เสียงตะโกนจากก้นเขื่อน อนาคตคนพุระกำในอุ้งมือรัฐ

นับตั้งแต่มีการเสนอ ‘โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง’ ในพื้นที่บ้านพุระกำ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรมชลประทานที่มีเป้าหมายเพื่อกระจายน้ำลงสู่พื้นที่เกษตรกรรมตอนล่างของพื้นที่ สิ่งที่ตามมาคือ เกิดกระแสต่อต้านจากชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในชุมชนพุระกำมาอย่างยาวนาน เพราะการเกิดขึ้นของอ่างเก็บน้ำหมายถึงการเพิกถอนที่ดินทำกินอันเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารและที่อยู่อาศัย อันจะมีผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอต้องอพยพย้ายถิ่นออกจากบ้านที่อยู่อาศัยมาหลายสิบปี

การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวพุระกำ นำไปสู่แรงกระเพื่อมที่ทำให้โครงการถูกพิจารณาทบทวนใหม่เพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินอันเป็นแหล่งทุนหลักของชีวิต 

ปัจจุบันโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งยังคงระงับไว้ชั่วคราว แต่การเคลื่อนไหวของชาวกะเหรี่ยงพุระกำไม่หยุดตาม พวกเขายังคงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้กรมชลประทานยุติและถอดถอนโครงการ 

เรื่องราวของคนตัวเล็กกลางผืนป่าใหญ่ ถูกฉายซ้ำผ่านคำบอกเล่าของชาวบ้านสู่สาธารณชน และเป็นอีกครั้งที่ชีวิตคนพุระกำถูกนำเสนอผ่านสื่อด้วยข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ปรากฏข้อสรุป

คน เขื่อน ป่า และคำสัญญาเพื่อรักษาถิ่นฐาน 

แนวคิด ‘คนอยู่ร่วมกับป่า’ ถูกยกระดับความสำคัญยิ่งขึ้นในปี 2562 ภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.กรมอุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับใหม่ ซึ่งได้ระบุข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับผืนป่า นับว่าเป็นแสงแห่งความหวังของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะในเดือนกันยายนปีถัดมา บ้านพุระกำได้รับคัดเลือกเป็นโครงการพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่าและสัตว์ป่า ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 นั่นหมายถึงชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไปได้ตราบที่ไม่ประพฤติตนผิดไปจากข้อกำหนดในพระราชบัญญัติ

แม้กฎหมายจะระบุไว้เช่นนั้น แต่ความกังวลใจต่อถิ่นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงพุระกำยังไม่จางหาย ตราบที่โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีคำสั่งให้ยุติ

ความสับสนและทับซ้อนของพื้นที่ คน ผลประโยชน์ และคุณค่าทางธรรมชาติ ทำให้โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งอยู่ในระหว่างการทบทวนและทำความเข้าใจเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลากหลายด้าน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งคาบเกี่ยวกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และความชอบธรรมในพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านชุมชนพุระกำ 

ประการแรก เนื่องด้วยแผนผังของการสร้างเขื่อนซ้อนทับเขตป่าอนุรักษ์ที่ปรากฏความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เองก็ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสภาพของธรรมชาติในบริเวณนั้นไว้เช่นกัน 

ประการต่อมา แม้การจัดสรรพื้นที่ทำกินและถิ่นที่อยู่ใหม่ให้แก่ชาวบ้านจะถูกบรรจุลงในแผนการทำงานภายใต้การควบคุมดูแลของกรมชลประทาน แต่ในความสมัครใจของตัวชาวบ้านเองแล้วนั้นยังยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป

หากโครงการได้รับการอนุมัติและจัดสร้าง สิ่งที่ชาวบ้านพุระกำต้องเผชิญจะไม่ใช่เพียงแค่การย้ายถิ่นฐาน แต่ยังต้องแบกรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ปากท้อง และการสูญเสียทางวัฒนธรรมของชุมชนครั้งใหญ่อีกครั้ง นับตั้งแต่การย้ายออกจากพื้นที่ป่าแก่งกระจานในอดีต

