เปิดกลยุทธ์โรงงานผลิตอาวุธปลอมยูเครน เนียนซะจนรัสเซียว้าวุ่น

‘รบไม่ได้ด้วยอาวุธจริง ก็ล่อมันด้วยอาวุธปลอม’ อาจเรียกได้ว่าเป็นสโลแกนที่กองทัพยูเครนใช้ในการรบกับรัสเซียในสงครามที่กำลังเกิดขึ้น 

สัปดาห์ที่แล้ว สื่อต่างประเทศหลายสำนักพากันเผยแพร่เรื่องและภาพเกี่ยวกับโรงงานผลิตอาวุธของยูเครนที่ทำให้โลกตาค้างกับเทคโนโลยี วัตถุดิบ และกำลังคนที่อยู่เบื้องหลังอาวุธทรงอานุภาพที่ทำให้กองทัพรัสเซียต้องสูญเสียอาวุธทันสมัยเพื่อต่อกรด้วยเป็นจำนวนมาก 

เมตอินเวสต์ (Metinvest) คือชื่อโรงงานผลิตอาวุธนั้น ตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของประเทศ เดอะ การ์เดียน (The Guardian) สื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ เขียนบรรยายว่า “เป็นโรงงานที่เต็มไปด้วยฝุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอาวุธชาวยูเครนที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กำลังเร่งผลิตปืนใหญ่ที่ไม่มีวันยิงได้ รถบรรทุกติดเรดาร์ที่จะไม่สามารถตรวจหาสิ่งใดเจอ และขีปนาวุธที่ไม่มีหัวรบหรือวัตถุระเบิด”

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์กองเกลื่อนเต็มโรงงาน ทั้งพลาสติก กระดาษกล่อง เศษไม้ แผ่นโฟม แท่งโลหะ กาว ตะปู น็อต ค้อน อุปกรณ์เชื่อม และอื่นๆ อีกมากมาย หลายอย่างเป็นอุปกรณ์ช่างพื้นฐานที่หลายคนมีติดบ้าน คนงานที่นั่นบอกว่า หาอะไรได้ก็เอามาใช้ผลิตอาวุธได้หมด 

ขณะที่หัวหน้าผู้ควบคุมโรงงานแห่งนั้นให้สัมภาษณ์กับ ไฟแนนเชียล ไทมส์ (Financial Times) ว่า พวกเขาต้องพยายามผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้ “เบาพอที่จะเคลื่อนย้ายได้ง่าย แต่ต้องเหมือนจริงพอที่จะหลอกกองทัพรัสเซียที่ใช้โดรนสุดไฮเทคคอยสอดแนมหาที่ตั้งของกองทัพยูเครนได้”

ใช่แล้ว เมตอินเวสต์ คือโรงงานผลิตอาวุธปลอมที่มีหน้าที่หลักคือ ใช้ล่อเป้าให้กองทัพรัสเซียระดมสรรพกำลังมาถล่ม

“ความสำเร็จของเราคือ การที่อาวุธล่อเป้าของเราถูกทำลาย เมื่อรัสเซียทำลายเรา นั่นหมายความว่าเราสามารถประหยัดอาวุธจริงและปกป้องการสูญเสียชีวิตทหารของเราได้ และข้าศึกก็ต้องสูญเสียอาวุธอานุภาพสูง ราคาแพงๆ มาถล่มอาวุธปลอมของเรา” หัวหน้าคนงานในโรงงานเมตอินเวสต์กล่าวกับไฟแนนเชียล ไทมส์ โดยปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อจริง

รบด้วยสมอง ไม่ต้องใช้กำลัง

และแล้วสิ่งที่พวกเขาทำมาตลอดก็บรรลุเป้าหมาย ความสำเร็จล่าสุดเกิดขึ้นไม่นานมานี้ เมื่อกองทัพรัสเซียยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง Kh-35 ถล่มระบบเรดาร์ปลอมที่เมตอินเวสต์ผลิตขึ้นมา โดย Kh-35 มีมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ถูกออกแบบมาให้สามารถจมเรือรบผิวน้ำขนาด 5,000 ตัน ขณะที่ระบบเรดาร์ปลอมของยูเครนที่ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากตั้งอยู่เฉยๆ ราคาไม่เกิน 1,000 เหรียญ 

