สหประชาชาติ กลุ่มสิทธิฯ ประณามการรังคัดรังแกชาวเพศทางเลือก

ภาพ: Ghvinotsdaati (CC BY 3.0) via Wikimedia Commons

เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมและลงโทษชาวเกย์และคนมีเพศสภาวะตามทางเลือกของตน (LGBT) ในอาเซอร์ไบจาน อียิปต์ และอินโดนีเซีย ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยกล่าวว่า รัฐบาลทั้งสามได้กระทำการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดย หน่วงเหนี่ยวกักขัง รุมข่มเหง และทำทารุณ คนเหล่านั้น

หลายหน่วยงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสิทธิชาวเกย์ พากันออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้ประเทศทั้งสามปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมให้เป็นอิสระ ยกเลิกการรังคัดรังแก และเลิกใช้กฎหมายล้าหลัง พร้อมทั้งแฉถึงการทรมานและประจานหยามหยันให้ผู้ต้องหาได้รับความอับอาย

ผู้คนที่ถือตนเองว่ารวมอยู่ในกลุ่มชน LGBT หรือ LGBTQ เป็นผู้ที่มีเพศสภาวะหรือความรู้สึกส่วนตนไม่ตรงกับเพศกำเนิด และในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ถือว่าเป็นความบกพร่องทางจิตใจหรือเป็นการผิดกฎหมาย ได้แก่ หญิงเลสเบียน (lesbian) ชายรักร่วมเพศ (gay) คนที่มีเพศสัมพันธ์ได้กับทั้งสองเพศ (bisexual) คนข้ามเพศ (transgender) และคนผิดแปลกทางเพศหรือยังคงมีคำถามเกี่ยวกับเพศสภาวะของตนเอง (queer หรือ question) และในยุคปัจจุบันมักเรียกกันโดยรวมว่า เป็นคนใน ‘เพศทางเลือก’

การจับกุมชาวมุสลิมประมาณ 80 คนในอาเซอร์ไบจาน 50 คนในอียิปต์ และ 58 คนในอินโดนีเซีย ระหว่างสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องประสานกัน แต่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่า การจับกุมเปิดเผยให้เห็นถึงรูปแบบแผนเฉพาะของการเลือกปฏิบัติบางประการ และการล่วงละเมิดที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ในวงกว้าง

ผู้มีอำนาจในบากู (Baku) เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ได้จับกุมบุคคลกว่า 80 คน ในฐานะที่เป็นเลสเบียน เกย์ กะเทย หรือคนข้ามเพศ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน โดยมีรายงานว่า บางคนถูกเฆี่ยนตี ทำให้ช็อกด้วยกระแสไฟฟ้า และบังคับให้โกนผม รูเพิร์ต โคลวิลล์ (Rupert Colville) โฆษกของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติแถลงต่อผู้สื่อข่าวในกรุงเจนีวา

นอกจากนี้ตำรวจยังได้ใช้วิธีการประจานผู้เคราะห์ร้ายให้รู้สึกอัปยศอดสูต่อสาธารณะด้วยรูปแบบต่างๆ กัน รวมทั้งบังคับให้หลายคนที่ถูกจับกุมต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพ และเปิดเผยผลหรือรายละเอียดเกี่ยวกับรายงานทางการแพทย์ของผู้คนเหล่านี้ให้แก่ผู้สื่อข่าว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม กลุ่มสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้อาเซอร์ไบจานปลดปล่อยชาว LGBT หลายสิบคนจากที่คุมขัง หลังจากที่นักเคลื่อนไหวออกมาแพร่ข่าวว่า ได้มีการจับกุมและการละเมิดสิทธิพลเมืองหลายประการในประเทศเอเชียกลางแห่งนี้

