แต่ก็พยายามตั้งสติให้มากๆ รีบประสานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่าจะไม่หนีและมอบตัวในวันถัดมา

เมื่อตัดสินใจมอบตัว คุณเจอกับอะไรบ้าง

ตั้งแต่เช้าของวันถัดมาหลังจากข่าวออก มีรถแปลกๆ มาจอดอยู่หน้าบ้านผม 4 คัน ผมมั่นใจแน่ๆ ว่านั่นคือรถตำรวจ

พอผมขึ้นรถมอเตอร์ไซค์กำลังจะไป สน. ตำรวจพวกนั้นก็พุ่งเข้าชาร์จผมเลย เขาก็พยายามขอดูเฟซบุ๊คของผม เค้นผม และให้ผมอธิบายว่าวันนั้นผมไปม็อบกับใคร

ผมพยายามจะไม่พูดอะไรเยอะ อยากโทรหาทนาย แต่พวกเขาก็ไม่ยอม เขาพยายามจะจับผม แต่ผมยืนยันว่าไม่ได้จะหนี กำลังจะไปมอบตัวและรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน. 

ท่าทีของตำรวจพยายามจะคุกคามเราตลอดเวลา เขาทำตัวขึงขังประมาณว่าอยากจะมีซีน พอไปถึง สน. ผมก็นั่งเงียบๆ และตอบคำถามต่างๆ ที่เขาพยายามถาม

วันนั้นมีคนไปชุมนุมเป็นร้อยๆ ทำไมถึงเป็นคุณที่โดนมาตรา 110

นั่นสิ แวบแรกผมก็คิดว่าทำไมผมซวยขนาดนี้ คืนที่รู้ว่าตัวเองโดน ผมเอาแต่ถามตัวเองว่าสิ่งที่ผมโดน มันใช่สิ่งที่ผมทำจริงๆ เหรอ คดีประทุษร้ายพระราชินี โทษสูงสุดคือประหารชีวิตเลยนะ ผมทำแบบนั้นจริงๆ เหรอ คืนนั้นมันทรมานมาก ผมไม่อยากอ่านข่าวเลย มีคนโทรหาผมเป็นร้อยสาย มีคนโพสต์ #save มากมาย ผมขอบคุณครับ แต่ความรู้สึกจริงๆ ผมไม่อยากเห็นข่าวตัวเองเลย

คือผมเพิ่งเสียพ่อไปเมื่อเดือนมิถุนายน ยังตั้งหลักไม่ได้เลย ผมไปม็อบ ผ่านไป 4-5 วัน ผมใช้ชีวิตปกติ แต่สุดท้ายหวยก็มาออกที่ผม มันก็เลยช็อกน่ะ เหมือนเขาไปคุยกันว่าจะจับใครดี

เมื่อตัดสินใจไม่หนีและเข้ามอบตัว เป็นอย่างไรต่อ

หลังจากฟังคำตัดสินของศาล มันแปลกๆ ตรงที่ผมจะต้องเดินทางไปเรือนจำกับผู้ต้องหาใหม่รอบแรกคนอื่นๆ

แต่อยู่ดีๆ ก็ถูกต้อนให้ขึ้นรถไปที่ไหนสักที โดยที่ไม่มีการแจ้ง เพียงผมคนเดียว

ระหว่างทางผมก็นั่งคิดทบทวนไปมา พอไปถึงที่หมายมีเจ้าหน้าที่นับสิบคน มายืนรอรับ ตอนนั้นมันดึกแล้วเวลาประมาณ 2 ทุ่มกว่าๆ ผมไปถึงเรือนจำบางขวาง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถือท่อนเหล็กออกมา สั่งให้ผมเดินตามเส้นสีแดงเข้าไปเรื่อยๆ ตอนนั้นมันน่ากลัวมากครับ ในใจผมคิดว่า ‘กูถูกซ้อมแน่ๆ’ 

พอเดินเข้าไปเรื่อยๆ มีแพทย์มาตรวจร่างกายผม ผมกระซิบขอร้องบอกหมอว่าช่วยโทรบอกญาติให้หน่อยว่าถูกย้ายมาที่นี่ ผมย้ายมาไม่มีใครรู้ ผมกลัวญาติเป็นห่วง แต่หมอไม่คุยกับผมเลย เขาก็บอกตามกฎคือห้ามสื่อสารกับผู้ต้องหาและญาติของผู้ต้องหา จากนั้นผมก็ถูกขังในห้องขังเดี่ยว ซึ่งการขังเดี่ยวในเรือนจำมักจะเกิดขึ้นกับนักโทษคดีร้ายแรง 

