ไม่พอใจกับความสำเร็จ ห่อเหี่ยว ไม่มีแรงลุกจากเตียง เปิดโหมดอัตโนมัติแล้วปล่อยให้ชีวิตเป็นไปเอง หรือพลิกโฉมตัวเองเป็นคนใหม่ หันมากินอาหารปลอดเนื้อสัตว์ หรือวีแกน (vegan) แข่งวิ่งมาราธอน หรือสมัครเข้าแข่งขันรายการคนอึด เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกจุดเปลี่ยนของการเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคน
‘วิกฤติวัยกลางคน’ (midlife crisis) เป็นคำที่ อีเลียตต์ ฌาคส์ (Elliott Jaques) นักจิตวิเคราะห์ชาวแคนาดาประดิษฐ์ขึ้นมาในปี 1965 เพื่ออธิบายความท้าทายที่เกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านจากช่วงหนึ่งไปสู่อีกช่วงของชีวิต ซึ่งพบได้ทั่วไปในบรรดาผู้คนวัยตั้งแต่ 40-60 ปี
Bupa Health Clinics ประมวลข้อมูลที่เก็บได้จากผู้ใหญ่ชาวอังกฤษจำนวน 3,000 คน สรุปได้ว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 40 หรือ 50 ของชีวิต คนส่วนมากเจอปัญหา และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ โดยหันเหจากตัวเลือกเก่าๆ เช่น การซื้อรถสปอร์ตสักคัน มาเป็นการจ่ายเงินเพื่อดูแลสุขภาพ เช่น เข้าพบแพทย์ เปลี่ยนวิถีการกิน เลิกบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ก็บอกลาเส้นทางสายดื่มถาวร
งานวิจัยเมื่อปี 2018 ระบุว่า คนอังกฤษเกือบครึ่งมักเปลี่ยนมารักสุขภาพเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30, 40, หรือ 50 ปี เช่น คนอังกฤษจำนวนกว่าครึ่งเปลี่ยนมางดหรืออดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้หญิงมักเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคนเร็วกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายมักเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองในวัย 40 ผู้หญิงมักเริ่มทำตั้งแต่วัย 30 ปี อย่างไรก็ตาม เม็ก อาร์โรลล์ (Meg Arroll) นักจิตวิทยาประจำบริษัทจำหน่ายวิตามินและอาหารเสริม Healthspam เตือนว่าแม้ผู้ชายจะเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคนช้ากว่า แต่วิกฤติที่เจอก็มักรุนแรงกว่า เช่น มีอาการซึมเศร้า หมดพลัง
แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนหนึ่งเข้าสู่วิกฤติวัยกลางคน กลุ่มเป้าหมายวิจัยเพศชาย 24 เปอร์เซ็นต์เลือกเป็นวีแกน ผู้ชายอีก 31 เปอร์เซ็นต์เลือกสมัครเข้าร่วมการแข่งขันที่ต้องใช้แรงกายมากๆ เช่น วิ่งมาราธอน หรือแข่งซีรีส์ ‘เกมคนอึด’ (Tough Mudder) หรือการแข่งขันที่ผู้เข้าแข่งจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ อาทิ เปลวไฟ กระแสไฟฟ้า หรือความสูง ตลอดระยะทาง 16-19 กิโลเมตร คน 5 เปอร์เซ็นต์ให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงตัวเองว่าเป็นเพราะตื่นเต้นที่ได้เจอความท้าทายใหม่ๆ ส่วนอีก 6 เปอร์เซ็นต์บอกว่าอยากดูหนุ่มแน่นขึ้น เพราะจะได้เอาใจแฟนสาวอายุน้อยกว่า
หลังผ่านงานฉลองวันเกิดวัยสำคัญๆ ผู้หญิง 67 เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีการกินให้ ‘รักสุขภาพ’ มากขึ้น ผู้หญิง 50 เปอร์เซ็นต์เลือกสมัครเป็นสมาชิกยิม หรือจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวมาช่วยควบคุมการออกกำลังกาย
“การก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ของชีวิตเป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวแปรที่กระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ” เจค วิลเลียมส์ (Jake Williams) ผู้ให้คำแนะนำด้านสุขภาพจากสถาบัน Bupa Health Clinics เล่าว่าเมื่อใกล้หรือเข้าสู่วัยลงท้ายด้วยเลข 0 ไปแล้ว ลูกค้ามักเข้ามาใช้บริการตรวจสุขภาพมากขึ้น
กินผัก
ก่อนหน้านี้ อเล็กซ์ โกติเยร์ (Alex Gauthier) เป็นเชฟชาวฝรั่งเศสที่คุ้นชินกับการปรุงอาหารจากเนื้อวัว ปลา ไปจนถึงเมนูราคาแพงที่เป็นที่ถกเถียงกันถึงความเหมาะสมด้านศีลธรรมต่อสัตว์อย่างฟัวกราส์ หรือตับห่านย่าง แต่วันนี้เขาเป็นหนึ่งในผู้ชาย 24 เปอร์เซ็นต์ที่รับมือวิกฤติวัยกลางคนด้วยการเลิกกินเนื้อสัตว์และเปลี่ยนตัวเองเป็นวีแกน
“วันหนึ่งผมก็รู้ได้ว่าการกินเนื้อไม่ใช่ตัวตนผมอีกต่อไปแล้ว” เขาว่า “ผมพยายามทบทวนความรู้เรื่องอาหารที่มี แล้วเขียนสูตรขึ้นมาใหม่ และกินตามแบบฉบับชาววีแกน”
