Government Shutdown ชะตากรรมนักวิจัยไทยในวอชิงตัน ดีซี

เมื่อปลายปีที่แล้ว ฉันได้รับทุนจากแหล่งทุนวิจัยระดับประเทศแห่งหนึ่งเพื่อไปทำวิจัยด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ายุคใหม่ ในข้อเสนอขอทุนวิจัยที่ฉันส่งไปชี้ไว้ชัดเจนว่าแหล่งข้อมูลหลักสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน ดีซี

ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์อ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของยุคอาณานิคมมาบ้าง การอ่านเอกสารชุดใหม่ๆ เป็นเรื่องที่น่าท้าทาย น่ากระวนกระวาย และต้องอาศัยการเตรียมตัวอย่างหนักเสมอ ทั้งจากการสำรวจเอกสารเบื้องต้นจากหนังสือและบทความที่เกี่ยวกับไทยและพม่าในยุคสงครามเย็น และจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้าไปค้นคว้าที่หอจดหมายเหตุมาก่อน

ด้วยต้องเตรียมการอยู่เกือบปี กอปรกับความตื่นเต้นส่วนตัวเนื่องจากไม่เคยไปเยือนสหรัฐอเมริกามากกว่าหนึ่งสัปดาห์มาก่อน ทำให้ฉันมีความคาดหวังกับการไปเก็บข้อมูลครั้งนี้สูงลิ่ว

เช้าวันที่ 18 ธันวาคม 2018 ฉันไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิราวตี 4 เพื่อรอจับเครื่องบินไปสนามบินวอชิงตัน ดัลเลส เวลาผ่านไปเกือบห้าชั่วโมง เครื่องบินถึงสนามบินปักกิ่ง มีเวลาเพียง 1.30 ชั่วโมงในการต่อเครื่องไปดีซี แต่ด้วยพิธีการที่สนามบินปักกิ่งที่ดูจะซับซ้อนกว่าสนามบินอื่นๆ เล็กน้อย ทำให้ฉันไปขึ้นเครื่องต่อไปดีซีแบบเฉียดฉิว จำได้ว่าเวลาเกือบ 14 ชั่วโมงบนเครื่องบินลำนั้นช่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานที่สุดเท่าที่จำความได้ เที่ยวบินนั้นแออัด แต่ก็ไม่มีอะไรหวือหวา หลายคนบนเครื่องคงแค่อยากกลับถึงบ้านให้ทันก่อนคริสต์มาส

ช่วงบ่ายของวันที่ 19 ฉันตัดสินใจนั่งแท็กซี่จากสนามบินวอชิงตัน ดัลเลส เข้าเมือง ทั้งที่โดยปกติจะประหยัดเงินและนั่งรถไฟหรือรถโดยสารแทน แต่เนื่องจากทางรถไฟส่วนต่อขยายไปถึงสนามบินยังไม่แล้วเสร็จ และอาจเพราะความเหนื่อยล้า จึงยอมจ่ายแพงกว่า (มาก) เพื่อนั่งแท็กซี่เข้าเมือง เพิ่งมาทราบในภายหลังว่าคนขับรถแท็กซี่ในวอชิงตัน ดีซี และพื้นที่โดยรอบต่างเป็นคนเอธิโอเปียทั้งนั้น พวกเขาเหล่านี้อพยพหนีสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 1974-1991 และด้วยกฎหมายใหม่ที่รัฐบาลอเมริกันออกมาเพื่อช่วยผู้ลี้ภัยในปี 1980 ชาวเอธิโอเปียจึงอพยพตามญาติพี่น้องหรือคนรู้จักมาอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี ซึ่งในปัจจุบันเป็นชุมชนชาวเอธิโอเปียใหญ่ที่สุดรองจากประเทศเอธิโอเปีย!

