มานอนเล่นลืมโลกอันโหดร้าย บนหาดทรายปลอมในเวนิซกันเถอะ!

เวนิซเบียนนาเล่ (Venice Biennale) คือเทศกาลศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้นทุกๆ สองปี เพื่อรวมผลงานศิลปะจากทั่วโลกมาไว้ที่เมืองเวนิซ ประเทศที่เข้าร่วมจะได้รับพื้นที่แสดงงานเป็นศาลา (pavilion) เพื่อคัดเลือกผลงานศิลปะร่วมสมัยที่คู่ควรจะได้เป็นตัวแทนศิลปะประจำประเทศนั้น และตรงกับธีมที่กำหนด เป็นงานเทศกาลที่ถ้าอยู่ๆ โยนหินไปใส่หัวใคร คนนั้นอาจจะเป็นศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักวิจารณ์ศิลปะ นักสะสม หรือแกลเลอรี ไปจนถึงคนในวงการศิลปะระดับโลก

พูดง่ายๆ ว่า นี่คือเทศกาลรวมญาติของชาวศิลปะทั่วโลกที่ทุกคนจะงัดผลงานมาอวดความร่วมสมัยของตัวเองมาโชว์

 

 

ปีนี้ที่มีธีมใหญ่คือ ‘May You Live In Interesting Times’ หรือ ‘ขอให้คุณจงใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาอันน่าสนใจ’ และธีมภาษาอิตาเลียนก็คือ ‘Mondo Grosso’ หรือ ‘โลกยังคงหมุนไป’ ความสนุกของธีม ‘ช่วงเวลาอันน่าสนใจ’ นี้ก็คือ แทนที่จะเป็นเรื่องโลกสวยแสนแฮปปี้ ช่วงเวลานี้ช่างสวยงามจัง ศิลปินหลายคนกลับตีความมันออกมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้กันหมด ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องปัญหาเชื้อชาติและสีผิวที่ยังคงมีในยุคนี้ อย่างศาลากานา (Ghana Pavilion) เป็นครั้งแรกที่ประเทศกานาเข้าร่วมเวนิซเบียนนาเล่ในธีม Ghana Freedom พูดถึงการถูกกีดกันของคนผิวสี

หรือในศาลาบราซิล (Brazil Pavilion) ผลงาน Swinguerra ที่มีการพาดพิงถึงคนผิวสีที่แทบจะมองไม่เห็นในวงการศิลปะ, ความน่ากลัวของเทคโนโลยีที่คอยสอดส่องเราในศาลาไต้หวันที่ชื่อ 3x3x6, อนาคตอันน่าสยดสยองท่ามกลางเทคโนโลยีอย่างผลงานหุ่นยนต์กวาดเลือด Can’t Help Myself ของ Sun Yuan และ Peng Yu

รวมถึงสงครามและความเสียหายที่มาจากสงคราม จะเห็นได้ในศาลาประจำประเทศอินเดีย ที่วาดภาพความเสียหายจากสมัยการล่าอาณานิคมยาวมาถึงปัจจุบัน และอนาคต

 

Can’t Help Myself ผลงานของ Sun Yuan และ Peng Yu (ภาพจาก designboom.com)

 

แต่เรื่องที่พูดกันเยอะมากจนสังเกตได้ คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ทุกคนบนโลกกำลังประสบ นั่นก็คือ ‘ภาวะโลกร้อน’ และท่ามกลางผลงานที่พูดถึงภาวะโลกร้อนทั้งหลายแหล่ มีงานนึงที่เรากรี๊ดมากๆ เลย ก็คือผลงาน Sun & Sea (Marina) ประจำศาลาลิธัวเนีย (Lithuania Pavilion) โดยศิลปินหญิงสามคน ลีนา ลาเปลไลเต (Lina Lapelyte), เววา เกรไนเต (Vaiva Grainyte), และ รูกิเล บาร์ซด์ซูไคเต (Rugile Barzdziukaite) ซึ่งได้รางวัล Golden Lion ประจำปีนี้ นับว่าเป็นศาลาประจำชาติที่ดีที่สุด

 

Sun & Sea (Marina) ผลงานของ Lina Lapelyte, Vaiva Grainyte และ Rugile Barzdziukaite

 