เมตอินเวสต์ เป็นการรวมพลังกันของผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ๆ ในยูเครน รวมถึงเจ้าของโรงงานเหล็กกล้า 2 แห่ง ในมาริอูปอล (Mariupol) เมืองเล็กๆ ที่ถูกกองทัพรัสเซียยึดไปช่วงกลางปีที่แล้ว โดยมี ไรนัต อัคมีตอฟ (Rinat Akhmetov) มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในยูเครนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ความคิดในการผลิตอาวุธปลอมเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของสงคราม ก่อนที่ยูเครนจะได้รับการสนับสนุนอาวุธที่ทันสมัยจากประเทศตะวันตก 

“ตอนนั้นเราคิดแค่ว่า ถ้ารัสเซียเห็นว่าเรามีอาวุธจำนวนมาก พวกมันอาจจะกลัวที่จะเคลื่อนทัพต่อ และไม่กล้าปิดล้อมเรา” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเมตอินเวสต์กล่าว 

ในช่วงต้นของสงครามเมตอินเวสต์ยังไม่ได้ประณีตกับการผลิตอาวุธปลอมเท่าใดนัก บางชิ้นผลิตมาแล้วตั้งหลอกไว้ ศัตรูยังไม่ทันมาเห็นก็ปลิวหายไปกับสายลม แต่ด้วยความคาดไม่ถึงของกองทัพรัสเซียว่าจะต้องเจอกับอาวุธกำมะลอของยูเครน ในช่วงแรกกองทัพรัสเซียเห็นอะไรที่หน้าตาคล้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ยิงถล่มไว้ก่อน แต่เมื่อถูกหลอกมากขึ้น รัสเซียเริ่มพิถีพิถันในการวิเคราะห์เป้าหมายมากขึ้น อาวุธปลอมเพื่อล่อเป้าของยูเครนจึงต้องถูกผลิตอย่างพิถีพิถันตามไปด้วย 

หลังจากที่รัสเซียสิ้นเปลืองอาวุธจริงแสนยานุภาพสูงจำนวนมากเพื่อถล่มขีปนาวุธปลอมของยูเครน เพียงเพื่อจะพบกับความจริงภายหลังว่า ทั้งหมดนั้นเป็นอาวุธที่ไม่มีศักยภาพใดๆ เป็นเพียงอาวุธกำมะลอของยูเครน รัสเซียก็เริ่มใช้เรดาร์ตรวจจับความร้อนของอาวุธยูเครนที่พบเห็น หากอาวุธใดมีรังสีความร้อนแผ่ออกมา สันนิษฐานได้ว่าเป็นอาวุธจริงแล้วจึงยิงถล่ม เมตอินเวสต์จึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาวุธปลอมให้สามารถเพิ่มอุณหภูมิตัวเองและแผ่รังสีความร้อนได้เมื่อเวลาผ่านไป

“เราต้องคอยฟังฟีดแบ็กจากทหารแนวหน้า ถ้าอาวุธหรืออุปกรณ์อะไรที่เราผลิตไปแล้วกองทัพรัสเซียไม่สนใจ แปลว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาด เราต้องเอากลับมาแล้วหาทางพัฒนาใหม่ให้ดีขึ้น” 

แม้จะเป็นเพียงโรงงานผลิตอาวุธปลอม แต่เมดอินเวสต์ก็มีฝ่ายวิเคราะห์การตลาดที่คอยติดตามเทรนด์อาวุธใหม่ๆ ในตลาดโลก รวมถึงการสอบถามกองทัพที่ต้องถามต่อไปยังทหารในแนวหน้าว่าต้องการอาวุธอะไรบ้าง แล้วเสิร์ชกูเกิลเพื่อหารายละเอียดและปรินต์แบบทุกแง่ทุกมุมเท่าที่หาได้ในกูเกิล เพื่อส่งต่อให้ฝ่ายผลิตที่ต้องผลิตอาวุธปลอมขึ้นมาให้ได้ขนาดเท่าอาวุธจริงชนิด 1:1 