ระหว่างที่ผมอยู่ในนั้น เสียงเปิดกุญแจมันกระแทกหัวใจตลอดเวลา ผมฟุ้งซ่าน นึกไปถึงขนาดที่ว่าถ้ามีคนเปิดประตูมาซ้อมผม ผมคงตายคาที่ในห้องนี้แน่นอน 

เวลาผ่านไปทั้งคืนจนถึงเช้าผมก็นอนไม่หลับ มีเจ้าหน้าที่เอาข้าวมาให้ ผมก็กินไม่ลง ได้แต่เอาข้าวเทลงส้วม เพราะกลัวว่าถ้าไม่กินจะโดนด่า

ระหว่างที่อยู่ในห้องแคบๆ นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

มันเริ่มจากเช้าวันถัดมาเวลา 8 โมงกว่าๆ มีเจ้าหน้าที่เอากล้องวงจรปิดมาติดทั่วห้องไปหมด ผมก็เริ่มกังวล คิดถึงขั้นว่ามันจะทรมานเราหรือเปล่าวะ

พอถึง 11 โมง ได้เวลากินข้าวมื้อต่อไป ผมก็ยังกินไม่ลง ผมเอาข้าวไปเททิ้งเหมือนเดิม จนเจ้าหน้าที่เห็น เขาบอกว่า “เฮ้ย ถ้ามึงไม่กิน มึงตายนะเว้ย มึงอย่าเครียด มึงต้องอยู่ให้ได้” ผมรู้สึกว่าเวลาแต่ละวันผ่านไปช้ามากๆ จนเข้าวันที่ 3 ที่อยู่ในห้องนี้ ผมเริ่มเรียนรู้ว่า ผมอยู่อย่างนี้ไม่ได้อีกต่อไป มันเครียดมากๆ จนผมต้องแจ้งกับผู้คุมว่าผมอยากหาหมอ อยากปรึกษาหมอเพราะผมเครียด จนสุดท้ายผมก็ได้ออกจากห้องขัง นับเป็นนาทีแรกที่ได้เดินออกมาจากห้องแคบๆ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สูดอากาศอย่างเต็มที่หลังจากเวลาผ่านไป 3 วัน มันไม่ไหวเลยครับ มันอึดอัด กว่าความรู้สึกจะปลดล็อคก็เข้าสู่วันที่ 4 ที่ทนายมาเยี่ยมและผมได้พบญาติ

ท่ามกลางความรู้สึกที่ทรมาน มันคลี่คลายได้อย่างไร 

ตอนได้เจอทนายเมย์ (ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) เพราะเขามาช่วยอธิบายให้ผมฟังว่าขั้นตอนทางคดีต่อจากนี้จะทำอะไรบ้าง ที่สำคัญคือข้อความกำลังใจต่างๆ ที่มาจากเพื่อน จากครอบครัว ที่ทนายรวบรวมมาให้ผมอ่าน มันเป็นอะไรที่ โอ้โห…ช่วยได้มากครับ เพราะสิ่งที่ผมกังวลตลอดคือผมเป็นห่วงแฟนกับแม่ ข้อความเหล่านั้นมันช่วยปลดล็อคเราได้จริงๆ 

นอกจากนั้นระหว่างที่อยู่ในห้องขัง ผมได้กำลังใจเล็กๆ จากเพื่อนผู้ต้องหาด้วยกัน พี่บรรยิน (บรรยิน ตั้งภากรณ์) กับพี่อ้อ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาเด็ดขาด โทษประหารชีวิต พวกเขาตะโกนคุยกับผมในวันที่ผมเครียด

ผมจำได้ว่า เขาถามผมว่าโดนคดีอะไรมา ถ้าโดนคดีการเมือง อย่าไปเครียด กูหนักกว่ามึงเยอะ นี่คือคำพูดของพี่ๆ ที่ช่วยคุยกับผม และพยายามทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย

นอกจากนี้พี่อ้อยังส่งหนังสือมาให้ผมอ่านฆ่าเวลา หนังสือชื่อว่า ลับ ลวง พราง แกบอกว่าเอาไปอ่านจะได้ไม่เครียด ผมก็อ่านๆ ไปครับ มันไม่มีอะไรให้ทำ 

เวลา 14 วันที่อยู่ในห้องนั้นมันเหมือน 14 เดือน วันที่ฟ้าครึ้มเป็นวันที่เศร้าที่สุด เพราะมันหดหู่มาก มันมีความรู้สึกว่าอยากฆ่าตัวตาย เพื่ออยากให้จบปัญหา แฟน พี่น้อง ครอบครัวจะได้เสียใจรอบเดียว แต่สุดท้ายก็ทำไม่ลง