หน่วยงานผู้สนับสนุนระหว่างประเทศ ‘สมาพันธ์ LGBT นานาชาติ’  (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association: ILGA) ซึ่งมีองค์กรสมาชิกมากกว่า 1,200 แห่ง แถลงว่า เป็นการยากที่จะระบุว่าการปราบปรามมีความรุนแรงระดับใด แต่การจับกุมก็ได้เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และระบุว่าประเทศที่มีประชากรชาติพันธุ์คอเคเชียนแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีมาตรการปฏิบัติอย่างเลวร้ายแสนสาหัสต่อพลเมืองชาว LGBT ของตนขนาดไหน

ทนายความของผู้ถูกจับกุมหลายคนกล่าวว่า ลูกความของตนถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย รวมทั้งโดนด่าทอประณามด้วยวาจา และถูกบังคับให้ตรวจสุขภาพ แต่รายงานนี้ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้อย่างเป็นอิสระ

เจ้าหน้าที่ของอาเซอร์ไบจานทั้งในกรุงลอนดอนและบากูไม่ยอมตอบสนองต่อคำเรียกร้องขอให้แสดงความคิดเห็น

“ไม่มีเหตุผลชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับการเพ่งเล็งเป้าหมายไปยังประชาชนที่เห็นว่าเป็นสมาชิกของชุมชน LGBT อย่างไม่เลือกหน้า” ผู้บริหารของ ILGA ในยุโรป เอเวอลีน พาราดิส (Evelyne Paradis) กล่าว

“เรากังวลเรื่องชะตากรรมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการปราบปราม และกำลังเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้” เธอระบุในแถลงการณ์

กลุ่มสิทธิเกย์อังกฤษ ‘สโตนวอลล์’ (Stonewall) กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าการจับกุมเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการค้าประเวณี แต่นักเคลื่อนไหวระบุว่าคน LGBT ถูกหมายหัวไว้โดยเฉพาะแล้ว

และเสริมว่า พวกผู้หญิงแปลงเพศถูกบังคับให้โกนผม

นักเคลื่อนไหวในท้องถิ่นกล่าวว่าพวก LGBT อย่างน้อย 50 คน ถูกกักตัวไว้หลังการจู่โจมจับกุมโดยตำรวจทั่วเมืองบากูในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา “ถนนสายเมน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และสถานที่ที่เป็นมิตรกับ LGBT เช่นคลับ ผับ และบาร์ เป็นเป้าหมายหลัก” นักกิจกรรมจากบากูที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อบอกกับ Reuters

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในสวีเดน ‘ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง’ (Civil Rights Defenders) กล่าวว่า จำนวนการจับกุมอาจมีถึงหลายร้อยคน และเสริมว่า จำนวนมากได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่ถูกบังคับให้บอกที่อยู่ของเพื่อนสมาชิกชุมชนชาว LGBT คนอื่นๆ

ระหว่างการพูดคุยกับสำนักข่าวท้องถิ่น APA โฆษกกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธการบุกเข้าจับกุมโดยเพ่งเล็งกลุ่มคนเพศทางเลือก โดยบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน

โฆษก เออร์ชาน ซาคิดอฟ (Eskhan Zakhidov) กล่าวว่า “ผู้ถูกจับกุมคือคนที่แสดงการกระทำที่ขาดความเคารพต่อผู้อื่น สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นคนที่น่ารังเกียจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชื่อว่าพวกนี้มีพาหะเชื้อโรคที่อาจติดต่อผู้อื่นได้”

ภาพ: Ghvinotsdaati (CC BY 3.0) via Wikimedia Commons

การเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในอาเซอร์ไบจาน แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง ประเทศในกลุ่มชาติพันธุ์ผิวขาวนี้ถูกจัดอันดับอยู่ที่ตำแหน่งเลวร้ายที่สุดในยุโรปสำหรับคน LGBT ในการสำรวจปี 2016 โดย ILGA

การระดมปราบปรามดังกล่าวเกิดขึ้นตามมาหลังจากการล้อมจับชาว LGBT ในแคว้นเชชเนียของสมาพันธ์รัสเซีย เพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ซึ่งเชื่อกันว่ามีชายชาวเกย์กว่า 100 คนถูกกวาดล้างจับกุมและทรมานเมื่อต้นปีนี้

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงมหาดไทยในบากูยังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทำงานตอบสนองต่อคำเรียกร้องของประชาชนในการปราบปรามการค้าประเวณี แต่ทนายความของผู้ถูกคุมขังกล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี และข้อกล่าวหานี้เป็นเพียงข้ออ้าง

ในที่สุด ทุกคนที่ถูกคุมตัวในอาเซอร์ไบจานได้รับการปลดปล่อย แต่บางคนก็ถูกจำคุกระยะสั้นๆ ในข้อกล่าวหาเรื่อง ‘นักเลงอันธพาล’ และ ‘ขัดขืนคำสั่งของตำรวจ’ รูเพิร์ต โคลวิลล์ แห่งยูเอ็นแถลง เขากล่าวเพิ่มเติมว่า

การจับกุมใดๆ ด้วยเหตุผลเรื่องรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพตามจริงหรือโดยนัยที่กำหนดรู้ได้ เป็นการกระทำโดยพลการและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทางการอียิปต์ได้จับกุมผู้คนกว่า 50 คนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอิงตามเหตุผลของรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่เข้าใจว่าแฝงเร้นอยู่ในตัวตน ซึ่งบางส่วนโดนจับหลังจากเจ้าหน้าที่ปลอมตัวหลอกล่อให้พูดคุยกันในเว็บไซต์และห้องสนทนาออนไลน์หลายแห่ง โฆษกโคลวิลล์กล่าว

ฮาเหม็ด ซินโน (Hamed Sinno) นักร้องนำของ Mashrou’ Leila ผู้เปิดเผยตนเองว่าเป็นเกย์ / ภาพ: Elie plus (CC BY-SA 4.0) via Wikimedia Commons

ชายสองคนถูกจับกุมหลังจากโบกธงสีรุ้งระหว่างคอนเสิร์ตดนตรีร็อคที่ชานกรุงไคโรเมื่อเดือนที่แล้ว เขากล่าว ภาพการโบกธงของผู้ชมการแสดงโดยวงดนตรีแห่งเลบานอน ที่มีนักร้องเกย์อย่างเปิดเผยคนหนึ่งเป็นผู้นำวง ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ และถูกวิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการพยายามที่จะทำให้อียิปต์เสื่อมเสียชื่อเสียง

ตำรวจสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสองด้วยข้อกล่าวหา ‘เข้าร่วมกับกลุ่มผิดกฎหมายซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการรักร่วมเพศ’

โฆษกโคลวิลล์แห่งยูเอ็นกล่าวว่า ข้อกล่าวหาในการจับกุมดังกล่าวรวมถึงการ ‘ทำผิดศีลธรรมทางโลกีย์เป็นนิสัย’ ‘ปลุกระดมความลามกอนาจารและการเสเพล’ และ ‘เข้าร่วมกับกลุ่มต้องห้าม’ บางคนโดนตรวจสอบด้วยการล่วงล้ำช่องคลอดและทวารหนัก เขาระบุ มาตรการดังกล่าวถูกประณามโดยคณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติว่าเป็นเรื่องที่ “โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และดูแคลน”

ภาพชายสองคนโบกธงสีรุ้งในคอนเสิร์ตที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย

พวกที่ถูกจับกุมในอียิปต์มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับการปล่อยตัว ชาย 10 คนถูกจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงหกปี และยังมีอีกหลายคนที่ถูกจับกำลังรอการพิจารณาคดีในข้อหาลักษณะนี้

พวกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแห่งอียิปต์ ผู้ซึ่งกล่าวว่านับตั้งแต่ปี 2013 รัฐบาลได้จับกุมเกย์และบุคคลข้ามเพศมาแล้วมากกว่า 300 ราย ประกาศประณามการปราบปรามของรัฐว่า เป็นความพยายามจะหันเหความสนใจของสาธารณชนจากปัญหาสังคมด้านอื่นๆ

