เมื่อพลังงานถ่านหินกลายเป็นเรื่องล้าสมัยสุดๆ แน่นอนว่านอกจากกลุ่มนายทุนใหญ่จะปาดเหงื่อ บรรดาลูกจ้างก็หนักอกหนักใจไม่น้อย เพราะการจ้างงานในกลุ่มพลังงานฟอสซิลอื่นๆ ก็ถดถอยน้อยลงเรื่อยๆ
แต่ความหวังยังไม่สิ้น เพราะกราฟความต้องการแรงงานในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนกลับเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ – หรือนี่จะเป็นเรือโนอาห์ที่ช่วยชีวิตบรรดาแรงงานในกลุ่มพลังงานโบราณนับแสนนับล้านไว้
Renewable Energy Agency (IRENA) องค์การพลังงานเพื่ออนาคต ผู้ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับนานาชาติ เปิดเผยในรายงาน ‘Renewable Energy and Jobs: Annual Review 2016’ ว่า ถึงแม้ลูกจ้างจากอุตสาหกรรมพลังงานงานฟอสซิลจะตกงาน แต่การจ้างงานของกลุ่มพลังงานสีเขียวในระดับโลกปี 2015 ได้เพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 8.1 ล้านตำแหน่ง
สืบเนื่องจากวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำ การโยกย้ายแรงงานครั้งใหญ่นี้ทำให้การจ้างงานในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับกลุ่มน้ำมันและก๊าซที่ลดลงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ และที่จีน พลังงานหมุนเวียนมีอัตราการจ้าง 3.5 ล้านตำแหน่ง และพลังงานแบบเก่าเหลือเพียง 2.6 ล้านเท่านั้น โดยปรากฏการณ์ความต้องการแรงงานนี้เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี
พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นนายจ้างผู้มาใหม่แต่ใหญ่มากของโลก มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2014-2015 หรือราว 2.8 ล้านตำแหน่ง โดย 1.7 ล้านอยู่ที่จีน ในฐานะเจ้าพ่อผู้ผลิตแผงโซลาร์รายใหญ่ และ IRENA ยังคาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้าน ในปี 2030
[table caption=”อัตราการจ้างงานในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกในปี 2015″ width=”500″ colalign=”left|left”]
พลังงานแสงอาทิตย์;2.77 ล้านตำแหน่ง
เชื้อเพลงชีวภาพ;1.68 ล้านตำแหน่ง
พลังงานลม;1.08 ล้านตำแหน่ง
ระบบทำความร้อนและเย็นจากแสงอาทิตย์;939,000 ตำแหน่ง
มวลชีวภาพ;822,000 ตำแหน่ง
ก๊าซชีวภาพ;382,000 ตำแหน่ง
พลังงานน้ำ;204,000 ตำแหน่ง
พลังงานความร้อนใต้พิภพ;160,000 ตำแหน่ง
พลังงานแสงอาทิตย์แบบรวมแสง;14,000 ตำแหน่ง
[/table]
อ้างอิงข้อมูลจาก:
grist.org
irena.org
biomassmagazine.com