10 กว่าปีที่ทำงานเพื่อชุมชน เด็กและเยาวชน การทำงานด้านนี้มันมาช่วยคลี่คลายความรู้สึกได้บ้างไหม 

10 วันแรกที่ติดอยู่นั้น มันไม่ได้ช่วยเลย 

ทักษะการพูดหรือกระบวนการต่างๆ ที่เราเคยทำได้ มันใช้กับผมไม่ได้เลย เพราะผมไม่มีจิตใจจะทำมันด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ใช้ได้คือการพยายามข่มตัวเองให้หลับและผ่อนคลายจากความเครียด พยายามหายใจเข้าออกลึกๆ ไม่เกร็งตัว ซึ่งมันทำให้ผมนอนได้ในวันที่ 4 ที่ 5 เพราะก่อนหน้านั้นผมไม่ได้หลับเลย

หลังจากทนทรมานมาในห้องขัง วินาทีแรกที่คุณได้รับอิสรภาพรู้สึกอย่างไรบ้าง

พอรู้ว่าได้ปล่อยตัวมันหดหู่กว่าเดิม (หัวเราะ) 

เช้าวันนั้น (2 พฤศจิกายน 2563) มีแต่ความคลุมเครือ เพราะมันมี 2 คดีที่ต้องรับฟังคำสั่งศาล คือคดีผมกับเอกชัย (หงส์กังวาน) ที่โดนมาตรา 110 กับคดีที่สองคือของอานนท์ (นำภา) กับพี่สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) เวลามันยืดเยื้อจนมาถึงช่วงเย็น เจ้าหน้าที่ก็เรียกพวกเรามานั่งฟังว่าศาลยกคำร้องฝากขัง

ความรู้สึกเราตอนนั้นมันโล่งนะ เหมือนหลุดพ้นคดีเลย เพราะเวลาที่ผ่านมามันมีแต่ความอึดอัด การหลุดออกมาจากสภาวะนั้นจึงเหมือนหลุดพ้นจากคดี ทั้งที่มันเป็นแค่ปล่อยตัวชั่วคราวนั่นแหละ

หลังจากออกมาก็ขอบคุณพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ช่วยสื่อสารเรื่องของพวกเรา แต่ตอนแรกแอบกังวล เพราะเราออกมาตอนเที่ยงคืน กลัวเรื่องความปลอดภัย

หลังจากออกมาเราได้พบจิตแพทย์ เพราะสภาพจิตใจไม่ค่อยโอเค มันเหมือนคนประสบอุบัติเหตุและบาดเจ็บทางจิตใจ 

พอได้ออกมาใช้ชีวิต พี่ๆ น้องๆ เพื่อนพ้องที่ทำงานด้วยกัน เขาช่วยจัดงานบายศรีรับขวัญและเรียกกำลังใจของผมให้กลับคืนมา จริงๆ ผมอยากกลับไปทำงานที่ตัวเองเคยทำนะ แต่สุดท้ายไฟในตัวที่เคยมีมันหายไปหมด เพราะตลอดเวลาที่ผมติดอยู่ในนั้น ศักยภาพของผมมันถูกกดทับและลิดรอนไปแล้ว ทำให้ผมไม่เหมือนเดิม 

คุณคาดหวังกับคำตอบของอัยการในวันที่ 31 มีนาคม 2564 อย่างไรบ้าง

ผมก็ยังไม่กล้าเดินทาง ยังคงอยู่กับที่ และไม่กล้าเสพข่าวตัวเองอยู่ดี จากวันนั้นอัยการเลื่อนนัดมา 2 รอบแล้ว ระหว่างนี้มันก็ยิ่งกระอักกระอ่วน เพราะมันไม่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้วอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด จะดันให้เราสู้ เราก็ต้องสู้อย่างเข้มแข็ง แต่ถ้าถามความคาดหวัง ผมก็หวังว่าความยุติธรรมจะมีจริง อัยการอาจจะไม่ฟ้องมาตรา 110 เพราะเวลาผ่านไปหลักฐานที่มีมันชัดเจนมากขึ้นว่าทุกคนตรงนั้นไม่รู้ว่าจะมีขบวนเสด็จผ่าน สื่อก็ตีแผ่ออกไปว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมไม่ทราบเลยว่าวันนั้นจะมีขบวนเสด็จ 