วุฒิ บุญเลิศ นักวิชาการที่ผลักดันด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กล่าวว่า ชุมชนพุระกำสามารถตั้งตัวได้ด้วยการทำไร่ ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้การมีอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยงพุระกำจึงไม่เป็นการเบียดเบียนธรรมชาติ อีกทั้งชาวบ้านเองยังให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีในการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ไม่ให้เกิดการบุกรุกหรือทำลาย

“ชาวบ้านพุระกำทำตัวเป็นพลเมืองที่ดี หวังความเมตตาเพื่อที่จะให้หน่วยงานและมูลนิธิที่เราไปร่วมงานกับเขาช่วยพูดและปกป้องเรา”

วุฒิ บุญเลิศ

วุฒิยังกล่าวอีกว่า ชีวิตของชาวปกาเกอะญอนั้นถูกผูกไว้กับป่า ทั้งในแง่ของการดำเนินชีวิตและการก่อกำเนิดวัฒนธรรมชนเผ่า การแยกคนออกจากป่าจึงสร้างความหวั่นใจให้กับชาวพุระกำเป็นอย่างยิ่ง

หากไม่ใช่เพียงแค่ป่า แต่เวลานี้ชีวิตของชาวบ้านยังพันเกี่ยวด้วยคำสัญญาและข้อต่อรองกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในโครงการ เพื่อขอให้ได้หยัดยืนอยู่บนผืนดินเดิมของตัวเอง 

ทรัพย์ดิน-สินป่า และประโยชน์ร่วมในพื้นที่มรดกโลก

ความสมบูรณ์ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ถูกจารึกไว้ด้วยรอยเท้าของเก้ง กวาง และสัตว์หายากอีกหลายชนิด เสมือนขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ 6 ของประเทศในกลุ่มเดียวกับป่าแก่งกระจาน

แม้แผนการดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำระบุว่าจะเคลื่อนย้ายเฉพาะชาวบ้านซึ่งอาศัยในพื้นที่ใช้ก่อสร้างเท่านั้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกำเนิดขึ้นของเขื่อนในเขตป่าย่อมสร้างผลกระทบให้กับสัตว์ป่าที่อาศัยในบริเวณนั้นด้วยเช่นกัน

“เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จ พื้นที่เขื่อนรวมถึงน้ำในเขื่อนก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ซึ่งตามกฎหมายแล้วกรมอุทยานฯ ก็ต้องไปดูแล”

คำบอกเล่าจาก ชุมพล แก้วเกตุ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ถึงการทำงานร่วมกับกรมชลประทานในโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง โดยระบุว่าผลลัพธ์สุดท้ายคือการเหลือพื้นที่ให้กับอ่างเก็บน้ำและป่าเท่านั้น ซึ่งทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เองไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นสิ่งที่ต้องคอยเฝ้าระวัง โดยเฉพาะปัญหาการรุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็ก

ชุมพล แก้วเกตุ

นอกจากนี้ ชุมพลยังให้ความเห็นว่า การอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เดิมอาจทำให้เกิดช่องโหว่ด้านการควบคุมดูแล เพราะเดิมทีชาวบ้านพุระกำให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีในการดูแลพื้นที่ป่า และปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน แต่หากชาวบ้านต้องย้ายออกไปในพื้นที่อื่นซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าอุดมสมบูรณ์เท่าพื้นที่เดิมหรือไม่ ก็อาจมีโอกาสที่จะย้ายกลับมายังพื้นที่เดิมซึ่งเป็นรอยต่อของป่าและรอยต่อชายแดนประเทศ ทำให้การจัดการพื้นที่ทำได้ยากกว่าเดิม

“คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือชาวบ้าน มุมที่ชาวบ้านมาสะท้อนก็คือ เขามีความกังวลใจที่ต้องย้ายออกไป และไม่ว่าเขาจะไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมหรือไม่ ก็ไม่ได้รับประกันว่าเขาออกไปแล้วเขาจะไม่กลับมา เมื่อเราบังคับเขาไม่ได้ก็เท่ากับว่าเราเสียพื้นที่ไปสองทาง ทั้งพื้นที่ใช้สร้างเขื่อนและพื้นที่ป่ารอบเขื่อน”

