เราก็พยายามจะติดตามว่าคุณเศรษฐา ทวีสินเนี่ยนะครับ เขาทำอะไร อยู่ที่ไหน ประวัติเป็นอย่างไร ผมเนี่ยได้สอบถามเพื่อน สว. ด้วยกันเลย หลายๆ ท่านว่ารู้จักท่านเศรษฐาไหม
. . .
วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดอภิปรายขอทำความรู้จัก นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเพื่อไทยก่อนโหวต เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศ ต้องมีคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริต เพราะกังขาเรื่องทุจริตที่ดินของแสนสิริ ซึ่งนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์แฉนายเศรษฐาตลอดหลายสัปดาห์
หัวใจของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือ การปะทะขัดแย้งกันระหว่างอำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน…
จนถึงวันนี้เรายังหาทางออกจากการเมืองอันนี้ไม่ได้ แล้วเราเห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนี้ ไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเผิน ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว
. . .
ชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย ยกเหตุผลที่พรรคก้าวไกลไม่ขอสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่ยกเรื่องคุณสมบัติของนายเศรษฐาขึ้นมา แต่ชี้ให้เห็นว่า การโหวตให้นายเศรษฐาขัดต่อเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้ง ที่ผ่านมา ในการยุติรัฐบาล และระบอบการเมืองที่เกิดจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ประชาชนต้องเสียความหวัง อำนาจอธิปไตย และความศรัทธาต่อประชาธิปไตย
คะแนนเลือกตั้งโดยรวมมสะท้อนว่า ประชาชนปรารถนาการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการคงโครงสร้างเดิมของระบบการเมืองเดิมๆ เอาไว้ ผมจึงไม่สามารถเห็นชอบกับแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฝ่ายบริหารไปจากช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ที่ใช้ประโยชน์จากคำว่า ประชาธิปไตย
. . .
กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม อภิปรายให้เหตุผลที่ไม่สามารถโหวตรับรองเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 ได้ ซึ่งระบุว่าได้มีโอกาสพูดคุยกับภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และนักวิชาการ มีความเห็นตรงกันว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ใช่แค่การเลือกผู้แทนของพี่น้องประชาชน เพื่อมาทำงานเสมือนผู้รับเหมาที่ทำการแทนประชาชนในรัฐสภาเท่านั้น แต่ประชาชนจำนวนมากได้ตัดสินใจว่าจะอยู่กับโครงสร้างเดิม หรือจะเป็นเสียงส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น
เรื่องของนโยบาย วิสัยทัศน์ต่างๆ สิ่งเหล่านั้นผ่านกระบวนการของการเลือกตั้งมาแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราที่อยู่ในห้องนี้ (ที่ประชุมรัฐสภา) จะใช้ในการวินิจฉัย กลไกของพวกเราจะรองรับเองด้วยตัวของมันตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด เพราะหลังจากนี้หากผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว กลไกต่อไปก็คือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
. . .
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย อภิปรายเน้นย้ำเป้าหมายของญัตติการประชุมในวันนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 คือการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ โดยระบุว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามกรอบและญัตติที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังเน้นย้ำว่าอยากให้พูดเรื่องของเหตุและผลในการที่จะตัดสินใจ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องของนโยบายหรือวิสัยทัศน์
ไม่ใช่ว่าพรรครวมเสียงข้างมากได้แล้วผมจะโหวตให้ โดยไม่พิจารณาบุคคลนั้นว่ามีคุณสมบัติ มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ หรือไม่ ประชาชนอาจจะเลือกเพราะนิยมในบุคลิกภาพ หน้าตาหล่อเหลา อาจจะเลือกเพราะมีบุญคุณ แต่เรา (สว.) ต้องตรวจสอบในเชิงลึกว่า บุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติหรือไม่
. . .
ประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายเน้นย้ำว่าการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เป็นหน้าที่โดยตรงของ สว. และสมาชิกรัฐสภาทุกคน
ประพันธ์ระบุว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้ให้น้ำหนักกับการที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้นประกอบไปด้วยพรรคไหนบ้าง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ สว. เพราะเป็นสิทธิของพรรคแกนนำในการรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองใดก็ได้ แต่หน้าที่ของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณาว่าบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อมานั้นสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ หรือไม่
คุณเศรษฐา ทวีสิน ท่านบอกว่าถ้าได้เป็นนายกฯ ท่านจะให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ คำคำนี้มันแปลว่าอะไร มันแปลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ดี ไม่ดีทั้งหมดเลยนะครับ…
ประเด็นคือว่าท่านจะให้มี สสร. เป็นองค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาทำ เอาอำนาจรัฐสภาที่มีหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กับ สสร. ไปร่างขึ้นมาใหม่ ตรงนี้นะครับมันเป็นปัญหาทั้งในเรื่องเนื้อหาและวิธีการ
. . .
ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายแสดงความกังวลที่เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าหากจัดตั้งรัฐบาลและนายกฯ สำเร็จ จะเร่งจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้ขึ้นมาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งทาง สว. มีความกังวลว่าจะเป็นการยกอำนาจของรัฐสภาให้กับ สสร. ในการแก้ไขหรือเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เห็นด้วยอย่างยิ่งที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยินดีและส่งเสริมอำนาจประชาชน แต่ในสถานการณ์ปกติ ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญอย่างนี้ไม่ร่วมมือกันคงไม่ได้
. . .
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นเป็นนายกฯ อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่าน ยอมรับว่าการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเป็นสิ่งที่คิด เพราะยิ่งเราจับมือกัน เรายิ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือดุลอำนาจ ประนีประนอมอำนาจและให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองอย่างสูงสุด พรรคเพื่อไทยจึงอาสาสลายความขัดแย้งและจัดตั้งรัฐบาลในนามของทุกฝ่ายที่สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของรัฐบาล