ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารรับจ้างแวกเนอร์ (Wagner) ภายใต้การนำของเยฟเกนี พริโกซิน (Yevgeny Prigozhin) ที่เคลื่อนพลเข้าสู่กรุงมอสโก (Moscow) ด้วยท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ทำให้สายตาของคนทั่วโลกหันมาจับจ้องสมรภูมิภายในรัสเซียแทนการเฝ้ามองสมรภูมิระหว่างประเทศในยูเครน
อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็สร้างปรากฏการณ์สะเทือนโลกเพียง 24 ชั่วโมง ก่อนจะเลือนหายไปพร้อมคำถามของชาวโลกว่า ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
‘เดินขบวนเพื่อความยุติธรรม’ ที่กลุ่มแวกเนอร์ใช้เรียกความเคลื่อนไหวของตนเอง แต่ถูกวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีของรัสเซียเรียกว่า ‘การแทงข้างหลัง’ นั้น ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของโลกหรือแม้แต่ของปูตินเอง เพราะการสู้รบกันอย่างเปิดเผยระหว่างกลุ่มแวกเนอร์กับกองทัพรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งสองกลุ่มแสดงความเป็นปรปักษ์กันมาตลอด 16 เดือน ขณะที่ร่วมกันทำสงครามกับยูเครน
ทั้งนี้แม้กองกำลังของกลุ่มแวกเนอร์จะเป็นกำลังหลักในนามกองทัพรัสเซียตั้งแต่ต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมรภูมิเมืองบัคมุต (Bakhmut) ทางภาคตะวันออกของยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 8 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วก่อนจะจบจบลงในเดือนพฤษภาคมปีนี้ รัสเซียอ้างว่าสามารถยึดเมืองไว้ได้และสังหารทหารยูเครนไปเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันกองทัพรัสเซียก็สูญเสียทหารไปกว่า 20,000 นาย ในจำนวนนี้เชื่อกันว่ามากกว่าครึ่งเป็นทหารสังกัดกลุ่มแวกเนอร์ ซึ่งพริโกซิน หัวหน้ากลุ่มแวกเนอร์ ผู้เป็นอดีตพ่อครัวของปูตินรู้สึกมาตลอดว่า กลุ่มของเขาไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐบาล
อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของกลุ่มแวกเนอร์
ก่อนปี ค.ศ. 2014 กลุ่มแวกเนอร์เป็นเพียงองค์กรลับของทหารรับจ้างที่ไม่ปรากฏชื่ออย่างชัดแจ้ง แต่ปรากฏตัวตนอย่างชัดเจนในสมรภูมิ รับรู้กันในวงการทหารว่ารับจ้างกองทัพปฏิบัติการทางทหารในแอฟริกาและตะวันออกกลาง เชื่อกันว่าก่อนปี ค.ศ. 2014 แวกเนอร์มีเพียงนักรบ 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึกของกองทหารชั้นยอดและหน่วยรบพิเศษของรัสเซีย โดยมีผู้บัญชาการคนแรกเป็นทหารผ่านศึกในสงครามเชชเนีย (Chechen War)
โลกเริ่มได้ยินชื่อกลุ่มแวกเนอร์ในปี ค.ศ 2014 เมื่อออกมาให้การสนับสนุนกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครน และช่วยให้รัสเซียสามารถผนวกไครเมีย (Republic of Crimea) เข้ามาได้ หลังจากนั้นกลุ่มแวกเนอร์ก็เติบโตขึ้นอย่างมากในฐานะกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และมีส่วนรับผิดชอบต่อความสำเร็จในสมรภูมิต่างๆ ที่รัสเซียเข้าไปมีส่วน รวมถึงในสงครามกับยูเครนที่เปิดฉากตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2022
กระทรวงกลาโหมของอังกฤษคาดการณ์ว่า มีทหารสังกัดกลุ่มแวกเนอร์ร่วมรบในยูเครนกว่า 50,000 คน แต่แล้วการสู้รบอย่างบ้าคลั่งในสมรภูมิเซเวโรดอแนตส์ (Sievierodonetsk) ทางตะวันออกของยูเครน กลางปี ค.ศ. 2022 ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของรัสเซียบนต้นทุนของกลุ่มแวกเนอร์ที่ต้องสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหองระแหงไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างกองทัพรัสเซียกับแวกเนอร์
ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมของอังกฤษระบุว่า กลุ่มแวกเนอร์จดทะเบียนรูปแบบบริษัท มีสำนักงานที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เริ่มรับสมัครทหารรับจ้างครั้งใหญ่ปี ค.ศ. 2022 เมื่อเริ่มประสบปัญหาในการหาคนเข้าประจำการ ว่ากันว่าประมาณร้อยละ 80 ของทหารสังกัดแวกเนอร์ที่ประจำการในยูเครนในช่วงหลัง เป็นนักโทษที่ถูกเกณฑ์ออกมาจากเรือนจำ โดยมีข้อตกลงระหว่างแวกเนอร์กับรัฐบาลว่า นักโทษที่สมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบในสงครามยูเครนเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อกลับรัสเซียจะพ้นโทษ
การเปิดรับสมัครทหารรับจ้างครั้งใหญ่รวมถึงการเกณฑ์นักโทษจากเรือนจำออกร่วมรบครั้งนี้ ผิดไปจากแบบแผนกลยุทธ์การปฏิบัติเดิมของกลุ่มแวกเนอร์ ที่สามารถคัดสรรกองกำลังที่ผ่านการฝึกอบรมทางทหารมาเป็นอย่างดีมาเข้าร่วมได้ ด้วยเหตุดังกล่าวกลุ่มแวกเนอร์ไม่สามารถรักษามาตรฐานความแข็งแกร่งของตนเองไว้ได้เหมือนในอดีต แม้แวกเนอร์จะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อชัยชนะของรัสเซียในเมืองบัคมุตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมา แต่ช่วงแรกกองทัพรัสเซียก็แสดงท่าทีไม่ยอมรับบทบาทของแวกเนอร์ในสมรภูมินี้
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแวกเนอร์และกองทัพรัสเซียรุนแรงขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อพริโกซิน กล่าวหาว่า เซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกลาโหม และ วาเลรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) ผู้บัญชาการกองทัพในยูเครน ไร้ความสามารถและจงใจไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มแวกเนอร์อย่างเพียงพอ ทำให้ทหารรับจ้างของแวกเนอร์ต้องเสียชีวิตจำนวนมาก
ความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่างกลุ่มแวกเนอร์และกองทัพรัสเซีย สั่นคลอนมากยิ่งขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน เมื่อกระทรวงกลาโหมรัสเซียออกคำสั่งให้บริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจทหารรับจ้างเช่นเดียวกับกลุ่มแวกเนอร์ ลงนามในสัญญาเพื่อเข้าร่วมกองกำลังประจำของรัสเซียอย่างเป็นทางการภายในสิ้นเดือน โดยในประกาศนั้นไม่มีรายชื่อกลุ่มแวกเนอร์ สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือว่ากองทัพรัสเซียจะส่งทหารกองกำลังเชเชน (Chechen) แห่งเชชเนียร์ (Chechnya) เข้าร่วมรบในสมรภูมิแถวชายเดนเบลโกรอด (Belgorod) ของรัสเซีย ซึ่งเริ่มมีการยิงกันอย่างรุนแรงหลังจากสมรภูมิที่บัคมุตยุติลง และกลุ่มแวกเนอร์เริ่มถอนกำลังจากบัคมุต พริโกซินมองการกระทำของรัฐบาลว่าเป็นความพยายามครอบงำแวกเนอร์มากขึ้น จึงออกแถลงการณ์อย่างเกรี้ยวกราดประกาศว่ากองกำลังของเขาจะคว่ำบาตรสัญญาที่ทำไว้กับกองทัพ
23 มิถุนายน เยื่อใยสุดท้ายก็ขาดสะบั้น เมื่อพริโกซินกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูงของรัสเซีย ลงมือวางระเบิดกองทหารของแวกเนอร์ในยูเครน ทำให้มีทหารเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้น 1 วัน พริโกวินก็นำกำลังทหารแวกเนอร์เคลื่อนเข้ายึดกองบัญชาการของกองทัพรัสเซียในเมืองรอสตอฟ ออน-ดอน (Rostov-on-Don) ทางใต้ของประเทศ พร้อมขู่ว่าจะเดินทัพต่อไปยังมอสโควโดยมีเป้าหมายอยู่ที่วลาดิเมียร์ ปูติน
