ไล่ก็ไม่ไป! 5 คำถามคลี่วิกฤติคนดื้อในเวเนซุเอลากับ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

เป็นเรื่องเมจิคัลเหลือประมาณ เมื่อจู่ๆ ประเทศเวเนซุเอลาก็มีผู้นำสูงสุดซ้อนกันถึง 2 คน เปรียบดุจน้ำก็คงอยู่ในอุณหภูมิใกล้เดือดปุดๆ จ่อทะลักพล่านลงเนืองนองเต็มแก่ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองภายใน ที่ประเทศภายนอกทั้งหลายฮึ่มๆ เตรียมเข้าแทรกแซง

ฮวน กวยโด (Juan Guaidó)

ฮวน กวยโด (Juan Guaidó) ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งประกาศตนเป็น ‘ประธานาธิบดีรักษาการ’ โดยการหนุนหลังของยักษ์ใหญ่เจ้าประจำอย่างสหรัฐอเมริกา ยืนกรานปฏิเสธเจรจากับประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร (Nicolás Maduro) ผู้มีจีนและรัสเซียเป็นแบ็ค พร้อมทั้งปลุกระดมให้ประชาชนออกมาชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้มาดูโรลาออก โดยเสียงจากฝรั่งเศสคือการเรียกร้องให้จัดเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการประชาธิปไตย

นิโคลัส มาดูโร (Nicolás Maduro)

มาดูโรชนะการเลือกตั้งมาเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2018 ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่า ‘โกง’ บริหารประเทศอยู่ในภาวะที่สื่อมวลชนใช้คำว่า ‘ล่มสลาย’ ประชาชนเวเนซุเอลานับล้านต้องอพยพหนีความแร้นแค้นออกนอกประเทศ ส่วนคนที่เหลือใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากปัญหาขาดแคลนอาหาร และระบบสาธารณูปโภคที่ล้มเหลว

พิษเศรษฐกิจนี้ถึงขนาดที่สำนักข่าว BBC ต้องทำรายงานเรื่องผู้คนบางส่วนซื้อเนื้อเน่ากินยังชีพ

ถัดจากนี้คือ 5 คำถามเน้นๆ และ 5 คำตอบน่าคิด จาก ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกา

“กองทัพไม่ได้มีหน้าที่ทางการเมือง”

เขากล่าว

“อย่าให้ความสำคัญกับกองทัพ…”

ด้วยน้ำเสียงและทัศนะทั้งหมด, WAY ชวนทุกท่านร่วมวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กันว่า วิกฤติใหญ่หลวงครั้งนี้ ใครบ้างสมควรได้รับฉายาว่า ‘คนดื้อ’

01

จากหน้าสื่อ สถานการณ์ที่ดูคล้ายใกล้สุกงอมเต็มเเก่ในเวเนซุเอลา เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ คนทุกข์ยากไร้อาหาร เเละราคาน้ำมัน รบกวนอาจารย์ปูพื้นเเก่คนอ่าน WAY ถึงวิวัฒนาการเบื้องหลังสำคัญ ซึ่งทำให้ทุกเรื่องบานปลายจนใกล้เจอทางตัน เเละในทัศนะของอาจารย์ ทางออกที่สวยสุดคืออะไร

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจบริบททางการเมืองของเวเนซุเอลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ ในปี 1958 ถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลา เมื่อผู้นำจาก 3 พรรคการเมืองที่สำคัญในขณะนั้นคือ โรมูโล เบทแท็งคอร์ท (Rómulo Betancourt) แห่งพรรค Acción Democrática (AD), ราฟาเอล คาลเดรา (Rafael Caldera) แห่งพรรค Comité de Organización Política Electoral Independiente (COPEI) และ โฆวิโต วิยาลบา (Jóvito Villaba) แห่งพรรค Unión Republicana Democrática (URD) ได้เซ็นสัญญาร่วมมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองในวันที่ 31 ตุลาคม หลังการล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้การนำของ นายพลมาร์กอส เปเรซ ฮิเมเนซ (Marcos Pérez Jiménez) ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน และปกครองประเทศระหว่างปี 1951-1958

เป้าหมายสำคัญของข้อตกลง พุงโต้ ฟีโห่ (Puntofijo Pact) คือ ประการแรก ทั้ง 3 พรรคจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี และจะแบ่งสรรอำนาจกันอย่างยุติธรรมตามคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ ประการที่ 2 ภายใต้ความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น (Cold War) ทั้ง 3 พรรคต้องการกีดกันพรรค Partido Comunista Venezelano (PCV) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ของคิวบา ออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเวเนซุเอลา

ความเสื่อมถอยของระบบการเมืองแบบข้อตกลง พุงโต้ ฟีโห่ เริ่มขึ้นพร้อมกับการกลับมาของ คาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ (Carlos Andrés Pérez) ในตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1989 เขาได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจตามหลักฉันทามติวอชิงตัน (The Washington Consensus) ซึ่งรวมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน

การปล่อยให้ราคาสินค้าปรับขึ้นลงอย่างเสรี ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ รวมถึงค่าบริการขนส่งสาธารณะและน้ำมัน เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ประชาชนต่างพากันออกมาเดินขบวนประท้วงในกรุงการากัส เมืองหลวงของประเทศ นำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพภายใต้การสั่งการของ คาร์ลอส  เปเรซ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1989 ส่งผลให้ประชาชนล้มตายไปกว่า 2,000 คน ถือเป็นการจลาจลที่นองเลือดมากสุดในประวัติศาสตร์เวเนซุเอลา และเหตุการณ์ครั้งนี้ถูกบันทึกไว้ในนาม ‘El Caracazo’

ความไม่พอใจต่อนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล คาร์ลอส เปเรซ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความพยายามทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของเขาในเดือนกุมภาพันธ์ 1992 โดยการนำของ อูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) และอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน ถึงแม้ว่า คาร์ลอส เปเรซ จะรอดพ้นจากการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง แต่ท้ายสุดแล้วเขาก็ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 1993 ในข้อหายักยอกเงินกว่า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เหตุการณ์นี้เองนำไปสู่จุดจบของการเมืองแบบแบ่งสรรอำนาจภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ คนชั้นกลางในกรุงการากัสมองว่า ข้อตกลงนี้สร้างนักการเมืองฉ้อฉล ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ขณะที่ชนชั้นแรงงานก็มองว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดสรรรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดของประเทศ

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภาคเกษตรกรรมไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ทำให้เกิดการอพยพหลั่งไหลของคนในชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหายาเสพติดและโสเภณี รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงหันไปเลือก ราฟาเอล คาลเดรา ซึ่งเคยเป็นผู้นำพรรค COPEI ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ และเคยเป็นประธานาธิบดีในช่วงปี 1969-1974 แต่ในการเลือกตั้งปี 1993 นี้ เขาลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ

ชัยชนะของ ราฟาเอล คาลเดรา  ในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงจุดบกพร่องของระบบพรรคการเมืองภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ ว่าไม่ได้เปิดโอกาสหรือเตรียมการให้มีการสร้างนักการเมืองหน้าใหม่ หรือนักการเมืองน้ำดีขึ้นมาทดแทนนักการเมืองรุ่นเก่าเขี้ยวลากดินเลย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นธาตุแท้ของนักการเมืองว่า หาได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แน่วแน่ไม่ พวกเขาพร้อมที่จะละทิ้งพรรคการเมืองที่ตนสังกัดได้ตลอดเวลา ถ้าประชาชนหมดศรัทธาในพรรคการเมืองนั้นแล้ว

ในช่วงเวลา 6 ปี (1993-1998) ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ ราฟาเอล คาลเดรา เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรัง ปัญหาความยากจน ปัญหาการเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดของเศรษฐกิจนอกระบบ ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เลวร้ายต่างๆ เหล่านี้ ประกอบกับการล่มสลายของระบบพรรคการเมืองภายใต้ข้อตกลง พุงโต้ ฟีโห่ ได้เปิดโอกาสให้ อูโก ชาเวซ ที่ถึงล้มเหลวในการทำรัฐประหารปี 1992 แต่กลับได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษของประชาชน โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางและคนยากจนในเมืองที่ถูกมองข้ามในสมัยข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ ได้กลับเข้ามาโลดแล่นในฐานะผู้นำประเทศนับตั้งแต่ 1998 จนกระทั่งปี 2013 เมื่อเขาเสียชีวิตลงในตำแหน่งเพราะเป็นมะเร็งอุ้งเชิงกราน

ภายใต้การปกครองของชาเวซ เขาดำเนินนโยบายลดบทบาทพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทุกรูปแบบ ทั้งผ่านการเปลี่ยนแปลงกติกาทางการเมืองที่สำคัญ คือรัฐธรรมนูญ โดยมีการร่างขึ้นใหม่ในปี  1999 กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นได้ถึงคราวละ 6 ปี และเป็นติดต่อกันได้ถึง 2 สมัยรวมเป็นระยะเวลา 12 ปี ถือเป็นการอนุญาตให้ประธานาธิบดีอยู่ได้นานสุดในลาตินอเมริกา

นอกจากนี้ยังเปลี่ยนจากระบบ 2 สภาเป็นระบบสภาเดียวซึ่งเขาสามารถใช้กลไกทางการเมืองต่างๆ เช่น การเปิดเผยรายชื่อของผู้ลงคะแนนเสียงที่เลือกฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว พร้อมๆ ไปกับดึงกองทัพให้เข้ามาเป็นพวกโดยการตั้งผู้นำระดับสูงให้เข้ามาอยู่ในคณะรัฐมนตรี มอบหมายระบบสัมปทานของรัฐให้กับพวกพ้อง ขณะที่เพิ่มเงินงบประมาณของรัฐเพื่อใช้ในการซื้อใจประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนผ่านโครงการสวัสดิการต่างๆ

