วิศวกรยูเครน vs ขีปนาวุธรัสเซีย ผู้รักษาระบบพลังงานให้รอดพ้นจากจรวดปูพรมทั่วประเทศ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 มีนาคม 2566) รัสเซียทิ้งระเบิดโจมตีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) และโอเดซา (Odesa) ของยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย และทำให้กระแสไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทางการยูเครนเผยว่า ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียยิงจรวดขีปนาวุธเข้าโจมตีถึง 81 ลูก แต่ทางกองทัพยูเครนสามารถสกัดกั้นได้ 34 ลูก 

หากวัตถุประสงค์ของการโจมตีทางอากาศระลอกใหญ่ของรัสเซียครั้งนี้ คือการตัดขาดแหล่งพลังงานของยูเครน ก็ดูเหมือนว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก เนื่องจากวิศวกรยูเครนสามารถหาหนทางทำให้การจ่ายพลังงานไปยังทั่วประเทศดำเนินต่อไปได้ แม้ระเบิดของรัสเซียจะทำลายหม้อแปลงไฟฟ้า สะพานไฟ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายอย่างไปก็ตาม

ขณะเดียวกัน ในเมืองหลวงอย่างเคียฟ (Kyiv) และเมืองอื่นๆ วิศวกรยูเครนสามารถแก้ไขปัญหาด้านพลังงานจนแสงไฟบนท้องถนนกลับมาสว่างอีกครั้ง ทำให้พลเมืองยูเครนอุ่นใจมากขึ้นหลังต้องเดินทางท่ามกลางความมืดมิด โดยมีเพียงแสงแฟลชจากโทรศัพท์มือถือนำทางมาเป็นเวลานาน

แม้ปัจจุบันทางกองทัพยูเครนจะไม่สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธทุกลูกที่โจมตีเข้ามา แต่ความสามารถในการสกัดกั้นการโจมตีทางอากาศของยูเครนก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน เพื่อรับมือกับขีปนาวุธชนิดที่ยากจะสกัดกั้น เช่น ‘Kh-22’ ขีปนาวุธต่อต้านเรือระยะไกล ซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายจากระดับความสูงมากจนยากจะตรวจสอบและสกัดกั้นได้ทันเวลา และ ‘S-300’ ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่แม้จะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน แต่รัสเซียก็นำมาใช้โจมตีปูพรมทั่วผืนแผ่นดินยูเครนตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พันธมิตรชาติตะวันตกเชื่อว่า การโจมตีครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียกำลังขาดแคลนอาวุธที่สามารถระบุพิกัดโจมตีอย่างแม่นยำ ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการค่อนข้างนาน รัสเซียจึงตัดสินใจโจมตีด้วยอาวุธเท่าที่มี และใช้แม้กระทั่งอาวุธที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการโจมตีภาคพื้นดิน และนั่นก็ทำให้การโจมตีเหล่านี้แทบไม่สามารถการันตีประสิทธิภาพได้แม้แต่น้อย 

กระนั้น มีแนวโน้มว่ารัสเซียจะยังคงปฏิบัติการโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงานของยูเครนต่อไปอย่างไม่ลดละ

อ้างอิง
Ukraine war: Why Russia’s infrastructure strikes strategy isn’t working
Ukraine war: Russian air strikes cut power at Zaporizhzhia nuclear plant

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า