แม้กลุ่มแวกเนอร์และกองทัพรัสเซียจะมีเส้นแบ่งคั่นอยู่ในลักษณะต่างคนต่างปฏิบัติหน้าที่ตนเอง แต่พริโกซินตระหนักดีว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มแวกเนอร์ตลอดสงครามกับยูเครน จนกลุ่มของเขาไม่สามารถธำรงความเป็นกองทหารรับจ้างที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพได้ สะท้อนให้เห็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของระบบการเมืองรัสเซีย ที่อยู่ในมือของบุคคลคนเดียวมากว่า 2 ทศวรรษ คือ วลาดิเมียร์ ปูติน
ปฏิบัติการกบฏสายฟ้าแลบเกิดและจบภายในเวลาเพียงประมาณ 21 ชั่วโมง เมื่อ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Aleksandr Lukashenko) ผู้นำเบลารุส รับบทเป็นอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาทำหน้าที่เจรจาลดความตึงเครียด จนพริโกชินยอมเดินทางออกไปยังเบลารุส ขณะที่รัฐบาลรัสเซียยอมตกลงจะไม่ดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มแวกเนอร์และพริโกซิน
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลงนั้น สำนักข่าวเอพีสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ฟิลลิปส์ โอ’ ไบรอัน (Phillips O’ Brien) นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูวส์ ในสกอตแลนด์ ซึ่งกล่าวถึงข้อตกลงระหว่างพริโกซินและปูตินว่า ดูเป็นการจัดการ ‘อย่างเร่งรีบ’ เพื่อปกป้องพริโกชิน เงิน และครอบครัวของเขา โดยไม่ชัดเจนว่าข้อตกลงนั้นจะส่งผลถึงการรักษากลุ่มแวกเนอร์ไว้ด้วยหรือไม่ และไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีทหารรับจ้างจำนวนเท่าไรเดินทางออกจากรัสเซียไปยังเบลารุสพร้อมพริโกซิน และมีจำนวนเท่าไรที่ถูกบังคับให้ทำสัญญากับกองทัพรัสเซียต่อ
กบฏจบแล้ว แต่ความเสียหายของวลาดิเมียร์ ปูติน เพิ่งเริ่มต้น
อนาคตของปูตินและสงครามยูเครน กลายเป็นภาคต่อของกบฏแวกเนอร์ที่ทั้งโลกอยากรู้
ไม่ว่าจะเป็นภาพจริงหรือการตัดต่อ แต่คลิปสั้นๆ บันทึกภาพทหารยูเครนนั่งกินป๊อปคอร์นอย่างสบายใจท้ายยานยนต์สู้รบที่เผยแพร่ในโลกทวิตเตอร์ หลังโลกได้รับรู้การเคลื่อนไหวของกลุ่มแวกเนอร์ สามารถตีความได้ 2 ประเด็น
หนึ่ง เป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายูเครนเองก็ตระหนักดีว่าความหนักหน่วงของการโจมตีจากกองทัพรัสเซียที่พวกเขาเผชิญหน้ามาตลอด 16 เดือนนั้น เป็นผลงานของกลุ่มแวกเนอร์ ไม่ใช่โดยตัวกองทัพรัสเซียเอง เมื่อไม่มีแวกเนอร์กองทัพรัสเซียก็ไม่มีความหมายในการรบ
สอง แม้นกองทัพรัสเซียจะยังคงแข็งแกร่งโดยไม่มีแวกเนอร์ แต่อย่างน้อยในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัสเซียต้องหันกลับไปให้ความสำคัญกับการรักษาเมืองหลวงของตัวเอง มากกว่าการมุ่งโจมตีเมืองหลวงของยูเครน
นอกจากนี้ภาพประชาชนชาวรัสเซียในเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอน ที่ส่งเสียงเชียร์กองกำลังของกลุ่มแวกเนอร์ขณะเคลื่อนรถถังผ่านเมืองเพื่อมุ่งไปยังมอสโคว ไปจนถึงประชาชนบางคนที่วิ่งเข้าไปจับมือพริโกซินที่นั่งอยู่ในรถ SUV ยังส่งเสียงสะเทือนไปถึงความมั่นคงในอำนาจของปูติน