อาวุธและยุทโธปกรณ์ที่เมตอินเวสต์ผลิตมาแล้ว เช่น ปืนฮาวอิตเซอร์ (Howitzer) พิสัยไกล ทั้งรุ่น D20 และ M777 ระบบเรดาร์ป้องกันการโจมตีทางอากาศและขีปนาวุธชั้นนำของโลก อย่าง Sentinel A4 และ 35D6M ไม่เว้นแม้แต่จรวดหลายลำกล้อง HIMARS (High Mobility Artillery Rocket System) ที่สหรัฐอเมริกาส่งไปสนับสนุนยูเครนเมื่อกลางปีที่แล้ว และเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญในสมรภูมิที่ทำให้ยูเครนเป็นฝ่ายรุกไล่จนกองทัพรัสเซียตั้งล่าถอยไปช่วงหนึ่ง

กองทัพกระดาษ กลลวงในประวัติศาสตร์สงครามนาซี

เมตอินเวสต์ ไม่มีนักออกแบบมืออาชีพ ไม่มีคนที่มีประสบการณ์ทางการรบ ไม่มีคนที่รู้จักอาวุธหนักในการทำสงครามมาก่อน กำลังการผลิตส่วนใหญ่คือคนงานเดิมของโรงงานเหล็กและเหล็กกล้าต่างๆ แรงขับสำคัญที่ทำให้ทุกคนผันตัวมาเป็นนักสร้างอาวุธล่อเป้าคือ ความเจ็บแค้นที่เห็นรัสเซียปิดล้อมและถล่มประเทศของพวกเขา โดยเฉพาะอดีตคนงานโรงเหล็กในมาริอูปอล เมืองที่โดนถล่มและยึดไปเป็นเมืองแรก

ตั้งแต่ตั้งโรงงานมา เมตอินเวสต์ส่งอาวุธปลอมให้กับกองทัพยูเครนแล้วกว่า 250 ชิ้น กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 10-15 ชิ้น ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและซับซ้อนของอาวุธแต่ละชิ้น หากเป็น Howitzer M777 ก็ง่ายหน่อย ใช้เวลาแค่ 14 วัน ถ้า Sentinel A4 ก็ 3 สัปดาห์ แต่ถ้าชิ้นส่วนเยอะๆ มีความซับซ้อนอย่าง เรดาร์ 35D6M ก็ใช้เวลาผลิตอย่างน้อย 1 เดือน มีทั้งการผลิตและประกอบสำเร็จจากโรงงาน และการส่งเป็นชิ้นส่วนไปประกอบหน้างานในสนามรบจริง เพื่อให้เคลื่อนย้ายง่าย การประกอบหน้างานส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ต้นทุนการผลิตอาวุธแต่ละชิ้นต่ำสุดอยู่ที่หลักร้อยยูโร แพงสุดประมาณ 2,000-3,000 ยูโร เทียบกันไม่ได้กับราคาอาวุธจริงที่รัสเซียใช้ถล่มยูเครน

การผลิตอาวุธปลอมและการหลอกลวงข้าศึกไม่ใช่เรื่องใหม่ในการทำสงคราม แต่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์สงครามของโลกเลยทีเดียว การปลอมและหลอกลวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามของโลกเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐจัดตั้งกองทัพผี (Ghost Army) ที่ชื่อว่า ‘กองทัพที่ 1 แห่งสหรัฐอเมริกา’ (First United States Army Group: FUSAG) มีนายพล (จริง) เป็นผู้บัญชาการเพื่อหลอกลวงกองทัพนาซีแห่งเยอรมนี FUSAG เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนอร์มังดี (Normandy Invasion) ใน ค.ศ. 1944 ที่สหรัฐและฝ่ายสัมพันธมิตรวางแผนตั้งแต่ปี 1943 ว่าจะเบี่ยงเบนความสนใจของกองทัพนาซีให้เฝ้าระวังการบุกรุกทางปาสเดอกาแลส์ (Pas-de-Calais) แทนการให้ความสนใจกับนอร์มังดี 