ที่อินโดนีเซีย ตำรวจบุกเข้าจับกุมชาว LGBT จำนวนมาก ที่ห้องซาวน่าในกรุงจาการ์ตาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “บนพื้นฐานของนัยกำหนดรู้รสนิยมทางเพศของบุคคลเหล่านั้น” โฆษกโคลวิลล์กล่าวในคำแถลง ต่อมาหลายคนได้รับการปล่อยตัว แต่ผู้ชายสี่คนและผู้หญิงคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาภายใต้ ‘กฎหมายว่าด้วยสิ่งลามกอนาจาร’ ซึ่งเคยถูกใช้เพื่อลงโทษคนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลเพศเดียวกัน

โฆษกโคลวิลล์แห่งยูเอ็นกล่าวว่า ทางการอินโดและอีกทั้งสองประเทศมักตั้งข้อกล่าวหาว่า ผู้ที่ถูกจับมีพฤติกรรมขายบริการทางเพศ “แม้ว่าเกือบทุกกรณีผู้ต้องหาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว หรือแสดงให้เห็นว่าพวกเขาถูกบังคับให้สารภาพผิด”

การรักร่วมเพศไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก และส่วนใหญ่รัฐไม่เข้าก้าวก่ายบุคคลในประเด็นจริยธรรมส่วนตัว แต่เนื่องจากระยะหลังกลุ่มศาสนาอนุรักษนิยมพุ่งขึ้นสู่ความโดดเด่นทางการเมืองมากกว่าแต่ก่อน ตำรวจก็ยิ่งหาทางปราบปรามชุมชน LGBT หนักข้อขึ้น

ในการกวาดล้างเมื่อสุดสัปดาห์นี้ ทางการจับกุมชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติรวม 58 คนที่ห้องซาวน่าในจาการ์ตา ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวเกย์ แล้วกล่าวหา LGBT เหล่านั้น ว่าล่วงละเมิดกฎหมายลามกอนาจารของประเทศ

กฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกของอินโดนีเซียฉบับปี 2008 นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ว่าเต็มไปด้วยความคลุมเครือ และระบุเหตุผลทางเทคนิคไม่อนุญาตให้มีการแสดงออกทางเพศต่อสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสวงผลกำไร แต่ในทางปฏิบัติมักถูกอ้างใช้ดำเนินการกับกลุ่มการเมืองที่อ่อนพลังและตกเป็นเหยื่อ

“เราเห็นว่าตำรวจหันมาสนใจกลุ่ม LGBT มากขึ้นโดยใช้กฎหมายลามกอนาจาร” ริกกิ กูนาวัน (Ricky Gunawan) ผู้อำนวยการสถาบันความช่วยเหลือด้านกฎหมายของชุมชน (Community Legal Aid Institute) ในกรุงจาการ์ตากล่าว ตามที่เป็นจริงเหตุการณ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานับเป็นครั้งที่สามแล้วที่ได้รับรายงานภายในปีนี้ เมื่อเดือนเมษายน ตำรวจเมืองสุราบายาได้บุกเข้าทลายงานปาร์ตี้ในโรงแรมแห่งหนึ่งด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน แล้วจับกุมชาย 14 คน และเมื่อเดือนพฤษภาคม 141 คนก็ถูกจับที่ห้องซาวน่าอีกแห่งหนึ่งในจาการ์ตา

“ชุมชนเหล่านี้มักถูกกำหนดเป็นเป้าหมายโดยตำรวจ แต่เราเห็นว่าเหตุการณ์เลวร้ายลงเรื่อยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อนักการเมืองระดับสูงหลายคนได้แถลงการณ์เกี่ยวกับชุมชน LGBT ว่าผิดศีลธรรม หรือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ” กูนาวันกล่าว

ความคิดเห็นของสาธารณชนหลายอย่างอาจทำให้ตำรวจเชื่อว่า การปราบปรามดังกล่าวเป็นไปตามที่ถูกควร แต่ส่วนที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดยอดเป็นคำกล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รามิซาร์ด ไรยาคูดู (Ryamizard Ryacudu) ซึ่งพูดเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ประเด็น LGBT เปรียบเสมือน ‘สงครามตัวแทน’ (proxy war) ที่กำลังคุกคามอำนาจอธิปไตยของชาติ