ที่พักที่จองไว้ตั้งแต่หลายเดือนก่อนเดินทางเป็นเพียง Airbnb ห้องเล็กๆ ต้องใช้ห้องน้ำรวมกับคนอื่น แต่ด้วยฉันเป็นพวกกินง่ายอยู่ง่าย จึงไม่ค่อยมีปัญหากับที่พัก ยิ่ง Airbnb ที่นี่เปิดฮีตเตอร์แบบไม่มีกั๊ก (หลายแห่งไม่เปิดฮีตเตอร์ตอนกลางคืนเพื่อประหยัดไฟ) ก็กินอิ่มนอนอุ่นไร้ปัญหา

ปัญหากวนใจเริ่มเกิดในวันที่ 3 หลังเดินทางไปถึงดีซี เมื่อ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถตกลงกับสภาคองเกรสในเรื่องที่เกี่ยวกับงบประมาณประจำปี 2019 ได้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับงบสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐกับเม็กซิโกจำนวน 5,700 เหรียญได้ และประกาศปิดทำการรัฐบาล

ความที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตกลงกันได้ในครั้งนี้ทำให้หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ต้อง ‘ปิดตัวลงอย่างไม่มีกำหนด’ ข้าราชการไม่ไปทำงาน (เพราะถึงไปทำงานก็ไม่ได้รับค่าจ้าง) และมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในวอชิงตัน ดีซี โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน และสวนสัตว์สมิธโซเนียน ที่ต้องปิดไปเพราะขาดคนดูแล ใครจะไปคิดว่าเรื่องระดับชาติของเขาจะมีผลกระทบกับคนไทยตัวเล็กๆ อย่างฉันมากขนาดนี้ แต่เอาเถอะ C’est la vie – เรามาอยู่ที่นี่แล้วนี่นา ยิ้มสู้ดูสักตั้ง

ในช่วงที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติประกาศทางโซเชียลมีเดียว่าจะปิดทำการชั่วคราว ฉันยังรู้สึกใจชื้นอยู่บ้างเพราะเป็นช่วงก่อนวันหยุดคริสต์มาสพอดิบพอดี เมื่อทุกอย่างปิดทำการ ฉันจึงวางแผนไปหาเพื่อนอาจารย์คนไทยที่เมือง Chapel Hill มลรัฐนอร์ธแคโรไลนา แต่เมื่อวันหยุดคริสต์มาสสิ้นสุดลงในวันที่ 26 ธันวาคม ยังไม่มีทีท่าว่าคองเกรสจะเจรจาประนีประนอมกันได้ ในใจฉันหล่นไปถึงตาตุ่มแล้ว เพราะคิดว่า ‘government shutdown’ คงยืดออกไปอีกนาน

แล้วก็เป็นอย่างที่นึกไว้จริงๆ รัฐบาลปิดทำการไปร่วม 35 วันจึงเปิดทำการอีกครั้งในวันที่ 25 มกราคม 2019 เป็นการสั่งปิดรัฐบาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

ใครจะโชคดีอย่างฉันเล่า? ได้มาทำวิจัยในช่วงที่รัฐบาลเขาหยุดทำงานพอดิบพอดี

ตลอดเวลาที่อยู่วอชิงตัน ดีซี ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2018 – 12 มกราคม 2019 มีคำถามโผล่เข้ามาในหัวมากมาย แต่คำถามเดียวที่ถามตัวเองซ้ำๆ คือ “เมื่อไหร่หอจดหมายเหตุจะกลับมาเปิดสักที” เพราะหากไม่เปิด เท่ากับการไปอเมริกาคราวนี้เสียเปล่าทั้งหมด ข้อมูลที่เก็บได้ในสี่วันแรกแม้จะมีอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่เพียงพอ ในช่วงเวลาอีก 18 วันในวอชิงตัน ดีซี เมื่อทำวิจัยด้วยวิธีปกติไม่ได้ ฉันก็ต้องหางานอื่นๆ ทำ เพื่อไม่ให้การเดินทางครั้งนี้สูญเปล่าเกินไปนัก