FUSAG ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบ อาคารปลอมที่ทำหน้าที่กองบัญชาการถูกสร้างขึ้นที่ฝั่งอังกฤษ ตรงข้ามกับปาสเดอกาแลส์ของฝรั่งเศส รถถัง เครื่องบินรบ เรือรบ และอาวุธปลอมอื่น ทำจากยางเป่าลม และกระดาษแข็งจำนวนมากถูกติดตั้งเพื่อแสดงแสนยานุภาพและความพร้อมรบ คลื่นวิทยุปลอมถูกสร้างขึ้น ในแต่ละวัน นายพลจอร์จ เอส พัตตัน (George S Patton) แห่งกองทัพสหรัฐที่มีความเก่งกล้าทางการรบคนหนึ่ง จะบัญชาการกองทัพกระดาษของเขาผ่านทางคลื่นวิทยุปลอม เพื่อจงใจให้ฝ่ายเยอรมนีดักจับการสั่งการนั้นได้ และกองทัพกระดาษจะมีการเคลื่อนพลตามการสั่งการเพื่อความสมจริง 

กองทัพ FUSAG มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ปฏิบัติการนอร์มังดีสำเร็จอย่างง่ายดาย เพราะฝ่ายเยอรมนีเตรียมรับมือกับกองทัพกระดาษฝั่งปาสเดอกาแลส์ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนตัวอย่างเงียบๆ ของกองทัพจริงที่เตรียมขึ้นฝั่งที่นอร์มังดี

รถถังเป่าลมของ FUSAG สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (photo: britannica.com)
เรือรบปลอมของ FUSAG ประจำการในท่าเรือทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ ช่วงใกล้วันที่กองกำลัง (จริง) ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ (D-Day) ที่นอร์มังดี (Photo: warhistoryonline.com)

ในการรบกับยูเครนครั้งนี้ รัสเซียเองก็ใช้ยุทโธปกรณ์ปลอมเพื่อข่มขวัญยูเครนด้วยเช่นกัน ต้นปีที่ผ่านมาเพจเฟซบุ๊กทางการของเจ้าหน้าที่กองทัพยูเครนคนหนึ่ง (General Staff of the Armed Forces of Ukraine) เผยแพร่ภาพรถถังจำลองที่กองทัพรัสเซียนำไปตั้งไว้ในภูมิภาคคอซแซค (Cossack) ของยูเครน พร้อมคำบรรยายภาพว่า “รถถังยางเป่าลมของผู้ที่เข้ามายึดครองเรา น่าจะไม่เหมาะกับกระแสลมของคอซแซค ลมจึงรั่วออกโดยที่มันยังไม่ทันได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ” 

การผลิตอาวุธปลอมเพื่อล่อเป้า กำลังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการทหารในหลายประเทศ และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตามพัฒนาการของอาวุธจริง อาวุธปลอมบางอย่างทำหน้าที่เพียงการตั้งอยู่เฉยๆ เพื่อแหกตาโดรนและดาวเทียมสอดแนมที่คอยภาพถ่ายทางอากาศ รวมทั้งภาพถายดาวเทียมเพื่อประเมินขุมกำลังของข้าศึก ขณะที่อาวุธปลอมอีกจำนวนมากสามารถปฏิบัติการเชิงรุก ส่งสัญญาณความร้อนและเรดาร์ต่างๆ เพื่อหลอกล่อขีปนาวุธของศัตรูได้อย่างสมจริงมากขึ้น 

แม้ยูเครนจะไม่มีศักยภาพในการผลิตอาวุธจริงเพื่อแข่งกับใครในตลาดค้าอาวุธ แต่เทคโนโลยีการผลิตอาวุธปลอมของพวกเขาไม่น้อยหน้าใครเลย ความว่าวุ่นจึงตกอยู่ที่กองทัพรัสเซียอย่างช่วยไม่ได้ 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า