โกติเยร์ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากวิกฤติวัยกลางคน แต่เขาบอกว่าการกินวีแกนเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก
“คนอื่นอาจรับมือด้วยการซื้อรถ Harley-Davidson คันใหม่ แต่ผมไม่-ผมแค่เปลี่ยนมากินผัก”
ประมาณ 50 ปีก่อน วีแกนเคยอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย จากการสำรวจในปี 2015 มีคนสหรัฐเพียง 3.4 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมังสวิรัติ (vegetarian) หรืองดกินเนื้อสัตว์ แต่ยังกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์บ้าง เช่น ไข่ นม ชีส น้ำผึ้ง ส่วนเปอร์เซ็นต์ผู้เป็นวีแกน หรืองดกินเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไปจนถึงไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ จากสัตว์เลย เช่น เครื่องหนัง มีเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แต่ในปี 2019 กระแสการ ‘กินผัก’ ในแต่ละแนวทางเริ่มกลายเป็นกระแสหลักที่นิยมมากโดยเฉพาะในกลุ่มช่วงวัยมิลเลเนียลส์ ที่เกิดระหว่างปี 1980-2003 ควบคู่ไปกับกระแสการลดใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ นม ผ้าขนสัตว์ หรือเครื่องหนังด้วย
ในปีนี้ชาวสหรัฐวัย 25-34 ปีมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ที่ออกมาประกาศว่า “ฉันเป็นมังสวิรัติ/วีแกน” แม้แต่เจ้าพ่อเบอร์เกอร์อย่าง McDonald’s ก็ยังออกเมนู ‘McVegan’ ออกมาขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ออกวิ่ง
ในยุคที่การวิ่งเป็นกระแสเฟื่องฟู มีกิจกรรมให้เลือกเข้าร่วมหลากหลาย ตั้งแต่การวิ่งระยะสั้นที่สุด คือ ฟันรัน (fun run) 5 กิโลเมตร มินิมาราธอน (minimarathon) 10.5 กิโลเมตร ฮาล์ฟมาราธอน (half-marathon) 21 กิโลเมตร ส่วนมาราธอน (marathon) คือการวิ่งระยะไกล 42.195 กิโลเมตร
เว็บไซต์ Runrepeat เก็บสถิติและพบว่าเฉพาะยอดผู้วิ่งมาราธอนในปี 2018 เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 49.43 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศที่มีจำนวนผู้สนใจเข้าร่วมวิ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ อินเดีย เพิ่มขึ้น 229 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 2 เท่าตัว ตามมาด้วยโปรตุเกส 117 เปอร์เซ็นต์ และไอร์แลนด์ 130 เปอร์เซ็นต์
สำนักข่าว New York Times ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคของการออกวิ่ง ตรงกันข้าม ไม่สายเกินไปที่นักวิ่งวัยกลางคนจะหันมาจริงจังกับการออกกำลังกาย และไม่สายเกินไปที่คนวัยกลางคนจะสุขภาพดีขึ้นจากการออกกำลังกาย
ริชาร์ด อาสค์วิธ (Richard Askwith) ทหารผ่านศึกและนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการวิ่ง วัย 59 ปี กล่าวว่า สุขภาพใจของนักวิ่งรุ่นใหญ่ค่อนข้างมีผลต่อความสำเร็จในการวิ่ง
“มุมมองเรื่องเวลาขึ้นอยู่กับอายุนะ (เมื่ออายุมากขึ้น) คุณจะอดทนฝึกซ้อมและลงแข่งมากขึ้น คุณจะค่อยๆ วิ่งไปตามทางด้วยจิตใจเบาสบาย แทนที่จะมัวกลุ้มอยู่กับตัวเลขระยะทาง”
สุดท้ายอาจฟังดูน่าเศร้า แต่งานวิจัยจาก Bupa Health Clinics สรุปว่า คนอังกฤษส่วนมากมักคงวิถีชีวิตรักสุขภาพได้เฉลี่ย 3 ปี และคน 1 ใน 4 มักกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ภายใน 12 เดือนแรก มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เปลี่ยนตัวเองได้สำเร็จในระยะยาว 8 ปีขึ้นไป
เมื่อเข้าสู่วัยสำคัญ 30, 40, 50 อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปรักสุขภาพอย่างสุดโต่ง หนังสือพิมพ์ Dailymail อังกฤษแนะนำว่า เพียงแค่ลดอาหารหวานหรือเค็ม ควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ ตรวจสุขภาพบ้างเป็นระยะ และพบแพทย์เมื่อรู้สึกว่าสุขภาพไม่ปกติ เท่านี้ก็ช่วยลด ‘วิกฤติ’ ด้านสุขภาพของกลุ่มคนวัยกลางคนได้แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก: menshealth.com dailymail.co.uk forbes.com plantbasednews.org worldin2019.economist.com theguardian.com nytimes.com |
สนับสนุนโดย