ผลงานตั้งอยู่ในอาคารสองชั้น ชั้นหนึ่งเป็นการแสดงบนชายหาดจำลอง ศิลปินจ้างนักแสดงจากทุกเพศทุกวัย มานอนผึ่งพุงอาบแดดในชุดว่ายน้ำสีสันสดใส บนหาดทรายปลอมๆ ท่ามกลางผ้าเช็ดตัว ลูกบอลชายหาด รถขายไอศกรีม และน้องหมาวิ่งไปมา พร้อมคลื่นที่เป็นแค่เสียงจากคลองในเวนิซด้านนอกซัดเข้ามาที่ริมรั้ว ขณะที่ผู้ชมสามารถมองดูนักแสดงเหล่านี้จากชั้นสองได้ เหมือนกับเวลาที่เราไปเขาดินแล้วมองดูจระเข้อาบแดดอยู่ในบ่อ

นักแสดงเหล่านี้กำลังนอนเล่นแบบจำลองอยู่บนชายหาดจำลอง พร้อมร้องเพลงโอเปร่าที่เป็นบทสนทนาของชีวิตส่วนตัวแสนจะธรรมด๊าธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น “คุณลูกของเดี๊ยนตื่นเต้นมากเลยค่ะ ที่จะได้ไปคอรัลรีฟที่ออสเตรเลียในทริปครั้งหน้า” หรือว่า “ปีนี้แดดแรงมากเลยครับ ผิวไหม้ไปหมดแล้ว ผมแค่อยากจะได้ผิวแทนนะเนี่ย” หรือ “คริสต์มาสนี้หิมะไม่ตกเลย อุ่นจนจะเป็นเทสกาลอีสเตอร์อยู่แล้ว ฮ่าๆๆ” (ฟังแล้วก็อยากเดินไปตบปากว่าให้แกลองมาคริสต์มาสที่กรุงเทพฯ หื้ม)

ไปจนถึง “โอ๊ย หาดนี้สกปรกละเกิน ทำไมคนกวาดขยะไม่มากวาดขี้หมาพวกนี้ออกไปนะ” พร้อมกับถุงพลาสติกที่ปลิวไปมาเหมือนแมงกะพรุนลอยได้ ดูเป็นวันสุดแสนธรรมดาที่ทุกคนมีความสุข มีแค่เรื่องกวนใจเล็กน้อยเกี่ยวกับบรรยากาศ หรือดินฟ้าอากาศ แต่ไม่เป็นไรน่า เราอยู่บนหาดแล้ว พวกเรามีความสุขจังเลย เย้!

ท่ามกลางบทสนทนาที่ธรรมดาของนักแสดงที่ดูธรรมดาเหล่านั้น เราสังเกตเห็นความผิดปกติมั้ยนะ ทำไมหิมะไม่ตกตอนคริสต์มาสเหมือนเคย คำตอบเรารู้อยู่ในใจ คอรัลรีฟ แนวปะการังที่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ุปลาอันสำคัญของโลกในออสเตรเลียกำลังถูกทำลายไปแค่ไหน เราเห็นตามข่าวมาตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ เหมือนกับข่าวแนวปะการังที่กำลังตายไป เรื่อยๆ เรื่อยๆ และเรื่อยๆ ที่ต่างประเทศบ้าง ที่ไทยบ้าง

แต่ถามว่าเราแคร์มั้ยนะ? หรือพอวันหยุด เราก็วางทริปกันอีกที หื้ม วันหยุดยาวนี้ไปดำดูปะการังที่ไหนดีนะ พร้อมกับกดแชร์ข่าววาฬตายเพราะพลาสติกอุดลำไส้อีกแล้ว

ทำไมนะ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอก ว่าจำนวนวันที่เราจะอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างปลอดภัยกำลังถูกนับถอยหลังเรื่อยๆ จนน่าใจหาย ความอันตรายจากสิ่งที่มนุษย์กระทำกับโลกใบนี้มันเกินเยียวยา และก็ส่งผลกระทบกับเราทุกวัน ทุกวัน แต่ทำไมเรายังนิ่งนอนใจ นอนอาบแดดได้ไม่แคร์ความเป็นไป ทั้งที่น้ำทะเลจะท่วมบ้านเราได้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เหมือนกับศิลปินกำลังบอกเราว่า

ท่ามกลางความปั่นป่วนโกลาหลของโลกใบนี้ ไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าความเฉยชาของพวกเราแล้ว การใช้ชีวิตอยู่ทุกวันโดยไม่ตื่นวิตกของเรานี่แหละ ที่น่าสนใจกว่าอะไรแล้วล่ะ

