เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ: จับตาความสัมพันธ์จีน สะเทือนไทย ทรัมป์กลับมา ‘Trade War 2.0’ หรือแฮร์ริสเดินหน้า ‘Tech War’

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ ท่ามกลางการขับเคี่ยวระหว่าง 2 แคนดิเดตคือ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรครีพลับลิกัน ที่ได้รับการคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะคว้าชัย เดินเข้าทำเนียบขาวอีกครั้ง และ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐ ที่รับไม้ต่อจาก โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สละสิทธิ์รับเลือกตั้งสมัยที่ 2 กลางคัน และกำลังจะหมดวาระลงในไม่ช้านี้

ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ ถือเป็นหนึ่งประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด เพราะการเข้าดำรงประธานาธิบดีสหรัฐของแคนดิเดตคนใดคนหนึ่ง ถือเป็นการชี้ชะตาความสัมพันธ์ของ 2 ชาติมหาอำนาจนี้ ที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเชิญมาบรรยายในหัวข้อเรื่อง ‘ทิศทางสงครามการค้าจีน-สหรัฐ: ผลกระทบต่อไทยและอาเซียน’ ภายใต้โครงการ ‘มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้’ ครั้งที่ 6 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ในอนาคตอันใกล้นี้ก่อนจะทราบผลการเลือกตั้งว่าใครจะเข้าสู่ทำเนียบขาว

ดร.อาร์ม ชี้ว่า หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง จะทำให้นโยบาย ‘สงครามการค้า’ (Trade War) กับจีนกลับมาเป็นภาคที่ 2 และแน่นอนว่าจะส่งผลสะเทือนไปทั้งห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมถึงภูมิภาคอาเซียนที่มี ‘ไทย’ ด้วย

ตรงกันข้าม หากแฮร์ริสสามารถตบเท้าเข้าทำเนียบขาวได้ สงครามการค้าจะไม่เกิดขึ้น แต่จะกลายเป็น ‘สงครามเทคโนโลยี’ (Tech War) ที่ต้องการกีดกันเทคโนโลยีชั้นสูงไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของจีน โดยเฉพาะ ‘ชิป’ ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวไกล ไม่มีประเทศไหนสามารถทำชิปคุณภาพสูงด้วยตนเองได้

ไม่ว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ จะออกมาแบบไหน ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบด้านลบ เช่น การเผชิญกับยุคแห่งความไม่แน่นอน (age of uncertainty) ของเศรษฐกิจโลก การส่งออกไปสหรัฐ การลงทุนจากสหรัฐที่ลดลง และการเป็นผู้นำโลกาภิวัตน์ของจีนที่มีขึ้นและลง

ส่วนผลดีต่อไทยคือ ไทยจะกลายมาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งจีนและสหรัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมด เนื่องจากจีนต้องการเลี่ยงบาลีจากการกีดกันทางการค้า เช่น ไม่สามารถส่งสินค้าจากจีนไปได้ แต่สามารถส่งจากไทยไปได้ เป็นต้น อาเซียนจะตกอยู่ในสถานะทดแทนตลาดสหรัฐ ซึ่งเราได้เห็นคลื่นการลงทุนและสินค้ามหาศาลในปัจจุบัน ส่วนในมุมมองของสหรัฐ อาเซียนคือตลาดใหญ่ทั้งการค้าและการลงทุนที่จะมาแทนที่จีนในอนาคตเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ดร.อาร์ม ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปรับตัว ท่ามกลางการแข่งขันของดวงอาทิตย์ 2 ดวงนี้ เราต้องตั้งโจทย์ว่า ผลประโยชน์ของไทยนั้นอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ 2 ทาง นอกจากนี้ จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงออกไป ไม่ควรโฟกัสสมการที่มีเพียงจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป (EU) เท่านั้น แต่ต้องหันมามองอาเซียนและภูมิภาคอื่นมากขึ้น  

โดนัลด์ ทรัมป์กมลา แฮร์ริส
Trade War 2.0Tech War
ไม่เอาโลกาภิวัตน์เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น (Reindustrialization of the US)ดุลการค้าที่เท่าเทียม (Trade Balance: จีนและโลก) หย่าขาดกับจีนทั้งหมด (Complete Decoupling)กำแพงภาษีสูงประกาศสงครามการค้าจีน โลกาภิวัตน์ไม่เป็นปัญหา ใช้ประโยชน์ได้ไม่จำเป็นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่ไปลงทุนยังประเทศอื่นที่มีต้นทุนตํ่ากว่าได้ไม่มีปัญหากับดุลการค้าหย่าขาดกับจีนไม่ได้กระจายความเสี่ยงออกจากจีน มองหาโอกาสจากอาเซียนมากขึ้นกีดกันจีนจากเทคโนโลยี

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า