‘เดินขบวนเพื่อความยุติธรรม’ ของกลุ่มแวกเนอร์ คือการท้าทายอำนาจของปูตินอย่างชัดเจนและซึ่งหน้าเป็นครั้งแรก หลังจากปูตินครองอำนาจมานานกว่า 20 ปี และนี่เป็นครั้งแรกที่ปูตินรับรู้และแสดงออกถึง ‘ความไร้ดุลยภาพในอำนาจ’ ตนเอง
การทำความตกลงกับพริโกซินอย่างรวดเร็ว โดยที่พริโกซินเองยังเคลื่อนทัพไม่ถึงมอสโก ทำให้ชาวรัสเซียตั้งคำถามถึงอำนาจที่แท้จริงของปูติน เพราะการจัดการความเคลื่อนไหวที่เข้าข่ายกบฏด้วยการอภัยโทษอย่างง่ายดายเช่นนี้ เป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอของผู้นำ ซึ่งมิใช่แบบแผนในการจัดการผู้เห็นต่างของเครมลินที่เคยเป็นมา
“พริโกซินแสดงให้เห็นว่า การยึดเมืองที่มีประชาชนนับล้านคนสามารถทำได้ โดยนอกจากไม่ต้องรับโทษแล้ว ยังสามารถยื่นข้อเรียกร้องให้กับผู้นำประเทศ และปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่ง รวมถึงการเคลื่อนกองกำลังทหารเข้าสู่มอสโก โดยสังหารทหารรัสเซียระหว่างทางเป็นสิ่งที่ทำได้” วิกเตอร์ อัลค์สนิส (Victor Alksnis) นายพันเกษียณอายุแห่งกองทัพรัสเซียกล่าวกับสำนักข่าวเอพี
อัลค์สนิสและผู้ทรงอิทธิพลสายเหยี่ยวแห่งรัสเซียจำนวนหนึ่งมีความเห็นพ้องกันว่า “รัสเซียก้าวเข้าใกล้จุดแห่งการล่มสลายอย่างไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว”
ขณะที่อเล็กซานเดอร์ กาบูเยฟ (Alexander Gabuev) ผู้อำนวยการศูนย์คาร์เนกีแห่งรัสเซีย-ยูเรเซีย (Carnegie Russia Eurasia Center) กล่าวว่าแม้การกบฏจะจบลงแล้วอย่างชัดเจน แต่ผู้นำรัสเซียเองจะอ่อนแอลงอย่างไม่ต้องสงสัยจากการถูกท้าทายอำนาจในครั้งนี้
ปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นนัยสำคัญของพรีโกซินต่อปูตินคือ ในขณะที่ปูตินออกแถลงการณ์ประนามการกระทำของกลุ่มแวกเนอร์ ปูตินกลับไม่เอ่ยชื่อผู้นำกลุ่มเลย นักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นไปได้ที่ปูตินพยายามเปิดทางเลือกที่รักษาหน้าตัวเอง เนื่องจากตระหนักดีว่าสงครามยูเครนยังต้องดำเนินต่อไปโดยรัสเซียไม่สามารถแพ้ได้ แต่ชัยชนะของรัสเซียก็เป็นเรื่องยากหากไม่มีพริโกซินเข้ามาช่วยหนุนหลัง
สอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตของศาสตราจารย์ฟิลลิปส์ที่มองว่าข้อตกลงร่วมกันระหว่างปูตินและพริโกซินในการยุติการก่อกบฏ น่าจะเป็นข้อตกลงเพื่อประโยชน์ของปูตินและพริโกซิน มากกว่าเพื่อประโยชน์ของกลุ่มแวกเนอร์และรัสเซีย
นาทีนี้ยังไม่ชัดเจนว่าอนาคตของสงครามยูเครนจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนจากกบฏสายฟ้าแลบในครั้งนี้คือ กลุ่มแวกเนอร์ถอนกองกำลังออกจากยูเครนแล้ว และรัสเซียก็ถอนกำลังเชเชนที่ถูกส่งไปเพื่อให้แทนที่กลุ่มแวกเนอร์ออกเช่นกัน
สำหรับกองทัพยูเครนนี่คือช่วงเวลาแห่งความหวังที่พวกเขาอาจจะยึดเมืองที่ถูกตีไปกลับคืนมาได้บ้าง ส่วนพันธกิจของปูตินในระยะเร่งด่วนนี้คือ พยายามขีดเส้นจำกัดความเสียหาย หาทางรักษาและทวงคืนอิทธิพลของตนเองเหนือรัสเซียที่หล่นร่วงเสียอาการจากกบฏครั้งนี้กลับคืนมา
อ้างอิง:
- Kremlin says deal reached to end Wagner insurrection
- What the Wagner Group revolt in Russia could mean for the war in Ukraine
- What is Russia’s Wagner Group of mercenaries in Ukraine?
- Ukraine and Russia trade places in battle for Bakhmut
- The mutiny in Russia may be over. But it still damages Putin
- Russian mercenaries’ revolt undermines Putin and could lead to further challenges to his rule