โชคดีเหลือเกินที่ยังพอมีหน่วยงานราชการบางแห่งที่ยังเปิด หนึ่งในนั้นคือห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามทำเนียบประธานาธิบดี หรือ White House

ในอาคารที่ทำการหลักของห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน ที่เรียกว่า Jefferson Building นั้น มีห้องอ่านหนังสือหลายห้อง แต่ห้องที่นับเป็นไฮไลท์คือห้องอ่านหนังสือหลัก (Main Reading Room) บนชั้น 1 ตั้งอยู่ในโถงโดมขนาดใหญ่ ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือจิตรกรชาวอเมริกัน เอ็ดวิน แบลชฟิลด์ (Edwin Blashfield, 1848-1936) เป็นภาพเทพีสัญลักษณ์แห่งความรู้ การกำจัดความไม่รู้ และความก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการ งดงาม อลังการ ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชมอย่างยิ่ง

 

ฉันใช้เวลาอยู่ในโถงโดมนี้และห้องอ่านหนังสือพิมพ์ของห้องสมุดรัฐสภาอเมริกันร่วมสองสัปดาห์ ไม่นับรวมวันหยุดช่วงปีใหม่ที่ตัดสินใจจับรถไฟ Amtrak ไปหาเพื่อนๆ ที่นิวยอร์คเพื่อหาความอบอุ่นทางใจในช่วงที่ดีซีหนาวจัด (แต่เมื่อไปถึงนิวยอร์คจึงค้นพบว่านิวยอร์คหนาวกว่าดีซีมาก)

ตลอดหลายวันที่นี่ ฉันมีข้อค้นพบอยู่สองข้อ ข้อแรก-ห้องสมุดและหอจดหมายเหตุในสหรัฐอเมริกา รวมถึงในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ คือห้องสมุดสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง และให้บริการฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งทำสำเนาเอกสารด้วยตัวเอง ที่มีทั้งการถ่ายสำเนาที่คิดเงินอัตราปกติ และการสแกนหนังสือด้วยตัวเอง โดยนำย USB แฟลชไดรฟ์ ไปเซฟจากเครื่องสแกนได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเราสามารถนำกล้องของตัวเองไปถ่ายรูปเอกสารในหอจดหมายเหตุทั่วสหรัฐอเมริกาได้ ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องผูกขาดการถ่ายเอกสารราคาแพงระยับ หรือต้องให้เอกชนมาประมูลร้านถ่ายเอกสาร ในสถานการณ์ที่โลกให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และฐานข้อมูลออนไลน์ที่มีให้เลือกใช้มหาศาล การถ่ายเอกสารกลายเป็นเรื่องที่แทบจะ ‘เอาท์’ ไปแล้วในโลกตะวันตก

ข้อที่สอง-ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่ของสาธารณะ รัฐบาลจึงพยายามชักจูงใจให้คนในท้องถิ่นเข้าไปใช้บริการเหล่านี้ มีกิจกรรมสม่ำเสมอ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการ และการจัดบุคลากร (บางส่วนคืออาสาสมัคร ส่วนใหญ่คือคนที่เกษียณอายุจากงานประจำแล้ว) ให้ความรู้กับสาธารณะ เช่น การจัด walking tour และจัดอาสาสมัครอ่านนิทานให้กับเยาวชนฟัง

ห้องสมุดจึงไม่ใช่เพียงที่เก็บหนังสือ แต่เป็นทั้งแหล่งข้อมูลที่มีชีวิต พื้นที่แก้เบื่อสำหรับคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณ และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของชาติ ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิจัย อย่างที่รัฐในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศคิด

แน่นอน การศึกษาระดับสูงในสหรัฐอเมริกามีราคาค่างวดสูง ดังที่เราจะเห็นในข่าวว่านักศึกษาจำนวนมากต้องกู้เงินมาเรียน และมีภาระจ่ายหนี้ให้รัฐบาลจำนวนมากในแต่ละปี แต่สำหรับพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ รัฐบาลอเมริกัน ทั้งในระดับชาติและในระดับรัฐให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และพยายามสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงบริการของภาครัฐอย่างเท่าเทียม สะดวก และปลอดภัยที่สุด

ประสบการณ์การเข้าไปนั่งทำวิจัยในหอสมุดรัฐสภาอเมริกันมีคุณค่ายิ่งสำหรับฉัน เพราะนอกจากหนังสือจำนวนมหาศาลที่สามารถขอนำออกมาดู หรือถ้าอยากเก็บไว้อ่านก็สามารถสแกนได้เองจากเครื่องสแกนที่มีไว้ทั่วห้องอ่านหนังสือ ผู้ใช้บริการยังสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดิจิทัลได้จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของหอสมุดรัฐสภาอเมริกันได้โดยตรง ทำให้เราสามารถดาวน์โหลดบทความและฐานข้อมูลจำนวนมากที่ไม่มีในประเทศไทยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

บางช่วงที่ล้ากับการอ่านหนังสือ ฉันก็ไปนั่งอ่านหนังสือพิมพ์พม่าตั้งแต่ยุคพม่าได้เอกราชในทศวรรษ 1940 ที่ถูกถ่ายลงบนไมโครฟิล์ม และห้องสมุดที่นี่อนุญาตให้สแกนหนังสือพิมพ์เก่าทุกฉบับลงบน USB ของเราได้เอง เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ฉันเคยขออนุญาตบรรณารักษ์ใหญ่ที่ห้องสมุดแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ แต่ฝั่งนั้นก็อ้างเรื่องความมั่นคง และระเบียบทางราชการต่างๆ หลังเจรจาอยู่นาน ฉันยอมแพ้ ได้แต่เก็บหนังสือพิมพ์พม่าหัวนั้นอยู่ในใจ และได้อ่านเป็นครั้งแรกที่ดีซีนี่เอง

ในสัปดาห์สุดท้ายที่วอชิงตัน ดีซี อาจารย์ที่ฉันเคารพแนะนำให้รู้จักกับ พี่หน่อย และ พี่ตุ๊ก คนไทยในเวอร์จิเนียที่รับอาสาพาฉันไปรับประทานอาหารอีสานอร่อยๆ พาไปดูวิถีชีวิตของคนอเมริกัน และเป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดไปได้มาก เมื่อนับรวมเพื่อนชาวเอธิโอเปียนามว่า อาเล็ม ครอบครัวของเพื่อนๆ ที่นอร์ธแคโรไลนาและนิวยอร์คด้วยแล้ว ทริปนี้มีคุณค่าทางจิตใจกับฉันอย่างยิ่ง แม้ในทางงานวิจัยออกจะดูล้มเหลวไปสักหน่อย แต่ในทางการใช้ชีวิตและการได้ไปพบปะกัลยาณมิตรแล้ว ฉันคงจะจดจำทริปนี้ไปอีกนานแสนนาน ฉันสัญญากับทุกคนว่าจะกลับไปเยี่ยมวอชิงตัน ดีซี อีกแน่ ขอแค่คราวหน้า อย่าเกิดเหตุเภทภัยอย่างในครั้งนี้อีกก็แล้วกัน

Author

ลลิตา หาญวงษ์
เรียนและเทรนมาในสายประวัติศาสตร์อาณานิคม แต่สนใจการเมืองและวัฒนธรรมพม่าร่วมสมัยด้วย ปัจจุบันเป็นครูประวัติศาสตร์และเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องพม่าๆ ให้หลายสำนักข่าวออนไลน์และออฟไลน์เป็นหลัก ชื่นชอบดนตรีแจ๊ซ กีฬา ฟิล์มนัวร์ และชอบทำอาหารให้คนอื่นกิน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า