พวกเราที่ว่า ไม่ใช่แค่นักแสดงที่นอนอยู่บนหาด แต่เราเชื่อว่าศิลปินผู้พูดรวมถึงคนที่มาร่วมเทศกาลเวนิซเบียนนาเล่นี้ด้วย เพราะคนที่มีเงิน หรือมีอภิสิทธิ์พอที่จะมาเวนิซเบียนนาเล่ได้ ก็คือคนที่น่าจะพอมีเงินไปเที่ยวชายหาดได้แบบไม่แคร์ใคร

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชม นอกจากจะชมจากด้านบนได้แล้ว ยังสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงบนหาดจำลองนี้ด้วย เพียงแค่คุณไปนอนเล่นในนี้อย่างน้อยสามชั่วโมงเท่านั้น แถมยังมีสโลแกนเจ็บๆ มาด้วยว่า “เรามีสัญญาณไวไฟแรงสูงและไฟที่เหมาะกับการอ่านหนังสือให้คุณ แถมคุณสามารถนำสัตว์เลี้ยงของคุณมาได้ด้วย” เย้!

เป็นเรื่องที่ตลกร้ายเหมือนกันที่เวนิซเบียนนาเล่ปีนี้เพิ่งจะพูดเรื่องโลกร้อนกันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่เวนิซเป็นเมืองที่น่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นอันดับต้นๆ เพราะการอยู่ร่วมกันระหว่างคลองที่มนุษย์สร้างขึ้นมา กับระดับน้ำตามธรรมชาติที่นับวันก็ไต่ขึ้น ไต่ขึ้น จนช่วงนึงก็เคยท่วมเวนิซไปแล้ว และอาคารเก่าๆ หลายหลังก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกันเป็นเบือ แต่ชาวศิลปะก็หาได้แคร์ไม่ เพราะน้ำจะสูงแค่ไหน ชาวศิลปะก็จะไปถึงค่ะ แม้จะอยู่ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเวนิซจะจมน้ำ เวนิซเบียนนาเล่ที่จัดกันเป็นธรรมเนียมก็ยังจะต้องเกิดขึ้นในทุกๆ สองปี

ท่ามกลางผลงานที่ฉายให้เห็นความน่ากลัวของภาวะโลกร้อนหรือการบริโภคอันไม่มีที่สิ้นสุดอย่างก้อนน้ำแข็งที่ละลาย หมีขั้วโลกจะไม่มีบ้านอยู่ เพนกวิ้นจะตายยกฝูง อนาคตเราจะต้องอยู่ในน้ำ ผืนดินจะแห้งแล้งจนเราจะต้องอยู่อาศัยแบบในหนังเรื่อง Madmax คนรวยจะมีอาณานิคมบนดาวอังคาร ผลงานในศาลาลิธัวเนีย ทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุด ไม่ใช่ภาพเหล่านั้น แต่คือภาพชีวิตธรรมดาของเราต่างหาก

“ผลงานนี้เกี่ยวผลกระทบของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เกี่ยวกับการไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยน่ะค่ะ” คือคำให้สัมภาษณ์ของเกรไนเต หนึ่งในศิลปินที่ร่วมสร้างผลงานนี้

เราชอบงานนี้ตรงที่เขาไม่ได้บอกตรงๆ ว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่ทุกวันมันแย่หรือดี ใครๆ ก็อยากมีความสุข ใครๆ ก็อยากนอนเล่นริมหาดทั้งนั้นแหละ ใครๆ ก็ไม่อยากเอาเรื่องน่าหดหู่มาเก็บไปกังวลใจ แต่เรากำลังลืมความเป็นจริงอยู่หรือเปล่า แล้วเราจะปิดหูปิดตากับความพินาศของโลกใบนี้จนถึงเมื่อไหร่? เราทำให้ความผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติ จนแม้แต่วันสิ้นโลก เราก็จะยังนอนอาบแดดไม่รู้ร้อนรู้หนาวเหมือนเดิม?

ไม่ต่างกับธีมภาษาอิตาเลียนของเทศกาลว่า ‘โลกยังคงหมุนไป’ ใช่ค่ะ โลกจะแตก เราจะตายห่าเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ชีวิตก็ยังดำเนินไป โลกยังคงหมุนไป แต่เรานี่แหละ จะตาย

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า