เกมฟาดแข้งสั่งตาย: จาก Victory สู่ The Death Match

victory

เตะแหลก

สมัยก่อนยุคที่ทีวียังมีวนอยู่แค่ไม่กี่ช่อง 3-5-7-9-11 ผู้เขียนจดจำได้ดีว่าคราวใดที่เข้าสู่ช่วงฟุตบอลโลก แต่ละช่องก็จะพยายามสรรหาเทปการแข่งขันบอลโลกครั้งก่อนๆ สกู๊ปพูดถึงความพร้อมของทีมต่างๆ ตั้งแต่ทีมเต็งหนึ่งจนถึงเต็งบ๊วย ตลอดจนการนำภาพยนตร์เกี่ยวกับฟุตบอลมาฉายให้ดูในช่วงกลางวัน เรียกน้ำย่อยก่อนฟุตบอลเตะกันตอนหัวค่ำ

นั่นคือฟุตบอลโลก 1990-1994-1998 ในความทรงจำของผู้เขียน

หนึ่งในภาพยนตร์ที่ผู้เขียนได้ชมในช่วงเวลาดังกล่าว แล้วฝังใจเสมอมาคือภาพยนตร์เรื่อง Victory (1981) หรือ Escape to Victory ชื่อไทยนั้นคือ เตะแหลกแล้วแหกค่าย ผลงานกำกับของ จอห์น ฮุสตัน ผู้กำกับลายครามที่เคยได้รางวัลออสการ์มาแล้ว

จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน พระเอกผู้กำลังโด่งดังจากบท ร็อคกี้ (Rocky ภาพยนตร์ปี 1976 ส่งให้สตอลโลนมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งสาขานักแสดงนำชาย และเขียนบทยอดเยี่ยม) แต่เป็นเพราะนี่คือภาพยนตร์เรื่องเดียวในยุคนั้น ที่ผู้ชมจะได้เห็นนักเตะสุดยอดของยุคร่วมทีมเดียวกัน ไล่ตั้งแต่ เปเล่ แห่งทีมชาติบราซิลที่คว้าแชมป์บอลโลกได้ถึงสามสมัย บ็อบบี้ มัวร์ กัปตันทีมชาติอังกฤษที่พาอังกฤษคว้าแชมป์ครั้งแรกและครั้งเดียวในปี 1966 ออสวัลโด้ อาดิเลส ตำนานนักเตะทีมชาติอาร์เจนตินาผู้คว้าแชมป์โลกในปี 1978 ฯลฯ

ทั้งหมดไม่ได้รับบทเป็นตัวเอง แต่ต่างรับบทตัวละครสมมุติ เป็นเชลยสงครามในค่ายกักกันนาซี ที่จำเป็นต้องรวมทีมเชลยฝ่ายสัมพันธมิตรขึ้นเพื่อแข่งกับทีมนาซีเยอรมัน! สตอลโลนเป็นเชลยศึกชาวอเมริกันที่หาหนทางวางแผน ‘แหกค่าย’ ระหว่างการแข่งที่จะจัดขึ้นในฝรั่งเศส โดยฝ่ายต่อต้านฝรั่งเศสและอังกฤษจะระเบิดห้องน้ำนักกีฬาทีมเชลยศึก เพื่อเชื่อมต่อท่อระบายน้ำใต้ดินเป็นทางหนี สตอลโลนจึงขอโอกาสเข้าร่วมทีมสุดชีวิต และได้เป็นผู้รักษาประตูสำรอง

ทุกคนต่างรู้ว่าเกมนัดนี้เป็นเกมปาหี่ที่พวกนาซีเยอรมันจัดขึ้นเพื่อฉลองวันเกิดให้แก่ ‘ฮิตเลอร์’ โดยมี นายพลคาร์ล ฟอน สไตนเนอร์ ทหารระดับสูงมาชมการแข่งขัน (รับบทโดยนักแสดงระดับตำนาน แมกซ์ ฟอน ซีโดว) กฎของเกมนี้มีข้อเดียวสำหรับฝ่ายเชลยสัมพันธมิตรคือ “ห้ามชนะ ไม่งั้นตาย!”