จาก #ม็อบ14ตุลา จนวันนี้ การเมืองยังคงร้อนระอุ การชุมนุมที่ผ่านมาเราเห็นปรากฏการณ์ล้อมจับผู้ชุมนุม แม้กระทั่งเยาวชนเอง คุณรู้สึกอย่างไร

เอาจริงๆ ในช่วงที่ผ่านมา ผมยังพอมีความเชื่อและมีความหวังอยู่บ้าง ว่าพวกเรายังพอแสดงออกซึ่งเสียงและเสรีภาพของเราได้บ้าง ยังไม่ถึงขั้นปิดประตูตาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มันเกินไปครับ 

ภาพของเด็กเยาวชนที่เขาออกไปแสดงออก ออกไปส่งเสียงว่าสิ่งที่รัฐทำ เขาไม่เห็นด้วย แต่ถูกจับโดยใช้ความรุนแรง ผมพูดตรงๆ ว่ามันไม่ชอบธรรมเลย การชุมนุมแต่ละครั้ง เราไม่เคยเห็นรัฐทำตามอนุสัญญาของสิทธิเด็กเลย คุณไม่เคยออกมาคุ้มครองเยาวชน 

การออกไปอยู่ในที่แห่งนั้น เยาวชนเขาออกไปในฐานะผู้ร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย กลับโดนปราบด้วยข้อหารุนแรง สิ่งที่รัฐทำในวันนี้กำลังดึงประเทศให้กลับไปสู่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเยาวชน ในทางตรงข้าม คุณควรจะดีใจด้วยซ้ำที่เยาวชนในประเทศวันนี้เขาตระหนักถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง เพราะเขาคืออนาคตของชาติ 

การโดนคดีในมาตรา 110 ที่นับว่าเป็นคดีต้องโทษร้ายแรง มันทำให้ธงในใจคุณเปลี่ยนไปไหม

สำหรับผมมันยังชัดเจนนะ สิ่งที่เราควรทำและพยายามทำคือ การไม่ดูดายต่อระบบความคิดเดิมๆ เช่น อย่าไปยุ่งการเมืองเลย อย่าเอาตัวเองไปเสี่ยงหรือเอาชีวิตไปแลก ผมว่าถ้าเราจัดการระบบความคิดนี้ได้ อย่างน้อยๆ คนรอบตัวเราก็น่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่ออะไร 

อย่างที่บอกว่าประชาธิปไตยมีนิยามที่หลากหลาย ผมเห็นด้วยนะ โอเค ถ้าคนจะพุ่งไปที่ประชาธิปไตยในระบบการเมือง แต่อย่าหลงลืมถึงความเป็นประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตั้งแต่วิถีชุมชน หรือการปลูกฝังประชาธิปไตยให้คนรุ่นใหม่ๆ เพราะท้ายที่สุด เมื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากเรื่องเล็กๆ มันก็งอกเงยขึ้นมาและส่งผลไปถึงระบบใหญ่ได้ง่ายขึ้น

ที่ผ่านมาเราเห็นความตาย เห็นการบาดเจ็บ เห็นผู้คนที่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพเพราะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม นั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเองนะครับ ผมเองก็ไม่ยอมให้ธงที่มันปักในใจของเราหายไปไหนเช่นกัน

มีอะไรจะกล่าวถึง #เพื่อนเรา ที่ขณะนี้พวกเขาอยู่ในห้องขัง เช่นเดียวกับที่คุณเคยอยู่บ้างไหม

ผมมีความเป็นห่วงทุกคนด้วยหัวใจจริงๆ ผมสัมผัสชีวิตในนั้นมาแล้ว ทุกอย่างมันไม่มีอะไรปกติเลยสักอย่าง มีแต่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย มันมีมือมืด มีมือที่มองไม่เห็น มันมีวิธีการใหม่ๆ ที่เขาพร้อมจะจัดการ ผมว่ามันถึงเวลาแล้ว เราทุกคนที่อยู่ข้างกัน ต้องต่อสู้เพื่อส่งเสียงให้ดังไปถึงข้างใน

ผมอยากให้เพื่อนๆ หรือคนที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน อย่าลืมพวกเขา ไม่ใช่แค่แกนนำ แต่รวมถึงทุกคน เด็ก เยาวชน คนตัวเล็กตัวน้อย ทุกคนสำคัญหมด ผมเคารพในความเสียสละของทุกคน

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ศิลปศาสตรบัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่สนุกและใส่ใจกับทุกงาน ไล่ตั้งแต่งานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า