ฝ่ายค้านเองก็ใช้เกมนอกกติกา ไม่ว่าการเดินขบวนประท้วง การสไตรค์หยุดงาน กระทั่งความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในช่วงสงกรานต์ปี 2002 ส่งผลให้เสียภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ชาเวซก็เพิ่มแรงกดดันทุกวิถีทางเพื่อทำลายฝ่ายค้าน ท้ายสุดเขาสามารถแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จในปี 2009 ให้ทุกตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งสามารถลงรับสมัครได้อย่างไม่จำกัดสมัย หมายความว่า ชาเวซสามารถลงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ตลอดชีวิต

สภาพเศรษฐกิจในช่วง 2004-2008 อยู่ในช่วงราคาน้ำมันโลกขาขึ้น เวเนซุเอลาในฐานะประเทศที่มีน้ำมันสำรองที่ได้ค้นพบแล้วมากสุดในโลก ประกอบกับการที่ชาเวซสามารถควบคุมกิจการน้ำมันของรัฐ PDVSA (Petróleos de Venezuela, S.A.) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เขามีเม็ดเงินสนับสนุนโครงการสวัสดิการซื้อใจคนจนได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

แต่แล้วเมื่อเขาสู่ต้นทศวรรษที่ 2010 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและขยายลามไปทั่วยุโรป ทำให้เศรษฐกิจหดตัว ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงเป็นอย่างมาก กระทบต่อเศรษฐกิจเวเนซุเอลามหาศาล

กล่าวคือ การที่เวเนซุเอลาพึ่งพารายได้จากการส่งออกจากน้ำมันถึงร้อยละ 95 เกิดเป็นปัญหาที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Dutch Disease  หรือ Paradox of Plenty หมายถึงเวเนซุเอลามุ่งแต่พัฒนาเรื่องน้ำมันไม่สนใจพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่น เพราะมั่นใจว่าตนสามารถเอารายได้ด้านนี้ไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ ดังนั้นภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของเวเนซุเอลาจึงไม่ได้รับการพัฒนา ประกอบกับรัฐบาลใช้การกดราคาสินค้าให้ต่ำเพื่อเอาใจประชาชน ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจเอกชนไม่มีแรงจูงใจในการผลิต

ดัวยเหตุนี้จึงเริ่มมีเสียงต่อต้านชาเวซ ทว่าเขาก็เอาตัวรอดได้ จนมาแพ้ภัยตนเองจากโรคมะเร็งในปี 2013 ผู้นำที่ได้รับการวางตัวต่อจากเขาคือ นิโคลัส มาดูโร ก็ดำเนินนโยบายแบบชาเวซ แต่ภายใต้บริบทที่ไม่เป็นใจ ทั้งราคาน้ำมัน ความอึดอัดทางการเมือง จนนำไปสู่ความไร้ระเบียบ พรรคฝ่ายค้านที่เล่นทั้งในเกมและนอกเกม จนท้ายสุด เมื่อมาดูโรเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ประกอบกับมีประธานรัฐสภาคนใหม่ ฮวน กวยโด ในช่วงเวลาเดียวกัน กลายเป็นการเผชิญหน้าของ 2 ฝั่งที่รุนแรงสุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

ทางออกที่ดีที่สุดในทัศนะของผมคือ การย้อนกลับไปถามประชาชนผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายให้เร็วที่สุด และทุกฝ่ายต้องเข้าสู่กติกานี้โดยไม่ขัดขืน

 

02

ในมุมมองของอาจารย์ สหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติอื่นๆ สามารถเข้าเเทรกเเซงในบทบาทใดได้บ้าง เเละจะทิ้งผลในระยะยาวอะไรไว้

การแทรกแซงของต่างชาติที่เหมาะสม คือเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด

การแทรกแซงทางเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและพวก จะยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมเวเนซุเอลามากกว่าเดิม เพราะจะถูกมองว่าเป็นลัทธิ Imperialism (จักรวรรดินิยม) ซึ่งคนในลาตินอเมริกามีทัศนคติทางลบต่อประเด็นนี้อย่างมาก

มีการสำรวจทัศนคติของประชาชนพบว่า มากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการการแทรกแซงจากต่างชาติในลักษณะดังกล่าว อย่าลืมว่าประชาคมโลกไม่ได้เห็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ยังมีจีนและรัสเซีย รวมถึงบางประเทศในลาตินอเมริกาที่สนับสนุนมาดูโร และอย่าลืมว่าเวเนซุเอลามีน้ำมัน ซึ่งทั้งรัสเซียและจีนพร้อมรับซื้ออยู่แล้วถ้าถูกโลกตะวันตกบอยคอต