ขณะที่โค้ชประจำทีม (รับบทโดย ไมเคิล เคน) กลับต้องการเล่นจนจบแมตช์ เพื่อสั่งสอนให้พวกเยอรมันรู้ว่าฟุตบอลเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ไม่ใช่จะมาย่ำยีกันง่ายๆ (โว้ย!)

ลีลาน่าตื่นเต้นของนักฟุตบอลชื่อดังข้างต้น ถูกถ่ายทอดได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์แบบผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะ ‘เปเล่’ เป็นคนออกแบบการเล่นของแต่ละคนรวมทั้งตัวเขาเองไว้ จังหวะบุกควรเป็นเช่นไร จังหวะตั้งรับควรเป็นเช่นไร แถมในเรื่องยังยิงประตูกันเต็มอิ่ม ชนิดที่สนุกกว่าฟุตบอลบางนัดที่เขาเตะกันจริงๆ ช่วงบอลโลกเสียด้วยซ้ำ

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์นั้น กลับมีที่มาที่ไปจากเหตุการณ์จริงกึ่งตำนาน ถูกเล่าขานกันต่อมาถึงทุกวันนี้ เหตุการณ์ที่ว่านี้ถูกขนานนามว่า ‘แมตช์แห่งความตาย’ (The Death Match)

victory

เคียฟ 1942

‘ฟุตบอลโลก’ ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1930 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงเกือบ 10 ปี และมีการแข่งกันถึงสามครั้งก่อนสงครามจะลุกลามทั่วโลก จนต้องยุติการแข่งขันไป ช่วงเวลานั้นฟุตบอลกลายเป็นกีฬายอดนิยมสำหรับท่านชายทุกอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ในกองทัพ ยามพักรบพวกทหารมักจับกลุ่มตั้งทีมฟุตบอลกัน ผสมระหว่างนักบอลอาชีพที่ถูกเกณฑ์เข้ารบกับเหล่ามือสมัครเล่นที่รักในกีฬา

‘แมตช์แห่งความตาย’ ถือกำเนิดขึ้นที่เคียฟ เมืองหลวงประเทศยูเครนในปัจจุบัน ช่วงระหว่างที่กองทัพนาซีเคลื่อนพลยึดครองเมืองไว้ได้ หมายจะบุกยึดสหภาพโซเวียต แต่เมืองเคียฟนั้นมีประชากรเยอะเกินที่จะดูแลทั่วถึง พวกเขาต้องการกิจกรรมที่ตรึงคนในเมืองให้อยู่หมัด ขยี้พลังใจเจ้าถิ่นให้ราบคาบแทบเท้า ฟุตบอลเป็นกิจกรรมเดียวที่ทางกองทัพอนุมัติให้พวกเขาเล่นได้ มันจึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองชั้นเยี่ยมในตัวมันเองด้วย

ฟรีดิช จอร์จ เอเบอร์ฮาดท์ (Friedrich-Georg Eberhardt) ผู้ว่าการเมืองเคียฟซึ่งแต่งตั้งโดยฝ่ายเยอรมัน ตัดสินใจจัดการแข่งขันฟุตบอลกระชิบมิตรระหว่างทีมเจ้าถิ่นกับทหารนาซีเยอรมันขึ้นทันทีเพื่อสนองแนวคิดข้างต้น

สนามรบที่ชื่อฟุตบอล

ทีมฟุตบอลเอกที่นาซีตั้งใจปั้นเพื่อครองเมืองเคียฟนั้นชื่อว่า Flakelf ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยตรงจาก แฮร์มัน เกอริ่ง (Hermann Göring) จอมพลและผู้นำระดับสูงของพรรคนาซี เกอริ่งถึงกับดึงบรรดาอดีตนักฟุตบอลฝีมือดีที่เข้าสังกัดใน ‘ลุฟท์วัฟเฟอ’ (Luftwaffe) หน่วยกองทัพอากาศของนาซีเยอรมัน ออกจากสนามรบมาร่วมทีมนี้โดยเฉพาะ

ผลงานของ Flakelf ก็น่าเกรงขามพอๆ กับกองทัพนาซีเยอรมันในเวลานั้น พวกเขาไล่ขยี้ทีมคู่ต่อสู้ในสนามเมืองเคียฟเละเทะเอาชนะทีม Ruch ไป 7-2 เอาชนะทีมของพวกฮังการีไปอีก 6-2 และถล่มทีมทหารม้าของกองทัพนาซีเยอรมันด้วยสกอร์ 7-1 พวกเขาแทบจะไร้เทียมทาน สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครโค่นล้มได้

ทีมเดียวที่พวกเขายังไม่เคยประทะแข้ง และเป็นทีมเดียวที่ขวางทางการขึ้นสู่มหาอำนาจลูกหนังในเมืองเคียฟของพวกเขา กลับเป็นทีมเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นโดยบรรดาเชลยศึกในโรงงานขนมปัง ชื่อทีมว่า Start

victory

Start

นิโกไล ทรูเซวิช (Nikolai Trusevich) อดีตผู้รักษาประตูชื่อดังของทีม ดินาโม เคียฟ ต้องระหกเหินตลอดช่วงสงคราม เอาตัวรอดด้วยการขายไฟเช็ค และเมื่อถูกจับส่งตัวมาทำงานในโรงงานขนมปัง เขาได้พบ โจเซฟ คอร์ดิก (Joseph Kordik) ผู้จัดการโรงงานที่เสนอให้ทรูเซวิชตั้งทีมบอลขึ้นเพื่อแข่งกับพวกนาซี

ทรูเซวิชรวบรวมอดีตเพื่อนนักเตะทั้งที่อยู่ทีมเดียวกันและต่างทีม ซึ่งต่างถูกส่งตัวมาทำงานในโรงงานขนมปังเช่นกัน  ได้อดีตนักฟุตบอลอาชีพอีกเก้าคน แต่นั่นยังไม่พอจะตั้งทีมได้ ทรูเซวิชจึงชักชวนเพื่อนร่วมงานทั้ง พ่อครัว ยาม จนถึงอดีตนายตำรวจมาร่วมทีม จนก่อตั้งทีมฟุตบอลเล็กๆ ชื่อ Start ขึ้นมาได้สำเร็จ

แต่ทีมของทรูเซวิชไม่ใช่ทีมเดียวที่มีอดีตนักฟุตบอลมีชื่อในยุคนั้น ยังมีทีมคู่ปรับชื่อ Ruch ซึ่งก่อตั้งโดย จอร์จี้ เชตซอฟ (Georgi Shvetsov) อดีตนักเตะอาชีพเช่นกัน เซตซอฟชักชวนให้ทรูเซวิชยุบทีมรวมกัน แต่ทรูเซวิชปฏิเสธ สำหรับทรูเซวิช เชตซอฟเป็นคนทรยศขายชาติที่เอาใจฝักใฝ่นาซี ทีมของเชตชอฟเองก็รวมคนที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กับเขา ดังนั้นศึกในสนามระหว่าง Start และ Ruch จึงเปรียบดังศึกระหว่างชาวยูเครนสองฝั่ง ระหว่างฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายสนับสนุนนาซี

ถึงกระนั้น Start ก็เอาชนะ Ruch ได้อย่างง่ายดาย แถมยังเอาชนะทีมของพวกฮังการีและทหารม้าของนาซีรวด โดยที่ Start ยิงรวม 20 ประตูจากสามเกม นั่นทำให้พวกเขาถูกจับตามองอย่างมากจากทีม Flakelf ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะขยี้ทีม Start และพลพรรคของทรูเซวิชคาสนามต่อหน้าชาวเคียฟ

The Death Match

ในที่สุด ‘บิ๊กแมตช์’ ที่ Start ต้องโคจรมาพบกับ Flakelf ก็มาถึง ทั้งคู่ลงแข่งกันในวันที่ 6 สิงหาคม 1942

Flakelf ลงเล่นด้วยความมั่นใจสุดขีด แต่ผลการแข่งขันกลับพลิกล็อคถล่ม Start เอาชนะพวกเขาขาดลอยด้วยสกอร์ 5-1 พวกเยอรมันไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ง่ายๆ Flakelf จัดทีมใหม่ ดึงผู้เล่นที่แข็งแกร่งที่สุดเข้ามาเสริมทีมเพิ่ม ปรับเปลี่ยนทีมให้สมบูรณ์สุดขีดเพื่อล้างแค้น Start โดยเร็วที่สุด

แมตช์ ‘เอาคืน’ นี่แหละ ที่ต่อมาถูกขนานนามว่าเป็น The Death Match จัดขึ้นในอีกสามวันต่อมา (9 สิงหาคม)

แม้ Flakelf จะลงเล่นด้วยผู้เล่นที่ดีกว่า สดกว่า กลับยังสู้ Start ในสนามไม่ได้ จบครึ่งแรกพวกเขาตามหลังทีมเจ้าถิ่น… เชลยศึกที่พวกเขากุมชะตาชีวิตนอกสนามไว้อยู่ 3-1

ระหว่างพักครึ่ง นายทหารระดับสูงของนาซีเยอรมันเข้าไปยังห้องแต่งตัวของทีม Start และข่มขู่ทรูเซวิชกับลูกทีมว่า

ถ้าเอ็งคิดชนะพวกข้า ได้ตายห่ายกทีมแน่

หลังนายทหารผู้นั้นจากไป เหล่านักเตะทีม Start กลับคิดในทางตรงข้าม พวกเขามุ่งมั่นที่จะเอาชนะเกมนี้ให้ได้ เพื่อตบหน้าพวกเยอรมันให้เห็นว่าพวกเขาเหนือกว่า!

ครึ่งหลัง Flakelf เริ่มต้นด้วยฟอร์มที่ดีกว่า บดขยี้เกมรับของ Start จนยิงสองลูกรวดตามตีเสมอได้สำเร็จในช่วงต้นครึ่งหลัง การแข่งขันค่อนข้างดุเดือดตามสมัยนั้นที่กติกาไม่เคร่งมาก ทรูเซวิชถึงกับโดนผู้เล่นทีม Flakelf ชนสลบไม่ได้สติ เพื่อนร่วมทีมต้องนำน้ำมาสาดปลุกให้ทรูเซวิชลุกขึ้นมาเล่นต่อ ทั้งๆ ที่ยังมึนอยู่

แต่แล้วช่วงท้ายเกม มักการ์ คอนชาเรนโก้ (Makar Honcharenko) ศูนย์หน้าตัวเก่งของ Start ยิงคนเดียวสองประตูรวด พาทีมพลิกเอาชนะ Flakelf อย่างสะใจด้วยสกอร์ 5-3 และแมตช์นัดนี้แหละคือตำนานที่เล่าขานในเวลาต่อมา บ้างว่ากองเชียร์ชาวยูเครนจำนวน 2,000 คน โห่ร้อง ตะโกนด่าทอพวกเยอรมัน แห่ลงสนามด้วยความดีใจเพื่อ ‘เอาคืน’ พวกเยอรมันที่กดขี่เขานอกสนามมานานนับปี

บางตำนานเล่าตรงกันข้ามว่า เหล่ากองเชียร์เงียบกริบ เพราะรู้ดีว่าชีวิตพวกเขาอยู่ในมือพวกนาซี แม้ชนะในเกมแต่ไม่อาจเปลี่ยนชะตากรรมนอกสนามได้ พวกเขากลัวจนไม่กล้าแม้จะส่งเสียงเชียร์ทีม Start และนำมาสู่อีกตำนานที่กลายเป็นที่มาของการขนานนามเกมนี้ว่า The Death Match เมื่อนักเตะ Start ถูกพวกนาซีเยอรมันยิงตายยกทีมหลังจบเกม!