“นี่เป็นสงครามสมัยใหม่แบบหนึ่ง” เขากล่าวตามที่นิตยสาร Tempo ลงพิมพ์ไว้

มันมีอันตรายที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ว่าใครเป็นศัตรูของเรา แต่อยู่มาวันหนึ่งทุกคนก็ถูกล้างสมองไปอย่างไม่รู้ตัว แล้วขณะนี้ชุมชน (LGBT) ก็ส่งเสียงเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้น มันเป็นภัยคุกคามชัดๆ

ประธานาธิบดีโจโค ‘โจโควี’ วิโดโด (Joko ‘Jokowi’ Widodo) กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า หน้าที่ของตำรวจคือการปกป้องชุมชน LGBT และกลุ่มอื่นๆ จากการเลือกปฏิบัติ แต่เขาก็ยังคงเลี่ยงการอภิปรายถึงประเด็นนี้ตรงๆ ในขณะที่การปราบปรามทวีความรุนแรงมากขึ้น

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงผงาดขึ้นมีบทบาทสำคัญทางการเมืองของอินโดนีเซีย เช่น กลุ่ม ‘แนวหน้าปกป้องอิสลาม’ (Islamic Defenders Front: FPI) ซึ่งมีอิทธิพลในการจัดชุมนุมมวลชนเรียกร้องให้จำคุกผู้ว่าราชการชาวคริสต์คนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการดูหมิ่นศาสนาอิสลาม แล้วก็ทำได้สำเร็จตามปรารถนาเมื่อเดือนพฤษภาคม

และที่น่าแปลกคือ กฎหมายการกระทำลามกอนาจารนี้ก็ถูกใช้เพื่อมุ่งโค่นล้มนักการเมืองอิสลามหัวรุนแรงเองด้วย รายหนึ่งถูกข้อหาส่งข้อความและภาพลามกถึงภรรยาน้อยทางโทรศัพท์ จนต้องหนีออกนอกประเทศ นักวิเคราะห์หลายคนสงสัยว่าเจ้าหน้าที่กำลังใช้กฎหมายนี้เพื่อตัดปีกหางของขบวนการอิสลามที่ชักจะมีพลังมากเกินไปหน่อย

ข้อยกเว้นเกี่ยวกับความอดทนเรื่องทางเพศส่วนตัวของอินโดนีเซียที่แจ่มแจ้งคือ ในจังหวัดอะเจห์ ดินแดนอนุรักษนิยมและกึ่งปกครองตนเอง ซึ่งตอนนี้ศาลชารีอะห์ใช้วิธีการลงโทษจำเลยต่อหน้าสาธารณะ เมื่อเดือนพฤษภาคมชายสองคนถูกลงโทษเฆี่ยนตีด้วยหวายจากการมีเพศสัมพันธ์กัน

แต่แม้กระทั่งในเมืองใหญ่ที่มีเสรีภาพมาก เช่น จาการ์ตา ซึ่งมีคลับสำหรับกลุ่มเกย์และกลุ่มผู้สนับสนุนที่สามารถทำงานกันได้อย่างเปิดเผย การจับกุมครั้งนี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อชุมชน LGBT ที่นั่นอย่างมาก

“สถานการณ์ตอนนี้น่าเศร้าเหลือเกิน” อัซริล ฮาดิมีรซา (Azril Hadimirza) ประธาน ‘เครือข่ายพลเมืองหลากหลาย’ (People’s Diversity Network) ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนใหม่สำหรับชาว LGBT อินโดนีเซีย และชนกลุ่มน้อยอื่นกล่าว “คน LGBT ต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานหรือครอบครัวของตนเสมอมาอยู่แล้ว และตอนนี้ตำรวจก็ยิ่งลงมือใช้อำนาจรัฐกับเราในพื้นที่ส่วนตัวของเราหนักข้อขึ้นอีกด้วยเช่นกัน”


อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
theguardian.com
afp.com
nytimes.com

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า