03

ประชาชนในเวเนซุเอลาเอง เกิดการเเตกเเยกทางความคิดไปในทิศทางไหน เกี่ยวกับการไม่ฟังก์ชั่นของระบบเลือกตั้ง เหล่าชนชั้นนำตอนนี้ถือข้างใคร รวมถึงทหารจะเปลี่ยนท่าทีในกรณีใดบ้าง

ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่ยังเป็นฐานเสียงให้แก่มาดูโร ขณะที่คนชั้นกลางและสูงให้การสนับสนุนฝ่าย ฮวน กวยโด ตอนนี้กลไกการเลือกตั้งไม่ว่าเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลในระดับต่างๆ ล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาล

แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวังกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นหนทางในระบอบประชาธิปไตยที่แสดงให้เห็นเจตจำนงของประชาชนอันนองเลือดน้อยที่สุด การจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุดภายใต้การสังเกตการณ์ของ EU (ไม่ใช่ของสหรัฐอเมริกาหรือ Organization of American States ที่ถูกมองว่าโดนครอบงำโดยสหรัฐอเมริกา) น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ การเรียกร้องให้กองทัพเลือกข้างไม่ว่าเป็นฝ่ายใด ล้วนส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว กองทัพไม่ได้มีหน้าที่ทางการเมือง

อย่าให้ความสำคัญกับกองทัพในทางการเมือง คือทางรอดของประชาธิปไตย

 

04

สงครามกลางเมืองในเวเนซุเอลาสามารถเกิดขึ้นได้จากเงื่อนไขใดบ้าง จะกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน ภูมิภาค และผู้อพยพอย่างไร

สงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นเมื่อกองทัพเลือกข้าง โดยเฉพาะหันไปเข้าข้าง ฮวน กวยโด เพราะประชาชนจะมองว่าเป็นไปตามแรงกดดันของสหรัฐอเมริกา จะเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านจากกลุ่มคนที่สนับสนุนมาดูโร ตอนนี้ปัญหาที่เกิดจากผู้อพยพซึ่งมีมากกว่า 3 ล้านคนเป็นผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อมากกว่าล้านเปอร์เซ็นต์ ข้าวของอุปโภคบริโภคขาดแคลน โคลอมเบียเป็นประเทศที่รับผู้อพยพเวเนซุเอลามากกว่าล้านคน

ประเทศอื่นในภูมิภาคก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ไม่ต้องการแบกรับภาระที่หนักอึ้งเช่นนี้ต่อไป จึงพยายามให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุดในเวเนซุเอลา

ในมุมมองผู้อพยพเอง จุดหมายปลายทางสุดท้ายที่เขาต้องการไปไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป ขณะที่ทั้งสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปก็ไม่ต้องการรับ จะเห็นได้ว่าปัญหาผู้อพยพเป็นปัญหาที่มีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

 

05

กล่าวได้ไหมว่า วิกฤติเวเนซุเอลาเกิดจากที่ทั้งสองฝั่ง เล่นเกมการเมืองไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย และหายนะของการไม่ยึดตามกติกา อาจารย์วิเคราะห์ว่า สามารถออกมาในรูปแบบใดได้บ้าง รวมถึงส่งผลเป็นโดมิโนสู่ระบบคิดของสังคมโลกอย่างไร

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ทั้งสองฝั่งต่างก็ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตยทั้งคู่ การเป็นเสรีประชาธิปไตยคือต้องมีการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair competition) เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมมากที่สุด (inclusive) ซึ่งทั้งคู่ไม่มี มีแต่เรียกร้องให้กองทัพเลือกข้าง ถือเป็นหายนะของการเมือง

ถ้าคุณคิดว่ากติกาไม่ถูก ก็ต้องไปแก้กติกาผ่านเสียงประชามติของประชาชน ไม่ใช่ล้มกติกาด้วยปืน การไม่ยึดตามกติกาท้ายที่สุดคุณจะได้รัฐบาลที่อ่อนแออยู่ภายใต้กรอบทหาร หรือไม่เลวร้ายที่สุดก็เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารไปเลย ซึ่งผมคิดว่าโอกาสแทบเป็นศูนย์ เพราะการเมืองลาตินอเมริกาก้าวมาไกลกว่าจะยอมรับระบอบเผด็จการทหารได้

เขาเรียนรู้ความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้น จำได้ ไม่ลืมอดีต ผมยังหวังว่าด้วยกลไกทางการเมืองระบอบเสรีประชาธิปไตย จะช่วยแก้ไขปัญหาในเวเนซุเอลาได้อย่างยั่งยืน

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า