ตำนานหลังม่านเหล็ก

ข่าวลือเรื่องนักฟุตบอลทีม Start ถูกพวกนาซีฆ่าตายเริ่มต้นเมื่อไหร่? ต้องย้อนกลับไปราวฤดูใบไม้ร่วงปี 1943 หลังจากกองทัพนาซีเยอรมันถอนทัพออกจากเมืองเคียฟ รัฐบาลโซเวียตเริ่มเข้ามาฟื้นฟูเมืองคืนมา นักข่าวชื่อ เลฟ คาสซิล (Lev Kassil) เป็นคนแรกที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อ Izvestiya แต่เขาไม่เคยพูดถึงการแข่งขันฟุตบอลนัดใดๆ ระหว่าง Start กับทีม Flakelf เลย

คำว่า ‘The Death Match’ ปรากฎครั้งแรกในหน้าหนังสือพิมพ์ Stalinskoye plemya (Stalin’s tribe) ซึ่งตีพิมพ์บทภาพยนตร์ของ อเล็กซานเดอร์ บอร์สชาคอฟสกี้ (Aleksandr Borshchagovsky) ที่มีกล่าวถึง The Death Match ด้วย นับจากนั้นมีการเล่าซ้ำเหตุการณ์นี้ตามความเชื่อว่า “นักเตะ Start ถูกนาซียิงตายยกทีม” ในสื่อหลายแขนงทั้งนิยายและภาพยนตร์ของสหภาพโซเวียต

โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง Tretiy taym (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Third Time) ของผู้กำกับ เยฟเกนี่ คาเรลอฟ (Yevgeni Karelov) ซึ่งออกฉายในปี 1963 ที่โด่งดังมากในโซเวียต มีคนดูถึง 32 ล้านคนเมื่อคราวออกฉาย กระจายความเชื่อว่าเหล่านักเตะชุดนั้นไม่มีใครรอดชีวิตหลังจบเกม

ในช่วงพีคของสงครามเย็นราวกลางทศวรรษ 60 เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและประธานาธิบดีโซเวียตคนที่ 8 (ระหว่างปี 1964-1982) สั่งให้มีการนำเรื่องราวของเหล่านักเตะ Start ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ประวัติศาสตร์สงครามในเคียฟ’

ปี 1965 รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้มอบเหรียญกล้าหาญ (The Medal for Courage) ให้แก่ครอบครัวและทายาททั้งสี่ผู้เสียชีวิตในช่วงสงคราม ได้แก่ นิโกไล ทรูเซวิช (Nikolai Trusevich) ผู้ก่อตั้งทีม, โอเลกซี่ คลิเมนโก้ (Olexi Klimenko), อิวาน คุซเมนโก้ (Ivan Kuzmenko) และ นิโกไล โกรอทกิ้น (Nikolai Korotkykh)

รวมทั้งมอบเหรียญสงคราม (The Medal for Battle Merit) ให้แก่นักเตะทีม Start ห้าคนได้แก่ โวโลดิเมียร์ บัลลากิน (Volodymyr Balakin), มักการ์ คอนชาเรนโก้ (Makar Honcharenko), มิกาอิโล เมลนิก (Mikhailo Melnik), วาซิลลี ซุกาเรฟ (Vassyl Sukharev) และ มิกาอิโล ชวิริดอฟสกี้ ( Mikhailo Sviridovsky)

แต่นักเตะหลายคนก็ไม่ยอมเผยตัวต่อสาธารณะชน เพราะช่วงหลังสงครามสงบใหม่ๆ พวกเขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเคยทำงานให้กับพวกเยอรมัน ถึงกับถูกสอบสวนโดยตำรวจลับของโซเวียต (NKVD)

victory
อนุสาวรีย์นักฟุตบอลทีม Start ที่เคียฟ

ตัวตายแต่ชื่อยัง แต่พวกเขาตายอย่างไร?

มีรูปถ่ายทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่าหลังจบเกม นักเตะทั้งสองทีมยังคงยิ้มแย้มร่วมกัน และการที่ยังมีนักเตะรอดชีวิตอยู่จนได้รับเหรียญกล้าหาญถึงห้ารายทั้งยังมีรูปถ่ายยืนยัน แสดงว่าตำนานที่เหล่า “นักเตะ Start ถูกนาซียิงตายยกทีม” ไม่เป็นความจริง?

แต่เหตุใด ฟรีดิช จอร์จ เอเบอร์ฮาดท์ ผู้ว่าเมืองเคียฟในขณะนั้น จึงตัดสินใจสั่งห้ามไม่ให้มีการแข่งขันฟุตบอลในเคียฟอีกต่อไป ด้วยเหตุผล “ยุติปัญหายุ่งยากที่อาจทำให้ฝ่ายเยอรมันไม่พอใจ” หรือบางทีฟรีดิชก็อาจกลัวว่าหากมีการ ‘รีแมตช์’ หนที่ 3 เขาเองก็ไม่แน่ใจว่าบทสรุปหลังเกมจะยังลงเอยด้วยดีหรือเปล่า

18 สิงหาคม 1942 หรือเก้าวันนับจากชัยชนะของทีม Start ต่อ Flakelf นักเตะทีม Start ทุกคนที่ทำงานในโรงงานขนมปังต่างถูกจับกุม โดยไม่มีหลักฐานระบุว่าพวกเขาถูกจับกุมด้วยข้อหาใด อาจเป็นเพราะพวกนาซีสงสัยว่าในกลุ่มนักเตะอาจมีสายลับของฝ่ายโซเวียตแฝงตัวอยู่

ข้อสงสัยของพวกนาซีเป็นจริงเมื่อนักเตะชื่อ นิโกไล โกรอทกิน เป็นสายลับโซเวียตจริงๆ พวกนาซีทรมานเขาจนทำให้หัวใจวายตาย ส่วนคนอื่นๆ ที่เหลือถูกส่งตัวไปยังโรงงานต่างๆ อีกทั้งในเวลาต่อมาพวกนาซีประหารชีวิตคนงานโรงงานทำขนมปังเกือบครึ่ง โดยไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าด้วยสาเหตุใด โดยในจำนวนนั้นมีสามนักเตะทีม Start ที่ถูกสังหารด้วย

นักเตะคนอื่นๆ ถูกส่งไปยังค่ายกักกันต่างๆ จนถึงค่ายพิเศษที่ดูแลโดยเกสตาโป (ตำรวจลับของนาซี) บางคนหนีรอดมาได้จากค่ายนรก แต่บางคนก็ถูกยิงระหว่างหลบหนี

แม้หลังสงครามสงบไปหลายสิบปี ตำนานก็ยังถูกเล่าขาน และมีหลายคนพยายามค้นหาความจริงเบื้องหลังตำนาน ถึงกับมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมันตะวันตก (ในขณะนั้น) เมื่อปี 1972 เพื่อสืบสวนเหตุการณ์โดยเฉพาะ จนกระทั่งถึงปี 2005 แต่พวกเขาก็ยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าการจับกุมนักเตะ Start ยกทีมในรอบแรก จนนำมาสู่การเสียชีวิตของ นิโกไล โกรอทกิน เกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด

กระทั่งกองหน้าผู้ทำประตูให้ทีมคว้าชัยชนะในแมตช์ดังกล่าวอย่าง มาการ์ ฮอนชาเรนโก้ ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของทีม (เสียชีวิตในปี 1997) ให้สัมภาษณ์แก่ เจฟฟ์ กรอสส์ (Jeff Gross) นักเขียนชาวอเมริกันว่าในวันที่แข่งขันนั้น ทีม Start ของเขาสวมชุดขาวและมีตราอินทรีสีดำติดบนอกเสื้อ ทว่าภาพถ่ายรวมทีม Start และ Flakelf ซึ่งเชื่อกันว่าถ่ายหลังแมตช์นั้น ชุดสีขาวที่พวกเขาสวมไม่มีตราอินทรีสีดำเลย!!

ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าหลังจบเกมพวกนาซีเอาเรื่องทีม Start จริงหรือไม่ การตายของนักเตะสี่คนในช่วงหลังจากนั้นนับเป็นการ ‘เอาคืน’ หรือเปล่า

แต่ที่แน่นอนคือหลังสงครามสงบลง ฟุตบอลโลกกลับมาจัดกันอีกครั้งในปี 1950 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งนับเป็น ‘ฟุตบอลยุคใหม่’ ที่กติกา+เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มเดิมพันด้วยเงินและถ้วยรางวัล

ลดทอนความรุนแรงที่เคยเดิมพันกันถึงเลือดถึงเนื้อ และชีวิต ให้กลายเป็นเพียงตำนานเล่าขานก็พอ…


อ้างอิงข้อมูลจาก:
thesefootballtimes.co
theguardian.com
thehardtackle.com
outsideoftheboot.com

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า