เช่นเดียวกันกับการจัดการพื้นที่ในแง่ของมรดกโลกซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่า แท้จริงแล้วจะสามารถดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้งภายใต้เงื่อนไขของการอนุรักษ์มรดกโลกได้จริงหรือไม่ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ กล่าวต่อไปว่า เป็นไปได้ที่โครงการอ่างเก็บน้ำจะสั่นคลอนสถานะมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจาน เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป

คำฝากฝังจากชาวพุระกำถึงอีกฟากฝั่งแผ่นดิน

“ถ้าเขื่อนสร้างจริง ผมก็จะไปอยู่ใจแผ่นดิน”

คำประกาศอันเด็ดเดี่ยวของ เปเล่ กั่วพู้ กะเหรี่ยงพุระกำ ในวันที่สัญญาณของการล้มเลิกโครงการอ่างเก็บน้ำยังคงเงียบสนิท

“ลาดตระเวน ทำแนวกันไฟ ดูแลไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ เจ้าหน้าที่ให้ทำอะไรผมทำหมด”

เปเล่ คือหนึ่งในลูกหลานปกาเกอะญอที่อพยพมาจากบ้านใจแผ่นดิน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่ในหมู่บ้านพุระกำ ชายกะเหรี่ยงเล่าว่า ที่ดินทำกินปัจจุบันทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ชาวบ้านพุระกำเองยังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลพื้นที่และหมู่บ้าน ชีวิตของตนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือว่าลงตัวดีแล้ว จึงไม่ต้องการที่จะย้ายออกจากพุระกำ

เปเล่ กั่วพู้

นอกจากนั้น ความไม่แน่นอนของที่อยู่ใหม่ตามการจัดสรรของกรมชลประทานก็เป็นเหตุสำคัญให้ชาวพุระกำยืนกรานที่จะอยู่บนที่ดินเดิม โดยระยะเวลาหลายปีที่เดินหน้าคัดค้านการสร้างเขื่อน เปเล่รวมถึงชาวบ้านคนอื่นๆ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึงนายกรัฐมนตรี หวังให้โครงการนี้ถูกยกเลิกโดยเร็ว แต่จนกระทั่งตอนนี้พวกเขาก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย

ยิ่งเงียบหาย ยิ่งหวาดหวั่น ยิ่งต้องส่งเสียง

อดีตผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชาวบ้านอย่าง สมบัติ วริทธิกรกุล ยืนยันว่า ความพยายามของชาวพุระกำยังคงหนักแน่นอยู่ในเจตนารมณ์เดิม การต่อสู้อย่างสันติและสงบเรียบร้อยคือจุดยืนสำคัญของชาวบ้าน ด้วยไม่ต้องการให้เกิดการปะทะอย่างกรณีการเรียกร้องของกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งนับเป็นญาติพี่น้องสืบเชื้อสายเดียวกันกับกะเหรี่ยงพุระกำ และยังหวังว่าโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำจะถูกพิจารณาใหม่อีกครั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็ววัน

ความหวังของชาวบ้านถูกฝากไว้กับรัฐบาล หน่วยงานรัฐ และคนร่วมชาติที่จะช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม นั่นคือสิ่งที่อดีตผู้ใหญ่บ้านสมบัติอยากสื่อสารออกมาให้ได้มากที่สุด

สมบัติ วริทธิกรกุล

“บนพื้นที่สื่อ แม้แต่หมาโดนรถชนยังออกข่าว แต่กับคนพุระกำที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมถึงมองไม่เห็นคุณค่าของเรา ชาวบ้านพุระกำสู้มาตลอด แต่ก็ยังไม่พบว่าจุดจบของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน”

ท้ายที่สุด ในปี 2565 นี้ การต่อสู้ของชาวบ้านพุระกำจะดำเนินต่อไป แม้สุดท้ายอาจต้องกลับไปยังใจแผ่นดิน แต่จนกว่าจะถึงปลายทางสุดท้ายนั้น สมบัติยังหวังว่าเสียงเรียกร้องจากคนในผืนป่าลุ่มแม่น้ำภาชีจะส่งไปถึงคนในอีกฟากของแผ่นดิน

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

ภัชรกรณ์ โสตติมานนท์
รับบทสาวเหนือหนีมาฝึกงานที่บ้าน WAY หลงใหลในศิลปะ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และของกินแสนอร่อย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า